“จากนี้ไปโลกมนุษย์จะไม่น่าอยู่เเล้ว จะมีแต่คนพาล คนเกเร จิตใจโหดเหี้ยม คนบาปหยาบหนามาเกิด เราๆ จะอยู่ร่วมกับเขาไม่ได้หรอก ให้พากันรีบเร่งปฏิบัติ หากเเม้นชาตินี้ เรายังไม่พ้นทุกข์ ก็ให้ได้ไปบำเพ็ญภาวนา รออยู่ชั้นพรหมโน่น เพื่อรอลงมาเกิด ในโลกมนุษย์ยุคของพระศรีอริยเมตไตย ในยุคนั้นจะมีแต่คนมีบุญเท่านั้น จึงจะได้มาเกิด”
หลวงปู่อว้าน เขมโก
#วันหนึ่งคืนหนึ่ง_ผ่านไป
ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ สังขารร่างกายนับเวลาที่จะผ่านไปๆ โดยลำดับ พวกเราอย่าปล่อยให้วันคืนล่วงไปเฉยๆ ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม
#การปฏิบัติธรรม_ก็เพื่อจะกำจัดสิ่งปลอมแปลงนั้นออกให้เหลือแต่ของจริง
คือ แก่นแท้ของธรรม เฉพาะอย่างยิ่งคือการหัดภาวนา ควรจะทำให้เกิดให้มี
ความแท้จริง งานอย่างอื่น เราก็เคยต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไร ก็ต่อสู้กับงานหนักงานเบามาแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนบัดนี้ เราก็ทำได้มาเรื่อยๆ
#แต่เวลานี้เราจะฝึกหัดภาวนา
คือ การทำจิตใจโดยเฉพาะ และการทำภาวนานี้ ก็เป็นงานที่จำเป็นจะต้องทำ เช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ หรือควรที่จะทำให้หนักยิ่งไปกว่างานอื่นๆ เสียอีก เพราะเป็นงานหนัก และละเอียดกว่างานทั้งหลาย
#การทำภาวนาแรกๆ
จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นของธรรมดา เพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่าการภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต
#ถึงจะยากลำบากแค่ไหนเราต้องฝึก
เพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิต ที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้น ให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง
#จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง หลวงปู่อ่อน #ญาณสิริ
บางทีเราสะสม คุณงาม ความดี ปฏิบัติมาทั้งชีวิต บางทีพลาดทีเดียว ไปหมดเลย
เปรียบเหมือน ไฟไหม้ในป่า กว่าป่า มันจะงอกงาม โต เป็นป่า แต่บางที ไฟทีเดียว เผาหมดเลย เพราะฉะนั้น บางครั้ง..มีอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น แล้วเผาทั้งตัวเรา เผาทั้งผู้อื่น จนทำให้เราหลุดออกนอกเส้นทางไปอย่างยาวนานได้เลย
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงตรัสไว้ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น ย่อมเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด นี่เป็นพระวาจาสุดท้ายของพระตถาคต"
ก่อนที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน พุทธโอวาท สุดท้าย ให้ภิกษุทั้งหลาย ตั้งอยู่ใน #ความไม่ประมาท ก็คือ รักษาใจให้ตั้งมั่น ตื่นอยู่เสมอ
อย่าประมาทว่า เราปฏิบัติได้ดี เรามีความเบาสบาย เรามีความสงบ เมื่อใดที่อกุศลธรรมมันให้ผล มันเหมือนไฟ ที่เผาทุกอย่าง ทำให้เราหลุดออกนอกเส้นทางได้เลย
การที่เราอยู่ในความไม่ประมาท ก็คือ ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น มีจิตใจที่ตั้งมั่น อยู่เสมอ เราจึงจะประคองตนเอง จนตลอดรอดฝั่ง จนสามารถหลุดพ้น... จากเภทภัยในวัฏสงสารทั้งปวงได้ ...................................... ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
พออยู่กับสภาวะไปเรื่อยๆ จนเกิดความโล่งโปร่งเบาสบาย ก็อยู่กับความเบาสบายไปเรื่อยๆ สบายๆ บางคนบอกว่า.. ไม่เห็นมีสภาวะเลย มีแต่ความเบา ความเบาสบายก็เป็นสภาวธรรม ในระดับสมาธิ แก่นที่เหมือนกัน คือ.. ใจมันนิ่ง มันรู้สึกนิ่งนั่นเอง แยกออกไหม? เวลาใจเรานิ่ง กับใจไม่นิ่ง เวลาใจมันนิ่ง ก็เป็นสภาวะระดับสมาธิทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปีติก็ดี เป็นความสุขก็ดี ก็เป็นสภาวธรรม หรือบางทีไม่เห็นมีสภาวะอะไรเลย มันนิ่งอย่างเดียว มันเฉยอย่างเดียว ความเฉยก็เป็นสภาวธรรม ที่เรียกว่า “อุเบกขา” นั่นเอง ให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง . ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร 13 เมษายน 2564
.
#เราทรงจิตของเราให้เที่ยง
มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมันก็ ค่อยๆคลานเข้าไปหาความเสื่อม หรือคลานเข้าไปหาความตายทุกขณะจิต ทุกเวลาสภาวะของร่างกายนี้ จะต้องประคบประหงมมันด้วยอาหาร ยารักษาโรค ด้วยอาภรณ์เป็นเครื่องปกคลุมกาย มีบ้านเรือนเป็นเครื่องอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ใจของคนที่เราจำเป็นจะต้องรับสัมผัส คือ อารมณ์ทั้งความชมและความติ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จากหนังสือ "ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า" หน้า ๙ คัดลอกโดย คณะบุญสุประวีณ์
มาเป็นพระอริยเจ้ากันเถิด
ก็อยากจะถามว่าปฏิปทาที่จะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน มันยังเกินวิสัยของท่านหรือเปล่า
พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ 3 อย่างคือ 1.สักกายทิฏฐิ เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จิตใจของเรายอมรับนับถือกฎของธรรมดา ร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ ป่วย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ และมีความตายไปในที่สุด และขณะที่เราทรงตัวมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อาการอย่างนี้จับใจของท่านแล้วหรือยัง ท่านยอมรับธรรมดาได้แล้วหรือยังว่า ธรรมดาของเรานี้จะหนีความทุกข์ไม่พ้น ถ้าเรามีร่างกายเราก็มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง ต้องป่วยไข้ไม่สบาย ความตายจะเข้ามาถึง
เวลานี้ท่านมีความกล้าแล้วหรือยัง กล้าต่อความตายที่มันจะตายโดยปกติ จะตายโดยอาการเช่นใดก็ช่าง แต่ต้องตายแน่ คิดไว้แล้วหรือยัง หรือว่าความเมาในร่างกาย หรือเรียกว่าเราปรับปรุงร่างกายยังไงก็ตามมันไม่สวยหรอก เพราะว่าร่างกายของเรานี้มันสกปรก ทีนี้เรื่องของร่างกายผ่านไป
2.วิจิกิจฉา เรื่องสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คลายความสงสัยแล้วหรือยัง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์
มรณังปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์
นี่หมายความว่าถ้าเราเกิดมาแล้วเรายึดถือว่าร่างกายมันเป็นเราเป็นของเรา หรือเมื่อถึงเวลาความแก่เข้ามาถึงเราก็หนักใจ เพราะนี่มันแก่เสียแล้วหรือเนี่ย แย่สิ! เราทำอะไรมันก็ไม่ไหว นี่เรียกว่าเรามีอุปาทานขันธ์ยึดมั่นในร่างกายเกินไป นี่พอเราป่วยขึ้นมาก็เกรงไปว่า นี่ถ้าเราตายเสียแล้ว ลูกก็ดี หลานก็ดี เหลนก็ดี นี่มันจะทำยังไงกัน ทรัพย์สินทั้งหลายก็มีไม่พอใช้ไม่พอกิน อารมณ์นอกคอกอย่างนี้ยังมีอยู่สำหรับท่านอยู่หรือเปล่า
เมื่อความตายจะเข้ามาถึงจริงๆ เราก็มานั่งรำพึงรำพันว่า แหม..นี่เกิดมาน้อยเกินไป เกิดหลายๆ วันกว่านี้ก็จะดี นี่แหละความเสียดายชีวิตอย่างนี้ยังมีสำหรับท่านหรือไม่ ถ้ากฎของกรรมอันใดมันเกิดขึ้นกับท่าน คือทำให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ อย่างนี้จิตใจของท่านยอมรับนับถือกฎของกรรมหรือเปล่า จะไปนั่งบนเจ้าบนเทวดา บนผีสางนางไม้ที่ไหนก็ตาม ขออย่าให้แก่ ขออย่าให้ป่วย ขออย่าให้มีอาการขัดข้อง ขออย่าให้จน ขอให้อยู่เป็นปกติ จิตอย่างนี้ของท่านมีหรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่มันก็ยังใช้ไม่ได้ เป็นอันว่าตั้งหน้าตั้งตาจับอารมณ์พระโสดาบันกันเสียให้ได้ จะได้พ้นทุกข์เพราะการเป็นพระโสดาบันนี่เราบรรเทาการเกิด เรายังไม่ได้งดเกิด เพราะว่าถ้าเราไม่บรรเทาเสียแล้ว เราต้องเกิดนับชาติไม่ถ้วน คือไม่มีนิมิตเครื่องหมาย การเกิดแต่ละชาติมันเป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น นี่มาคุยกันตอนเช้าๆ เพราะอารมณ์ของท่านยังดี แต่ว่าเสียงคนพูดสิมันไม่ดี มันเป็นไข้หวัด ช่างมันนะ ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา พอพูดกันเสียงไม่เพราะไม่เป็นไร เอารู้เรื่องก็แล้วกัน
3.สีลัพพตปรามาส ทีนี้การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือ "ศีล 5" จิตใจของท่านรักษาศีล 5 ได้เป็นปกติแล้วหรือยัง เรื่องศีล 5 นี่มีความสำคัญมาก เพราะว่าพระโสดาบันนี่ไม่มีอะไรมาก แค่มีศีล 5 เข้มข้น เคารพในพระพุทธเจ้า เห็นว่าร่างกายที่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายเป็นของธรรมดา เพราะยังมีกิเลสเต็มตัวแต่ว่าขังกิเลสไว้ ไม่ละเมิดศีลนั่นเอง ยังรักยังมีผัวมีเมียได้แต่ว่าไม่นอกใจผัว ไม่นอกใจเมีย ไม่ละเมิดศีล 5 ยังรวยได้แต่ก็ไม่คดโกงใคร ยังมีความหลงอยู่ในขันธ์ 5 ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ยึดมั่นเกินไปตายก็ช่างมัน มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นที่สุด อย่างนี้อารมณ์ของท่านเข้าถึงแล้วหรือยัง นั่งใคร่ครวญดู ดูกำลังใจของท่านไม่ต้องไปดูใครเขา ในเมื่อเราเห็นคนแก่ เห็นคนป่วย เห็นคนตาย เห็นคนมีทุกข์ยาก ท่านเคยคิดถึงไหมว่าการเกิดนี่มันทุกข์ อย่ามาเกิดกันเลย บอกใจไว้อย่างนี้บ้างหรือเปล่า ถ้ายังบกพร่องอยู่ ก็โปรดทราบว่าความเป็นพระโสดาบันของท่านยังไม่ปรากฏ
(จากธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 206 เดือนพฤษภาคม 2541 หน้า 31-32)
|