Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จิตใจของมนุษย์

อังคาร 12 พ.ค. 2020 6:34 am

" พวกเทพเทวดา เขาเคยเป็นมนุษย์เหมือนกันกับพวกเรามาก่อน ตอนเป็นคนเขามีจิตใจฝักใฝ่ในบุญกุศล พอตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ได้ไปจุติอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ สูงบ้างต่ำบ้างขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ตนเองสั่งสมมาตอนที่ยังเป็นมนุษย์

ถึงจะเป็นเทพเทวดา​ แต่จิตของเขายังติดยึดในบุญกุศล พอได้ยินได้เห็นผู้ใดทำคุณงามความดี พวกเขาจะพากันมาอนุโมทนาบุญกับผู้นั้นๆ

ถ้าเรามีจิตเป็นสมาธิ เราก็จะเห็นพวกเทพเจ้าเหล่าเทวดา เขาพากันมาร่วมอนุโมทนาบุญกับเรา

การรับรู้อย่างหยาบคือมีอาการขนลุกพองสยองเกล้าเป็นต้น ถ้าจิตละเอียดลงไปก็เห็นเขาแสดงตัวตนออกมาให้เราเห็น​ "

#ทำให้มันเป็นแล้วจะรู้เห็นด้วยตัวของเราเอง​ "

หลวงปู่ชอบ​ ฐานสโม










เนื้อนาบุญที่วิเศษที่สุดคือ พ่อและแม่
ทำลงไป...เลี้ยงพ่อแม่ให้สมบูรณ์พูนผลแล้วค่อยไปทำบุญกับพระ...

โอวาทธรรม
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย










" มีสติ รู้ตัว พูดจาให้น้อยลง
พูด เท่าที่จำเป็น จะต้องพูด
ด้วยความมีสติ รู้ตัวอยู่

การพูดมาก มีโอกาส พูดผิดได้มาก
ไม่เกิดประโยชน์ แล้วยัง เป็นโทษอีกด้วย
เป็นผู้ฟัง แล้วตามคิด เลือกจำสิ่งดีๆ มาใช้
จะได้ ประโยชน์กว่า

คนพูดมาก มักขาดสติง่าย
เป็น ผู้ฟังที่โทษน้อย หรือไม่มีเลย
แต่ เป็นผู้ได้รู้มากกว่า ผู้พูด "

โอวาทธรรมโดย
#หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
วัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่











ถาม: มีรายการเกี่ยวกับเรื่องผี
เห็นเปรตเห็นผี แต่ก็ทำให้คน
หันมาทำความดีมากขึ้น เพราะความกลัว
ไม่ทราบว่าอาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้
ว่าเป็นเรื่องงมงายไหมครับ หรือว่า
อยู่ที่เจตนาให้คนมาทำความดีเยอะๆ

พระอาจารย์ : คือการทำความดีมันดีนะ
ทีนี้จะมาด้วยเหตุผลกลการใดนี้
มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าถูกหลอกให้มาทำความดี
ต่อไปพอรู้ว่าถูกหลอก
ต่อไปก็อาจจะไม่ทำความดีต่อก็ได้

อันนี้ไม่แน่ ..แต่ถ้า
เป็นเหตุที่เป็นความจริงล่ะดีที่สุด
อะไรเป็นความจริงนะ
แล้วก็ คนเห็นความจริงแล้ว
ไปทำความดีนี่ มันก็ดี เพราะว่า
“ความจริงมันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง”
แต่ถ้าเป็นเรื่องหลอกกันนี้
มันก็อาจจะทำให้คนที่ถูกหลอก
อาจจะเสื่อมศรัทธาขึ้นมาได้.
...............................
ธรรมะหน้ากุฏิ
8 พฤษภาคม 2563
พระอาจาร์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










หลวงปู่มักจะเทศน์เรื่อง ไตรสรณคมน์หรือศีล 5 มากกว่าธรรมข้ออื่น ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นหญ้าปากคอก แต่ท่านว่านี่แหละคือ รากฐานของการบำเพ็ญเพียรภาวนาถ้าไม่มีฐานไม่มีศีลรองรับ ก็ยากจะดำเนินความเพียรได้ เพราะ อาทิ สีลํ ปติฎฺฐา จ กลฺยาณญฺจ มาตฺกํ ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย เป็นประมุขของธรรมทั่วไป เพราะฉะนั้นความชำระศีลให้บริสุทธิ์
หลวงปู่จะเทศน์ เป็นวลีสั้นๆ ประโยคสั้นๆ แต่ก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ถ้าปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และพิจารณาได้ พิจารณาจริง พิจารณาถูก พิจารณาตรง พิจารณาชอบ ...แน่นอน มรรคผลนั้นคงอยู่แค่เอื้อมนั่นเอง เทศน์ที่สั้นที่สุด วาง พิจารณาตน วางตัวเจ้าของ จิตตะในอิทธิบาท 5 เอาใจใส่ มรณานุสฺสติ ให้พิจารณาความตาย... นั่งก็ตาย นอนก็ตาย ยืนก็ตาย เดินก็ตาย

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม









#การปฏิบัติภาวนา

เคยสอนหมู่เพื่อน ให้มีความแม่นยำต่องาน
การของตน วิธีการตั้งรากฐานจิตใจให้มีความสงบไม่ได้ เนื่องจากเราจับจด ไม่จริงไม่จังกับงานของตัวเองที่ทำ ถ้าจริงจังแล้วต้องได้ ไม่สงสัย เช่นอย่างให้ฝึกหัดภาวนา

คำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับจิต เพื่อจะตั้งรากฐานของจิต ให้มีความสงบขึ้นไปโดยลำดับ ๆ นี้ จะตั้งได้ด้วย คำบริกรรมภาวนา ถ้าปล่อยให้จิตกำหนดรู้เฉย ๆ นี้ไม่ได้เรื่องนะ รู้มันก็รู้ในเวลาตั้งใจ พอเผลอแพล็บเดียว ออกรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสไปแล้ว มันก็กลายเป็นกิเลสไปหมดล่ะซี

แต่ตั้งคำบริกรรมด้วยความบังคับบัญชาหนาแน่น มีสติกำกับตลอดเวลา อย่างนี้แน่นอนว่า จิตต้องสงบได้ เป็นอื่นไปไม่ได้ ว่าอย่างนี้เลยนะ เพราะนี้ได้เคยฝึกเจ้าของแล้ว ตอนที่มันมารู้จริงรู้จัง เอาจริงเอาจังกัน ก็ตอนที่จิตเจริญแล้วเสื่อม ๆ มาได้ปีกว่า ๆ จึงได้มาพิจารณาตั้งกฎใหม่ ขึ้นมาใส่ตัวเอง

เราพยายามเท่าไรเจริญขึ้นไปได้สองสามวัน เสื่อมลงต่อหน้าต่อตา แล้ว ๑๔-๑๕ วันถึงจะฟื้นขึ้นมาได้ ๑๔-๑๕ วันเราแทบเป็นแทบตายนะ ทุกข์ทรมานมาก แล้วขึ้นไปพอสงบเย็นใจบ้าง สองสามวันเท่านั้นเสื่อมลงต่อหน้าต่อตา เป็นอย่างนี้ ๆ ตลอดมาได้ปีกว่า ๆ จิตผมเสื่อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกาปีนี้ เดือนพฤศจิกาปีหน้าผ่านไป จนกระทั่งถึงเดือนเมษานานไหม คิดดูซิ นี่ละที่ตกนรกทั้งเป็น

ก็กำหนดเอาจิตเฉย ๆ กำหนด ๆ จิตเฉย ๆ มันก็เป็นให้เห็นอยู่อย่างนี้ จึงทำให้เกิดความสงสัย มันอาจจะเป็นเพราะ การตั้งจิตเอาเฉย ๆ มีสติกำกับจิตนี้ มันอาจจะเผลอไปตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ ทีนี้เราจะตั้งคำบริกรรม เอาคำบริกรรมเป็นหลัก เป็นกฎเกณฑ์เลย ให้จับกับคำบริกรรมนี้ด้วยสติตลอดเวลา เอาทีนี้มันจะเผลอไปที่ไหนก็ให้รู้ นี่ละตอนมาได้เหตุได้ผลกัน

ทีนี้ก็ตัดสินใจลงเลยว่า ทีนี้มีคำบริกรรมเป็นรากฐานอันสำคัญ ตั้งปักไว้เลย ด้วยคำบริกรรม แต่ว่าตั้งจริง ๆ นะ นิสัยมันจริงจังมาก พอตั้งความสัตย์ ความจริงลงไปแล้ว ก็เหมือนกับหินหัก เทียวนะ ไม่ให้มีเงื่อนต่อกันเลย ต้องจริงจังอย่างนั้น

ทีนี้เอา พุทโธ จะเผลอไปไม่ได้มันจะเป็นยังไง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จะไม่ยอมให้มันเผลอเลย เคลื่อนไหวไปมาที่ไหน สติกับคำบริกรรม ต้องให้ติดแนบ ๆ ตลอดเวลา ๆ อย่างนี้ ถึงขนาดนั้นนะ ตั้งขนาดนั้นละ

เรื่องจิตว่าเสื่อม ว่าเจริญนั้น ปล่อยหมดแล้ว เพราะความอยากไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา อยากให้เจริญมันก็ไม่ได้เจริญ มันไม่ได้สมหวังทั้งสองอย่าง คราวนี้ จะเอาสิ่งสมหวังจากพุทโธ คำบริกรรมอย่างเดียว จิตจะเสื่อม ให้เสื่อมไป จิตจะเจริญ ให้เจริญไป ไม่เป็นอารมณ์ยิ่งกว่าคำบริกรรม

อันนี้จะเสื่อมไปไม่ได้ จะสูญไปจากสตินี้ไปไม่ได้ ตั้งกึ๊กลงไปนี้ เอาละที่นี่หายห่วง จิตจะเจริญหรือเสื่อมปล่อยเลยเทียว มีแต่คำบริกรรมจะไม่ให้เสื่อม ให้อยู่กับพุทโธ ๆ แหม มันประจักษ์จริง ๆ นะ คือเราเอาจริงเอาจังมากทีเดียวไม่ยอมให้เผลอเลย ไปบิณฑบาต ไม่ทราบเขาใส่อะไร ไม่ใส่อะไร

คำว่าพุทโธกับสตินี้ ติดแนบ ๆ จะขบจะฉันเคลื่อนไหวไปมา พุทโธจะไม่ยอมปล่อยเลย นี่ละจึงเรียกว่าเป็นเหมือนตกนรกทั้งเป็น บังคับจิตให้อยู่กับพุทโธ มีสติบังคับ นี่หนักมากนะ ไม่ให้เคลื่อนไหวไปไหนเลย เคลื่อนไปไหนสติไม่ให้เคลื่อน ให้อยู่อย่างนั้นเป็นประจำ ๆ ติดแนบ ก็ไม่นานนะ

นี่ละที่มันเห็นชัด ๆ ความเสื่อมความเจริญปล่อยทิ้งหมดแล้ว ไม่ปล่อยตั้งแต่พุทโธกับสติ ติดกันแนบ ๆ อย่างนี้ตลอด นอกนั้นปล่อยหมด ไปไหนมีแต่พุทโธ ๆ ติดแนบ เพราะฉะนั้น มันถึงได้เห็นความละเอียดของจิต ทีนี้เวลามันนานเข้า ๆ คำว่าพุทโธกับจิตนี้ค่อยละเอียดเข้าไป ๆ จนกลายเป็นอันเดียวกัน

ทีนี้นึกคำบริกรรมพุทโธไม่มีเลย เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดเต็มที่อยู่นั้น คำบริกรรมนึกอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ จนเจ้าของก็งง สงสัยเจ้าของ เอ๊ จะทำยังไงนี่ เราก็อาศัยพุทโธนี้ เป็นที่เกาะที่ยึด ทีนี้พุทโธก็ไม่มีแล้ว บริกรรมยังไงมันก็ไม่ปรากฏเลย จะทำไง มันก็มีความรู้สึก อันหนึ่งขึ้นมา เอ้า ถึงคำว่าพุทโธจะหายไปก็ตาม จิตที่รู้เด่นอยู่เวลานี้ ไม่หาย ยิ่งละเอียดลออ

ให้ตั้งสติไว้กับความรู้อันนี้ นั่น จับคำบริกรรมพุทโธไม่ได้ ก็จับธรรมชาติที่รู้ด้วยสติ เอ้า อยู่นี้อีก ตั้งสติไว้อีกเหมือนกัน มันแน่วของมัน จนกระทั่งมันถึงจังหวะแล้ว จิตที่ว่าบริกรรมไม่ได้ มันก็คลี่คลายออกมา

เหมือนว่าจิตมันสงบตัวของมันแล้วถอยออกมา พอมันคลี่คลาย ออกมานิดหนึ่ง พอเอาคำบริกรรมพุทโธได้ ปรากฏว่าพุทโธได้แล้ว เอาพุทโธติดเข้าไปเลย จากนั้นมาก็รู้จักวิธีปฏิบัติ เวลาเข้าขั้นละเอียดจริง ๆ นี้พุทโธไม่มีนะ ไม่มีจริง ๆ จนกระทั่งเจ้าของงง นึกยังไงก็ไม่ปรากฏ เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ

จึงต้องเอาสติเข้าไปติดกับความรู้อันนั้นไว้แทนพุทโธ ๆ นี่ละที่มันเป็นที่แน่ใจว่าจิตนี้ต้องสงบได้แน่นอน ถ้าบังคับเป็นความสัตย์ความจริงอย่างนี้แล้ว เป็นอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ

นี่จิตก็เริ่มเจริญขึ้นมา จนกระทั่งถึงขั้นที่มันเจริญแล้ว สองสามวันมันเสื่อมลงไป ถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ปล่อยความอาลัยตายอยาก ทั้งหมดเลย เอ้า จะเสื่อมก็เสื่อมไป ถึงจุดที่เคยเสื่อมแล้ว บังคับไว้ไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา คราวนี้อยากเสื่อม-เสื่อมไป

แต่คำบริกรรมไม่ยอมให้เสื่อมจากกันเลย ติดไปนั้นอีก พอไปถึงที่นั่นแล้ว เอ้า มันจะเสื่อมก็เสื่อมลง ไม่เสียดาย ปล่อยอารมณ์เลย คำบริกรรมนี้ติดแนบ ๆ มันเจริญขึ้นไปตรงนั้น เอ้า ทีนี้มันจะเสื่อมไหม สุดท้ายมันไม่เสื่อมนะ พอถึงขั้นนี้แล้วได้สองสามวัน มันเคยเสื่อม เคยเสื่อมมาเป็นประจำ ทีนี้ไม่เสื่อม พุทโธติดแนบเข้าไป ยิ่งแน่นเข้าไป ๆ ก็เด่นชัด ๆ แต่ยังไม่ถอยเรื่องคำบริกรรม

เอาจนกระทั่งถึงว่า ความรู้นี้เด่นมาก เราจะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ความรู้นี้เด่นอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ หรือเป็นเป้าหมายอันหนึ่ง แห่งความเพ่งเล็งของจิต และสติจับจุดนี้ได้แล้ว ก็อยู่นั้นอีก ต่อไปคำบริกรรมมันก็ปล่อยของมัน แต่ปล่อยนี้ มันก็จับความรู้ที่เด่น ๆ นั่นละ ก็ค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อย

นี้เตือนให้หมู่เพื่อนได้ทราบว่า การตั้งจิตเบื้องต้น ต้องเอาจริงเอาจัง ถ้าตั้งอย่างที่ว่าแล้ว สงบได้แน่นอนไม่สงสัย เพราะผมเคยทำมาแล้ว จากนั้นก็แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วไม่เคยเสื่อมนะ เพราะเราเข็ดหลาบเรื่องความเสื่อมของจิตนี้ ยิ่งเอาจริงเอาจังมาก มันก็ไม่เสื่อม

#พระอาจารย์บัว_ญาณสัมปันโน














#เวลาเกิดความโกรธ

"เวลาเกิดความโกรธขึ้น
อย่าพูด ให้นิ่งเสียก่อน
คอยให้มันได้สติเสียก่อน
พอได้สติแล้ว...
มันก็ถอนออกเอง.."

#หลวงปู่แหวน_สุจิณโณ










"มากราบหลวงตาเฒ่าแล้ว เห็นอย่างใด..
(มีความเห็นเช่นใดบ้าง) นี่ก็เหี่ยวย่น นี่ก็
หย่อนยาน ขรุขระ โซะเซะ ลำบากกับรูป
ขันธ์ อะไรๆ (อายตนะ) ก็ไม่ดี หูตาย ตา
ฟาง กินไม่มีรส นอนหลับยอบแยบ หลง
หน้า หลงท้าย หลงลืมไปหมด
สูเจ้ามาหารู้แต่ว่าเป็นรูปมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์อื่น
สูเจ้ากินแล้วนอนเป็นหมู
ไม่ไหว้พระสวดมนต์ เป็นโง(งัว)เป็นควาย
ไม่สนใจดี-ชั่ว อะไร ก็ตกอยู่ในโลกนี้ต่อไป
กิน-เล่น-สนุกสนานเพลิดเพลิน อยู่ไปกินไป
ก็ไปหาตายเท่านั้น ประโยชน์อย่างใด
เป็นประโยชน์อย่างใด หือ กับการเกิดมานี่
ได้เป็นคนแล้วหนา ตั้งใจให้ดี...
#๑_เป็นมนุษย์
#๒_เป็นเทวดา
#๓_มีธรรมะตกแต่ง
"ให้เลือกเอาให้ดี ของตนนะ..
มิใช่ของใครที่ใหน.. "
----------
#คุณแม่ชีแก้ว_เสียงล้ำ
#สำนักชีบ้านห้วยทราย_มุกดาหาร









"เราไปดูคนโน้นคนนี้ ว่าไม่ถูก
เรานั่นแหละที่ไม่ถูก เขาก็ถูกของเขา
เขาก็มีเหตุผลของเขา เราไม่ถูก
เพราะเราไปคิดเรื่องของเขา"

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ









#จิตของคนนี้เจือปนไปด้วยกิเลส

อันนี้ถูกต้อง แต่กิเลสนี้ เกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจาก “ตัณหา” คือ ความรัก ความชัง ความรัก ความกำหนัดยินดี
ความชื่นชมยินดี อะไรต่างๆ ในจิตใจของคนเรานี้ อันนี้ก็เรียกว่า อาสวกิเลส

ทีนี้เกิดขึ้นจากอะไร ก็เกิดขึ้นจากตัวประสานงาน คือร่างกายอันนี้ ร่างกายอันนี้เป็นตัวประสานงาน ถ้าหากร่างกายนี้ไม่มี กิเลส มันก็ไม่มีตัวประสานงาน ก็อยู่เฉยๆ แต่ถ้าร่างกายนี้มี จิตใจนี้มี ร่างกายก็จะเป็นตัวประสานงาน ที่จะให้เราเกิดกิเลส เกิดความรัก เกิดความชังขึ้น

เพราะฉะนั้น คำว่าทุกขังนี้ จึงปรากฏขึ้น
ในวิปัสสนาว่า ความเกิด ความแก่ความเจ็บ ความตายนี้ ท่านเรียกว่าเป็นความทุกข์ แล้วผู้ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ก็คือร่างกายอันนี้เกิดมา ร่างกายอันนี้แก่ ร่างกายอันนี้เจ็บ ร่างกายอันนี้ตายทีนี้คนที่จะหลงรักหลงชังกันก็ต้องมีร่างกายนี้เป็นสื่อสัมพันธ์

มองเห็นตา มองเห็นศีรษะ แขน ขา มองเห็นร่างกายต่างๆ แล้วเกิดความชอบ หรือเรียกว่าเกิดความพอใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายอันนี้ก็เป็นตัวสำคัญที่จะต้องจัดการในอันดับแรกของวิปัสสนา จัดการอันดับแรกก็คือ หั่นร่างกายนี้ออกมาเป็นชิ้นๆ ให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ ”

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร











ความเจ็บไข้เป็นผู้มีพระคุณ
สำหรับผู้ฉลาดมองเห็น

"ความเจ็บไข้นั้นเป็นของดี
เป็นเครื่องค้ำจุนพระศาสนา
ถ้าคนเราไม่เจ็บไม่ป่วย
ก็คงไม่มีใครนึกถึงพระพุทธเจ้า
ไม่นึกถึงวัดวาอารามกัน"

ศีล เราต้องรักษาให้เท่ากับหัวของเรา
ศีลขาดก็ต้องเท่ากับคอขาด
ศีลขาด ดีกว่าไม่มีศีลเลย
เพราะคนนุ่งผ้าขาด ย่อมดีกว่าคนเปลือยกาย
ความดีเป็นของผู้ทำ ไม่ใช่ของคนโง่
คนฉลาด คนมี หรือคนจน"

ท่านพ่อลี ธัมมธโร













#สันตุสสโกวาท

“ใจมนุษย์ ยากแท้หยั่งถึง”

น้ำมหาสมุทรถึงจะลึกขนาดไหน
เขาก็มีเครื่องวัดลงไปว่ามันลึกขนาดไหน
เขายังวัดได้ แต่ใจของมนุษย์มันวัดไม่ได้นะ
ไม่รู้จะลึกขนาดไหน มันลึกกว่าน้ำมหาสมุทรทะเลอีก
มันไม่ใช่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าลิงตัวไหนอยู่ในวัดของหลวงพ่อนี่
ถ้ามันแพ้แล้ว มันแพ้ ยอมแพ้ตลอดเลยนะ
แต่มนุษย์นี้ไม่ใช่นะ ถึงจะยอมแพ้ก็เถอะ
ต่อหน้าแล้ว ครับผม ครับผม
แต่ลับหลังขึ้นมา เผลอเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น
เพราะว่า มนุษย์นี้ไม่ใช่ธรรมดานะ
เพราะว่าใจของมนุษย์ หยั่งไม่ถึง
พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้แล้ว
สมัยหนึ่ง ท่านได้ไปฉันที่กรุงราชคฤห์
นายเปสสะ เป็นนายหัตถาจารย์ เป็นผู้ฝึกหัดช้าง
ทีนี้เห็นพระสงฆ์ทั้งหลายมานั่งกับพระพุทธเจ้าตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ รูป
นายหัตถาจารย์เห็น โอ้...
พระพุทธเจ้า สอนอย่างไรหนอ สอนพระสงฆ์
ทำไมอยู่ในความสงบ อยู่ในความเรียบร้อยถึงขนาดนี้
พระพุทธองค์บอกว่า เราสอนด้วยศีลและวินัย คือกฎระเบียบ
พระสงฆ์จึงอยู่ในความเรียบร้อย
เมื่อนายหัตถาจารย์ถามเรา
เราก็จะถามนายหัตถาจารย์
นายหัตถาจารย์ฝึกหัดช้างฝึกหัดอย่างไร
ช้างเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่รู้ภาษาอีกต่างหาก
นายหัตถาจารย์ บอกว่า
การฝึกหัดช้าง ถึงจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน
แต่เราก็รู้มันได้ มันพอใจ หรือ มันไม่พอใจ เรารู้มันได้
เพราะอากัปกิริยาของมัน มันตื้น มันไม่เหมือนมนุษย์
มนุษย์นี้ลึกนะ พระเจ้าค่า เพราะข้าพระองค์นี่
บอกลูกน้องทำอย่างนั้น อย่างนั้น
เขาก็บอกครับผม ครับผม พอเสร็จแล้ว
มันทำไปอีกอย่างอื่นอีก
มันตรงข้ามกับที่เราได้พูดได้กล่าวกัน
เพราะฉะนั้นใจของมนุษย์มันหยั่งไม่ถึงจริงๆ
พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า
ใช่...ถูกต้องหัตถาจารย์
ใจของมนุษย์มันลึกกว่าน้ำมหาสมุทรทะเลอีก
สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒,๐๐๐กว่าปี
ให้พวกเราคิดดูสิว่า จริงไหม
หลวงพ่อว่า จริงแน่นอนล่ะ
จิตใจของมนุษย์หยั่งไม่ถึงจริงๆ
เพราะฉะนั้น ศีลธรรม จริยธรรม
ที่นำมาประพฤติปฏิบัติเท่านั้นล่ะ
จะเป็นเครื่องยับยั้งทางด้านจิตใจของมวลมนุษยชาติ
ขอให้มวลมนุษย์ทุกคน ให้ประกอบคุณงามความดี
สั่งสมคุณงามความดีเข้าสู่จิตใจ
นี้ล่ะ...จะมีแต่ความเจริญ จะมีแต่ความร่มเย็นผาสุกนะ

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “นับหนึ่งใหม่ที่ใจของเรา”
แสดงธรรมเมื่อ เช้า วันพุธที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
















#สันตุสสโกวาท
ชุด ปฏิปทาครูบาอาจารย์

ตอน “บาตรพระ”

พระกรรมฐานเขาปฏิบัติตนอย่างไร
ไม่ใช่ว่าอยู่แบบเด้น ๆ ด้าน ๆ
ไม่ใช่อยู่แบบไม่รับผิดชอบ
เขาอยู่ด้วยความรับผิดชอบ
ตามแนวแถวของครูบาอาจารย์
อย่างหลวงพ่ออยู่กับองค์หลวงตามหาบัว
เป็นเวลา ๑๓ ปี และก็เป็นพระมาจากที่อื่นอีก ๔ ปี
รวมแล้วเป็น ๑๘ ปี หลวงพ่ออยู่ที่นั่น
ไม่เคยให้ใครล้างบาตรให้หลวงพ่อนะ หลวงพ่อล้างบาตรเอง
วินัยเกี่ยวกับบาตร
ขณะสะพายบาตรอยู่ในบ่าห้ามผลักบานประตู
มีบาตรอยู่ในมือห้ามผลักบานประตู
ถ้าผลักบานประตูปรับอาบัติทุกกฏ
เวลาจะไปตั้งบาตร อย่าไปตั้งบาตรในที่หมิ่นเหม่
ถ้าตั้งบาตรในที่หมิ่นเหม่ถ้าบาตรตกลงไปปรับอาบัติทุกกฏ
การล้างบาตรอย่าไปวางบาตรไว้ที่แข็ง
ต้องวางบาตรไว้ที่นุ่ม ที่มีรองบาตร ที่ไม่ให้กระทบ
นี่ละ วินัยเกี่ยวกับบาตรไม่ใช่ธรรมดา
หลวงตามหาบัวบางทีท่านเห็นพระเด้น ๆ ด้าน ๆ
มาไม่ถูกตามเวล่ำเวลา ท่านสะพายบาตรลงมาเองเลย
ห้ามยุ่ง ท่านจัดการเอง นี่ หลวงพ่อเห็นกับตาเลย
เพราะฉะนั้น เรื่องแนวปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ถ้าหากว่าเหลาะแหละอ่อนแอ
ไม่ควรจะมีในพระกรรมฐาน ต้องรับผิดชอบในจุดนั้น
ถ้าผ้าขาด ต้องปะชุนใหม่ขึ้นมาก็ต้องบอกว่า
ผ้าไตรจีวรของท่านอาจารย์ขาด ได้ปะชุนแล้ว
หลวงพ่อจะต้องอธิษฐานใหม่อีก
เพราะว่ามันปะชุนใหม่มีส่วนที่แต่งเติมเข้ามา
นี่ก็เหมือนกัน บาตรมันบุบไปอย่างนั้นแล้ว ถ้ามันแตกแล้ว
หลวงพ่อก็จะต้องอธิษฐานบาตรใหม่อีก
เรารักษาศีลของเรา รักษาวินัยยิ่งกว่าชีวิตนะ
นี่ละ...วินัยเกี่ยวกับบาตรพระเป็นอย่างไร
ให้พวกท่านไปศึกษาดูซิ การที่จะวางบาตร
การที่จะมอบบาตรให้กับใคร การที่จะดูแลบาตร
รักบาตรตนเองเหมือนกับเท่ากับชีวิตของตนเอง
เห็นไหม บาตรและจีวรของพระพุทธเจ้า
ไปที่ไหนต้องถือว่าเป็นบริขาร เป็นเครื่องเลี้ยงชีพของตนเอง
จะไปปล่อยปละละเลยไม่ได้
ขนาดพระองค์ประชวรป่วยหนักเดินทางไปเมืองกุสินารา
จากนั้นยังได้ให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำ
บาตรนี่ใช้สารพัด แนวใช้ของพระกรรมฐาน แนวทางของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านวางวินัยเอาไว้
ถ้าเรามาพิจารณาดูแล้ว ถ้าจะว่าไปแล้วท่านล้ำยุคเหมือนกันนะ
โรคโควิดทุกวันนี้ คือไม่ให้ทานอาหารด้วยกัน
เห็นไหมฉันในบาตรแต่ละองค์ ตักอาหารใส่บาตรพอประมาณ
จากนั้นก็ฉันในบาตร ของที่ปนเปื้อนก็ปนเปื้อนด้วยตนเอง
ฉันของใครของเรา เสร็จแล้วก็ไปล้าง
หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัวท่านไม่ให้ฉันด้วยช้อนอีกต่างหาก
ถ้าหากองค์ไหนฉันด้วยช้อน ตักช้อนขึ้นมา เหลือบลงเลย
“หือ!! ....ขนาดมือตัวเอง ยังไม่รับรองว่าความสะอาด
อยู่กับมือตัวเองเหรอ”
“มาหาฉันเป็นเจ้าชู้ขุนนางให้เราเห็นเหรอ
อย่านะ หนีออกจากวัดนะ หนีนะ อย่ามาอยู่ที่นี่นะ”
อันนี้เราอยู่กับองค์หลวงตา ท่านว่าหลวงปู่มั่นท่านถือมาก
ให้พวกเราศึกษา ให้ฟังดู
นี่ล่ะ วินัยเกี่ยวกับบาตรไม่ใช่ธรรมดา
พระพุทธเจ้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมา
ท่านรักบาตรของท่านยิ่งกว่าอะไร
อันนี้ก็คือแนวแถวปฏิปทาของครูบาอาจารย์
พระธุดงค์กรรมฐาน ให้พวกท่านทั้งหลายศึกษา

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “ข้อวัตรบาตรหลุดมือ”
แสดงธรรมเมื่อ วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
ตอบกระทู้