พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เสาร์ 26 ธ.ค. 2020 7:05 am
...ความสงบนี้แหละคือ “หลักใจ”
ถ้าสงบ..ใจมันก็ไม่วุ่นวาย
ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดีหรือชั่วเกิดขึ้น
มันก็จะสงบ มันก็จะเฉยได้
.แต่ถ้าใจไม่สงบ
เวลาดีก็ดีใจ เวลาไม่ดีก็เสียใจ
ดังนั้นพยายาม
ทำใจให้สงบมากๆ บ่อยๆ นานๆ
ต่อไปเราจะได้ควบคุมใจ
ให้อยู่เฉยๆ ได้ ไม่ให้ไปตื่นเต้นตกใจ
หวาดเสียว หวาดกลัวกับ..
เหตุการณ์ต่างๆ ได้.
........................................
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะหน้ากุฏิ 7/11/2563
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวราราม ฯ ชลบุรี
ในเบื้องต้น การนั่งสมาธิจะสงบหรือไม่สงบก็ช่างมันเถิด มันสำคัญที่ความเพียร บุญอยู่ที่ตัวความเพียร การชำระจิตอยู่ที่ความเพียร
ถ้าเราพยายามกำหนดลมหายใจตลอด 20 หรือ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แล้วไม่สงบ อย่าด่วนสรุปว่าไม่ได้อะไรเลย
การปฏิบัติในเบื้องต้นคือการเปิดเผยสิ่งเศร้าหมอง ความฟุ้งซ่าน วุ่นวาย ในจิตใจ และการฝึกปล่อยวางสิ่งเศร้าหมองเหล่านั้น
เราควรจะถือว่าการฝึกจิตคือการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่สูงสุด ถึงแม้ว่าจิตจะยังไม่สงบ ให้ภาคภูมิใจว่าเราเป็นผู้ที่ตั้งใจทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งให้ทำ
ความยากลำบากในการชนะใจตัวเองต้องมีแน่นอนทุกคน เราจึงต้องอดทน ความยากลำบากที่เกิดขึ้นเพราะการปฎิบัติมีจุดจบ ส่วนความยากลำบากซึ่งเกิดขึ้นเพราะไม่ปฏิบัติธรรมไม่มีจุดจบ
พระอาจารย์ชยสาโร
"ถ้าคิดว่าบวชพระแล้วจะสบายอย่าบวช"
เราบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ทำความพ้นทุกข์ให้แจ้ง
วิถีแห่งความเพียร อดกินอดนอน ขันติอดทนทุกอย่าง
เดินจนเลือดติดทางจงกรม นั่งจนยางตายออก ปอกเปลือกขันธ์๕ และทำลายมายาของจิตด้วยสติธรรมปัญญาธรรม
ฝนตก...อากาศหนาว เราก็ยังก้าวเดินต่อไป
#ทางสายพระนิพพานเป็นสายทางทรมานกิเลส
#จะหวังความสุขความสบายอะไรได้ #กิเลสทุกข์นั่นแหละธรรมเจริญ
ทำตามคำสอนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า...ทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ แล้วยังประโยชน์สุขแด่เพื่อนสรรพสัตว์ต่อไป...
โอวาทธรรม :
-พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) บ้านซับน้ำเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"...การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ ก็ต้องรดน้ำพรวนดินอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาเหมาะสม การที่ต้นไม้ออกดอกผลให้เรานั้น ถึงเวลามันก็จะออกของมันเอง ไปห้ามมันบังคับมันไม่ได้ วาระนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกาลเวลา เหมาะสม..."
หลวงปู่เนตร จิรปุญฺโญ (ศิษย์อาวุโสในองค์ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
วัดมหาธาตุแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นสัตว์
...อย่างนี้ก็เรียกว่าต่ำช้า
ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจก็เป็นมนุษย์
...ถือว่าเป็นคุณงามความดี
ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเทวดา
...ก็ถือว่าประเสริฐขึ้น
เพราะฉะนั้นในจิตใจของคนเรานี้
จึงแปลสภาพได้ตามความที่อารมณ์ต่างๆจะผ่านเข้ามา
เมื่อการทำสมาธิ เราได้ทำสมาธิแล้ว
สมาธินี้..จะเป็นเครื่องกลั่นกรองอารมณ์ต่างๆ
กลั่นกรองอารมณ์ต่างๆ เอาแต่เฉพาะอย่างดี
สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่เอา..
เราเอาแต่เฉพาะสิ่งที่ดีก็เรียกว่ากลั่นกรอง
เพราะว่า..การกลั่นกรองนั้น
เป็นการกลั่นกรองด้วยสติ
เป็นการกลั่นกรองด้วยปัญญา
..ไม่ใช่ว่าเราจะกลั่นกรองเอาเอง
แต่ว่าเราจะต้องทำให้การที่เรามีการกลั่นกรองขึ้นมาได้
ยกตัวอย่าง ..
คนที่ทำสมาธินั้นในครั้งแรก
ก็มีอารมณ์มากมายก่ายกองนับไม่ถ้วน
แต่พอเวลามาทำสมาธิเข้าก็เหลืออารมณ์อันเดียว
นี่ก็เรียกว่ากลั่นกรองแล้ว
กลั่นกรองจากร้อยแปดพันประการนั้นมา
เหลืออารมณ์อันเดียว นี่ก็เรียกว่าเป็นสิ่งวิเศษ
วิเศษก็คือ.. จิตก็ได้เป็นหนึ่ง
เมื่อจิตเป็นหนึ่งได้แล้ว
...จิตนั้นก็รวมลงเป็นสมาธิ
เมื่อจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว
...สมาธิก็สามารถผลิตพลังจิต
เมื่อสมาธิผลิตพลังจิตได้แล้ว
...พลังจิตจะเก็บไว้ที่ใจ
เก็บไว้ที่จิตของเรา
...เมื่อเก็บไว้ที่จิตของเราแล้วมันก็เป็นการถาวร
เรียกว่าไม่เสื่อมสูญสลายตัว
เพราะว่า..
การสร้างสมาธินี้จะไม่มีการเสื่อมสูญสลายตัว
เราทำเท่าไหร่ก็ยังอยู่ในตัวของเราตลอดชาติตลอดภพ
ไม่มีการสูญหาย
เพราะฉะนั้น..
เมื่อเราทำหนึ่งขึ้นมาแล้วเราก็ได้
เราทำครั้งที่สองมาเราก็ได้ เราทำครั้งที่ต่อไปเราก็ได้
เราทำหลายครั้งเราก็ได้ เมื่อมันได้มากขึ้น มากขึ้นนี่
พลังจิตนี้...
เป็นสิ่งที่เรียกว่ารวมบุญ รวมวาสนา รวมบารมีต่างๆ
เข้ามาอยู่ในที่พลังจิตนั่นเอง
เพราะฉะนั้น...
การทำสมาธิจึงถือว่า เป็นการพัฒนาตัวบุคคลได้โดยแท้จริง
สมเด็จพระญาณวชิโรดม
(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ
วัดธรรมมงคล สุขุมวิท๑๐๑ กรุงเทพฯ
ที่มา : หนังสือธรรมะรุ่งอรุณ๒
"เทศน์ส่งท้ายปีเก่า อวยพรปีใหม่"
( ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ) หน้า ๘๑-๘๒
#การที่จะปฏิบัติให้มันได้นั้นไม่ต้องปฏิบัตินานมันก็จะได้
ถ้าเรามีความตั้งใจปฏิบัติให้มันจดจ่ออยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปเอาอารมณ์อย่างอื่นเข้ามา ยิ่งมันง่วงนอนมากๆ เหนื่อยมากๆ ง่วงมากๆ มันจะหลับหวิวๆนั้นแหละ ยิ่งจดจ่อเข้าไป รวมจิตเข้าไปที่มันจะหลับนั่นนะ ดูจิตที่มันจะหลับนะ มันจะหลับไปถึงไหนตามให้มันเห็น ถ้าเราตามดูมันนะไม่กล้าหลับหรอก เหมือนอย่างพวกเรานี่แหละ แม้จะอยากนอนนี่...
" โอ้ย! กูง่วงนอน กูง่วงนอน "
แต่อีกคนหนึ่งเต้นตั้งรำ ตั้งรำอยู่ กระโดดโลดเต้นอยู่ใกล้ๆเราอยู่ เราจะหลับหรือเปล่า ร้องออกมาจนสุดเสียงน่ะ ขนาดจะนอนน่ะนี่ ตั้งใจนอนก็ยังไม่นอน เพราะมันมีตัวมาปลุกเราอยู่ มันเลยตื่น อันนี้ความง่วงหงาวหาวนอนก็เหมือนกัน
#ถ้าเราเอาพุทโธเข้าไปนี่ตามจี้มันเลยกับสตินี่
ตามจี้มันเข้าไป ไม่ต้องถอนออกมา ตามดูมันจะหลับตอนไหน ลองดูสิดูมันจะหลับ ถ้าเราดูมันไปอย่างนั้นน่ะ มันไม่กล้าหลับหรอก มันไม่กล้าหลบไปไหนหรอก เพราะเราเห็นนะ จิตของเรามันเห็นมันอยู่นะ เห็นมันจะหลับ...ผลสุดท้ายมันไม่กล้าหลับ
เมื่อมันไม่กล้าหลับ เราฝึกอย่างนั้นไปเรื่อยๆๆ พอจิตของเรามันดิ่งเข้าไปจุดนั้นแล้ว ตามรู้เข้าไปผลสุดท้าย ความละเอียดอ่อนของจิตนี่ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยการแหลมคมของสติปัญญาเรา ด้วยการตามรู้
เมื่อการตามรู้ของเราเป็นเวลายาวนานหลายวัน เราไม่ยอมเผลอตัวให้มันมาลบกระแสจิตของเราได้ มาลบความรู้ของเราได้ ความรู้ของเราก็จะรู้อยู่อย่างนั้น จดจ่ออยู่อย่างนั้น แม้เราออกจากสมาธิไปหรือเราไปทำอะไรก็แล้วแต่ หรือทำภารกิจส่วนตัวเราก็น้อมอยู่ในจิตของเราอยู่ตลอดเวลา นี่คือการน้อมจิตของเราไม่ให้ขาดระยะ
ผลสุดท้ายเป็นเวลานานหลายวันหลายคืน หรืออาจจะหลายเดือน จิตก็จะสงบ พอสงบสนิทลงไปแล้วนะ จิตก็จะต้องตื่นนะ พอจิตมันรู้แล้วจิตมันตื่นเด้ นอนอยู่จิตก็รู้อยู่ เมื่อมันรู้อยู่ก็จะแสดงว่ามันตื่นนะ มันไม่ได้หลับ มันไม่ได้เผลอตัว มันตื่นเบิกบานแจ่มใสรู้อยู่
การที่ว่ามันตื่นนี่ มันตื่นจากความรู้แจ้งเห็นจริงนะ นี่ความชำนิชำนาญของการปฏิบัติธรรมนี่จะเกิดขึ้นในกระแสจิตของพวกเราทุกๆคนนี่นะ ถ้าเรากำหนดรู้อยู่อย่างนั้น...
#ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม_อินทสิริ #วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ถอดเทป/เรียบเรียง : นรินทร์ ศรีสุทธิ์
#สมบัติทั้งหลายใดๆนั้นไม่เหมือนสมบัติคือบุญ
อันนี้ติดแนบกับใจของเราไปอยู่โดยสม่ำเสมอ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางคือถึงพระนิพพานเสียเมื่อใด บุญกุศลจึงจะหมดปัญหากับเรา
เช่นเดียวกับเราก้าวจากบันไดขึ้นมา บันไดเป็นความจำเป็นสำหรับเราที่ก้าวขึ้นมาสู่ศาลาหลังนี้หรือหลังใดก็ตาม บ้านใดก็ตาม เมื่อถึงที่หมายแล้วบันไดก็หมดความหมายไป ทางก็หมดความหมายไป เมื่อเราถึงจุดที่หมายแล้ว บุญกุศลก็เป็นเครื่องสนับสนุนหรือส่งคนให้ถึงจุดหมายปลายทางเช่นนั้นเหมือนกัน
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว บุญกุศลนั้นก็หมดปัญหาไปเองเพราะถึงจุดหมายแล้ว ไม่จำเป็นอะไรจะต้องไปเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับเราขึ้นถึงศาลาแล้ว จำเป็นอะไรจะต้องไปกอดบันไดหรือจะไปกอบโกยเอาถนนหนทางมาให้หนักเปล่าๆ เสียเวล่ำเวลา คนทั้งหลายเขาจะว่าบ้าอีก นี่เมื่อถึงจุดที่หมายแล้วก็เป็นเช่นนั้น
หลวงตาพระมหาบัว_ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.