Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

กิริยาภายนอก

พุธ 17 มิ.ย. 2020 3:02 am

"อามิสบูชา มีน้ำหนักเพียง ๕ กิโลกรัม
แต่ ปฏิบัติบูชา มีน้ำหนักถึง ๑๐๐ กิโลกรัม

อามิสบูชาจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะกาลเท่านั้น
ส่วน ปฏิบัติบูชา ทำได้ไม่จำกัดกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล

เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่า
ปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาอันเลิศ"

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)









"เทวดาสวดมนต์"

"หลวงปู่ชอบ ฐานสโม" ท่านได้บอกเตือนลูกศิษย์เรื่องการสวดมนต์ว่า "เทวดาในแต่ละสถานที่เขาชอบบทสวดมนต์ที่แตกต่างกัน"

บางสถานที่ก็ชอบ... บทธัมมะจักกัปปะวัตตสูตร
บางสถานที่ก็ชอบ... บทกะระณียะเมตตะสูตร
บางสถานที่ก็ชอบ... บทมาติกา
บางสถานที่ก็ชอบ... บทเมตตาสังนะสูตร

พอสวดฮอด(ถึง)บทที่พวกเขาชื่นชอบละก็เขาจะพากันเปล่งเสียงสาธุการดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว!! เทวดาเขาพากันออนซอนสะออนหลาย(พากันชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง)

หลวงปู่ท่านเน้นย้ำเรื่องการสวดมนต์ว่า...

"เวลาสวดมนต์ไหว้พระ อย่าทำเป็นเล่น เห็นเป็นของสนุกคะนองปาก ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของสูง ควรค่าต่อการเคารพเป็นอย่างยิ่ง หากพากันเห็นเป็นของเล่นแล้ว ก็จะเป็นบาปเป็นกรรมกับตัวเอง นักปราชญ์ได้ยินท่านก็ตำหนิ เทวดาเขาก็พากันตำหนิ"

"เวลาไหว้พระสวดมนต์ ให้พากันตั้งใจสวดจริงๆ เวลาสวดก็ให้มีสมาธิจดจ่อลงไปในบทนั้นๆ มันถึงจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นกับตัวเจ้าของ(ตัวเอง)"

"การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการทำสมาธิไปในตัว บางทีข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆ มันก็จะผุดขึ้นมาในขณะที่สวดมนต์ก็มี"

"เทวดาทั้งหลายนั้น เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรามาก่อน มีจิตใจฝักใฝ่ในบุญกุศล พอตายทำลายขันธ์จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ได้ไปจุติในสวรรค์ชั้นต่างๆ สูงบ้างต่ำบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ตนเองได้สั่งสมมาในตอนเป็นมนุษย์"

"ถึงแม้ว่าจะเป็นเทวดาอยู่ก็ตาม จิตของพวกเขายังฝังไว้ในบุญกุศล พอได้ยินหรือได้เห็นผู้ใดทำคุณงามความดี พวกเขาก็จะพากันมาร่วมอนุโมทนาด้วย หากว่าเรามีจิตที่ละเอียดเป็นสมาธิบ้าง เราก็
จะเห็นเขามาร่วมอนุโมทนากับเราด้วย"

"อย่างหยาบๆ ที่พวกเราจะรับทราบได้ ก็คือ
ขนพองสยองเกล้า เป็นต้น "

ด้วยหลวงปู่ท่านให้ความสำคัญเรื่องการสวดมนต์ไม่น้อยกว่าการทำสมาธิภาวนา จึงจะเห็นได้ว่าแม้ในช่วงปัจฉิมวัยขององค์ท่าน ยามกลางค่ำกลางคืน ท่านก็ยังออกมานั่งรถเข็นจงกลมไปในบริเวณวัด ฟังพระเณรลูกหลานสวดมนต์ไหว้พระ เหมือนเป็นการให้กำลังใจลูกหลานพระเณรไปในตัว

พอหลังจากไหว้พระสวดมนต์กันเสร็จแล้ว ในบางคืน ลูกหลานพระเณรก็จะได้กราบเรียนสอบถามองค์ท่าน

"หลวงปู่ครับ! วันนี้เทวดาเขามาร่วมสวดมนต์ไหว้พระด้วยไหมครับ?"

หลวงปู่ท่านก็มักจะตอบว่า "มีมาทุกวัน" วันไหนมีมากเท่าไร ท่านก็จะบอกจำนวนให้ทราบด้วย หรือบางครั้ง ท่านก็จะระบุชื่อพระเณรเป็นรายคนด้วย เช่น

"เทวดาเขาชมว่าพระ...เณร...องค์นี้ สวดมนต์ม่วนหลาย เสียงดังกังวานไปไกล เทวดาเขาได้ยิน เขาขออนุโมทนาด้วย"

พอได้ยินหลวงปู่ท่านว่าให้ฟังเช่นนี้ พระเณรลูกหลานก็พากันปลื้มอกปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง พอถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ จึงพากันตั้งอกตั้งใจสวดกันอย่างเต็มที่

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย









...หรือพิจารณาด้วย.."ปัญญา"
ให้เห็นว่า.."เวทนาก็สักแต่เวทนา"
ไม่ได้ร้ายแรงอะไร จะสุขหรือทุกข์
หรือไม่สุขไม่ทุกข์
"เป็นเวทนาเหมือนกันหมด"

...มีอวิชชา มีความหลง
ไปแยกว่าดีหรือไม่ดี
"ถ้าไม่แยกก็ เหมือนกันหมด"
สุขเวทนาก็เป็นเวทนา
ทุกขเวทนาก็เป็นเวทนา
ไม่สุขไม่ทุกขเวทนา
ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน

...ปรากฏขึ้นมาในจิต แล้วก็ดับไป
เกิดดับๆอยู่ในจิต
"ถ้าจิตไม่โง่เขลาเบาปัญญา"
ไม่มีอวิชชาความหลงไปแยกว่า
เวทนาแบบนี้ดี เวทนาแบบนี้ไม่ดี
ก็จะ..ไม่มีปัญหาอะไร.
.................................
จุลธรรมนำใจ 10กัณฑ์ที่ 369
ธรรมะบนเขา 30/7/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









"..พระอรหันต์จำพวกเดียวจะไม่ลำบากกับจิต เพราะจิตสะอาดดีพอแล้ว จิตมิได้ประกอบกับเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหนือเหตุผลไปแล้วปราศจากโทษ มิได้รักษาจิตคุมจิตอยู่เหมือนคนคุมนักโทษ เมื่อกิเลสคือความหลงไม่เข้าไปยึดถือเอาจิตเป็นตน ตนเป็นจิตแล้ว อุปาทาน อวิชชา ตัณหา สมุทัย ทุกข์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ สมมุติก็ทรงสมมุติตามเคย ไม่มีใครไปจี้ปล้นไถ่ถอนเอาเป็นเจ้าของ แม้ธรรมฝ่ายวิมุตติก็ทรงวิมุตติตามเคย ไม่มีใครไปจี้ไปปล้นไปลักไถ่ลักถอนให้เป็นกรรมเป็นวิบากเป็นวัฏฏจักร-ฏจกอะไร ก็จบกันไปไม่มีปัญหาของอนิจจาอีก..."

หลวงปู่หล้า​ เขมปัตโต









#มรณสติ คือ สติระลึกถึงความตาย ให้มองเห็นธรรมดาของชีวิต ว่าความตายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปที่แน่นอนของชีวิตนี้ ที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีความเจริญขึ้นแล้วก็มีความเสื่อมคือชรา และในที่สุดก็อวสานด้วยมรณะคือความตาย

เมื่อเห็นธรรมดาของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้เกิดความรู้เท่าทัน มีสติมองเห็นอนิจจัง เมื่อมองเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ความไม่คงอยู่กับที่ ความที่จะต้องเกิดจะต้องดับและแตกสลายไป

พอมองเห็นธรรมดาอย่างนี้ เห็นความเกิดขึ้นความดับไปอย่างนี้แล้ว ผู้ที่ระลึกถึงอย่างถูกต้อง จะไม่เกิดความเศร้าสลดหดหู่ใจ แต่จะเกิดความได้คิด มองเห็นความจริงของชีวิต แล้วก็เกิดพลัง เกิดเรี่ยวแรงกำลัง ที่จะทำกิจหน้าที่ ซึ่งพระท่านเรียกว่า ความไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ระลึกไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดความเศร้าสลดใจ หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดความหวาดกลัว พรั่นพรึง อันนั้น ท่านเรียกว่าทำใจผิด
.
ป. อ. ปยุตฺโต









"กัลยาณมิตร หาได้ไม่ง่าย หาไม่ได้สำหรับคนทั่วไป
ไม่ใช่ภริยาทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของสามี
ไม่ใช่สามีทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของภรรยา
ไม่ใช่เพื่อนทุกคน เป็นกัลยาณมิตรของกัน และกัน

ผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น มีคุณสมบัติเป็นหลักสำคัญที่สุด
คือ ความดี มีคุณธรรมประจำใจ พร้อมด้วยสติ
และปัญญา

ภรรยา สามี บุตรธิดา และมิตรสหาย หรือผู้หนึ่งผู้ใด
ที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวมา จึงไม่อาจเป็นกัลยาณมิตรได้"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ











“ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน
ความทุกข์ก็เช่นกัน
สักวัน.. ก็ต้องสิ้นสุด”

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล










“ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ภายใต้กฏของกาลเวลา
เวลาแก่แล้ว ต่อให้มีเครื่องสำอางค์ ราคาแพงขนาดไหน
น้ำหอม จะหอมขนาดไหน จะแต่งอย่างไรก็ดูไม่สวย

เหมือนแต่งหน้าทาปากให้กับลิง
ลิงมันสวยที่ตรงไหน จึงอย่าไปสนใจกับความสวยงาม
ของร่างกายเลย ดูแลรักษาไม่ให้สกปรก ให้เรียบร้อยก็พอ
หันมาทุ่มเวลาให้กับการเสริมสร้างความสวยงาม
ทางด้านจิตใจจะดีกว่า”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต










" ลมหายใจเรานี่ ไม่เลือก
เวลาตื่นเวลานอน นอนอยู่
มันก็ยังเข้า ยังออกเสมอๆ

ข้าวน้ำยังกินเป็นเวลา
คือเวลาหิว แต่ลมหายใจ
เราไม่เลือกเวลาอิ่ม เวลาหิว

ฉะนั้นให้ดูลมหายใจเรา
ให้หัด "ภาวนา"
ให้มีสติ อยู่เสมอๆ "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อชา สุภัทโท









" อันว่ากิริยาภายนอกนั้น
จะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ
แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจ
จนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่า คนที่
กิริยางามแต่ใจไม่เที่ยง

เพราะ "นิสัยวาสนา" คนเรา
มันไม่เหมือนกัน เขาก็ยังมี
คำพูดอยู่มิใช่หรือว่า
แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่
แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้

เราจึงไม่แข่งวาสนา
กับใคร เราเป็นอย่างนี้
จึงพอใจอย่างนี้ เพราะ
นิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้ "

โอวาทธรรม
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท









" เรามาหัด "ภาวนา"
คือหัดละความชั่ว

ทำภาวนา เป็นการ
สร้างความดีก็จริง
แต่ว่าเป็นการละกรรม
ไปพร้อมกันด้วย

ได้พูดให้ฟังอยู่เสมอว่า
ทำใจให้เป็นกลางๆ​
ไม่มีดีมีชั่ว​ นั่นแหละ
เป็นการพ้นจากกรรมได้ "

โอวาทธรรม
หลวง​ปู่​เทส​ก์​ เท​ส​รังสี








#ตั้งสติให้ดีนะนักภาวนา

สติดีเท่าไรๆ กิเลสจะไม่เกิด กิเลสจะเกิดทางสังขาร คือ ความคิดความปรุง สังขารนี่ออกมาจากอวิชชา คือ อวิชชานี้เป็นแหล่งใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย มันผลักมันดันออกมาให้เกิด

#ทีแรกก็เกิดทางสังขาร
#ความคิดปรุงแพล็บๆออกไป
#นั่นละกิเลสได้ออกทำงานแล้ว
#แล้วก็กว้านเอาฟืนเอาไฟเข้ามาเผาเรา

เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นของสำคัญ ถ้าสติดีเท่าไรความคิดปรุงนี้จะปรุงขึ้นมาไม่ได้ เหมือนว่ามีช่องเดียว ช่องที่สังขารมันปรุงออกมา เป็นฝ่ายสมุทัยคือกิเลส

#ทีนี้เอาธรรมะเข้าไปเป็นงานของธรรม

เช่น คำบริกรรม จะเป็นพุทโธ ๆ ก็ตาม ให้สติติดอยู่กับพุทโธ ไม่ต้องเสียดายความคิดความปรุงอะไรทั้งนั้น

#เพราะคิดปรุงมาตั้งแต่วันเกิด
#ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร

นี่เราคิดปรุงทางอรรถธรรม เช่น คำว่า พุทโธ ๆ เป็นความคิดเหมือนกันกับความคิดของกิเลส แต่ความคิดทางธรรมะนี้เป็นน้ำดับไฟ เรียกว่าเป็นธรรม ความคิดทางนี้เป็นธรรม ความคิดของกิเลสเป็นกิเลสเรื่อยๆ ไป

#หลวงตามหาบัว #ญาณสัมปันโน










ลงทุนปฏิบัติธรรม. มีแต่ได้. กับได้.

โอวาทธรรม
หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร








อำนาจของกรรม. ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก. ไม่มีอำนาจใด. ทำลายล้างได้.

โอวาทธรรม
สมเด็จพระญาณสังวรฯ








ถ้าไม่ได้ไปพระนิพพาน. มันก็เกิดอยู่อย่างนี้. ตายอยู่อย่างนี้แหละเรา.

โอวาทธรรม
หลวงปู่บุญจันทร์ สีลคุโณ
ตอบกระทู้