Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การกระทำภายในใจ

พฤหัสฯ. 17 ธ.ค. 2020 5:04 am

เป็นมนุษย์ต้องเป็นคนจริง ต้องซื่อสัตย์ ถ้าก้าวขึ้นศีลห้าแล้ว เลิศทันที ศีลห้านี้ถ้าบริสุทธิ์แล้วสมหวังหมด ทั้งรูปร่างกาย ทั้งสติปัญญา ท่านจึงกล่าวว่า สีเลนะสุคะติงยันติ ยังไม่ตายก็มีความสุข เพราะไม่มีเวรไม่มีภัย จิตดวงนี้ไม่ได้ทำกรรมทำเวรทั้งห้าเลย ไม่ทำอย่างเด็ดขาด จนศีลอยู่ในจิตนั้น

เบื้องต้นก็ต้องระวังระแวง เพราะจิตอันนี้เป็นอำนาจอันหนึ่ง บังคับสัตว์โลกทั้งหลายให้ทำทุกสิ่งทำอย่าง พอเอาศีลห้ามาเป็นพี่เลี้ยงของจิต จนอยู่ในจิต เป็นสมบัติของจิต เกิดในสวรรค์ก็มีความสุข กลับมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์จนที่สุดคือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะนึกอะไรได้หมด จนจิตพอตัว มีการตามรู้เกิดขึ้น เกิดทิพเนตร มองเห็นร่างกายนี้เป็นร่างกระดูก

สมัยที่หลวงปู่ไปอยู่กับหลวงปู่หนองแซง เดินบิณบาตตามท่านไป ท่านไม่พูดนะ พระปฏิบัติท่านไม่พูดไม่คุย พระแต่ก่อนท่านเดินนิ่งภาวนาไป ตาในท่านมองเห็นพวกเราเป็นร่างกระดูกทั้งร่าง ไปถึงวัดท่านว่า โอ้ย คนมานี้ มีแต่ร่างกระดูก นี่คือตาใน ต้องสร้างตรงนี้ ทำศีลห้าให้บริสุทธิ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วตาในจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เราเป็นฆราวาส ห้าตัวนี้พอแล้ว ไม่ต้องไปขอกับพระ ให้สังวรณ์ระวัง สิ่งที่ทำผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องคำนึง นับแต่วันนี้ต่อไปจะสังวรณ์ระวังให้สะอาด ไม่มีใครช่วยเราได้เวลาเราจะตาย มีเราตัวคนเดียว ผัวก็ไม่ได้ เมียก็ไม่ได้ ลูกก็ไม่ได้ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

แต่พระพุทธเจ้าไม่บังคับใครนะ ของดีไม่ต้องบังคับ พระพุทธเจ้าสอนความจริงล้วน ๆ ไม่บังคับใครให้นับถือ ใครอยากดีก็เอา ใครชอบขี้เกียจพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่า เอาเลย เดี๋ยวเจอเอง กุศลนี่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ให้นึกไว้เป็นประจำ จะชะล้างจิตใจ จิตใจจะผ่องใสฉาบล้างอยู่ตลอด กรรมห้าเวรห้า เราเป็นผู้ชำระเอง ไม่ต้องไปเขียนนะเจ้ากรรมนายเวร เจ้าของเป็นผู้ทำเอง ไม่มีใครทำให้หรอก หยุดทำซะ แค่นี้ก็พอ

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์
หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร
วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ










...ใจเป็นตัววัดผลของการปฏิบัติ
จะได้ผลมากน้อย
อยู่ที่ใจนิ่งมากหรือนิ่งน้อย
ถ้านิ่งมาก ก็ได้ผลมาก
ถ้านิ่งน้อย ก็ได้ผลน้อย

.ความจริงไม่มีอะไรที่
“ใจ” จะต้องตื่นเต้น ..ใจไปหลงเอง
สิ่งต่างๆไม่มีความหมาย
แต่..ใจไปให้ความหมายเอง

.ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้
พอเปลี่ยนแปลงไป หรือสูญหายไป
"ใจก็หวั่นไหว วุ่นวาย"

.เพราะขาดธรรมะ แสงสว่าง
ที่จะสอนใจให้รู้ทันความจริงทั้งหลาย
ว่า.."เป็นไตรลักษณ์"
ไตรลักษณ์นี่แหละ...
“เป็นปัญญาทางพระพุทธศาสนา”
ไม่ต้องศึกษากว้างขวาง
ศึกษาไตรลักษณ์นี้ก็พอ

.เวลามองอะไร ให้มองว่าไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
“ถ้าเห็นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน”
ใจก็จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
เพราะ..มีปัญญาคอยคุมไว้.

..............................
กำลังใจ 49 กัณฑ์ 412
ธรรมะบนเขา 23/5/2553
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










คุณงามความดีเป็นสมบัติภายใน เป็นแก้วสารพัดนึก
เวลาจำเป็นเราต้องอาศัยนี้แหละ เวลาตายแล้วมันสุดวิสัย
ที่จะอาศัยสมบัติเงินทองบ้านเรือน อาศัยพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
ลูกหลาน สามีภรรยา มันหมดทางที่จะอาศัยแล้ว
คนที่ละโลกนี้ไปสู่ปรโลกนั้น สมบัติเงินทองข้าวของมีมากน้อย
ก็หมดทางที่จะอาศัยได้อีก ไม่ว่าจะเป็นญาติเป็นมิตร
เป็นลูกเต้าหลานเหลน อาศัยไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะพึ่งกันได้ในเพศภพภูมินั้น
ต้องอาศัย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
พึ่งตนเองด้วยวิบากผลบุญของตัวถ่ายเดียวเท่านั้น
เมื่อเราได้สร้างคุณงามความดีไว้เพื่อตนเสียแต่บัดนี้
ก็ชื่อว่าตนจะพึ่งตนเองได้
.........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
"กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา"










วัดตัวเอง ไม่อยู่ ไปหาวัดอื่นอยู่
เท่ากับ ตัวเองยังไม่รู้จัก
แล้วจะไปรู้จักคนอื่นได้อย่างไร?
เท่ากับ มงคลตื่นข่าว
ใครว่าที่ไหนดี ไปหมด
เท่ากับ ไม่รู้ว่า พระธรรม
อยู่ที่ "กายกับจิต" ของตัวเอง
เท่ากับ ไม่รู้ว่า บุญคืออะไร?
บุญอยู่ที่ไหน? บุญเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เท่ากับ ยังหากิเลสของตน ไม่พบ!
ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ที่ "ใจ" ของตนเอง
กินอยู่ หลับนอน เที่ยวกับมันตลอด
ทุกอย่างเกิดขึ้นข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก

หลวงปู่บุดดา ถาวโร










จุดแห่งมหันตทุกข์และบรมสุข

"..จำให้ดีนะ พุทธศาสนาสอนลงที่ใจ จุดแห่งมหันตทุกข์และจุดแห่งบรมสุขอยู่จุดเดียวคือใจนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องสอนให้ชำระจิตใจ อย่าไปชำระภายนอก ไม่มีอะไรเป็นความหมาย อันนั้นเพียงอาศัยไปวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้นสิ่งภายนอก พอเยียวยากันไป ขอให้ใจได้รับการบำรุงด้วยอรรถด้วยธรรมเถิด สิ่งเหล่านั้นจะไม่มากวนเราเลย มีแต่ใจไปเที่ยวกวนต่างหากนะ.."

โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน










"..ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของเย็น เป็นของเบา เป็นของสบายไม่หนัก อะไรพาเย็น อะไรพาเบา ก็ศีล นับแต่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด ทานรู้จักแบ่งรู้จักปัน ภาวนา การเจริญเมตตาภาวนาดูจิตดูใจตนของตน พิจารณาให้เห็นถึงทุกข์ อะไรทุกข์ การเกิดนี่กะทุกข์ การแก่นี่กะทุกข์ การเจ็บนี่กะทุกข์ การตายนี่กะเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในท้องฮอดมื้อตาย ตายไปกะยังทุกข์อีก ทุกข์เพราะกรรมชั่วพาไปรับกรรมในหม้อนรก พ้นจากหม้อนรกมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็มกินบ่ได้นี่กะทุกข์ พ้นจากเปรตเศษของกรรมนั้นพามาเกิดเป็นอสุรกาย พ้นจากอสุรกายมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน พ้นมาเดรัจฉานมาเกิดเป็นคนพิกลพิการ ร่างกายบ่ครบ ๓๒ หมุนเวียนอยู่จั่งซั่นจนเหมิ๊ดกรรม เพราะกรรมชั่วมันผลักดันให้รับทุกข์ จึงว่ามันเป็นของร้อน เป็นของหนัก ศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของเย็น เป็นของเบา ไม่ร้อน ไม่หนักต่างกัน.."

คติธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร









เราต้องฝึกสติ สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อให้เห็นภาพของกิเลสตัณหาภายในใจ หาวิธีผ่าตัดเอากิเลสตัณหาออกจากใจให้ได้ ขณะนี้เราเป็นหมอหรือยัง มีปัญญารอบรู้ในกิเลสตัณหาหรือยัง ถ้าเราไม่รู้เห็นกิเลสตัณหา จะทำลายกิเลสตัณหาได้อย่างไร ผู้ที่ละกิเลสตัณหาอาสวะได้นั้น ต้องมีความพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ที่สมบูรณ์ จึงจะกำจัดให้กิเลสตัณหาน้อยใหญ่หมดไปจากใจได้

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ







" ทางเดินเพื่อความดี ก็มี
ทางเดียวเท่านี้ คือจะยาก
หรือง่าย หวังพึ่งตัวเองเพื่อ
เป็นหลักยึดที่มั่นคง ก็จำต้อง
ฝืนกิเลสความผลักดัน
ลงทางต่ำของตน ไม่มีทาง
ปลีกแวะเป็นอย่างอื่นโดยไม่ฝืน

อีกประการหนึ่ง พวกเรายัง
เป็นช้างเท้าหลัง คอยดำเนิน
ตามเสด็จพระพุทธเจ้า ที่ทรง
อุตส่าห์บุกเบิกหนทางโลกันตะ
ที่มืดแปดด้าน

พอมีช่องร่องรอยลูบคลำ
ไปได้ ถึงจะลำบากก็มีทาง
ให้เดิน มิได้เป็นแบบปิดตัน
เหมือนพระองค์ผู้ดำเนินไปก่อน

ทางก็มี เท้าก็มี กำลังก็มี
สติปัญญาก็มี เหมือนมนุษย์
ในครั้งโน้นไม่มีอะไรบกพร่อง
พอคนสมัยนี้กับคนสมัยนั้น
และศาสนาพุทธองค์เดียวกัน
ในสมัยนี้กับสมัยโน้น จะเข้ากัน
ไม่ได้ เมื่อทุกอย่างก็มีสมบูรณ์

หากไม่ยอมเดิน แต่ต้องการ
ถึงที่มุ่งหมายอย่างนี้ ย่อมเป็น
ไปไม่ได้แต่ไหนแต่ไรมา และ
ขัดกับหลักศาสนาที่มีเหตุผล

นอกจากนั้นยังขัดต่อความ
มุ่งหมายและเป็นอุปสรรค
แก่ตนไปตลอดกาลอีกด้วย "

โอวาทธรรม
หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสัมปันโน









#การนับถือพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องเงียบขรึม

เพื่อนชวนไปทางไม่ดี เรารักษาศีลเราไม่ทำ ทำให้เสียเพื่อน แต่ตัวเราไม่เสีย ถ้าใจเรารู้สึกพอใจว่าเราไปทางดี ก็ควรนึกถึงพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นกษัตริย์มีบริวารมาก เพื่อนฝูงมาก ท่านออกบวช ละทิ้งเพื่อนทั้งหลายและทรงอยู่โดยไม่มีเพื่อนหลายปี

เมื่อตรัสรู้แล้วเพื่อนก็มาห้อมล้อมเอง พระองค์มีพระสาวกจำนวนมาก เป็นพระอรหันต์ก็มาก มีภิกษุณีสาวิกาเป็นอรหันต์ก็มาก มีอุบาสกอุบาสิกาเป็นพุทธบริษัทมากมายยิ่งกว่าคนในโลก

เรานับถือพุทธศาสนาอันเป็นที่รวมแห่งจิตใจของชาวพุทธทั้งหลาย จึงไม่ควรกลัวจะขาดเพื่อนฝูง ควรคิดว่าตอนแรกเพื่อนยังไม่เข้าใจเรา ก็เลิกราไม่คบเรา
ต่อมาการปฏิบัติในทางดีของเรามีอยู่ ควรจะแลเห็น และคนผู้หวังความดีมีอยู่ ระหว่างคนดีต่อคนดีย่อมเข้ากันได้ คนดีนั่นจะเป็นเพื่อนเราในกาลต่อไป

ถ้าโลกจะขาดคนดี ไม่มีใครสนใจคบเรา ก็ควรคบกับธรรม คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ภายในใจ ซึ่งดีกว่าเพื่อนที่ไม่สนใจความดีเป็นไหน ๆ นี่แลคือเพื่อนอันประเสริฐแท้

ตามธรรมดาแล้ว เพื่อนที่เป็นคนดี ๆ ก็จะหันมาคบกับเรา เราจึงควรวางใจเสียว่า ถ้าเราจิตใจสบายดี รู้ว่าไปทางดีก็พอแล้ว

#ไม่ควรไปคิดกังวลกับผู้อื่นให้ยิ่งกว่าเป็นห่วงเรา

สมกับเรารับผิดชอบเราเอง ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่มีใครมายกฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นนอกจากเราเอง

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในกรุงลอนดอน











#การแต่งตัวเครื่องสำอางนี่บ่มีหยังเรื่องกิเลสตัณหานั่นแล้ว

สลดสังเวช มีแต่กัดแทะกันกินไปนั่นแล้ว โลกอันนี้สมัยนี้ สิมาหาความสุขอิหยัง เจริญก็เจริญอันนี้ละ เจริญวัตถุ เป็นอย่างนี้แล้ว

#เกิดแล้วตายตายแล้วเกิด
#อยู่อย่างนี้แล้ววัฏฏะนี้

หลวงปู่ลี กุสลธโร









#ใจรวมด้วยสติกับพุทโธ

การบริกรรมพุทโธ เป็นการกระทำภายในใจ ต้องมีสติกำกับในการบริกรรม ไม่ใช่บริกรรม พุทโธๆ แต่ไม่มีสติกำกับ ถ้าหากว่ามีสติควบคุมก็จะไม่หลงลืม แล้วการบริกรรมพุทโธนั้นก็จะมีความละเอียดหรือมีความใสเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ พุทโธกับสติก็มีโอกาสที่จะรวมเป็นอันเดียวกัน

สติก็คือการระลึกอยู่ รู้ว่าเรากำลังบริกรรม พุทโธๆ อยู่ เราก็มีสติอยู่กับการบริกรรมพุทโธนั้น ในเมื่อเรามีการกระทำอยู่อย่างนี้ สติก็ไม่ขาด ในเมื่อสติไม่ขาด การบริกรรม พุทโธๆ ของเราก็ไม่ขาด การบริกรรมพุทโธของเราก็มีโอกาสที่จะรวมกัน รวมสติกับรวมพุทโธไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในเมื่อสติกับพุทโธรวมกัน เรียกว่าใจของเรารวมก็ได้ คำว่า ใจรวม ก็รวมสติรวมความรู้สึก ถ้าหากว่าไม่มีสติ บริกรรมพุทโธๆ แต่ใจมันเลื่อนลอย ใจมันจะรวมไม่ได้

หลวงปู่แบน ธนากโร
ตอบกระทู้