“เฮ็ดกะโต ทำกะโต ได้กะโต บ่มีไผเฮ็ดให้โตได้”
โอวาทธรรม หลวงปู่อร่าม ชินวังโส วัดป่าถ้ำแกลบ อ.เมือง จ.เลย
…ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ “ เป็นของโลกนี้อยู่แล้ว “
.เราเพียงแต่มาอาศัย มาใช้ไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นเอง เรามาตัวเปล่าๆ เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ
. เวลาตายไป เขาจับเราใส่โลง เขาก็ไม่ได้เอาของต่างๆ ที่เรามีอยู่ใส่โลงไปด้วย
.เราไปตัวเปล่าๆ แม้กระทั่งร่างกายนี้ เราก็ยังเอาไปไม่ได้ ร่างกายนี้.. “ ก็ถูกเผา กลายเป็นเถ้าถ่านไป “
.สิ่งที่จะติดตัวเราไป ก็มี..บุญและบาปเท่านั้นเอง .
………………………………………. กำลังใจ 4 กัณฑ์ที่ 58 ธรรมะ บนเขา 15/4/2544 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กระแส "ความร้อน" จากใจคนแต่ละคนนั้น เมื่อมันมารวมกัน ก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นมวลพลังงานความร้อน ที่ทำให้โลกวิปริต อากาศฟ้าฝนวิปริต
ด้วยกระแสจิตกระแสอารมณ์ร้อนๆ ของแต่ละคนเข้ามารวมตัวกัน มันมีอำนาจทำให้โลกวิปริตได้ ดูสิว่ามันมีอำนาจขนาดไหน ...
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
กรรมฐานทำทุกวันให้เสมอต้นเสมอปลาย
เวลานั่งปฏิบัติกรรมฐาน ให้หายใจให้ลมละเอียด ให้เสมอต้นเสมอปลาย ให้สติเรานี้ไปกับอารมณ์ที่หายใจเข้าออก ถ้าสมาธิเราดี สติก็ยึดมั่นอยู่ในจุดของสมาธิ มีทั้งรู้ทั้งเข้าใจมัน ทำให้เราเก็บหน่วยกิตไว้ในจิตใจได้มาก เมื่อเก็บไว้ได้มากแล้ว ก็จะมีพลังสูง หมายความว่า เราเก็บไว้ได้มาก เราจะแผ่เมตตาไปให้ใครก็จะได้รับผล เพราะมีพลังสูง บางทีเราทำใหม่ๆ ไม่ได้ทำทุกวันมันทำให้จืดจางแล้วก็หายไป ถ้าเราทำทุกวันเสมอต้นเสมอปลาย จะทำให้เรามีความคิดแปลกกว่าเดิม เมื่อก่อนเรามีความคิดไม่มากนัก คิดธรรมดาตามปกติ แต่จะมีแปลกออกมาที่เป็นความถูกต้อง มันจะทำให้เรารู้ของจริงได้
เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม ก็อย่าได้กังวล ทำให้ชำนาญ อย่าคิดว่าทำได้แล้วเลิกกกันไป เหมือนอย่างที่บางคนบอกว่าทำบุญแล้ว สร้างโบสถ์แล้ว สร้างศาลาแล้ว เลยไม่ต้องทำ เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องทำอยู่ทุกวัน เพราะการกระทำของมนุษย์นี้ มันเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าจึงสอนจุดนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดจากตรงนี้
ก็ต้องไปอยู่ตรงนั้น เลือกเกิด เลือกตายไม่ได้ ชัดเจน ถ้าเราทำกรรมฐานได้ปัจจุบันแล้ว อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ทำกรรมฐานให้ได้จังหวะ ให้ได้ปัจจุบันนั่นแหละตัวจริงอยู่ตรงนั้น
ญาติโยมเห็นอาตมาอยู่เฉยๆ คิดว่าไม่ได้ทำกรรมฐานหรือ มันไม่ใช่อย่างนั้น อาตมา หายใจ เข้า-ออก มีสติอยู่เสมอ จะหยิบอะไรก็มีสติ เพราะเคยแล้ว ชำนาญแล้ว หูได้ยินเสียงสติบอกทันที คนมาโกหกแท้ๆ อาตมาบอกก็ไม่เคยผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตามต้องทำให้ชำนาญเชี่ยวชาญ ชำนาญการ มองเห็นอะไรสติจะบอกเลยว่า ของนี้ดีหรือชั่วประการใด คนนี้คบได้หรือไม่ หรือพูดเชื่อถือไม่ได้ ไม่เคยพลาด ที่เราพูดเล่นกันนั้นอีกเรื่องหนึ่งมันคนละอย่างกัน
คัดลอกจาก หนังสือ แก่นแท้แห่งพระกรรมฐาน พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) หน้า ๓๔-๓๕
พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็น "พระชนกกุมาร" นั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆมากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น
แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน
พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ
เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก
พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?
พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวัลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช
หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน? พระองค์ก็ทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส
นี้คือในสมัยที่พระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอดอันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก
ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร
ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้
เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกันมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ
ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา
มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น
หลวงปู่ชา สุภัทโท
"ชีวิตเราเหมือนกับเราพายเรือ ถ้าเราเผลอน้ำก็จะเข้าเรือ เราต้องรักษาหัวเรือหางเรือให้ดี ถ้ารักษาไม่ดีมันก็จะหันหลังกลับไป กลับมา ในที่สุดก็จมลงทะเล สติก็เหมือนกับเราพายเรือ บังคับหางเรือ ไปให้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าขาดสติมันก็ไปไม่ถึงฝั่ง ฝั่งในที่นี้ก็คือความหลุดพ้น ไม่ตกลงไปในทะเลหลง มีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อาศัยสิ่งเหล่านี้ข้าม ทะเลทุกข์ ทะเลหลง ..."
คติธรรม หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
"...ผู้ทำความเพียร จะต้องเป็นผู้รักษาสัจจะ คือว่า ให้มีสัจจะธรรม ตั้งใจอย่างไรแล้ว ต้องรักษาสัจจะ อย่าทำลายสัจจะ
สัจจะ เมื่อตั้งให้ถูกต้อง ตามอรรถตามธรรมแล้ว จะเกิดเป็นพลังของจิต อย่างดีเยี่ยม.."
โอวาทธรรม หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
"..ธรรมทุกบททุกบาท ที่ศาสนาสอนไว้ ล้วนเป็น ธรรมรื้อขนสัตว์ ผู้เชื่อฟัง พระองค์ ให้พ้นไปโดยลำดับ
จนถึงขั้นธรรม ที่ไม่กลับมาหลงโลก ที่เคยเกิดตายนี้อีกต่อไป..”
โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"..ไม่เห็นตนเป็นกาย ...ไม่เห็นกายเป็นตน ...ไม่ให้ตนมีในกาย ...ไม่ให้กายมีในตน พุทธะ คือผู้รู้ ธัมมะ คือธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สังฆะ คือผู้ปฏิบัติ ใครล่ะเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติ เราเองนี่ล่ะเป็นพระสงฆ์ มาทำจิตใจของเรา ให้เป็นพระ ฆราวาสญาติโยม ก็เป็นพระได้เหมือนกัน รักษาได้แค่ศีลห้าก็เป็นพระได้เหมือนกัน ให้ลงมือปฏิบัติชำระจิตใจไม่ให้ ไปในทางชั่วช้าเสียหาย ทำได้ปฏิบัติได้ก็ชื่อว่าพระสงฆ์ คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อเป็นพระแล้วก็มีพระองค์เดียวรูปเดียว คือจิตใจ ทำจิตใจให้มันเป็นพระ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ น้อมเข้ามาในดวงจิตดวงใจ ดวงจิตดวงใจคือดวงธรรม ของดีวิเศษสุดอยู่ที่นี่ นอกจากจิตจากใจแล้วไม่มีอันไหนดี วิเศษเท่าจิตเท่าใจของตนเอง.."
โอวาทธรรม หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
#ความตาย
"ความตาย" คือปรากฏการณ์สามัญของชีวิตที่ใครๆ ก็มองเห็นได้ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ภายในมิติดำมืดของความตายนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ? "หลวงพ่อพุธ ฐานิโย" ชีวิตของท่านเคยผ่านทั้งอุบัติเหตุร้ายแรงและอาพาธหนักจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอดประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ท่านมีโอกาสได้เข้าใกล้อีกมิติหนึ่งของชีวิตที่ลึกลับเกินกว่าที่ใครจะกล้าเข้าหา นั่นก็คือ "ความตาย" เพราะรู้สึกว่า ความตายสามารถเกิดขึ้นกับชีวิตได้ตลอดเวลา หลวงพ่อพุธจึงคิดว่า ก่อนจะตาย ท่านควรจะรู้ก่อนว่า จริงๆ แล้ว ความตายคืออะไรกันแน่ จากนั้นก็เร่งฝึกสมาธิหามรุ่งหามค่ำ จนในที่สุดก็เกิด "นิมิตเกี่ยวกับความตาย" ปรากฏขึ้นมาให้ท่านได้รู้ได้เห็น
เรื่องนี้มีบันทึกในหนังสือ "ฐานิยัตเถรวัตถุ" ซึ่งท่านได้เล่าไว้เอง ดังนี้
ในที่สุด วัณโรคมันก็หาย แต่เวลามันจะหายจริงๆ นี้ มันก็มาอาศัยสมาธิของเรานี่แหละ ที่เราปฏิบัติกันอยู่ คือว่า อยู่มาวันหนึ่ง จิตมันก็นึกขึ้นมาว่า เราป่วยเป็นวัณโรคนี่ ไหนๆ เราก็จะตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนจะตาย เราควรจะรู้ก่อนว่า ความตายคืออะไร?
วันนั้นตั้งใจนั่งสมาธิดูความตายตั้งแต่ ๓ ทุ่ม จนกระทั่งถึงตี ๓ การปฏิบัติด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากมี อยากเป็น กิเลสมันไปปิดบัง เราปฏิบัติด้วยความอยาก แม้แต่จิตสงบมันก็ไม่มี เมื่อจิตไม่สงบ มันก็ไม่รู้เห็นความตาย จนกระทั่งถึงตี ๓ รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยพอสมควร พอเรามาคิดว่า โอ๊ย...วันนี้ไม่ไหวแล้ว ก็ไปยึดลมหายใจไม่ลดละ มันตามลมออกตามลมเข้าอยู่อย่างนั้น จิตมันก็รู้เฉยอยู่ตามธรรมชาติของมัน ลมหายใจก็หายใจอยู่ตามธรรมชาติ มันมองเห็นลมวิ่งออกวิ่งเข้าเป็นท่อยาวเกลียวเหมือนหลอดไฟนีออน มันวิ่งตั้งแต่ปลายจมูกลงมาถึงสะดือ มันวิ่งอยู่อย่างนี้ บางทีมันก็วิ่งออกข้างนอก แล้วก็วิ่งเข้ามาข้างใน สลับกัน
แล้วในที่สุด พอมันออกข้างนอก มันก็หมุนเป็นเกลียว สว่างขึ้นไปเบื้องบน ความสว่างไสวมันก็เกิดขึ้น พอไปถึงเบื้องบนแล้ว มันก็ย้อนกลับมา คล้ายๆ กับว่า มันจะไปข้างหน้า มันก็ห่วงหลัง จะอยู่หลังก็อยากไปข้างหน้า มันย้อนขึ้นย้อนลงอยู่อย่างนั้น ในที่สุด มันก็ตัดสายสัมพันธ์ขาดไป แล้วหมุนเป็นเกลียวขึ้นไป แล้วสายสัมพันธ์นี้มันขาด พอขาดปุ๊บ ร่างกายหายหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว นิ่งสว่างไสวอยู่ คล้ายๆ กับว่า ในจักรวาลนี้มีแต่จิตของเราดวงเดียวเท่านั้นสว่างอยู่
สักพักหนึ่ง มันก็ย้อนลงมามองดูร่างกายที่นอนอยู่ มองลงมาทีแรก มองเห็นสบง จีวร ห่อหุ้มอยู่อย่างดี เอ้า! ลำดับต่อไป จีวร สบง หายหมด มีแต่ร่างกายเปลือยเปล่า ยังเหลือแต่ชุดวันเกิด ในลำดับต่อไป ร่างกายมันก็ขึ้นอืด ตีนกาง มือกาง น้ำเหลืองไหล ลงผลสุดท้าย เนื้อหนังพังไปทีละชิ้นสองชิ้น จนกระทั่งยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วในที่สุด โครงกระดูกที่เป็นโครงสร้างมันก็ทรุดฮวบลงไป ในลำดับต่อไป ชิ้นกระดูกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ แล้วในที่สุด มันก็แหลกละเอียด มันเหมือนกับขี้เถ้าโปรยอยู่ในดินทราย แล้วในขณะจิตนั้น มันก็หายจมลงไปในผืนแผ่นดิน แล้วก็เกิดความว่างขึ้นมาอีก
สักพักหนึ่ง ผืนแผ่นดินก็ปรากฏขึ้นมาอีก กระดูกที่มันหายจมไปในผืนแผ่นดิน มันก็โผล่ขึ้นมา มองๆ ดูแล้ว มันยุบยิบเหมือนหนอนบ่อน พอมันโผล่ขึ้นมาเต็มที่แล้ว มันก็เกาะกันเป็นก้อนเป็นท่อน ก้อนเล็กก้อนน้อย แล้วก็จับกันเป็นแท่งกระดูกโดยสมบูรณ์ แล้วพอมันประสานกันเป็นโครงสร้าง คือตอนที่มันวิ่งมาประสานกันนี่ กะโหลกศีรษะกระโดดมาปุ๊บ กระดูกคอ กระดูกสันหลัง วิ่งเข้ามาต่อ กระดูกซี่โครงก็วิ่งเข้ามาประสาน กระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกมือ กระโดดเข้าไปประจำที่ของใครของเรา แล้วก็ประสานกันเป็นโครงสร้างเสร็จ
เนื้อมันเริ่มงอก มันเริ่มงอกระหว่างข้อต่อของกระดูก งอกลามไปทั่ว จนกระทั่งมันมีเนื้อเต็มสมบูรณ์เต็มที่ แล้วเนื้อเป็นสีแดงที่เรามองเห็นเหมือนกับลอกหนังหมู มันค่อยๆ แห้งกร้านเข้าไป กร้านเข้าไป เปลี่ยนจากแดงเป็นสีเหลือง จากเหลืองเป็นสีขาว แล้วก็เป็นผิวอย่างธรรมดา ผม ขน เล็บ มันก็บังเกิดขึ้นสมบูรณ์แบบ แล้วมันก็ย้อนกลับไปกลับมาอย่างนั้น ... จำได้ว่ามันเป็นอยู่ถึง ๓ ครั้ง
ทีนี้ พอมันจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมานี่ ความสว่างที่มันลอยเด่นมันไหวตัว แล้วทรุดลงมาปะทะหน้าอก รู้สึกแผ่วๆ เหมือนอะไรมาสัมผัสแผ่วๆ แล้วหลังจากนั้น ความรู้สึกในทางกายนี่มันซู่ซ่า วิ่งไปตามเส้นสาย มันเหมือนกับฉีดยาแคลเซียมเข้าเส้น
ทีนี้ จิตมันก็กำหนดรู้ของมันเองโดยธรรมชาติ ความตั้งใจอะไรต่างๆ ในขณะนั้นมันไม่มี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเองหมด
ทีนี้ พอมันหยุดซู่ซ่าแล้ว จิตมันก็มีคำถามขึ้นมาว่า...นี่หรือคือความตาย? คำตอบก็ผุดขึ้นมารับว่า...ใช่แล้ว
พอหลังจากนั้น มันก็อธิบายฉอดๆๆๆ ... ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูล เน่าเปื่อย โสโครก ยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกมันก็ทรุดลงไป แหลกละเอียด หายจมลงไปในผืนแผ่นดิน เพราะว่าร่างกายเรานี่มันก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่ มันก็เป็นรูปเป็นร่าง เดินเหินไปมาได้ ทำอะไรได้ เมื่อมันตายลงไปแล้ว มันก็กลับไปสู่ที่เก่าของมัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ... ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีที่ไหน
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ "ฐานิยัตเถรวัตถุ" หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
"ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน นั่นคือ ไม่ต้องการให้คนอื่นมาพูด ให้เราเกิดความ ไม่สบายใจ ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็ต้องรู้ตัวเอง ว่าไม่ควรทำ ไม่ควรพูดให้คนอื่นมีความเดือดร้อน เป็นทุกข์จากตัวเราเช่นกัน"
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
“ความวิตกกังวล เป็นเพียงแขกที่มาเยือนจิตใจ ไม่ใช่ผู้อาศัยประจำ เวลามาก็ไม่ต้องต้อนรับ หรือขับไส เพียงแค่รับรู้ว่า เป็นสักแต่ว่าความคิด เป็นแขกที่เรา ไม่ยินดีต้อนรับ
ถ้าฝึกฝนจิตใจอย่างนี้ ด้วยความอดทนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะสร้างอุปนิสัยทางใจที่เข้มแข็ง ความวิตกกังวล จะจางหายไปเอง”
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
|