Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

พิธีกรรม

อังคาร 22 ก.ย. 2020 12:45 pm

...เคยอยู่ครั้งหนึ่ง
เวลาเดินจงกรมง่วงนอนมาก

.แต่เราไม่ยอมนอน บังคับให้เดินไปๆ
บังคับให้บริกรรม พุทโธๆ ซ้ายขวาๆ
สักพักหนึ่งจิตก็สงบวูบลงไป
หายง่วงเลย..หูตาสว่างเย็นสบาย

.“ไม่รวมแบบสลบไสลแบบหลับใน
แต่รวมแบบมีสติ”

.ตอนก่อนนอนจะเหนื่อยเพลีย
พอได้นอนพักแล้ว ตื่นขึ้นมา
“จิต..จะละเอียด”

.นักปฏิบัติจะนอนเพียง ๔-๕ ชั่วโมง
ตื่นตอนตี ๒ ตี ๓ ตอนนั้นจิตจะละเอียดที่สุด
ถ้าดีสําหรับเราตอนไหน..ก็เอาตอนนั้น
เพราะต่างคนต่างมีความแตกต่างกัน

.โดยทั่วไป
จิตจะละเอียดตอนเช้ามืด ตอนตี ๒ ตี ๓
หลังจากได้พักผ่อนหลับนอนเต็มที่แล้ว
“ภายนอกก็เงียบสงบ ..
ส่งเสริมความสงบภายใน”.
........................................
มหาเศรษฐีที่แท้จริง หน้า 110
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









"อาจารย์ท่อน ท่านมีวาสนาดี บ่ได้ธรรมชั้น ตรี ชั้นโท ชั้นเอกและมหา ท่านสามารถได้เป็นชั้นเจ้าคุณเลย ท่านมีความสามารถพูดธรรมได้ชัดเจนดีแท้"

หลวงปู่ทองผุด ญาณวโร
วัดภูเขาดิน ผาพอด อ.เชียงคาน จ.เลย









เรื่อง "เราเป็นมนุษย์ อย่าโง่กว่าแมลงวัน"

(ปกิณกธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท)

หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี พูดเรื่อง "ประชาธิปไตย" สรุปได้ว่า

ประชาธิปไตย คือ เสียงของคนหมู่มาก ไม่ถูกต้องเสมอไป หากคนหมู่มากนั้น ไม่มีปัญญา" แสดงว่า ท่านยอมรับเสียงข้างมาก แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นเสียงข้างมากของคนดี(ผู้มีศีลธรรม) แล้วท่านยกตัวอย่าง

มีแมลงวัน ๒๐ ตัว และผึ้ง ๑๐ ตัว
มาลงมติกันกับของ ๒ สิ่ง

๑. อุจจาระ (กิเลสความชั่ว)

๒. น้ำผึ้ง (ศีลธรรมความดี)

เมื่อใดที่ลงมติว่า "อะไรหอม" แมลงวันจะชนะทุกครั้งถ้าพูดเรื่องอุจจาระ แต่ถ้าเปลี่ยนหัวข้อเป็นน้ำผึ้ง ตัวผึ้งแพ้ทุกครั้ง ด้วย ๒ เหตุผล

๑. จำนวนน้อยกว่า (เสียงน้อยกว่า)

๒. ความหอมหวานของน้ำผึ้ง เปลี่ยนเจตคติ(ทัศนคติ)ของแมลงวันไม่ได้

ตัวผึ้ง วินิจฉัยถูกต้อง แต่แพ้เสียงส่วนมาก เราเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีปัญญามากกว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นเเน่แท้

หลวงพ่อชา สุภัทโท











"..องค์สมเด็จพระบรมครู
ต้องการให้เรามีความสุข

จึงให้ใช้สมาธิด้านกุศลจิต
คิดหากุศลเข้าใส่ใจไว้
เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้
เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียว
จนเป็นเอกัคคตารมณ์

เมื่อจิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว
องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว
ก็สอนวิปัสสนาญาณ
มีอริยสัจ เป็นต้น

ให้พิจารณาเห็นทุกข์
เหตุแห่งความทุกข์
ที่มันจะพึงมีขึ้นมาได้

ก็เพราะอาศัยตัณหา
มีความผูกพันในร่างกาย
ซึ่งมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

เราก็วางร่างกายเสีย
เพื่อพระนิพพาน.."

โอวาทธรรม
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง









" การรู้โดย ไม่คิดเอง
คือ การเดินวิปัสสนาที่ละเอียดที่สุด
ตราบใดที่ยังเห็นว่า...
จิต คือตัวเรา เป็นของ ๆ เรา
ที่ต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น
ตราบนั้นตัณหา หรือ สมุทัยก็จะสร้างภพ
ของจิตว่างขึ้นมา ร่ำไป

ขอย้ำว่า ขั้นนี้
จิตจะดำเนินวิปัสสนาเอง
ไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติจงใจกระทำ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า
ไม่มีใครเลย ที่จงใจ
หรือ ตั้งใจบรรลุมรรคผลนิพพานได้
มีแต่จิต เค้าปฏิบัติตนเอง ไปเท่านั้น

เมื่อ...จิตทรงตัว
รู้ แต่ไม่คิดอะไรนั้น
บางครั้ง จะมีบางสิ่งผุดขึ้นมา
สู่ ภูมิรู้ของจิต
แต่จิต ไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันคือ อะไร
เพียงแค่รู้ เฉย ๆ
ถึงความเกิด-ดับนั้น เท่านั้น

ในขั้นนี้
เป็นการเดินวิปัสสนา ขั้นละเอียด ที่สุด
ถึงจุดหนึ่ง จิตจะก้าวกระโดดต่อไปเอง

การเข้าสู่มรรคผลนั้น
รู้ มีตลอด
แต่ ไม่คิด และ ไม่สำคัญมั่นหมาย
ในสังขารละเอียด ที่ผุดขึ้นมานั้น

เมื่อ จิตถอยออกจากอริยะมรรค
และ อริยะผลที่เกิดขึ้นแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดว่า ธรรมเป็นอย่างนี้
"สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป"
ธรรมชาติบางอย่าง มีอยู่
แต่ก็ไม่มีความเป็นตัวตน สักอณูเดียว

นี้เป็นการรู้ธรรมในขั้นพระโสดาบัน
คือ ไม่เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แม้แต่ตัวจิตเอง
เป็นตัวเรา
แต่ความยึดถือ ในความเป็นเรา
ยังมีอยู่

เพราะ...ขั้นความเห็น กับ ความยึดนั้น
มันคนละขั้นกัน."

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล









" ปัญญาโดยธรรมชาติ
ในทางพระพุทธศาสนา
ย่อมเกิดขึ้นจากการ
อบรมดวงจิตโดยเฉพาะ

เหมือนแสงเพชรที่เกิด
ในตัวของมันเอง
ย่อมมีรัศมีตีแผ่โดยรอบ
และเกิด"แสงสว่าง"
ได้ทั้งในที่มืดและที่สว่าง "

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร









หลวงปู่เปลี่ยนท่านสอนว่า #ใครทำสมาธิแล้ว.. ต้องรักษาสมาธิไว้ให้ดี เหมือนคนที่ตาบอดข้างนึงแล้ว.. ตาอีกข้างที่เหลือต้องรักษาให้ดีอย่างนั้น..

เวลาทำสมาธิแล้ว.. จิตสงบลงได้.. ก็ต้องทำเป็นวสี(ทำบ่อยๆให้ชำนาญ) ไม่ใช่สงบได้แล้ว.. ก็เว้นไปหลายวัน.. ขี้เกียจนั่ง.. แบบนี้มันก็สงบอีกยาก..

ฟังเทศน์หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป










#อันธพาลและบัณฑิตตัวจริงนั้น

ไม่ใช่อยู่ที่มิตรภายนอกอย่างนั้น
มันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก
มันเกิดขึ้นที่ใจของเราเอง

ถึงคนอื่นจะเป็นพาลกันทั้งโลก
หากเราไม่คบพาลในตัวของเราแล้ว
เราก็ไม่เป็นพาลไปได้

#หลวงปู่เทสก์ #เทสรังสี









#ประโยชน์ของการทำสมาธิ

... "สมาธิที่ทำมามีค่ายิ่งตอนใกล้ตาย"

... "ถึงว่าเราจะลำบากในการบำเพ็ญสมาธิ ก็ได้ ผลคุ้มค่า เรียกว่าคุ้มค่าเหลือที่จะคุ้ม เพราะ คนเรานั้นถ้าหากว่า จากชาตินี้ คือ ตายแล้ว เราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานทันทีนี่..มันจะ
เกิดอะไรขึ้น ก็เกิดความเสียหายในชาติ ในชาติของเรานี่ที่เกิดต่อไปมันกลายเป็นเช่นนั้นไป มันเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เรียกว่า แก้ไม่ได้ เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ต้องอยู่เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นชาติๆ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นแก่พวกเราชาวพุทธที่ได้พบพระพุทธศาสนา

... เพราะฉะนั้นเมื่อเราพากันมาทำ "สมาธิ" โอกาสที่จะได้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือนรกนั้น เรียกว่า น้อยมาก หรือว่าปิดนรกได้เลย หรือว่าปิดอบายภูมิได้เลย

... เพราะอะไร ?
เพราะว่า เมื่อเวลาที่เราจะตายนั้น ก็ "จิต" นี้เองที่จะออกจากร่าง ร่างกายอันนี้ ในเมื่อจิตนี้เตรียมที่จะออกจากร่าง ทุกอย่างที่มีอยู่จิตก็ต้องพร้อม เรียกว่า เตรียมพร้อมชั่วระยะวินาทีเท่านั้นเอง จิตจะพร้อมหมดทุกอย่าง สมาธิที่เราได้กระทำมาแล้ว จะเป็นสิบครั้ง ร้อยครั้ง หรือจะเป็นกี่ครั้งก็ตาม ทำไว้ที่ไหน?..ก็ทำไว้ที่ใจของเรานี่เอง

... เพราะฉะนั้น!
เวลาใจจะออกจากร่างไปนี้ สมาธิทั้งหมดมันก็เก็บเอาไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเรียบ..#เก็บเพรียบพร้อม เมื่อพร้อมแล้วในชั่ววินาทีนั่น สมาธิย่อมจะต้องเกิดขึ้นกับเรา #เมื่อสมาธิเกิดขึ้นกับเรา #เราก็ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราก็ไม่ต้องไปเกิดในอบาย
#เรียกว่าปิดได้แน่นอน

... เพราะว่าอะไร?
เพราะว่า เมื่อเราทำจิตนั้น เราก็ได้ทำและเราก็จำได้ ไม่มีการหลงลืม เรานั่งสมาธิกี่ครั้ง เราก็ไม่ได้ลืม เรายังทรงจำอยู่ภายในจิตนั้น ไม่มีเวลาที่จะลืม ใครจะมาทำให้ลืมก็ไม่ได้ อะไรจะมาทำให้ลืมก็ไม่ได้ อะไรจะมาพรากสมาธินี้ไปจากจิตก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่า มันอยู่กับจิตอยู่แล้ว เราทำแล้ว มันก็อยู่ในใจของเราอยู่แล้ว มันจึงเรียกว่า ไม่มีอะไรมาพรากได้ จึงเรียกว่า สามารถที่จะปิดอบายภูมิได้"

... เพราะฉะนั้นจึงเป็นการคุ้มค่าจริงๆที่บุคคล ทั้งหลาย ได้พากันมีการเสียสละมาปฏิบัติความดีเหล่านี้ให้เกิดขึ้น..."

หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร









"เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย
ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่า
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศล
เพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง"

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล







"คุยธรรมะ ฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ
แต่เวลาปฏิบัติ ไม่ได้ปฏิบัติ
ก็เรียกคนไม่มีธรรมะ

คนมีธรรม คือ คนมีสติ
คนมีสติ คือ คนมีธรรม

คนที่มีธรรมะ คือว่า เวลาโกรธแล้ว
รู้ตัวเองว่าโกรธ และก็สามารถห้ามความโกรธไว้
นั่นแหละ เรียกว่า คนมีธรรมะ"

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
ตอบกระทู้