Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ภูมิแห่งวิปัสสนา

พฤหัสฯ. 18 ก.พ. 2021 4:20 am

#ศาสนา

หมายถึง ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ รวมถึงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน นั่นแหล่ะคือ "แก่นของศาสนา"

โอวาทธรรมเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

คัดลอกมาจากหนังสือเกสรธรรม (ปกหลังสุด)

#หลวงพ่อกัณหา_สุขกาโม











"ใจ" นี้แหละเป็นผู้สร้างปัญหา
ไปหลงอารมณ์ว่าเป็นตัวเป็นตน เลยถูกอารมณ์ผูกรัดเอาไว้
"ใจ" จึงว้าวุ่นหาความสงบในชีวิตไม่ได้
ผู้มีปัญญาท่านจึงศึกษาอารมณ์ เพื่อแก้จิตแก้ใจไม่ติดข้องกับมัน
เห็นอารมณ์ก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน
เป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น
สุขเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้
จิตตามรู้อารมณ์ทุกขณะ
ถ้าจิตโน้มไปหาสุข เราก็ดึงมันไว้
ถ้าจิตเอียงไปทางทุกข์ เราก็ดึงมันไว้
จะดึงมันด้วยวิธีใด?
ที่จริงไม่ใช่การดึงอะไรหรอก
เพียงรู้ทันอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ว่ามันเป็นตัว "วัฏฏะ"
หมุนวนแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย
เมื่อรู้เท่าธรรมดาของโลกอยู่อย่างนี้ โดยไม่ติดข้องในอารมณ์ทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี









บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นคนดี
ถ้ามุ่งหมายจะประกอบคุณงามความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ย่อมจักกระทำได้โดยง่าย
สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘ภูมิ เว สปฺปุริสฺสานํ กตญฺญูกตเวทิตา’
ความกตัญญูกตเวที เป็นพื้นภูมิของคนดี
และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นคนดี มีฉันทะในการบำเพ็ญคุณงามความดีอยู่เสมอ
ผลดีคือความสุขความเจริญ ย่อมจักบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สั่งสมเหตุอันดีงามไว้แล้ว
เสมือนบุคคลผู้หว่านพืชเช่นไร ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้นนั่นเอง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก









#เราคิดดูครูบาอาจารย์ต่างๆหลวงปู่ต่างๆที่ท่านแก่เฒ่าชราแล้วนั้นท่านพูดยิ้มแย้มแจ่มใส แช่มชื่น เบิกบาน ฟันก็ไม่มี คางบ้ำ ๆ บิ้ม ๆ ไปหมด ก็ยังแช่มชื่นรื่นเริง ตาแช่มชื่น อะไร ร่างกายเหี่ยวแห้งแค่ไหน ใจของท่านนั้นมีความสุขอย่างไร

#อย่างนี้แหละเราไปกราบไหว้พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ทั้งหลายที่ท่านได้ฝึกไว้แล้ว เพราะใจท่านมีความสุขตรงนี้มีพลังอย่างเต็มที่แล้ว

พวกเราท่านทั้งหลาย ยังหนุ่ม ๆ น้อย ๆ ก็ยังหน้าเหี่ยวหน้าแห้งอยู่ ยังหน้างอหน้าเศร้าหมองอยู่ ยังไม่ชุ่มชื่น

#ก็เพราะกิเลสที่มันปิดบังใจของพวกเราเหมือนกับเมฆนี่แหละ ส่องแสงสว่างไม่เต็มดวงหรอกนะพระจันทร์

#เพราะเมฆปิดจิตใจก็ถูกกิเลสปิด
ความโลภ โกรธ หลง ปิดเอาไว้ ก็เลยเศร้าหมอง ใจเศร้าหมอง ก็หมองมาทางใบหน้าข้างนอกด้วย

ดูตนเองนั่นแหละ เราไม่อยากเศร้าหมองอย่างนั้น เราก็เลยพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเองด้วยสติปัญญา ปรับปรุงตนเองเพื่อจะให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเกิดขึ้น ใครเล่าได้

" #ก็ตนเองนั่นละเป็นคนได้ "

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป









...โดยทั่วไปคำว่ากรรมนี้
แปลว่า..การกระทำ
ก็มีการกระทำหลายรูปแบบ
กระทำบาปก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
กระทำบุญก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
เข้าฌานเข้าสมาธิ
ก็เป็นกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง

.และเมื่อทำแล้วก็จะมีการสะสม
“ผลของกรรม”เหล่านี้..ไว้ในดวงใจ
พอร่างกายตายไป
ผลของกรรมเหล่านี้ก็จะส่งผล
ทำให้เป็นดวงวิญญาณที่ทุกข์
หรือเป็นดวงวิญญาณที่สุข
หรือเป็นดวงวิญญาณที่สงบ
ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราทำ.
................................................
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










" จงอย่าได้ประมาทในชีวิต
ของตน เพราะเราไม่รู้ว่า
ความตายนั้นจะมาถึงตัวเราเมื่อไร

ไม่มีผู้ใดพยากรณ์ได้ถูก
เราพยากรณ์ได้แต่วันเกิดอัน
บิดามารดาเป็นผู้บอกให้เท่านั้น

ฉะนั้น จึงขอรีบสร้างคุณงาม
ความดีของตน ให้เกิดขึ้นใน
ทวารทั้ง ๓ เสีย คือว่า
กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร

จะทำจะพูดจะคิดสิ่งใด ก็จง
ทำ พูด คิด แต่ในทางที่จะเป็น
ประโยชน์ตนและผู้อื่นเถิด "

โอวาทธรรม
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ









" พระพุทธเจ้าตรัส
"อกาลิโก" ไม่เลือกกาล
ไม่เลือกเวลา นั้นหมายความว่า

เราไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง
ในการที่เราจะให้ทาน
ให้การรักษาศีล ในการที่
เราจะทำสมาธิภาวนา "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร









พุทโธธัมโมสังโฆ #พระพุทธเจ้าให้ไว้นานแล้ว #ทำไมไม่พากันเอา

พากันเอาแต่วัตถุมงคล ไปปลุกเสกที่นั่นที่นี่ จิตใครจะเกินของพระพุทธเจ้า

ให้พากันเอา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ประเสริฐที่สุดแล้ว..

#หลวงปู่ก้าน #ฐิตธัมโม
วัดราชายตนบรรพต(เขาต้นเกตุ) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์











#เรามันกลัวตัณหาหลาย

ความมีอัตภาพนี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน บ้านช่องเรือนชานต่าง ๆ ที่หามาได้ก็เป็นทรัพย์ภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ดอก

เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้ เมื่อตายแล้วก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ ไม่มีผู้ใดเก็บ กระดูกก็กระจายไป กระดูกหัวก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกแขนก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกขาก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกสันหลังก็ไปอยู่ที่อื่น กระจายไปเท่านั้นแหละ

เรามันกลัวตัณหาหลาย มันเชื่อตัณหาหลาย คนหนึ่ง ๆ มันมีสองศาสนา ศาสนาหนึ่ง มันตัณหาสั่งสอน ศาสนาหนึ่ง เป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า

เรามันยึดถือตัณหานี่ ชอบกันนัก หมอนี่มันก็บังคับเอา เราก็ยึดถือหมอนี่ มันสอนให้เราเอา ให้ตีเอา ลักเอา ฉกชิงวิ่งราวเอา มันสอนอย่างนี้ ตัณหาน่ะ

พระพุทธเจ้าว่าให้ทำมาหากินโดยชอบธรรม ให้เป็นศีลเป็นธรรม อย่าเบียดเบียนกัน มันไม่อยากฟัง มันเกลียด

ตัณหานี่ มันกลัวพระยามัจจุราช พญามารก็ผู้ช่วยมัน มันไม่อยากให้เราไปฟังอื่น ให้ฟังมัน มันผูกใจเราไว้ ครั้นจะไปดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้า มันไม่พอใจ

พอจะรับศีล รับทำไม มันว่า อย่าไปรับมัน อย่าไปทำมัน นี่มันก็ถูกใจมันเท่านั้นแหละ มันสอนนะ มันชอบอย่างนั้น

ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ครั้นอุตส่าห์ทำไป ปฏิบัติดีแล้ว เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ทำความเพียรภาวนาหนัก ๆ เข้า ก็ได้บรรลุพระนิพพาน กำจัดทุกข์

อันนี้ไม่อยากไป ไม่อยากฟังไม่เอา ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัณหา กิเลสที่มันชักจูงใจเรา ไม่ให้ทำความดี อย่า
ไปเชื่อมัน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรม

พระพุทธเจ้าว่าให้เป็นผู้หมั่นขยันในทางที่ชอบไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม่นในหน้าที่ของตน เป็นความบริสุทธิ์ ผู้ขยันหมั่นเพียรนั่นแหละจะเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์

มิใช่ว่าจะรักษาศีลภาวนาแล้วเฮ็ดหยังบ่ได้ มันบ่แม่น นั่นมันความเห็นผิดไป พระพุทธเจ้าว่าให้ขยันหมั่นเพียร อะไรที่ชอบธรรมก็ทำได้ กลางคืนจนแจ้งก็ทำไป กลางวันก็ทำได้หมดตลอดวัน ทำไร่ ทำสวน ทำนา ให้ทำสุจริต ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น..

#หลวงปู่ขาว_อนาลโย









การบริกรรมภาวนาให้จิตอยู่_ณ_จุดเดียว #คือ_พุทโธ

เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณา ตามองค์ฌาน ๕ คือ การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจารณ์
หลังจากนี้ ปิติ และ ความสุข ก็เกิดขึ้น...

เมื่อ ปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ

ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปนนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปนนาจิต

ถ้าเรียกโดยสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน

#บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่_๕

จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่ากายคตาปฏิปทา โดยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังโดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน

และเมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น.

เมื่อเป็นเข่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรอัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

"ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้น สมถกรรมฐาน

และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง...

ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา.."

"เมื่อฝึกฝนอบรมจิต ให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา

ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป.."

#หลวงปู่เสาร์_กนฺตสีโล











ลูกเอ๋ย กิเลสมันคอยหลอก ให้เจ้ายึดติด เมื่อมันจับแน่นในจิต ก็ต้องค่อยๆ ต้องค่อยๆ ลอกให้มันหลุด

#หลวงปู่หลอด #ปโมทิโต









เราไม่ต้องคำนึงถึง.
อดีต-อนาคต.
เรากำหนดให้รู้. เดี๋ยวนี้.

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร







"ถ้าเป็นเรื่องจริง
เมื่อถึงเวลาที่ควรติ ก็ต้องติ
เมื่อถึงเวลาที่ควรชม ก็ต้องชม

แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง
ก็ไม่ควรพูดแท้

และแม้เป็นเรื่องจริง
หากไม่ถึงเวลาที่ควรติ หรือชม
ก็อย่าไปติหรือชม นิ่งเสียดีกว่า"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ตอบกระทู้