“การพิจารณาทางด้านปัญญาเมื่อถึงคราวที่ควรต่อการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นจิตที่มีความสงบมาก่อน หรือว่าไม่มีความสงบมาก่อนเลยก็ตาม เมื่อถึงคราวที่ควรแก่การพิจารณาเราก็ต้องพิจารณา ไม่ใช่ว่าจะคอยเอาแต่จิตที่มีความสงบเสียก่อน จริงอยู่จิตที่มีความสงบเป็นพื้นฐานขึ้นมาก่อนแล้วเมื่อมาพิจารณาทางด้านปัญญา การพิจารณานั้นจะมีความชัดเจนแยบคายรอบคอบมากขึ้น แต่ถ้าเราจะมัวแต่ไปรอคอยให้จิตมันสงบเสียก่อนถึงค่อยออกมาพิจารณา มันก็อาจจะไม่เท่าทันต่อกลมารยาของกิเลส เพราะฉะนั้นแม้นจิตจะยังไม่สงบเมื่อถึงคราวที่ควรแก่การพิจารณาคือมันสะดุดอยู่ภายในจิตในใจของเราเอง ไม่ว่าจะสะดุดต่อสิ่งใดก็ตาม ความได้หรือความเสีย ความยินดีหรือยินร้าย ไม่ว่าจะสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เมื่อมันกระทบมันดูดดื่มสัมผัสขึ้นมาควรแก่การพิจารณาแล้ว ก็พิจารณามันลงไปเลย อย่าไปสงวนรักษามันไว้
การพิจารณาเราก็ควรระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นความฟุ้งซ่าน เราต้องพยายามตีกรอบในการพิจารณาให้แก่ปัญญานั้น คุ้ยเขี่ยลงไปบนเส้นทางแห่งอนิจจัง อย่าปลีกแวะออกนอกอนิจจัง ตีกรอบให้มันอยู่บนเส้นทางแห่งทุกขังหรืออนัตตา สิ่งใดมากระทบมาสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกาย จิตเป็นผู้รับทราบ มีสิ่งไหนบ้างที่มันไม่เป็นอนิจจังไม่เป็นทุกขังหรือไม่เป็นอนัตตา ดูตามสภาพความเป็นจริงของมัน เพื่อมาชำระความลุ่มหลงมัวเมาที่ครอบงำจิตใจของเรากับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่อยู่กับเขามาตลอดอนันตกาลนับภพนับชาติไม่ได้ แต่เราก็ยังลุ่มหลงมัวเมาเขาอยู่อย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ผลก็เกิดขึ้นมาเป็นความทุกข์ แต่เราก็ไม่มีเส้นทางที่จะปลดเปลื้องความลุ่มหลงนั้นออกไปได้ แต่บัดนี้เรามีศีลมีธรรม มีข้อประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องมืออันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าท่านทรงหยิบยื่นให้แก่พวกเรา เราจึงควรที่จะน้อมนำเอามาใช้ให้สุดกำลังความสามารถของเรา ในการประกอบความพากเพียรในการพิจารณา พิจารณาคุ้ยเขี่ยลงไป จุดหมายปลายทางของเราคือต้องการรู้แจ้งในสิ่งเหล่านั้น เราจะพยายามกำกับจิตของเราให้เดินไปตามทางที่ปัญญาคุ้ยเขี่ยปูทางไว้ให้
เมื่อเรามีความพากเพียรอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งจิตของเรามีความสงบมีความตั้งมั่นหนักแน่นมั่นคง ที่เรียกว่ามีสมาธิ ต่อจากนั้นการพิจารณาของเราทางด้านปัญญา มันจะไม่ปลีกแวะออกนอกลู่นอกทาง จะไม่เป็นความฟุ้งซ่านอีกต่อไป มันจะมีแต่ความแยบคายรอบคอบในการพิจารณา เพราะฉะนั้นการพิจารณาแต่ละครั้งจึงมีความชัดเจนมาก ยิ่งพิจารณาบ่อยเข้ามันก็ยิ่งชัดเจนและรวดเร็วต่อการพิจารณามากยิ่งขึ้น ชัดเจนจนกระทั่งจิตมันยอมรับในเหตุผลของปัญญาที่เข้าไปคลี่คลาย พิจารณาเห็นตามสภาพความเป็นจริงของเขา วิปัสสนาความรู้แจ้งก็เกิดขึ้น เมื่อวิปัสสนาความรู้แจ้งเกิดขึ้นแล้ว โมหะความลุ่มหลงมันก็อยู่ไม่ได้ ที่มันอยู่ได้ก็เพราะมันยังไม่มีวิปัสสนาเกิดขึ้นมา มันก็อยู่ด้วยความมัวเมาลุ่มหลงตามความเสกสรรปั้นแต่งของกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะหลุดออกไปจากการครอบงำจิตใจของเราก็เพราะความพากเพียรของเรานั่นเอง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะมายกออกให้พวกเราได้ หรือมาชำระแทนเราได้ มีแต่ตัวเราเองที่จะต้องประพฤติปฏิบัติชำระด้วยตัวของเราเองตามหลัก “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ให้เชื่อมั่นลงไปในตัวเองในความพากเพียรของเราเอง แล้วก็ทุ่มเทมันลงไป เพราะความประมาทแม้แต่นิดเดียวล้วนไม่เป็นมงคลและไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย เราจึงอย่าตั้งอยู่บนเส้นทางแห่งความประมาท ให้เอาจริงเอาจังหนักแน่นมั่นคงลงไป ไม่ว่าสภาพของเราจะอยู่อย่างไรเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เอาจิตของเราเป็นสำคัญ ตราบใดก็ตามถ้ากิเลสมันฝังอยู่ในจิตในใจของเราแม้แต่นิดเดียว เราจะไม่ประมาทไม่นอนใจ เราจะมุ่งหน้าไปสู่ความบริสุทธิ์ความพ้นทุกข์ตามองค์ศาสดาของพวกเราให้ได้ เมื่อพวกเราทุกท่านทุกคนน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ เชื่อเถิดว่าความเป็นผู้ประเสริฐในธรรมย่อมเกิดขึ้นในพวกเราทุกท่านทุกคน ก็ขอให้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่ความประเสริฐด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ”
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔
หลวงปู่หลุย จันทสาโร ---------------------------------------- ม้างกาย-คือ การม้างกาย หรือแยกกาย นั่นเอง"....
-เมื่อเราสามารถเห็นตนเอง(กายทิพย์) ต้องเอา"กายทิพย์"มาพิจารณา"กายเนื้อ"ให้ละเอียด ตั้งแต่ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง-ตับ-ไต ไส้-ปอด(กายคตานุสสติกรรมฐาน)จนเห็นเป็นอสุภกรรมฐาน คือ สิ่งที่ไม่สวยงาม สักแต่เป็นธาตุขันธ์ที่ต้องแตกสลายไปจนจิตสลายตัวในการยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย โดยมีตัว"จิต หรือผู้รู้" เป็น"ผู้เห็น"นิมิตเหล่านั้น
-การเห็นเป็นสิ่งที่รับรอง เรียกว่าใช้ประโยชน์จากนิมิตเป็น ไม่หลงสวรรค์ ดั้นนรก ตามแต่จิตจะท่องเที่ยวไป...
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพิจารณานิมิตให้เป็นประโยชน์กับตนเอง เมื่อท่านชำนาญแล้ว สิ่งที่จะติดตามมา คือ "ปัญญาที่เกิดขึ้น" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการปฏิบัติธรรม
ถ้าท่านนั่งปฏิบัติแล้วไม่พบพระ ไม่มีแสงสว่าง....ขอจงอย่ากังวลกับสิ่งเหล่านี้ !!!....เนื่องจากวาสนาของแต่ละคนแตกต่างกัน มิฉะนั้น จะเกิดความทุกข์ในการปฏิบัติธรรม แทนที่จะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ หรือเห็นธรรม
เราพึงระลึกอยู่เสมอว่า เราจะไม่ปฏิบัติเกินพอดี ไม่เล็งผลเลิศ คิดจะเอากำไรอย่างเดียว ทวงบุญคุณจากการปฏิบัติ!!!
เราต้องดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้า พระอริยะทั้งหลาย คือ การรักษาศีล-ทำสมาธิ-และพยายามพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ จนเกิดปัญญาตามโอกาสและเวลาที่เอื้ออำนวยอย่างสม่ำเสมอ ท่านก็น่าจะมีวาสนา ไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน.....
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
" เกิดแล้วแก่ เจ็บ ตาย สังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยง กลัวอะไรล่ะปิดจมูกอยู่ทุกวันนี้ กลัวเจ็บไข้.. ไปซ่อนอยู่ในรู ในถ้ำเหวที่ไหนซ่อนได้ไหม.. หนีความเจ็บป่วย ถ้าเกิดมาแล้วต้องแก่ เจ็บ ตาย หรือท่องเล่นเฉยๆ ไม่ท่องเอาเข้าถึงหัวใจหรอ.."
โอวาทธรรม พระราชพัชรญาณมุนี หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ
"ถ้าเรากำลังมีปัญหา ก็อย่าไปท้อใจ หดหู่ใจ แต่ให้ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราอดทน ถ้าเราไม่ท้อถอย ในที่สุดเราก็ต้องผ่านอุปสรรคนี้ได้ เพราะพระพุทธองค์ทรงยืนยันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้เป็นกฏตายตัวของธรรมชาติ
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
"ทุกข์ในการหาอาหารเลี้ยงชีพนั้น อย่างหนึ่ง ทุกข์ด้วยจิตใจ อย่างหนึ่ง คนรวยทุกข์กว่าคนจน ก็มีถมเถไป ไม่ใช่ว่าคนรวยจะสุขเลยทีเดียว เหตุนั้น พุทธศาสนาจึงสอนทุกชั้นทุกหมู่ ทั้งคนจนคนมีให้มีที่พึ่งทางใจ คือหัดทำความสงบ อบรมใจ ให้มีเวลาพักผ่อน ถ้าทุกข์กลุ้มใจอย่างเดียว ก็ไม่มีหนทางจะพ้นจากทุกข์ได้ คนถือพุทธศาสนา ถึงแม้จะทุกข์กาย แต่เขายังเบิกบานใจอยู่ เพราะ เขามีที่พึ่งทางใจ"
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้ว ชีวิตจะราบรื่นเป็นมอเตอร์เวย์ ๘ เลนไปตลอดทาง ไม่ใช่ว่าทำความดี จะเจอแต่สิ่งดีที่ถูกใจเสมอไป โลกธรรมต้องมีอยู่เหมือนเดิม เพราะเป็นของของโลก ที่เราอยู่อาศัย
คนดีเข้าป่า ยุงไม่ได้กัดน้อยกว่าคนชั่ว ถ้าเรารู้เท่าทันโลกธรรม มันจะทำให้ใจเราไม่ต้องไปขุ่นมัวกับมัน
#พระเทพพัชรญาณมุนี พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
|