#วัดนอกหรือวัดใน
มีโยมบอกอาตมาว่า
" ไม่รู้จะทำบุญวัดไหนดี เดี๋ยวนี้มีแต่วัดไม่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าวัดบ้าน วัดป่า วัดจีน วัดญวน ผมเคยไปบวช ไปสัมผัสมาแล้วทุกที่ จะเป็นวัดหลวงปู่ดังๆ หรือวัดเล็กๆ ก็ตามเถอะ ผมบอกตรงๆ ผมพวกปัญญาจริต ผมไม่ศรัทธาหรอก พวกโล้นห่มเหลือง เดี๋ยวนี้ผมใส่บาตรพ่อแม่ครับ ไม่ทำบุญกับพระหรอก เปลืองข้าวสุกข้าวสารปล่าวๆ "
อาตมาได้ฟังแล้วจึงตอบเขาไปว่า
สำหรับคนมีปัญญาชั้นตรี ก็จะเห็นว่า วัดดีก็มี วัดแย่ก็มี เราก็เลือกเอา
สำหรับคนมีปัญญาชั้นโท ก็จะเห็นว่า "วัด" น่ะดีทุกวัด แต่ "ผู้มาบวช" ไม่ดีก็มี ที่ดีก็มี ต้องพิจารณาเฉพาะเป็นรายๆไป จะให้บวชมาแล้ว หมดกิเลส เป็นพระอริยะทุกรูปทันทีทันใด อันนั้นก็เพ้อเจ้อ
สำหรับคนมีปัญญาชั้นเอก ก็จะเห็นว่า วัดก็ดี พระก็ดี สำคัญที่ตัวเราเองดีหรือยัง ความดีขั้นสูงกว่าที่เราทำได้ในตอนนี้ยังมีอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องขวนขวายในคุณธรรมนั้น จะพระ จะวัด จะใครก็ตาม ก็จะกลายเป็นครูของเราหมด สอนให้เราเรียนรู้ และเพิ่มพูนสติปัญญาเราตลอดเวลา พิจารณาได้ธรรมะตลอดสายเรื่อยไป
สำหรับพวกคนโง่ที่สุด...ก็จะเห็นแบบโยมนี่แหละ "ไม่ดีทั้งหมด!" เพราะใจโยมแบกความเศร้าหมองมืดดำไว้จนหนักอึ้ง ประเภทเราดีคนเดียว คนอื่นเลวหมด เห็นแต่โทษเขา โทษเราไม่เห็น น่าสงสารเหลือเกิน เขาเลว เขาก็ไปแล้ว แต่ใจเรายังแบกความเลวเขาอยู่ แถมมาทุกข์กับความเลวเขาด้วย
วัดอื่นวัดไหนไม่สำคัญเท่า "วัดใจ" นะโยม แล้ววัดใจของโยมล่ะ เป็นอย่างไร วัดสะอาดดีไหม พระล่ะ เป็นพระที่ประพฤติดีไหม
หยั่งสติค้นเข้ามาข้างใน "วัดใจ" พระในใจของโยมน่ะ ท่านปฏิบัติอย่างไร เที่ยวเพ่นพ่านอันธพาล ไปเกะกะระรานใครเขาบ้าง ไปตั้งแง่หาเรื่องใครเขาบ้าง ได้ทำตนเป็นพญาช้างชูงวงด้วยความหยิ่งจองหองไปทั่วหรือปล่าว
วัดอื่น...วัดนอก วัดใจ...วัดใน
ถ้าวัดในเสื่อม ต่อให้ไปวัดนอกที่ประเสริฐแค่ไหน มันก็เป็นทัพพีห่อนรู้รสแกง
มอง...ก็มองอย่างตากิเลส ฟัง...ก็ฟังอย่างหูกิเลส เพราะใจมันถูกครอบงำแล้วด้วยอคติ พอขาดสติ มันก็ปรุงแต่ง จับผิด ตั้งแง่หาเรื่อง วุ่นวายไป
"วัดนอก" น่ะเป็นสิ่งที่น้อมนำมาสู่ "วัดใน"
วัดนอกเป็นเครื่องมือทำความสะอาดวัดใน เป็นเรือนพักให้วัดใน เป็นความปิติสุข และเป็นสติ เป็นปัญญาให้แก่พระวัดใน
เมื่อ "วัดใน" ผ่องใส มีพระปฏิบัติงามๆ พำนักอยู่ประจำแล้ว อาจไม่ต้องมาวัดนอกก็ได้
ธรรมเมตตา
พระอาจารย์คม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
เรื่อง "ให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์"
รูป รส กลิ่น เสียง เหล่านี้เราทั้งหลาย จงพยายามมองดูให้ลึกซึ้งเข้าไปในต้นเหตุ เพราะสิ่งเหล่านี้ แม้ไม่มีรูปร่างกายหน้าตาแล้วไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปหลงนะ ทำไมไม่ทำความรู้สึกเหมือนกันเราหายใจเอาลมเข้าไปบ้างล่ะ ลมมันไม่มั่นหมายอะไรเลยนะ มันพัดไปมาของมันเท่านั้น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูป ไม่มีน้ำหนัก บางทีเรายุ่งๆ ลืมไปเสียด้วยซ้ำไปว่า เราหายใจได้ เอาลมเข้าไป ลมนี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทรยศกับเรา มันเข้าไปแล้วไม่ยอมออก มันออกแล้วไม่ยอมเข้า จะลำบากนะ(ตาย)
นี่แหละพระพุทธศาสนาของเรา จึงสอนว่า ควรกำหนดรู้กับอารมณ์ต่างๆนั้น ไม่ว่าอะไรจะมากระทบ เราควรกำหนดรู้ให้ชัด ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ เกิดมามีจิตใจย่อมปฏิบัติได้เสมอภาคทุกคน อย่าไปติดสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว จิตก็จะก้าวหน้าได้แน่นอน
คติธรรมหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม
...เราต้องทำตัวของเราเหมือนคนตาย เราจึงจะสามารถตัดสิ่งต่างๆได้ . สมมุติว่าถ้าเราตายวันนี้ เราก็ ไม่สามารถ ที่จะติดต่อกับใครได้แล้ว ไม่สามารถติดต่อกับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆ กับเหตุการณ์ต่างๆได้ . ลาภยศ สรรเสริญ สุขที่เรามีอยู่ ก็หมดจากเราไป มีเงินร้อยล้านพ้นล้าน เวลาเราตายก็ไม่ใช่เป็นของเราแล้ว มีตำแหน่งเป็นนายกฯ เป็นอะไร พอตายไปก็ไม่เป็นแล้ว . มีสรรเสริญมีคนยกย่องเยินยอขนาดไหน ตายแล้วก็ เขาก็ไม่มายกย่องเยินยอ ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็หาไม่ได้แล้ว . “เราต้องสมมุติว่า เราเป็นคนตาย” ถ้าเราอยากจะปฏิบัติเพื่อ... ให้ใจเราเข้าข้างใน เข้าสู่ความสงบ ต้องคิดว่า..เราตาย จากทุกสิ่งทุกอย่างไป .
...................................... คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 29/6/2559 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
“พระอรหันต์ก็มาจากบุคลผู้เป็นปุถุชนคนสามัญ ผู้ปฎิบัติดี พ้นไปจากสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ...จึงได้เรียกว่าพระอรหันต์ได้”
โอวาทธรรม พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร ; หลวงปู่ไดโนเสาร์) วัดสักกะวัน ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
#แม้ยังไม่บรรลุธรรมก็จงทำความดีเรื่อยไป
ความดีที่เราทำอย่าไปเทียบกับใครเขา ความดีที่ว่าน้อยนั้น มันจะสะสมทีละนิดอย่างงดงามประทับอยู่ในดวงจิต
พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย แต่ก่อนท่านก็ตะเกียกตะกาย เพียรละชั่วทำดี เริ่มสะสมทีละน้อยแบบพวกโยมตอนนี้แหละ
ความดีนี้เอง จะนำพาให้พบครูบาอาจารย์ที่ดี พบวิถีปฏิปทาที่งามตรงตามทางเสด็จของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งครูบาอาจารย์ที่แท้ไม่ใช่ใครอื่น คือ พระสติธรรม พระปัญญาธรรม ของตนนั่นเอง ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ต้องเป็นแสงสว่างให้ตนเอง และส่องแสงธรรมนี้ให้สรรพสัตว์ได้สว่างด้วย
"บุญญา" จะแปรสภาพเป็น "ปัญญา" ผู้มีบุญ...ทำอะไรย่อมสำเร็จดังประสงค์ ผู้มีปัญญา...ทำอะไรย่อมสว่างไสวรุ่งโรจน์
ขั้นสมาธิให้กำหนดจิตอยู่กับปัจจุบัน ขั้นปัญญาให้พิจารณาธรรมขุดค้นขันธ์ ๕ ขุดค้นกาย ขุดค้นจิต เปิดความจริงของกาย ของจิต คลี่คลายความหลงในวัฏสงสาร
วันหนึ่งที่เหตุปัจจัยและบุญบารมีพรั่งพร้อม ท่านจะเป็นผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้ตามพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนแน่นอน
โอวาทธรรม พระอาจารย์คม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"ผู้ถาม: ที่หลวงตาได้กล่าวว่า บุคคลที่เอารัดเอาเปรียบพ่อแม่มากที่สุดคือลูกนี่ หมายความว่าอย่างไรขอรับ
หลวงตา: นี่เราพูดตามหลักความจริง แต่ลูกก็ไม่มีเจตนา การพูดนี้เพื่อให้ลูกได้เห็นโทษของตนบ้าง อย่ามีตั้งแต่เอาท่าเดียว อยากได้เท่าไรก็จะเอาท่าเดียว แม้ไม่มีเจตนาก็ตาม หลักธรรมชาติก็เป็นเจตนาที่เอารัดเอาเปรียบพ่อแม่อยู่โดยตัวของมันเอง ถึงจะถือสิทธิ์ว่าเอากับพ่อกับแม่ด้วยความรัก ถือสิทธิ์ว่านี้เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา เราอยากได้อะไรเราก็เอา ๆ อย่างนี้ก็ตาม แต่เรื่องของธรรมนั้นไม่ได้เข้ากับพ่อกับแม่กับลูก คืออยู่กลาง ๆ เมื่อลูกทำอย่างนี้มันมีลักษณะเอารัดเอาเปรียบอยู่ในตัวของมันเอง
แต่ลูกไม่มีเจตนานะ พ่อแม่ก็ไม่มีเจตนาว่าลูกเอารัดเอาเปรียบ แต่หลักธรรมมีอยู่ในนั้น ก็ต้องบอกตามหลักธรรมว่ามีอยู่ในนั้น แต่จำเป็นก็ต้องเอารัดเอาเปรียบกันธรรมดา เมื่อพึ่งตัวเองไม่ได้แล้วก็ต้องพึ่งพ่อแม่ พี่เลี้ยงทั้งหลายก็ต้องพึ่ง ความเอารัดเอาเปรียบอันนี้ก็ต้องจำยอมรับกัน ทางเดินอื่นไปไม่ได้ ต้องยอมรับกันที่ว่าต้องพึ่งผู้อื่นไปก่อน ความเอารัดเอาเปรียบในขั้นนี้ยังแก้ไม่ได้ เมื่อรู้ตัวแล้วก็ให้แก้ตัวเองต่อไปอย่าให้เป็นเหมือนเด็ก ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเอารัดเอาเปรียบพ่อแม่ตลอดไปอย่างนี้ไม่ดี ความหมายว่าอย่างนั้น"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑
#รักมาก_ทุกข์มาก
ให้ระลึกถึงความตายสบายนัก หักรักหักหลงในสงสาร แต่ว่าในเมื่อเรารักสิ่งไหนมาก เราก็ทุกข์มาก
#เพราะฉะนั้น_เราจะทำอย่างไร_จะตัดอาลัยในจุดนี้
เราจะพิจารณาอะไร ต้องพิจารณาถึงความตายของตนเองล่ะทีนี้ หลวงพ่อว่านะ เรารักร่างกายของเรา รักไหม ไม่มีอะไรที่จะรักยิ่งกว่าร่างกายของตนเอง
แต่อีกสักวันหนึ่งล่ะ ความแก่ เจ็บ ตาย จะต้องเข้ามาถึงตัวของเราแน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น
ในเมื่อขนาดร่างกายตัวเรา ยังไม่ใช่ตัวตนของเรา ยังอยู่ในกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตาย...พูดง่ายๆ เราจะไปห่วงหาอาลัยอะไรกับคนอื่นเขาละทีนี้
ไปห่วงพ่อ ห่วงแม่ ห่วงลูก ห่วงเมีย ก็เท่านั้น ห่วงสามีภรรยาก็เท่านั้น รักทรัพย์สมบัติพัสถานก็เท่านั้น
#ขนาดร่างกายตนเอง_ก็ยังไม่ใช่ตัวตนของเรา
สิ่งเหล่านั้นมันจะเป็นของเราได้อย่างไร พอไปรักไปหลงในสิ่งเหล่านั้น ก็ตีอกชกหัว ทุกข์ใจละทีนี่ เผลอๆจะผูกคอตัวเองตายอีกต่างหาก
#เพราะความรัก_เพราะความโง่ของเราในจุดนั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวง ที่พระพุทธเจ้าที่ท่านได้กล่าว ได้ตรัสเอาไว้แล้ว พวกเรานำมาเป็นกระจกเงานะ มองตนเองไว้อยู่เสมอ ถึงจะรักของใคร ก็กรรมของใครของเรา
ถึงพ่อแม่ก็เป็นกรรมของท่าน ท่านสร้างมาของท่าน ถึงจะเป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยาแต่ละคน ก็มีกรรมของใครของเรา ถึงจะอยู่ด้วยกัน แต่ว่าเขาทำมาได้เพียงแค่นั้น
#เรารู้แล้วทีนี้_เรามาได้พบพระพุทธศาสนา
ได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พบการแนะนำสั่งสอนจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เราควรจะทำตนอย่างไร
เราต้องคิดดี ทำดี พูดดี สิ่งที่มันไม่ดีข้าพเจ้าจะไม่ทำในจุดนั้น ให้พวกเราตั้งตนไว้โดยชอบ เมื่อเราตั้งตนไว้โดยชอบอย่างนี้ ความสุขกายสุขใจ ก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่วางตัวถูกนะ
#มันเป็นอยู่อย่างนี้ละโลก
เราจะให้มันเป็นอย่างใจเราได้อย่างไร แต่อีกสักวันหนึ่งเราก็ต้องไปตาม มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด อะไรมันจะดับมันก็ต้องดับ เราทำใจของเราเท่านั้นนะ ต้องดู รู้ ถ้ามันเกิด รู้ทั้งมันจะดับด้วย
#ถ้าเรารู้ทั้งสองเงื่อน
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ในสองเงื่อน ทำใจ ผลที่สุดใจของเรา ก็จะหลุดพ้นจากบ่วง เหล่านั้น
บ่วงความรัก บ่วงความหลง บ่วงความมัวเมา บ่วงความเกลียด ความโกรธ บ่วงความพอใจ ไม่พอใจ
#มันจะตัดบ่วงเหล่านั้นทั้งหมด_ออกจากจิตใจของพวกเรานะ
โดย #หลวงพ่ออินทร์ถวาย #สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา “รักสิ่งใดมาก ก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นมาก”
เวลาความสุขมาถึงเข้า เราจะไปเอาความสุข ในความสรรเสริญเยินยอ มั่งมีศรีสุขอย่างเดียว แต่เราหารู้ไม่ว่า "ความสุขมีที่ไหน ความทุกข์ก็มีที่นั่น"
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
"เราทุกคน ควรมองซ้าย แลขวาว่า ชีวิตของเรานั้น ผ่านไปทุกวันๆ ความเฒ่า แก่ชราภาพ ก็แก่ไปทุกวัน ทุกเวลา
พวกเราไม่เจริญภาวนา ดูกันเอง ก็ย่อมหลงมัวเมา ในวัยของตนอยู่
ถ้าหากเราพิจารณาด้วยความรู้ เป็นผู้มีสติปัญญาเข้าใจ ก็จะรู้ได้ว่า คนเราเกิดขึ้นมานั้น เป็นไปตามกาลตามสมัย ย่อมมีความเฒ่าแก่ไปเรื่อยๆ ชราภาพไปเรื่อยๆ
จนถึงที่สุด ก็คือความแตกดับ หักพัง ความแตกสลาย ความทำลายชีวิตลงไป ก็คือความตาย นั่นเอง"
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
“การพูดตรงนี้ ไม่ใช่สัมมาวาจานะ องค์ประกอบของสัมมาวาจาเนี่ยะ พูดความจริงใช่ไหม พูดด้วยเมตตา พูดสุภาพ พูดเหมาะกับกาลเทศะ พูดเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ อะไรอย่างนี้ มีหลายเงื่อนไข
ตรงอย่างเดียวไม่ใช่นะ เราต้องปรับความคิดตรงนี้ซะ ไม่งั้น เดี๋ยวถือว่าเราเป็นคนตรง ลุยแหลกเลยไม่ได้นะ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน”
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช
|