...การศึกษาธรรมจากผู้รู้จริงเห็นจริง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
.และที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้เรียนจากผู้ที่รู้จริงแล้ว รับประกันได้ว่า "จะต้องได้ของปลอมมา" ได้เรื่องราวที่จะทำให้ไขว้เขว จะทำให้ลังเลสงสัย
.ฉะนั้นอย่าไปศึกษาจากผู้ที่ไม่รู้จริงเห็นจริง "ถึงแม้จะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา" ก็ไม่ได้รับประกันว่าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง
.เพราะบางท่านเพียงแต่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้ปฎิบัติ ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง หรือปกิบัติแล้ว ยังไม่เกิดผลขึ้นมา.
...................................... คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 6/4/2563 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จิตทุกดวง วิญญาณทุกดวงนะ ที่เป็นเทวดานางฟ้า เวลาจุติลงมาจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ตั้งใจไว้ว่า เมื่อได้เกิดแล้วจะสร้างบุญสร้างกุศล สร้างคุณความดีให้ดีกว่าเดิม เพื่อจะให้ดีกว่าเดิมดังที่เป็นอยู่
แต่พอได้เกิดแล้ว ส่วนมากลืม ลืมในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ ลืมหมด เพราะหลง แทนที่จะสร้างบุญสร้างคุณความดีกันต่อ กลับไปสร้างบาปสร้างกรรมเสียแล้ว ทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำเข้าไปอีก นี่แหละคนเรา มนุษย์เรา มีจำพวกเดียวที่ไม่หลงในชีวิต คือจำพวกที่เป็นพระอริยบุคคล ชั้นพระโสดาบัน ที่ลงมาเกิด นอกนั้นหลงหมดลืมหมด...
หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
เมื่อยังมีกรรม วิญญาณ และตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่างๆ การทำกรรมดี หรือกุศลกรรมให้มาก ย่อมอาจให้ผลตัดรอนอกุศลกรรมได้ อกุศลกรรมที่หนัก ที่แรง จำเป็นต้องมี กุศลกรรมที่หนักกว่าแรงกว่ามากๆ จึงจะสามารถตัดกันได้ทันท่วงที แม้มีอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วมาส่งผล ทำให้ตกอยู่ที่ร้อนที่คับขัน กุศลกรรมที่ทำอยู่แรงกว่าหนักกว่า ย่อมจะสามารถตัดผลของอกุศลกรรม ให้ขาดได้ในพริบตา ไม่ควรลังเลที่จะทำความดี คือกุศลกรรม ให้มาก ให้สม่ำเสมอ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
--- พระคติธรรม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ 19
.......#การทำบุญ.......
“..เมื่อเกิดมาเป็นคน รู้ตัวว่าเราจะต้องตาย จงรีบทำคุณงามความดีทำประโยชน์ไว้เสีย
การทำมากหรือทำน้อย ไม่เป็นปัญหา ขอให้ตั้งเจตนาให้ดี ให้เชื่อมั่นในบุญกุศลที่ตนทำนั่น จิตใจแน่วแน่อยู่กับกุศลอันนั้น ก็จะเป็นของมากอยู่เอง
ไม่ต้องเอาหน้า เอาเกียรติ ไม่ต้องเอาชื่อ เอาเสียง เอาเฉพาะใจของตนเอง ตั้งศรัทธาแน่วแน่เฉพาะบุญกุศลที่ตนทำเอง นั่นละ เป็นอานิสงส์มาก กุศลมาก ตรงนี้แหละ..”
โอวาทธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
" ถ้าเรา... ไม่ฝืนใจ ข่มใจ ในความรู้สึกที่มันไม่ดี ของเรา ในเวลานี้ หรือวันนี้...
ความเป็นปุถุชน ฅน...อันธพาลนั้น มันก็จะยังมีอยู่ ใน...สันดานของเรา เรื่อยไป."
หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
วันนี้อาตมาจะเล่านิทานที่เคยเล่าให้ฟังอีกครั้ง นั่งฟังสบาย ๆ ก็ได้นะ
กาลครั้งหนึ่ง มีลิงน้อยอาศัยอยู่บนภูเขา วันหนึ่งมันหนีลงเขาไปเที่ยวเล่นในป่า ระหว่างทางเจอไร่ข้าวโพดซึ่งกำลังออกฝักเบ้อเริ่มน่ากินจนเจ้าลิงน้ำลายสอ ลิงน้อยตะกลามเก็บข้าวโพดมาเต็มอ้อมแขนแล้วเดินต่อ แต่ยังเดินไม่ถึงไหนก็เจอต้นท้อที่มีลูกสุกแดงฉ่ำเต็มต้น มันเลยโยนข้าวโพดทิ้งแล้วเก็บลูกท้อมาสองลูก แต่ละลูกโตเสียจนมือลิงน้อยถือได้เพียงข้างละลูกเท่านั้น
ลิงน้อยเดินประคองลูกท้อมาเจอไร่แตงโม โอ้โห..ลูกแตงโมช่างใหญ่โตกว่าลูกท้อเหลือหลาย ไม่เอาแล้วลูกท้อ กินแตงโมดีกว่า.. จากนั้นก็พุ่งเข้าไปหมายจะเก็บแตงโม ทันใดนั้น.. มันก็เห็นกระต่ายน้อยกระโจนแผล็วหนีไปต่อหน้า มันจึงลืมเรื่องแตงโมเสียสนิท แล้วหันไปไล่กวดกระต่ายน้อยเข้าไปในป่า วิ่งไล่วนอยู่นานก็ไม่ทันสักที ท้ายสุดจึงต้องยอมแพ้ คราวนี้ เจ้าลิงน้อยหลงอยู่ในป่าลึกเสียแล้ว แถมยังไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาเลย
เจ้าลิงน้อยเข่าอ่อน ทรุดนั่งลงตรงโคนไม้ใหญ่ ทั้งเศร้าทั้งหวาดกลัว แต่แล้วมันก็ต้องตกใจที่จู่ ๆ ก็มีพระรูปหนึ่งมานั่งข้างๆ พระรูปนี้ตัวโต๊..โต.. แถมยังมีผิวสีชมพูแปลกตาอีกด้วย เมื่อเห็นว่าท่าทางท่านดูไม่น่ากลัว ลิงน้อยจึงปรับทุกข์กับท่านว่าตนกำลังหลงทาง พระอาจารย์ปลอบว่า “อย่าวิตกไปเลย มานั่งสมาธิด้วยกันดีกว่า พอจิตสงบ เจ้าจะพบทางออกจากปัญหาได้” จากนั้น ทั้งพระทั้งลิงก็นั่งสมาธิด้วยกัน
พอนั่งสมาธิไปสักพัก ..ปิ๊ง.. ลิงน้อยลืมตาขึ้น คราวนี้มันยิ้มออกแล้ว จัดแจงปีนต้นไม้ใหญ่ แล้วทอดสายตาลงไปเบื้องล่างจนไกลลิบ โน่นไง..เส้นทางที่จะกลับบ้านบนภูเขา
ไชโย้..ไชโย้...ไชโย….เจ้าลิงน้อยร้องลั่นด้วยความดีใจ จิตสงบจากสมาธิช่วยแก้ปัญหาได้จริง ๆ มันรีบปีนลงมากราบพระอาจารย์ด้วยความซาบซึ้งในพระคุณ จากนั้นก็ลากลับบ้าน
เจ้าลิงน้อยร้องเจี๊ยกแล้ววิ่งกลับบ้านอย่างมีความสุข เสียงเจี๊ยก ๆ ค่อย ๆ ห่างออกไปทุกที พระอาจารย์มองตามแล้วยิ้มอย่างมีเมตตา อีกไม่นาน เจ้าลิงน้อยก็จะกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ ส่วนพระอาจารย์ก็จะออกเดินธุดงค์ต่อไป
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ และศรีวรา อิสสระ
"จะรัก ก็รักได้ แต่ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอ ว่า เราจะอยู่ด้วยกัน ก็เป็นเรื่องชั่วคราว"
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
"ที่สุดของความรัก คือ รักโดยไม่ครอบครอง ที่สุดของการให้ คือ ให้โดยไม่หวังผล ที่สุดของทาน คือ อภัยทาน ที่สุดของคน คือ การเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข"
ท่าน ว วชิรเมธี
อาตมาฟังเทศน์ที่กุฏิท่าน (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) จิตมันรวมง่าย สมัยก่อนมันไม่ได้คิดอะไร ในสมองมันว่างหมด กำหนดจิตนิ่งมากแม้มันจะปวด สติเป็นหนึ่งเลย
ท่านเทศน์เป็นประจำเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์ท่านไม่ทิ้งเลย
การปฏิบัตินี่ถ้าขาดสติ จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมทั้งวันก็ไม่ใช่การภาวนา ท่านว่าเป็นเพียงอากัปกิริยา สติต้องมีสัมปชัญญะ
ขณะกำลังเดินจงกรมเราจะบริกรรมพุทโธก็ได้ ให้พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็น้อมพิจารณาไป
แต่ก่อนฟังไม่รู้เรื่องหรอก เพราะไม่มีใครสอนใครเทศน์เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องสลาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจในวันใดวันหนึ่ง แม้ไม่อยากจากก็ต้องจากกัน
#ฟังบ่อยๆใจมันก็เริ่มเข้าใจไปตามนั้น
#หลวงปู่คำพอง #ปัญญาวุโธ
'#หลวงปู่เจี๊ยะ #จุนโท' #ถามเรื่องนิมิตกับท่าน '#พระอาจารย์มั่น #ภูริทัตโต'
บางคราวเราสงสัยเรื่องนิมิตที่เกิดกับจิต จึงนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) ว่า "ครูบาจารย์ ถ้านิมิตเกิดขึ้นในขณะภาวนา จะให้ทำอย่างไร"
"ให้รำพึงถามไปว่าอะไร? หมายถึงอย่างไร? แล้วนิมิตก็จะอธิบายออกมาเอง"
จึงกราบเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า "ครูบาจารย์ ก็สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้น มันไม่ใช่ของจริงนี่ครับ"
"ก็มันเป็นเพียงของใช้ ของใช้ก็สำหรับใช้ ไม่ใช่จริง" ท่านพระอาจารย์มั่นตอบ แล้วยิ้มเปิดโลกด้วยความเมตตา
บางทีเริ่มภาวนาก็เกิดความสงบ บางคืนมีนิมิต นี้ไม่ใช่อวด เพราะเป็นถึงความจริง ก็กล่าวถึงความจริงที่มันเกิด
บางทีเราทำภาวนา หลับตาลงเห็นเป็นเหวลึกๆ อย่างหน้าหวาดเสียว วู้บบ!! ลงไปในเหวนั้นลึก ลึก จนสุดๆ โห!...นี่ ถ้าตกลงไปตายนะนี่ เอ้า!...ตายก็ตายซี่ เพ่งพิศดูรู้อยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวก็หายไป
บางทีตัวนี้ใหญ่ ใหญ่เท่าตุ่มโตๆ ขนาดนี้ (แสดงมือประกอบ) ตัวเรานี้เป็นตุ่ม ตัวเท่าตุ่ม นี้เรียกว่าอุคคหนิมิตที่มันเกิดขึ้น เอ๊ะ!...ทำไมจิตจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นต่างๆ แต่ทีนี้อบรมจิตเข้า อบรมจิตเข้า จิตก็สงบเข้าไป
เมื่อภาวนา จิตมักเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ก็นำข้อสงสัยนี้ไปกราบเรียนถามท่านว่า "ครูบาจารย์...กระผมภาวนา จิตเกิดนิมิตปรากฏเป็นอย่างนี้ จะให้พิจารณาอย่างไร?"
ท่านก็บอกว่า "ให้พิจารณากายนะ"
เมื่อท่านให้เงื่อนอย่างนั้น เราก็มาคิดพิจารณาด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิเอง พอใจเราสงบดี ก็คิดถึงเล็บหัวแม่มือ เล็บนิ้วชี้ เล็บนิ้วกลาง เล็บนิ้วนาง เล็บนิ้วก้อย ข้อนิ้วหัวแม่มือมีกี่ข้อก็นึกกำหนดตัด นิ้วนาง นิ้วก้อยกำหนดตัดให้หมด
ตัดเสร็จแล้วก็มาตัดรวบห้านิ้ว ตัดห้านิ้วแล้วก็มาตัดข้อตานกเอี้ยง ขึ้นมาตรงกลางศอก แล้วก็มาถึงข้อศอก แล้วก็มาตัดหัวไหล่ ตัดหัวไหล่เสร็จก็มาตัดแขนซ้าย เดินจิตอย่างนี้จนหมดทั้งสรรพางค์ร่างกาย
เมื่อกำหนดตัดทั้งหมดแล้วก็มาเจาะตา นึกให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ใบหูหลุด แก้มหลุด ทีนี้เอาล่ะ เอ้า!...เอาให้หมดทั้งหัว หัวเสร็จ ก็กำหนดตัดคอ ผ่าเอาออกไปวางเหมือนผ่ากบเขียดวางอยู่บนเขียง พิจารณายกขึ้นด้วยอำนาจไตรลักษณ์แล้ว วิจารด้วยภาวนามยปัญญามี่ฝึกมาดี
พอพิจารณายกขึ้นถึงที่สุด จิตได้อบรมด้วยปัญญาอันยิ่งก็สงลงไปเป็นอัปปนาสมาธิอย่างน่าอัศจรรย์แต่ลักษณะอย่างนี้มันทำยากมาก อันนี้ทีหลังไปดูในแบบแผนตำรับตำราซึ่งไม่เคยเรียนเคยดูมาก่อน มันก็มีอยู่ในตำรา เราก็ภูมิใจ
อยู่กับท่าน นับถือท่านเหมือนพ่อเหมือนแม่ จะทำจะคิดอะไร อันเป็นการส่งจิตไปโดยไม่มีขอบเขตแห่งธรรมเป็นเครื่องประคับประคองต้องระวังเดี๋ยวจะบาป ต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ท่านก็คงเห็นเราเป็นเหมือนลูก เพราะอยู่ลำบากด้วยกันกับท่าน และแล้วเมื่อถามปัญหาท่านเสร็จ ท่านก็เทศนาธรรมให้ฟังต่อไปเลยว่า
"ฟังให้ดีนะท่านเจี๊ยะ... ปฏิภาคนิมิตนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนา จึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคคหนิมิตนั้นเป็นของไม่ถาวร ต้องพิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อชำนาญทางปฏิภาค ทวนกระแสเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา
สำหรับอุปจารสมาธิ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถแก้นิวรณ์ได้ แต่โมหะคลุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จะต้องทำความรู้ให้เต็มเสียก่อนจิตจึงจะไม่หวั่นไหว
การที่จะสอนการดำเนินสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะเพียงอย่างใด อย่างหนึ่งนั้นมิได้ เพราะว่าจริตของคนมันต่างกัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะการดำเนินจิตมีหลายแง่หลายมุมแล้วแต่ความสะดวก
นิมิตทั้งหลาย เกิดด้วยปีติสมาธิอย่างเดียว ที่แสดงตามนิมิตออกมาทั้งหลายนั้น กรุณาท่านอย่าหลงตามนิมิต ให้พยายามทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม เพราะนิมิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง หลงเชื่อนิมิตประเดี๋ยวก็เป็นบ้า การที่จะแก้บ้านิมิตนั้น ต้องทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม ถ้าทำอย่างนั้นได้ อย่างบางทีเรานั่งภาวนาอยู่ตามป่าเขา มีเสือมานั่งเฝ้าเราผู้บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าเพียงลำพัง เสือนั้นเป็นเทพนิมิตเสียโดยมาก ถ้าเป็นเสือจริงมันเอาเราไปกินแล้ว"
ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาพูดธรรมะให้ฟังเพียงสั้นๆ เท่านี้ก็ก่อเกิดความกินใจเป็นอย่างยิ่ง นึกถึงธรรมะคำสอนและองค์ท่านเมื่อไหร่ น้ำตามันจะปริ่มไหลเพราะความถึงใจทุกที น้ำตานี้จึงเป็นน้ำตาที่มีคุณค่ามากนะ
............................. ที่มาของบทความ: คัดมาจากหนังสือประวัติ พระครูสุทธิธรรมรังษี หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง
|