จงมองดูตัวของเราให้ชัด มองดูหนัง ดูเนื้อ ดูตัวของเราให้ชัด ด้วยปัญญา หนังภายนอกที่เราไปดูในโรงหนัง โรงลิเกโรงละครนั้น เป็นหนังที่จะเพิ่มความทะเยอทะยาน ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นเหตุให้เสียนิสัย ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงเป็นผู้ใหญ่ เสียเงินเสียทองไปเพราะสิ่งเหล่านั้นก็มากมาย โดยไม่ค่อยจะได้คติในทางที่ดี นอกจากจะเป็นไปในทางเพลินเสียโดยมาก การดูหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และทุกส่วนในร่างกายของเรา ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีอยู่กับตัวนี้ จะไม่ต้องเสียอัฐเสียสตางค์ ยิ่งจะให้เกิดธรรมสังเวช เป็นเหตุให้เดินตามรอยของพระพุทธองค์ ด้วยความเห็นโทษในกองทุกข์ที่ตรัสไว้ว่า....
โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ
อย่าพากันรื่นเริงบันเทิง ให้มองดูสกลกาย ความแก่ ความเฒ่า ความชรา ความจะแตก ความจะทำลายนั้น จะไม่ทำลายที่ไหน นอกจากจะแตกทำลายในตัวของเรา จะตายในตัวของเรา รีบเร่งหาคุณงามความดี
เวลานี้ตะวันยังไม่อัสดง คือตัวของเรายังไม่ตาย ให้รีบเดินตามพระตถาคตเจ้าไปเดี๋ยวนี้ พวกท่านทั้งหลายจะปลอดภัย ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ จะไม่กลุ้มรุมเผาลนท่านทั้งหลายอีกต่อไป เช่นอย่างเราตถาคตนี้ เราตถาคตนี้ เกิดสุดท้ายในครั้งเดียวเท่านั้น เราได้ตัดขาดจากมิตรจากสหาย คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความกังวลทั้งหลายแล้ว จะไม่ต้องมาสู่โลก ซึ่งเป็นโลกหมุนตัวเป็นเกลียวอีกต่อไป.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
รูปขันธ์เป็นสำคัญ ทำจิตให้กระทบกระเทือนมากทีเดียว รักก็เป็นทุกข์ ชังก็เป็นทุกข์ เกลียดเป็นทุกข์ โกรธเป็นทุกข์ เกี่ยวกับเรื่องรูปขันธ์นี่สำคัญมากกว่าเพื่อน ถ้าจิตไม่สงบก็จะไม่มีสถานที่บรรเทา ไม่มีสถานที่หลบซ่อนตัวพอมีความสุขบ้างเลยพระเรา จึงต้องพยายามทำจิตให้สงบ นำธรรมเข้ามาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป
อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายวัฏสงสาร อย่าเสียดายเรือนจำ อย่าเสียดายตะราง อย่าเสียดายผู้คุมขังผู้ทรมาน ผู้บีบบังคับเราคือตัวกิเลสแต่ละประเภทๆ นี้คือตัวทรมานเราอย่างใหญ่หลวงมาแต่ไหนแต่ไรนับไม่ได้ก็ตาม ให้ถือเอาหลักปัจจุบันนี้เป็นตัวการสำคัญ แล้วจะกระจายไปหมด อดีตมีมานานเท่าไรก็คือธรรมชาติแห่งกองทุกข์ดังที่เป็นอยู่นี้ หากปลดเปลื้องกันไม่ได้ก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป
อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่น ให้ดูเรื่องความเป็นจริงซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา และประกาศอยู่ตลอดเวลานี้ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่าลดละถอยหลัง อย่าเห็นสิ่งใดมีคุณค่ายิ่งกว่าความเพียรที่จะรื้อถอนตนออกจากสิ่งบีบบังคับนี้ ให้กลายเป็นตนผู้วิเศษขึ้นมา ตนนี้จะเสกสรรก็ตาม ไม่เสกสรรก็ตาม ไม่ติดไม่เป็นภาระ ไม่เป็นอุปาทาน เอาตรงนี้ให้ได้ นั่นแหละท่านว่าโอชารสอันสูงสุดอยู่ตรงนั้น ให้ถอดให้ถอนสิ่งที่เกี่ยวข้องพัวพันกันออกไปโดยลำดับ ถากถางเข้าไปตั้งแต่กองรูป ซึ่งเป็นกำแพงอันหนึ่ง หรือเป็นสิ่งหุ้มห่อหนาแน่นอันหนึ่ง
พอผ่านกองรูป ทำลายกองรูปนี้ไปได้ไม่มีเยื่อใย รู้ชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้ว เหมือนกับเรามีต้นทุนก้อนใหญ่ประจักษ์ใจ แน่ใจในการที่จะก้าวให้หลุดพ้นได้ในชาติปัจจุบันนี้ และในวันใดวันหนึ่ง ไม่ได้คาดว่าปีโน้นปีนี้ ถ้าลงจิตได้ถึงขั้นนี้แล้วเป็นที่แน่ใจ ความเพียรมาเอง ความทุกข์ความยากความลำบากเพราะการประกอบความเพียรนั้น มันลบล้างกันไปเองเพราะอำนาจรสแห่งธรรมที่ได้ปรากฏ คือเป็นผลปรากฏประจักษ์ใจ เหนือกว่าความทุกข์เพราะความพากเพียรเป็นไหนๆ ใจมีความพอใจโดยหลักธรรมชาติขึ้นมา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
“..ขั้นหนึ่งของการพิจารณา ท่านสอนให้ไปดูป่าช้า ก็เพราะยังไม่เห็นป่าช้าภายใน ให้ไปดูป่าช้าภายนอกก่อน เพื่อเป็นบาทเป็นฐานเป็นแนวทาง แล้วได้ย้อนจิตเข้ามาสู่ป่าช้าภายในของตน มันมีมันเต็มไปหมด นอกจากร่างกายของเราเป็นป่าช้าผีดิบแล้ว สัตว์สาราสิงชนิดต่างๆ ยังเต็มอยู่ภายในท้องเรานี้อีกด้วย มีอะไรบ้าง บรรจุกันมานานเท่าไร ป่าช้าตรงนี้ทำไมไม่ดู ดูให้เห็นชัดเจน ความเป็นอสุภะอสุภัง ความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา กองอยู่ในนี้หมด ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย
แยกไปทางความแปรปรวนคือเป็น อนิจฺจํ มันก็เห็นอยู่ชัดๆ แปรสภาพอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย แม้แต่เวทนามันก็ยังแปรของมัน มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ หมุนตัวอยู่อย่างนั้นมีเวลาหยุดยั้งที่ไหน ถ้ามีสติปัญญาทำไมจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ทำงานของตัวโดยหลักธรรมชาติของเขา ด้วยสติปัญญาของเรา ต้องรู้ต้องเห็น ปิดไม่อยู่ ปิดสติปัญญาไม่อยู่ ต้องทะลุโดยไม่สงสัย
ทุกฺขํ อวัยวะส่วนไหนพาให้มีความสุขความสบายบ้าง นอกจากทุกข์เต็มตัวต้องบำบัดรักษาอยู่เรื่อยมา จึงพอรอดมาได้ถึงวันนี้ ยังพากันเพลิดเพลินกับกองไฟอยู่หรือ
อนตฺตา ท่านประกาศไว้ชัดเจนแล้ว อย่ายุ่ง อนตฺตา เหมือนกับว่าจะตีข้อมือพวกเรานั่นแหละ อย่าไปเอื้อมอย่าไปจับ อันนั้นเป็นพิษเป็นภัย อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตนเป็นของตน เป็นเราเป็นของเรา นั่นคือพิษคือภัย เมื่อว่าเป็นเราเป็นของเราเมื่อไร ความยึดมั่นถือมั่นก็เหมือนการจับไฟนั่นแล จงถอนตัวออกมาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยแท้ จิตจะไม่ไปอาจไปเอื้อมไปจับ ไม่ไปแตะไปต้องจะปล่อยวางภาระธุรังคือ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นภาระอันหนักนั้นออกมาโดยลำดับ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
.
แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงนำมาซึ่ง "อริยสัจ" โดยย่อ นั่นก็หมายความว่า เธอทั้งหลายจงรู้สภาพว่า
การเกิดนั้นมีสภาพเป็นทุกข์ การทรงชีวิตอยู่นั้นมีสภาพเป็นทุกข์ทุกอย่าง ความหิวก็เป็นทุกข์ ความกระหายก็เป็นทุกข์ การป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์ การประกอบการงานก็เป็นทุกข์ การปวดอุจจาระปัสสาวะก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ มันทุกข์ทั้งหมด เพราะว่าปรากฎแล้วว่าคนเกิดมาแล้ว ไม่มีความสุขแท้จริง
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน จากหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๔๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ หน้า ๑๕
สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้ .....วางใจให้สบาย ๆ รักษาอารมณ์ของความดีให้ตั้งมั่น .....ธรรมะย่อมชนะอธรรม ไม่ใช่มุ่งหวังชนะความชั่วของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นอธรรมภายนอก .....ให้มุ่งหวังชนะความชั่วของตนเอง ซึ่งเป็นอธรรมภายใน ..... ดำรงจิตให้ผ่องใสเข้าไว้ พยายามทำความเพียรให้พร้อม ทั้งศีล-สมาธิ-ปัญญา .....สักวันหนึ่งข้างหน้า ธรรมะก็ย่อมชนะอธรรม หมดความโง่ ตัดอวิชชาได้ก็คือเป็นพระอรหันต์
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(วัดท่าซุง)
ความเจ็บไข้ได้ป่วยสำหรับนักปฏิบัติแล้วถือเป็นกำไรใหญ่ อันดับแรก...ได้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ดีจริง ๆ อันดับที่สอง...การประคับประคองร่างกายตัวเองต้องใช้กำลังของสติ สมาธิมากกว่าปกติ ในลักษณะอย่างนั้นกิเลสจะกินใจของเราไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นความตายมาอยู่ตรงหน้า อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหนักอย่างนี้ไม่ทราบว่าจะรอดหรือเปล่า ? ถ้าท่านที่ทำได้ก็จะส่งใจไปเกาะพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ก่อน เป็นการประกันความเสี่ยง แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม บางทีก็โอดครวญอยู่กับความเจ็บป่วยนั้น
ถ้าเป็นนักปฏิบัติที่ปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง บางทีไม่รู้ว่าตัวเองทำไปแล้ว ผลในการปฏิบัติมีมากน้อยเท่าไร ตอนเจ็บไข้ได้ป่วยหนัก ๆ จะรู้ว่าต้นทุนของเรามีเพียงพอหรือไม่ เพราะกำลังที่เราปฏิบัติได้ทั้งหมดจะมารวมตัวกัน แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตอนนั้นเรามีกำลังเท่าไร ถ้าใครเป็นแล้วกำลังใจไม่เกาะร่างกาย ปล่อยวางได้เป็นปกติ รักษาไปตามหน้าที่...หายก็หาย ถ้าไม่หาย...จะตายก็เชิญตามสบาย ถ้าไม่มีความหวั่นไหว ปล่อยวางได้ขนาดนั้น โอกาสที่จะไปพระนิพพานก็มีสูง จึงสามารถวัดผลการปฏิบัติของตนเองได้ด้วย
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
ถาม : คนที่ฆ่าปลาทุกวัน กับมือปืนรับจ้างที่นาน ๆ ยิงที ใครตกนรกลึกกว่ากัน ? ตอบ : คนที่ฆ่าทุกวัน แต่ในขณะเดียวกัน..มือปืนรับจ้างอย่าเผลอไปยิงพระอรหันต์เข้านะ ลงก่อนเลย..! การฆ่าสัตว์ทุกวันเรียกว่า อาจิณกรรม อาจิณกรรมนี่โทษพอ ๆ กับอนันตริยกรรมเลย คือลงอเวจี เพราะว่าทำจนชิน ทำทุกวัน
ถาม : คนขายปลาก็แย่สิครับ ? ตอบ : ไม่ได้แต่ขายปลาหรอก อย่างอื่นเขาก็ฆ่ากันเป็นปกติ โดยเฉพาะพวกที่อยู่โรงฆ่าสัตว์ การฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์นั้น ถ้าฆ่าคนที่มีความดีสูงโทษก็หนักมากกว่า ฆ่าสัตว์ใหญ่โทษหนักมากกว่าฆ่าสัตว์เล็ก เพราะต้องใช้กำลังใจมากกว่า ฆ่าสัตว์ที่มีคุณโทษหนักมากกว่าฆ่าสัตว์ที่ไม่มีคุณ จะมีรายละเอียดอยู่ เพราะฉะนั้น..ถ้าหากจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ อาจจะเป็นอาชีพ วันโกนให้ละวันพระให้เว้นบ้าง ไม่ใช่ฆ่าทุกวัน พอเป็นอาจิณกรรมมันเหมือนกับสะสมไปเรื่อย ๆ สะสมแต้มถึงก็ได้พอ ๆ กับอนันตริยกรรม ลงอเวจีไปก่อน
ถาม : แสดงว่าเขาก็มีกรรมหนักอยู่สิครับ เขาถึงมาทำอาชีพนั้น ? ตอบ :จริง ๆ แล้วสามารถเปลี่ยนได้ แต่เพราะความรักตัวเองก็เลยไม่เปลี่ยน ความรักตัวเองก็คือเปลี่ยนแล้วเดี๋ยวจะลำบาก ไปดูพวกเรือประมงสิ ตีอวนแต่ละทีกี่หมื่นกี่แสนชีวิตก็ไม่รู้ นึกแล้วสยดสยอง ที่ "นางฟ้าปลาทู" ไปช่วยเขาคัดปลาบนเรือประมง วันไหนเห็นเขาได้ปลามาเยอะก็ดีใจ เพราะตัวเองจะได้ค่าแรงมาก กลายเป็นโมทนาบาปกับเขาไม่รู้ตัว หวิดซวยไป ยังโชคดีที่คุณเธอไปใส่บาตรทุกวัน
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. (หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน) เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๘
|