...ธรรมะถึงแม้จะวิเศษวิโสขนาดไหน มันก็ต้องใช้เวลาปลูกฝังให้มันเกิดขึ้นมาภายในใจของเรา ไม่ใช่เหมือนกับไฟฟ้า เปิดสวิทช์ปั๊บก็ไฟก็สว่างขึ้นมาปุ๊บ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ธรรมะต้องใช้เวลาศึกษา ใช้เวลาปฏิบัติ ศึกษาและปฏิบัติเหมือนกับการปลูกต้นไม้ ปลูกแล้วก็ต้องทำนุบำรุงดูแลรักษา คอยกำจัดวัชพืช กำจัดแมลงต่างๆ ไม่ให้มากัดมาทำลายต้นไม้ที่เราปลูกเอาไว้ พอได้รับการปลูกได้รับการดูแล เดี๋ยวไม่นานดอกผลของต้นไม้ก็จะออกมา แล้วตอนนั้นแหละต้องการจะใช้อะไรก็สามารถไปเด็ดไปหยิบมาได้เลย
...นี่คือความจำเป็นที่พวกเราต้องเข้าหาธรรมะกันตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ตอนที่เรายังไม่ต้องอาศัยธรรมะ เพราะต่อไปนี้เราจะต้องเจอทุกข์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเพื่อนฝูงที่เรารู้จักต่อไปก็แก่ขึ้นๆ ต่อไปก็เจ็บไข้ได้ป่วย ต่อไปก็ตายกันจากกันไป คนที่เรารู้จักคนที่เราเคยสนิทสนม วันดีคืนดีเขาก็ลาจากเราไป ตอนนั้นแหละเราต้องรีบไปเด็ดผลของธรรมะมาบำบัดความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีธรรมะปลูกไว้ ไม่มีผลที่จะไปเด็ดมาใช้ ก็ต้องมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจซึมเศร้า บางทีก็อยากจะตายไปกับคนที่ตายไปก็มี อยากจะฆ่าตัวตายไปก็มี นี่เพราะไม่เคยเข้าวัดไม่เคยศึกษาพระธรรมคำสั่งคำสอน ไม่เคยปฏิบัติธรรมนั่นเอง.
สนทนาธรรมบนเขา ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
#เฮ็ดให้มันเห็นเถอะเรื่องอันนี้
วางจิตลงเป็นผ้าเช็ดเท้า. เบิ่งเป็นดินพู่น. มันจังค่อยเห็นอรรถเห็นธรรม. ของพระองค์เจ้า.
#เร่งเด๊ะ
ความเพียร. ให้มันเกิดในใจเจ้าของ. มันจังค่อยสิรู้จัก. ความเพียรนี่แหละตัวเอก.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี คัดจากหนังสือ กุสลธโร ผู้ทรงไว้ซึ่งความฉลาด
#อย่าทำเพื่อให้คนอื่นยกย่อง อันนั้นเป็นความอยาก
..... ทำเพื่อเป็นข้อปฏิบัติ อันนั้นล่ะเป็นการปฏิบัติธรรม ทำเพื่อให้คนอื่นเห็น ทำเพื่อให้คนอื่นยกย่อง อันนั้นไม่เป็นข้อปฏิบัติ จึงว่าให้ระมัดระวังความอยากมันจะแซงขึ้นมา มาทำลายข้อปฏิบัติของเรา
มันต้องทำด้วยความเป็นธรรม ทำเพื่อธรรม ทำเพื่อชำระ ไม่ได้ทำเพื่อความอยาก ทำแล้วสบายใจ
ใครรู้ก็ไม่สนใจ ใครไม่รู้ก็ไม่สนใจ ใครรู้เราก็สบาย ใครไม่รู้เราก็สบาย ความสบายเป็นข้อปฏิบัติของเรา
ธรรมมีแต่จะทำให้เราร่มเย็นเป็นสุข สิ่งเหล่านี้จึงให้พากันเข้าใจ .
"หลวงปู่แบน ธนากโร"
#ถ้าเราไม่รู้จักอนิจจัง...
อยากจะบังคับให้ได้ตามใจ ของเรา ทุกข์-ก็เกิด เพราะมันไปขวางธรรมะ ไม่รู้เท่าธรรมะ
เหมือนกันกับเรา ไปยืนกลางถนนหลวง ไปขวางทางรถ เห็นรถเขามา ก็ว่าแต่รถเขาว่ามาใกล้ตัวเองอยู่อย่างนั้น เห็นคนมา ก็ว่าคนมาใกล้
เราไม่เห็นว่าตัวเอง ไปยืนอยู่กลางถนนหลวง ไปว่าแต่คนแต่รถ ทางที่ดี เราควรออกจากทางถนนมา ก็จะสบาย ฉันใด
มีผู้รู้อนิจจัง(อยู่ในใจ)แล้ว มัน ก็เลยสบาย ทุกขัง มันก็เกิดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ ตัว ไม่ใช่ ตน ไม่ใช่ เรา ไม่ใช่ เขา
ธรรมชาตินี้ เป็นของว่าง...
ว่าง จากของเรา ว่าง จากเขา ว่าง จากสัตว์ ว่าง จากบุคคล
แต่...เป็นของสมมุติว่าเรา ว่าเขา เฉย ๆ เป็นสมมุติ เท่านั้นเอง
ถ้าเรามารู้เรื่องทั้งหลาย เหล่านี้ ตามเป็นจริงแล้ว คือ รู้อริยสัจนี่แหละ บุญจะเกิด
แม้แต่ ฆราวาส อยู่ตามบ้านตามเรือน ได้รู้ ได้เห็นอย่างนี้แล้ว ชื่อว่า ขัดความเศร้าหมองออก ชื่อว่า ขัดเกลากิเลส ชื่อว่า ขัดเกลา ความคิดเห็นผิดนั้นออก ชื่อว่า ขูดทุจริตนั้นออกจากใจของเรา ใจ เราจะมีความรู้สึกสบาย สงบ ระงับจาก ความไม่ยึดมั่นทั้งหลาย
นี่แหละ... บุญ อันเลิศ คือบุญ อันประเสริฐ นี่คือ...บุญชั้นยอด ที่พระศาสดาของเรา สั่งสอนว่า... จิต นี่แหละเป็นผู้สงบ จิต นี่แหละเป็นผู้ระงับ
เมื่อมารู้เท่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ก็เลยปล่อย... ทำไม ?ถึงปล่อยมัน เพราะ...มันแต่งไม่ได้ ไม่ใช่ สิ่งที่จะเเต่งได้ แปลงได้ ถ้าเราไปบังคับมัน ไปเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนมันไม่ได้ ก็เลย...เป็นทุกข์
ถ้ารู้ว่า... แต่ง ไม่ได้ ปรุง ไม่ได้ ก็ ให้รู้จัก... ปล่อย...มันซะ ก็อย่างที่เรา ไปบังคับให้เป็ด เป็นไก่ มันเป็นไปไม่ได้ เรา...ก็วางซะ
เป็ด ก็ให้เป็นเป็ด ไก่ ก็ให้เป็นไก่ วัว ก็ให้เป็นวัว ควาย ก็ให้เป็นควาย หมู ก็ให้เป็นหมู หมา ก็ให้เป็นหมาซะ
ให้เป็น... คนละอย่างไปซะ เป็นไปตามเรื่อง ของมัน.
หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
“ชีวิตคู่.. รักเพราะกามา ถึงเวลาก็มีคนใหม่ รักเพราะเงินทองข้าวของเครื่องใช้ พอทรัพย์หมดไปก็ตีจาก รักที่ไม่มีวันพลัดพราก คือ รักกันด้วยความดี มีเมตตา มีศีลธรรม”
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
"..ชีวิตคนเรา เติบโตขึ้นมา ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความ เมตตากรุณาจากผู้อื่น มาตั้งแต่เบื้องต้น
คือ เมตตา กรุณา จาก บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย ถ้าไม่ได้รับความเมตตา ก็อาจจะสิ้นชีวิตไปแล้ว เพราะถูกทิ้ง
เมื่อเราเติบโตมาจากความ เมตตากรุณา ก็ควรมีความ เมตตากรุณาต่อชีวิตอื่นต่อไป
วิธีปลูกความเมตตากรุณา คือ ต้องตั้งใจปรารถนา ให้เขาเป็นสุข ตั้งใจปรารถนา ให้เขาปราศจากทุกข์
โดยเริ่มจากเมตตาตัวเอง ก่อน แล้วคิดไปถึงคนใกล้ชิด คนที่เรารัก จะทำให้เกิดความ เมตตาได้ง่าย แล้วค่อยๆ คิดไปให้ความเมตตาต่อคน ที่ห่างออกไปโดยลำดับ.."
พระโอวาทธรรม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
.
#เจริญมรณานุสสติ
ถ้าหากว่าเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จะเป็นคนไม่ประมาท มีกำไรมาก เพราะอะไร เพราะรู้ว่า "ตายนี่มีสภาพไม่สูญ" ถ้าเรามีบุญวาสนาบารมีมาก อย่างท่าน พระเทวทัต ก็สามารถไปนอนเล่นในอเวจีได้ ถ้าหากว่าอย่างเลวที่สุด เราเจริญ "อานาปานุสสติกรรมฐาน" จนจิตเข้าสู่ "อุปจารสมาธ"ิ เอาแค่ "ขณิกสมาธิ" ได้เล็กๆ น้อยๆ ภาวนาไปบ้าง รู้ลมหายใจเข้าออกไปบ้าง เที่ยวบ้านโน้น เที่ยวบ้านนี้เสียบ้าง จิตมันฟุ้งไปฟุ้งมา พอนึกขึ้นมาได้ก็เริ่มต้นใหม่ ว่าไปนาทีสองนาที มันไปอีกแล้ว อย่างนี้ท่านเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" แต่ว่า "ขณิกสมาธิ" นี่ ตายแล้วเป็นเทวดาชั้นกามาวจรไม่ใช่ของต่ำ อย่าประมาทตัวว่าเลวนะ คือว่าวันหนึ่งเราสามารถทำจิตให้ว่างจากกิเลส คือรู้คำภาวนาอยู่ วันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงชมเชยว่า "ผู้นั้นเป็นผู้มีจิตไม่ว่างจากฌาน" อย่าไปคิดว่าเล็กน้อยไม่มีผล มีผลมาก คนที่มี "มรณานุสสติ" อยู่เสมอ "นึกถึงความตายเป็นอารมณ์" นึกถึงความตาย ก็อย่าไปท้อ คิดว่าถ้าเราตายคราวนี้เราจะไปไหน ทางที่เราจะไปได้ คือ ๑. นรก ๒. เปรต ๓. อสุรกาย ๔. สัตว์เดรัจฉาน ๕. มนุษย์ ๖. สัมภเวสี ๗. รุกขเทวดา ๘. ภุมเทวดา ๙. อากาศเทวดา ๑๐. พรหม ๑๑. นิพพาน ถ้าเรานึกถึงความตาย ถ้าเราตายเวลานี้ "ไอ้ความตายเราต้องคิดว่า จะต้องตายเวลานี้อยู่เสมอ" อย่าไปคิดว่าอีกไม่กี่วันตาย เวลานี้เราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็ต้องคุมกำลังใจว่าเราจะไปไหน คุมกำลังใจเอาไว้ ถ้าเราอยากจะไปอบายภูมิ ๔ "ศีล ๕" ก็ไม่ต้องไปเคารพมันเก็บไว้สักตัวสองตัวก็ได้ หรือ ๓ ตัว มันก็ดึงลงนรกเองไม่ต้องห่วง
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน จาก "ธัมมวิโมกข์" ฉบับที่ ๔๓๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ หน้า ๒๙ - ๓๐ คัดลอกโดย คณะบุญสุประวีณ์
|