มัวแต่ห่วงโลกอยู่ เลยไม่ได้ไปพระนิพพาน
ผู้จะไปพระนิพพานได้ ท่านไม่ห่วง ไม่มีห่วงโลกห่วงใดๆ ทั้งนั้น
เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านตัดขาดพรวดไปเลย ไม่มีอีกแล้ว
เรียกว่าตัดกิเลสตาย คลายกิเลสหลุด
ถึงวิมุตติมรรคผลนิพพาน สว่างโร่ไม่มืดอีกแล้ว
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
" การจะปล่อยวางได้ การจะละคลาย ความยึดถือ การจะหายจาก ความยึดมั่นสำคัญหมาย
ต้องทำจิตให้ "สงบ" เสียก่อน
เพราะอาศัยความสงบ ของจิตนั้นเอง “วิปัสสนาญาณ” จึงจะเกิดได้ "
โอวาทธรรม หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
"รู้ธรรม เห็นธรรมด้วยใจ"
"..สิ่งที่สามารถสัมผัส รับรู้ธรรมทุกขั้นทุกภูมิได้ มี "ใจ" ดวงเดียวนี้เท่านั้น
ใจจึงเป็นของคู่ควร แก่ธรรมทั้งหลาย ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด จนถึงวิมุตติธรรม
นอกนั้น ไม่มีอะไร สามารถสัมผัสรับรู้ธรรมได้
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระสาวกของพระพุทธเจ้า ทุก ๆ องค์ ทรงรู้ธรรม เห็นธรรมด้วยใจ มิใช่ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เลย
ใจจึงเป็นภาชนะอันเหมาะสม กับธรรมทุกขั้นทุกภูมิอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไข และการบำรุงรักษา โดยถูกทาง เช่น การปฏิบัติ "จิตภาวนา" เป็นต้น.."
โอวาทธรรม หลวงปู่ขาว อนาลโย
ท่านพ่อลีแนะนำหลักในการนั่งสมาธิ
จะแนะนำหลักในการนั่งสมาธิ ของท่านผู้ที่มาใหม่ยังไม่เคยทำ พอให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
๑. ให้ตั้งใจว่าเรื่องราวอะไรทั้งหมด เราจะไม่เก็บมาคิดนึก จะนึกถึงแต่พุทธคุณอย่างเดียว คือ "พุทโธ"
๒. ตั้งสติกำหนดนึถึงลมหายใจเข้าว่า พุท ออกว่า โธ หรือจะนึก พุทโธๆ อยู่ที่ใจอย่างเดียวก็ได้
๓. ทำจิตให้นิ่ง แล้วทิ้งคำภาวนา "พุทโธ" เสีย ให้สังเกตแต่ลมที่หายใจเข้าออกอย่างเดียว เหมือนกับเรายืนเฝ้าดูวัวของเราอยู่ที่หน้าประตูคอก ว่าวัวที่เดินเข้าไปและออกมานั้น มันเป็นวัวสีอะไร สีดำ แดง ขาว ด่าง วัวแก่หรือวัวหนุ่ม เป็นลูกวัวหรือวัวกลางๆ แต่อย่าไปเดินตามวัวเข้าไปด้วย เพราะมันจะเตะขาแข้งหักหรือขวิดตาย ให้ยืนดูอยู่ตรงหน้าประตูแห่งเดียว หมายความว่า ให้จิตตั้งนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหวไปกับลม
ที่ว่าให้สังเกตลักษณะของวัวก็คือให้รู้จักสังเกตว่า ลมเข้าสั้นออกสั้นดี หรือลมเข้ายาวออกยาวดี ลมเข้ายาวออกสั้นดี หรือลมเข้าสั้นออกยาวดี ให้รู้ลักษณะของลมว่าอย่างไหนเป็นที่สบาย ก็ทำไปอย่างนั้นเรื่อยไป
ต้องทำให้ได้อย่างนี้ทั้ง ๓ เปราะ คือ เปราะแรกภาวนา พุทโธๆ ตั้งใจนึกด้วยสติหรือด้วยใจ เปราะที่สอง ให้สติอยู่กับลมเข้า พุท ลมออก โธ ไม่ลืมไม่เผลอ และเปราะที่สาม จิตนิ่ง ทิ้ง พุทโธ เสีย สังเกตแต่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว
๔. เมื่อทำได้เช่นนี้ ใจของเราจะนิ่ง ลมก็นิ่งเหมือนกับขันน้ำที่ลอยอยู่ในโอ่ง น้ำก็นิ่งขันก็นิ่ง เพราะไม่มีใครไปกด ไปเอียง ไปกระแทกมัน ขันนั้นก็จะลอยเฉยเป็นปกติอยู่บนพื้นน้ำ เหมือนกับเราขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดเขาสูงๆ หรือขึ้นไปลอยอยู่เหนิือเมฆ ใจของเราก็จะได้รับแต่ความสุขเยือกเย็น นี้ท่านเรียกว่าเป็น มหากุศล คือเป็น ยอด แก่น หรือรากเง่า ของกุศลทั้งหลาย
เมื่อดวงจิตของเราสงบ บุญต่างๆ ก็จะไหลเข้ามารวมอยู่ในดวงจิตของเรา คือความดีแล้วความดีในดวงจิตนั้นก็จะขยายตัวออกมาครอบทางกาย กายของเราก็จะหมดจากบาป ออกมาครอบทางวาจา ปากของเราก็จะหมดจากบาป ทางกายกรรมคือตาที่เราเคยสร้างบาปมา ทางหูที่เราเคยสร้างบาปมา และมือที่เราเคยสร้างบาปมา ฯลฯ ความดีที่เกิดจาการภาวนานี้มันจะขยายมาล้างตา มาชำระหู มาล้างมือ กายที่บาปด้วยสัมผัส บุญก็จะขยายมาล้าง ทีนี้กาย วาจา ตา หู จมูก ปาก และส่วนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายของเรา ก็จะเป็นของสะอาดหมด
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ไป. ไปเปิดประตู. พระนิพพาน. ไปเปิดแต่เสื่อ. แต่หมอน. ใช้ไม่ได้นะ.
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อไม่ฝึกจิตก็ย่อมหลงอารมณ์
การหลงอารมณ์นั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในชีวิตประจำวัน เหมือนกับเราดูทีวี แต่ว่าเราเอาหน้ามาชิดจอ มันมองอะไรไม่ชัด แต่พอเราห่างจอเสียหน่อย เราก็เห็นภาพในจอชัดเจน
ถ้าเราไม่ฝึกจิตก็เหมือนกับเราเอาหน้ามาชิดกับจอ คือ สิ่งใดที่เกิดกับชีวิตเรา ก็ตั้งสติไม่ทัน ก็วิ่งตามอารมณ์ตลอดเวลา แต่ถ้าเราฝึกสติบ่อย ๆ ก็คล้าย ๆ กับอะไร ๆ มันช้าลง ที่จริงมันไม่ช้าลงนะ แต่มันช้าลงในความรู้สึก
เมื่อเรามีสติดี มีความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
โทษของการหลงอารมณ์ เรากลายเป็นหุ่นกระบอก ไม่มีความเป็นอิสระ ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามอารมณ์ ไม่มีความสม่ำเสมอ ไม่มี "ความสงบ"...
พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ
ไม่มีชีวิตใด ประสบแต่ความเกษมสุข ปราศจากทุกข์ภัยไปได้ตลอด เมื่อเกิดมาแล้ว จึงจำเป็นต้องขวนขวายสั่งสม สติ และ ปัญญาสำหรับเป็นอุปกรณ์บำบัดความทุกข์อยู่ทุกเมื่อ เพื่อให้สมกับที่ดำรงอัตภาพแห่งมนุษย์ ผู้มีศักยภาพ ต่อการพัฒนา
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งก่อให้เกิด ความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่ แสวงหาหนทางเพิ่มพูน สติ และ ปัญญา พร้อมทั้ง แบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ ความกลัวภัย และความหดหู่ท้อถอยคุกคาม เข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร เสียสละ และสามัคคี
มีธรรมภาษิตบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา พึงน้อมนำ มาเตือนใจในยามนี้ ว่า
“เมื่อถึงยามคับขัน ประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม ยามมีข้าวน้ำ ต้องการผู้เป็นที่รัก ยามเกิดปัญหา ต้องการบัณฑิต”
บางส่วนจากพระคติธรรมที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานให้เป็นกำลังใจในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๓
"สิ่งที่เป็นเครื่องรางของขลังที่ดีที่สุด ก็คือ ความมีศีลธรรม เมื่อเรามีศีลธรรม เราไม่เบียดเบียนใคร ก็ไม่มีคนมาเบียดเบียนเรา"
หลวงปู่พุธ ฐานิโย
"ไม่ต้องตื่นเต้น กับวันใหม่ ปีใหม่ อันนั้นมันหมุนไปตามเรื่องของมัน วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง อันนั้น เป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา
อันที่เราควรจะตื่นเต้นนั้น ควรตื่นเต้นที่ตัวของเราว่าวันหนึ่งๆ เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราเจริญขึ้นหรือว่า เราเสื่อมลง อันนั้นต่างหาก
เราเห็นความเสื่อมความเจริญของเรา แท้จริงร่างกายของเรามันเจริญขึ้นไม่มีหรอก มีแต่เสื่อมลง มันเกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมลงทุกทีๆ"
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
"โรคทางกาย ไม่สำคัญเท่าใด เพราะเมื่อเราตายแล้ว ถึงจะรักษา หรือไม่รักษา มันก็หาย
ส่วนโรคทางใจนั้น เราตายแล้ว มันก็ยังไม่หาย ทำให้ต้องเวียนตาย เวียนเกิด อีกหลายชาติ หลายภพ"
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
|