...ไม่ได้หมายความว่า การเจริญสติ..จะต้องรอเวลา รอสถานที่สงบสงัด
.เพราะบางที เรายังมีความผูกพันกับสังคม กับการทำงานทำการอยู่ “ก็ต้องพยายามปฏิบัติ ในสภาพที่เราอยู่นั้นไปก่อน”
.ถึงแม้จะไม่ได้เต็ม ๑๐๐ ได้เพียง ๑๐ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย “รักษาสติได้บ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้รักษาเลย”
. ให้คิดว่าขณะที่เดินไปไหนมาไหน เป็นการเดินจงกรม ขณะที่นั่งรออะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องอะไร ก็ให้คิดว่า..กำลังนั่งสวดมนต์ กำลังนั่งทำสมาธิ บริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ
.พอกลับถึงบ้าน อาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก่อนจะนอนก็...นั่งสมาธิ “จิตก็จะสงบง่าย “ พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็นั่งได้อีก
.แต่ต้องตัดเรื่องอย่างอื่นไป ถ้าไม่ตัดจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน เช่นตัดพวกละครไป เสร็จจากงาน กลับบ้าน กินข้าว อาบน้ำเสร็จก็..นอนเลย
.พอแล้วสำหรับเรื่องบันเทิงต่างๆ “เป็นของปลอมทั้งนั้น”. .................................... จุลธรรมนำใจ 8 กัณฑ์ 299 ธรรมะบนเขา 25/3/2550 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
"คำว่าฉลาดนี้ มันฉลาดแก้ตัวเอง"
เพราะความโง่ อยู่กับเรา ความฉลาด ก็เกิดขึ้นกับเรานี้ แล้วแก้ ความโง่ของเราเอง
ความโง่นั้น เป็นฝ่ายสมุทัยในสัจธรรมทั้ง ๔ ความโง่เป็นฝ่ายสมุทัยผลิตทุกข์ขึ้นมา ให้เกิดความเดือดร้อนแก่เรา
ความคิดนั้นแหละ เป็น"สมุทัย" ความคิดความปรุง สัญญาความมั่นหมายต่างๆ สังขารประเภทหนึ่งเป็นสังขารฝ่ายแก้ อุบายวิธีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ความโง่อันนั้น ท่านเรียกว่ามรรค ก็เป็นสังขารเหมือนกัน แต่เป็นสังขารฝ่ายมรรค เมื่อมีมาก มันก็มีกำลังมาก แก้ไปได้โดยลำดับๆ
การเจริญมรรค เจริญที่ไหน ก็เจริญที่ใจ สัจธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน..มรรค แก้ไปได้ที่ไหน นิโรธคือความดับทุกข์ มันเป็นผลพลอยได้จากมรรคที่เป็นผู้ดับทุกข์ แก้ทุกข์ นี้ต่างหาก ไม่ใช่นิโรธ จะทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับมรรคเลย
ความจริงก็เหมือนกับความอิ่มนั่นแหละ ความอิ่มมันทำหน้าที่อะไร การกินต่างหากเป็นผู้ทำหน้าที่ กินลงไปมากน้อย ความอิ่มก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอิ่มเต็มที่ เพราะการกินเป็นสำคัญ
การแก้กิเลส เป็นการทำงาน กิเลสดับไปเพราะการแก้ได้ ท่านก็ให้ชื่อว่านิโรธ ความจริงเป็นธรรมชาติที่สืบเนื่องมาจากมรรคเป็นผู้ทำขึ้นมา
ไม่ใช่ว่านิโรธจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างหนึ่งโดยไม่เกี่ยวข้องกับมรรค มรรคทำหน้าที่อันหนึ่งต่างหาก เป็นคนละชิ้นละอันอย่างนั้น มันเป็นความเกี่ยวเนื่องกันในสัจธรรมทั้ง ๔ ถ้าพูดตามความจริงของผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น มันเกี่ยวโยงกันไปหมด
เช่น ทุกข์ให้พึงกำหนดรู้ ท่านบอก ทำไมจะไม่รู้ เราไม่ใช่คนตาย ทุกข์เกิดขึ้นทางกายหรือทางใจ มันก็รู้ด้วยกันทุกคน
อุบายวิธีการที่ท่านสอน ท่านก็บอกไว้อย่างนั้น สมุทัยให้พึงแก้ พึงละ พึงถอน พึงระงับดับมัน ด้วยมรรค
"มรรค" พึงเจริญ คำว่าเจริญ ก็คือเจริญความพากเพียรเพื่อจะให้สติปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง
เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้น มากน้อยก็เพื่อจะแก้กิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น แก้กิเลสได้มากน้อยเพียงไรทุกข์ก็ดับไปๆ เพราะอำนาจของการแก้กิเลส
ไม่ใช่ทุกข์ จะไปทำหน้าที่ของตัวโดยลำพัง ซึ่งไม่ต้องอาศัยมรรคเลยอย่างนั้นไม่ได้ มันเกี่ยวโยงกันอย่างนี้
แต่พระพุทธเจ้า เป็นพุทธวิสัยต้องแยกแยะให้เห็นทุกแง่ทุกมุม ทีนี้เราไม่เข้าใจ ก็เลยไปกระจายกันออก
เป็นเหมือนกับแบบแปลนแผนผังของบ้านของเรือน ทุกข์ต้องทำหน้าที่กำหนดทุกข์ แล้วจึงจะไปละสมุทัย จึงไปเจริญมรรค จะไปทำนิโรธให้แจ้ง เป็นคนละภาค เป็นคนละอย่างไปเสีย วันยังค่ำตลอดตายก็ไม่เห็นเหตุเห็นผลอะไรจากการบำเพ็ญการปฏิบัติแบบนี้เลย
เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน พอทุกข์เกิดขึ้นมันมีสาเหตุเป็นมาอย่างไร มันถึงทุกข์ นั่น คำว่ามันมีสาเหตุมาอย่างไรมันถึงทุกข์ นี้เป็นเรื่องของมรรคแล้ว ได้แก่ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญแล้ว อ๋อ มันทุกข์เพราะสัญญาอารมณ์แบบนั้นๆ ชนิดนั้น มันมีความกังวลกับสิ่งนั้นๆ วันนี้มันถึงได้ก่อทุกข์ขึ้นมา
แล้วพิจารณาเรื่องอารมณ์ ที่มันไปเกี่ยวเกาะ ไปก่อขึ้นมานั้นให้เป็นที่เข้าใจ แล้วมันก็ระงับดับลงไป ด้วยอำนาจปัญญา
การดับลงไปนั้น ท่านก็ให้ชื่อว่านิโรธ "นิโรธ"ไม่ได้ไปทำหน้าที่อะไรแหละ ความจริงเป็นอย่างนั้น
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กับครั้งพุทธกาลนั้น อะไรมันผิดแปลกกัน มันมีอยู่ที่ไหน มันมีอยู่กับทุกคน สมัยโน้นก็กิเลสประเภทเดียวกันนี้แหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา อันเดียวกัน และอยู่ในจิตใจของคนและสัตว์อันเดียวกันอีก วิธีแก้เราจะเอาอย่างไหนมาแก้ ถ้าไม่เอาแบบที่เคยแก้ได้ ดังพระพุทธเจ้าทรงแก้มาแล้ว มาแก้
อย่างอื่นไม่ได้ ไม่มีใครที่จะรู้และประกาศศาสนธรรมให้เหมาะสมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า อันใดที่ควรที่จะลัดตัดตอน พระพุทธเจ้าตัดทอนหรือตัดตอนออกไปโดยลำดับๆ อันไหนที่ควรจะคงไว้ให้คงเส้นคงวา เพราะเป็นความเหมาะสมแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดเป็นจอมปราชญ์ก็ต้องทำอย่างนั้น
เราจะไปดัดแปลงแก้ไข ให้เป็นทางลัดทางนั้นทางนี้ อย่างหาอุบายพูดกันยุ่งๆ เหยิงๆ วุ่นวายไปนั้น มันล้วนแล้วตั้งแต่เป็นการประกาศความโง่ของตัวเองให้เด่นขึ้นเท่านั้น
สมาธิไม่จำเป็น เดินปัญญาเลย อย่างนี้ก็มี สมาธิมันครึมันล้าสมัยเอาปัญญาเลย ฟาดมันลงไปเลย "ปัญญา" มันก็สัญญานั่นแหละ มาพูดเฉยๆ ไม่ได้คำนึงถึงการปฏิบัติ ไม่ได้พูดขึ้นมาจากความรู้ พูดขึ้นมาจากสัญญาอารมณ์ มันก็หลอกไปวันยังค่ำ
สอนคนอื่น ก็สอนแบบหลอกโดยไม่มีเจตนาก็ตาม มันก็หลอกอยู่นั่นแหละ มันไม่จริง ท่านสอนยังไงเป็นความถูกต้องดีงามทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่า "สวากขาตธรรม" การปฏิบัติ.. จึงควรปฏิบัติตามนั้น
พระธรรมเทศนา พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ "ที่ฆ่ากิเลส"
#การขอโทษขออภัย_คือน้ำดับไฟ.. "
"ความเมตตาสงสาร ความให้อภัยกันนี่ สำคัญมากนะ.. การให้อภัยกันอย่าถือสี ถือสากันอย่างง่ายดาย.. อย่าหาช่องหาทาง หาเรื่องความผิดใส่คนอื่นเพื่อความสุขแก่ตนเอง ไม่สมควรอย่างยิ่ง นี่ข้อหนึ่ง..!!
แล้วการขอโทษกัน คำขอโทษนี่เป็นคำ ที่มีคุณค่ามากที่สุด ไม่ใช่เป็นคำเล็กน้อย ผิดพลาดประการใดก็รีบขอโทษกันให้ อภัยกัน ผู้ให้อภัยก็ไม่ใจจืดใจจาง ยอมรับ ผู้ขอขมาโทษ อันนี้โลกอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก
การขอโทษกันนี้เป็นคำที่เป็นมหามงคล อย่างยิ่ง เป็นคำที่มีคุณค่าอันสูงสุดทีเดียว ให้นำออกปฏิบัติทุกคน... อย่าถือเนื้อถือตัว อย่าเย่อหยิ่งจองหอง เจ้าของผิดแล้วไม่ยอมรับว่าผิด แล้วพองตัวขึ้นไปอีกสองชั้นสามชั้น สุดท้ายก็ มาฆ่าตัวตายนั่นแหละ ฆ่าตัวเราเอง ข้าศึกนั่นแหละ มาฆ่าเรา เพราะไม่ลง
เขาก็หัวใจเราก็หัวใจ ต่างคนต่างดิ้นดีดใส่กันผึงนี้ก็เสร็จเลย เมื่อขออภัยซึ่งกันและกัน ขอโทษซึ่งกันและกันแล้วเป็นน้ำดับไฟ ไฟ จะแสดงเปลวขึ้นมา น้ำสาดลงไปปั๊บนี่ดับ ปุ๊บเลย... "
#โอวาทธรรมคำสอน #หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
#ลูกอยากแต่งหน้าเข้าสังคมค่ะ..!!
#โยม หลวงปู่เจ้าขา ในพรรษานี้ลูกอยาก มาถือศีลแปดทุกวันพระ ติดที่ว่าลูกต้องไปทำงานทุกวัน มาถือศีลไม่ได้เจ้าค่ะควรทำอย่างไรเจ้าค่ะ
#หลวงปู่ ศีลของคุณอยู่ไหนหล่ะ ถ้าคุณถือศีลที่วัดคุณก็ไม่ต้องมา ถ้าคุณถือศีลที่ใจปฏิบัติส่วนตัวเองคุณก็มาถือสิ
#โยม ศีลโยมถือที่ใจเจ้าค่ะ
#หลวงปู่ เออ คุณถือที่ใจ ใครๆก็ถือที่ใจ ถ้าคุณถือศีลที่วัดคุณก็ต้องอยู่วัด ถ้าคุณถือศีลที่ใจจะไปไหนๆคุณก็ไม่ต้องห่วง จะ ไม่มีศีล มันเป็นเรื่องของใครของมัน เป็น กิจภายในเราจะต้องห่วงอะไร คุณก็เอา ศีลไปทำงานด้วยสิ
#โยม แต่ถ้าโยมถือศีลแปดแล้วไปทำงาน โยมก็แต่งตัว ทาแป้ง ทาลิปไม่ได้นี่สิเจ้าค่ะ
#หลวงปู่ บ่ะ ไหนคุณว่าคุณถือศีลที่ใจเด้ คุณเอ้ย ศีล๕ ศีล๘ ศีล ๒๗๗ ศีล๓๑๑ ศีลแปดโกฏิสี่กือ ไม่มีดอก ศีลมีข้อเดียว คือข้อใจข้อเจตนา ศาสนานี้เอาเจตนาเป็นใหญ่ ส่วนจำนวนพวกนั้นเป็นชื่อของความเลว เป็นชื่อของความชั่ว พระพุทธเจ้าเอาเจตนาเป็นใหญ่ ถ้าเจตนาอย่างไรผลก็ไปตามนั้น เจตนาเป็นตัวชี้กรรมชี้วิบาก คุณเอ้ยคนมีธรรมคือคนเข้าใจธรรมชาติ คนที่ผิดธรรมชาติ กระทำ ผิดธรรมชาติอันนั้นไม่เรียกว่าธรรม ทาโลด ทาลิป ทาแป้งนั้นทาโลด คุณทาเพื่อเข้าสังคมทำตัวให้เป็นปกติในสังคม วันดีคืนดี มาเข้าวัดจำศีลไปทำงาน หน้าดำปากขาว ปานผีหลอก คนเห็นเข้าจะว่าคุณบ้า เขาจะว่าผีหลอก เขาจะตำหนิว่าคนเข้าวัดบ้าๆบอๆ ให้ฉลาดนะ คนปฏิบัติธรรมให้ฉลาดนะ เราแต่งหน้าถือ ศีลแปด เรารู้ว่าเราแต่งตัวเพื่อไม่แปลกสังคม ไม่ได้ทาเพื่อยึดเพื่อติด เพื่อสวยเพื่องาม เอาใจเอาเจตนาเป็นสำคัญนะ ทำใจแบบนี้ คุณจะถือศีลแปดไปทำงานได้หรือไม่หล่ะ
#โยม รักษาศีลแปดก็ไปทำงานได้เจ้าค่ะ
#หลวงปู่ เออ คนมีธรรมอย่าโง่นะ อย่าแปลกสังคมธรรมมะคืออยู่กับสังคมไม่แปลกสังคม เข้าใจนะ
#โอวาทธรรมหลวงปู่หา_สุภโร
มันไม่ได้ปฏิบัติ ท่านผู้ปฏิบัติท่านมีอยู่
"..ศาสนาจนจะไม่มีเหลือเวลานี้ มีแต่กองทัพกิเลสมาเหยียบ ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลก นิพพานไม่มี มีแต่พวกตาบอดหูหนวกของกิเลสนั้นละมันมาตี มันไม่ได้ปฏิบัติเข้าใจไหม..
นี่เราปฏิบัติ เอาให้เห็นนะ ธรรมพระพุทธเจ้าประกาศก้องตลอดเวลา อกาลิโก ๆ เอ้าทำเถอะ เรื่องความดีเอ้า ทำลงไป ไม่มีใครมาเป็นใหญ่ยิ่งกว่าการกระทำของตัวเองทั้งดีทั้งชั่ว ความชั่วเราทำลงไปแล้วไม่มีใครเป็นใหญ่มาลบล้างความชั่วได้นะ ต้องเจ้าของเองเป็นผู้รับเคราะห์ นี้ทำความดีไม่มีใครลบล้างความดีของเราได้ เราต้องเป็นผู้รับผลดีตลอดไป.."
โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
"การภาวนา คือวิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตน ว่าควร แก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง ใช้ความพิจารณา อยู่ทำนองนี้เรื่อยๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบทต่างๆ บ้าง ใจจะ สงบเย็นไม่ลำพองผยองตัว และไม่เอาความทุกข์มาเผาลนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณ ในหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่างๆ คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมายไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้... "
#โอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต #หนังสือขันธะวิมุติสะมังคีธรรมหน้า_๓๖
"คนที่มีพระอยู่ในใจ กราบที่ไหนก็ถูกพระ แต่คนที่ไม่มีธรรมะ ถึงแม้จะกราบที่ตักพระ ยังไม่ถูกพระเลย "
หลวงปู่หา สุภโร
"ใจนี้เองเป็นตัวอันธพาล แต่มันไปวาดภาพว่า คนนั้นเป็นอันธพาลต่อเรา คนนี้เป็นอันธพาลต่อเรา ตัวเราเป็นอันธพาลใหญ่ไม่ดูตัวเอง พอย้อนจิต เข้ามาดูนี้แล้ว อันธพาลนี้ดับปุ๊บ นอกนั้นไม่มี คือ ใจนี้เองเป็นตัวอันธพาล ให้พากันจำเอา ดูแต่ภายนอกไม่ดูตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้ดูตัวเอง"
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"เม็ดทรายมีนับไม่ถ้วน จึงไม่มีค่า เพชร มีน้อยและได้มาโดยอยาก จึงมีค่ามาก
ชีวิตมนุษย์เหมือนเพชร ไม่ใช่ทราย อย่าพึงประมาทเวลาที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ เหมือนแต่ละวินาทีเป็นแค่เม็ดทราย
ทุกวินาทีของชีวิตมนุษย์ ควรถือว่ามีค่ามากเหมือนเพชร"
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
" ท่อง "พุทโธ" หายใจ เข้าออก ๒๐ ครั้ง ทำทุกวัน ก่อนนอน ให้จิตมีสติ
พอมีสติแน่วแน่ ก็จะเป็น “สมาธิ” พอเป็นสมาธิ แน่วมากๆ จิตก็มีพลัง
จิตเป็นสมาธิ ก็เป็นประโยชน์กับเราแล้ว ไม่ว่าจะทำงาน ทำการเรียน ก็จดจำได้ดี มีสติตลอด "
โอวาทธรรม หลวงตาสมหมาย อัตตมโน
" เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เพราะบุญวาสนาที่ได้ทำมา แต่ชีวิตของคนเรานั้น มันไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับ ผลบุญผลกรรมที่เราเองได้ทำไว้
ดังนั้นอย่าประมาท ให้มีสติ สำรวมระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ บุญกุศลที่เรามีอยู่ ต้องเสื่อม ถอยลงไป ให้หมั่นสร้างบุญ กุศลของเรา ให้เจริญก้าวหน้า ยิ่งๆขึ้นไป จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต "
โอวาทธรรม หลวงปู่อว้าน เขมโก
อย่าประมาทเกินไป
"เราทั้งหลาย อย่าเมาเกินไป อย่าลืมเพลิดเพลินจิตจนลืมสาระของใจ แต่ละชาติเกิดมา เข้าใจว่าโลกนี้เป็นของใหม่ เพราะปัญญาไม่พอ
#โลกนี้ที่แท้_ก็เป็นของเก่าในวัฏฏะ
เกิดตาย หลงใหลในของเก่า ให้ตั้งใจให้ดี อย่ามัวเมาประมาทเกินไป"
... หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ
#การหยุดที่มีคุณค่ามาก
การที่เราปลีกตัวออกจากความยุ่งเหยิงในชีวิตประจำวันมาอยู่กับจิตใจของตัวเองทุกวันๆ คือการหยุดที่มีคุณค่ามาก เพราะทำหน้าที่เป็นเครื่องถ่วงดุลย์การเคลื่อนไหวในชีวิต ยิ่งกว่านั้น การหยุดทำให้เราได้ดูตัวเอง
ต้องเห็นตัวเองเพื่ออะไร ก็เพื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อให้รู้ว่าเราควรทำอะไร อย่างไร โดยวิธีใด ถ้าเราไม่ยอมหยุด เราก็ไม่ได้ดู ไม่ได้ดูก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาแล้วเราก็จะให้ความสำคัญกับความรู้สึก กับความชอบไม่ชอบมากเกินไป ความอยากได้อยากมีอยากเป็น ไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ก็ครอบงำจิตใจได้ง่าย ท่านจึงสอนให้เรารู้จักหยุดเสียบ้าง
#พระอาจารย์ชยสาโร
|