พุธ 15 เม.ย. 2009 1:31 am
- ในหลวงกับหลวงปู่ดูลย์
- GetAttachment.jpg (32.29 KiB) เปิดดู 1078 ครั้ง
“พระพุทธศาสนามีธรรมะอยู่มากมายหลายชั้นอันพอเหมาะพอดีกับอัธยาศัยจิตใจของบุคคลประเภทต่างๆ สำหรับเลือกเฟ้นมาแนะนำสั่งสอนขัดเกลาความประพฤติปฏิบัติของบุคคลให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวโดยหลักใหญ่แล้ว คือ
สอนให้เป็นคนดี ให้ประพฤติประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเสียหาย
สอนให้รู้จักตนเองรู้จักฐานะของตน พร้อมทั้งรู้จักหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในฐานะนั้นๆ
ซึ่งเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วย่อมจะนำความสุขนำความเจริญสวัสดีมาให้ได้ทั่วถึงกันหมดหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือนำความสุข ความร่มเย็น และความวัฒนาถาวรให้เกิดแก่สังคมมนุษย์
หน้าที่ของท่านทั้งหลายอยู่ที่จะต้องพยายามศึกษาพิจารณาธรรมะแต่ละข้อแต่ละหมวดหมู่ ด้วยความละเอียดรอบคอบด้วยความเที่ยงตรงเป็นกลาง ให้เกิดความกระจ่างแจ้งลึกซึ้งถึงเหตุถึงผล ถึงวัตถุประสงค์แล้วนำไปปฏิบัติเผยแพร่ให้พอเหมาะพอดีโดยอุบายที่ฉลาดแยบคาย ธรรมะในพระพุทธศาสนาจะสามารถคุ้มครองรักษา และอุ้มชู ประคับประคองสังคมให้ผาสุกร่มเย็นได้สมดังที่ต้องการ” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ที่ประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 16 วันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2524 )
“ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญาความสามารถ และโอกาสของตนๆ ที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง กระจ่างชัดขึ้นในหลักธรรม
เมื่อศึกษาเข้าใจแล้วเป็นประโยชน์แล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานของตนเพื่อให้เกิดความสุข ความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน
ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมากขึ้น ปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองก็จะลดน้อยลง” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่การสัมมนาของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติฯ
ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200ปี วันที่ 13 มีนาคม พุทธศักราช 2525)
- ในหลวงกับหลวงพ่อเกษม เขมโก
- dsd.jpg (40.58 KiB) เปิดดู 1078 ครั้ง
“ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกคือ ทุกวันนี้ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิด ได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนจนทำให้เกิดปัญูหา และทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป
ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ละท่านแต่ละฝ่ายต้องยึดหลักการให้มั่นคงที่จะไม่ทำสิ่งใดๆ ที่ชั่ว ที่เสื่อม ต้องกล้าและบากบั่นที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นความดี เป็นความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผลความประพฤติปฏิบัติชอบบังเกิดเพิ่มพูนขึ้นและค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมทรุดลง หากให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็น ลำดับ ” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 36
วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2532)
“พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึง คำสั่งสอนที่เที่ยงตรงตามพระพุทธโอวาทแล้ว ย่อมมีความแน่นอนมั่นคงอยู่ในตัวขอเพียงชาวพุทธไม่บ่อนเบียนทำลายให้แปรผัน ผิดเพี้ยน และร่วมกันรักษาความบริสุทธิไว้ให้ได้ พระพุทธศาสนาก็จะยืนยันอยู่ได้ตลอดกาล.....พระธรรมนั้นชื่อว่าเป็นอกาลิโกถูกต้องเที่ยงแท้และเหมาะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติเสมอไม่ว่าในกาลไหนๆจึงย่อมเป็นแม่บทของการพัฒนาแบบยั่งยืนได้แน่นอนปราศจากข้อกังขา
ข้อสำคัญนั้น ชาวพุทธเองจะต้องขวนขวายศึกษาพุทธธรรมให้ทราบชัดโดยทั่วถึง และน้อมนำมาปฏิบัติกันอย่างจริงใจให้ประจักษ์ผล พระพุทธศาสนาจึงจะอำนวยประโยชน์แก่การพัฒนาให้ประจักษ์ผล พระพุทธศาสนาจึงจะอำนวยประโยชน์แก่การพัฒนาสมตามที่ปรารถนานั้นได้” (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ 38
วันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2536)