นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 8:40 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: สัจจะ
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 02 ม.ค. 2021 6:30 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
#อานิสงส์ของพรหมจรรย์

"พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายเอา
ลาภสักการะเป็นอานิสงส์ ไม่ได้
หมายเอาสมาธิเป็นอานิสงส์
ไม่ได้หมายเอาญาณทัสสนะ
เป็นอานิสงส์

พระพุทธเจ้าหมายเอาโสดา
ปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกทาคามีมรรค สกทาคามีผล
อนาคามีมรรค อนาคามีผล
อรหัตตมมรรค อรหัตตผล
เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา.. “

#หลวงปู่คำดี_ปภาโส










“พรที่แท้จริง”

...ต่อให้มีใคร
ให้พรมากน้อยเพียงไรก็ตาม
การให้พรนั้น
ไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้
เกิดความสุขความเจริญขึ้นมา

.
ความสุขความเจริญของเรานี้
เกิดจากการกระทำของเรา
คือเราต้อง"คิดดี พูดดี ทำดี"
และละเว้นจากการคิดไม่ดี
พูดไม่ดี ทำไม่ดี

.
เพราะการคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี
จะนำความทุกข์ ความเสียหาย
มาให้กับเรา
ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์
ไม่มีใครอยากจะมีความเสียหายกัน
ก็ต้องละการคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

.
นี่คือ "พรที่แท้จริง" ดังนั้น
เป็นสิ่งที่เราต้องขอกับตัวเรา
และให้กับตัวเราเอง.
.........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 1/1/2561
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี











#ดูเวทนา
การฝึกดูเวทนาเป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน๔ ซึ่งผู้ฝึกสติปัฏฐานแต่ละท่านอาจจะถนัดการฝึกสติปัฏฐานไม่เหมือนกัน เช่นฝึกดูกาย(กายานุปัสสนา) ฝึกดูเวทนา(เวทนานุปัสสนา) ฝึกดูจิต(จิตตานุปัสสนา) หรือธัมมานุปัสสนา ก็แล้วแต่จริตของผู้ฝึกแต่ละท่านจะเลือกฝึกอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน๔ เพื่อเพาะปลูกปัญญาให้เฉลียวฉลาด ใน ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ซึ่งสติปัฏฐาน๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม นี่เป็นที่ตั้งของสติหรือเรียกว่าที่บำรุงสติ เป็นที่บำรุงปัญญา เป็นที่เพาะปลูกสติ เพาะปลูกปัญญาให้มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว เมื่อเรายังมีความโง่(ความไม่รู้ความจริงของสัจธรรม) อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกแก่เรา กายก็กลายเป็นข้าศึก เวทนาก็กลายเป็นข้าศึก จิตก็กลายเป็นข้าศึก ธรรมก็กลายเป็นข้าศึก

เฉพาะอย่างยิ่งเราทุกท่านที่เป็นนักปฏิบัติ โปรดตรวจตรองสติปัฏฐาน๔และอริยสัจ๔ของตนให้รอบคอบ เพราะไม่กว้างยาวลึกซึ้งเลยกายกับใจและความสามารถของผู้สนใจใคร่รู้ไปได้เลย เพราะธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่เลยภูมิของมนุษย์ผู้ประสงค์อยากรู้ด้วยความสนใจไปได้

ว่าด้วยเรื่อง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน๔ ซึ่งมี กาย เวทนา จิต ธรรม

เวทนา หมายถึง ความรู้สึกหรือความเสวยอารมณ์ที่ปรากฏในขณะปฏิบัติทั้งทางกายและจิตใจ เช่น ความรู้สึกสุขสบายหรือทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในทางร่างกายและทางใจ มี๓อย่าง คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ การพิจารณาโปรดแยกเวทนาออกและพิจารณาไปตามลักษณะของเขา แต่อย่าไปคว้าเอากายมาเป็นเวทนา กายให้เป็นกาย เวทนาให้เป็นเวทนา ทำนองเห็นเสือเป็นเสือและเห็นช้างเป็นช้าง แต่อย่าไปคว้าเสือมาเป็นช้าง จะเป็นการอ้างพยานไม่ตรงความจริง เรื่องจะลุกลามและลงเอยไม่ได้ตลอดกาล

คือแยกเวทนาที่แสดงอยู่ในขณะนั้นออกพิจารณา ให้รู้ที่เกิด ที่ตั้งอยู่และที่ดับไป ฐานที่เกิดของเวทนาทั้ง๓ เกิดขึ้นและตั้งอยู่ที่กายและที่ใจ แต่ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจคงเป็นเวทนาอยู่เช่นนั้น ทั้งการเกิดและการดับไปของเขา อย่าทำความเข้าใจว่าเป็นอื่นจะเป็นความเห็นผิด สมุทัย(สาเหตุแห่งทุกข์) จะแสดงตัวออกมาในขณะนั้นจะหาทางแก้ไขและหาทางออกไม่ได้ แทนที่จะพิจารณาให้เป็นปัญญาถอดถอนออกจากทุกข์ สมุทัย เลยกลายเป็นโรงงานผลิตทุกข์และสมุทัยขึ้นมาในขณะนั้น และเป็นการเสริมทุกข์ให้มีกำลังขึ้นมาทันที

ผู้ปฏิบัติจึงทำความรอบคอบต่อเวทนาด้วยปัญญา คือไม่คว้าเวทนามาเป็นตนในขณะทำการพิจารณา เวทนาทั้ง๓จะปรากฏความจริงตามสติปัฏฐานและอริสัจขึ้นมาประจักษ์ใจ แม้เวทนาจะเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆประการใด จะเป็นทางเสริมสติปัญญาของผู้บำเพ็ญได้

ความเศร้าใจ ทุกข์ใจ ท้อใจ หรือความเห่อเหิมเพลิดเพลินในขณะที่เวทนาทั้ง๓ แสดงตัวจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะการทำความเข้าใจกับเวทนาได้ถูกต้อง และทุกๆเวลาที่ผู้บำเพ็ญทำความเห็นกับเวทนาโดยถูกต้อง ชื่อว่าผู้มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานประจำใจ

เวทนา มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เอ้า..จับเอาจุดใดจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดเด่นขึ้นมาพิจารณา จุดไหนที่ว่าเป็น “ทุกข์”เด่นกว่าเพื่อนกำหนดจุดนั้นเป็นต้นเหตุก่อน แล้วก็ซึมซาบไปหมดในบรรดาเวทนาทั้งหลาย เพราะมันเกิดขึ้นที่ไหนมันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต พอพิจารณาเวทนา จิตมันก็วิ่งเข้าหากันทันทีและทำการแยกแยะกัน เพราะสติปัฏฐาน๔ กายานุปัสสนา เวทนา จิตตา และธัมมานุปัสสนาเกี่ยวข้องกันอย่างนี้

“เวทนานอก” หมายถึง “กายเวทนา” ที่เกิดความสุข ความทุกกข์ เฉยๆ มีอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ
“เวทนาใน”หมายถึงทุกขเวทนาภายในใจ สุขเวทนาภายในใจ
“อทุกขมสุขเวทนาภายในใจ” คือไม่ทุกข์ไม่สุข เฉยๆ ก็จัดเป็นเวทนาเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ในจิตของสามัญชนทั่วไป

แม้ภาวนาใจเข้าสู่ความสงบแล้ว ก็มีสุขเวทนาอยู่ด้วยเหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติธรรมจิตใจเรามีความสงบเย็นใจ นี่เป็น “สุขเวทนา” ถ้าจิตไม่รวมสงบลงได้ตามต้องการก็เกิดความ “ทุกขเวนา”ขึ้นมา บางทีเหมอลอยอยู่ภายในใจของผู้ปฏิบัติบ้าง ไม่ใช่เหม่อลอยแบบคนไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย มันเป็นภายในจิตเอง หรือ เฉยๆบ้าง นี้เป็น “อทุกขมสุขเวทนา”เหมือนกัน

ท่านผู้บำเพ็ญถ้าหนักในสติปัฏฐานไม่ถอยหลัง นับวันจะรู้เห็นสิ่งต่างๆที่อัศจรรย์ขึ้นภายในใจเป็นระยะๆไป ถึงกาลอันควรจะได้รับ “ผล”ในธรรมขั้นใดที่เคยรับสนอง “เหตุ”ที่ผู้บำเพ็ญบำเพ็ญโดยถูกต้องแล้ว จำต้องปรากฎผลขึ้นมาเป็นขั้นๆ โดยเป็นพระโสดาบ้าง พระสกิทาคาบ้าง พระอนาคาบ้าง และพระอรหันต์บ้าง โดยไม่ต้องสงสัย

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน










".."สังขาร" แปลว่า
"ความปรุงแต่ง" เราจำเป็น
จะต้องเรียนรู้ในเรื่องของ
สังขารให้รู้แ้จ้งเห็นจริง
และรู้เท่าทันมันด้วย

"สังขารโลก" ได้แก่ ลาภ ยศ
สรรเสริญ​ ความปรุงแต่งอันนี้
เกิดแล้วย่อมเสื่อมไป

"สังขารธรรม" ได้แก่ ตัวเราเอง
คือ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ​
เกิดแล้วก็เสื่อมไปเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นเมื่อเรามีให้รีบใช้
ให้เกิดประโยชน์เสีย
มิฉะนั้นมันจะกลับมาฆ่าเราเอง

"สังขารธรรม" ก็อาศัยความ
ปรุงแต่งส่งอาหารไปเลี้ยง
เช่น ข้าวก็บำรุงธาตุดิน
พริก บำรุงธาตุไฟ​ ขิง ข่า
กระเทียม ไพล บำรุงธาตุลม

สังขารนี้แบ่งออกเป็นสอง
คือ รูปธรรม กับ นามธรรม
ถ้าเราไม่ดัดแปลงแก้ไขมัน
ก็เป็น "ธรรม" อยู่เฉย​ ๆ

ถ้าเราตกแต่งขัดเกลา
มันก็สูงขึ้น ดีขึ้น​
เหมือนก้อนดินที่เรารู้จักใช้
ก็อาจมาทำเป็น
หม้อหุงข้าวต้มแกงได้

สูงขึ้นกว่าหม้อก็ทำเป็น
กระเบื้องสำหรับมุงหลังคา
ถ้าเราเคลือบสีด้วย
ก็ยิ่งมีราคาขึ้นอีก

ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะมีปัญญา
รู้จักดัดแปลง ของนั้นๆ
ก็จะมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม.."

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร









“..ตัวรักษาดีแล้ว ได้ชื่อว่า
เป็นผู้แต่งความสุขให้ตน
นั่นแหละ เรียกว่าตนมีที่พึ่ง
ปัจจุบันก็ไม่มีความเดือดร้อน

แต่งทรัพย์สมบัติให้ตน
สมบัติภายนอกมากมาย
ไม่มีความยากจน
ตบแต่ง "มนุษย์สมบัติ" ให้ตน
ตบแต่ง "สวรรค์สมบัติ" ให้ตน

ตบแต่งเอาเองรักษากาย
วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์
ไม่แตะไม่ต้องสิ่งอันหยาบช้า
เลวทราม

"ศีลห้า" ก็เป็นมนุษย์สมบัติ
เป็นสวรรค์สมบัติ
"ศีลแปด" ก็ดี เป็นมนุษย์
และ สวรรค์สมบัติด้วย

ก็ใครเล่าแต่งเอาให้
ก็เรานั่นแหละแต่งเอาเอง
ใครจะทำให้เราได้
พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้สอน
มันก็แม่นเรานั่นแหละ

ครั้นทำบ่ดีก็แม่นเรา
เพราะเหตุนั้น
ให้รักษาให้มันดี
ที่ไม่ดีอย่าไปทำ

พวกเรานี่มันสับสนปนกันนี่
ทั้งดีทั้งชั่ว มันจึงสุขก็ได้
ทุกข์ก็ได้ เอาอยู่อย่างนั้นแหละ
ได้รับทั้งสุข ได้รับทั้งโทษ
เพราะสับสนปนกัน..”

อนาลโยวาท
หลวงปู่ขาว อนาลโย







"ให้ปีใหม่ มันดีกว่าปีที่แล้วมา
อย่างน้อย ก็ให้มันโลภน้อยกว่า
โกรธน้อยกว่า หลงน้อยกว่า
สรุปแล้วคือ เห็นแก่ตัวน้อยกว่า"

ท่านพุทธทาสภิกขุ








#นี่พุทโธท่านรู้เช่นนี้

พุทโธก็อยู่ที่ใจของเรานี่ ผู้รู้จะเอาอะไรรู้ ก็เอาใจรู้ ธัมโมก็อยู่ที่ใจ ใจรู้ว่าเป็นธรรม ใจเป็นผู้รู้ เป็นปัญญา สังโฆผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหรือปฏิบัติตรงถ้ารู้แล้วปฏิบัติให้รู้ยิ่งเห็นจริงตามเป็นจริงเท่านั้น ใจเป็นผู้รู้จึงเป็นพุทโธได้เราจะไปหาพุทโธ ธัมโม สังโฆได้ที่ไหน จะหาสวรรค์ได้ที่ไหน หาพระนิพพานได้ที่ไหน เราจะกลัวนรกที่ไหน ถ้าเราไม่ทำบาปที่ใจแล้วมันจะตกนรกได้อย่างไร ถ้าใจเราเศร้าหมอง ใจเราทำบาป เกลือกกลั้วหมักดองอยู่ด้วยกิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจก็เศร้าหมอง เมื่อใจเศร้าหมอง ใจก็ตกนรก มักก็เป็นนรกเท่านั้น นี่ไฟกระแสของนรกมันสัมผัสเข้ามา คือ ราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเราไม่ชำระออก ไฟนรกตัวนั้นมันก็เชื่อมอยู่ในจิตของเราตายไปก็ไปสู่ทุคติ ตายไปก็ไปนรกที่เก่านั่นเองเพราะมีเชื้อเก่าดั้งเดิมอยู่แล้ว เราตัดกระแสไฟนรกไม่ได้ท่านให้ตัดอยู่ที่ใจ ใจชื่น ใจชม ใจสงบ ใจดี ใจไม่โศกไม่เศร้า เป็นใจสวรรค์ใจรื่นรมย์ในทานในศีลในภาวนา ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตายไปก็ไปสู่สรรค์ ใจบริสุทธิ์หมดจดใจหาเวรไม่ได้ หาเศร้าหมองไม่ได้ หาความพยาบาทเบียดเบียนไม่ได้เป็นใจที่บริสุทธิ์ หมดจด ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นไม่มีทุกข์ ดังว่า สรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ที่ใจ พระนิพพานอยู่ที่ใจ พุทโธผู้รู้.....มันเป็นอย่างนั้น! เราภาวนาพุทโธ ๆ ถ้าเราไม่รู้สัจจธรรมตามของจริงแล้ว ไม่ชื่อว่าพุทโธได้ได้แต่ชื่อ ต้องรู้สัจจะของจริงเป็นพุทโธ ท่านรู้อย่างไร รู้สัจจธรรมรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นของไม่สะอาดเป็นของไม่สะอาด เป็นของสกปรกโสโครกเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจ ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายของเราเป็นของน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก นี่พุทโธท่านรู้เช่นนี้.....

รู้สัจจะของจริง พุทโธท่านรู้ตามสัจจะของจริงว่าร่างกายเรานี้มันเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเราเขา นี่.....พุทโธท่านรู้อย่างนี้ รู้ว่านี่เป็นสัจจธรรม

- พุทโธท่านรู้ว่า ร่างกายของเรามันเป็นซากศพซากผี ตายลงร่างกายก็ผุพังเน่าเปื่อยลงสู่สภาพเดิมคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่พุทโธท่านรู้อย่างนี้

- พุทโธท่านรู้ว่า สังขาร ร่างกายเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของแห่งตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เราเขาพุทโธท่านรู้อย่างนี้ ท่านจึงละได้ วางได้ รู้แล้ว

- พุทโธท่านรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ นี่คือสัจจธรรม

- พุทโธท่านรู้ว่า นี่คือทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่เป็นทุกข์

- พุทโธท่านรู้ว่า นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหา ความอยากนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดภพอีกนันทิ คือ ความยินดี ราคะ คือ ความกำหนัด ตตฺตรตตฺตราภินนฺทินี คือ ความเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมตามความรักความกำหนัดความยินดีที่มีอยู่เป็นอยู่ ตัณหาเหล่านี้แล เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ความใคร่ความอยากในกามารมณ์ที่มากระทบความทะเยอทะยาน อยากโน่น เป็นนี่ให้ยิ่งขึ้นไป ไม่อยากไม่มีอยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบไม่พอใจ ตัณหาความอยากเหล่านี้แล เป็นเครื่องยั่วยวนจิตใจของเราให้ลุ่มหลง ให้เทียวเกิดเทียวแก่เทียวเจ็บเทียวตายอยู่ไม่สิ้นสุด นี่พุทโธท่านรู้เหตุให้เกิดทุกข์

- พุทโธท่านรู้ธรรมอันทำให้หมดทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้สิ้นไปให้หมดไป ท่านรู้ว่าต้องทำตัณหาความอยากนี่ให้หมดไป ดับตัณหาความอยากนี้ไม่ให้เหลือทีเดียว ละวางปล่อยสละสลัดตัดจากตัณหาคือความอยากนี่แล คือตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจของเรา ทุกข์จึงจะดับ นี่คือพุทโธท่านรู้ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ พึงเข้าใจ

- พุทโธท่านรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ท่านรู้ว่า คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เองเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ธรรมอื่นที่จะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ย่อมไม่มี นอกจากศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ท่านรู้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญานี่แลซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ฉะนั้น ท่านจึงว่าสิ่งที่ควรศึกษามี 3 คือ หนึ่ง ศีล สอง สมาธิ และสามปัญญาศีลสิกขา ศีลเป็นสิ่งที่ควรศึกษา สมาธิสิกขา สมาธิคือการตั้งใจมั่นเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ปัญญาสิกขา ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารเป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ คือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาแล้วมันก็ไม่รู้ว่านี่ทุกข์นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ธรรมอันเป็นข้อดับทุกข์เท่านั้น ที่จะรู้ว่านี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมเป็นข้อดับทุกข์ ก็เพราะศีล สมาธิ ปัญญานั้น พึงเข้าใจ

#หลวงปู่จวน #กุลเชฏโฐอิ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 101 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO