Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

กายนี้คือก้อนทุกข์

อังคาร 18 พ.ค. 2021 6:14 am

…อันนี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนา

.เป้าหมายของการปฏิบัติ
ไม่ว่าจะเป็นการทำทานก็ดี
เป็นการรักษาศีลก็ดี
เป็นการเจริญสติก็ดี
เป็นการนั่งสมาธิก็ดี
เป็นการเจริญปัญญาก็ดี

.ก็มีเป้าหมายอยู่ที่
“การทำใจให้สงบนี่เอง”
ให้หยุดความอยากต่างๆ เสีย

.เช่นเบื้องต้นที่พวกเราทำกันอยู่ในขณะนี้
ก็คือการทำทาน
การบริจาคแบ่งปันทรัพย์ส่วนหนึ่ง

.แทนที่เราจะเอาทรัพย์ส่วนนี้
ไปใช้กับความอยาก
เช่น ไปซื้อของที่เราอยากได้
หรือไปดู ไปฟัง ไปดื่ม ไปรับประทาน
ไปเที่ยว ตามสถานที่ต่างๆ

.เราก็เอาทรัพย์อันนี้มาทำทาน
เอามาทำบุญ มาซื้อข้าวของ
แล้วก็เอามาถวายพระ
เราจะเอาไปให้คนอื่นก็ได้

.ผู้รับนี้ไม่สำคัญ …“ สำคัญที่ผู้ให้ “
การกระทำนี้
เป้าหมายอยู่ที่ผู้ให้มากกว่าผู้รับ

.คือ..ต้องการให้ ..ผู้ให้
“ หยุดความอยากใช้เงิน “
ไปในทางที่ไม่ถูก ใช้เงินไปในทางที่จะ
ทำให้เกิดความหิว เกิดความอยาก..
เพิ่มมากขึ้น.

…………………………………………
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรรามฯ ชลบุรี









" ท่านทั้งหลายที่เริ่มต้น
ภาวนานั้น อย่าอยากรู้มาก
เพียงแต่รู้ตัวก็พอแล้ว
รู้ตัวอย่างเดียวให้เป็นหนึ่งจริงๆ
จะเป็นผู้เข้าถึงพุทโธที่แท้จริง

ไม่เอาอะไรหรอก
เอาความรู้ตัวอยู่นี่ไม่ให้เผลอ
กำหนดเหมือนกับไฟที่ติด
สว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีดับ
ไม่มีมืด ให้ติดต่อเนื่องกัน

แม้แต่ขณะหายใจเข้าออก
ก็ไม่มีเผลอ แต่อย่าไปข่ม
บังคับจนเป็นทุกข์ "

โอวาทธรรม
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ










" กายนี้ คือก้อนทุกข์ กายนี้
เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์

ฝึกปัญญาให้ดี แล้วมา
พิจารณากายนี้ให้แจ้ง
ก็จะพ้นทุกข์ได้ "

โอวาทธรรม
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม








“ปัญหาทุกอย่างที่ไม่มีทางออกทางแก้
ย่อมไม่มีในโลก ดูเอาเถิดว่า แม้แต่ปัญหา
เรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่
เจ็บ ตาย พระพุทธองค์ ก็ยังหาคำตอบไว้ให้ได้
สำหรับปัญหาอื่นๆ นั้นเล็กน้อย”

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล








"ขอให้ทุกท่านกลับมาดูตัวเอง
ดูความบกพร่องของตัวเอง
เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุง
อันไหนมันไม่ดี ก็แก้ไข
สิ่งไหนมันดีแล้ว ก็ให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป
จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
ไม่ใช่ผู้ที่ทำตามใจตัวเอง"

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม







"สักวันหนึ่ง ความตายจะมาถึงเรา
มาบีบบังคับให้เรา ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง
ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้า
ให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไป
จะลำบาก"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก








“ปัจจุบันสังคมเราเน้นสร้างคนเก่ง อยากจะได้แต่คนเก่ง ในครอบครัวก็อยากให้ลูกเรียนเก่ง โรงเรียนก็อยากได้ลูกศิษย์ที่เรียนเก่ง สังคมและประเทศชาติก็อยากได้ประชาชนที่เก่ง มีแต่เน้นลงไปที่ความเก่ง แต่ไม่ทราบเลยว่าความเก่งนั้นมันมาจากไหนมีพื้นฐานความเก่งเป็นมาอย่างไร ถ้าเก่งเหนือคนอื่นเขา ก็จะได้รับความยกย่องขึ้นมาทันที บางคนทำธุรกิจการค้าอะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่ามีความร่ำรวยขึ้นมาเหนือยิ่งกว่าคนอื่น ก็มีแต่คนมายกยอปอปั้นว่าเก่ง ทั้ง ๆ ที่ความจริงความเก่งของเขาหรือการหามาได้มากขึ้นมาของเขา มันได้มาจากการคดโกงและเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเขามา จากความกะล่อนจากความเป็นปลิ้นปล้อนของเขา เรากลับไม่ไปคำนึงถึงจุดนั้นแต่กลับไปมองเน้นอยู่ที่ความเก่งความเหนือคนอื่นของเขา เด็กนักเรียนบางคนเราไปยกย่องชมเชยว่าเรียนเก่งเหนือกว่าเด็กคนอื่นเขา ทั้ง ๆ ที่เด็กมันไปลอกไปทุจริตมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันได้มาบนเส้นทางที่มันไม่ถูกต้อง แต่พอไปอยู่เหนือคนอื่นเขาก็กลับได้รับการยกย่อง ทำให้เขาลำพองติดในการถูกยกย่อง มันเลยทำให้น้อมตัวลงมาไม่เป็นกลัวแต่คนอื่นจะมาอยู่เหนือตัว มันก็เกิดเป็นความเห็นแก่ตัว เกิดการปลิ้นปล้อนกะล่อนหลอกลวงขึ้นมา

นี่แหละสังคมปัจจุบันเราจะเป็นแบบนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ และถ้าสังคมเรากลับยอมรับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ขอให้เพียงแค่เขาเก่งเหนือคนอื่นเขาเท่านั้น แล้วลองคิดดูว่าสังคมเรามันจะเป็นอย่างไร ที่สังคมเราทุกวันนี้มันปีนเกลียวเห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบปลิ้นปล้อนกันก็เพราะความต้องการคนเก่งนี่แหละ เพราะฉะนั้นอันนี้จะเห็นชัดเจนเลยว่าสังคมเราที่มันยุ่งเหยิงวุ่นวายเพราะมันเน้นที่คนเก่ง คนเก่งที่ขาดศีลธรรมเป็นเครื่องกำกับเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แล้วพวกนี้จะมีอัตตาสูง มีทิฐิมานะดื้อรั้นดันทุรังไม่ฟังคนอื่น เพราะคิดว่าตัวเองเก่งเหนือกว่าคนอื่นเขา แต่ถ้าหากเราสร้างเด็กดีขึ้นมาได้ เด็กดีถ้ามันดีได้ต่อไปมันก็สร้างความเก่งขึ้นมาได้ไม่ยาก การจะปูพื้นฐานสร้างคนให้เป็นคนดีได้มันก็ต้องปูพื้นฐานมาตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังให้ซึมซับตั้งแต่เด็ก เพราะถ้าจะไปปลูกฝังตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมันก็จะเป็นเรื่องยาก

คนเราจะปลูกฝังให้เป็นคนดีได้มันต้องปลูกฝังด้วยธรรมะ นั่นแหละจะเป็นคนดีได้อย่างแท้จริง ถ้าไม่ปลูกฝังด้วยธรรมะแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นคนดีแต่ก็อาจเป็นคนดีจอมปลอม เป็นคนดีเพียงหน้าฉาก แต่หลังฉากอาจจะเป็นคนเลวทรามก็ได้ แต่ถ้าปลูกฝังด้วยธรรมะแล้ว หน้าฉากมันก็จะเป็นคนดีหลังฉากก็จะเป็นคนดีด้วย ดีสม่ำเสมอตลอด เพราะศีลธรรมเท่านั้นแหละที่จะปลูกฝังคนให้เป็นคนดีได้อย่างแท้จริง เมื่อเราสร้างลูกหลานของเราให้เป็นคนดีได้แล้ว ต่อไปลูกหลานของเราก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและจะเป็นผู้ให้สังคมต่อไป”

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔









“ตะเกียงวิเศษ”

ถ้าเราไม่มีสมาธิไม่มีปัญญาถึงแม้เราจะได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ว่าใจกับร่างกายเป็นคนละคนกันก็ตาม แต่ใจก็ยังไม่สามารถที่จะปล่อยวางร่างกายได้ ยังไม่สามารถแยกใจออกจากร่างกายได้ ยังต้องอาศัยร่างกาย ยังต้องผูกตนเองติดกับร่างกายเพื่อจะได้ใช้ร่างกายไปหาความสุขต่างๆ มาให้กับใจนั่นเอง แต่ถ้าเรามาปฏิบัติสมาธิได้ ขั้นก่อนที่เราจะปฏิบัติสมาธิได้เราก็ต้องถือศีล ๘ ให้ได้ก่อนเพื่อที่เราจะได้กักบริเวณไม่ให้เราออกไปใช้ร่างกายไปหาความสุขต่างๆ ศีล ๘ นี้ห้ามไม่ให้เราใช้ร่างกายไปร่วมหลับนอนกับแฟน ห้ามไม่ให้ใช้ร่างกายไปหาความสุขจากการดื่มจากการรับประทานมากจนเกินไป ยังอนุญาตให้ดื่มให้รับประทานได้ แต่ดื่มรับประทานเพื่อเลี้ยงดูร่างกายซึ่งวันละมื้อก็พอ หรือถ้า ๒ มื้อก็ไม่ให้เกินเที่ยงวันไปแล้ว อยู่ได้ร่างกายไม่ตาย ถ้าถือศีล ๘ แล้วตาย จะไม่มีใครมาถือศีล ๘ กันจนถึงบัดนี้ มีคนถือศีล ๘ มาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล สมัยพระพุทธเจ้านี้ก็มีคนถือศีล ๘ มีคนถือศีล ๑๐ มีคนถือศีล ๒๒๗ อดข้าวเย็นกันไม่มีใครตาย ตายเหมือนกันแต่ก็ตายไปตามวาระแต่ไม่ได้ตายเพราะถือศีล ๘ ไม่ต้องกลัวตาย แล้วก็ไม่ทรมาน ความทรมานอยู่ที่ใจเราที่ไปอยากกินเท่านั้นเอง แต่ร่างกายมันไม่ทรมานมันไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจากการที่ไม่ได้กินข้าวเย็น แล้วก็ไม่ให้เราใช้ร่างกายไปเที่ยวนั่นเอง ไปตามสถานบันเทิงต่างๆ ตามโรงมหรสพ ไปตามงานเลี้ยงงานสังสรรค์ต่างๆ ไม่ให้เราต้องเสียเวลากับการแต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้าทาปากทำเผ้าทำผม เพื่อไปหาความสุขแบบควันไฟ หาความสุขเดี๋ยวเดียวจากการไปเที่ยว พอกลับมาบ้านมันก็หายไปหมดแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องไปเที่ยวใหม่เพราะความสุขที่ได้จากการไปเที่ยววันนี้มันหายไปหมดแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปเที่ยวใหม่ มันก็จะติดอยู่กับการใช้ร่างกาย แล้วก็ต้องสะดุดวันใดวันหนึ่งเวลาที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา พิกลพิการขึ้นมา ทีนี้ก็จะเกิดปัญหาจิตใจก็อาจจะวุ่นวาย จิตใจก็อาจจะซึมเศร้า บางคนถ้าควบคุมไม่อยู่ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายกันเพราะเมื่อไม่สามารถอาศัยร่างกายพาไปหาความสุขต่างๆ ได้แล้วก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็ฆ่าตัวตายดีกว่า

แต่ฆ่าตัวตายมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว มันอาจจะแก้ปัญหาระยะสั้น ตายไปแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องไปเกิดใหม่อีกเพราะมันยังอยากใช้ร่างกายหาความสุขเหมือนเดิมอยู่ แล้วพอได้ร่างกายอันใหม่มาก็กลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนเดิม แล้วถ้ามาเจออุปสรรคแบบเดิมอีกก็ฆ่าตัวตายอีก ก็จะฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหา ท่านถึงบอกว่าใครฆ่าตัวตายแล้วก็จะต้องกลับมาฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ เพราะมันใช้วิธีเดียวกัน มันเคยใช้วิธีไหนแก้ปัญหา พอเวลามีปัญหามันก็จะใช้วิธีนั้นแก้ปัญหาไปซึ่งก็ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการจะแก้ปัญหานี้ต้องแก้ปัญหาด้วยการเลิกใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ อย่าใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามาฝึกสมาธิเพื่อเราจะได้หาความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง ความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ แต่เราต้องกักร่างกายไว้ให้อยู่ในวัดให้ได้ อย่าให้มันไปเผ่นพ่านอยู่ตามสถานบันเทิงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เราก็เลยต้องถือศีล ๘ กัน ศีล ๘ นี้จะห้ามไม่ให้เราใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข เพื่อที่เราจะได้มีเวลามาใช้สมาธิเป็นเครื่องมือหาความสุขให้กับใจ เพราะถ้าเราสามารถนั่งสามาธิทำใจให้สงบแล้วเราจะได้ความสุขที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากการใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ พระพุทธเจ้าทรงบอก “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง” สุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบไม่มี สุขที่ได้จากความสงบนี้เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง “รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง”

นี่ก็คือรสของสมาธิ ถ้าเรามีเวลาเปลี่ยนเอาเวลาที่เราใช้กับการใช้ร่างกายไปหาความสุข เอาเปลี่ยนมาเป็นการหาความสุขจากการนั่งเฉยๆ ไม่ต้องใช้ร่างกาย ให้นั่งเฉยๆ แล้วก็ทำใจให้นิ่งให้สงบ ไม่ให้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ พอหยุดความคิดได้ใจก็จะนิ่งแล้วความสุขที่เราไม่คาดฝันมันก็จะโผล่ขึ้นมา ความสุขอันวิเศษนี้มันอยู่ในตัวเรา เป็นของเรามาตั้งนานแต่เราไม่เคยปัดฝุ่นเอามันมาใช้เลย เหมือนมีตะเกียงวิเศษอยู่ในบ้าน แล้วก็ไม่รู้จักวิธีใช้มันก็เลยเก็บไว้ในห้องเก็บของนั่นแหละ เปิดดูทีไรก็ไม่รู้ว่ามันเป็นตะเกียงวิเศษ จะใช้มันให้เนรมิตอะไรต่างๆ ให้กับเราก็ใช้ไม่เป็น ต้องมาเจอคนฉลาดคือพระพุทธเจ้านี่ที่รู้จักวิธีใช้ตะเกียงวิเศษ วิธีใช้ให้ตะเกียงวิเศษนี้ผลิตความสุขต่างๆ ให้กับเรา นี่แหละเรามีความสุขอันเลิศอันประเสริฐอยู่ในตัวของเราเองแท้ๆ แต่เรากลับไม่มาหามัน เรากลับไปหาความสุขแบบควันไฟ ความสุขที่จะต้องทำให้เราวุ่นวายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นความสุขที่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหากันนั่นเอง ไม่รู้ว่าเราสามารถหาความสุขอีกวิธีหนึ่งคือวิธีทำใจให้สงบ ใจของเรานี่เป็นเหมือนตะเกียงวิเศษ ที่สามารถจะผลิตความสุขอันมหัศจรรย์ใจให้ปรากฏขึ้นมาในตัวของเราเองได้ แต่เราไม่รู้จักวิธีทำให้ใจมันผลิตความสุขขึ้นมาเท่านั้นเอง

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
ตอบกระทู้