นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 7:04 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 24 มิ.ย. 2020 6:36 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
...จิตสงบเยือกเย็น ๒๔ ชั่วโมงน่ะ มันสุขขนาดไหน....ทำเอง แม้จะปวด จะทุกขเวทนานี่น่ะ ฝ่าเท้ามันร้อนวาบๆ หัวเข่าก็ร้อน มันก็เป็นเรื่องของธาตุขันธ์ที่เสื่อมของเขา แต่จิตใจเมื่อสงบแล้ว นั่นแหละ 'สุข'...

หลวงปู่เจม จิรธมฺโม
สำนักสงฆ์ห้วยลึก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์









เรื่อง "เหตุของการออกเดินธุดงค์รุกขมูล"

(คติธรรม หลวงปู่ไม อินทสิริ)

การทำจิตให้สงบมันเป็นเรื่องยาก ถ้ามันเป็นเรื่องไม่ยาก หลวงปู่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้เข้าไปอยู่ในป่าดงดิบลึกๆหรอก สมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ยังเข้าไปในป่าเขาลำเนาไพร เป็นสถานที่ทุรกันดาร ปราศจากผู้คนหรือชุมชนทั้งหลาย ไปหาความสงบ ปัจจุบันเรียกว่า "สถานที่วิเวก" มันวิเวกทางกาย กายก็ไม่มีใครมารบกวน วิเวกทางเสียง เสียงก็ไม่มีใครมารบกวน วิเวกทางตา ก็ไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้ามารบกวน อยู่ในป่าลึกจึงมีความสงบ เพราะฉะนั้นพระกรรมฐานจึงเข้าไปหาสถานที่ ที่อยู่ในความสงบปราศจากผู้คน จิตใจจึงดิ่งเข้าสู่ความสงบได้ง่าย

ปัจจุบันนี้ก็มีหลายคน เข้ามาถามหลวงปู่ว่า ปฏิบัติที่บ้านได้ไหม ? ได้...อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ว่าได้ปฏิบัติแต่มันจะไม่ได้ความสงบน่ะ มันได้ปฏิบัติ แต่มันไม่ได้รับความสงบ ไปเดินจงกรมแต่ไม่สงบ ได้นั่งสมาธิแต่ไม่ได้รับความสงบ อย่าว่าแต่นั่งสมาธิเลย แม้แต่พวกเราจะนอนน่ะ พอมีคนคุยกันเอะอะโวยวาย เราจะนอนหลับไหมล่ะ?

มันนอนไม่ได้ คนหนึ่งจะนอน อีกคนหนึ่งตีกลองร้องเพลงใส่ กระโดนโลดเต้นอยู่ มันจะนอนหลับไหมล่ะ ? ยิ่งสมาธินี่...ต้องการความสงบยิ่งไปกว่านั้น เป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์ถึงได้ไปอยู่ในป่าดงดิบ อย่าว่าแต่ในประเทศไทยเลย ท่านยังออกไปต่างประเทศลาว ประเทศลาวมันมีภูเขาเยอะ มีพวกถ้ำ มีเทือกเขา บางสถานที่มันก็ใกล้ชุมชน ไม่สงบนะ

มันมีคนเข้าไป ท่านก็จะเข้าไปลึกๆตรงที่คนเข้าไปไม่ถึง เพราะอะไรคนจึงเข้าไปไม่ถึง...เสือก็เยอะช้างก็เยอะ ใครจะกล้าเข้าไปล่ะ ยิ่งผู้หญิงไม่กล้าเข้าไปเลย กลัวเสือกัด กลัวเสือกิน ทีนี้เป็นโอกาสอันดี ที่ท่านไปอยู่อย่างนั้น ท่านปฏิบัติอยู่ในป่าดงดิบ อยู่ในดงเสือดงช้าง นี้อาศัยเสืออาศัยช้างอยู่เวรอยู่ยามให้ ถึงได้รับความสงบ จะได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่

(พระธรรมเทศนา หลวงปู่ไม อินทสิริ)
(ถอดเทปโดย : นรินทร์ ศรีสุทธิ์)











...เรามักจะได้ยินเสมอเวลาคนตายไป
มักจะพูดกันว่า "ขอให้ไปสู่สุคติเถิด"
.
แต่การขอคือความปรารถนาดีนั้น
ไม่สามารถพาให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้ไปเกิดในสุคติได้
"ต้องเกิดจาก..การกระทำของแต่ละคน
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่"
.
เวลาตายไปแล้วจะนิมนต์พระมาสวดกุสลา
มาทำบุญทำกุศลให้
ก็ไม่เกิดประโยชน์กับคนที่นอนอยู่ในโลง เพราะคนตายไปแล้วไม่สามารถทำบุญได้
ไม่สามารถฟังธรรมะได้
.
ที่เขานิมนต์พระมาสวดนั้น
ความจริงเขานิมนต์มาให้สวดให้คนเป็นมากกว่า
คือญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายที่ไปในงานศพนั้น
เพื่อจะได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม
.
ถ้าฟังด้วยความตั้งใจ จิตก็จะสงบ
เมื่อมางานศพของเพื่อน ก็จะได้มีโอกาสเจริญปัญญา
คือ.."ได้ปลงสังขาร ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"
ถ้าเราระลึกถึงว่าเพื่อนของเราคนนี้
เมื่อก่อนเขาก็เป็นเหมือนเรา เขาก็มีลมหายใจ
เขาก็มีความสามารถที่จะทำอะไรได้
.
“แต่ในวันนี้เขาทำอะไรไม่ได้แล้ว
เขามีแต่รอให้นำเอาเข้าไปในเตาไฟ
เพื่อที่จะเผาให้หมดสิ้นซากไป
แต่เรายังมีชีวิตอยู่
เรายังมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ “
.
และต่อไปไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องเป็นเหมือนเขาเช่นกัน
เราก็จะต้องไปนอนในโลงให้เขานิมนต์พระมาสวด
แล้วก็นำเข้าเตาเผา เพื่อที่จะเผาร่างกายนี้
ให้กลายเป็นเถ้าถ่านไปเหมือนกัน
.
ถ้าเข้าวัดไปงานศพในลักษณะนี้
เราก็จะไม่ขาดทุน เพราะได้เข้าไปเติมบุญเติมกุศล
ได้ปลงสังเวช ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
"สร้างสติให้เกิดขึ้น สร้างปัญญาให้เกิดขึ้น".
.................................
กำลังใจ 10กัณฑ์ที่ 150
ธรรมะบนเขา 10/1/2546
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









เรื่อง "หลวงปู่มั่นมาสอนทางนิมิตภาวนา"

(ธรรมประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
(เขียนโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

#หลังจากหลวงปู่มั่นท่านมรณภาพแล้ว
#ก็ยังมาสอนลูกศิษย์ทางนิมิตภาวนา

หลังจากท่าน(หลวงปู่มั่น)มรณภาพแล้วโดยทางรูปกาย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนิมิตที่ปรากฏเป็นองค์แทนท่าน กับความรู้ทางจิตตภาวนาของบรรดาศิษย์ที่มีนิสัยในทางนี้ก็มีต่อกันอยู่เสมอมา ราวกับท่านยังมีชีวิตอยู่ การภาวนาเกิดขัดข้องอย่างไรบ้าง ท่านก็มาแสดงบอกอุบายวิธีแก้ไขโดยทางนิมิต เหมือนองค์ท่านแสดงจริง ๆ ทำนองพระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังในที่ต่าง ๆ ดังที่เขียนผ่านมาแล้ว ถ้าจิตของผู้นั้นอยู่ในภูมิใด และขัดข้องธรรมแขนงใด ที่ไม่สามารถแก้ไขโดยลำพังตนเองได้ ท่านก็มาแสดงธรรมแขนงนั้นจนเป็นที่เข้าใจ แล้วนิมิตคือรูปภาพขององค์ท่านก็หายไป หลังจากนั้นก็นำธรรมเทศนาที่ท่านแสดงให้ฟังในขณะนั้น มาแยกแยะหรือตีแผ่ออกตามกำลังสติปัญญาของตนให้กว้างขวางออกไป และได้อุบายเพิ่มขึ้นอีกตามภูมิที่ตนสามารถ

ท่านที่มีนิสัยในทางออกรู้สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีทางรับอุบายจากท่านที่มาแสดงให้ฟังได้ตลอดไป ที่เรียกว่าฟังธรรมทางนิมิตภาวนา ท่านมาแสดงธรรมให้ฟังทางนิมิต ผู้รับก็รับรู้ทางนิมิต ซึ่งเป็นความลึกลับอยู่บ้างสำหรับผู้ไม่เคยปรากฏ หรือผู้ไม่เคยได้ยินมาเลย อาจคิดว่าผู้รับในทางนิมิตเป็นความเหลวไหลหลอกลวงก็ได้ แต่ความจริงก็เป็นอย่างนั้น

พระปฏิบัติที่มีนิสัยในทางนี้ ท่านรับเหตุการณ์ในทางนี้ด้วย อันเป็นความรู้พิเศษเฉพาะราย ๆ มิได้ทั่วไปแก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย คือเป็นไปตามภูมินิสัยวาสนา ดังท่านอาจารย์มั่นฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่เสด็จไปโปรด และฟังธรรมที่พระสาวกมาแสดง โดยทางนิมิตเสมอมา บรรดาศิษย์ที่มีนิสัยคล้ายคลึงท่าน ก็มีทางทราบได้จากนิมิตที่ท่านมาแสดง หรือพระพุทธเจ้าและพระสาวกมาแสดง ถ้าเทียบก็น่าจะเหมือนพุทธนิมิตของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาในชั้นดาวดึงส์สวรรค์ฉะนั้น

แต่เรื่องของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องใหญ่มาก จิตใจคนน้อมเชื่อได้ง่ายกว่าเรื่องทั่ว ๆ ไป แม้มีมูลความจริงเท่ากัน จึงเป็นการยากที่จะพูดให้ละเอียดยิ่งกว่าที่เห็นว่าควร ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่สะดวกใจที่จะเขียนให้มากไปกว่านี้ และขอมอบไว้กับท่านผู้ปฏิบัติ จะทราบเรื่องเหล่านี้ด้วยความรู้อันเป็นปัจจัตตังของตัวเอาเองดีกว่าผู้อื่นอธิบายให้ฟัง เพราะเป็นความแน่ใจต่างกันอยู่มาก สำหรับผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างนั้น

อะไรก็ตามถ้าตนมีความสามารถพอเห็นได้ฟังได้ สูดกลิ่นลิ้มรส และรู้เห็นทุกสิ่งได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่อยากรับทราบจากผู้อื่นมาเล่าให้ฟัง เพราะแม้ทราบแล้ว บางอย่างก็อดสงสัยและคิดตำหนิติเตียนไม่ได้ แม้ผู้มีเมตตาจิตเล่าให้ฟังด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเรามันปุถุชนไม่บริสุทธิ์นี่ จึงมักจะชนดะไปเรื่อยไม่ค่อยลงใครเอาง่าย ๆ ฉะนั้นจึงควรให้ตนรู้เอาเอง ผิดกับถูกก็ตัวรับเอาเสียเอง ไม่ต้องให้คนอื่นพลอยรำคาญ ทนฟังคำตำหนิติเตียนจากตน ดังท่านว่าบาปใครบุญใครก็รับเอาเอง ทุกข์ก็แบกหามเอง สุขก็เสวยเอง รู้สึกว่าถูกต้องและง่ายดีด้วย

หลวงปู่มั่นภูริทัตโต











เรื่อง "คนที่ภาวนายาก ออกปฏิบัติไม่ได้ อุปมาเหมือนดั่งหนอนที่ยินดีพอใจในกองมูตรกองคูถ"

(คติธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ถ้ามีความเห็นถูกขึ้นในใจของเราแล้ว อยู่ที่ไหนก็สบาย แต่เพราะเรายังมีความเห็นผิดอยู่ ยึดธรรมอันมีพิษอยู่ แล้วมันก็ไม่สบาย ที่เรายึดอยู่อย่างนี้ ก็เหมือนกับตัวหนอนนั่นแหละ ที่อยู่ของมันก็สกปรก อาหารของมันก็สกปรก ที่อยู่และอาหารของมันไม่ดีทั้งนั้น มันไม่สมควร แต่ว่ามันสมควรกับหนอน ลองเอาไม้ไปเขี่ยมันออกจากมูตร ออกจากคูถ ดูสิ ตัวหนอนนั้นมันจะดิ้นกระเสือกกระสนไปทีเดียว มันจะดิ้นมาหากองคูถอย่างเก่า มันจึงจะสบาย อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

พระภิกษุสามเณรเราทั้งหลายนั้น ยังมีความเห็นผิดอยู่ ครูบาอาจารย์มาแนะนำให้เห็นถูก มันก็ไม่สบายใจ มันวิ่งไปหากองคูถอยู่เรื่อย ๆ มันไม่สบายเพราะตรงนั้นเป็นที่อยู่ของมัน เมื่อหนอนนั้นมันยังมองไม่เห็นความสกปรกอยู่ในที่นั้น เมื่อนั้นมันก็ออกไม่ได้ พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าไม่เห็นโทษทั้งหลายในสิ่งเหล่านั้น มันก็ออกไม่ได้ ปฏิบัติมันก็ยากลำบาก

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
รวมธรรมอุปมา











"เสื่อมจงรู้ตาม เจริญจงรู้ตาม
เผลอ หรือไม่เผลอ จงตามรู้ทุกอาการ
จึงจัดว่าเป็นนักค้นคว้าความรู้เท่า
ในอาการเกิดๆ ดับๆ ของสิ่งเหล่านี้
ด้วยปัญญาเสมอไป นั่นแล
จัดว่าเป็นผู้รู้เท่าทันโลก และเรียนโลกจบ
จึงจะพบของเจริง"

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน











"การหัดนึกย้อนหลัง หัดนึกก่อนทำ
หัดนึกก่อนโกรธ หัดให้มีความรู้ตัว
หัดให้มีความยับยั้ง การหัดอยู่เสมอ
สติจักเกิดมีทวีเป็นลำดับ จนถึงเป็นสติรอบคอบ
ถ้าไม่หัดทำ จะให้มีสติขึ้นเองนั้นเป็นการยาก
เหมือนอย่าง เมื่อประสงค์ให้ร่างกายมีพลานามัยดี
ก็ต้องทำการบริหารให้ควรกัน"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ









"การขอโทษ"และ"การให้อภัย"

" การรู้จัก "ขอโทษ" นั้น
เป็นมารยาทอันดีงามสำหรับ
ตัวผู้ทำเอง และเป็นการช่วย
ระงับหรือช่วยแก้โทสะของ
ผู้ถูกกระทบกระทั่งให้
เรียบร้อยด้วยดีในทางหนึ่ง

หรือจะกล่าวว่าการขอโทษ
คือการพยายามป้องกัน
มิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด

เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด
อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะ เพราะ
ถือความผิดนั้นเป็นความ
ล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน

แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้
ความผูกโกรธหรือความ
ผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น ถ้าแก้
โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้
ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้
เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน

"อภัยทาน" ก็คือการยก
โทษให้ คือการไม่ถือ
ความผิดหรือการล่วงเกิน
กระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ

อันอภัยทานนี้เป็นคุณ
แก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ
เช่นเดียวกับทานทั้งหลาย
เหมือนกัน คืออภัยทาน
หรือการ "ให้อภัย" นี้ เมื่อ
เกิดขึ้นในใจผู้ใดจะยังจิตใจ
ของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจาก
การกลุ้มรุมบดบังของโทสะ.."

พระโอวาทธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก








"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
กล่าวไว้ไม่ผิดว่า...
#นัตถิโลเก_รโห_นามะ
"ความชั่วปกปิดไว้เท่าไร
ใครจะรู้..
กรรมมันเปิดออกให้เราดู
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตาม
กรรมดีกรรมชั่วที่ตนทำไว้
คนดีถึงจะทำตัวเป็นใบ้
ใครก็รู้..
ถึงจะหลบหลีกปลีกตัวอยู่ถ้ำ
ภูเขาถึงแม้มนุษย์ไม่รู้
เทวดาก็บอกเอง
กลิ่นของศีลย่อมฟุ้งขจรขจาย
ไปทั่วทิศ..
เป็นนิมิตหมายของคนดี.."

#นัตถิโลเก_รโห_นามะ
..ชื่อว่าที่ลับไม่มีในโลก​..

#หลวงปู่ขาว_อนาลโย










#รู้ไม่ยึด
__

#ถาม ถ้าหากว่าเรารู้ว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไรแล้ว เรายังไปยึดเหนี่ยวมันอยู่ อย่างนี้เราก็จะไม่พ้นทุกข์ใช่ไหมคะ ?

___

#หลวงปู่ชาตอบ

ใช่… แต่ให้รู้นะ… รู้ไม่ยึด พูดง่ายๆซะ… รู้ไม่ยึด มันก็เกี่ยวกับภพชาติ

อย่างแก้วใบนี้มันมีอยู่ แต่ว่าไม่ใช่ภพ ถ้าแก้วใบนี้มันแตก เราก็เกิดทุกข์…เกิดชาติ ไม่สบายใจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้

เรียกว่า… ชาติมันไปเกิดในภพ ภพนั้นคืออุปาทาน… มั่นหมายในแก้วใบนั้น

ถ้าเราไม่มั่นหมายในแก้วใบนั้น เมื่อมันแตก… ความทุกข์ก็ไม่มีๆ ก็คือชาติไม่เกิดในที่นั้น อย่างนี้เป็นต้น

#คือมันหมดเหตุ #หมดปัจจัย

เพราะว่าอะไร? เพราะเรารู้แล้วว่า แก้วใบนี้แตก มันจะเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่เรารู้ว่าสภาวะของแก้วใบนี้ เป็นของไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราชัดเจนแล้ว เราก็ดับเหตุอันนี้ ทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้… อย่างนี้

#เหตุผลมันก็มีอยู่เรื่อยๆไป #แต่ไอ้ความรู้แจ้งนี้น่ะ #สำคัญมากเรื่องนี้

__
#ถาม

ถ้าเรายังมีชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ และต้องผูกพันอยู่กับการงาน ซึ่งทำให้เราต้องบังเกิด ความพัวพันกับการงาน การหวังผลประโยชน์แบบนี้นะคะ แต่ว่าใจของเรารู้อยู่ว่า อันเหตุเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่โดยหน้าที่แล้ว จำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อไปอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไรดีคะ?

___
#ตอบ

เราจะต้องรู้จักภาษา… คำพูดอันนี้ คำที่ว่า “ยึด” นี้ ยึดเพื่อไม่ยึด ถ้าคนไม่ยึดแล้ว ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน ไม่รู้จักทำงานอะไรทั้งนั้น เหมือนกับมีสมมติมันก็มีวิมุติ ถ้าไม่มีเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะทำกัน จึงให้รู้จัก “สมมติ” และ “วิมุตติ” คำที่ว่า “ยึดมั่น” หรือ “ถือมั่น” นี่น่ะ เราถอนตัวออก

อันนี้เป็นภาษาที่พูดกัน เป็นคำที่พูดกัน แต่ตัวอุปทาน… คือสิ่งทั้งหลาย เช่นว่า เรามีแก้วอยู่ใบหนึ่งนะ เราก็รู้อยู่แล้วว่าจำเป็น เราจะต้องใช้แก้วใบนี้อยู่ตลอดชีวิต แต่ให้เรามาเรียนรู้ว่า แก้วใบนี้น่ะ ให้มันชัดเจนซะ สำหรับแก้วใบนี้จนจบเรื่องของแก้ว จบยังไง… ก็คือเห็นว่า แก้วใบนี้ “มันแตกแล้ว”

#ถึงแก้วที่ไม่แตกเดี๋ยวนี้ #เราก็เห็นว่า “#มันแตกแล้ว”

เมื่อปัญญาเห็นว่ามันแตกแล้ว เราก็ใช้แก้วใบนี้ไป ใส่น้ำร้อน น้ำเย็น แต่ว่าเมื่อแก้วใบนี้มันแตกเมื่อไรเป็นต้น ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้… ทำไม? …เพราะว่าเราเห็นความแตกของแก้วใบนี้ก่อนแตกแล้ว ไอ้ที่มันแตกเดี๋ยวนี้มัน “ของทีหลัง” เพราะปัญญาเรารู้ว่ามันแตกแล้ว แตกปัจจุบันนี้ เป็นของแตกทีหลัง เราเห็นแตกก่อนแตกเสียแล้ว แก้วใบนี้มันก็แตกไป ปัญหาอะไรก็ไม่มีเกิดขึ้นเลย ทั้งๆเราใช้แก้วใบนี้อยู่… อย่างนี้ เข้าใจอย่างนั้นมั้ย?
___

นี่…มันเป็นอย่างนี้ มันหลบกันใกล้ๆเลย ทุกอย่างที่เราใช้ของอยู่ ก็ให้มีความรู้อย่างนี้ไว้ มันก็เป็นประโยชน์ เรามีไว้มันก็สบาย ที่มันจะหายไป มันก็ไม่เป็นทุกข์ คือไม่ลืมตัวของเรา

#เพราะรู้เท่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้

นี่เรียกว่า ไอ้ความรู้ที่มันเกิดขึ้นในที่นี้ มันคุมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อยู่ในกำมือของมัน เราก็ทำไปอย่างนี้แหละ ถ้าว่าความดีใจ หรือความเสียใจ มากระทบอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ เราก็รู้อารมณ์ว่า ไอ้ความดี… มันไปถึงแค่ไหน มันก็ “ไปถึง” เรื่องอนิจจังเท่านั้นแหละ…

#เรื่องไม่แน่นอน

ถ้าเราเห็นเรื่องไม่แน่นอนอันนี้ เรื่องสุข… เรื่องทุกข์นี้ มันก็เป็นเพียงเศษ… เป็นกากอันหนึ่งเท่านั้น ในความรู้สึกนึกคิดของเรา เป็นธรรมดาของมันเสียแล้ว

#เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา #มันก็จังว่า #มันก็ “#อย่างนั้นเอง”

เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา หรือสุขเกิดขึ้นมา มันก็ “อย่างนั้นเอง” ไอ้ความที่ว่า… อย่างนั้นเอง มันกันตัวอยู่อย่างนี้

ไม่ใช่คนไม่รู้นะ ไม่ใช่คนเผลอนะ เพราะว่าเรามีสติรอบคอบอยู่เสมอ

ในการงานทุกประเภท…ทุกอย่าง บางแห่งเคยเข้าใจว่า มันเป็นฆราวาสอยู่ ฉันได้ทำงานอยู่ ประกอบกิจการงาน เป็นพ่อบ้านแม่บ้านอยู่อย่างนี้ ฉันไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น

#อันนี้เป็นคำที่เข้าใจผิดของบุคคลที่ยังไม่รู้ชัด

ความเป็นจริงนั้น ถ้าหากว่าเราปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่ มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่ มีความรู้ตัวอยู่… อย่างนี้กาารงานมันยิ่งจะเลิศ ยิ่งจะประเสริฐ ทำการงาน จะไม่ขัดข้อง จะมีความสงบ มีความจริญงอกงาม ในการงานอันนั้นดีขึ้น

#เพราะว่า… #การปฏิบัตินี้ #อาตมาเคยเทียบให้ฟังว่า #เหมือนกับลมหายใจเรา

ทีนี้เราทำงานทุกแขนงอยู่ เราเคยบ่นไหมว่า เราไม่ได้หายใจ มันจะยุ่งยากสักเท่าไร ก็ต้องพยายามหายใจอยู่เสมอ เพราะมันเป็นของจำเป็นอยู่อย่างนี้

#การประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน

เมื่อเรามีโอกาสหายใจอยู่ ในเวลาที่เราทำงาน เราก็มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ อยู่ทั้งนั้น ในชีวิตฆราวาสของเรา

ก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัตินั้น คือความรู้สึกในใจของเรา

ความรู้ในใจของเรา ไม่ต้องไปแยกที่ไหน ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น มันก็เหมือนกันฉันนั้น

ลมหายใจกับชีวิต กับคุณค่าการปฏิบัตินี้มันเท่ากัน

ถ้าเราไปคิดว่า เราทำงานอยู่ เราไม่ได้ปฏิบัติ ก็เรียกว่า…เราขาดไป ก็เพราะว่าการปฏิบัตินั้น อยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่การงาน ไม่ใช่อยู่ที่อื่น เราลองทำความรู้สึกเข้าแล้วเป็นต้น มันก็มีไปทางตา หู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตหมด

#เป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ #แต่ว่าทำปัญญาให้รู้เรื่องของมัน… #รู้เหตุทุกข์จะเกิด

ดูเหมือนว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น ฆราวาสที่ประพฤติธรรม ก็ไม่ใช่น้อย… เยอะเหมือนกันนะ อย่างนางวิสาขา ประวัติของท่านน่ะ เป็นโสดาบันบุคคล มีครอบมีครัวอยู่นะ…นี่เป็นต้น

มันคนละตอนกันอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัย แต่ว่ากิจการงานของเรานั้น ต้องเป็นสัมมาอาชีวะ นางวิสาขานั้น อยู่ในบ้าน ก็ไม่เหมือนเพื่อนเค้า ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเพื่อน มันเป็นสัมมาอาชีวะ มีความเห็นที่ถูกต้องอยู่ การงานมันก็ถูกต้องเท่านั้น

ถ้าจะเอาแต่พระจะได้หรือ พระมีกี่องค์ในเมืองไทยนี้ ถ้าโยมไม่เห็นบุญไม่เห็นกุศล เห็นเหตุเห็นปัจจัยแล้ว มันก็ไปไม่ได้

ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติของพระ และฆราวาสนั้น มันจึงรวมกันได้ แต่ว่า มันยากสักนิดหนึ่งกับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจ เป็นฆราวาสก็คือมันไม่เป็นทางที่จะปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าพระออกบวชมาแล้วน่ะมุ่งโดยตรง ไม่มีอะไรมาขัดข้องหลายอย่าง แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็เท่ากันน่ะแหละ ถึงไปอยู่ในที่สงบ มันก็ทำตัวเราให้สงบไม่ได้ ถึงอยู่ในที่คนหมู่มาก ว่ามันไม่สงบ ผู้มีปัญญาก็ทำความสงบก็ได้ มันเป็นอย่างนี้

ถามตอบ
#หลวงปู่ชา #สุภัทโท













#กรรมดี_ชั่ว_อยู่ที่ใจเรา

ทำอะไรถึงได้เกิดความทุกข์ ทำอะไรถึงได้เกิดความสุข เราไม่ได้พิจารณาถึงสาเหตุ.

แต่เราก็ถือเอาความทุกข์ความลำบากของตน. ที่สร้างไว้นั้นแหละ. เผาลนตนเองอยู่นี่. ว่าเป็นความทุกข์ความลำบาก. อยากหนีจากความทุกข์นี้ไปเสีย. ไปเกิดเป็นภพอื่นชาติอื่น. เราจะได้ผ่านพ้นอันนี้ไป.

#จะผ่านพ้นไปไหนได้

ก็กรรมดีกรรมชั่วอยู่กับที่ใจของเรา ที่เราว่าอยากไปภพนั้นภพนี้ มันไม่ได้ไปตามที่เรากำหนดตัวเองด้วยความดีดดิ้นหนีจากความทุกข์ในภพนี้ อยากไปภพหน้าเพียงเท่านั้น มันขึ้นอยู่กับกรรม

#หลวงตามหาบัว #ญาณสัมปันโน
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖










#คนเรานั่น #ไม่ใช่คนดอก
#ที่แท้จริงเป็นกองธาตุต่างหาก

ถ้าจะ อุปมาอุปมัยคนเราเหมือนกับ ก้อนดินก้อนหนึ่ง กลิ้งไปบนพื้นแผ่นดินนี่แหละ ไปแทบทุกแห่งหน ก้อนดินไม่ใช่อะไรหรอก
.
#คนเรานี้ต่างหาก #ก้อนดินทั้งก้อน

ถ้าเห็นเป็นก้อนดินแล้ว คนเราจะไม่เกิดทิฐิมานะ จะไม่ถือเนื้อถือตัวว่าตน เป็นใหญ่เป็นโต หรือว่าตนเป็นน้อย เป็นหนุ่ม หรืออาจจะเป็นเด็ก เป็นเล็ก เป็นสาวอะไรต่าง ๆ

#ไม่ถือทั้งนั้น
.
ความหนุ่มไม่มี ความสาวไม่มี ใหญ่โตไม่มี เด็กเล็กไม่มี เสมอภาคกันหมด พระพุทธเจ้าท่านสอน ให้เราพิจารณาอย่างนั้น จึงจะเห็นตามเป็นจริง

ถ้าไม่เห็นอย่างนั้น ยังถือตัวถือตนอยู่ ถือเขาถือเราอยู่ ความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชัง เกิดขึ้นมา
.
มันตัวเกลียด ตัวโกรธ ตัวชังนั่นแหละ ที่ตัวใจ มันเข้าไปถือ

#มันไม่เห็นตามเป็นจริง

ถ้าเห็นตามเป็นจริงแล้ว จะไม่มีถือตัวถือตนกันเลย นั่นแหละ เป็นธรรม ถือทิฐิมานะ ถือเขาถือเรา อหังการ มมังการ ไม่เป็นธรรมเลย

#ธรรมแท้ต้องเห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุ
.
ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ท่านว่า อาหารการกินก็ดี ผ้าผ่อนเครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่ที่นอน ที่อาศัยก็ดี หยูกยาเภสัชต่าง ๆ ก็ดี ปัจจัยทั้งสี่นี้ เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลตัวตน

#เราเขา #สูญโญ #เป็นของว่างเปล่า
มันก็ว่างนะซี ไม่มีตนมีตัว ไม่ใช่ตน
___
#หลวงปู่เทสก์ #เทสรังสี












ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง

#หลวงปู่เทสก์ #เทสรังสี








#คาถาดับไฟนรก

" .. เอ้า "ใช้คาถาดับไฟนรก" เสกคาถาดับเลย "เอาพุทโธ ๆ นี่แหละดับ" เราเสกคาถาพุทโธ บริกรรมเท่านั้นแหละ ความวุ่นวายเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ หายหมด

#ตั้งสติคุมจิตให้แน่วแน่
#เอาเฉพาะพุทโธอันเดียว

ส่งออกไปข้างหน้าข้างหลังก็ไม่มี ทั้งคิดนึก โน่นนี่ก็ไม่มี ให้ใจอยู่เป็นกลาง ไม่กระทบกระเทือนอะไรทั้งหมด

#เราเกิดขึ้นมาในโลก
#มันต้องทำตัวเป็นกลาง

"ถ้าไม่เป็นกลางไม่เหนือโลก" ไม่พ้นจากโลกไปได้ ต้องมีทุกข์อยู่อย่างนั้นร่ำไป ใจที่เป็นกลาง ๆ แล้วจะมีอะไรกระทบกระเทือนอีก "ขอให้รักษาความเป็นกลางนั้นไว้ให้มั่นคงเถอะ" ไฟนรกต้องดับลง ณ ที่นั่นแหละ .. "

#หลวงปู่เทสก์ #เทสรังสี


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 111 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO