Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จิตของคน

เสาร์ 08 ส.ค. 2020 7:16 am

"บุญเราต้องรีบทำ รีบสะสมไว้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าไม่สะสมในชาตินี้ ไปข้างหน้าจะเป็นคนอาภัพ จะเป็นคนจน จะเป็นคนไร้สติปัญญา จะเป็นคนเศร้าหมอง จะเป็นคนไม่มีตระกูล จะเป็นคนขาดญาติขาดมิตร ขาดโภคทรัพย์

แต่ถ้าสะสมไว้ในชาตินี้แล้วจะเป็นอริยทรัพย์ จะเป็นศีลก็ดี จะเป็นทานก็ดี จะเป็นภาวนาก็ดี จะไปรวยข้างหน้า ถ้ายังไม่ถึงนิพพานก็ยังรวยอยู่"

พระธรรมคำสอน
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
พระธรรมเทศนา เรื่อง "ดับทุกข์ได้จริง"








ดวงจิตนั่นเมื่อมีสติควบคุม มีสัมปชัญญะ ค้นหาเหตุผล ใคร่ครวญอยู่ มันเลยรู้เห็นว่า อัตตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตนั่นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่าจิตหลุดพ้น ถึงวิมุตติ

วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา

หลวงปู่ขาว อนาลโย








#จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ

สิ่งสำคัญที่เป็นจุดมุ่งหมายก็คือ "ตัวตัดกิเลส" หรือว่าตัวบรรเทากิเลส และกิเลสที่เราจะตัดจริงในการเจริญพระกรรมฐาน ก็มีอยู่ ๑๐ อย่าง ที่เรียกว่า “สังโยชน์ ๑๐” ดังที่เราจะขอกล่าวดังนี้

สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจ
มี ๑๐ อย่าง

๑. "สักกายทิฏฐิ" มีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

๒. "วิจิกิจฉา" สงสัยไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เช่น พระพุทธเจ้าบอกว่าสวรรค์มี นรกมี เราไม่เชื่อ หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่มีความสงสัย ตายแล้วมีสภาพไม่สูญ เราก็ไม่แน่ใจ เพราะเห็นว่า คนตายแล้วไม่มีใครกลับมา ก็คิดว่าสูญ

และประการที่ ๓ "สีลัพพตปรามาส" รักษาศีลไม่จริงจัง มีความบกพร่องในศีล

๔. "กามฉันทะ" มีจิตหมกมุ่นในกามารมณ์

๕. "ปฏิฆะ" มีอารมณ์โกรธ

๖. "รูปราคะ" หลงในรูปฌาน

๗. "อรูปราคะ" หลงในอรูปฌาน อย่างที่เราเจริญกรรมฐานกันน่ะ พอถึงฌานแล้วก็หลงอยู่ในฌาน ไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาตัดกิเลส มัวป้วนเปี้ยนอยู่แค่ฌาน อย่างนี้เรียกว่าหลง

๘. "มานะ" การถือตัวถือตน

๙. "อุทธัจจะ" มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน

๑๐. "อวิชชา" มีความเข้าใจว่าโลกนี้น่าอยู่ โลกนี้น่ารัก เทวโลก และพรหมโลก น่าอยู่น่ารัก นี่เป็นความรู้ไม่จริง

"วิธีตัดก็ตัดสังโยชน์ "

ให้มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา.. ข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ ใช้ปัญญาพิจารณาความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์

ข้อที่ ๓ ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์

ข้อที่ ๔ เจริญอสุภกรรมฐาน พร้อมกับกายคตานุสสติร่วมกัน เพื่อตัดกามฉันทะ

ข้อที่ ๕ ปฏิฆะ ใช้เจริญพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ เป็นเครื่องตัด

ทีนี้ข้อที่ ๖ ข้อที่ ๗ อันนี้ไม่ยาก คนที่มีปัญญาถึงขั้นอนาคามีแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องแนะนำ คือเขาไม่หลง ในรูปฌานและอรูปฌาน หวังนิพพาน

แล้วต่อไปก็ตัดมานะ การถือตัวถือตน คือว่าเรากับเขาเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน

และตัดความฟุ้งซ่าน ความหวังอย่างอื่นไม่มี มีเฉพาะนิพพานอย่างเดียว

ตัดอวิชชา เห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกไม่ดี ไม่พ้นทุกข์จริง ไม่ช้าก็กลับมาทุกข์ใหม่ ก็หวังนิพพานอย่างเดียว...

#พระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษี)








#ความทุกข์มากกว่าครึ่งในชีวิตของเราเกิดจากความหลง หลงสร้างอัตตาตัวตนของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ตัวตนเหล่านี้เรียกรวมๆว่ากิเลส กิเลสทำให้เกิดอาการอยาก กิเลสมากๆ ทำให้เกิดแรงแห่งความดิ้นรนทะยานอยาก ซึ่งเรียกว่าตัณหา การดิ้นรนทะยานอยากทำให้จิตร้อนรุ่ม เกิดการแสวงหาซึ่งต้องใช้ทั้งกำลังกายกำลังความคิดอย่างหนัก ได้ไม่ได้ก็ต้องเหนื่อย เหนื่อยแล้วก็ต้องเหนื่อยอีก บางทีอาจต้องเหนื่อยไปจนวันตาย ก็เพราะความหลงนี่เองที่ต้องเหนื่อยต้องทุกข์กันตลอดชีวิต...

หลวงพ่อท่านเจ้าคุณอลงกต
วัดพระบาทน้ำพุ









พูดอะไรก็ตาม. ถ้าไม่ได้พูดถึง. สติ. มันเหมือน. ไม่ได้เทศน์นะ.

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน









#การสร้างบุญสร้างกุศล_ไม่ไปที่อื่น

อย่างที่พวกเราได้มาหาทุน เพื่อทำยอดฉัตรพระเจดีย์ขององค์หลวงตา เมื่อทำบุญแล้วให้เราตั้งจิตอธิษฐาน

สาธุ ข้าพเจ้าได้ทำบุญกับองค์หลวงตามหาบัว เราถือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านประกาศตัวของท่านว่า ท่านจะไม่มาเหยียบแผ่นดินอีกเป็นอนันตกาล

ข้าพเจ้าได้ทำบุญยอดฉัตรพระเจดีย์ ด้วยอานิสงส์ที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญในครั้งนี้ คำว่าตกต่ำอย่าได้มีกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเกิดมาภพใดชาติใดจนถึงมรรคผลนิพพานดวงตาเห็นธรรมในที่สุด ขอให้อย่าเจอคำว่ายากจน ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี จงมีกับข้าพเจ้า อย่าให้ข้าพเจ้าตกต่ำ เพราะข้าพเจ้าได้ทำยอดฉัตรเจดีย์ของพระอรหันต์

#ให้พวกเราตั้งจิตไว้

ถึงจะได้หรือไม่ได้ยังไง เราก็ตั้งความปรารถนาให้สูงเข้าไว้ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญคุณงามความดี บริจาคกัณหา ชาลี พระองค์ก็ปรารถนาว่าขอให้ข้าพเจ้าสำเร็จโพธิญาณ

พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร กัสสปะ อานนท์ เมื่อท่านได้ทำบุญก็ตั้งความปรารถนาขอให้ได้เป็นอัครสาวกข้างขวา อัครสาวกข้างซ้าย

แต่พวกเรานี้ ก็เกิดมาภพใดชาติใดขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ตกต่ำ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร ถึงแดนพระนิพพานในที่สุด เหมือนกับองค์หลวงตา เหมือนกับพระอรหันตสาวก เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้บรรลุธรรมยังไง ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมอย่างนั้นตลอดทุกประการด้วยเทอญ

#หลวงพ่ออินทร์ถวาย #สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “พระอนุรุทธะเคยปรารถนาบุญ” แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑









#ให้เอาชนะกิเลสตัวเอง

อย่าไปเอาชนะกิเลสคนอื่น
ชนะกิเลสในใจตนได้แล้ว
ขี้นชื่อว่าชนะทุกสิ่งในโลกนี้

กิเลสอยู่ขอบฟ้ามหาสมุทรไหน
ก็ชนะทั้งหมด ถ้าเราชนะตัวเราแล้ว

#หลวงปู่แสง #ญาณวโร







"วัน คืน เดือน ปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่า
วันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคล
หมดไปสิ้นไป มันหมดไป ทุกลมหายใจเข้าออก
ฉะนั้น ให้ภาวนาดูว่า วันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่
ทำบุญ หรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนา
ใจสงบหรือยัง"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร









"บาป มันก็ต้องบาป บุญ มันก็ต้องบุญ มันก็ต้องได้รับ
บาปก็บ่เสีย บุญก็บ่เสีย มันก็ต้องรับในเวลาใด เวลาหนึ่ง
เหมือนกับของที่ตกลงมาจากที่สูง ผู้ใดอยู่สูงก็ได้รับก่อน
ผู้มาทีหลังก็ได้ทีหลัง บุญหลาย ก็ได้รับผลบุญก่อน
บาปหลาย ก็ได้รับบาปก่อน"

หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม








“การทำบุญในพระศาสนาน่ะ
มีหลายแบบ มีหลายระดับ
ระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา
คนใจยังไม่สูง ก็มัววุ่นอยู่กับทานอย่างเดียว
คนใจสูงมาอีกหน่อย ก็ทำบุญเรื่องศีล
เมื่อใจถึงระดับแล้ว เขาจะทำบุญด้วยการภาวนา”

หลวงปู่หา สุภโร








"ทำจิตใจให้ใสสะอาด
อย่าไปเอาเรื่องของคนอื่นมาใส่ตัวเอง
ดี ชั่ว ผิด ถูกก็เรื่องของเขา ได้เสียก็เรื่องของเขา
เราพยายามทำกาย วาจา จิต ของเจ้าของ
ให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ มันก็พอแล้ว"

หลวงปู่แสง ญาณวโร







คนใดว่าตนดี คนนั้นยังไม่ดี
ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม
คนนั้นคือคนโง่
คนฉลาดไม่ถือตัว อันนี้เป็นสติ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี








การเบียดเบียนตัวเอง เป็นของที่เห็นได้ยาก ความเบียดเบียนตนเองเกิดจากความเห็นแก่ตัว กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความสุข เช่นจะรักษาศีลแปดก็กลัวจะหิวข้าวเย็น กลัวไม่ได้ทาน้ำอบหอม กลัวไม่ได้นอนเบาะฟูกสบาย จะนั่งสมาธิก็กลัวเมื่อย เลยไม่กล้าทำความดี นี่แหละเป็นการรักตัวเองไม่จริง เป็นการเบียดเบียนตัวเองโดยมองไม่แลเห็น..
ท่านพ่อลี ธัมมธโร








จิตของคนตามธรรมชาตินั้นไม่มีความดีใจ เสียใจ ที่มีความดีใจเสียใจนั้นไม่ใช่จิต แต่เป็นอารมณ์ที่มาหลอกลวง แต่เป็นสังขารที่ปรุงแต่ง จิตก็หลงไปตามอารมณ์ หลงสังขารไปโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ไปตามสังขาร เพราะยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ฉลาด แล้วเราก็นึกว่า จิตเราเป็นทุกข์ นึกว่าจิตเราสบาย ความจริงมันหลงอารมณ์ มันหลงสังขาร เพราะเราส่งจิตออกนอกไปตามอารมณ์ไปตามสังขารมากเกินไป

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล
ตอบกระทู้