พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 15 ม.ค. 2021 8:42 am
#ทำบาปนั้นง่ายเหมือนกลิ้งครกลงภูเขา
เมื่อเราเป็นชาวพุทธแล้ว เราก็จะต้องรู้จักว่านี่คือ “บาป” อย่างนี้คือ “บุญ” บาปเราละ บุญเราทำอย่างนี้เป็นต้น แล้วทีนี้ในการที่เรายังเกิดเป็นมนุษย์อยู่นี้เราก็มีหนทางที่เราจะต้องไปที่สะดวกหรือที่ต้องสบาย ก็คือ ชั้นสวรรค์ นอกจากมนุษย์คือไปชั้นสวรรค์ก็ยังได้รับความสบาย นี่ถ้าหากว่าเลยจากมนุษย์แล้วไปได้ตกนรกหรือเป็นสัตว์เดรัจฉานอะไรเหล่านี้ อันนี้ไม่สบายแล้ว
แม้ว่าไม่สบายแต่ว่าเราได้ทำบาปไปแล้วเราก็ต้องไปตามยถากรรม ไม่ว่าผู้ที่จะปฏิบัติยังไงก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าจิตใจมันเศร้าหมอง เมื่อเศร้าหมองแล้วมันก็ไปเกิดในอบายภูมิได้ทุกเมื่อ ด้วยเหตุดังกล่าว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะพวกเราว่า อย่าประมาทนะ อย่าไปคิดว่าเราได้ชีวิตมานี้มันเป็นของง่ายเกินไป มันไม่ใช่เป็นของง่าย เราอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์มาแล้วไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชาติแล้วเราก็มาเกิดเป็นมนุษย์ มาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือว่า อย่าให้จิตวิญญาณของเราดวงนี้ต้องไปเสวยทุกข์ด้วยการทำบาปก็แล้วกัน
ถ้าเรามีสติมีปัญญาอยู่เราก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้จิตดวงนี้ต้องไปเป็นผู้ที่สร้างบาปให้เกิดขึ้น การสร้างบาปนั้นท่านเปรียบเหมือนกับการกลิ้งครกลงภูเขา มันง่ายโพด ไม่ต้องไปออกแรงอะไรเลย ครกมันก็ลงไปเองมัน ท่านเปรียบเหมือนกับคนทำบาป มันไม่มีอะไรทัดทาน แต่คนทำบุญแล้วนี่มันก็ต้องมีสิ่งทัดทาน มีสิ่งนั้นขัดข้องบ้าง สิ่งนี้ขัดข้องบ้างเรียกว่า “มารผจญ” แต่เราก็พยายามที่จะก้าวล่วงมารนี้ให้ได้ เราก็จะได้เป็นผู้ที่ละบาปแล้วก็บำเพ็ญบุญ
นี่ไม่ได้มีอะไรเลยมากเลยในพระพุทธศาสนา เรารู้จักว่าเราละบาปแล้วเราบำเพ็ญบุญเท่านี้ ก็ถือว่าจิตดวงนี้ก็จะไม่ต้องลำบากต่อไป
#พระอาจารย์วิริยังค์_สิรินฺธโร
#วัดธรรมมงคล_เถาบุญญนนท์วิหาร
ถอดความจาก ธรรมรุ่งอรุณ วันที่ ๘ ม.ค. ๕๗
#หัวข้อทำอย่างไรจิตดวงนี้_ไม่ต้องลำบากอีกต่อไป
...คำถาม: ถ้าภาวนาแล้วจิตสงบ จะทำอย่างไรให้มีหลักใจเจ้าคะ
...พระอาจารย์: ก็ให้มันสงบนานๆ บ่อยๆ
จนกระทั่งสามารถสั่งให้มันสงบได้
ความสงบนี้แหละคือหลักใจ
“ถ้าสงบใจมันก็ไม่วุ่นวาย”
ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดีหรือชั่วเกิดขึ้น
มันก็จะสงบ มันก็จะเฉยได้
.แต่ถ้าใจไม่สงบ
เวลาดีก็ดีใจ เวลาไม่ดีก็เสียใจ
ดังนั้นพยายามทำใจให้สงบมากๆ
บ่อยๆ นานๆ ต่อไปเราจะได้
ควบคุมใจให้อยู่เฉยๆ ได้
ไม่ให้ไปตื่นเต้นตกใจ หวาดเสียว หวาดกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้.
........................................
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวราราม ฯ ชลบุรี
ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือ ศีล5 และกุศลกรรมบท10 จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะอันตรายชีวิตทั้งภายในภายนอกมีมากต่างๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง
เหตุนั้นเราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เลย
หลวงปู่เสาร์ กันฺตสีโล
" ผู้ป่วยควรที่จะยกร่างกาย
ของตนที่ป่วยนั้น ให้แพทย์
เป็นผู้ออกความคิดความเห็น
ให้อิสระแก่นายแพทย์
เรื่องตายและเรื่องหาย
เป็นเรื่องของนายแพทย์
ผู้ป่วยไม่ควรกังวล
เรามีหน้าที่อยู่อย่างเดียว
คือ รักษาใจของเรา
ทำใจของเราให้เป็นอิสระ
ขึ้นในตัว น้อมนึกไปใน
อารมณ์ที่ดีที่ชอบ
เพื่อสร้างดวงจิตให้เข้มแข็ง
นายแพทย์ "รักษากาย"
คนป่วย "รักษาใจ"
ถึงแม้จะตายไปก็ไม่เสียที
ยังมีความดีติดตนไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้
มียาทั้งสองขนาดประจำตน
คือ "เภสัชกรรม"
เป็นเรื่องของนายแพทย์
"ธรรมโอสถ"
เป็นเรื่องของผู้ป่วย
จะได้ช่วยกันพยุงบำรุงขึ้น
ซึ่งความเป็นอยู่ของตน.."
โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
"..คนใดประมาท มัวเมา
ไม่ได้นึกถึง
ความ "เกิด" เป็นทุกข์
ความ "แก่" เป็นทุกข์
ความ "เจ็บไข้" เป็นทุกข์
ความ "ตาย" เป็นทุกข์
จิตใจจะเศร้าหมองขุ่นมัว
ว้าวุ่นไปหมด
ฉะนั้น จงนึกจงเจริญ
อยู่เสมอว่า ชีวิตนั้นน้อย
นิดเดียว ไม่ใช่มากมาย
ประก่ารใด ชีวิตจริงก็อยู่แค่
"ลมหายใจเข้าออก" แค่นี้เอง.."
โอวาทธรรม
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
#ฤกษ์ยาม. มันไม่ได้ทำให้เราดี. มันขึ้นอยู่กับ. เราประพฤติดี. ต่างหาก. คนที่ถือพุทธจริงๆ. ไม่ได้ถือฤกษ์ยาม.
#หลวงปู่สมชาย #ฐิตวิริโย
#การเพ่งที่กายลงแห่งเดียวตลอดทุกอิริยาบถตามหนังสือมุตโตทัยก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว
เพราะมีสติอยู่กับกาย ตรงกับคำที่พระมหากัสสปะกล่าว และท่านก็สมาทานว่าเราจะพิจารณากายเป็นอารมณ์ ทั้งกายนอกและกายใน กายใกล้ให้เป็นสักแต่ว่าดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะรวมหรือไม่รวมก็เอากายเป็นตัวประกัน
เมื่อมันยังไม่หน่ายไม่คลายกำหนัดตราบใด ก็จำเป็นจะได้รื้อกายให้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก พร้อมทั้งมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นสารพัดโรคจิปาถะ
-พระพุทธศาสนาจึงยืนยันว่ากายนี้มีทุกข์มากมีโทษมาก-
เหล่าอาพาธต่างๆ ย่อมตั้งอยู่ในกายนี้ โรคในตา โรคในหู โรคในลิ้นโรคในฟัน โรคในจมูก โรคในปาก ทวารหนักทวารเบา โรคกลากเกลื้อน ฝีทุกชนิด เหล่านี้เป็นต้น
-การพิจารณาอย่างนี้เป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันด้วย-
คนเราถ้ารู้เท่าทันกายแล้ว การหลงหนังหุ้มก็จะเบาลง และเป็นธรรมดาอยู่เองที่มีอารมณ์ต่างๆ มากระทบจิต สิ่งที่มากระทบจิตย่อมเป็นยาวิเศษ เป็นเหตุให้ละอาการมากระทบ ผู้ที่ราคะโทสะไม่กระทบจิตนั้น เป็นญายะปฏิปันโน คือพระอนาคามีนั่นเอง
-เราก็ต้องพิจารณากายและใจให้ลงสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา-
กลมกลืนกันอยู่ในตัว ขณะเดียวพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ หรือพร้อมกับกรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้า
กรรมฐานที่ทรงอยู่ซึ่งหน้าซึ่งเป็นเป้าเดิมนั้น ที่เราตั้งไว้เฉพาะปัจจุบัน ซึ่งมีสติปัญญาสมดุลกันอยู่ขณะเดียว ไม่ได้ส่งส่ายหนีจากเป้าเดิม
เป้าเดิมคืออะไรเล่า คือกายและใจที่กลมกลืนกันอันเราตั้งไว้ และที่ไม่สงสัยในคำสอนและข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์นั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว...
#หลวงปู่หล้า #เขมปัตโต
#นิวรณ์5
นิวรณ์ 5 คือ ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นข้าศึกแก่สมาธิ มี 5 อย่างคือ
1. - กามฉันท์
คือ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มีรูป หรือความพอใจในกาม
2. - พยาบาท
คือ การปองร้ายผู้อื่น
3. -ถีนมิทธะ
คือ ความง่วงเหงาหาวนอน จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
4. - อุทธัจจกุกกุจจะ
คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
5. - วิจิกิจฉา
คือ ความลังเลสงสัย
-นิวรณ์นั้นเป็นข้าศึกแก่สมาธิ-
เวลามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี เวลามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี เหมือนมืดกับสว่าง เวลามืดสว่างไม่มี เวลาสว่างมืดก็หายไป จะนำมารวมกันไม่ได้
-นิวรณ์เกิดจากสัญญา (ความจำได้หมายรู้) และจากสังขาร (ความปรุงแต่งทางจิตบางอย่างเข้ามายั่วยวนให้เกิดนิวรณ์)-
นิวรณ์เกิดขึ้นที่จิตเพียงแห่งเดียว แต่มีผลต่อแห่งอื่นๆ สาเหตุที่เกิดนิวรณ์ เช่น คนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเลือกดูแต่รูปที่ดี จะต้องคิดนึกถึงรูปปานกลาง และรูปเลวด้วย คือ ต้องนึกถึงไตรลักษณ์เป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง
-ถ้าจะให้จิตอยู่ในอารมณ์พระนิพพานอยู่เสมอ-
เมื่อเห็นอะไรก็ต้องพิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แม้เกี่ยวกับการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน
-การเพ่งสมาธิวิปัสสนา-
ให้เพ่งพระพุทธรูป (พุทธานุสสติ), กายาคตาสติ อสุภะดีที่สุด เมื่อเพ่งจนเกิดสมาธิแล้ว ก็พิจารณาไปสู่พระไตรลักษณ์
หรืออีกวิธีคือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งปวง อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่พระอริยเจ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์
-การยินดีในสุภนิมิตเช่นนี้ เรียกว่า กามฉันท์-
ผู้มีกามฉันท์นี้ควรเจริญกายาคตาสติ พิจารณาเห็นร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล
พยาบาทเกิดขึ้น เพราะความคับแค้นใจ ผู้มีพยาบาทชอบโกรธเกลียดผู้อื่นอยู่เสมอๆ ควรเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา คิดให้เกิดความรัก เมตตาสงสารผู้อื่น
-ผู้มีความเกียจคร้านท้อแท้อยู่ในใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน-
เรียกว่าถูกถีนมิทธะครอบงำ ควรเจริญอนุสสติกัมมัฎฐาน พิจารณาความดีของตนและผู้อื่น เพื่อจะได้มีความอุตสาหะทำงาน แก้ความท้อแท้ใจเสียได้
-ความฟุ้งซ่าน รำคาญ เกิดจากการที่จิตไม่สงบ-
ควรเพ่งกสิณให้ใจผูกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือเจริญกัมมัฏฐานให้ใจสังเวช เช่น มรณสติ
-ความลังเลไม่ตกลงได้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน-
ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
ธรรมทั้ง 5 ประการนี้เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมจะเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้ผู้นั้นบรรลุความดีหรือสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ฉะนั้น ผู้หวังความสำเร็จในชีวิตควรเว้นจากนิวรณ์ 5 ประการนี้
#พระอาจารย์ชา #สุภัทโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
มุสาวาทไม่ใช่เรื่องเล็ก
พระพุทธเจ้าถึงขนาดบอกว่า
ท่านพิจารณาดูแล้ว
คนที่พูดเท็จได้เนี่ย
ที่จะไม่ทำกรรมชั่วอย่างอื่น ไม่มีหรอก
เริ่มต้นก็คือมุสาวาทก่อน
แล้วค่อยไปทำกรรมชั่วอื่นๆ ได้
เพราะไม่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว
คราวนี้ ทำชั่วอย่างอื่นก็ทำได้
งั้นท่านย้ำนะ ตัวนี้ พวกเรา
สังคมของเรายุคนี้
เป็นสังคมมุสาวาทแล้ว
พูดความจริง พูดเพื่อความสามัคคี
ไม่ใช่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน
พูดความจริง พูดให้สามัคคีกัน
พูดกันอย่างมีเหตุมีผล
ไม่ใช้อารมณ์หยาบคายใส่กัน
พูดตามความจำเป็น
เนี่ยฝึกตัวเราเอง
ถ้าเราทำ 4 ข้อนี้ได้
ใจเราจะสงบมากขึ้นนะ เยอะเลย
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
"เมื่อรู้เท่าทันว่าคนอื่น หรืออีกฝ่ายหนึ่ง
เขาขุ่นเคืองขึ้นมา แล้วเรามีสติระงับใจไว้เสีย
ไม่เคืองตอบ จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ทำประโยชน์
ให้แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ช่วยไว้ทั้งเขา และทั้งตัวเรา"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
"ความดี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำทุกวัน
เหมือนกับลมหายใจเข้าออก ที่จำเป็นจะต้องหายใจ
เช่น กราบพระทุกวัน สวดมนต์ทุกวัน สิ่งนี้จำเป็น
เหมือนกับลมหายใจ ถ้าเราไม่หายใจ เราก็ตาย
ถ้าเราไม่ทำความดี เราก็ตายจากวัด"
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.