ลองสังเกตดูนะ ว่าคนที่ล้มเหลว มักจะเป็นประเภท "น้ำเต็มแก้ว" ไม่เคยฟังใคร มีเหตุผลแก้ตัวให้ตนเองเสมอ และที่สำคัญ...มักจะโยนความผิดให้คนอื่นเสมอ
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม
"ลูกหลานให้เห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตาต่อกัน รักใคร่สามัคคีกัน อย่าอิจฉาริษยากัน อย่าใส่ร้ายป้ายสีกัน ยุยงให้เกิดความแตกแยก ถ้าใครที่รู้ตัวว่าเป็นอย่างนั้น ให้เปลี่ยนตัวเองน่ะ...
เพราะผู้ที่ทำอย่างนี้ หนีไม่พ้นที่จะได้อยู่ในที่มีภัยสงคราม ถูกกับระเบิด ถูกปืนที่เขายิง ระเบิดทึ่เขาทิ้ง จะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส...
จะเป็นคนที่ทนทุกข์ทรมาน น่าเวทนาที่สุด นี่แหละผลของกรรม มันส่งให้เจ้าของผู้กระทำรับไปแต่ผู้เดียว...
อย่าพากันคิดกันทำน่ะลูกหลาน อย่าพากันสร้างเหตุที่จะพาเราไปตกต่ำ..."
โอวาทธรรม หลวงปู่ทุย ฉันทกโร วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
บุญต้องต่อเอาไว้นะ. ปัจจุบันก็บุญเก่า บุญเก่าเราสร้างมาแต่อดีตโน้น... ของเก่าที่เราได้เรามีปัจจุบัน
ถ้าเราไม่รักษา มันก็จะเสื่อม ของใหม่บุญที่จะเกิดขึ้นมาใหม่อีก ถ้าเราไม่ต่อไว้ ก็จะไม่มีอะไรแหละ
องค์หลวงปู่อว้าน เขมโก วัดป่านาคนิมิตต์ (วัดป่านามน) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
จิตใจนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นสภาพที่ดิ้นรนไปในอารมณ์ ซัดส่ายไปในอารมณ์... การที่สติตามดูรู้เท่าทันจิตก็เหมือนกับเป็นคนเลี้ยงเด็ก... ไม่ใช่ว่าเราไปบังคับจิตว่าอย่าคิด อย่าคิด บังคับเข้าไว้ มันก็จะเหมือนเด็กที่ถูกบังคับให้มันอยู่นิ่งๆ เด็กมันก็พาล... เกิดความคับแค้นใจ อึดอัด มันยิ่งเกิดความฟุ้งมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการกำหนดจิตนั้น ให้ตามดูรู้เท่าทัน อย่าไปบังคับ โดยการยอมรับกับความเป็นจริงของจิตว่า จิตนี้มีสภาพที่ไม่เที่ยง...จะต้องแปรเปลี่ยนไป... จะเป็นผู้ที่ตามดูรู้ทัน ไม่บังคับ มันก็สงบของมันเอง
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
...พยายาม”เจริญสติให้มากๆ” ปลีกวิเวกเพื่อจะได้เจริญสติ ได้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็เดินจงกรม นั่งสมาธินะ . ต้องนั่งนะ อย่าอ้างข้อนั้นข้อนี้ "ถ้าไม่นั่ง จิตจะไม่มีวันรวม".
.................................... คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 6/11/2557 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
บ่อยครั้งนักที่คนเรามักมุ่งความเพียรพยายามไปในทางที่ไม่ถูกต้องเลยนำมาซึ่งความขัดเคืองใจโดยไม่จำเป็น ความเพียรพยายามแบบนี้มี ๔ ลักษณะ คือ
(๑) การเพียรพยายามขจัดหรือหนีจากความทุกข์ที่ประสบอยู่ โดยไม่เข้าใจความทุกข์นั้น (๒) การเพียรพยายามหาแหล่งปลอดจากภัยคุกคามจากความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่เข้าใจความทุกข์นั้น (๓) การเพียรพยายามแสวงหาความสุขโดยการไล่ตามความสนุกสนานทั้งหลาย (๔) การเพียรพยายามยึดความสุขและความสนุกสนานทั้งหลายที่มีอยู่ เพื่อป้องกันมิให้หายไป
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราปรับเปลี่ยนเป้าหมายของความเพียรพยายามดังนี้ (๑) เรียนรู้ที่จะปล่อยวางกิเลสอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ที่ประสบอยู่ (๒) เรียนรู้การป้องกันจิตจากกิเลสที่ยังไม่เกิดอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (๓) เรียนรู้ที่จะน้อมนำกุศลธรรมอันเป็นเหตุแห่งการเกิดความสุขที่แท้จริงมาสู่จิตใจ (๔) เรียนรู้การบำรุงรักษาและฝึกจิตที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเกิดความสุขที่แท้จริงให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
|