นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 7:20 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความปรารถนา
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 27 ก.ค. 2021 7:26 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
#ปฏิบัติธรรมจนรู้ได้ด้วยตนเองได้ว่า_จะไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว
ทำอะไรก็พยายามน่ะ ทำเอาจริงเอาจัง
ผู้ปฏิบัติทางด้านธรรมะมันจะเอานิสัยทางด้านนั้นมาใช้แล้วคนที่จริงจัง คือ..ว่ามีการตั้งสติ ความรู้อยู่กับสติไม่คลาดเคลื่อนไปไหน จิตที่มันฟุ้งซ่านที่เคยมีอยู่
มันต้องสงบลงได้อย่างแน่นอน
เมื่อจิตเราเกิดความสงบ เพียงครั้งแรกเท่านั้นแหละ
มันก็มีความตื่นเต้นแล้ว แล้วยิ่งสงบเข้าไปหลายครั้งหลายหน ได้ความสว่างกระจ่างแจ้ง มันก็จะเกิดขึ้น เราถึงว่าจิตมันเริ่มสัมผัสกับธรรมแล้ว
ต่อจากนั้นความขี้เกียจขี้คร้าน ในการที่จะทำความพากความเพียร มันก็ค่อย ๆ จะหมดไป ๆ แล้วเรา
ก็จะมองเห็นว่า..เฮ้ยตัวขี้เกียจขี้คร้านเนี่ยมันเป็นกิเลสโดยแท้เลย ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยคิดเคยนึกนะ
พอจิตเจริญขึ้นมันมีความสงบของมันเป็นปกตินี่ เวลาเดินจงกรม มันก็จะขยันเดิน เดินไปบางที นึกว่ามันแค่ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง บางทีเดินไป สามชั่วโมง สี่ชั่วโมงก็มี
.
เมื่อมีความสงบจากนั้นมีโอกาสก็ก้าวทางปัญญา พิจารณาสิ่งทั้งหลายลงไปสู่ไตรลักษณ์ จนกระทั่งถึงสุดท้าย ที่มันถอดถอนได้สุด “หมดกิเลส” และไอ้ความทุกข์ของใจที่มันหมดกิเลสแล้ว มันหาอะไรเทียบไม่ได้นะ
แล้วก็จะสามารถรู้ได้ด้วยตนเองได้ว่า จะไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว

โอวาทธรรมคำสอน
หลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน
บางส่วนจากธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
ณ.วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี








"วันนี้เป็นวันอธิษฐานพรรษา เข้าพรรษา ให้พี่น้องทั้งหลายตั้งความสัตย์ความจริงใส่ตัวเองนะ คนเรามันเร่ร่อนๆ ไม่ค่อยมีหลักมีเกณฑ์ ให้มีขอบเขตเหตุผลมีหลักเกณฑ์อรรถธรรม เข้าบังคับกายวาจาใจ ความประพฤติหน้าที่การงานด้วยนะ มันโกโรโกโสเรื่อยมาตั้งแต่วันเกิด วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา ให้ตั้งสัจจะอธิษฐาน อย่างน้อยถึงวันออกพรรษา เช่นอย่างการทำบุญใส่บาตรไม่ให้ขาดวันหนึ่งๆ ได้องค์เดียวก็เอาไม่ให้ขาดสัจจะอธิษฐานที่ตั้งไว้เพื่อทานบารมีของเรา ในวันหนึ่งให้ได้ใส่บาตร ไม่มากก็ตามได้องค์เดียวก็เอา
.
วันหนึ่งๆ ไหว้พระตอนเช้าตอนเย็นอย่าให้ขาด ตั้งสัจจะเอาไว้ แล้วทำบุญให้ทาน ได้ข้าวหรือได้สิ่งของไปใส่บาตรแม้องค์เดียวก็ได้ ไม่ขาดทานของเราวันนั้น ทำทานอย่าให้ขาดวันหนึ่งๆ แล้วไหว้พระสวดมนต์ก็ให้ไหว้ ก่อนจะหลับจะนอน ตื่นนอนให้ไหว้เสียก่อนไป แล้วสัจจะที่จะบังคับเจ้าของเพื่อความเป็นคนดี ให้บังคับเข้าทุกด้านทุกทางในวันเข้าพรรษา เป็นวันที่สำรวมระวังมากทีเดียวกว่าวันอื่นๆ วันอื่นๆ ก็เถลไถลอยู่แล้ว วันเข้าพรรษาห้าม ให้มีคำสัตย์คำจริงบังคับตัวเองคนเรา ไม่มีความสัตย์ความจริงเพื่ออรรถเพื่อธรรมเข้าบังคับแล้วเหลวแหลกกันทั้งนั้นละ
.
วันนี้เป็นวันอธิษฐานพรรษาแล้ว ขอให้ทุกๆ ท่านได้ตั้งสัจจะความจริงไว้บังคับตัวเอง เช่นไหว้พระสวดมนต์ หรือกินเหล้าเมาสุรา เคยกินมาจนหัวราน้ำก็ตาม บังคับเลย ห้ามตั้งแต่บัดนี้ต่อไปอย่างน้อยต้องถึงวันออกพรรษา ไม่กินเหล้า เอา จะตายก็ให้ตาย ดัดกันอย่างนี้หนักๆ แล้วเหล้าก็หายไปๆ เราก็เป็นคนดีตลอดไปเลย ให้จำเอา การให้ทานวันหนึ่งอย่าให้ขาด สวดมนต์ไหว้พระวันหนึ่งๆ อย่าให้ขาด ความประพฤติหน้าที่การงานอะไรที่เป็นมลทิน หรือเป็นความเสียหายแก่ตนและส่วนรวมแล้วให้งดๆ เช่นว่าอย่างน้อยงดในพรรษา นี่อย่างน้อยที่สุดนะ มากกว่านั้นให้งดไปโดยลำดับลำดา จะเป็นความถูกต้องดีงาม
.
สำหรับชาวพุทธเราให้มีขอบเขต เอาธรรมละมาบังคับไม่เสียหาย ถ้าเอากิเลสมาบังคับจมได้ทั้งนั้น ไม่มีคำว่าสูงว่าต่ำว่าอะไรแหละ จมได้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเอาธรรมเข้าไปบังคับ เด็กก็เป็นเด็กดีน่ารัก ผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ดีน่าเคารพบูชา ให้ถืออย่างนั้นนะ อย่าถืออายุมืดแจ้งเฉยๆ ว่าเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ให้ถือธรรมเป็นผู้ใหญ่ตลอดเวลา เด็กมีอรรถมีธรรมก็ให้มีความเคารพรักเด็ก ไม่ควรฝ่าฝืนคำพูดของเด็กที่พูดถูกต้องแล้ว ยอมรับกันๆ เรียกว่าคำสัตย์คำจริงคือธรรม จะเป็นคนดีด้วยกัน
.
เข้าพรรษาอย่างนี้ขอให้มีคำสัตย์คำจริงบังคับตัวเองทุกคนนะ ไม่ได้มากได้น้อยใครจะได้เท่าไรก็เอา เช่นอย่างศีล ๕ ให้ได้ทุกคน ข้อสุรานี่บังคับให้ขาดเลยเทียวไม่ให้มันกิน เอ้า มันจะตายจริงๆ ให้มันเห็นสักที ให้ว่าอย่างนั้นว่าตัวเองแล้วจะเป็นคนดีเรื่อยๆ สุราก็แตกกระจัดกระจายไปเลย เข้ามาใกล้เขตบ้านคนๆ นั้นไม่ได้ นี่คือความดีขับไล่ความชั่วให้ขับไล่แบบนี้ อย่าอยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้นะ"

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ ศาลาใหญ่วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐









ทุกข์เป็นสิ่งวางได้ . .

ที่จริงต้องมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่เพราะความเสื่อมลาภ เพียงแต่จะเป็นความทุกข์หนักหรือทุกข์น้อยแตกต่างกันเท่านั้น และประมาณของความทุกข์จะแตกต่างกันก็เพราะเหตุสำคัญสองประการ

ประการหนึ่งคือ ความเสื่อมลาภนั้นมากน้อยต่างกัน
ประการหนึ่งคือ ความมีปัญญารู้เท่าทันความจริงไม่เสมอกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ความทุกข์จากความเสื่อมลาภจะเกิดขึ้นแล้วก็ตาม มากหรือน้อยก็ตาม วิธีบรรเทาทุกข์หรือทำทุกข์ให้สิ้นไป ที่จะใช้ได้ผลแน่นอนวิธีหนึ่งก็คือ วิธีคิดถึงความจริงว่า ความเสื่อมลาภเป็นธรรมประจำโลก เราอยู่ในโลกก็ต้องพบ อยากพบหรือไม่อยากพบก็ต้องพบ

การประสบโลกธรรมนั้นเป็นเรื่องธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปล่อยใจให้เป็นทุกข์ต่างหากเป็นของไม่สมควร เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ และเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งด้วยกันทุกคน ไม่ควรมีใครสักคนเดียวที่ยอมปล่อยใจให้เป็นทุกข์ ควรแก้ไขผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำน้อยให้หมดสิ้น ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด

การแก้ไขนี้ก็มิใช่ว่าจะแก้ไขให้ความเสื่อมลาภกลับกลายเป็นความได้ลาภขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว ความทุกข์จะได้สิ้นสุดไปพร้อมกับความได้ลาภมาถึง การแก้ทุกข์มิใช่อยู่ที่วิธีนี้เป็นสำคัญ การพยายามทำมาหากินเพื่อให้กลับเกิดมีทรัพย์สินเงินทองขึ้นมาโดยชอบธรรมนั้นเป็นการดี สมควรกระทำด้วยกันทุกคน

ในขณะที่ยังอยู่ในเพศของผู้ครองเรือน มิใช่อยู่ในเพศของนักบวชหรือสมณะ และการกลับถึงความได้ลาภพ้นจากความเสื่อมลาภ แม้จะเป็นเหตุให้สิ้นทุกข์ใจ อันเนื่องจากความเสื่อมลาภก็จริง แต่การแก้ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบริหารจิต เป็นการแก้ที่จะไม่ให้ผลเป็นความสิ้นทุกข์ใจยั่งยืนเพราะจะไม่มีปัญญาเห็นจริงเป็นพื้นฐานของจิตใจ

การแก้ที่เป็นการบริหารจิต ต้องเป็นการแก้ที่ประกอบด้วยเหตุผล พิจารณาหาเหตุผลจนใจยอมรับ ยอมวางทุกข์ จึงจะได้รับผลยั่งยืน แม้จะต้องประสบความเสื่อมลาภอีกต่อไป สักกี่ครั้งกี่หน ก็จะมีเหตุผลมาบรรเทาหรือดับความทุกข์เสียได้โดยควร เมื่อประสบความเสื่อมลาภจนเกิดทุกข์ ต้องเป็นทุกข์อยู่ คิดเสียให้กลับกันกับที่เคยคิดไว้ล่วงหน้าว่า มีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภคู่กันเป็นธรรมดา

คิดเสียกลับกันก็คิดว่า มีเสื่อมลาภแล้วก็ต้องมีลาภคู่กันเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง เช่นเดียวกับความได้ลาภ ย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่อาจทนอยู่เช่นเดิมได้ตลอดกาล ทั้งยังไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ไม่ว่าใครจะปรารถนาให้ความเสื่อมลาภหมดสิ้นไปรวดเร็วเพียงไหน ก็ไม่มีที่จะเป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ความได้ลาภอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนความปรารถนาต้องการก็ได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดอาจกำหนดให้แน่นอนถูกต้องได้

เพราะฉะนั้นความเศร้าเสียดายทุกข์ร้อนก็ไม่อาจทำให้อะไรเป็นไปตามความปรารถนาได้ ตรงกันข้ามอาจเป็นเหตุให้ความมีลาภมาถึงช้ากว่าควรได้ เพราะเมื่อใจเป็นทุกข์กาลเวลาก็เหมือนเนิ่นช้ากว่าธรรมดา ความมีลาภหรือความสิ้นสุดความเสื่อมลาภ จึงต้องพลอยเนิ่นช้าตามกาลเวลาไปด้วย ทำใจให้สบาย อย่าทุกข์ร้อน แล้วเวลาจะเหมือนอย่างที่กล่าวกันว่าติดปีก คือเวลาจะล่วงไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่เราปรารถนาต้องการก็มาถึงเร็ว ผู้ที่ต้องการความสุขความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางกายและทางใจ จึงจำเป็นต้องมีสติอยู่เสมอ เชื่อให้มั่นว่าการไม่คิดให้เป็นทุกข์จะทำให้เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวกับทางกายและทั้งที่เกี่ยวกับทางใจ ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และจะทำให้เหตุแห่งความสุขทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวกับทางกายและทั้งที่เกี่ยวกับทางใจ ผ่านมาถึงเร็วเข้าอย่างแน่นอน

พระนิพนธ์ การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร









25/7/2564 วันเข้าพรรษา

"ทำให้มันต่อเนื่อง พวกเรา ปฏิบัติมามันไม่ได้ผล เพราะอะไร เพราะทำไม่ต่อเนื่อง ทำๆหยุดๆ มันไม่เรียกว่าความเพียรหรอกแบบนั้น ถ้าผู้ภาวนาแล้ว เวลาทำ ท่านทำตลอด ไม่ใช่วันหนึ่งคืนหนึ่งมานั่งหลับตาชั่วโมงสองชั่วโมง ที่เหลือกิเลสเอาไปกินหม๊ด

ผู้ที่ท่านภาวนา เวลาท่านจะทำงาน ท่านก็ภาวนา จะทำอะไรก็เป็นภาวนาอยู่นั้นแหละ มันขึ้นมาเอง ไม่ต้องนั่งหลับตาให้ยาก จะหลับตาลืมตา มันก็หมุนของมันอยู่นั้น ไม่ใช่ไปเห็นพระเดินทำงาน ก่อสร้าง โบกปูน ขนเหล็ก ไปหาตำหนิท่าน บางองค์ท่านทำไปท่านภาวนาไป ให้รู้จัก

พวกเราก็พากันตั้งใจ เข้าพรรษา ออกพรรษา ก็ให้ทำให้มันต่อเนื่อง มันถึงจะได้ผล"

คติธรรม คำสอน
หลวงพ่อสมบูรณ์ กนฺตสีโล
หลวงพ่อสมบูรณ์ วัดป่าสมบูรณ์ธรรม








#เจโตวิมุตติ #และปัญญาวิมุตติ
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
----------------------------------------
ปุจฉา : กราบเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ ท่านสอนให้เจริญควบคู่กันไป

บางทีปัญญาวิมุตติไม่จำเป็นต้องเจริญกรรมฐานมาก ขอให้อธิบายสองกลุ่มนี้ การใช้ควบคู่กันไป และการใช้แต่ละอย่าง และความแตกต่างเกี่ยวกับ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตลอดจนความหมายด้วยขอรับ

:: วิสัชนา

ผู้หลุดพ้นด้วย เจโตวิมุตติ หมายถึง ผู้บำเพ็ญสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างละเอียด แล้วสามารถตัดกระแสแห่งกิเลสให้ขาดสิ้นจากขันธสันดานได้ โดยไม่ต้องพิจารณาหาเหตุผลใดใดทั้งสิ้น

คือ หมายความว่า บำเพ็ญภาวนาสมาธิให้ชำนิชำนาญ จนทำจิตให้ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป แล้วกระแสของจิตจะตัดห่วงแห่งอาสวกิเลสไปจากจิตได้โดยง่าย อันนี้เป็นตามอปุนิสัยของบางท่านเท่านั้น

ส่วน ปัญญาวิมุตติ นั้น ต้องอาศัยสติปัญญา พิจารณาเหตุผลให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระไตรลักษณ์
หรือพิจารณาเริ่มต้นมาตั้งแต่อารมณ์ขั้นสมถกรรมฐาน

คือ พิจารณาอาการ ๓ ให้เห็นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก แล้วก็นำมาพิจารณาร่างกายให้เห็นธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็มาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้เห็นในแง่พระไตรลักษณ์

คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง
ทุกขัง เป็น ความทุกข์
อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

จนกระทั่งจิตยอมรับสภาพความเป็นจริง แล้วก็ปล่อยวางตัวกระแสแห่งกิเลสให้ขาดไปเอง

หมายเหตุ : ข้อวิสัชนาเรื่องนี้ บันทึกไว้เมื่อครั้งหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาพิศาลเถร

-----------------------
(ที่มา : ธรรมวิสัชนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน, พ.ศ. ๒๕๓๒, หน้า ๕๓-๕๔)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 124 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO