พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 06 พ.ค. 2021 8:00 am
“อามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา”
ธรรมะรุ่งอรุณ
๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ต้องมาจากผู้ ปฏิบัติบูชาเท่านั้น ไม่มีผู้ใดที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ด้วยการมาจากอามิสบูชา
การบูชาในพระพุทธศาสนานี้มีอยู่ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือ ๑. อามิสบูชา และ ๒. ปฏิบัติบูชา นี่คือวิธีบูชาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ของชาวพุทธเรา พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ๒ รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกเรียกว่า “อามิสบูชา” คือการบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ เช่น ดอกไม้ธูปเทียนหรือการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใส่บาตร การถวายสังฆทาน การถวายผ้าป่าผ้ากฐิน การสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ สร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างพระพุทธรูป สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ให้แก่พระพุทธศาสนา คือการทำบุญทำทานด้วยวัตถุทาน นี่คือวิธีบูชาด้วยอามิสบูชา พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าการบูชาด้วยอามิสบูชานี้ได้บุญน้อยกว่าการบูชาด้วยการปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยอามิสบูชา อานิสงส์ก็จะพาให้ผู้บูชาเวลาตายไปได้เกิดในสุคติ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ส่วนผู้ที่บูชาด้วยการปฏิบัติบูชาจะได้พระนิพพาน จะได้การหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ผู้บูชาด้วยอามิสบูชายังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสุคติ คือตายจากมนุษย์ก็ไปเป็นเทวดา จากเทวดาลงมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ มาทำบุญทำทานใหม่แล้วก็กลับไปเป็นเทวดาใหม่ จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติบูชาก็จะได้บรรลุโลกุตตรธรรม ได้วิมุตติ ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวก เริ่มตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการบูชา ๒ รูปแบบนี้ การบูชาที่ถูกต้องที่สุดที่ดีที่สุดก็คือการปฏิบัติบูชา เพราะนี่คือเจตนารมณ์ของการประกาศพระธรรมคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แก่สัตว์โลก เป้าหมายก็คือให้สัตว์โลกได้หลุดออกจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้เอง เพราะถ้าไม่มีการสั่งการสอนของพระพุทธเจ้าให้แก่สัตว์โลก สัตว์โลกจะไม่รู้จักวิธีที่จะดึงใจของตนให้หลุดออกจากสังสารวัฏจากไตรภพได้เลย ดังนั้นผู้ใดอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงต้องบูชาด้วยการปฏิบัติบูชา ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งคำสอนของเรา ผู้นั้นแลคือผู้บูชาเราตถาคต ถ้าอยากจะบูชาเราขอให้บูชาด้วยการปฏิบัติบูชา แต่ถ้ายังไม่สามารถปฏิบัติบูชาได้ ก็ให้บูชาด้วยอามิสบูชาไปก่อน เพราะการบูชาด้วยอามิสบูชาจะเป็นการปูทางสู่การปฏิบัติบูชาต่อไป ดังนั้นสำหรับผู้ที่เริ่มต้นก็เริ่มต้นด้วยอามิสบูชา กราบไหว้พระพุทธรูป จุดธูปเทียน ถวายธูปเทียนดอกไม้ ถวายเครื่องสักการะต่างๆ แล้วก็ทะนุบำรุงพระศาสนาตามโอกาสตามกำลังของตน ใส่บาตรได้ก็ใส่บาตร ใส่บาตรไม่ได้ก็รอไปถวายสังฆทาน รอไปถวายผ้าป่าผ้ากฐิน หรือร่วมสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ร่วมสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์สร้างกุฏิสร้างศาลา สร้างที่ปฏิบัติธรรม สร้างห้องน้ำสร้างอะไรต่างๆ อันนี้เรียกว่าอามิสบูชา ผลก็คือได้สุคติได้เป็นเทวดา แต่ต้องไม่ทำบาปด้วย ถ้าทำบาปมากกว่าทำบุญ ผลของการทำบุญจะยังไม่เกิด เพราะจะถูกผลของบาปดึงเอาไปก่อน ดึงให้ไปเกิดในอบาย แต่ถ้าทำบุญแล้วก็ไม่ทำบาป ตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติอย่างแน่นอน แต่ยังต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป กลับมาแก่มาเจ็บมาตาย กลับมาทำบุญต่อแล้วก็กลับไปเป็นเทวดาต่อ หมุนเวียนไปอย่างนี้ในโลกของการเวียนว่ายตายเกิด
ถ้าอยากจะออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องกลับมาแก่มาเจ็บมาตายอยู่เรื่อยๆ ก็จะต้องหัดปฏิบัติบูชากัน การปฏิบัติบูชาก็เริ่มด้วยศีล สมาธิ และปัญญา เริ่มด้วยศีล ตามด้วยสมาธิ ตามด้วยปัญญา ศีลก็ต้องเพิ่มจากศีล ๕ ขึ้นไปเป็นศีล ๘ เช่น เริ่มต้นก็หัดถือศีล ๘ ในวันหยุดทำงานที่เราเรียกว่าวันพระ สมัยก่อนวันหยุดทำงานจะตรงกับวันพระ สมัยนี้บางทีวันหยุดทำงานไม่ตรงกับวันพระ เราก็ต้องถือวันหยุดทำงานเป็นวันพระเป็นวันที่เราจะไปปฏิบัติบูชากัน วันพระนี้มีไว้เพื่อปฏิบัติบูชาเพื่อที่เราจะได้มีเวลาไปวัดไปปฏิบัติศีล ศีล ๘ ไปปฏิบัติสมาธิ ไปปฏิบัติปัญญาด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม วันพระเป็นวันฟังธรรม วันธัมมัสสวนะ นี่แหละคือวิธีบูชาพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เราบูชากัน ถ้าอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าให้บูชาด้วยการปฏิบัติบูชา อย่าบูชาด้วยอามิสบูชาเพียงอย่างเดียว อามิสบูชาก็บูชาไปตามความเหมาะสม ตามเหตุการณ์ มีความจำเป็นจะต้องสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ก็สร้างกันไป มีความจำเป็นจะต้องสร้างพระพุทธรูปก็สร้างกันไป แต่อย่าทำแต่อามิสบูชาเพียงอย่างเดียว ต้องทำปฏิบัติบูชาควบคู่ไปด้วยถึงจะได้บูชาพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เช่น อาทิตย์หนึ่งวันหยุดเข้าวัดกัน เข้าวัดไปปฏิบัติบูชากัน เพราะวันพระที่เราเข้าวัดนี้จะมีการปฏิบัติบูชาในวัดกัน มีอามิสบูชาด้วยใส่บาตรถวายอาหารภัตตาหารให้กับพระสงฆ์ แล้วก็ฟังเทศน์ฟังธรรมก็จะได้ปฏิบัติปัญญา แล้วก็นั่งสมาธิกัน รักษาศีล ๘ กัน ถ้าปฏิบัติในอุโบสถในโบสถ์ศีล ๘ ก็จะเรียกว่าเป็นศีลอุโบสถ แต่ก็เป็นศีล ๘ เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่สะดวกปฏิบัติที่วัดเพราะยังมีภารกิจต้องกลับไปเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวหรือมีภาระอะไรที่มาค้างคืนที่วัดไม่ได้ ก็ต้องมาแบบเช้าเย็นกลับ มาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้าไหว้พระสวดมนต์ได้ก่อนจะกลับก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ แล้วค่อยกลับไปรักษาศีล ๘ ต่อที่บ้าน แล้วก็ไปปฏิบัติต่อที่บ้าน ไปไหว้พระสวดมนต์ที่บ้าน ไปนั่งสมาธิที่บ้าน ไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่บ้านก็ได้
สมัยนี้มีธรรมไปถึงบ้านเราหลายทางด้วยกัน มีเครื่องเล่นซีดีก็เปิดฟังได้ มีเครื่องเล่นแฟลชไดร์ฟก็เปิดฟังได้ มีหนังสือธรรมะก็อ่านได้ สมัยนี้เราไม่จำเป็นจะต้องเข้าวัดเพียงอย่างเดียถึงจะได้ปฏิบัติธรรม ถ้าอยู่บ้านแล้วมีเวลาไม่มีใครมารบกวน อยู่บ้านที่สงบเงียบก็สามารถที่จะปฏิบัติบูชาได้ แต่ก็ไม่ดีเท่ากับการไปปฏิบัติบูชาที่วัด เพราะวัดนี้เป็นที่พร้อมกว่า ถ้าเปรียบก็เหมือนโรงพยาบาล รักษาตัวที่บ้านกับรักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลนี้พร้อมมากกว่า มีเครื่องไม้เครื่องมือมีแพทย์มีพยาบาลตลอดเวลา ถ้ารักษาที่บ้านก็อาจจะมีแพทย์พยาบาลมาเยี่ยมเป็นช่วงๆ เครื่องไม้เครื่องมือก็อาจจะมีไม่ครบ ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาลนี้จะมีทุกสิ่งทุกอย่างครบบริบูรณ์ที่จะคอยรักษาร่างกายให้หายได้ การไปวัดก็เป็นเหมือนการไปรักษาจิตใจ ที่วัดมีเครื่องมือพร้อมมากกว่าที่บ้าน รักษาจิตใจที่บ้านนี้อาจจะไม่หายแต่ถ้าไปรักษาจิตใจที่วัดนี้หายเหมือนกับการไปรักษาที่โรงพยาบาล ดังนั้นผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติบูชาก็ควรเริ่มอาทิตย์ละ ๑ วัน วันที่ว่างจากภารกิจการงานต่างๆ แล้วก็ไปวัดที่มีการปฏิบัติบูชา วัดที่มีการแสดงธรรม วัดที่มีการนั่งสมาธิ วัดที่มีการรักษาศีล ๘ พอเราไปอยู่ที่สถานที่ที่มีการปฏิบัติเหล่านี้ เราก็จะได้ร่วมปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ที่สถานที่นั้น เราก็จะได้เริ่มปฏิบัติบูชากัน
เมื่อเราได้เริ่มทำแล้วต่อไปเราก็จะอยากทำเพิ่มมากขึ้น เพราะประโยชน์สุขที่ได้จากการปฏิบัติบูชามันได้ดีกว่าได้มากกว่าประโยชน์ที่ได้จากอามิสบูชา ก็อยากที่จะมีการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น อาจจะไปวัดเพิ่มมากขึ้น จากอาทิตย์ละ ๑ วัน ไปเป็น ๒ วัน เป็น ๓ วัน ต่อไปก็อาจจะไปอยู่วัดนานๆ หรืออยู่แบบไม่กลับเลยเพราะ “รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง” พอได้สัมผัสกับรสของธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติบูชาแล้ว ใจจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ จะน้อยลงไป จะทำให้ไม่อยากจะกลับไปบ้านเพราะเวลากลับไปบ้านทีไรนี้ความวุ่นวายมันกลับมาทันที กลับไปหาความวุ่นวาย พอไปอยู่วัดนี้ความวุ่นวายหายไป ก็จะเห็นคุณค่าของการไปอยู่วัดการไปปฏิบัติที่วัดก็เลยอยากจะอยู่วัดไปเรื่อยๆ บางท่านก็เลยบวชเลยจะได้ไม่ต้องมากังวลเกี่ยวกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะเมื่อเป็นนักบวชแล้วก็จะมีผู้ยินดีที่จะสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อยู่วัดไม่มีวันอดตาย แต่ต้องอยู่ด้วยการปฏิบัติบูชา ถ้าอยู่ด้วยหมาวัดก็จะไม่ได้ประโยชน์ หมาวัดก็ไม่อดตายเหมือนกัน แต่อยู่แบบหมาวัด คือเอาแต่กินแต่นอน ซึ่งถ้าเจ้าอาวาสรู้เข้าก็อาจจะไล่ออกจากวัดไป ถ้าใครไปอยู่วัดเพื่อหวังที่จะไปอาศัยวัดเป็นที่อยู่ที่กินที่นอนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นที่ปฏิบัติบูชา เจ้าอาวาสรู้เข้าเจ้าอาวาสก็อาจจะขอเชิญให้กลับไปบ้าน แต่ถ้าอยู่วัดเพื่อปฏิบัติบูชาเจ้าอาวาสจะยินดีต้อนรับเสมอ จะอยากให้อยู่ไปนานๆ เพราะผู้ปฏิบัติบูชาจะทำคุณทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาได้อย่างมากมายหลังจากที่ได้บรรลุผลของการปฏิบัติแล้ว จะเป็นผู้ที่จะสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมั่นคงอยู่เป็นเวลาอันยาวนาน ดังนั้นผู้ใดที่ไปอยู่วัดด้วยปฏิบัติบูชานี้อย่าไปคิดว่าขอวัดกินขอวัดอยู่ อันนี้ถือว่าไปบูชาพระพุทธเจ้า ไปปฏิบัติบูชา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวชก็เหมือนกับเป็นนักบวช การบวชนี้เป็นเพียงการใส่เครื่องแบบเท่านั้นเอง คือโกนหัวแล้วก็ห่มขาวหรือห่มเหลือง แต่ถ้าไม่ปฏิบัติบูชาก็เป็นเหมือนหมาวัด ถ้าปฏิบัติบูชาถึงแม้จะไม่ได้ห่มเหลืองห่มขาว ไม่ได้โกนศีรษะก็ยังถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติบูชาอยู่ เป็นผู้ที่จะสนับสนุนสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกต่อไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน เพราะผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ต้องมาจากผู้ ปฏิบัติบูชาเท่านั้น ไม่มีผู้ใดที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ด้วยการมาจากอามิสบูชา
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
...เทวดากับเปรต อยู่คนละมุมกัน
อยู่คนละด้านกัน
.เทวดาจะไม่ทำบาป
จะมีแต่ให้ จะไม่อยากได้อะไร
อยากให้ ให้แล้วมีความสุข
.
...เปรตนี้อยากได้
ได้แล้วมีความสุข ..ได้แบบไม่ถูก
.ได้ด้วยการทำบาป
ด้วยการฉ้อโกง
ด้วยการโกหกหลอกลวง
ด้วยการลักทรัพย์ ด้วยการฆ่าผู้อื่น
.
...อันนี้จะทำให้ใจหิวโหย
ได้เท่าไหร่.."ก็ไม่พอ".
...................................…………
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 24/11/2559
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯชลบุรี
ความกตัญญู”
ความกตัญญู เป็นบุญเป็นกุศล เป็นรากเหง้าของความดีของจิตใจ คนเราจะดีมันก็ต้องรู้จัก"บุญคุณ" เมื่อมีบุญคุณแล้วมันก็จะได้ทดแทนบุญคุณ ทำสิ่งที่ดี แล้วจิตใจก็จะเจริญรุ่งเรืองไป
คนที่ไม่มีความกตัญญูนี้ เป็นคนที่เจริญยาก พระพุทธเจ้านี้ ท่านก็ยังขนาดแม่ตายไป ท่านก็ยังคิดถึงพระคุณของแม่อยู่ ก็ทรงไปสอนถึงสวรรค์ สอนให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ความกตัญญู จะทำให้จิตใจของคนเรามีความอ่อนโยน ไม่มีความเเข็งกระด้าง มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ดังนั้นขอให้เรา พยายามทดแทนบุญคุณผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย มันทำให้จิตใจเรามีความสุข แล้วจิตใจเรา ก็จะไม่คิดร้ายไม่ทำร้ายใคร ทำให้เราทำบุญทำทานได้ รักษาศีลได้ ทำให้เราภาวนาได้
สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
ภาวนามีความหมายจริงๆ ว่าอย่างไร?
ภาวนา แปลตามรากศัพท์ว่า ทำให้มีขึ้น หรือว่าแปลอีกแง่หนึ่ง คือ พัฒนา ทำให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การภาวนาก็คือการพัฒนาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทีนี้ชีวิตประจำวันสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะเอื้อต่อการภาวนา มีสิ่งกดดัน มีสิ่งยั่วยุสารพัดอย่าง แต่เมื่อเราแบ่งเวลาให้การนั่งขัดสมาธิ หลับตา เจริญสติกับลมหายใจ หรือการเดินจงกรม ก็คือเป็นเวลาที่เราให้กับการภาวนา หรือการพัฒนาชีวิตโดยตรง เราพัก เรางด จากเรื่องอื่นทั้งหลายชั่วคราว เพื่อมุ่งต่อการภาวนา ต่อการพัฒนาชีวิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงมักใช้คำว่า นั่งภาวนา เรากำลังภาวนากัน หมายถึงว่าเราจัดสรรสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง เพื่อการภาวนาโดยเฉพาะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราภาวนาเฉพาะเวลาเรานั่งขัดสมาธิ หรือเราเดินจงกรม แต่ในชีวิตประจำวันเรามีความพยายามที่จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดีในจิตใจ และพัฒนาสิ่งดีงาม ก็ถือว่าเรากำลังภาวนากันอยู่
พระอาจารย์ชยสาโร
พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็น "พระชนกกุมาร" นั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆมากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น
แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน
พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ
เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก
พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?
พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวัลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช
หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน? พระองค์ก็ทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส
นี้คือในสมัยที่พระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอดอันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก
ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร
ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้
เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกันมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ
ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา
มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น
หลวงปู่ชา สุภัทโท
#การพิจารณากายให้หนักไปทางอสุภะ_ตามความเป็นปฏิกูลโสโครกของร่างกายนี้
“พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ท่านตรัสรู้แล้ว ท่านก็ไม่ได้เหาะเหินเดินอากาศหรือมุดลงใต้ดินที่ไหน ท่านก็อยู่บนดินกินข้าวเหมือนกับพวกเรานั่นแหละ เพียงแต่เมื่อมีอะไรที่เข้ามาสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายของพระองค์ท่านแล้ว มันไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตใจของพระองค์ท่าน ให้เอนเอียงหวั่นไหวไปกับสิ่งที่มาสัมผัสได้อีกต่อไป นั่นแหละจิตที่มีความตั้งมั่นแล้วจะเป็นอย่างนั้น
จิตของเราก็เช่นกัน พอมันมีความชำนิชำนาญอยู่ในความสงบ มีความตั้งมั่นหนักแน่นมั่นคงแล้ว ในส่วนของการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา พวกเรา เราไม่สามารถหลีกหนีจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน สิ่งเหล่านั้นก็จะมาสัมผัสกับเราทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันไม่สามารถมาครอบงำจิตใจของพวกเราได้ จิตจะไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นด้วยความแยบคายรอบคอบที่สุด ที่เราเรียกว่าปัญญา เช่นรูปเป็นต้น ไม่ว่าจะรูปไหนก็ตาม ไม่ว่ารูปหญิงรูปชาย ที่เราเคยมัวเมาลุ่มหลงไปทางรังเกียจหรือทางรักชอบพอก็ได้ ที่มันเคยมาครอบงำจิตใจของเราให้ยินดียินร้าย รูปทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นเราหรือเป็นเขา มันมีเราอยู่ในนั้นไหม มันมีเขาอยู่ในนั้นไหม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ควรต่อการคลี่คลายพิจารณา เพราะเราลุ่มหลงมัวเมามันมากี่ภพกี่ชาติแล้ว หลงรักหลงเกลียดหลงชอบหลงชังมันมามากมาย หลงว่าของเราของเขา แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้มันเป็นอย่างไร ให้พวกเรามาพิจารณาคลี่คลายแยกแยะดู เอาปัญญาเข้าไปสอดส่องดู
การพิจารณากายให้หนักไปทางอสุภะ ตามความเป็นปฏิกูลโสโครกของร่างกายนี้ ซึ่งมันแสดงความจริงอยู่ตลอดเวลา ให้จิตดวงนี้มันท่องเที่ยวอยู่ในกองอสุภะนี้ ท่องเที่ยวอยู่ในความเป็นปฏิกูลโสโครกของความน่าขยะแขยงของเรือนกายนี้ ถ้ามันไม่อยากท่องเที่ยวอยู่ในเรือนกายนี้ ก็บังคับมันลงไป ให้พิจารณาลงไป เพื่อความเฉลียวฉลาดเพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมา กำหนดมันลงไป นึกว่าเป็นกายหญิงหรือกายชาย กายเราหรือกายเขาก็ได้ รวมความแล้วมันก็มาจากกายอันเดียวกันเหมือนกันหมดเลย ล้วนมาจาก ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง เหมือนกันไม่แตกต่างกัน กายชายเป็นอสุภะ กายหญิงก็เป็นอสุภะเช่นเดียวกัน ไม่ว่ากายหญิงหรือกายชาย จริง ๆ ก็คือกองของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันไม่มีอะไรเป็นหญิงไม่มีอะไรเป็นชาย มันเป็นแค่สมมุติขึ้นเท่านั้น แต่พวกเราก็พากันไปหลงในสมมุติอันนั้น ไปยึดมั่นถือมั่นในสมมุตินั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันไม่มีอะไรจริง ๆ มันเป็นสมมติที่สื่อความหมายให้เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่พวกเรากลับพากันเกินความสมมุติไป เกินประโยชน์อันนั้นไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลที่สุดความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ที่จะกลับมาครอบงำจิตใจของเรา ทับถมจิตใจของเราให้หนักและจมลงไป
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะหลุดออกไปได้ก็ด้วยปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะคลี่คลายมันออกมาด้วยการแยกแยะพิจารณาด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เมื่อปัญญาหมั่นคลี่คลายพิจารณาแยกแยะ นับวันมันจะยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งชัดเจนอยู่ในความรู้ของจิตนี้ สุภะที่เป็นความสวยงามที่พวกเราเคยยึดมั่นถือมั่น เคยเห็นว่ามันเป็นของสวยของงาม มันก็จะหายไปหมดเลยเหลือแต่ความเป็นอสุภะ ความรักความชอบใจความยินดีแต่เก่าก่อน มันก็หายไปหมดเช่นกัน เหลือแต่ความรังเกียจเหลือแต่ความขยะแขยง จนกระทั่งมันไม่มีทางออกแล้ว ไม่มีสุภะหลงเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว มันเป็นอสุภะล้วน ๆ พอมันไม่มีทางออกแล้วมันจะย้อนกลับเข้ามาที่ตัวจิตเอง ทุกสิ่งทุกประการมันจะมาแก้ไขที่ดวงจิตนี้ แต่มันต้องอาศัยตัวร่างกายนี้เป็นสะพานเพื่อเข้ามาหาจิต กิเลสทั้งหลายมันไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่กิเลสมันอาศัยร่างกายไปเป็นเครื่องมือของมัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาชำระที่ดวงจิตนี้ อุปาทานก็อยู่ที่ดวงจิตนี้ ความคาดหมายด้นเดาทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวจิตนี้ทั้งนั้น ความรู้แจ้งก็อยู่ที่ตัวจิตนี้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจนรู้แจ้งก็รู้แจ้งที่จิต จะเห็นชัดเจนเลยว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง สุภะและอสุภะมันไม่ได้มีเลย มันมีเพียงอยู่แค่สมมติที่จิตดวงนี้ไปคาดหมายไปให้ความหมายกับเขาว่าเป็นสุภะ ก็ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นสุภะ ให้ความหมายว่าเป็นอสุภะ ก็ไปยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอสุภะ ทั้ง ๆ ที่กายนี้เขาเป็นเช่นนี้เองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ว่าเราจะเกิดมาหรือตายจากไปมันก็เป็นอยู่เช่นนั้นเองตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมของพวกเรามันจะจบลงที่จิต เราอยู่ที่ไหนเราก็มีดวงจิตดวงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ ขอแค่ให้เอาจริงเอาจังมันลงไป เมื่อเอาจริงเอาจังแล้ว มันมีโอกาสจบลงได้ เพราะฉะนั้นการทำความเพียรควรจะต้องทำตั้งแต่ตื่นนอน ต้องมีความระมัดระวัง ฝึกความระมัดระวังจนกระทั่งมันเกิดเป็นความคุ้นเคย คุ้นเคยในอาการความเคลื่อนไหวของเรา นับตั้งแต่ภายนอกเราจะทำกิจอะไรก็ตาม ก็ทำด้วยความระมัดระวัง นี่ก็เป็นการฝึกสติให้พร้อม จนกระทั่งมาถึงภายในใจของเรา
เมื่อพวกเราทุกคนเอาจริงเอาจังด้วยการเตือนตัวเราอยู่เองเสมอ ว่าวันคืนล่วงเลยไปบัดนี้เราทําอะไรอยู่ ขอให้น้อมเข้ามาเตือนตัวเอง แล้วเราจะเป็นคนไม่ประมาท เมื่อเราเป็นบุคคลที่ไม่ประมาทในความเป็นอยู่ของเราแล้ว เรานั่นแหละจะเป็นผู้ที่เจริญในธรรม จนกระทั่งสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง คือความพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมาก็จะไม่สาบสูญไปไหน มันจะสะสมไว้เป็น “ปุพเพกตปุญญตา” เป็นการได้สั่งสมบุญไว้ เป็นนิสัยวาสนาของพวกเราสืบต่อไปในภายภาคหน้าภพหน้า เพื่อจะไปสานต่อในภพหน้ากันต่อไป จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด”
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
๒๘ มกราคม ๒๕๖๔
"ในยามที่โลกกำลังร้อน เราจึงไม่ควรร้อนตามโลก
แต่ควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิต
และทำประโยชน์แก่โลก ได้อย่างสร้างสรรค์
ไม่ว่าโลกจะร้อนเพียงใด แต่ธรรมนั้นร่มเย็นเสมอ
เมื่อใดใจถึงธรรม ความสงบเย็นภายใน
ก็เป็นไปได้ แม้โลกภายนอกจะร้อนรุ่มเพียงใดก็ตาม"
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
“ถ้าพูดโดยไม่คิด มันจะกลายเป็นยาพิษ
กลับมาหาท่านอย่างสุดที่จะป้องกัน
ตรองดูเถิดเราท่านทั้งหลาย”
ท่านพุทธทาสภิกขุ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.