...หลวงพ่อสอนว่า ...
...พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ พุทธศาสนิกชนรู้จัก..”การเสียสละ” จาคะ แปลว่าการเสียสละ การเสียสละนี้ จะทำให้เรา ได้สิ่งที่มีคุณค่ากว่าชีวิตจิตใจ ก็คือ ธรรม ..“ธรรมก็คือ การเสียสละ”
. ถ้าเราเสียสละ เราก็จะได้ธรรม ธรรมในที่นี้ก็คือ..”ความสงบนั่นเอง” ความสงบของใจ ที่เป็นความสุขที่ ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งปวง
.ถ้าเราอยากจะได้ความสงบ อยากจะได้ความสุขที่ ยิ่งใหญ่ กว่าความสุขทั้งปวง .. “เราก็ต้องรู้จัก การเสียสละ”. .......................................... . ธรรมะบนเขา วันที่ 22 สิงหาคม 2558 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
เรื่อง "บาปกรรมของผู้มีจิตเนรคุณแผ่นดินเกิด"
#แม้ถึงความตายก็ไร้แผ่นดินกลบหน้า #เพราะบาปกรรมที่กระทำ #ด้วยจิตเนรคุณแม้กับแผ่นดินเกิด
เจริญพรสาธุชนผู้เจริญสติปัญญา การเผชิญกระแสโลกธรรมที่ร้อนแรงในทุกกาลสมัยของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้ ธรรมคติ ว่า ธรรมทั้งหลายต้องเป็นเช่นนี้ จะไม่เปลี่ยนไปจากความเป็นอย่างนี้ และไม่แปรเป็นอย่างอื่น ตราบใดที่สัตว์โลกยังตกอยู่ภายใต้ ปปัญจธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า) ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่สัตว์เหล่านั้นต้องเสื่อมสูญไปจากความเจริญในธรรม ด้วย ความอับปัญญาเป็นผล ด้วยวิถีจิตที่ซัดซ่านไปด้วยอำนาจของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ จึงทำหน้าที่ควบคุมจิตสัตว์เหล่านั้นให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจมาร จึงยากที่จะคิดดี พูดดี ทำดี อันเป็นปรากฏการณ์ของคนพาลในคราบบัณฑิต ที่สังคมยกย่องว่าเป็น ปัญญาชน ทั้งที่ คิด พูด ทำ อย่างอับปัญญา เป็นอาภัพบุคคล ที่คิดดี พูดดี ทำดี ไม่ได้เลย ด้วยผลกรรมเสวยชีวิตให้ต้องรับผลเช่นนั้น
เช่นเดียวกับทางโลก ความสามัคคีของหมู่ชนที่เป็นไปด้วยอำนาจธรรมหรือธรรมาธิปไตย ย่อมก่อเกิดประโยชน์และความสุขต่อสังคม หมู่ชนในประเทศนั้นๆ ใครก็ตามที่ก่อการหรือสนับสนุน เพื่อให้สังคมเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงกันในการประกอบความดี ประพฤติธรรม เคารพธรรม ก็ย่อมได้รับบุญกุศลอันยิ่ง และหากผู้ใดชักนำ ก่อการ หรือสนับสนุนให้สังคมเกิดความร้าวฉาน คิดคดทรยศต่อแผ่นดินมาตุภูมิของตน บาปกรรมมหันต์ก็ย่อมให้ผลตอบแทน จนแม้ถึงความตายก็ไร้แผ่นดินกลบหน้าเพราะบาปกรรมที่กระทำด้วย จิตเนรคุณแม้กับแผ่นดินเกิด
พระอาจารย์อารยวังโส
มีปัญหาถามเข้ามาว่า “พระอยู่จำพรรษาองค์เดียว หรือมากกว่านั้น แต่ไม่ครบ ๕ องค์ จะรับกฐินได้ไหม? โดยนิมนต์พระจากที่อื่นมาเป็นองค์สวดกฐินแทน” . ก็มีผู้รู้ออกมาวินิจฉัย บ้างก็ว่าทำได้โดยยกคัมภีร์อะไรมาอ้าง ก็ถือว่าเป็นทัศนะของแต่ละท่าน เราเองก็ไม่ใช่ผู้รู้อะไรมากมาย แต่จะวินิจฉัยไปตามที่เคยศึกษาจากพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว และจากประสบการณ์การปฏิบัติของตัวเอง .
ให้ดูลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้เป็นองค์ประกอบด้วย ถ้าสิ่งใดทำแล้วมันสั่งสมกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จงอย่าไปทำ เพราะนั่น ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยของพระศาสดา . เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้แล้วว่า พระที่จะรับกฐินได้ต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสนั้น ครบถ้วนไตรมาส ๓ เดือน อย่างน้อย ๕ รูป โดยพรรษาไม่ขาด . คำว่า “พรรษาไม่ขาด” นั้น คือ ไม่ไปค้างคืนที่อื่นตลอด ๙๐ วัน เว้นไว้แต่มีเหตุเกี่ยวเนื่องด้วยสัตตาหกรณียะ ก็ไปค้างคืนที่อื่นได้ แต่ต้องกลับมาค้างคืนที่วัดภายในไม่เกิน ๗ วัน อย่างนี้พรรษาไม่ขาด ถ้าทำพรรษาขาดโดยไม่มีเหตุอันควร ท่านปรับอาบัติทุกกฏ เป็นเหตุให้ไม่ได้รับอานิสงส์จำพรรษา ๕ อย่าง และไม่มีสิทธิ์ได้รับกฐิน . มีปัญหาถามว่า “พรรษาขาด” แล้วนับอายุพรรษาได้ไหม? . ตอบว่า “ได้” เพราะถึงพรรษาขาด แต่อายุความเป็นพระไม่ได้ขาดไปด้วย จึงสามารถนับอายุพรรษาของการบวชต่อไปได้ เว้นไว้แต่เป็นอาบัติปาราชิก หรือลาสิกขาไป หรือไปญัตติใหม่ อายุพรรษาความเป็นพระก็จึงเป็นอันยุติ จะมานับพรรษาต่ออีกไม่ได้ . เพราะอายุพรรษาที่เป็นอายุของการบวช นับเอาตั้งแต่วันที่ได้อุปสมบท และจะนับอายุพรรษาเพิ่มขึ้น เมื่อได้จำพรรษา จนได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ก็นับพรรษาเพิ่มอีก ๑ พรรษาไปทุกปี จะรู้ว่าใครพรรษาแก่กว่ากัน ก็ดูที่อายุพรรษาก่อน ถ้าพรรษาเท่ากัน ก็ต้องไล่ไปที่วันบวช ถ้าบวชวันเดียวกัน ก็ไล่ไปที่เวลาบวช ถ้าบวชเวลาเดียวกัน ก็จึงไล่ไปที่ลำดับการเป็นนาคใครเป็นนาคแรก นาคสอง นาคสาม ก็พรรษารอง ๆ กันไป . โดยปกติพระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติพระวินัยผูกมัดตายตัวเสียเลยทีเดียว เพราะพระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไปตามสมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้น เมื่ออันใดทรงบัญญัติแล้วเห็นว่าหย่อนไป เพราะยังมีพระเลี่ยงไปทำผิดได้อยู่ พระองค์ก็จะทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมให้เข้มงวดเข้าไปอีก . หรืออันใดที่ทรงบัญญัติแล้ว เห็นว่าตึงเกินไป พระองค์ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมให้ผ่อนปรนลงมา ดังเช่น กรณีห้ามพระจับเงินจับทอง ตอนแรกทรงห้ามเด็ดขาด ตอนหลังเมณฑกเศรษฐีร้องขอ พระองค์ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมผ่อนปรนลงมาให้มีไวยาวัจกรรับเงินแทนพระได้ เรียก เมณฑกานุญาต . กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระจำพรรษาในอาวาสนั้น ตลอดไตรมาส ๓ เดือน ครบ ๕ องค์ จึงสามารถรับกฐินได้ ก็ต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น จึงได้ชื่อว่าเคารพในพระธรรมวินัย . พระพุทธองค์จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมให้ไปขัดแย้งกับต้นบัญญัติเดิมที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว เรายังไม่เคยเห็นว่ามีในสิกขาบทใด ดังนั้น หากใครจะอ้างพระพุทธพจน์ว่า “พระจำพรรษารูปเดียวสามารถรับกฐินได้” ก็ให้ถือว่า เป็นความเห็นของพระองค์นั้นเสียก็แล้วกัน . ดังมีผู้รู้ หรือผู้ไม่รู้ก็ตาม มาพูดเรื่องนี้ โดยยกเอาคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสแก่พระภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษารูปเดียว มีโยมถวายผ้าแก่สงฆ์ พระรูปนี้เกิดสงสัยว่า เมื่อเขาถวายแก่สงฆ์แล้ว ท่านจำพรรษาเพียงรูปเดียว จะรับไว้ได้หรือไม่ จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงกาลเดาะกฐิน” . ก็ไปเอาคำตรัสนี้มาตีความเอาเองว่า “พระจำพรรษารูปเดียวก็สามารถรับกฐินได้” เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสคำว่า “เดาะกฐิน” ถ้าไม่ได้รับกฐิน ก็ไม่จำเป็นต้องตรัสคำว่า “เดาะกฐิน” . หากตีความเช่นนี้ ก็เท่ากับไปลบล้างต้นบัญญัติเดิมอย่างไม่เหลือซาก กลายเป็นการทำให้พระพุทธองค์เป็นผู้บัญญัติพระวินัยกลับไปกลับมา ในเมื่อพระองค์ทรงตรัสว่า ต้องจำพรรษาครบ ๕ รูป จึงรับกฐินได้ แล้วอยู่ ๆ วันดีคืนดีก็มาตรัสอีกว่า จำพรรษารูปเดียวก็รับกฐินได้อีก ไฉนพระพุทธองค์จะทรงบัญญัติพระวินัยหักล้างกันเอง เพื่อประโยชน์อันใด? . คำว่า “เดาะกฐิน” ในครั้งนั้น หมายความว่า เลิกอานิสงส์กฐิน ด้วยหมดกังวลในจีวรปลิโพธ หรือ อาวาสปลิโพธ คือไม่คิดที่จะเอาผ้าจีวรนั้นอีกแล้ว หรือไม่คิดที่จะกลับไปในอาวาสนั้นอีกแล้ว ก็เท่ากับยกเลิกอานิสงส์กฐิน เรียก “เดาะกฐิน” คืออานิสงส์กฐินเป็นอันยุติ แต่ถ้ายังต้องการผ้าจีวรอยู่ อานิสงส์กฐินก็ยืดไปจนสิ้นสุดฤดูหนาว เรียก หมดเขตอานิสงส์กฐิน . อันนี้สำหรับวัดที่มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป เมื่อได้รับกฐิน และได้กรานกฐินถูกต้อง ย่อมได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ อย่างนี้ ยืดออกไปอีก ๔ เดือน ตลอดฤดูหนาว คือ . ๑. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ๒. เที่ยวไปโดยไม่ต้องเอาจีวรไปครบสำรับ ๓ ผืน สบง จีวร สังฆาฏิ ๓. ฉันคณโภชน์ คือ ฉันเป็นหมู่ นิมนต์ออกชื่อโภชนะได้ ฉันปรัมปรโภชน์ คือรับนิมนต์ที่หนึ่ง แล้วไปฉันอีกที่หนึ่งได้ ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอทั้งหลาย . การที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกพระรูปนั้นว่า “เราอนุญาตจีวรเป็นของเธอจนถึงกาลเดาะกฐิน” . เราเดาเอาเองแบบโง่ ๆ หากผิดพลาดไป ก็ขอท่านผู้รู้โปรดให้อภัย ก็คือ ทรงอนุญาตให้พระรูปนั้นเก็บผ้าจีวรนั้นไว้ได้จนกว่าจะหมดอาลัยในจีวร หรือจนกว่าจะหมดเขตอานิสงส์กฐิน อันเป็นที่รู้กันว่า คือสิ้นสุดฤดูหนาว เพราะการตัดเย็บจีวรสมัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้ขึงไม้สะดึง พระต้องช่วยกันทำ ใช้มือเย็บ และต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ เช่นนี้ พอฟังได้ . คำว่า “เดาะกฐิน” จึงไม่น่าจะไปตีความว่า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระรูปนั้นไปรับกฐินได้ หรือ ไปกรานกฐินได้ โดยใช้สงฆ์จากวัดอื่นมาสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ ไม่ชอบด้วยเหตุผล เราไม่ได้ว่าตามบาลี แต่ถือเอาตามหลักปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่อการฆ่ากิเลส ถ้าว่าตามบาลี แล้วมันส่งเสริมกิเลส ก็อย่าว่าเสียดีกว่า . ถ้าพระองค์จะทรงอนุญาตให้พระรูปเดียวรับกฐินได้ ก็คงจะทรงตรัสบอกตรง ๆ เพราะเป็นการยกเลิกต้นบัญญัติเดิม ถือเป็นการบัญญัติพระวินัยใหม่เลยทีเดียว จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะมาตีความพูดจากันแบบเล่น ๆ . การรับกฐินก็คือ การรับผ้ามาสำหรับเพื่อทำจีวรเท่านั้น เมื่อจำพรรษารูปเดียว จีวรลาภก็ตกเป็นของเธอผู้เดียวอยู่แล้ว ตามอานิสงส์จำพรรษา ไม่จำเป็นต้องไปสวดญัตติทุติยกรรมวาจารับกฐินให้มันยุ่งยากวุ่นวายไปอีก . ยิ่งไปเอาพระที่จำพรรษาต่างวัดมาสวดรับกฐิน ก็ยิ่งดูไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะพระที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสอื่น ย่อมไม่มีสิทธิ์ในจีวรลาภที่เกิดขึ้นในวัดนั้น ก็ยิ่งไม่มีสิทธิ์ที่จะมาปรึกษาหารือกัน สวดกรรมวาจาว่า จะยกผ้าจีวรนี้ให้แก่ผู้ใดเป็นผู้กรานกฐิน มันดูจะกลายเป็นเรื่องตลกพิลึกพิลั่นเกินไป ถ้าขืนทำ ก็ลองไปอ่านคำสวดกฐิน องค์ที่ ๑,๒,๓,๔ ดูสิ! . ประสาแค่ผ้าจีวรผืนเดียว จะถวายเป็นสังฆทาน จะทอดเป็นผ้าป่าก็ย่อมได้ ไม่จำเป็นจะต้องทอดกฐินให้มันขัดแย้งกับพระวินัยต้นบัญญัติ ไม่ทอดกฐินก็คงไม่ถึงกับจะลงแดงตายหรอกมั้ง? ไฉนจะต้องไปอุตริทำเรื่องให้มันวิปริตพิสดารเห็นปานนี้ . คำว่า “เดาะกฐิน” อาจเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในยุคนั้น คือหมดกังวลในผ้าจีวรแล้ว จะเพราะว่า ได้ผ้าจีวรครบแล้ว หรือทอดอาลัยว่า ไม่มีทางจะได้แล้วก็ตาม จึงยกเลิกอานิสงส์กฐิน หรือจนหมดเขตอานิสงส์กฐิน . เพราะถ้าไม่มีอานิสงส์จำพรรษา หรืออานิสงส์กฐิน พระจะเก็บผ้าจีวรไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน เกินนั้นไปต้องวิกัปกับพระรูปใดรูปหนึ่ง หากอยู่รูปเดียวก็จะสร้างความลำบากมิใช่น้อย . พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตรัสไว้เลยว่า “เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษารูปเดียวรับกฐินได้ กรานกฐินได้ โดยเอาสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในวัดอื่น มาสวดญัตติ มาอนุโมทนา” หรือมีทรงตรัสแบบนี้ไว้ในที่ไหน ช่วยหามาให้ดูที . เรื่องอย่างนี้ มิบังควรจะมาคิดเองเออเอง หรือตีความเอาเอง ควรจะตีความไปในทางที่จะทำให้พระวินัยมั่นคง ไม่ใช่ไปตีความทำลายต้นบัญญัติแบบนี้ . พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัสพระวินัยกลับไปกลับมาอย่างแน่นอน เรื่องพระวินัยต้องถือในพระวินัยปิฎกเป็นใหญ่ จะไปเอาข้อความจากพระสูตร หรือพระอภิธรรม ที่ขัดแย้งกัน มาคัดค้านพระวินัยปิฎกไม่ได้ ที่ขัดแย้งกันก็อาจเป็นเพราะจดจำมาผิด หรือผู้แปลตีความผิดไปเองต่างหาก พระวินัยที่ออกจากพระโอษฐ์แท้ ไม่มีทางจะขัดแย้งกันได้หรอก . เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แล้วว่า “ต้องมีพระ ๕ รูป จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส ๓ เดือน จึงจะรับกฐินได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น” . ที่ต้อง ๕ รูป เพราะการสวดกฐินเป็นสังฆกรรม ประเภทญัตติทุติยกรรมวาจา คือ กรรมวาจามีญัตติเป็นที่สอง หนึ่งรูปเป็นผู้กรานกฐิน อีกสี่รูปจึงครบจำนวนเป็นสงฆ์สามารถอปโลกน์กฐินได้ . ถ้ามาบอกว่าองค์เดียวก็รับกฐินได้ หรือเอาพระที่อื่นมาสวดรับกฐินได้ ใครพูดเช่นนั้น ก็เท่ากับลบพระวินัยบัญญัติ ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ให้ผิดเพี้ยนไปอย่างสิ้นเชิง . ครูบาอาจารย์ไม่เคยพาทำ เราเองมีพระจำพรรษา ๔ รูป ก็รับเป็นผ้าป่า ไม่เคยรับเป็นกฐิน เมื่อมีพระจำพรรษาไม่ครบองค์กำหนด ๕ รูป ที่จะรับเป็นกฐิน ก็ไม่ต้องรับสิ! ยอมรับพระพุทธบัญญัติ มันดีกว่ารับกฐินตั้งเยอะแยะ จะไปดัดแปลงพระวินัยให้ผิดเพี้ยนไปเพียงเพราะอยากได้ลาภสักการะเงินทอง มันก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ปฏิบัติที่มุ่งหวังความหลุดพ้น . สมัยนี้มันอนุโลมกันจนเหลวแหลกเลอะเทอะไปหมดแล้ว เพียงแค่เพราะอยากได้ลาภสักการะ ก็ทำได้ทุกอย่าง โกหกหลอกลวงประจบประแจงสอพลอ ใครนึกอยากจะทำอะไรก็ทำตามสบาย ไม่ได้ดูหรอกว่า พระธรรมวินัย ท่านว่าไว้อย่างไร? . ถ้าเคารพพระธรรมวินัยอันเป็นองค์แทนพระศาสดา ก็จงทำตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ นั่นแหละ ถูกต้องที่สุดแล้ว อย่าอุตริไปตีความให้ผิดเพี้ยนไป . ไม่มีเหตุผลอันใด ที่จะไปตีความให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นผู้ตรัสพระวินัยกลับไปกลับมา ตรงนี้จะเป็นบาปหนักยิ่งกว่า พระจำพรรษารูปเดียวไปรับกฐินเสียอีก . แต่ถ้าจำพรรษารูปเดียว หรือมีพระไม่ครบ ๕ รูป อยากจะรับกฐินจริง ๆ ด้วยเหตุผลเพราะจะเอาใจญาติโยมที่อยากทอดกฐิน จะได้มีเงินเยอะ ๆ ชอบอย่างนั้น อยากทำก็ทำไป แต่ให้รู้ว่า มันไม่ถูกพระวินัย ทั้งบอกให้ญาติโยมเขารู้ด้วยว่า มันเป็นสังฆกรรมวิบัติ มันเหมือนพระสงฆ์มาอปโลกน์กฐินโกหกญาติโยมนั่นแหละ . ฟังตอนเขากล่าวคำถวายกฐินสิ! เขาบอกว่า “ก็แลครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้” เห็นไหม? จำพรรษารูปเดียว มันกรานกฐินไม่ได้ เพราะสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่วัดอื่น ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมายกจีวรที่ตนเองไม่มีส่วนเป็นเจ้าของ ให้กับพระที่จำพรรษาอยู่ในวัดนั้น ที่เป็นเจ้าของจีวรอยู่แล้ว มันไมใช่เรื่องตลกสักเท่าไรเลยนะ! ที่พระจะทำสังฆกรรมปลอม ๆ หลอกญาติหลอกโยม เราว่า มันจะได้ไม่คุ้มเสีย . ถ้าบอกกับญาติโยมแล้ว เขายังยืนกรานพอใจที่จะทอดกฐิน หากพระเคารพในพระธรรมวินัย ก็จงบอกให้เขาไปทอดวัดอื่นเสีย แต่ถ้าพระจะตามใจญาติโยม ก็แล้วแต่จะทำกันไป ถ้าเป็นเรา จะพอใจในของตามมีตามได้ หากจะไม่ได้ก็ไม่ต้องไปเอาแม่ม.. ถ้าพระรักษาพระธรรมวินัยแล้ว มันจะอดตาย ก็ให้มันเห็นกันสักทีเถอะวะ!! . ขาดเงินขาดทองมันไม่ถึงกับจะลงแดงตายหรอก แต่ถ้าพระขาดธรรม ขาดวินัย ถึงเป็นอยู่ มันก็เหมือนกับตายแล้ว ถ้าจะต้องตายจากมรรค ผล นิพพานตลอดไป ก็สู้สละชีวิตให้มันตายไปในชาตินี้เสียยังจะดีกว่า . เพราะอานิสงส์ที่พระรักษาพระธรรมวินัยด้วยชีวิต นี่แหละ! จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ในอนาคตกาลข้างหน้าชาติใดชาติหนึ่งอย่างแน่นอน . การที่ประพฤติเหลาะแหละโลเลในพระธรรมวินัย นั่นแล! เห็นมีแต่ตายกับตาย เมื่อโลเลอย่างหนึ่งได้ มันก็โลเลไปได้เรื่อย ๆ สุดท้ายก็ปฏิบัติเลอะ ๆ เทอะ ๆ อยู่ไม่ได้ต้องละสิกขาลาเพศไป ก็เพราะไม่ประพฤติให้หนักแน่นจริงจังในพระธรรมวินัย นั่นเอง!! . พระที่ชอบทำอะไรตามใจโยมไปแบบผิด ๆ โดยมากมักกอดคอกันไปนรกด้วยกันทั้งหมด ทั้งพระทั้งโยม ดังนั้น ถ้าอยากได้บุญจริงบุญแท้ จงทำบุญให้ตั้งอยู่ในกรอบแห่งธรรมแห่งวินัยด้วย ถ้าทำบุญแบบผิดธรรมผิดวินัย ถึงทำมากก็มีอานิสงส์น้อย ถ้าทำน้อยก็ยิ่งได้อานิสงส์น้อยลงไปอีก จนถึงกับไม่ได้อะไรเลย ดีไม่ดีติดลบได้ตั๋วฟรีไปเยี่ยมยมบาลอีกต่างหาก . #ดอยแสงธรรม_๒๕๖๑ Cr. พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช
"ให้ระลึกรู้ว่า เมื่อมีเหตุ ก็ต้องมีผล ทำเหตุลงไปแล้ว ไม่ได้รับผล มันไม่มีหรอกในโลกนี้
เหตุดี ก็ต้องได้รับผลดี เหตุชั่ว ก็ต้องได้รับผลชั่ว มันจะสูญหายไปไม่มี"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
ถ้าโยมมีสติ. ก็มีเวลามากพอ. สำหรับการทำความเพียร.
หลวงปู่ชา สุภัทโท
.
#อานิสงส์บอกบุญ
พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า
"สันตติภิกขุ ถ้าเจ้าจะไปนิพพานวันนี้ ก็เป็นการสมควร เพราะว่าวันนี้เป็นวันหมดอายุขัยของเธอ แต่ก่อนจะไปนิพพานวันนี้ เธอจงกล่าวถึงอานิสงส์ที่เธอสร้างความดีไว้ว่า (๑) เธอได้รับราชการเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่รองจากพระมหากษัตริย์คือมหาอำมาตย์ (๒) เมื่อฟังเทศน์จากตถาคตสั้นๆ เพียงประโยคเดียว ก็ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
ก็อยากจะทราบว่าอานิสงส์ในกาลก่อนนั้น เธอทำความดีอะไรไว้ จึงมีผลดีถึงขนาดนี้ ก่อนที่เธอจะแสดงถึงผลแห่งความดีในกาลก่อนเธอจงไปยืนอยู่บนอากาศกล่าวเนื้อความนั้น"
ท่านสันตติภิกขุ ก็กราบพระพุทธเจ้าแล้วก็ยืนบนอากาศ ๑ ช่วงยอดตาล ลงมากราบใหม่จนถึง ๗ ช่วงยอดตาล เมื่อถึง ๗ ช่วงยอดตาล ก็ยืนบนนั้นกล่าวประวัติความเป็นมาของท่าน ท่านกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า
"ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า ถอยหลังจากนี้ไป ๙๑ กัป เวลานั้นมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมีนามว่า วิปัสสี อยู่ในเมือง พันธุมนคร แล้วก็มี พระเจ้าพันธุมราช เป็นพระราชา เป็นราชบิดา ระหว่างนั้นข้าพระพุทธเจ้าเกิดในสมัยนั้น คนสมัยนั้นมีอายุ ๘ หมื่นปี ก็มาคิดในใจว่า เคยฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็เคยฟัง บาตรก็เคยใส่ ของอย่างอื่นก็เคยถวาย คิดว่าเราจะทำบุญอะไรหนอที่มันง่ายที่สุด ที่บรรดาคนจะทำบุญก็เบาไม่หนัก ไม่ต้องใช้ทรัพย์มาก ไม่ต้องลำบากมาก ก็คิดในใจว่า "การบอกบุญกันนี่เป็นความดี" ไม่หนักใจเราไม่หนักใจเขา คนรับฟังแล้วก็ทำตามกำลัง จะมีทรัพย์ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะการทำบุญมีหลายอย่าง
นี่ตอนเช้าตรู่ท่านก็เดินไปประกาศกับชาวบ้านว่า "พ่อเอ๋ย..แม่เอ๋ย..เวลานี้พระพุทธเจ้ามาแล้ว... อันดับแรก หนึ่ง "จงตั้งใจใส่บาตรกันตามกำลัง" ปรการที่ ๒ "ตั้งใจฟังเทศน์" ประการที่ ๓ "ตั้งใจถวายทานอะไรก็ตามเถอะ รักษาอุโบสถบ้าง รักษาศีล ๕ บ้าง มีทรัพย์สินอาหารบ้างก็ใส่บาตร มีทรัพย์สินบ้างก็ทำทานอย่างอื่น และพากันไปฟังเทศน์ ขอบรรดาท่านทุกคนเลือกกันทำบุญตามอัธยาศัย"
ท่านประกาศอย่างนี้อยู่พักหนึ่ง ก็ปรากฎว่า ท่านพันธุมราช พระราชาพ่อของ พระพุทธเจ้าวิปัสสี ได้ฟังตอนเช้ามืดทุกวัน ก็ให้คนเรียกมาถามว่า "เธอทำอะไร" ท่านก็บอกว่า "ข้าพเจ้าบอกประกาศให้ชาวบ้านทำบุญ ให้ทำตามสบาย"
พระเจ้าพันธุมราช ก็บอกว่า "อย่างนั้น การเดินไปของเธอไม่สมควรให้ใช้ม้า" แล้วก็พระราชทานม้าตัวที่ฝึกดีแล้วให้ขี่ ต่อมาเธอก็ขี่ม้า ประกาศบุญ
ต่อมา พระเจ้าพันธุมราช ก็เรียกมาถามว่า "เวลานี้เธอใช้อะไรเป็นยานพาหนะ" เธอก็บอกว่า "ใช้ม้าตัวที่พระองค์ทรงพระราชทาน" พระเจ้าพันธุมราช บอก "ม้าที่ประทานให้ ก็ยังดีไม่พอ ใช้รถเทียมม้า" แล้วก็พระราชทานรถเทียมม้าไปให้ ต่อมาก็ถามอีกว่า "เธอใช้อะไร" ก็บอกว่า "ใช้รถ" พระเจ้าพันธุมราช ก็บอกว่า "ไม่ดี ให้ใช้ช้างซึ่งประดับแล้ว"
รวมความว่า สันติมหาอำมาตย์ ประกาศกับบรรดาท่านพุทธบริษัท และกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า "การที่บรรลุมรรคผลได้เร็วก็ดีในชาติหลังนี้ เพราะเป็นคนที่บอกบุญนั่นเอง การบอกบุญไม่มีเกณฑ์บังคับ ใครจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เอาอานิสงส์ในการบอกบุญด้วย แล้วตนเองก็ทำกุศลด้วย"
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ที่เอาเรื่องนี้มาเทศน์แก่บรรดาท่านพุทธบริษัทเพราะว่าเห็นเป็นเรื่องฟังง่ายๆ แล้วก็เข้าใจง่าย เป็นการทำบุญง่ายๆ
"การบอกบุญประกาศข่าวบุญแก่บุคคลอื่น ที่มีความเลื่อมใสในพระศาสนาก็ดี เลื่อมใสในการสงเคราะห์ทานก็ดี จัดว่าเป็นบุญมหาศาล ซึ่งองค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า เป็นการสะสมความดีเรื่องบุญกุศล แล้วเป็นปัจจัยให้ตนเองเกิดปัญญา สามารถตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานได้"
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายแสดงพระธรรมเทศนาก็พอดีเป็นเวลา ๓๐ นาที ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมาภาพขอตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ จงดลบันดาลให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า มีความเกษมสำราญทุกทิวาราตรีกาล สวัสดี
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จากหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๔๐๑ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ หน้า ๕๙ คัดลอกโดย คณะบุญสุประวีณ์
พระอริยเจ้าท่านก็รู้ ก็มีร้อน-หนาว ก็รู้อยู่ มันต้องชำรุดทรุดโทรม เป็นธรรมดาอย่างนี้ แต่ท่านไม่ไปยึดกับความเปลี่ยนแปลง แปรปรวน ในสิ่งนั้นๆ ท่านจึงไม่มีสุข-ทุกข์ ไม่เสียใจ ไม่ยินดี จะว่าง วางปล่อย
หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ
|