" อย่าคิดว่าตัวเองบุญน้อยวาสนาน้อยแล้วมาพูดให้ตัวเองท้อแท้ คิดแบบนั้นมันไม่ถูก ถ้าคิดว่าตัวเองบุญน้อยวาสนาน้อยก็รีบสร้างเสริมบารมีให้กับตัวเองให้มากยิ่งๆขึ้นไป ทำให้เต็มที่ๆตัวเองทำได้ คนที่เขามีปัญญาเขาจะมุ่งหน้าทำเอา คนไม่มีปัญญาก็รอเอาแต่ลมแต่แล้ง สูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ "
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เทศนาสอนลูกศิษย์ พ.ศ.๒๕๓๕
#เวทนาใหญ่ ตอนจะนั่งภาวนาได้ตลอดรุ่งนั้น เริ่มนั่งกำหนด กำหนดลงไปๆ ทีแรกใจก็ลง เพราะมันเคยลง มันลงได้ง่าย เรียกว่ามีหลักมีฐานอันดี กำหนดภาวนาลงไป เมื่อเวทนาอันใหญ่หลวงยังไม่เกิด ภาวนามันก็สงบดี พอถอยขึ้นมาก็เป็นเวลาหลายชั่วโมง #เวทนาใหญ่ก็เกิดขึ้น และเกิดขึ้นจนจะทนไม่ไหว ใจที่เคยสงบนั้น ก็ล้มไปหมด ฐานดีๆนั้น ล้มไปหมด เหลือแต่ความทุกข์เต็มในส่วนร่างกาย แต่จิตใจไม่ร้อน ชอบกล คืนวันนั้นก็ยังไม่ได้ตั้งใจ ว่าจะนั่งจนตลอดรุ่งนะ เราไม่ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอะไรเลย นั่งภาวนาธรรมดาๆ แต่เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นมามาก "เอ๊ะ นี่ยังไงกันนะ เราจะต้องสู้ให้เห็นเหตุเห็นผลกับเวทนานี้เสียวันนี้" เลยตั้งสัจจะอธิษฐานในขณะนั้นเลย "เอ้า ถ้าไม่ถึงเวลาลุกจะไม่รู้จริงๆ เอ้า สู้กันจนถึงสว่างเป็นวันใหม่ วันนี้จะพิจารณาทุกขเวทนา ให้เห็นแจ้งเห็นชัดกันสักที ถ้าไม่เห็น แม้จะตาย ก็ให้มันตายไป ให้รู้กัน ขุดกันลงไป ค้นกันลงไป" นี่แหละตอนปัญญาเริ่มทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง เราไม่ทราบ ไม่คาดไม่ฝัน ว่าปัญญาจะมีความแหลมคม เวลาจนตรอกย่อมหาวิธีช่วยตัวเองจนได้ นี่ก็เหมือนกัน พอจนตรอกเพราะทุกขเวทนากล้าครอบงำ สติปัญญาค้นเข้าไปถึงทุกขเวทนา เมื่อเวทนาเกิดขึ้นมากๆเช่นนี้ มันเป็นไปหมดทั้งร่างกาย ทีแรกมันก็ออกร้อนตามหลังมือหลังเท้า ซึ่งไม่ใช่เวทนาใหญ่โตอะไรเลย เวลามันใหญ่โตจริงๆเกิดขึ้นมา ร่างกายเป็นไฟไปหมด กระดูกทุกท่อนทุกชิ้นที่ติดต่อกัน เป็นฟืนเป็นไฟในร่างกายทุกส่วน เหมือนมันจะแตกไปเดี๋ยวนั้น กระดูกต้นคอมันก็จะขาด กระดูกทุกท่อนทุกชิ้นที่ติดต่อกันมันก็จะขาด หัวจะขาดตกลงพื้นในขณะนั้น เวลาเป็นทุกข์อะไรๆก็พอๆกัน และทั่วไปหมดทั้งร่างกายนี้ ไม่ทราบจะไปยับยั้งพอหายใจได้ที่ตรงไหน ที่ไหนก็มีแต่กองไฟ คือความทุกข์มากๆทั้งสิ้น เมื่อหาที่ปลงใจไม่ได้ สติปัญญาก็ขุดค้นลงไปที่ทุกขเวทนานั้น โดยหมายเอาจุดที่มันทุกข์มากกว่าเพื่อน อันไหนที่มันเป็นทุกข์มากกว่าเพื่อน สติปัญญาพิจารณาขุดค้นลงที่ตรงนั้น โดยแยกทุกขเวทนาออกให้เห็นชัดเจนว่า เวทนานี้เกิดมาจากไหน ใครเป็นทุกข์ ถามสกลกายส่วนต่างๆ อาการต่างๆ ต่างอันต่างเป็นอยู่ ตามธรรมชาติ หนังก็เป็นหนัง เนื้อก็เป็นเนื้อ เอ็นก็เป็นเอ็น ฯลฯ มีมาแต่วันเกิด ไม่ปรากฏว่ามันเป็นทุกข์มาตั้งแต่วันเกิดติดต่อกันมา เหมือนเนื้อหนังที่มีอยู่ตั้งแต่วันเกิดนี้ ส่วนทุกข์เกิดขึ้นและดับไปเป็นระยะๆ ไม่คงอยู่เหมือนอวัยวะเหล่านั้นนี่ กำหนดลงไป อวัยวะส่วนไหนซึ่งเป็นรูป อันนั้นก็จริงของมันอยู่อย่างนั้น ทุกขเวทนาขณะนี้มันเกิดอยู่ตรงไหน ถ้าว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเวทนาทั้งหมด ทำไมมันถึงมีจุดเดียวที่มันหนักมาก แน่ะ แยกมันออกไป สติปัญญาตอนนั้นหนีไปไหนไม่ได้แล้ว ต้องวิ่งอยู่ตามบริเวณที่เจ็บปวด แล้วหมุนติ้วรอบตัว แยกเวทนา กับกาย ดูกาย แล้วดูเวทนา ดูจิต มีสามอย่างนี้เป็นหลักใหญ่ จิตก็เห็นสบายดีนี่ ถึงทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จิตก็ไม่เห็นทุรนทุราย เกิดความเดือดร้อนระส่ำระสายอะไรนี่ แต่ความทุกข์ในร่างกายนั้นชัด ว่าทุกข์มาก มันก็เป็นธรรมดาของทุกข์ และกิเลสที่มีอยู่ มันต้องเข้าประสานกัน ไม่เช่นนั้นจิตจะไม่เกิดความเดือดร้อน หรือกระทบกระเทือน ไปตามทุกขเวทนาทางกายที่สาหัสในขณะนั้น ปัญญาขุดค้นลงไป จนกระทั่งกายก็ชัด เวทนาก็ชัด จิตก็ชัด ตามความจริงของแต่ละอย่าง ละอย่าง จิตเป็นผู้ไปหมาย ไปสำคัญเวทนาว่าเป็นนั้นเป็นนี้ก็รู้ชัด พอมันชัดเข้าจริงๆเช่นนั้นแล้ว เวทนาก็หายวูบไปเลย ในขณะนั้น กายก็สักแต่ว่ากาย จริงของมันอยู่อย่างนั้น เวทนาก็สักแต่เวทนา และหายวูบเข้าไปในจิต ไม่ได้ไปที่อื่นนะ พอเวทนาหายวูบเข้าไปในจิต จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาดับหมด ทุกขเวทนาดับหมดราวกับปลิดทิ้ง นอกจากนั้น กายก็หมดในความรู้สึก ขณะนั้นกายไม่มีในความรู้สึกเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เพราะยังเหลืออยู่อันเดียว คือความรู้ และเพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น จิตละเอียดมาก แทบจะพูดอะไรไม่ได้เลย สักแต่ว่ารู้ เพราะละเอียดอ่อนที่สุดอยู่ภายใน ร่างกายหายหมด เวทนาหายหมด เวทนาทางกายไม่มีเหลือเลย ร่างกายที่กำลังนั่งภาวนาอยู่นั้น ก็หายไปหมดในความรู้สึก เหลือแต่ความสักแต่ว่ารู้ จะคิดจะปรุงอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี ขณะนั้นจิตไม่คิดปรุงเลย ถ้าไม่ปรุง ก็เรียกว่า ไม่ขยับเขยื้อนอะไรทั้งนั้น จิตมันแน่ว คือแน่วอยู่โดยลำพังตนเอง เป็นจิตล้วนๆ ตามขั้นของจิตที่รวมสงบ นี่ไม่ได้หมายถึงอวิชชาไม่มีนะ อวิชชามันแทรกอยู่ในนั้นแหละ เพราะจิตยังไม่ถอนออกจากอวิชชา มันก็มีจิตกับอวิชชาที่สงบตัวอยู่ด้วยกัน เพราะอวิชชาไม่ออกทำงาน ขณะที่ถูกตีต้อนด้วยปัญญา อวิชชาก็หดตัว สงบลงไป แทรกอยู่กับใจเหมือนตะกอนนอนก้นโอ่งฉะนั้น ขณะนั้นเกิดความอัศจรรย์ขึ้นมา ทุกขเวทนาไม่เหลือ กายหายหมด สิ่งที่ไม่หายมีอันเดียว คือความรู้อันละเอียดที่พูดไม่ถูก คือสักแต่ว่าปรากฏเท่านั้น พูดนอกออกไปจากนั้นไม่ได้ สิ่งที่สักแต่ว่าปรากฏนั้นแล คือความอัศจรรย์ยิ่งในขณะนั้น ไม่ขยับเขยื้อนภายในจิตใจ ไม่กระเพื่อมไม่อะไรทั้งหมด สงบแน่วอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งพอแก่กาลแล้วก็ขยับ คือใจเริ่มถอยออกมา และกระเพื่อมเเย็บแล้วหายเงียบไป การกระเพื่อมมันเป็นเองของมันนะ เราไปหมายไม่ได้ ถ้าไปหมายก็จะถอน คือจิตพอดิบพอดีของมันเอง กระเพื่อมแย็บอย่างนี้มันก็รู้ พอกระเพื่อมแย็บ มันก็ดับไปพร้อม สักประเดี๋ยวกระเพื่อมแย็บอีก หายไปพร้อม แล้วค่อยถี่เข้า ถี่เข้า #นี่ละจิตเวลามันลงถึงฐานเต็มที่แล้ว ขณะที่จะถอนก็ไม่ถอนทีเดียว เรารู้ได้ชัด ขณะนั้นมันค่อยกระเพื่อม คือ สังขารมันปรุงแย็บขึ้นมา หายเงียบไป ยังไม่ได้ความอะไร กระเพื่อมเเย็บแล้วดับไปพร้อม แล้วประเดี๋ยวแย็บขึ้นมาอีก ค่อยๆถี่เข้า พอถี่เข้าถึงวาระสุดท้าย ก็รู้สึกตัว ถอนขึ้นมาเป็นจิตธรรมดา แล้วก็รู้เรื่องร่างกาย เวทนาก็หายเงียบ เวลาจิตถอนขึ้นมาแล้ว เวทนายังไม่มี ยังหายเงียบอยู่ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เวทนาจะเกิดขึ้นมาใหม่ นี่ได้หลักเกณฑ์ที่นี่และแน่ใจ เกิดความเข้าใจว่า ได้หลักในการต่อสู้กับเวทนาว่า อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง ทุกข์มันเป็นอันหนึ่งต่างหากแท้ๆ กายเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่งต่างหาก แต่เพราะความลุ่มหลงอย่างเดียว จึงได้รวมทั้งสามอย่างมาเป็นอันเดียวกัน จิตเลยกลายเป็นความหลงทั้งดวง จิตก็เป็นผู้หลงทั้งดวง แม้ทุกขเวทนาจะเกิดตามธรรมชาติของมันก็ตาม แต่เมื่อยึดเอามาเผา เรามันก็ร้อน เพราะความสำคัญนี้เองพาให้ร้อน เมื่อนานพอสมควรแล้ว ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นอีก เกิดขึ้นอีก เอาอีก ต่อสู้กันอีก ไม่ถอย ขุดค้นลงไปอีก อย่างที่เคยขุดค้นมาแล้วแต่หนก่อน แต่เราจะเอาอุบายที่เคยพิจารณาแก้ไขในระยะก่อน มาใช้ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ มันต้องเป็นอุบายสติปัญญาคิดขึ้นมาใหม่ ผลิตขึ้นมาใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเวทนาเหมือนกัน แต่อุบายวิธีก็ต้องให้เหมาะสมกันในขณะนั้นเท่านั้น เราจะไปยึดเอาอุบายวิธีที่เราเคยพิจารณารู้ ครั้งนั้นมาแก้ไม่ได้ มันต้องเป็นอุบายสดๆร้อนๆ เกิดขึ้นในปัจจุบัน แก้กันในปัจจุบัน ใจก็สงบลงได้อีกอย่างแนบสนิทเช่นเคย ในคืนแรกนั้น ลงได้ถึงสามหน ต่อสู้กันแบบตะลุมบอนถึงสามหน พอดีสว่าง โอ้ย เวลาต่อสู้กัน แบบใครดีใครอยู่ ใครไม่ดี ใครไป ด้วยเหตุผลโดยทางสติปัญญาจริงๆ ใจเกิดความอาจหาญรื่นเริงไม่กลัวตาย ทุกจะมีมากมีน้อยเพียงไร ก็เป็นเรื่องของมันธรรมดา เราไม่เข้าไปแบกหามมันเสียอย่างเดียว ทุกข์ มันก็ไม่เห็นมีความหมายอะไรในจิตเรา จิตมันรู้ชัด กายก็ไม่มีความหมายอะไรในตัวของมัน และมันก็ไม่มีความหมายในตัวเวทนา และมันก็ไม่มีความหมายในตัวของเราอีก นอกจากจิตไปให้ความหมายมัน แล้วก็กอบโกยทุกข์เข้ามาเผาตนเองเท่านั้น ไม่มีอย่างใดเข้ามาทำให้ใจเป็นทุกข์...
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"..บุคคลจะพ้นทุกข์ได้นั้น ก็เพราะมาพยายามภาวนา ทำจิตใจให้สงบ
ทวนกระแสจิตเข้ามาใน ปัจจุบัน เห็นตามว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวตนอะไร เมื่อมันมาเห็นแจ้ง มันก็ ตื่นตัว รู้ว่าตนนั้นมาหลง อาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง มาอาศัยในสิ่งที่บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง
เมื่อมันรู้ดังนี้ มันก็ปล่อยวาง นี่แหละไม่ยึดไม่ถือไม่สำคัญ ว่าเป็นตัวเป็นตน ก็เป็นอันว่า รู้จักต้นเหตุแห่งทุกข์ คือ อุปาทานความยึดถือ
เมื่อละความยึดถือนี่ได้ ทุกข์ทางใจมันก็ดับไป หมดเลย เป็นอย่างนั้น "
โอวาทธรรม หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
"..'ตัวบุญ' คือ ใจสบาย เย็นอกเย็นใจ 'ตัวบาป' คือ ใจไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ
จำไว้ 'พุทโธ-ธัมโม-สังโฆ' ทำอะไร ก็ 'พุทโธ' กลัวก็ 'พุทโธ' ใจไม่ดี ก็ 'พุทโธ' ขี้เกียจ ก็ 'พุทโธ'
ถ้าคนไม่ได้ทำ ไม่ได้หัด ไม่ได้ขัด ไม่ได้เกลา ที่ไหนเล่า จะมี พระอรหันต์ในโลก.."
โอวาทธรรม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
คติบอกว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา” อันนี้ก็เหมือนกัน “งานอะไรที่เกิดขึ้น มันไม่มีงานอะไรหรอก ที่ไม่เลิกรา”
ในขณะที่งานเกิดขึ้น พวกเราก็ได้รับความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก บางทีก็มีการกระทบกระเทือนกันบ้าง บางทีก็มีปีนเกลียวกันบ้าง แต่อย่าไปถือสากันนะ รู้ไหม เวลาทำงานก็เวลาทำงาน มันก็ธรรมดา ทำงานในหมู่คนมาก ในหมู่คนเยอะ มันจะให้เห็นอย่างเดียวกันเลยทุกสิ่งทุกอย่างเลยนี่ มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็มีการขัดคอกันบ้าง มีการปีนเกลียวกันบ้าง มีการกระทบกันบ้าง แต่เมื่อมันผ่านไปแล้ว ก็ให้มันผ่านไป ให้มันหมดไป อย่าให้มันค้างคาอยู่ในใจ ถ้าค้างคาอยู่ในใจมันก็จะมองหน้ากันไม่ติด
การทำงานของเรา เรามาทำงานเพื่อบุญเพื่อกุศล แล้วการมองหน้ากันไม่ติด จิตที่เศร้าหมอง จิตที่ขุ่นมัว มาคิดดูให้ดีว่ามันเป็นบุญไหม บุญมันต้องมีความร่มเย็น บุญมันต้องมีความเบิกบาน บุญมันต้องมีความผ่องใส แล้วที่พวกเรามีแต่ความเศร้าหมอง มีแต่ความหงุดหงิดกันนี่ มันเป็นบุญไหม มันไม่ได้เป็นบุญเลย เหตุที่ไม่เป็นบุญก็เพราะพวกเราตั้งจิตไว้ในทางที่ผิด แทนที่จะตั้งจิตไว้ในกองบุญ เรากลับไปตั้งจิตไว้ในกองบาป ไปเพ่งเล็ง ไปกล่าวโจษ ไปขัดเคือง ไปอะไรต่ออะไรไปก็แค่นั้น จริงอยู่เราต้องยอมรับว่าคนส่วนมาก การทำอะไรมันก็ต้องมีการปีนเกลียว มีการสะดุดตาตุ่มกันบ้าง แต่การสะดุดกันแล้ว ก็ไม่เป็นไร อะไรผ่านไปก็ไม่เป็นไร บ่อเซียงกัง เนี่ย จำไว้เลยนะ ติดปากไว้เลย บ่อเซียงกัง ไม่เป็นไร ให้ติดปากไว้เลย
สมัยอาตมาเป็นเด็ก ๆ ได้ยินบ่อยที่สุดเลยนะ ไปไหนในสังคมคนจีน บ่อเซียงกัง บ่อเซียงกัง ไปในสังคมคนจีน ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ได้ยินนะ แต่เดี๋ยวนี้ ทำไมหูเราหนวกรึเปล่า ไม่ค่อยได้ยินเลย พอไม่ได้ยินมันก็มีเรื่องราวมากมายก่ายกองอย่างนี้หละ มันไม่ใช่เป็นมงคลเลย
ถ้ายึดเอาคำว่า “ไม่เป็นไร” “บ่อเซียงกัง” ไว้เป็นคติประจำใจเลย ชีวิตจะมีแต่ความราบรื่น มีแต่ความสะดวก ความสบายที่สุดเลย จะเกี่ยวข้องกับคนมากมายก่ายกองขนาดไหนก็สบาย เข้าในกลุ่มชนไหน จะไม่เป็นที่รังเกียจของกลุ่มชนนั้นๆใดเลย แต่ถ้าถือสาหารือกัน อะไรต่ออะไรก็ยึดเอาถือกัน ไม่ได้ไม่ยอม อันนี้ละ ไปอยู่ที่ไหนก็ปีนเกลียวกันตลอด จะเอาตัวเองชนะ ตัวเองเป็นที่หนึ่ง ตัวเองถูกต้อง อะไรก็ตัวเอง ตัวเองต้องถูก ตัวเองต้องมาที่หนึ่ง ตัวเองต้องได้แบบนี้นะ ยึดอยู่แบบนี้นะ คนนั้นจะเป็นทุกข์ที่สุด อกมันจะแตกตาย เข้าอยู่ในหมู่ไหนมันก็อกจะแตกตาย แล้วมีประโยชน์อะไรไหม ที่เราจะไปยึดเอามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจของเรา ถ้าเราไปเจอสิ่งที่เขาไม่ดี แล้วทำไมเราต้องเอาสิ่งที่ไม่ดีของเขา มาทำลายเราอีกเล่า ซ้ำเติมเราอีกหรือ มันเป็นลักษณะของคนฉลาดไหม คนนั้นเขาไม่ดีพอแรงแล้ว เขาเหยียบย่ำเรา เขาเบียดเบียนเราพอแรงแล้ว เรายังต้องมาเบียดเบียนเรา ซ้ำเติมเข้ามาอีกหรือ มาพิจารณาดูสิ มันฉลาดหรือมันโง่
อันนี้แหละให้ระมัดระวัง ว่าเรามาทำบุญ เรามาเราต้องการบุญ บุญก็คือความเบิกบาน บุญก็คือความผ่องใส บุญก็คือความสุข แล้วเรามีความเบิกบาน มีความผ่องใส มีความสุขไหม ถ้าเรามีตรงกันข้าม แสดงว่าสิ่งที่เรากระทำ มันไม่ใช่เป็นบุญ โดยเฉพาะจิตใจที่มันส่งออกไป มันส่งออกไปด้วยอำนาจของกิเลส มันจะเป็นบุญได้อย่างไร ถ้าส่งออกไปด้วยอำนาจของธรรม มันจึงจะเป็นบุญ ส่งไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นอย่างไร ส่งไปด้วยอำนาจของความโกรธ ส่งไปด้วยอำนาจของความโลภ ความหลง มันก็มีแต่กลับมาทับถมจิตใจให้เศร้าหมอง ให้ขุ่นมัว มันก็ไม่เป็นบุญ มันก็เป็นบาป
พวกเราก็ต้องยอมรับ ว่างานของเรามันใหญ่ งานเยอะ เกี่ยวข้องกับคนเยอะเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เราก็ต้องทำใจให้หนักแน่นเปรียบประดุจเหมือนกับแผ่นดิน แผ่นดินนั้น ใครจะมาเหยียบย่ำ ใครจะไปเดินอย่างไร แผ่นดินก็ไม่ได้สะเทือนเลย ไม่ได้หวั่นไหวเลย ไม่ได้โกรธเคืองใครเลย ดูสิ พวกเราไปเหยียบย่ำแผ่นดิน ไปกระทืบไปอะไรต่ออะไร แผ่นดินเขาโกรธเราไหม เขาไม่ได้โกรธเลย เพราะฉะนั้น พยายามทำจิตใจให้เหมือนแผ่นดิน ถึงแม้จะไม่ได้เหมือนแผ่นดินก็ตาม แต่ก็ให้มีเศษ ๆ ของแผ่นดิน เข้าไปสู่จิตสู่ใจของเราบ้าง ให้จิตใจมีความหนักแน่น จิตใจมีความมั่นคงบ้าง อะไรต่ออะไรทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้องกับคนมากมายก่ายกอง อยากให้มันเป็นไปได้ดังใจเราทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราเองยังไม่ได้ดังใจเรา แล้วเราจะให้คนอื่นไปได้ดังใจเรา มันจะเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น แม้มันไม่ได้เป็นดังใจเราบ้าง ก็มองผ่านไป มันเรื่องของเขา ตัวของเขา ตัวเราเองยังไม่ได้ดังใจเรา แล้วคนอื่นจะได้ดังใจเราได้อย่างไร เขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา จะให้เขาเป็นแบบเราก็เป็นไปไม่ได้ จะให้เราเป็นแบบเขามันก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น เขาเป็นเขา เราเป็นเรา มองเสียอย่างนี้ มองในแง่มุมที่ดี คนเราอย่าไปมองคนในแง่ร้ายอยู่ตลอด ให้พยายามฝึกฝนดูคนในแง่ดี ดูในส่วนที่ดี พอดูในส่วนที่ดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีของเขามันจะหมดไปในความรู้สึกของเรา เหลือแต่ความดีงามเท่านั้น ถ้าเหลือแต่ความดีงามแล้ว จิตใจเราจะดี จิตใจเราจะผ่องใส เราต้องยอมรับว่า คนเรามีทั้งดี มีทั้งไม่ดี มีทั้งถูก มีทั้งผิด แต่ถ้าเราดูความไม่ดี จิตใจจะมีแต่ความเศร้าหมอง จิตใจจะมีแต่ความขัดเคือง แต่ถ้าเราดูแต่ความดีของเขา จิตใจมีแต่ความเบิกบาน มีแต่ความผ่องใส เพราะฉะนั้น เราดูในสิ่งที่ดี ๆ ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราหมั่นดู ฝึกดูความดีของคนอื่น คุ้ยเขี่ยในความดีของคนอื่น ผลที่สุด เราก็จะลืมความไม่ดีของเขาไป
แต่ก่อนนี้มีเด็กคนหนึ่งมาอยู่ด้วย เป็นเด็กประถมปลาย เด็กไปโรงเรียน กลับมาก็บ่น เพื่อนรังแก เพื่อนทำอย่างนั้น เพื่อนทำอย่างนี้ เพื่อนลักของอย่างนี้ เพื่อนอย่างนั้น อะไรต่อไร มีแต่เรื่องมาบ่นความไม่ดีของเพื่อนนี่ มีแต่มาบ่นว่าอย่างนั้นอย่างนี้มาตลอดเลย จิตใจก็เศร้าหมอง หน้าตาก็ห่อเหี่ยวอยู่ตลอด ทีหลัง แก้ใหม่ เอาสมุดให้เด็กเล่มนึง แล้วก็บอกว่า วันหนึ่งกลับมาจากโรงเรียน ให้จดความดีของเพื่อนมาให้ 5 อย่าง เอ้อ วันนี้เพื่อนให้ขนม วันนี้เพื่อนให้ยืมปากกา วันนี้เพื่อนชวนไปกินข้าว วันนี้อะไรต่ออะไร จดวันละ 5 อย่าง 5 อย่าง 5 อย่าง พอไป ๆ มา ๆ ต่อมาก็ไม่เคยบ่นเลย ไม่เคยบ่นถึงความไม่ดีของเพื่อนเลย เพราะใจมันรู้จักดูแต่ความดีของเพื่อนแล้ว จิตใจก็เลยผ่องใส หน้าตาก็เลยเบิกบานผ่องใส แทนที่จะหน้านิ่วคิ้วขมวด หน้าหงิก ๆ งอ ๆ เป็นมะเหงกเหมือนแต่ก่อนนี้ เดี๋ยวนี้หน้าเลยบานเป็นกระด้ง มีสง่าราศีขึ้นมาเลย
พวกเราก็เหมือนกัน ต้องฝึก ทุกสิ่งทุกอย่างฝึกได้ มันไม่ใช่ฝึกไม่ได้หรอก ถ้าฝึกไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่มาสอนพวกเรา มันฝึกได้ทั้งนั้น เพียงแค่เราจะฝึกหรือไม่ หรือจะดันทุรังอยู่อย่างนั้น ทิฐิมานะ ดื้อรั้นดันทุรัง รู้ว่ามันจนตรอกก็ยังดันเข้าไป ดันเข้าไป หัวโขกกำแพงแตก แล้วมันหัวใครแตก ก็หัวเราที่มันแตก แล้วมันมีประโยชน์อะไรไหม
เพราะฉะนั้น ให้พากันระมัดระวังดูแลรักษาตัวของเราเอง รักษาหมู่พวกของเรา เพราะเรายอมรับว่า เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราก็ต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ เราต้องทำงานเป็นหมู่เป็นคณะ เพราะฉะนั้น การทำงานเป็นหมู่เป็นคณะนั้น เราบอกเลยว่า อะไรก็ตาม ถ้ามีมากกว่า 1 คนขึ้นไปแล้ว จะไม่ให้มีกระทบกัน มันเป็นไปได้ไหม ถ้าจะไม่ให้กระทบกันเลย มันต้องมี 1 เดียว อันนั้นไม่มีกระทบเลย แต่ถ้ามีมากกว่า 1 หรือ 1 ขึ้นไปแล้ว มันต้องมีการกระทบเป็นของธรรมดา
เราอยู่ในหมู่คนมาก มันก็ต้องมีการปีนเกลียว มีการแซงกัน มีการกระทบกันเป็นของธรรมดา แต่การกระทบกันเป็นของไม่ดี เมื่อเรารู้แล้วว่ามันเป็นของไม่ดี เราก็พยายามระมัดระวังอย่าให้มีการกระทบกัน แต่ถ้าหากมันพลาดพลั้งกระทบกันแล้ว เราต้องให้อภัยกัน มองข้ามมันไปเสีย ยึดเอาคำว่า “ไม่เป็นไร” มาเป็นคติประจำใจของเรา แล้วเราจะเกี่ยวข้องอยู่ในหมู่ในคณะหรือ เราจะทำงานในหมู่ในคณะด้วยความเบิกบาน ด้วยความผ่องใส การทำงานของเราทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะเป็นงานที่เป็นบุญขึ้นมา
โดยเฉพาะพวกเราเข้ามาในวัด เข้ามาร่วมกันในงานนี้ ก็เพื่อบูชาองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ องค์หลวงตาของพวกเรา เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะบูชาคุณขององค์ท่านแล้ว องค์หลวงตาท่านมีเมตตาต่อพวกเราขนาดไหน ท่านไม่ต้องการให้พวกเราศิษยานุศิษย์มีความเศร้าหมอง มีความขุ่นมัวเลย ท่านมีแต่ความปรารถนาให้ลูกศิษย์มีแต่ความเบิกบาน มีความผ่องใส มีความสุข เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรายึดคติดังที่กล่าวมาเบื้องต้น จนกระทั่งถึงที่สุดนี้ เชื่อเถอะว่า พวกเราจะมีจิตใจที่เบิกบานผ่องใส ในขณะที่พวกเราทำงานไป เกี่ยวข้องกันไป แม้นงานภายนอกเราจะมีความเหน็ดเหนื่อย เมื่อย หิวก็ตาม แต่จิตใจของเราจะมีความเบิกบาน องค์หลวงตาท่านทราบด้วยญาณวิถีใดก็ตาม ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ทำงานบูชาท่าน จิตนี้จะมีแต่ความเบิกบาน มีแต่ความผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีความขุ่นมัวเลย แม้นจะมีการกระทบกันบ้าง ลูกศิษย์ลูกหาของท่านเอง ก็จะมีคำว่า “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร” อยู่ประจำใจ เชื่อเถิดว่า องค์หลวงตาท่านจะภูมิใจที่สุดที่มีพวกเราเป็นศิษยานุศิษย์อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ให้พวกเราทุกท่านทุกคนยึดไปปฏิบัติอย่างนี้นะ
บุญนี่เราทำได้ทุกคน ไม่ใช่โยมทำ แต่พระมีแต่โอปนยิโกอย่างเดียว น้อมเอาเข้ามา เอาเข้ามาอย่างเดียว มันไม่ใช่ พระยิ่งกว่าส่ง เหมือนองค์หลวงตาท่านว่าอย่างไร พระเป็นผู้สอนเรื่องการให้ทาน เพราะฉะนั้น บุคคลที่ให้ทานเก่งที่สุดในโลก ควรจะเป็นพระ ดูซิ องค์หลวงตานั่นละ ให้ทานจนกระเป๋าแห้งเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้น พวกเราลูกศิษย์ลูกหา เราก็เดินตามรอยครูบาอาจารย์ เพราะการให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เจือจานแบ่งปันกัน จะเป็นเหตุให้การอยู่ร่วมกันของพวกเรามีความร่มเย็นที่สุดเลย
ถ้าตรงกันข้ามกับการสละเจือจานเผื่อแผ่ มันก็เป็นการเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ พอมีความตระหนี่ก็มีความเห็นแก่ตัว พอมีความเห็นแก่ตัว มันก็เริ่มเอารัดเอาเปรียบกันแล้ว พอมีการเอารัดเอาเปรียบก็เริ่มคดโกง เริ่มคดโกงแล้วก็มีการลัก ฉก ชิง วิ่งราว จี้ ปล้นกัน แล้วสังคมเรามีแต่การลัก ฉก ชิง วิ่งราว มีแต่การจี้ ปล้น ถามดูว่าสังคมนั้นมีสุขไหม จะนอนก็นอนไม่หลับ เพราะกลัวเขามาลักขโมย มาจี้ มาปล้น กินก็กินไม่สนิทใจเพราะกลัว เดี๋ยวเขามาลักมาขโมยนั่นขโมยนี่ ผลที่สุด กินก็ไม่ได้กิน นอนก็ไม่ได้นอน นั่งก็ไม่เป็นอันนั่ง ยุ่งวุ่นวายตลอดชีวิต แล้วมีความสุขไหม
เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลส มันเป็นเรื่องสร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ทั้งนั้น
ดังนั้น ส่วนไหนที่เป็นธรรม พวกเราก็พยายามที่จะประพฤติปฏิบัติส่วนนั้น ทำส่วนนั้น เมื่อเราทำส่วนของธรรมแล้ว มันก็จะค่อย ๆ ไปกดทับ หรือไปชำระส่วนของกิเลสให้เบาบางจางลงไปเรื่อย ๆ เช่นว่า เราเป็นคนใจกว้างขวาง เราสละเจือจานเผื่อแผ่ออกไป ด้วยน้ำจิตน้ำใจกว้างขวาง มันก็ทำให้ความตระหนี่ของเราจางลง ๆ เมื่อความตระหนี่ของเราจางลง ความเห็นแก่ตัว หรือความเอารัดเอาเปรียบก็หลุดออกไป ผลที่สุดเมื่อสิ่งเหล่านี้จางไป ก็จะเกิดเป็นความเมตตาขึ้นมาสู่จิตสู่ใจ ใจของเราก็มีแต่ความเบิกบาน เห็นคนอื่นเขาได้ดี เขามี ก็เกิดมุทิตาจิต พลอยยินดีกับเขา แต่ก่อนนี้มันมีแต่อิจฉา ถ้ามันมีความตระหนี่ มันก็มีแต่ความอิจฉาเขา แต่ถ้ามันมีน้ำจิตน้ำใจ มันก็มีแต่มุทิตา พลอยยินดีกับเขา พลอยยินดีกับความมีความได้ของเขา กิเลสความโลภมันก็จางลง ๆ โดยที่เราไม่ต้องไปหลับหูเลย มันจางลงแล้ว พอเราไปหลับตาเท่านั้นหละ กิเลสความโลภมันก็พังทลายไปเลย … ต้องเอาให้ได้แบบนี้นะลูกหลาน
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ปรารภธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
|