Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

มีสติ ยับยั้ง

จันทร์ 15 มี.ค. 2021 4:59 am

...ผมจะหงอกก็ปล่อยให้มันหงอกไป
หนังจะเหี่ยวก็ปล่อยให้มันเหี่ยวไป

.ถึงเวลามันเจ็บก็รักษาไป
รักษาได้ก็รักษาไป ..รักษาไม่ได้
ก็อยู่กับมันไปจนกว่ามันจะตายไป

.ถึงเวลามันจะตายมันก็ต้องตาย
ไม่มีใครห้ามได้
หมอเก่งขนาดไหน ยาวิเศษขนาดไหน
ก็ไม่สามารถยับยั้งความตายได้

.
“แต่ถ้ามีสติ มีปัญญา”นี้จะ
ยับยั้งความทุกข์ใจได้ ใจจะไม่ทุกข์กับ
ความแก่ กับความเจ็บ กับความตาย
ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

.ของเราเอง..ของผู้อื่น..ของคนที่เรารัก
ถึงเวลาเขาไป
“เราก็เฉยๆไป เท่านั้นเอง”.

.........................................
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









“ บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น
เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว
มักไม่เห็นคุณพระศาสนา
มัวเมาประมาท
ปล่อยกายปล่อยใจ
ให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรม
อยู่เป็นประจำนิสัย

เห็นผิดเป็นถูก
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า
ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ
จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา
แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว “

โอวาทธรรม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ











...องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมด้วยปัญญา เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสวยนิพพานสุข ความสุขอย่างยิ่ง สักพักหนึ่ง ไม่กี่วัน พระพุทธองค์จึงน้อมพระทัย ในเรื่องการโปรดสัตว์

ทีแรกพระองค์เกิดความสงสัยว่า การบรรลุธรรมนี่มันยากมาก ถ้ามนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถบรรลุตามเราได้ จะโปรดสัตว์จะสั่งสอนหลักธรรม จะเปิดเผยสัจธรรมให้หมู่มนุษย์คงเหนื่อยเปล่า แต่สหัมบดีพรหมยืนยันกับพระพุทธองค์ว่ามนุษย์ที่มีกิเลสน้อย มีอยู่ในโลก ผู้ที่สามารถรับฟังคำสั่งสอนที่นำออกจากความมืด นำไปสู่ความสว่าง ออกจากทุกข์ นำไปสู่ความสุขที่แท้จริง มี มีอยู่

ดังนั้นด้วยความมหากรุณาธิคุณ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปสารนาถ ไปโปรดปัญจวัคคีย์ แล้วหลังจากนั้นใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่คือ ๔๕ พระพรรษา ในการโปรดสัตว์ แรงดลบันดาลใจคือ ความมหากรุณาธิคุณ เทคนิคอุบายต่างๆ ในการโปรดสัตว์ด้วย ความมหากรุณาธิคุณก็เกิดจากมหาปัญญาธิคุณ ความเมตตากรุณาและปัญญาจึงต้องไปด้วยกันเสมอ…

พระอาจารย์ชยสาโร
นำสมาธิภาวนา ในการปฏิบัติธรรมบ้านพอ
วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓ ณ บ้านพอ แม่ริม เชียงใหม่










การนั่งสมาธิ เมื่อไม่เกิดสมาธิ เช่นอย่างเราบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆๆ บริกรรมภาวนาตลอดคืนยันรุ่ง ตลอดวันยันค่ำ จิตไม่สงบเลยแม้แต่นิดเดียว ได้ผลหรือเปล่า

ได้ผลทางสติสัมปชัญญะ แม้จิตจะยังไม่สงบก็ตาม เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ก็อยากจะขอกล่าวว่า คนเราเกิดมาทุกคนได้ฝึกสมาธิมาแล้วทั้งนั้น เพราะจุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธิบั้นปลายหรือท้ายสุด ยอดปรารถนาของเราอยู่ที่ความมีสติ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราอบรมให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว เกิดมีสมาธิจิตตั้งมั่นและเกิดปัญญารอบรู้ แต่จุดมุ่งหมายอยู่ที่ตัวสติตัวเดียว อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดพลังงานทางสติเป็นตัวเด่น

เพราะฉะนั้น เรานั่งสมาธิบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอะไรก็ตาม จิตไม่สงบ แต่เราได้ผลทางสติ เราทุกคนได้ฝึกสมาธิมาแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้สอนให้เราปฏิบัติสมาธิท่านก็ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าท่านสอนสมาธิเรา

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่กำลังเริ่มหัดคลานต้วมเตี้ยมๆ อยู่ตามลานบ้าน จิตของเด็กมีแต่ความรู้สึกรู้นึกรู้คิด สติสัมปชัญญะที่รู้ว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันยังไม่เกิด เพราะประสบการณ์ยังน้อย มันคลานไปเห็นอะไรก็หยิบเข้าปากนึกว่าของกิน นั่นเพราะสติยังไม่สมบูรณ์ ทีนี้เมื่อพี่เลี้ยงนางนมสอนให้รู้จักรับประทาน สอนให้รู้จักดื่ม สอนให้รู้จักอาบน้ำ สอนให้รู้จักขับถ่าย เจ้าเด็กก็ค่อยมีสติสัมปชัญญะดีขึ้น ซึ่งมันจะเจริญขึ้นตามวัยที่เติบโตขึ้นมา แล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น แล้วเด็กจึงจะรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เมื่อเด็กโตขึ้น เราส่งไปสู่สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล เด็กเข้าไปฝึกสมาธิแล้ว ครูผู้สอนก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังสอนสมาธิเด็ก เด็กก็ไม่รู้ตัวว่าเรากำลังฝึกสมาธิ

เพราะฉะนั้น ที่เรามานั่งสมาธิภาวนากันอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะมาฝึกเอาของใหม่ เราจะมาฟื้นฟูสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิมให้มีความเจริญเติบโตขึ้น เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่านั่งสมาธิในครั้งนี้ ถ้าไม่เกิดสมาธิจะบาปหรือไม่

ไม่บาปหรอก ได้บุญ เพียงแต่นั่งภาวนาพุทโธๆๆ พุทโธ เป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ได้บุญ แม้ว่านึกถึงความตาย เช่น มรณังๆๆ ตายๆๆ จิตยังไม่สงบเป็นสมาธิก็ได้บุญ

หลวงพ่อเคยอ่านหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องผีฆ่าพระ

มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่ที่ไหนเขาไม่ได้บอก มีปีศาจมันสิงอยู่ ปีศาจตนนี้มันดุร้าย พระธุดงค์ไปพักอยู่ที่ต้นไทร มันฆ่าพระตายหลายองค์แล้ว ทีนี้พระธุดงค์องค์นี้พอไปก็จะไปปักกลดอยู่ที่ร่มต้นไทรต้นนั้น ชาวบ้านที่เขาเห็นเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา เขาก็เป็นห่วงกลัวว่าพระจะถูกผีฆ่าตาย เขาก็มาบอกว่า

"พระคุณเจ้า ต้นไทรต้นนี้ ปีศาจมันดุ มันฆ่าพระตายไปหลายองค์แล้ว"

แต่พระองค์นี้ทะนงตัวว่าตัวเองมีวิชาอาคม เขาก็บอกโยมว่า

"อาตมาไม่กลัวหรอก ผีนี่เคยปราบมาเยอะแล้ว"

"อ้าว ถ้าพระคุณเจ้าไม่เชื่อก็ตามใจ"

เสร็จแล้วพระก็ปักกลดใต้ต้นไทรต้นนั้น ตั้งแต่หัวค่ำก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอถึงสองยาม คล้ายๆ กับว่ามีลม ฝนทำท่าจะตก โดยวิสัยของหมอวิชาอาคมเขาก็รู้ทันทีว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็รีบเข้าที่นั่งท่องมนต์คาถาที่เรียนมา ลมมันก็สงบไป พอลมสงบไป ลืมตาขึ้นมองเห็นผีใหญ่มันยืนจังก้า หัวมันสูงเท่ากับยอดไทร แกก็นั่งหลับตาบริกรรมคาถาบทใหม่อีก พอลืมตาขึ้นแทนที่ผีมันจะหนีไป มันเลยมานั่งยองๆ อยู่แค่เอื้อม ตอนนี้ชักจะหวั่นๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว เสร็จแล้วก็ก็มานึกถึงข้าวสารที่เสกเอาไว้อยู่ในกระเป๋าอังสะ ก็หลับตาล้วงมือลงไปกำเอาข้าวสาร แล้วก็บริกรรมภาวนา ซัดข้าวสารไป แทนที่ผีมันจะกลัวข้าวสาร มันกลับเอื้อมมือมาบีบคอ แล้วก็กดลงกับพื้น

พอพระองค์นั้นถูกผีมันบีบคอ กดลงกับพื้น ก็รู้สึกว่าลืมคาถาอาคมหมด นึกถึงคาถาอาคมบทไหนก็ไม่มีแล้ว ก็เลยมานึกว่าคราวนี้ตายแล้ว ตาย..ตาย ตายอย่างไม่มีใครช่วยเหลือ ตายคนเดียว พอนึกถึงว่า ตายจริงๆ…ตายจริงๆ แล้วคราวนี้ไม่รอดแน่ ตายคนเดียว ผีมันก็เลยคลายมือออก เสร็จแล้วมันก็ไปจับลุกขึ้นมานั่ง

ผีมันก็เลยเทศน์สอนเอาว่า

"พระคุณเจ้านี่รู้จักแต่ท่องคาถาอาคมยังกับนกแก้วนกขุนทองแต่ไม่รู้ความจริง นี่พอถูกบีบคอนี่กลัวจะตาย ยังพอมีสติระลึกได้บ้าง ยังรู้ความจริงขึ้นมาบ้างนิดหน่อยว่าตัวเองจะตาย ข้าพเจ้าสงสารท่านก็เลยไม่ฆ่าท่าน ให้เวลาท่านไปภาวนาเพื่อให้มันรู้ความจริง"

ผีมันสอนแล้วมันก็อันตรธานหายไป หลังจากนั้นพระองค์นั้นก็ไม่ท่องคาถาอาคม ทิ้งหมดเลย พิจารณาแต่ความตายอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ภาวนาจิตไม่สงบก็ได้บุญ พระองค์นั้นนึกว่าตาย…ตายๆ เพียงนิดเดียวก็ได้บุญ คือรอดตายมา ผีมันไม่ฆ่า นี่แหละเป็นตัวอย่าง อันนี้เป็นหนังสือที่เขาเขียนให้อ่าน แล้วก็เป็นเรื่องจริงด้วย เพราะฉะนั้น ควรจะจำไว้ว่าผีมันชอบความจริง

แล้วอีกอย่างหนึ่งในเทวทูตสูตรท่านกล่าวว่า ในเมื่อยมบาลจับสัตว์นรกไปสู่สำนักของพญายมราช พญายมราชก่อนจะให้ลงนรกนี่จะต้องถามก่อนว่า

"เทวทูตที่ ๑ เจ้าเคยเห็นไหม"

ถ้าสัตว์ที่ถูกจับไปบอกว่า "ไม่เคยเห็น"

พญายมก็จะถามต่อไปว่า "คนเกิดเจ้าเคยเห็นไหม"

"เคยเห็น"

"เห็นแล้วพิจารณาอย่างไร"

"ไม่ได้พิจารณา"

ก็ถามต่อไปว่า "เทวทูตที่ ๒ เจ้าเคยเห็นไหม"

"ไม่เคยเห็น"

"คนแก่เจ้าเคยเห็นหรือเปล่า"

"เห็น"

"เห็นแล้วพิจารณาอย่างไร"

"ไม่ได้พิจารณา"

ทีนี้ถาม "เทวทูตที่ ๓ คนเจ็บเจ้าเคยเห็นไหม"

ถาม "เทวทูตที่ ๔ คนตายเจ้าเคยเห็นไหม"

"เคยเห็น"

"เห็นแล้วพิจารณาอะไรหรือไม่"

"ไม่ได้พิจารณา"

ถามเทวทูตที่ ๕ ต่อไป "เทวทูตที่ ๕ เจ้าเคยรู้เคยเห็นไหม"

"ไม่เคยรู้เคยเห็น"

"นักบวชเจ้าเคยเห็นหรือเปล่า"

"เคยเห็น"

"เห็นแล้วพิจารณาอย่างไรบ้าง"

"ไม่ได้พิจารณา"

พญายมราชจับโยนลงนรกทันที เพราะฉะนั้น การที่เราตั้งใจทำความดี ภาวนาทำสมาธิแล้ว แม้แต่จิตไม่เป็นสมาธิ เราระลึกถึงธรรมบทใดบทหนึ่ง เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ หรือกำหนดสติรู้ตัวอยู่ในอารมณ์จิต ถึงแม้จิตไม่สงบเป็นสมาธิก็ได้บุญ ภาวนาเอาบุญไปก่อน

น้อมกราบสาธุครับ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย










เมื่อถูกอารมณ์อะไร. ก็เห็นแต่. อนิจจัง- ทุกขัง- อนัตตา. อยู่อย่างนั้น.

หลวงปู่ชา สุภัทโท







" พุทโธ ธัมโม สังโฆ
คือ รัตนะเอกอุที่สุดแล้ว
ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า
"พุทโธ" เป็นเรื่องเล็กน้อยเหรอ

พระพุทธเจ้า สะเทือน
โลกธาตุมานานแสนนาน
ก็เพราะความเป็นพุทโธนั่นแล

พระอรหันต์บรรลุธรรม
ขึ้นมาแต่ละองค์ๆนี้กระเทือน
เป็นของเล็กน้อยเมื่อไร
ที่เรียกว่า "สังโฆๆ" นั้น

"พุทโธ" ก็ได้แก่ ศาสดา
องค์เอกที่คุ้ยเขี่ยขุดค้น
หาธรรม ได้ธรรมอันเลิศ
ขึ้นมาครองใจ เรียกว่า "ธัมโม"

ทั้ง ๓ รัตนะ นี้
เป็นรัตนะเอกอุที่สุดแล้ว "

โอวาทธรรม
หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสมฺปนฺโน










" ผู้ใดที่คิดว่าเกิดมาแล้ว
จะต้องมีความสุขอย่างนั้น
อย่างนี้ คนผู้นั้นจะต้องผิดหวัง
อย่างที่สุด

เพราะความจริงแล้ว ในโลกนี้
เขาไม่มีความสุขให้แก่ใครเลย
จึงให้ปล่อยปลดเปลื้องเครื่อง
รกรุงรังในหัวใจเสียให้หมด
ปล่อยเสีย วางเสีย
จะได้เบาสบายขึ้นบ้าง

คนเราก็ต่างทุกข์กังวล
กับของต่างๆ ที่เรามีอยู่
มาผูกใจไว้ หากเรารู้จัก
ปล่อยวางได้ ใจก็จะเป็นสุข "

โอวาทธรรม
หลวงปู่แบน ธนากโร








“ทำความดีอยู่คนเดียว
ไม่มีใครเห็น มันก็ยังดีอยู่นั่นเอง"

หลวงปู่ชา สุภัทโท
ตอบกระทู้