เวลาในชีวิตของเรามีไม่มากนัก ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะไป จะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ ถ้าเราตามดูจิตเรา มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอ สติจะติดต่อเป็นวงกลม ปฏิบัติเช่นนี้เร็วเร็วมาก ปัญญามันจะเกิดขึ้น มันจะเห็นตามสภาวะมันเองทุกๆ อย่าง
หลวงพ่อชา สุภทฺโท
"คนเราส่วนมาก ถ้าอยู่เป็นสุขสบาย มีกินมีใช้ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่จนตรอกจนมุมชอบจะประมาท ไม่แสวงหาที่พึ่ง เวลาถึงคราวจนตรอกจนมุม จึงจะหาที่พึ่ง ปรกติส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น มันจะไม่ค่อยทัน ..
ให้เราเตรียมตัวเอาไว้ก่อน พึ่งทาน พึ่งศีล พึ่งพุทโธ ธัมโม สังโฆ..แหละ ใจจะได้มีที่เกาะ อย่างทานอย่างศีลนี้ ถ้าเราได้ทำไว้แล้ว ระลึกได้เมื่อไหร่จะเย็นใจ ไม่เหมือนทำความชั่ว ซึ่งคิดแล้วเศร้าใจไม่สบาย ..
ถึงเราจะภาวนาไม่เป็น แต่ถ้าว่าเราได้ให้ทานเอาไว้ รักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะศีลห้า ใจเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่มีอะไรเสียเลย ถึงคราวจำเป็นมาจะไม่มีที่เกาะเหมือนว่าเชือกขาด แล้วแต่ลมจะพาไป"
โอวาทธรรมคำสอน : หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม #จากหนังสือ สนฺติธมฺโมอนุสรณ์ พระสกล สันติธัมโม วัดศรีสว่าง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
" ถ้าเรา... ไม่ฝืนใจ ข่มใจ ในความรู้สึกที่มันไม่ดี ของเรา ในเวลานี้ หรือวันนี้...
ความเป็นปุถุชน ฅน...อันธพาลนั้น มันก็จะยังมีอยู่ ใน...สันดานของเรา เรื่อยไป
หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
หลวงพ่อคำบ่อบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งไปจำพรรษาอยู่กับชาวเขาเผ่าเย้า จ.เชียงราย ในปี 2505 ก็ตั้งกายตั้งใจไปแสวงหาความสงบ มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่ในกระต๊อบก็มีคน 3 คนไปหา แต่เขาเข้าใจผิดคิดว่าเราไม่อยู่ในสถานที่นั้น เขาจึงตะโกนเรียกหาใช้เสียงดังสุดเสียง ทำให้เรามีอารมณ์ข่มใจขืนใจไม่อยู่ เพราะคิดว่าเขาเหยียดหยามไม่เคารพต่อเรา ความคิดนี้เกิดขึ้นมาอย่างรุนแรง จึงคว้าเอามีดที่อยู่ในกระต๊อบออกมาหวังจะฆ่าพวกที่คิดว่าเขาดูถูกเรา ไปตะโกนเรียกเราในสถานที่นั้น นึกว่าตัดคอมันทั้ง 3 คน . พอเปิดประตูออกมาเห็นกิริยาของคนทั้ง 3 กราบลงทั้ง 3 ครั้ง เขากล่าวว่า “ขอโทษ พวกผมไม่รู้ว่าท่านอยู่ที่นี่” กิริยาที่แสดงออกของเขาทั้งกาย วาจา ที่เปล่งออกมานั้น บอกว่า ขอโทษ จิตมันวูบลง เมื่อเห็นเขาแสดงความเคารพเลยสะกดจิตไว้ได้เย็นลงทันที ความร้อนนี้ การสะกดจิตนี้อย่าไปสะกดคนอื่นเลย ให้สะกดจิตตัวเองนี้ ถ้าทำได้เวลาเกิดอารมณ์ ความยินดีบางทีให้คุณก็ได้ให้โทษก็ได้ ยินร้ายให้คุณก็ได้ให้โทษก็ได้ ยินร้ายให้คุณเมื่อได้สติปัญญาขึ้นมาไม่เช่นนั้นก็รู้สิ่งเหล่านี้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ . เรื่องของอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับจิต สิ่งเหล่านี้ต้องมีสิ่งกระทบนะ ที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ากระทบจิตเรียกว่า เจตสิกธรรม จึงจะนำอารมณ์ให้ยินดีและยินร้ายขึ้นมาได้ จึงให้สะกดจิตเราอย่ายินดีอย่ายินร้าย สมัยเป็นฆราวาสไม่กลัวเป็นกลัวตายมันอยากจะฆ่าคนอื่น ไม่รู้จักสะกดจิตตนเอง พอมารู้อรรถธรรมก็สะกดจิตได้ เกิดเมตตาสงสารได้ ยินดียังไงก็สะกดได้ โอกาสการทำชั่วผิดศีลผิดธรรมนั้นมีโอกาสทำได้ แต่เราสะกดจิตเราไม่ฆ่าไม่ทำลาย พอสะกดจิตอยู่แล้ว จะมีปัญญาขึ้นมาอีกที . พิจารณาให้เห็นประโยชน์ เห็นโทษ เห็นภัย ความยินดีก็ทุกข์ได้ ความยินร้ายก็ทุกข์ได้ ความโกรธที่มันมีขึ้นอย่างรุนแรงก็จะอ่อนลง ทำให้เกิดความเมตตาสงสารขึ้น ในเวลานั้นมาระลึกนึกว่า ถ้าเราฆ่าคนตายจะได้อะไรจากความตายของเขา เราได้อะไรจากการกระทำของเราเมื่อเขาตายไปแล้ว คือได้ความไม่สงบจะต้องถูกจับ ถูกตำหนิติเตียน ติดคุก ติดตะราง อย่างนี้หรือเป็นผู้มาแสวงหาความสงบ ระงับดับทุกข์ มันผิดจากสมณะ ผู้สงบระงับดับความชั่วความเลว ดับทุกข์ ดับโทษ อย่างที่ปรารถนาไว้เบื้องต้น . เมื่อได้สติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวขึ้นมาเช่นนี้แล้ว ความโกรธจึงค่อยระงับดับลง ไม่ได้ทำความชั่วถึงทำลายชีวิตผู้อื่นให้ถึงซึ่งความล้มความตาย ผิดจากความมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้เป็นเบื้องต้น เมื่อได้สติจึงพูดออกมาว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป อย่าได้พากันทำเช่นนี้อีก” . ส่วนเมื่อครั้งที่จำพรรษาอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย (ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) มีคนมาขโมยพระพุทธรูปหน้าตักประมาณ 9 นิ้ว เกิดอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง คิดจะไปฆ่าเขาทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังเป็นพระอยู่นี่ จะคว้ามีดไปฟันคอมันให้ขาดคาบ้าน เอาขนาดนั้น นี่ความคิดเวลาจิตมันฟุ้งขึ้นมา มันว่า เออ...เรานี่ไม่มีวาสนาละมัง เลยคิดแต่ว่าจะไปฆ่าเขานี่จะไปยังไงดี ก็ไม่พ้นจากการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ไปในเพศสมณะ คิดไปคิดมาอยู่นี่ . เวลาอารมณ์มันขึ้นมาแต่ละที คิดแต่จะไปฟันคอมันด้วยความกรุ่นความโกรธ กว่าจะได้สติปัญญาละเลิกความคิดนี้ได้ใช้เวลาอยู่เป็นเดือน เดินจงกรมก็แล้วหาวิธีแก้ความคิดที่จะไปฆ่าเขา ว่าเขาดูถูกเหยียดหยามเรา หาวิธีแนวทางให้จิตสงบระงับลงไปได้ใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนนะ เพียงคิดแต่จะไปฆ่าเขานี่มันก็เป็นทุกข์แล้วนะ คิดแล้วคิดอีกกลับไปกลับมาวกวน มันไม่ไปไหนแล้วนั่น ภาษาผู้ประพฤติปฏิบัติเรียกว่าจิตฟุ้งซ่านไม่สงบ นี่คือความที่จิตไม่สงบนะ มันเกิดอารมณ์อาฆาตพยาบาท คิดไม่นอกเหนือไปอย่างอื่น นอกจากการฆ่าเขานะ มองเห็นแต่คนมาร่วมกันขโมยพระอยู่ตลอดนะ ก็เลยเกิดอารมณ์นี้ คืออยากไปฆ่าเขาคนนั้นแหละ . เมื่อมันเกิดความโกรธแล้ว ความโลภ ความหลง ก็ตามกันมาทั้งชุดนั่นแหละ หลงไปจนตัวเองย่ำแย่ กินอยู่มันก็คิดจะไปฆ่าเขา เดินจงกรมก็คิดจะไปฆ่าเขา ไม่ธรรมดานะจิตใจนี้ ที่มันได้สติก็ต้องทบทวนดูว่า ได้ฆ่าเขาแล้วเราจะได้อะไรขึ้นมา เขาตายแล้วคนตายจะได้อะไร คนที่จะไปฆ่านี่ได้อะไร นี่มันวิตกวิจารอยู่ในความคิดนั่นแหละ พอมาคิดแล้วจิตใจมันอ่อนลง ว่ามันดียังไง มันมีโทษยังไง มันเสียยังไง พระพุทธรูปนี่มันได้ไป ก็คงไม่ได้เอาไปแกงกินนะ อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนกราบไหว้ คนไม่ไหว้ก็เทวดาไหว้ หรือไปซื้อไปขายอย่างมากได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท . มาทบทวนจิตใจนี้ว่าเขาก็จะกราบไหว้นั่นล่ะ พระพุทธรูปเรายังมีเยอะแยะตั้งสิบกว่าองค์ กราบเท่าไรก็ไม่หมดจะขี้เกียจกราบด้วยซ้ำไป จะกราบองค์เล็กก็ได้ องค์ใหญ่ก็ได้ จะไปคิดทุกข์ยากทำไมนี่ จะมาโกรธไปทำไม โกรธแล้วก็เป็นทุกข์ นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านรำคาญอยู่นั่น เวลามันเห็นโทษเห็นภัยแล้วว่า ถ้าฆ่าเขาคงติดคุกแน่นอน เราไม่ได้อะไร...ได้แต่ติดคุก เขาจะมาจับเข้าคุก ความเป็นพระของเราจะหายไปเมื่อโดนจับแล้ว ความทุกข์ ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นอีก . เมื่อมันเห็นโทษเห็นภัยพิจารณาไปอย่างนี้...ญาติโยมที่เคารพเทิดทูนเราว่า เป็นพระดีมีความสงบระงับเยือกเย็นเป็นสุข มันก็จะหายไปจากใจของผู้สักการบูชา มันจะหายไปหมดเลย ความเป็นพระก็ไม่มีแล้ว ความเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ความดีที่ทำไว้แล้วก็หายไปหมดไม่มีเหลืออะไร เขาก็จะมองเรานี่ว่า เป็นคนโหดร้ายทารุณ นี้มัน...ถ้าเราวิตกวิจารดู ท่านเรียกว่า ธัมมวิจยะ . เมื่อเราเดินจงกรมภาวนาไม่ว่าจะอยู่อิริยาบถไหน มันก็จะคิดทบทวน เห็นโทษเห็นภัยใจก็เลยสบาย แล้วก็มาคิดอีกว่าช่างหัวมัน สุดท้ายเงินหมดมันก็กลับมาขอข้าวก้นบาตรเรากินที่วัดตามเคย แล้วก็จริงมันก็มา...เราก็รู้อยู่...ความเสียดาย ยินดีพอใจในพระพุทธรูปอันนั้นก็หมดไปได้ จิตใจก็เลยสงบจากการกระทำนั้นได้ กายของเราก็ไม่ได้ทำบาป วาจาก็ไม่ได้พูดในทางที่เป็นบาป จิตใจก็ไม่ได้คิดในทางที่เป็นบาปอีกต่อไป เพราะเห็นภัยในปัจจุบันที่จะเกิดขึ้น . เช่น คำสอนที่ว่าทำชั่วแล้วจะตกนรก ต้องเข้าใจว่านรกนี่มันตกในปัจจุบัน ไม่ได้ไปตกที่ไหน เมื่อเราไปฆ่าเขาแล้วนี่ นรกก็เกิดขึ้นแม้แต่คิดที่จะฆ่า แค่นี้มันก็ตกนรกแล้ว มันมีแต่ฟุ้งอยู่ทั้งวันทั้งคืน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นอยู่อย่างนั้นความคิดนี่ไม่ใช่คิดแล้วจะจบไปเลย ต้องคิดอยู่เรื่อยๆ มันต้องพิจารณา วิตกวิจารจนจิตใจมันเยือกเย็น ไม่ใช่จะใช้เวลาแค่วันหนึ่งหรือสองวัน ต้องใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้ว่าจะปลงตกแล้วมันก็จะวูบขึ้นมาเป็นบางที เหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ทำให้มากเจริญให้มาก จนมีความชำนิชำนาญซาบซึ้งถึงใจจริงๆ ว่าบุญนั้นมีจริงๆ บาปนั้นมีจริงๆ . พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ภาวิตา พหุลีกตา คือทำให้มากเจริญให้มาก อันนี้ถ้าไม่คิดมันก็จะไม่เกิดปัญญา นักปฏิบัติ นักภาวนานี่ปัญญามันก็จะเกิดจากความคิดนี่แหละ ถ้ามันเข้าใจแล้วก็เป็นธรรมะเห็นโทษเห็นภัยได้ ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นกิเลสอยู่ ปัญญายังไม่เกิด มันก็ระงับอารมณ์ไม่อยู่ ต้องเห็นโทษเห็นภัยในการกระทำในการประพฤติปฏิบัตินั้น . คติธรรมคำสอน หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ทุกอย่างมันมีเหตุจึงเกิดขึ้น เหตุของมันก็คือนี่แหละความหลงคืออวิชชา ไปยึดโน่น ยึดนี่ อันที่จริงธรรมชาติทั้งหลายมันมีเหตุมาเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของมัน ถ้าเราไม่ไปมีอวิชชาไปยึดมั่นถือมั่น มันก็จะไม่มีทุกข์ ถ้าเราไปหลงยึดมั่นถือมั่น มันมีตัวมีตน ก็เป็นทุกข์ . พระอาจารย์ครรชิต สุทฺธิจิตฺโต วัดป่าภูไม้ฮาว จ. มุกดาหาร
" หลวงปู่สอนว่าการทำลายจิตใจคนเป็นบาปเหลือหลาย การให้กำลังใจคนเป็นกุศลมหาศาล...
ไม่มีใครช่วยให้เราพ้นเกิดตายได้ จะต้องใช้วิชาพระ ละเกิดตายด้วยตนเอง...
มีพระเครื่องแขวนที่คอก็ดี แต่ก็ควรมีพระรัตนตรัยแขวนที่ใจคุณด้วย...
เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส คุณย่อมแลไม่เห็นกรวดทราย หอย ปู ปลา ฉันใดเมื่อจิตคุณขุ่นมัว คุณย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนฉันนั้น...
สำรวมมือ สำรวมขา สำรวมจิต สำรวมตา หลับตาแต่ไม่ลืมตัว ดีกว่าลืมตาแล้วลืมตัว...
พัฒนาสิ่งใดไร้ค่า ถ้าไม่พัฒนาจิตไปด้วย...
ผู้ที่ชอบให้ย่อมเป็นเจ้าหนี้ ผู้ที่ชอบขอย่อมเป็นลูกหนี้ ผู้ที่เอื้อเฟื้อคือผู้มั่งมี ผู้ที่ตะหนี่คือผู้ยากจน...
อยากพ้นทุกข์ให้วางสุขในโลก อยากพ้นโศกให้วางสุขในเสน่หา จะดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ จะสูงต่ำก็อยู่ที่ทำตัว...
คนวิ่ง เห็นอะไรไม่ชัดเจน จิตวุ่นวาย รู้อะไรไม่แจ่มแจ้ง จิตหยุดวุ่นวาย จิตจึงเห็น จิตใสเย็น จึงเกิดญาณทัศนะ...
สมัยนี้ผู้ทรงความรู้มีมาก ที่หาได้ยากคือผู้ทรงธรรม...
จิตคนเราเหมือนลิง นิ่งไม่ได้ คุมจิตไว้จะได้สมอารมณ์หวัง สำรวมตาระวังปากรู้จักฟัง จิตคอยยั้งเพ่งกรรมฐานงานสำคัญ...
การภาวนาแม้เหนื่อยยาก ยอมลำบากอย่าท้อถอย สุดทางที่รอคอย คืออมตสุขสิ้นทุกข์ใจ..."
พระอาจารย์ บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
"..ศาสนาไม่ได้เสื่อมที่ไหนหรอก มันเสื่อมที่หัวใจคน บาปบุญคุณโทษมีอยู่ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลนั่นแหละ มรรคผลนิพพานก็มีอยู่อย่างเดิมน่ะแหละ ไม่มีใครยักย้ายไปไหน ไม่ได้ใหม่ ไม่ได้เก่า ไม่ได้เป็นของลึกลับ ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติอยู่ ศาสนาก็ยังมีอยู่ ผู้ไม่เชื่อบาป บาปก็มีอยู่ ผู้ไม่เชื่อบุญ บุญก็มีอยู่นั่นแหละ พระพุทธศาสนาไม่ได้ห่างหายไปจากสังสารที่ไหน พระพุทธศาสนาเป็นของคู่โลกคู่สังสาร ศาสนาไม่ได้เสื่อมไปไหน อยู่ในปัจจุบันนี่แหละ เรามันไม่เอากันเฉยๆ พวกเรามักเข้าใจว่าพุทธศาสนาอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่กับใจเรานี่แหละ กิเลสยังอยู่กับใจเราเลย แล้วธรรมจะไปอยู่ไหนถ้าไม่ได้อยู่ที่ใจ ถ้าศาสนาเป็นของล้าสมัย นรกสวรรค์ก็คงร้างแล้วล่ะ ก็มันนานแล้วนี่ พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด ขอให้ใจเรารับให้ได้เถอะ แล้วเราจะเห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ให้เห็นในภายในนี่ นรกยังมีตราบใดที่ยังมีมนุษย์ทำชั่ว สวรรค์ก็มีอยู่ตราบใดที่ยังมีคนทำดี มรรคผลนิพพานก็ยังมีตราบใดที่ยังมีคนปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเป็นของคู่โลกคู่สงสาร แม้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสหรือไม่มาตรัสก็แล้วแต่ สัจธรรมก็ยังมีอยู่ อย่าไปเข้าใจว่าพุทธศาสนาหายไปไหน มันขึ้นอยู่กับใจเราทั้งนั้น ว่าใจเราจะละได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง พวกเรามันเข้าใจเหมือนกาลเหมือนเวลา เอากาลไปจำกัดว่าศาสนาเป็นของเนิ่นนาน คงจะเสื่อมแล้วก็เลยไม่สนใจกัน ผู้ปฏิบัติก็มีน้อยลง ผู้เข้าถึงศาสนาก็แทบจะไม่มี ชาวพุทธอุบาสกอุบาสิกาก็แทบจะไม่เข้าถึงพระรัตนตรัย แล้วจะเข้าถึงมรรคผลได้ยังไง เราต้องปฏิบัติ เราจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าก็เข้าถึงทางนี้แหละ เราจะเข้าถึงธรรมถึงมรรคผลก็เข้าถึงทางนี้ ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติยังไงก็ไม่เสื่อมไปไหน.."
(โอวาทธรรม พระอาจารย์โสภา)
" ขอให้ท่านทั้งหลาย จงสำรวจดูความสุขว่า ตรงไหน ? ที่ตนเห็นว่า... มันสุขที่สุด ใน...ชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้ว มัน ก็แค่นั้นแหละ แค่...ที่เราเคยรู้ เคยพบมาแล้ว นั่นเอง
ทำไม ? จึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้น ไม่มี โลกนี้ ! มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่...แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุข ชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อ...แสวงหาสุข อันเกิดจาก... ความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุข ที่ปลอดภัย หาสิ่งใด...เปรียบมิได้เลย."
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จากหนังสือหลวงปู่ฝากไว้
หยุดชั่ว มันก็ดี
คนเราบางคน บางทีก็อยากจะเอาบุญ เช่น ผ้ายังสกปรกอยู่...ยังไม่ได้ทำความสะอาด แต่อยากจะย้อมสีซะแล้ว ลองเอาผ้าเช็ดเท้าที่ยังไม่ได้ฟอกไปย้อมสีดูซิ...มันจะสวยไหม ?
การไม่กระทำบาปนั้น...มันเลิศที่สุด บางคนบางคราว โจรมันก็ให้ได้ มันก็แจกได้ แต่ว่าจะพยายามสอนให้มันหยุดเป็นโจรนั่นนะ มันยากที่สุด
การจะละความชั่ว ไม่กระทำผิด...มันยาก "การทำบุญ" โจรมันก็ทำได้ มันเป็น..."ปลายเหตุ" "การไม่กระทำบาป" ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็น..."ต้นเหตุ"
หลวงพ่อชา สุภัทโท
ขัยยะ วัยยัง คือความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขาร เสื่อมไปดังก้อนน้ำแข็งที่ละลายเป็นน้ำ...
เราเกิดมา ก็เกิดเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
"วิธีขออโหสิกรรม" ต่อ "พ่อ - แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่" และ "พ่อ - แม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว"
"วิธีใช้หนี้พ่อแม่ไม่ยากเลยลูกทั้งหลายเอ๋ย...จงสร้างความดีให้กับตัวเอง การใช้หนี้ตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ
ตัวเราพ่อให้หัวใจ - แม่ให้น้ำเลือดน้ำเหลือง เราจะไปแสวงหาพ่อที่ไหนจะไปแสวงหาแม่ที่ไหนอีกเล่า
บางคนรังเกียจ "พ่อ - แม่" ว่าแก่เฒ่าไม่สวยไม่งาม พอตัวเองแก่ก็เลยถูกหลานรังเกียจ เป็นกงกรรมกงเกวียนยืดเยื้อกันต่อไป ใครที่เคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ - แม่ ให้ขออโหสิกรรมท่านซะ
คนที่ "พ่อ - แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่" เมื่อถึงวันเกิดของเราให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้พ่อ - แม่คนละ ๑ ชุด ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน
ตื่นเช้ามาไหว้พระสวดมนต์ จัดหาอาหารที่พ่อ - แม่ชอบ ให้ท่านรับประทานแล้วให้ท่านนั่งบนเก้าอี้พร้อมกันเอากะละมังใส่น้ำมาล้างเท้าท่านเอาผ้าเช็ดตัวมาเช็ดให้แห้ง เอาเสื้อผ้าที่ซื้อมาให้ท่าน แล้วพูดว่า
"กรรมใดที่ลูกได้ล่วงเกินคุณพ่อ - คุณแม่ ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ขอให้คุณพ่อ - คุณแม่อโหสิกรรมให้แก่ลูกด้วย"
เสร็จแล้วกราบเท้าท่าน ๓ ครั้ง เอาเท้าท่านทั้ง ๒ คนละข้าง เหยียบที่ศีรษะเรา ให้ท่านให้พรเรา นั่นแหละถึงจะล้างกรรมกันได้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดง "วิธีตอบแทนพระคุณพ่อ - แม่" แก่คฤหบดีบุตรที่ชื่อ "สิงคาลกะ" ว่า...
ดูกรคฤหบดีบุตรเมื่อพ่อแม่ได้อนุเคราะห์บุตรธิดาแล้วลูกหญิงชายพึงตอบแทนท่านโดยวิธี ๕ คือ
๑.ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ ๒.ช่วยประกอบกิจของท่านไม่ดูดาย ๓.ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อมเสียหาย ๔.ประพฤติตนให้สมควรได้รับมรดก ๕.เมื่อท่านล่วงลับจากโลกไป ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน
สำหรับ "พ่อ - แม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว" ให้กล่าวคำขออโหสิกรรมต่อท่าน โดยกล่าวดังนี้
"กายกัมมัง - วจีกัมมัง - มโนกัมมัง โยโทโส... อันว่าโทษทัณฑ์อันใด ที่ข้าพเจ้าพลั้งเผลอสติไป ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอให้คุณพ่อ - คุณแม่ อโหสิกรรมให้ลูกด้วย"
กล่าวเสร็จแล้วก็กราบลง ๓ ครั้ง
จากนั้นให้หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปด้วย "การเจริญพระกรรมฐาน"
การทำเช่นนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุด "ได้บุญทั้งผู้ให้และผู้รับ"
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะ มันหลงสังขารนี่เอง หลงอัตตานี่เอง
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
"คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม ให้ละชั่วประพฤติดี ชั่วนี้นำความพินาศชิบหาย ดีนี้นำพาความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างนั้น มันต่างกันเช่นนี้"
พระธรรมโอวาทพระราชปัญญาวิสารัท หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม เนื่องในวันมุฑิตาจิต อายุวัฒนะ ๙๔ปี
เมื่อเราเข้าถึงคุณธรรม.....เราจะเห็นทุกคนเป็นญาติ
พระเทพวชิรญาณ (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธัมโม)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
“วันหนึ่งก็ต้องจากกัน”
…ความทุกข์ของพวกเราที่มีอยู่กันทุกวันนี้ ทุกข์เพราะความหลงที่ไปคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เราได้มานี้เป็นของเราเป็นตัวเรา
.ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์ เราต้องมาเปลี่ยนความคิดใหม่ “ อย่าไปคิดว่าอะไรเป็นของเรา “
.ถึงแม้เราจะมีอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว วันใดวันหนึ่ง “ มันกับเรา..ก็ต้องจากกันไป “
.” เพราะร่างกายของเรามันต้องจากไป ” นั่นเอง ..ไม่มีร่างกายของใคร ที่จะอยู่คู่กับฟ้าดินไปได้ “ อยู่ชั่วฟ้าดินสลาย ..ไม่มี “.
………………………………………. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
วิบากกรรมของคนที่ไม่ดูแลพ่อแม่
"หลวงพ่อคะ ฉันกับสามีทำโรงงานผลิตเครื่องตกแต่งบ้าน ไม่เคยยัดไส้สินค้า ไม่เคยโกงลูกค้า แต่ทำไมทำมาหากินไม่ขึ้นล่ะคะ"
"โยมไม่ปฏิบัติพระในบ้านล่ะซิ"
"ในบ้านผมไม่มีพระครับหลวงพ่อ" สามีตอบ
"ถ้าจะมีก็คงมีพระพุทธรูปใช่ไหมคะ"
"ไม่ใช่หรอกโยม อาตมาหมายถึงคุณพ่อ - คุณแม่ของโยม เพราะโยมไม่ปฏิบัติท่าน โยมถึงได้ทำมาหากินไม่ขึ้น"
"ฉันก็เลี้ยงดูแกนี่คะ เพื่อนบ้านฉันเสียอีกที่เอาพ่อแม่ไปไว้บ้านบางแค"
"ขอทีเถอะนะโยม อย่ามองออกนอกตัวเลย ให้มองเข้ามาที่ตัวเรานี่แหละ มันมีข้อบกพร่องตรงไหนก็ค่อยๆแก้ไขไปโดยไม่ต้องไปเพ่งโทษผู้อื่น เข้าใจหรือยัง"
"เข้าใจค่ะ หลวงพ่อกรุณาบอกวิธีแก้ไขด้วยเถิดเจ้าค่ะ"
"เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังให้ดี โยมไม่ปฏิบัติพ่อแม่ หมายความว่าโยมให้ท่านอยู่ที่โรงงาน อยู่ห้องอับๆ มืดๆ ให้กินข้าวรวมกับพวกคนงาน ในขณะที่โยมอยู่บ้านหลังใหญ่กับสามีและลูกๆมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ที่อาตมาพูดมานี่จริงรึเปล่า"
"จริงค่ะ"
"ดีแล้วที่โยมยอมรับผิด ทีนี้อาตมาจะบอกวิธีแก้ไข โยมต้องรับท่านมาอยู่บ้านเดียวกับโยม กลับไปนี่ไปจัดการเสีย โยมกินดีอยู่ดีอย่างไร ก็ต้องให้พ่อแม่กินดีอยู่ดีอย่างนั้นด้วย"
"เอาละโยมกลับไปก็หาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอขมาท่าน เอาน้ำล้างเท้าให้ท่าน และให้ท่านอโหสิกรรมให้ แล้วกิจการของโยมก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ"
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
คนไม่น่าคบ
พระพุทธเจ้าสอนว่า อเปตจิตฺเตน น สมฺภเชยฺย ไม่ควรคบกับคนสิ้นคิด
คนสิ้นคิด คือ คิดได้แต่ไม่รอบคอบ คิดแต่เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นความคิดที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา นำพาทุกข์โทษมาสู่ตนและคนรอบข้าง
เมื่อความคิดของเขาเป็นเช่นไร วาจาและการกระทำก็ย่อมเป็นเช่นนั้น
โอวาทธรรม พระอาจารย์คม อภิวโร
ถาม : บางคนบอกว่าจิตใจฟุ้งซ่านเนื่องจากการทำงานทางโลก บางทีไม่สามารถทำสมถกรรมฐานได้ จริงหรือไม่ครับ?
หลวงพ่อตั๋น : จริงๆแล้ว การที่จิตใจฟุ้งซ่านสามารถทำสมถกรรมฐานได้ดี เพราะเราก็เริ่มทำสมถกรรมฐานจากการที่จิตใจฟุ้งซ่าน ครั้งแรกที่นั่งสมาธิภาวนา เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน ตอนนั้นเรียนอยู่ปี ๓ เรียนอยู่หอการค้าเรียนตอน ๑ ทุ่ม กลับบ้าน ๓-๔ ทุ่ม แล้วพอดี วันนั้นจิตมันปรุงแต่งไม่หยุด คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วสติมันเห็น เป็นครั้งแรกที่เห็นนะ สติมันเห็นว่า เอ๊ะ.. ทำไมจิตเรามันฟุ้งซ่านวุ่นวายอย่างนี้ ทำไมจิตไม่สงบ ทำไมจิตไม่นิ่ง ทำไมคิดอะไรไม่หยุด อยากจะหยุดนะ มันไม่หยุด นี่แหละฟุ้งซ่าน พอจังหวะโชคดีว่าได้เห็นพ่อของเรา พอวันพระท่านจะเข้าห้องพระนั่งสมาธินุ่งขาวเราก็เห็นเป็นแบบอย่าง และก่อนหน้านั้นเราก็ได้อ่านประวัติของหลวงปู่มั่น ซึ่งโยมพ่อได้ร่วมพิมพ์แล้วเอามาทิ้งไว้ที่ห้อง เราได้เปิดอ่าน ๒-๓ แผ่น
มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่สมัยหลวงปู่มั่นไปบําเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าที่เขาที่เชียงใหม่ ไปภาวนาอยู่กับพวกชาวเขาชาวดอย ท่านก็สอนให้พวกชาวเขาภาวนา โดยมีอุบายที่จะให้พวกชาวเขาช่วยเดินจงกรมไปมา เขาก็มาถามท่าน (หลวงปู่มั่น) ว่า ท่านหาอะไร? ท่านก็ว่าหา "พุทโธ" ชาวเขาถามว่าพุทโธเป็นยังไง? ท่านว่าพุทโธคือดวงแก้วที่สว่างไสว (ชาวเขาถามว่า) เราจะช่วยหาได้ไหม? ท่านว่า ได้ (ชาวเขาถามว่า) ให้เราทำยังไง? ท่านว่า ให้เดิน "ภาวนาพุทโธ"
เราคิดว่าพวกชาวเขาอยู่ป่าอยู่เขา และเราเป็นคนกรุงเทพฯก็มีทิฐิมานะ ชาวเขาชาวป่าคนชนบทยังภาวนาได้เลย เราคนเมืองทำไมจะภาวนาไม่ได้ เราก็เลยเข้าห้องพระ นั่งสมาธิ เพราะนั่งสมาธิแล้วสงบ ที่ปลายจมูก หายใจเข้า ลมสัมผัสปลายจมูก หายใจเข้าแล้วนึกถึงคำว่า "พุท" ลมสัมผัสปลายจมูก หายใจออกแล้วนึกถึงคำว่า "โธ"
ตอนแรกตอนนั้นรู้สึกว่าเราจะกำหนดรู้ลมแค่สัมผัสเท่านั้น พอกำหนดสติอยู่ตรงนี้จิตมันสงบเป็นสมาธิขึ้นมา จิตที่ฟุ้งซ่านมันหยุดเลย พอกำหนดที่ลม จิตอยู่ที่ลม มันก็ค่อยๆสงบ กายเบา จิตเบา มีสติเกิดขึ้น มันสงบเยือกเย็น พอเราเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งสมาธิ ลุกมาทำกิจธุระภายในบ้าน สติมันตั้งมั่น เราเลยเห็นผลอานิสงส์ของการทำสมาธิ หลังจากนั้นทุกครั้งที่เรามีความฟุ้งซ่าน มีความวุ่นวายใจเราจะนั่งสมาธิ
สมัยนั้นเราคิดว่าเราโชคดี แต่พอมาตอนนี้เราคิดว่าเป็นนิสัยปัจจัยเก่า เพราะทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิจิตใจเราสงบ เพราะฉะนั้น เรื่องว่าจิตใจฟุ้งซ่านมากๆ เนื่องจากการงานทางโลก ทำไมเราจะนั่งสมาธิไม่ได้ จริงๆยิ่งดี มันจะตัดอารมณ์ความฟุ้งซ่านออกไป ทำให้จิตสงบ และเมื่อจิตสงบแล้ว จะมีสติที่มาควบคุมใจให้คิดในสิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี
ทีนี้ตัวเราเองก็ฝึกจากตรงนั้น แล้วเราโชคดีที่สติเราค่อนข้างที่จะตั้งมั่น สติค่อนข้างที่จะเข้มแข็ง เพราะพออยู่ในอิริยาบถทั่วไป สติเราจะคุมจิตได้ ตอนนั้นเราเริ่มคุมอย่างไรรู้ไหม? สามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งว่า ให้เราคิดในสิ่งที่ดี เมื่อคิดดีเราพูดดี ทำดี แต่ถ้าเกิดเราฟุ้งซ่านคิดเรื่องไม่ดีปั๊บ สติปัญญาเราจะพิจารณาตัดเลย ละให้จิตว่างจากอารมณ์ ยิ่งเวลาฟุ้งซ่านมากถ้าเราอยู่บ้านเราจะนั่งสมาธิ ความฟุ้งซ่านก็หายไปอันนี้ทำได้
หลวงพ่อตั๋น ถิรจิตโต วัดบุญญาวาส อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี คัดลอกจาก หนังสือถามตอบปัญหาธรรม เล่ม ๑
#ต่อไปอย่าไปอ้อนวอนผีสางเทวดานะ
อย่าไปหาขูดต้นไม้ขอหวยขอเบอร์นะ เห็นพระมา. จะขอหวยขอเบอร์
#คนที่เขาถูกหวยถูกเบอร์. #ก็เพราะบุญเขาทำมาตั้งแต่อดีตชาติโน่น
คุณโยมเหมือนกันก็ทำบุญมาแต่อดีตชาติโน่นถึงได้เกิดเป็นคน พระพุทธเจ้าจึงสอนเราให้มีบุญ คิดถึงบุญกุศล คุณความดีที่ตัวเองทำเอามา
อย่าไปคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย
เหนือจากพ่อจากแม่ไป. สู้พ่อแม่เราไม่ได้นะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขนาดพ่อแม่เราตายจะมาบอกหวยบอกเบอร์เราไม่ได้
#จะไปขูดทำไมต้นไม้ #พ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหนยังช่วยเราไม่ได้
ลองคิดดูอย่าไปอยากได้เลย คนเราเนาะด้วยความอยาก ความโลภขึ้นครอบงำจิตใจทำให้มนุษย์เราหลง
#อย่างอาตมาเทศน์ #หลวงพ่อจะใบ้หวยไหมหนอ #ถ้าบุญไม่มีบอกก็ไม่ถูกหรอกโยม
เพราะเราไม่เคยสร้างบุญมา เราอย่าไปหลงใหลมันเลย สร้างคุณงามความดีสร้างบุญกุศลให้เป็นทางเดินเรา
#ท่านจึงตรัสย้ำในมรรคมีองค์8
เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ สติตั้งมั่นชอบ ระลึกชอบ หาเลี้ยงชีพชอบ
#อาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ลักเล็กขโมยผู้อื่น ไม่คดโกงผู้อื่น ไม่โกหกหลอกลวง ทำมาหาเลี้ยงชีพชอบประกอบอาชีพที่มันสุจริต ไม่ต้องทุกข์ทนทรมาน
#นี่แหละเกิดเป็นคนรู้จักทำเอา #อย่าไปคิดพึ่งผีสางเทวดาเลยมันไม่ได้หรอกโยม
คนเราอยากมาก คิดเกิดมาเคยทำบุญให้ทานมากแค่ไหน ถึงอยากจะถูกหวยถูกเบอร์ลองคิดดู จะเอาเงินบาทไปแลกเงินล้าน ลงทุนน้อยแต่เอามากมันถูกไหมล่ะลองคิดดู ยังกล้าลงทุนไหม
#ลงทุนบาทจะเอาตั้งหนึ่งล้าน
เราคิดดูเถอะนะ เราอยากมากเกินไป ความโลภขึ้นครอบงำจิตใจ ทำให้เราคิดแต่ทางไม่ดี
#พระพุทธเจ้าถึงสอนเราให้ประมาณให้พอเพียงกับตัวเอง อย่าทะเยอทะยานให้อยู่กับภูมิวาสนาบารมีของเรา
หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร
"พายุร้ายทำอันตรายได้น้อยกว่า วาจาส่อเสียด ยุแหย่ ใส่ร้าย นินทากัน"
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
“รีบสร้างกุศล เมื่อความตายยังมาไม่ถึง เมื่อความตายมาถึง เงินหนึ่งสลึงก็เอาไปไม่ได้”
หลวงปู่สาย เขมธมฺโม
"เราเห็นแล้ว กิเลสในใจของเรา เห็นด้วยปัญญาของเรา เราเห็นมันเกิดขึ้น เราก็ดับมันได้ กำหนดทัน ถ้าเราไม่เห็น หมายความว่า มันเกิดขึ้นเราก็ไม่เห็น ไม่ได้กำหนด ก็เรียกว่าไม่รู้ ไม่เห็น" ........................................... พระสุนทรธรรมากร(หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม 15 ม.ค.2533
" ถึงแม้จะไม่มีเงิน ไหว้พระทุกเช้าทุกเย็น นึกถึงคุณพระ ภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็เป็นมหากุศลแล้ว "
(หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา)
" "ศีล" เป็นส่วนสำคัญ ถ้าศีล ไม่มี จะไปสร้างความดีทุกอย่าง พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ
คนทำทานสักแสนครั้ง ถ้าไม่มี ศีลแล้วก็ช่วยไม่ให้ตกนรกไม่ได้ ศีลนี้จะมีเท่าไรก็ตาม รวมลง ในข้อใหญ่ก็มี ๒ อย่าง คือ
กาลศีล อย่างหนึ่ง
นิจจศีล อย่างหนึ่ง
คนที่รักษาได้บางกาลบางเวลา ไม่เสมอไป ก็เหมือนมืดบ้างแจ้ง บ้าง จะเป็นศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม เมื่อรักษา ไว้ไม่ได้ตลอดชีวิตแล้ว ก็เป็น "กาลศีล" ทั้งสิ้น
ส่วน "นิจจศีล" คือ สามารถ ปฏิบัติไปจนตาย โดยไม่ล้ม ความตั้งใจเลย จะเป็นศีล อะไรก็ตาม ก็ตั้งใจปฏิบัติไป จนตาย จนเผาไฟเลย ไม่เลิก ไม่รื้อ ไม่ถอน นี่อย่างนี้ดีมาก
แต่ไม่ว่าศีลอะไร ต่างกัน โดยชื่อและอานิสงส์เท่านั้น "
โอวาทธรรม ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ผู้หวังอรรถธรรม ความพ้นทุกข์จริง ๆ หลวงพ่อจึงอยากให้ตั้งใจภาวนาอยู่ที่บ้าน ฟังเทศน์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงตาวัดป่าบ้านตาดเรา ทางสถานีวิทยุ แล้วตั้งใจปฏิบัติ ติดขัดอะไรเทศน์ท่านบอกในนั้นหมด
ให้เชื่อหลวงพ่อนะ ที่หลวงพ่อพูดนี้ เข้าใจไหม ให้เข้าใจหลวงพ่อนะ อยากได้อรรถได้ธรรมจริง ๆ อยู่ที่บ้านไม่มีใครรบกวน ตั้งใจเอา อยู่ที่เราคนเดียว
หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร วัดป่าด่านวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
ฉบับที่ ๓๐ วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ สิงหาคม ๒๕๐๓ การภาวนาเพื่อส่งเสริมผู้รู้ให้เด่นขึ้นก็มี การภาวนาเพื่อทำลายผู้รู้ก็มี เป็นไปตามชั้นของจิต
ขั้นต้นต้องอบรมส่งเสริมผู้รู้ให้เด่นชัด จนปรากฏเป็นจุดของความสงบ เราวิดน้ำให้แห้งเท่าไร ยิ่งเห็นตัวปลาในน้ำชัด
การพิจารณาอาการของกายจะน้อยหรือมากอาการก็ตาม พิจารณาขยันเท่าไร ยิ่งจะเห็นความสงบของใจชัด เช่นเดียวกับเห็นตัวปลาที่วิดน้ำแห้งแล้วนั้น
กายเป็นของสำคัญสำหรับจิตที่ยังเกี่ยวข้องกับกาย ส่วนจิตที่เห็นแจ้งในกายจนปล่อยวางได้แล้ว กายไม่เป็นสำคัญ เป็นคนละชั้น
ฉะนั้นการทำลายผู้รู้จึงอยู่ในชั้นละเอียดของจิต จะนั่งอยู่ในที่เดียว แต่จิตได้ก้าวเข้าอยู่ในความละเอียดที่ควรจะละกิเลสได้หมด ก็ควรทำลายผู้รู้ได้เช่นกัน ข้อสำคัญอยู่ที่จิตละเอียด
เช่น สาวกของพระพุทธเจ้านั่งฟังเทศน์อยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์ก็ละกิเลสได้หมด การละกิเลสได้หมดก็แสดงว่า รู้เท่าจิตหรือทำลายจิตในขณะนั้น ๆ เอง ถ้าไม่รู้เท่าจิตหรือทำลายจิต ก็ติดหรือหลงจิตไปไม่รอดเช่นเดียวกัน
กายทุกส่วนเปรียบเหมือนน้ำ ปลาในน้ำเปรียบเหมือนจิตที่สิงอยู่ในกาย จงพิจารณากายให้มาก จะเห็นความสงบโดยไม่ต้องสงสัย
บัว #หลวงตามหาบัว #ธรรมะในลิขิต #ฉบับที่30
|