"#ไม่ยอมวาง #เพราะไม่เห็นโทษ"
หากไม่รู้ไม่เห็นเองแล้ว เป็นไม่ยอมวางง่าย ๆ ถ้าเทียบทางโลกง่าย ๆหมายความว่า คนอื่นว่าไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ อาจจะเชื่อบ้างแต่ไม่ลงถึงใจ คือไม่เห็นชัด
เช่น เทียบกับคนไปทอดแห งมลงไปในน้ำจับถูกงู นึกว่าเป็นปลาไหล จึงจับจนแน่น พอยกขึ้นพ้นน้ำรู้ว่าเป็นงู ไม่รู้ว่ามือมันวางตั้งแต่เมื่อไร ไม่ได้บอกให้มันวางยาก ใจมันสั่งให้มือวางตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้เพราะกลัว
"ลักษณะของจิตก็เหมือนกัน"
ร่างกายก้อนนี้ ถ้าหากไม่เห็นโทษหรือความสวยความงามซึ่งโลกนิยมกัน ยังไม่เห็นโทษเห็นภัยเกิดขึ้นกับจิตใจเองแล้ว มันไม่ยอมละวางง่าย ๆ ติดแน่นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ยอมละยอมวางง่าย ๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม แม้เราบอกให้ฟังก็ไม่ยอม
อย่างความโกรธเกิดขึ้น ความทุกข์ความร้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นในจิตใจ บอกว่าอย่าโกรธ สิ่งนั้นมันเป็นรูปนั้นวิธีนี้ กล่าวไปตามเรื่องของธรรม เช่นว่า เป็นของไม่เทียงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของไม่สวยไม่งาม ว่าอย่างไรมันก็ไม่ยอมฟัง มันเป็นไปตามเรื่องของมัน
"เพราะจิตยังไม่ได้ดูดดื่มรสของธรรมะ หรือจิตใจยังไม่เคยเห็น" นี่คือปัญหาสำคัญ
ถ้าจิตได้ประสบการณ์เอง เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องบอกยาก มันรีบวางเอง มันจะตัดสินเองเรื่องของจิต ..
เทศนา ณ วัดผาน้ำทิพย์วนาราม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๕ หนังสือ "วีระปฏิปทา มหาวีโร" ชีวประวัติ ธรรมะ และข้อวัตรปฏิปทาองค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม บ้านศรีสมเด็จ ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
เราทุกคนปรารถนาชีวิตที่มีความสุข แต่ว่าความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องตระหนักและหนีไม่พ้นก็คือ เราทุกคนต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ดีมีสุขเพียงใด ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่ ในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตาย
ส่วนใหญ่ เรามักจะคำนึงถึงแต่เรื่องการอยู่ดี แต่มองข้ามเรื่องการตายดีไป แท้ที่จริงแล้วอยู่ดีกับตายดีเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเรามองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว เราก็จะสนใจแต่เพียงการอยู่ดีเท่านั้น ทั้งที่การตายดีนับเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่เรื่องการอยู่ดีเพียงอย่างเดียว
เวลาพูดถึงความตาย คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกเสียวสยองไปถึงหัวใจ ไม่อยากคิดหรือไม่อยากฟังแม้แต่คำว่าความตาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรามองว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่ความจริงแล้ว ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ใจของเรานั่นเองที่วางไว้ไม่ถูกต้อง เช่น กลัวตาย หรือไม่เข้าใจความตายดีพอ ถ้าหากว่าเรารู้จักวางใจอย่างถูกต้อง ความตายก็ไม่น่ากลัว และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตาย ก็สามารถตายอย่างสงบได้
การตายอย่างสงบ จะเรียกว่าเป็นการตายดีก็ได้ คือตายไม่ทุรนทุราย ตายเพราะใจพร้อมน้อมรับความจริงโดยดุษณี ความจริงที่ว่านี้ก็คือความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ทุกชีวิตเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแตกดับไป การตายดีนั้นเกิดขึ้นได้กับคนที่เตรียมพร้อมและยอมรับความจริงดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่ายังไม่มีความปรารถนาที่จะตาย แต่เมื่อถึงเวลาตายก็สามารถจากไปอย่างสงบได้
ความตายเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต สัตว์ทั่วไปไม่รู้จักหน้าที่นี้ แต่มนุษย์เราทุกคนต้องรู้จัก เมื่อรู้จักแล้วต้องทำหน้าที่นั้นให้ดี คือการเตรียมพร้อมที่จะตาย รวมทั้งการยอมรับความตายเมื่อถึงเวลา ไม่หลีกหนี ไม่คิดที่จะโกงความตาย ไม่คิดที่จะเอาชนะความตาย เพราะตระหนักดีว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องตาย เราต้องพร้อมยอมรับเมื่อเวลานั้นมาถึง
แต่ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง เราก็ต้องเตรียมตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ของพ่อของแม่ หน้าที่ของข้าราชการ หน้าที่ของครู หน้าที่นั้นจะทำได้ดีเมื่อมีการฝึกฝน ฝึกปรือ หน้าที่ที่จะตายก็เช่นกัน มันเรียกร้องให้เราต้องฝึกฝนเช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ
ดังนั้นการพร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตาย เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะชาวพุทธที่ตระหนักดีว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง พร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตายหมายความได้หลายประการ
ประการแรก หมายถึงการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ใช่ความตายของคนอื่น แต่เป็นความตายของเราเอง เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว ก็เตรียมตัวตายอยู่เสมอ การเตรียมตัวตายหมายถึงการทำหน้าที่ หรือ การใช้ชีวิตให้ดีที่สุด มีสิ่งสำคัญใดในชีวิตก็ควรเร่งรีบขวนขวายทำให้แล้วเสร็จ ไม่ให้คั่งค้าง แต่นั้นเป็นเพียงงานภายนอก ที่สำคัญพอๆ กันก็คือ งานภายใน คือการเปิดใจยอมรับความจริง และฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นของเรา สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้
ด้วยเหตุนี้ มรณสติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ มรณสติจัดว่าเป็นกรรมฐานหนึ่งในสี่สิบ ที่พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมเอาไว้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะน้อมนำมาประพฤติมาปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราละเลยมรณสติ พยายามหนีความตาย พยายามปฏิเสธความตาย เราก็จะต้องถูกความตายนั้นคุกคาม ไม่ใช่แค่คุกคามชีวิตแต่คุกคามถึงจิตใจ ความตายก็เลยกลายเป็นศัตรู
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งคุ้นชินกับความตายที่จะเกิดขึ้นกับเราหรือกับคนที่เรารัก ความตายก็จะกลายเป็นมิตร กลายเป็นครู กลายเป็นอาจารย์ ที่จะเคี่ยวเข็ญเราให้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีคุณค่า ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใกล้ธรรมะ หรือเข้าใกล้จุดหมายสูงสุดในฐานะชาวพุทธที่แท้
ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
"โลกทุกวันนี้มืดแล้ว ไม่มีแสงแห่งความดีงามเพียงพอ จะสู้กับอำนาจเลวร้ายของกรรม สติจึงสำคัญนัก สำคัญที่สุด"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"ไม่ต้องอาลัยอดีต ไม่ต้องพะวงอนาคต ขอแต่ให้ทำหน้าที่ของตน อย่างถูกต้องในปัจจุบัน ก็เพียงพอแล้ว ที่จะไม่เป็นทุกข์"
ท่านพุทธทาสภิกขุ
|