Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความสุขที่ได้รับไม่เที่ยง

เสาร์ 25 ก.ย. 2021 6:21 am

#หลวงปู่ฝั้น_อาจาโร
#พากเพียรอย่างอุกฤษฏ์_สละชีวิตบูชาธรรม

"..ความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของทุกชีวิต
แต่สำหรับผู้ที่ได้พากเพียรฝึกฝนอบรมกายและใจมาเป็นอย่างดี ความทรมานทั้งกายและใจกลับเป็นสมรภูมิชั้นยอดในการสู้รบ เพื่อเอาชนะข้าศึกสำคัญที่สุดคือกิเลส ดังเรื่องราวของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่เกิดขึ้นในช่วงพรรษาที่ ๗ หลังจากท่านได้ญัตติเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงปู่
ได้จำพรรษาอยู่ที่ภูเขาระงำ จังหวัดขอนแก่น
ในช่วงก่อนหน้านี้ท่านได้ไปช่วยจัดเตรียมบริขารจำนวนมาก ในการบวชพระและเณร
ณ วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น
ซึ่งต้องเตรียมทั้ง สบง จีวร สังฆาฏิสองชั้น และผ้าบริขารอื่นๆ ท่านต้องนั่งตัดเย็บผ้าทั้งกลางวันกลางคืน แทบไม่ได้นอนหลับพักผ่อน
หลังจากการจัดงานครั้งนี้ผ่านไป ปรากฏว่า...
ท่านป่วยเป็นโรคมาลาเรีย
หลวงปู่ได้พยายามรักษาตัวด้วยการภาวนา
ให้จิตใจสงบ แต่ก็ยังไม่หายสนิท ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่ภูเขาระงำ ซึ่งมีความสงบสงัดเป็นอย่างมาก แต่การมาจำพรรษาที่นี้ในช่วงแรก อาการป่วยเรื้อรังอยู่กลับกำเริบขึ้น.. "

...ยิ่งมาอยู่บนภูเขายิ่งกลับกำเริบหนักขึ้นอีก ทำให้ปวดตามเนื้อตามตัวทั่วไปหมด นั่ง นอน ยืน เดิน มีแต่ปวดทุกอิริยาบถ ปวดไปหมดเหลือที่จะอดทน แม้จะต้องทนทุกขเวทนาสาหัส ท่านก็ยังคงต่อสู้กับความเจ็บป่วยอย่างกล้าหาญ ในเย็นวันหนึ่งท่านได้พิจารณาถึงทุกข์ที่ได้รับทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกาย ไม่มีความเสียดายชีวิตอีกต่อไป...

“..#ท่านจึงได้ตั้งจิตปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์_ถึงชีวิตจะแตกดับก็ยอม
#เราจะนั่งสมาธิภาวนาจนมันหาย_ถ้าไม่หายตายก็ยอม…”

จากนั้นท่านก็ได้นั่งตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่น เพียรเพ่งต่อสู้กำหนดรู้เวทนา ที่เกิดจากอาการเจ็บไข้อันเป็นทุกข์ที่มีกำลังกล้าในเวลานั้น

“...ท่านได้กำหนดเอาทุกขเวทนาที่เป็นปัจจุบัน ตั้งสติระลึกทุกขเวทนานั้นมาเป็นเวทนาสติปัฏฐานภาวนา สัมปชาโน มีความรู้ตัว มีความอดทน มีความเพียร เพ่งเผากิเลสที่อาศัยทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแล้วเกิดขึ้น จนพินาศ…”

ด้วยความเพียรพยายามพร้อมความคมกล้าของสติปัญญา ทุกขเวทนาในครั้งนั้นจึงไม่สามารถครอบงำจิตของท่านได้อีกต่อไป..

“..จิตก็รวมสงบ เวทนาก็ดับ พร้อมทั้งวิตก วิจารณ์ ทุกข์ ปีติ สุข ก็ดับๆ ดับๆ ดับไปหมด
ทุกขเวทนาที่เคยมีกำลังกล้าก็ได้ถูกแผดเผาด้วยขันติธรรม ความอดกลั้นทนทาน และด้วยความเพียรอันเป็น ตปะ เครื่องเผากิเลส
ทั้งกองทุกข์ก็ได้ดับหมดสิ้นไปด้วยกับความสงบอย่างสนิท ชนิดที่ถอนรากถอนโคนที่ยังไม่เคยพบไม่เคยเห็นเป็นมีมาก่อนเลย...”

ท่านนั่งภาวนาตั้งแต่หัวค่ำในอิริยาบถเดียวตลอดเวลากระทั่งรุ่งเช้า จนพระเณรทั้งหลายที่กลับจากบิณฑบาต เตรียมอาหารรอท่าแต่ไม่กล้ารบกวน เมื่อสายมากจนสุดวิสัยที่จะรอได้อีก สามเณรรูปหนึ่งจึงคลานเข้าไปกราบ
ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่จิตของท่านถอนออกจากสมาธิ จึงลืมตาขึ้นมองดู สามเณรกราบเรียนว่าขณะนั้นเป็นเวลา ๑๐ โมงกว่าแล้ว
พระเณรกลับจากบิณฑบาตกันหมดแล้ว แต่ความรู้สึกของท่านนั้นเหมือนกับว่านั่งประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อาการอาพาธด้วยโรคมาลาเรีย
ของท่านก็หายเป็นปกติ

“..ท่านก็มีความอิ่มเอิบด้วยความสงบสุข ด้วยความวิเวก สงบวิเวกทั้งหลาย ทั้งจิต ทั้งอุปทิกิเลส เป็นความสงบสุขอย่างเยี่ยมยอด ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน นอน เดิน นั่ง ก็เป็นสุข...”

#หลวงปู่ฝั้น_อาจาโร ได้เจริญสติปัฏฐานจนเอาชนะทุกขเวทนาจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านต่อสู้อย่างห้าวหาญ สละความรักในชีวิต มุ่งทำลายกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์
นับเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ชาวพุทธทั้งปวงผู้หมายมุ่งสู่วิมุติสุข ให้มีความพากเพียรดังที่บูรพาจารย์ผู้เป็นศิษย์พระตถาคต ได้ปฏิบัติมานั้นเอง

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร






การเป็นมนุษย์แสนยากมาก ญาติโยมสาธุชนเอ๋ย
ทุกคนเกิดมาตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ถึง 25 ขวบ เป็นปฐมวัย
จาก 25 ไป 50 เป็นมัชฌิมวัย
จาก 50 ถึงวัยตายเรียกว่าปัชฌิมวัย
ต้องเตรียมตัวตายแล้ว 50 ไปแล้วเตรียมตัวตายได้แล้ว
อายุยืนหรือไม่อยู่ที่โยมแล้ว ถ้าเจริญกรรมฐานหนัก ๆ เข้า ก็มีสติยืนยาว จะต่ออายุได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่ทำก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครบังคับ สร้างความดีไม่มีใครบังคับ สร้างความชั่วไหลไปเอง หลั่งไหลไปด้วยความตามใจตัวเองตลอดไม่มีโอกาสที่จะฝืนใจได้แต่ประการใด

โอวาทธรรม หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม







โยมเกิดมา

ใช้เวลากี่ปีฝึกเดินฝึกอ่านฝึกเขียน 20ปีใช่ไหม
แล้วต้องใช้เวลาอีกกี่ปีทำงาน-ใช้ชีวิต 40ปีใช่ไหม
นั่นโยม หมดไปแล้ว60ปี เวลาที่เหลือโยมก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

เมื่อตายแล้วเกิดมาใหม่ชาติหน้า
ถ้าโยมโชคดีหน่อย ก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วโยมจะแน่ใจได้ยังไงว่าเกิดมาแล้วจะมาเจอพระพุทธศาสนา
โยมยังต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้ โยมไม่เบื่อหรอ โยมอยากมาเกิดอีกหรอ
หลวงพ่อไม่อยากมาเกิดแล้วนะ หลวงพ่อไม่เอาแล้ว หลวงพ่อเบื่อ
โยมเบื่อไหม??

นั่น! ถ้าเบื่อก็ต้องภาวนานะ จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดกันอีก
สมัยก่อนหลวงพ่ออยู่ต่างประเทศ หลวงพ่อก็ตามหาวิธีออกจากวัฏจักรนี้เหมือนกันนะ หลวงพ่อก็ศึกษามาเยอะ แต่ก็ไม่ได้คำตอบ

สุดท้ายมาเจอหนังสือเล่มนึง
ชื่อว่าทางออกของหัวใจ (พระอาจารย์มหาบัวเป็นคนเขียน)
หลวงพ่อรู้เลยว่านี่แหละอาจารย์ของเรา
หลังจากนั้นหลวงพ่อเลยมาอยู่กับท่าน(หลวงตามหาบัว)

หลวงพ่อมาร์ติน ปิยธัมโม
วัดภูฆ้องทอง









#คนหิวอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้

จึงวิ่งหาโน่นหานี่
เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ

คนที่หลงจึงต้องแสวงหา
ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา
จะหาไปให้ลำบากทำไม
อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว
จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม
เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง

ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







…เวลาเราทำอะไร
เราต้องคำนึงถึงผลกระทบ
ที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น

.ถ้าทำให้มีความเสียหาย
ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
“ เราก็อย่าไปทำมัน “.
………………………………………….
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๒







โอวาทเจ้าคุณนรรัตน์

"แนวทางปรับปรุงนิสัยตัวเอง"

นิสัยของคนเรานั้น อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แม้ยากสักหน่อย คุณสมบัติและนิสัย ที่ควรพูดควรคิดอยู่เสมอนั้นคือ

... ๑. เราต้องทำใจให้สงบ ไม่ว่าในเวลามีเหตุการณ์ใดๆ
... เราจะมีความไว้ใจในตัวเราเองเสมอ

๒. เราต้องข่มความหวาดกลัว ความตื่นเต้นและความรู้สึกที่เป็นภัยแก่ตัว

๓. เราต้องทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว และเป็นนายตัวเราเองไม่ว่าต่อหน้า ใคร

๔. เราต้องปลูกนิสัยของเราให้ขึ้นสู่ชั้นสูงสุด เท่าเทียมคนอื่นๆ ที่เขามีนิสัยดีที่สุด

๕. เราต้องทำสิ่งซึ่งถึงเวลาจะต้องทำ แม้มีสิ่งใดๆ มาขัดขวางก็จะต้องทำให้จงได้

๖. เราจะบังคับตัวและบังคับใจของเรา ไม่ยอมให้เป็นไปในทางที่จะทำให้เราเดินออกไปนอกทางที่เรามุ่งหมาย และนอกหลักธรรมในใจเรา

๗. เราต้องพินิจพิเคราะห์ โดยถี่ถ้วน ก่อนที่จะปลงใจยอม ตามความคิดความเห็น อย่างใด อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา หรือที่มีใครบอกเราหรือที่เราได้อ่านจากหนังสือ

๘. เราต้องมีความมานะ มีจิตตานุภาพ ที่สามารถ บังคับบุคคลหรือเหตุการณ์ ทั้งหลายได้

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)








"...เกิดมาเพื่ออะไร..."

"...ตนเกิดมาแล้วนึกไม่ได้เลยว่า ตนเกิดมาสร้างบุญบารมี นึกไม่ได้ ก็เลยเมาอยู่กับโลกอันนี้ไปโดยส่วนเดียว ดังที่เราเห็นกันอยู่บางคนน่ะไม่ได้สนใจในการบุญการกุศลอะไรเลย ไม่สนใจในการที่จะละความชั่ว ทำความดีอะไร ก็อยู่ไปกินไปตามยถากรรมอย่างนั้นมีอยู่ถมไป นี่เรียกว่า คนเรามันลืมตัวนะ มันลืมเหตุปัจจัยของชีวิต มืดแปดด้านเอาจริงๆ ไม่รู้ว่าตนเกิดมาเพื่ออะไร ไม่รู้จุดประสงค์เลยนั่นแหละ

ทีนี้ผู้ที่เคยมีสติสัมปชัญญะ เคยมีศรัทธามั่นในบุญในกุศลมาแต่ชาติก่อนโน้น พอเกิดมาชาตินี้บุญเก่านั่นแหละมาเตือนใจให้ระลึกได้ ให้ระลึกว่าเออนี่เราเกิดมานี่เราเกิดมาเพื่อสร้างบุญบารมี บุญบารมีที่เราทำมานั้นมันยังไม่เต็ม มันยังน้อยอยู่ จำเป็นที่เราจะต้องสร้างบุญบารมีให้มันมากที่สุดในชีวิตของเรา แล้วก็ในขณะเดียวกันสิ่งใดที่เป็นบาปเป็นโทษ เราจะพยายามละเว้นหมดไปเลย จะไม่สะสมมันไว้ขึ้นชื่อว่าบาป เพราะมันก่อให้เกิดทุกข์

อันผู้ใดมาระลึกถึงตัวเองได้อย่างนี้นับว่าโชคดีเหลือเกินนะ นับว่าเป็นคนมีมงคลอยู่ในตนมากมายทีเดียวแหละ เพราะว่าผู้นั้นจะได้พยายามสั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้นในตนของตน ในเวลาที่มีชีวิตเป็นอยู่นี่ เพราะว่าชีวิตของคนเราในยุคนี้สมัยนี้มันน้อยเหลือเกินนะ ถ้าใครไม่รีบเร่งทำความดี ไม่รีบเร่งละความชั่วแล้วก็จะไม่ได้ทำเลย พอแต่อ้างนู่นอ้างนี่อยู่อย่างนี้ล่ะก็ ไปๆหน่อยหนึ่งความตายมาถึงแล้วก็แล้วเลย ไม่ได้สั่งสมบุญกุศลแล้วไม่ได้ละความชั่ว ความชั่วมีอยู่ในใจอย่างไรมันก็ติดสอยห้อยตามก่อทุกข์ให้ไปในชาติหน้าต่อไปอีก..."

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ







“หลวงปู่มั่น” ยืนยัน จิตของคนเราสามารถจับจองที่เกิดใหม่ได้ตั้งแต่ยังไม่ตาย!! หากไม่ระวังฝึกฝนจะนำพาไปสู่ที่ต่ำกว่าเดิมเสมอ#ตายแล้วไปไหน

“หลวงปู่มั่น” ยืนยัน จิตของคนเราสามารถไปจับจองที่เกิดใหม่ได้ตั้งแต่ยังไม่ตายได้จริง! หากไม่ระวังฝึกจิตจะนำพาไปสู่ที่ต่ำกว่าเดิมเสมอ#ตายแล้วไปไหน

เรื่อง "จิตไปจับจองที่เกิด ตั้งแต่ยังไม่ทันตาย"
(จากธรรมประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
ในสมัยบั้นปลายชีวิตของท่านพระอาจารย์มั่น มีอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งมีความเคารพเลื่อมใสในพระอาจารย์มั่นมาก มาเล่าเรื่องของตัวเองถวายท่านว่า ขณะอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวผู้นี้แกนั่งสมาธิภาวนาตลอดกลางคืนยามดึกสงัด พอจิตรวมสงบลงสนิทไม่แสดงกิริยาใดๆ สายใยยาวเหยียดออกนอกกายนอกใจไปสู่ภายนอก แกเกิดความสงสัยเป็นล้นพ้น จึงกำหนดจิตดูว่า กระแสจิตนี้มันไหลออกไปทำไม และจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร

พอแกตามกระแสจิตอันละเอียดเป็นสายใยนั้นไปก็พบว่ากระแสจิตของแกไปเข้าที่ร่างของหลานสาวคนหนึ่งเพื่อจับจองที่เกิดในท้องหลานสาวซึ่งอยู่หมู่บ้านเดียวกัน แกรู้สึกตกใจมาก เพราะตัวเองยังไม่ตาย ทำไมจิตถึงส่งกระแสออกไปจับจองที่เกิดไว้แล้วเช่นนั้นจึงรีบย้อนจิตกลับมาที่เดิมและถอนจิตออกจากสมาธิทันที แกใจไม่ดีเลยนับแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา
ในระยะเดียวกันก็ปรากฏว่าหลานสาวคนนั้นเริ่มตั้งครรภ์มาได้หนึ่งเดือนแล้วเช่นกัน พอตื่นเช้าวันหลังแกรีบมาวัด เล่าเรื่องนี้ถวายพระอาจารย์มั่นดังกล่าวแล้ว ขณะนั้นมีพระเณรหลายท่านนั่งฟังอยู่ด้วย ต่างก็งงไปตามๆ กัน พระอาจารย์มั่นนั่งหลับตาอยู่ประมาณ 2 นาที แล้วลืมตาขึ้น อธิบายปรากฏการณ์แปลกประหลาดนั้นให้อุบาสิกานุ่งขาวหุ่มขาวคนนั้นฟังว่า " เมื่อจิตรวมสงบลงคราวต่อไป ให้โยมตรวจดูกระแสจิตให้ดี ถ้าเห็นแกระแสจิตนั้นส่งออกไปภายนอกดังที่โยมว่านั้น ให้กำหนดจิตตัดกระแสจิตนั้นให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ ต่อไปกระแสจิตนั้นจะไม่ปรากฏ แต่โยมต้องกำหนดดูกระแสจิตนั้นด้วยดี และกำหนดตัดให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ อย่าทำเพียงแต่ว่าทำเท่านั้น เดี๋ยวเวลาตายโยมจะเกิดในท้องหลานสาวนะจะหาว่าอาตมาไม่บอก " นี่คือคำบอกของอาตมา จงทำให้ดี ถ้าโยมกำหนดตัดกระแสจิตนั้นไม่ขาด เวลาโยมตายต้องไปเกิดในท้องหลานสาวแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย
พออุบาสิกาผู้นั้น ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์มั่นแล้วก็กลับบ้านไป ราวสองวันแกก็กลับมาหาท่านอีกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมาก พอแกนั่งลงเท่านั้น พระอาจารย์มั่นก็ถามเป็นเชิงเล่นบ้างจริงบ้างทันทีว่า " เป็นยังไงโยมห้ามกระแสจิตตัวเองอยู่หรือเปล่าที่จะไปเกิดกับหลานสาวทั้งที่ตัวยังไม่ตายน่ะ " แกเรียนตอบทันทีว่าโยมตัดขาดแล้วคืนแรก พอจิตรวมสงบลงสนิทแล้วกำหนดดูก็เด่นชัดดังที่เคยเห็นมาแล้ว มันส่งกระแสไปอยู่ที่ท้องหลานสาว โยมก็กำหนัดตัดกระแสจิตพิลึกนั้นด้วยปัญญาดังหลวงพ่อบอกจนมันขาดกระเด็นไปเลย เมื่อคืนนี้โยมกำหนดดูอีกอย่างละเอียดเพื่อความแน่ใจไม่ปรากฏว่ามีอีกเลย มันหายเงียบไป วันนี้อยู่ไม่ได้ต้องรีบมาเล่าถวายให้หลวงพ่อฟัง
พระอาจารย์มั่นพูดว่า นี่แลความละเอียดของจิตคนเรา จะรู้เห็นได้จากการภาวนาสมาธิเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทราบได้ จิตของคนเรามันลึกลับยิ่งนัก เราจะไปรู้เห็นมันด้วยวิธีการคาดคิดนึกเดาเอาตามตำราไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติจิตสมาธิจริงๆ ถึงจะรู้แจ้งเห็นจริง โยมเกือบเสียตัวให้กิเลสขับไสไปเกิดในท้องหลานสาวแบบไม่รู้สึกตัวแล้วไหมล่ะ แต่ยังดีที่ภาวนาสมาธิจนรู้เรื่องของจิตเสียก่อน แล้วรีบแก้ไขกันทันเหตุการณ์ ฝ่ายหลานสาวคนนั้น พอถูกคุณยายอุบาสิกาตัดกระแสจิตขาดจากความสืบต่อก็ปรากฏว่าหล่อนได้แท้งลูกในระยะเดียวกัน น่าประหลาดมหัศจรรย์จริงๆ
ปัญหาที่ว่า คนยังไม่ตาย ทำไมจึงเริ่มไปเกิดในท้องคนอื่นแล้วเช่นนี้ พระอาจารย์มั่นได้เฉลยปัญหานี้ให้พระเณรลูกศิษย์ทั้งหลายที่สงสัยเป็นล้นพ้นฟังว่า จิตเป็นแต่เพียงเริ่มต้นจับจองที่เกิดไว้เท่านั้น แต่ยังมิได้ไปเกิดเป็นตัวเป็นตนโดยสมบูรณ์ ถ้าคุณยายอุบาสิกาคนนั้นไม่รู้ทันปล่อยให้จิตเกาะเกี่ยวกับการเกิดในท้องหลานสาวจนทารกในครรภ์ปรากฏเป็นตัวเป็นตนสมบูรณ์ขึ้นมาเมื่อไร คุณยายคนนั้นจะตายทันที ต่อปัญหาที่ว่าการที่คุณยายคนนั้นตัดกระแสจิตตัวเอง จนหลานสาวแท้งลูก จะไม่เป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ในครรภ์ล่ะหรือ?
พระอาจารย์มั่นตอบว่า จะเป็นการทำลายก็แต่เฉพาะกระแสจิตตัวเองเท่านั้น มิได้ตัดหัวคนที่เกิดเป็นตัวเป็นตนแล้วแต่อย่างใด เพราะจิตแท้ยังอยู่กับคุณยาย ส่วนกระแสจิตทีแกส่งไปยึดไว้ที่หลานสาวนั้น พอแกรู้สึกตัวก็รีบแก้ไขคือตัดกระแสจิตของตนเสีย มิให้ไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป เรื่องก็ยุติกันไปเท่านั้น อีกอย่างก็คือทารกในครรภ์นั้นเพิ่งมีอายุได้ ๑ เดือนเท่านั้นเป็นเพียงแต่ก้อนเลือดยังไม่เป็นตัวตนแต่อย่างใด
สาเหตุที่คุณยายุอุบาสิกาเผลอไผลปล่อยให้แกระแสจิตส่งออกไปเกาะเกี่ยวกับหลานสาวนี้ คุณยายได้เล่าว่า แกรักหลานสาวคนนี้มากเสมอมา มีเมตตา ห่วงใย ได้ติดต่อเกี่ยวข้องกับหลานสาวคนนี้อยู่เสมอแต่มิได้คิดว่าจะมีสิ่งลึกลับคอยแอบขโมยไปก่อเหตุเช่นนั้นขึ้นมา ถึงกับจะต้องไปเกิดลูกของหลานสาวอีก ถ้าไม่ได้พระอาจารย์มั่นช่วยแก้ไขไว้ทันท่วงทีก็คงไม่พ้นไปเกิดในท้องหลานสาวแน่นอน พระอาจารย์มั่นว่า จิตนี้พิสดารเกินกว่าความรู้ความสามารถของคนธรรมดาจะตามรู้ตามรักษาโดยมิให้เป็นภัยแก่ตัวผู้เป็นเจ้าของดังที่คุณยายพูดไม่มีผิดถ้าแกไม่มีหลักใจทางสมาธิภาวนาอยู่บ้างแล้ว แกก็ไม่มีทางเดินของใจได้เลย ทั้งเวลาเป็นอยู่และเวลาตายไป

ฉะนั้นการทำภาวนาสมาธิจึงเป็นวิธีปฏิบัติต่อใจได้ดีและถูกทาง ยิ่งเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยแล้ว สติปัญญายิ่งมีความสำคัญมากในการตามรู้และรักษาจิตตลอดการต้านทานทุกขเวทนาไม่ให้มาทับจิต ในเวลาจวนตัวซึ่งเป็นเวลาเอาแพ้เอาชนะกันจริงๆ ถ้าพลาดท่าขณะนั้นก็เท่ากับพลาดไปอย่างน้อยภพหนึ่งชาติหนึ่ง เช่นไปเกิดเป็นสัตว์ชนิดใดก็ต้องเสียเวลานานเท่าชีวิตของสัตว์ในภพภูมินั้นๆ ขณะที่เสียเวลายังต้องเสวยกรรมในกำเนิดนั้นไปด้วย ถ้าจิตดีสติพอประคองตัวได้ อย่างน้อยก็มาเกิดเป็นมนุษย์มากกว่านั้นก็ไปเกิดในเทวสถานชมวิมานและเสวยทิพย์สมบัติอยู่นานปีถึงจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ลามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่ลืมศีลธรรมที่ตนเคยบำเพ็ญรักษามาตั้งแต่บุพเพชาติ ทำให้เพิ่มอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารขึ้นโดยลำดับ จนจิตมีกำลังแก่กล้าสามารถรักษาตัวได้
การตายก็เป็นเพียงการเปลี่ยนร่างจากต่ำขึ้นไปสูง จากสั้นไปหายาว จากหยาบไปหาละเอียดจากวัฏฏจักรไปเป็นวิวัฏฏจักร ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนเครื่องเสวยมาเป็นลำดับ สุดท้ายก็หมดสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอะไรต่อไปอีกเพราะจิตได้รับการอบรมไปทุกภพทุกชาติ จนฉลาดเหนือสิ่งใดๆ กลายเป็นนิพพานสมบัติขึ้นมาอย่างสมพระทัยและสมใจ ซึ่งล้วนไปจากการฝึกฝนอบรมจิตให้ดีไปโดยลำดับทั้งสิ้น. ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์ทั้งหลาย จึงไม่ท้อถอยในการสร้างกุศล อันเป็นสวัสดีมงคลแก่ตนทุกเพศทุกวัยจนสุดวิสัยที่จะทำได้ไม่เลือกกาล...

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







#หลวงพ่อกับโจร..!!?

#หลวงพ่อโตหรือสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆัง
".. เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญแตกฉานใน
พระไตรปิฎก แม้ท่านจะไม่เคยเข้าสอบแปลหนังสือเป็นเปรียญ แต่ชาวบ้านก็เรียกท่านว่าพระมหาโตมาตั้งแต่บวช ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังได้รับคำชมจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แห่งวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสำนักที่หลวงพ่อโตเคยไปเข้าเรียนครั้งยังเป็นพระหนุ่มว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

อย่างไรก็ตามท่านมิใช่พระที่แม่นยำเฉพาะตัวหนังสือหรือคัมภีร์ หากยังน้อมนำธรรมะจนกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของท่าน ทำให้ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างโปร่งเบาและอิสระไม่ติดกับกฎประเพณี ทั้งไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่

คราวหนึ่งพระในวัดของท่านโต้เถียงกัน..
ถึงขั้นด่าท้าท้ายกัน พอท่านเห็นเหตุการณ์ ท่านก็เข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน แล้วเดินเข้าไปในระหว่างคู่วิวาท ลงนั่งคุกเข่าถวายดอกไม้ธูปเทียนให้พระทั้งคู่พร้อมกับกล่าวว่า “พ่อเจ้าพระคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ ๆ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”

ผลคือพระทั้งคู่เลิกทะเลาะกัน หันมาคุกเข่ากราบท่าน ท่านก็กราบตอบพระ ทั้งหมดกราบและหมอบกันอยู่นาน

นอกจากท่านจะไม่ถือตัวหรือติดในยศศักดิ์แล้ว ท่านยังไม่ยึดในทรัพย์ด้วย ความมักน้อยสันโดษของท่านเป็นที่เลื่องลือ ลาภสักการะ
ใด ๆ ที่ท่านได้มาจากการเทศน์หรือกิจนิมนต์ ท่านมิได้เก็บสะสมไว้ มักเอาไปสร้างพระพุทธรูปหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาอยู่เนือง ๆ แม้ใครขอก็ยินดีบริจาคให้ กระทั่งมีโจรมาลักท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวก
แก่โจร

#เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านกำลังจำวัดอยู่ในกุฏิ
มีโจรขึ้นมาขโมยของ หมายจะหยิบตะเกียงลานในกุฏิ แต่บังเอิญหยิบไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจร แล้วบอกให้โจรรีบหนีไป

#อีกเรื่องหนึ่งมีว่า ท่านไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้กัณฑ์เทศน์มาหลายอย่าง รวมทั้งเสื่อและหมอน ขากลับท่านต้องพักแรมกลางทาง

คืนนั้นเองมีโจรพายเรือเข้ามาเทียบกับเรือของท่าน ขณะที่โจรล้วงหยิบเสื่อนั้นเองท่านก็ตื่นขึ้นมาเห็น จึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินก็ตกใจกลัวรีบพายเรือหนี

ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจร โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนไปด้วย

บางครั้งลูกศิษย์ของท่านก็มาเป็นเหตุเสียเอง กล่าวคือเมื่อท่านกลับจากการเทศน์พร้อมกับกัณฑ์เทศน์มากมาย ศิษย์ ๒ คนที่พายเรือ หัวท้ายก็ตั้งหน้าตั้งตาแบ่งสมบัติกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ คนหนึ่งว่ากองนี้ของข้า อีกคนก็ว่ากองนั้นของเข้า ท่านจึงถามว่า “#ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ.. ”

#เมื่อกลับถึงวัดศิษย์ทั้งสองเอากัณฑ์เทศน์ไปหมด_ท่านก็มิได้ว่ากล่าวอย่างใด..!! "

#จากหนังสือลำธารริมลานธรรม
#เขียนโดยพระไพศาล_วิสาโล







“กรรม”

ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่ได้กระทำกรรมกัน การกระทำกรรมนี้กระทำกันทุกๆคน จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาก็เริ่มกระทำกรรมกันแล้ว เพราะเหตุใดจึงว่ากระทำกรรมกัน ก็เพราะคำว่ากรรมนี้หมายถึงการกระทำ การกระทำทางกายเรียกว่ากายกรรม การกระทำทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม การกระทำทางใจเรียกว่ามโนกรรม แม้แต่เวลานั่งอยู่เฉยๆ ร่างกายไม่ขยับเขยื้อน ปากไม่พูดอะไร แต่ใจกำลังกระทำกรรมอยู่ ใจยังคิดอยู่ ความนึกคิดของใจเรียกว่ามโนกรรม ตัวมโนกรรมนี้เป็นต้นเหตุของการกระทำทางกายและทางวาจา คือใจจะเป็นผู้สั่งการออกไป กายและวาจาจึงเคลื่อนไหวได้ ใจจึงเป็นต้นเหตุของกรรมทั้งหลาย อย่างวันนี้ญาติโยมมาที่วัดกัน ก่อนจะพาร่างกายมาถึงที่วัดนี้ได้ใจต้องสั่งการก่อน ใจต้องนึกคิดไว้ก่อนว่าจะไปวัด ไปทำบุญ คิดแล้วก็ใช้วจีกรรมชวนเพื่อนฝูง ถามกันว่าจะไปวัดไหม แล้วก็พากันมา นี่คือการกระทำกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราทำกรรมกันอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาหลับ ใจก็ยังทำกรรมอยู่ ความฝันก็เป็นการทำงานของใจเรียกว่ามโนกรรม

กรรมนี้ทำได้ ๓ ทางด้วยกัน ดี ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว กรรมดีเรียกว่ากุศล กุสลาธัมมา กรรมชั่วเรียกว่าอกุศล อกุสลาธัมมา กรรมไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่าอัพยากฤต อัพยากตาธัมมา กุศลเกิดจากความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เมื่อไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็รักที่จะทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นกุศล อกุศลเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อมีความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา

เมื่อทำกรรมไปแล้วก็มีผลตามมา เรียกว่าวิบาก ทำกรรมไปแล้วก็ต้องมีผลตามมา เพราะกรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล เมื่อทำอะไรไปแล้วย่อมมีผลตามมา ในอันดับแรกก็คือความรู้สึกในจิตใจ คือความสุขและความทุกข์ ถ้าทำความดีจิตใจก็จะมีความสุข ถ้าทำความชั่วทำบาป จิตใจก็จะมีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในจิตใจทันที อย่างวันนี้มาทำบุญให้ทาน มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน จิตใจสบาย จิตใจเย็น จิตใจมีความสุข จิตใจมีความสงบ แต่ถ้าไปทำอย่างอื่น เช่นไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปทะเลาะวิวาท ไปทุบตี ไปกลั่นแกล้งกัน ไปโกงกัน ไปลักทรัพย์ จิตใจก็มีความไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ใจตามมา
นี่เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ทันทีทันใดในปัจจุบันชาตินี้ ในขณะที่กระทำกรรมนั้นๆอยู่ ส่วนผลอย่างอื่นที่จะตามมาภายหลังนั้นอาจจะเป็นผลที่เกิดขึ้นช้าหรือเร็วต่างกัน เช่นกระทำความดีแล้วก่อนที่คนอื่นจะเห็นความดี ก่อนที่จะได้รับผลตอบแทนจากผู้อื่น ได้เลื่อนเงินเดือน ได้เลื่อนขั้นเลื่อนยศ ได้คำสรรเสริญ อาจจะใช้เวลานาน หรือทำชั่วไปแล้ว อาจจะยังไม่ถูกตำรวจจับเข้าคุกไปทันทีทันใดก็ได้ เพราะว่าผลของกรรมยังไม่ปรากฏขึ้นมา ยังตามมาไม่ถึง ยังตามมาไม่ทัน แต่เมื่อตามมาทันแล้วก็ต้องถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง ต้องถูกคนอื่นเขาสาปแช่ง อย่างนี้เป็นต้น

ผลของกรรมมีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน คือภายในจิตใจและภายนอกจิตใจ ภายในจิตใจเกิดขึ้นทันทีทันใด ส่วนภายนอกจิตใจอาจจะช้าบ้าง อาจจะเร็วบ้าง การกระทำในอดีตชาติที่เพิ่งเกิดผลขึ้นมาในชาตินี้ก็มี เหตุใดคนที่ทำความดีแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ได้รับผลของการกระทำความดีเลย รู้สึกมีแต่สิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ ส่วนนี้ต้องยกให้เป็นวิบากกรรม หรือผลของกรรมที่ได้ทำมาก่อนในอดีตชาติ ผลมันถึงตามมาในชาตินี้ ส่วนความดีที่ได้กระทำในชาตินี้ผลยังตามไม่ถึง ยังไม่ปรากฏก็เลยทำให้คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำความดีแล้วไม่ได้ผลตอบแทน เห็นคนอื่นเขาทำความชั่วกลับได้ดิบได้ดีกัน นี่เป็นเพราะยังไม่เข้าใจในเรื่องวิบากกรรม การแสดงผลของกรรมนั้นไม่เกิดขึ้นทันทีทันใดเสมอไป แล้วแต่ชนิดของการกระทำ เปรียบเหมือนกับต้นไม้ต่างๆ บางชนิดก็ออกดอกออกผลได้เร็ว บางชนิดก็ต้องใช้เวลานานถึงจะออกดอกออกผล อย่างข้าวนี้ปลูกไป ๓ เดือน ก็ออกรวงแล้ว แต่ถ้าเป็นต้นมะม่วง ต้นส้ม ต้นทุเรียน ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีถึงจะเกิดผลขึ้นมา

เมื่อยังไม่เห็นผลที่เกิดจากการกระทำในปัจจุบัน ก็เลยมีความคิดว่ากรรมไม่มี วิบากไม่มี ทำไปแล้วไม่มีผลตามมา ถ้าคิดเช่นนี้แล้วก็เป็นความคิดผิด เรียกว่ามิจฉาทิฐิ ซึ่งจะนำไปกระทำกรรมที่ไม่ดี ให้ไปทำความชั่วอยู่เสมอ เมื่อเกิดผลของกรรมชั่วตามมาที่หลัง ก็จะมีแต่ความทุกข์ความยากลำบาก วิบากกรรมจะตามติดตัวไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นเหตุให้ไปเกิดที่สูง ที่ต่ำ ไปสวรรค์หรือไปนรก ไปสู่สุคติหรือทุคติ ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก หรือไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อไปในภพหน้าชาติหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมต่างๆที่กระทำกันในชาตินี้ ถ้าทำกรรมดีไว้มาก ทำบุญทำกุศลไว้มาก โอกาสที่จะได้ไปเกิดในสุคติ บนสวรรค์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลก็มีมาก แต่ถ้าทำบาปทำกรรมไว้มาก โอกาสที่จะได้ไปเกิดในอบาย ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็มีมากเช่นเดียวกัน

ถ้าปรารถนาที่จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสุขใจ ตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ ก็ขอให้กระทำแต่กรรมดี ทำบุญทำกุศลไว้ แต่ถ้าปรารถนาที่จะไปเกิดในอบาย ไปเป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็ขอให้หมั่นทำบาป ทำกรรมไว้ แล้วผลของกรรมจะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะหลักของกรรมนั้นเป็นหลักธรรมชาติ เป็นของจริง จะมีใครเข้าใจในหลักกรรมนี้หรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้มันก็มีอยู่ในตัวของมัน เหมือนกับเกลือที่มีรสเค็ม จะมีใครรู้ว่ามีรสเค็มหรือไม่ก็ตาม เกลือมันก็เค็มอยู่อย่างนั้น น้ำตาลมันก็หวานอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงให้เกลือมันหวานได้ ให้น้ำตาลมันเค็มได้ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมชาติของเขา หลักกรรมและวิบากกรรมก็เช่นกัน เป็นหลักธรรมชาติตายตัวไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าเข้าใจในหลักกรรมแล้ว ย่อมขวนขวายกระทำแต่ความดี ระงับความชั่วทั้งหลาย พยายามชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นต้นเหตุของบาปกรรมทั้งหลายให้หมดไป ตราบใดยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในจิตใจ ก็ยังต้องทำบาปกรรมกันอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่ต้องการทำบาปทำกรรมก็ต้องชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ออกไปจากจิตใจให้หมดสิ้นไป ถ้าชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ถึงที่สุดสิ้นแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ถ้ายังไม่หมดสิ้นกิเลสก็ยังต้องไปเกิด ไปเสวยสุขเสวยทุกข์ต่อไป จึงขอให้ดูความโลภ ความโกรธ ความหลงในจิตใจเป็นหลัก คอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา อย่าให้มันเกิดขึ้นมา เวลามันเกิดขึ้นมาก็ทำลายมันเสียด้วยการไม่ทำตาม เวลาโลภก็อย่าโลภตาม เวลาโกรธก็อย่าโกรธตาม เวลาหลงก็อย่าหลงตาม ถ้าทำได้ ต่อไปความโลภ ความโกรธ ความหลงจะน้อยลงไป แล้วในที่สุดก็จะหมดไป กลายเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อจิตสะอาดบริสุทธิ์แล้วก็เป็นปรมังสุขัง เป็นบรมสุข เป็นสุดยอดของความสุข การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

กำลังใจ ๓, กัณฑ์ที่ ๓๘
วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี








#๑_ครูอาจารย์ดีๆ_มีอยู่มากก็จริง

แต่สำคัญที่เราต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเอง
ให้มาก นั่นแหละจึงจะดี

#๒_การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้

...ศีล คือ ดิน ...สมาธิ คือ ลำต้น
...ปัญญา คือ ดอกผล ...เราต้องการ
ให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ก็ต้องหมั่นรดน้ำ
พรวนดิน และต้องคอยระมัดระวังมิให้ตัวหนอนคือ โลภ โกรธ หลง มากัดกิน

#๓_โลกเท่าแผ่นดิน_ธรรมเท่าปลายเข็ม

เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง... ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง

#๔_ของดีอยู่ที่ตัวเรา_ให้หมั่นดูจิต_รักษาจิต

หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท

#๕_ศีล_สมาธิ_ปัญญา_ก็เหมือนรสแกงส้ม

#ศีล_เปรียบได้กับรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวทำหน้าที่กัดกร่อนความสกปรกออก ทำนองเดียวกัน ศีลจะช่วยขัดเกลาความหยาบออกจากทางกาย วาจา ใจ
#สมาธิ_เปรียบได้กับรสเค็ม เพราะความเค็มช่วยรักษาอาหารต่าง ๆ ไม่ให้เน่าเสีย สมาธิก็เหมือนกัน สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้
#ปัญญา_เปรียบได้กับรสเผ็ด เพราะปัญญา
มีลักษณะคิด อ่าน ตริตรอง โลดแล่นไป เพื่อขจัดอวิชชาความหลง

#๖_ที่ว่านิมิต_แสงสว่างเป็นกิเลสก็ถูก

แต่เบื้องแรกต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส
(อาศัยกิเลสละเอียดไปละกิเลสอย่างหยาบ) แต่ไม่ได้ให้ติดแสงสว่าง หรือหลงแสงสว่าง ท่านให้ใช้แสงสว่างให้ถูก ให้เกิดประโยชน์
เหมือนอย่างกับ...เราเดินทางผ่านไปในที่มืด
ก็ต้องอาศัยแสงไฟช่วยนำทาง หรืออย่างว่าเราจะข้ามแม่น้ำ ก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ
เมื่อถึงฝั่งแล้ว เราจะแบกเรือแบกแพขึ้นฝั่ง
ไปด้วยทำไม

#คติธรรมหลวงปู่ดู่_พรหมปัญโญ
วัดสะแก จ.อยุธยา








#วิธีนั่งสมาธิโดยหลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต

"..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนว่า..."
“การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง”
การนั่งสมาธิภาวนา คือการทำจิตใจของตน
ให้ตั้งมั่น ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส ทำใจ
ให้สงบสบาย หลวงปู่มั่น องค์ท่านกล่าวว่า “การภาวนา คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุขใจ ที่ยังมิได้รับการอบรมจากการภาวนา”
ก่อนอื่นที่เราจะนั่งสมาธิภาวนา ให้หาสถานที่อันเป็นมุมสงบ นั่งเข้าที่เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น ไม่เอียงซ้ายนัก ไม่เอียงขวานัก ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ทำตัวให้สบายๆ ดูท่าการประทับนั่งของพระพุทธรูปเป็นแบบอย่าง (หากไม่สะดวกที่จะนั่งอยู่ขัดสมาธิอยู่กับพื้น ก็ให้นั่งบนเก้าอี้หรืออะไรก็ได้ตามแต่สะดวก) เราเริ่มฝึกหัดนั่งใหม่ๆ อาจจะปวดแข้งเจ็บขาบ้างเป็นธรรมดา แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ให้พยายามอดทนต่อสู้กับเวทนาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หากสู้ไม่ไหวจริงๆ ให้สลับสับเปลี่ยนอิริยาบถ ออกไปเดินจรงกรมเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด
เมื่อนั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ให้กล่าวคำอธิษฐานภาวนา เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ กล่าวตามดังนี้
“สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ บูชาคุณบิดามารดา บูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย ขอจงเป็นพลวปัจจัยแด่พระนิพพานของข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งถึงพระนิพพาน เอาชนะกิเลสความไม่ดีทั้งหลายที่อยู่ภายในใจได้ตลอดกาลนานเทอญ”
ภายหลังจากที่กล่าวคำอธิษฐานเสร็จ ให้กำหนดคำบริกรรมภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าว่า “ #พุท ” หายใจออก “ #โธ ” หายใจเข้า “#ธัม ” หายใจออก “#โม ” หายใจเข้า “#สัง” หายใจออก “#โฆ ” และให้ระลึกคำบริกรรมภาวนา
“#พุทโธ_ธัมโม_สังโฆ ” ๓ หน แล้วให้ระลึก
เอาคำบริกรรมภาวนาว่า “#พุทโธ ” แต่เพียง
คำเดียว โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้า “#พุท” ก็กำหนดรู้ ลมหายใจออก “#โธ ”
ก็กำหนดรู้ สติกำหนดอยู่กับคำบริกรรมภาวนา หากจิตคิดแส่สายไปทางอื่น ก็ดึงจิตกลับมาให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น หากยังไม่ได้ผล ให้เร่งคำบริกรรมภาวนาเร็วๆ
“#พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

"ให้หมั่นกระทำบำเพ็ญอยู่เป็นประจำ การทำครั้งสองครั้งอยากจะให้จิตสงบก็เป็นไปได้ยาก #หลวงปู่ฝั้น_อาจาโร ท่านมักจะสอนลูกศิษย์ที่มานั่งสมาธิภาวนากับองค์ท่านเสมอว่า “เหมือนกะเราปลูกต้นไม้ เราต้องรักษาต้นรักษาโคนมัน ใส่ปุ๋ยรดน้ำ โคนมันดีต้นมันก็ต้องดี ดอกผลไม่มีใครบังคับมันเกิดเอง ต้นมันดีดอกผลมันดี อันนี้เอาอะไรเป็นต้น คือดวงใจเป็นต้น เมื่อใจเราดีแล้ว ทำอะไรก็ดี
หาอะไรก็ดี เมื่อใจไม่ดีแล้ว นึกพุทโธ พุทโธ ตัดมันเสีย ”
คำบริกรรมภาวนานั้นจะใช้บทใดก็ได้ตามความชอบ บางท่านจะใช้กรรมฐานห้าเป็นคำบริกรรม คือ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) หรือระลึกมรณัสสติเป็นอารมณ์ คือ ตาย ตาย ตาย ฯลฯ
ที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสาย
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต ท่านสอนให้ใช้คำบริกรรมภาวนาบทว่า
#พุทโธ_นั้นเพื่อต้องการให้น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาไว้ที่ใจ
#ธัมโม_น้อมเอาคุณของพระธรรมเจ้ามาไว้ที่ใจ
#สังโฆ_น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาไว้ที่ใจ ท่านถึงว่า
“#พระอยู่ที่ใจ ” คือมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเรานั่นเอง
เมื่อจะเลิกจากการนั่งสมาธิภาวนา ให้ยกมือประนมขึ้นระหว่างคิ้วตรงศีรษะครั้งหนึ่ง พร้อมกับกล่าวคำว่า “#สาธุ ” ภายในใจ ต่อจากนั้นตั้งใจแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ครั้นเมื่ออธิษฐานเสร็จ ก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ ไปให้กับผู้มีอุปการะคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย กล่าวตามดังนี้...
“ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิภาวนา ข้าพเจ้าขอแผ่ส่วนบุญไปให้แก่บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย เทวาอารักษ์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย พระอินทร์ พระพรหม ยม ยักษ์ ครุฑ คนธรรภ์ กุมภัณฑ์ นาคทั้งหลาย รุกขเทวดา อากาศเทวดา ภุมเทวดา เปรต ผี อสุรกายทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และหามีชีวิตไม่ ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ อย่าได้มีเวรมีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงอยู่เป็นสุขเสมอเถิด ขอจงได้รับส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ด้วยเทอญ.

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต








โยมเป็นชาวพุทธไหม

ถ้าเป็นแล้วทำไมยังกลัวตาย
หลวงพ่อไม่เชื่อนะว่าโควิดจะฆ่าคนได้ หลวงพ่อเชื่อแต่เรื่องกรรมฆ่าคน
คนเราตายเพราะกรรม

ที่ใส่แมสกันอยู่เนี่ย ป่วยหรอ??

โยมเป็นชาวพุทธไหม ทำไมไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนมาแล้วว่าคนเราเกิดเพราะกรรม-ตายเพราะกรรม
“โยมกลัวตายแต่ทำไมโยมไม่กลัวการเกิด”

ถ้าไม่อยากตายก็ไม่ต้องเกิด มันจะได้ไม่ตาย
คนที่บอกว่าเป็นห่วง มันก็ห่วงมันก็แต่ปาก ตัวมันเองก็ยังต้องตาย
แล้วยังจะมาห่วงคนอื่นอีกหรอ

ที่ไปฉีดวัคซีนกันก็ไม่ใช่ว่าจะป้องกันได้นะโยม ฉีดไปแล้วตายก็มี
ฉีดไปแล้วรอดก็มี สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกรรม

“ชาติที่แล้วโยมปลูกข้าวโพด ชาตินี้โยมก็ต้องกินข้าวโพดที่โยมปลูก”

หลวงพ่อมาร์ติน ปิยธัมโม
วัดภูฆ้องทอง








#กายป่วย_ใจไม่ป่วย

#คราวหนึ่งหลวงปู่บุดดา_ถาวโร ได้รับนิมนต์ไปฉันที่บ้านของโยมผู้หนึ่ง มีพระหลายรูปไปร่วมฉันด้วย พอฉันเสร็จไม่นาน พระทุกรูปก็อาเจียนอย่างหนัก เนื่องจากอาหารเป็นพิษ อาเจียนเสร็จก็หมดแรง ส่วนเจ้าบ้านตกใจมากที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เช้าวันนั้นพระทุกรูปล้มนอนเพราะหมดแรง คงเหลือแต่หลวงปู่บุดดาองค์เดียว ที่ยังนั่งพูดคุยกับเจ้าของบ้านและญาติโยม ทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็อาเจียนไม่น้อยกว่าพระรูปอื่น เวลาจะอาเจียนท่านก็ลากกระโถนจากใต้ที่นั่งออกมา พออาเจียนเสร็จท่านก็คุยต่อ ไม่ได้แสดงอาการอ่อนเพลียแต่อย่างใด

ภายหลังได้มีผู้ถามหลวงปู่บุดดาว่า หลวงพ่อไม่เป็นอะไรหรือจึงนั่งคุยกับญาติโยมเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หลวงปู่บุดดาตอบว่า เจ้าภาพเขามีความทุกข์ใจที่นำอาหารเป็นพิษมาถวายพระ ท่านเลยนั่งคุยให้เขาคลายทุกข์ใจ

ท่านยังกล่าวต่อว่า “#ร่างกายเรานี้มันสักแต่ว่าเท่านั้นธาตุ_๔_มันถูกยาเมา_ยาเบื่อ
#มันก็แสดงอาการต่างๆ_นานา_ส่วนจิตใจมันไม่ได้ถูกก็เลยไม่เป็นอะไร
#เหตุเพราะกายกับใจมันคนละเรื่อง_รวมกันไม่ได้”

อีกคราวหนึ่งท่านต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดนิ่ว หลังจากผ่าตัดเสร็จ หลวงปู่ก็พูดว่า “#ค่อยยังชั่วแล้ว_ไม่เป็นไรแล้ว” แพทย์และพยาบาลพากันแปลกใจ ถามหลวงปู่ว่า ท่านไม่รู้สึกเจ็บเลยหรือ คนอื่นผ่าตัดน้อยกว่า
หลวงปู่ ยังแสดงอาการเจ็บปวดมากกว่า หลวงปู่ทำอย่างไรถึงไม่เจ็บ

หลวงปู่ตอบว่า “#ร่างกายของหลวงปู่ก็เหมือนกัน_ทำไมมันจะไม่เจ็บ #แต่จิตใจต่างหากที่ไม่ได้เจ็บป่วยไปกับร่างกายด้วยเท่านั้น”

ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของกาย แต่แทนที่จะเห็นว่ากายป่วยหรือกายเจ็บ เรามักจะทึกทักหรือสำคัญมั่นหมายว่า “#กูป่วย” หรือ “#กูเจ็บ” ความป่วยจึงลามไปถึงใจ หาไม่ก็ไปยึดติดถือมั่นกับความเจ็บปวด ใจจึงปวดไปด้วย หลวงปู่บุดดาเป็นผู้มีปัญญา

ท่านเห็นว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ใจจึงไม่ทุกข์ร้อนไปด้วยแม้จะมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เพียงแต่รู้เฉย ๆ ไม่ยึดติดถือมั่นกับทุกขเวทนานั้น ใจจึงโปร่งเบาสุขสบาย

#จากหนังสือลำธารริมลานธรรม
#โดยพระไพศาล_วิสาโล








#นิสัยหมาโฮ่งๆๆ

#อาตมาเคยเห็นหมาตัวหนึ่ง

เอาข้าวให้มันกิน มันกินแล้วกินไม่หมด มันก็นอนเฝ้าอยู่ตรงนั้น อิ่มจนกินไม่ได้แล้ว ก็ยังนอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นแหละ นอนซึม ประเดี๋ยวก็ชำเลืองตา ดูอาหารที่เหลือ ถ้าหมาตัวอื่นจะมากิน ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ก็ขู่

โอ้..ไก่จะมากินก็โฮ่งๆๆ ท้องจะแตกอยู่แล้ว จะให้เขากินก็ไม่ได้ หวงไว้

มาดูคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักธัมมะธัมโม ก็ไม่รู้จัก ผู้น้อยผู้ใหญ่ ถูกกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ แม้จะมีสมบัติมากมายก็หวงไว้ ไม่รู้จักเฉลี่ยเจือจาน แม้แต่จะให้ทานเด็กยากจนหรือคนชราที่ไม่มีจะกินก็ยาก

อาตมามาคิดดูว่า มันเหมือนสัตว์จริงหนอ คนพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์เลย พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มนุษเดรัจฉาโน มนุษย์เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เพราะขาดความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

จากหนังสือเหมือนกับใจคล้ายกับจิต รวบรวมคำอุปมาของหลวงปู่ชา –มรดกธรรมเล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๒๕








"ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ"

มันมาจากไหน ค้นขึ้นไปซิ
เห็นแต่ว่ามาจาก"โง่"นั่นแหละ

"ดวงจิต"เป็นผู้โง่
มันจึงต้องเป็น ต้องเดือนร้อน
มันจึงใคร่ มันจึงปรารถนา

มันจึงอยากเป็นนั่นเป็นนี่
มันไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่
เพราะเกลียด เพราะชัง
มันชังมันก็ไม่อยากเป็น

แล้วก็หาของมาแก้ไข
หาคิดอีหยังมาทา
หนังเหี่ยว ก็เอามาทา
ลอกหนังออก มันได้กี่วัน
มันก็เหี่ยวอย่างเก่า !

หลวงปู่ขาว อนาลโย







"..ทุกข์ เป็นเครื่องวัด
ความสุข เสมือนปรอท
เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ

ผู้มีความสุขมากสุขน้อย
ต้องเอาทุกข์เข้าไปวัด
เทียบ ผู้เกลียดทุกข์
ไม่ชอบทุกข์ ก็คือผู้ที่
ไม่มีปรอท ผู้ชอบทุกข์
รักทุกข์ก็คือผู้มีปรอท
แต่ไม่ได้ทำการวัด
ผู้เจริญฌานและนิวรณ์5
ได้ ก็ต้องใช้ปรอทนี้
เป็นเครื่องวัด

กายกับใจนี้เป็นพื้นฐาน
ของโลก(คือทุกข์)
ผู้มีปัญญาทั้งหลายหยิบ
ยกเอาทุกข์อันนี้ขึ้นมา
พิจารณาจนทราบ
เรื่องของทุกข์ พร้อมด้วย
มูลเหตุให้เกิดทุกข์

แล้วปล่อยวางทุกข์
ทั้งหลายเหล่านั้น
ได้ด้วยอุบายปัญญา
อันชอบ จนบรรลุ
มรรคผลนิพพานได้

ก็ล้วนแล้วแต่มาตั้งต้น
ดำเนินไปจากกาย
กับใจ คือทุกข์นี้ทั้งนั้น "

โอวาทธรรม
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







เวลาของเราเ-ห-ลื-อไม่มากแล้ว เวลาปฏิบัติก็เ-ห-ลื-อน้อยลงไปทุกวัน ทุกวัน

หลวงพ่ออนันต์ อกิญจโน







#อย่าได้หาทำ #อย่าได้หาคิดกับพ่อแม่แบบนี้ !!

บางคนก็อาจจะคิดว่า " พ่อกูไม่แบ่งสมบัติให้ รักแต่พี่ชาย น้องสาวไม่สนใจเลย แม่ก็รักแต่พี่ชาย"
(บางคนโกรธ มาฟ้องหลวงปู่เด้)

หลวงปู่ : โอ้ย...อย่าไปคิดแบบนั้น เดียวมันเป็นบาป (ทนไม่ได้ก็ร้องไห้ เพราะตัวเองนี่เคยคิดอย่างนั้นมา)

แต่หลวงปู่ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น เราได้สมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าพ่อกับแม่ไม่รักเรา...น้ำขันเดียวกดหน้าใส่นั้นนะ ตายตั้งแต่คลอดใหม่ๆแล้ว

#เราได้แล้วสมบัติของพ่อของแม่นะ "อาการ ๓๒ ได้มาแล้ว"

นั้นแหละเราทำตัวให้ดี ตั้งใจเก็บหอมรอมริบ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ สะสมไปเรื่อยๆมันก็เป็นก้อนเป็นกำขึ้นมาเอง #ทำดีกับพ่อกับแม่ด้วย_บุญกุศลมันก็จะหนุนให้เจริญขึ้นไปเองนะ ถ้าเราไปคิดอย่างนั้น มัวแต่คิดอย่างนั้น มีแต่โศกเศร้า จิตไม่ดี สติปัญญาก็ไม่เกิด #ทำอะไรมันก็ไม่เจริญรุ่งเรือง_ก็จะตกต่ำอยู่ตลอดเวลา

นี้แหละไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ถึงแม้มันไม่มีอะไร ก็ให้คิดว่าบุญวาสนาบารมีของเราในชาติปางก่อน เราไม่ได้ทำอะไรเอาไว้ เราไม่ได้สร้างกุศลเอาไว้ ชาตินี้เรามารู้มาเห็น ถึงว่าไม่มีเราก็จะทำดีให้ถึงที่สุดต่อผู้มีพระคุณของเราให้คิดอย่างนี้ ไม่ได้อะไรก็ขอให้ได้อุปัฏฐากอุปถัมภ์

“ตายไปแล้วชาติหน้า ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้มาเกิดตกทุกข์ได้ยากอย่างนี้อีก แล้วก็ปรารถนาถึงธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติธรรม รู้ธรรมเห็นธรรม ได้พบพระศาสนา ได้พบพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้เป็นครูอาจารย์ของเรา จะได้นำทางเราไปในทางที่ถูก”

นี้คือความคิดของหลวงปู่ที่อยากจะให้เป็นอย่างนี้ทุกๆคน ไม่อยากจะให้คิดเข้าข้างตัวเอง ที่คิดไปในทางที่เกิดความโลภ ไม่ให้อยากไปคิดอย่างนั้น

ถอดจากเทปโอวาทคำสอน หลวงปู่ไม อินทสิริ
วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ถอดเทป/เรียบเรียง : นรินทร์ ศรีสุทธิ์







ความไม่ทำลายล้างชีวิตกันและกันตามศีลของพระพุทธเจ้า และความมีเมตตากรุณาตามธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุเพื่อความดำรงอยู่ของชีวิตทั้งหลายในโลก

เรื่องศีลจึงเป็นข้อปฏิบัติขั้นแรกของพระพุทธศาสนา หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นข้อปฏิบัติของความเป็นคนก็ได้

เพราะฉะนั้น “ศีล” โดยเฉพาะศีลห้า จึงเป็น “มนุษยธรรม” คือ เป็นธรรมของมนุษย์ แปลว่า คนเราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น มิใช่ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์เท่านั้น จะต้องมีธรรมสำหรับมนุษย์อีกด้วย

จนถึงมีภาษิตหิโตปเทศ ที่กล่าวไว้โดยความว่า

“คนและสัตว์เดรัจฉานนั้น ย่อมมีการกิน การนอน การสืบพันธุ์เสมอกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนต่างกับสัตว์เดรัจฉานก็คือธรรม และธรรมที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้มีศีล ๕ ที่เรียกว่าเป็นเหตุอันใกล้ก็คือ

“หิริ” ความละอายแก่ใจ “โอตัปปะ” ความเกรงกลัวต่อความชั่ว หิริโอตัปปะนี้ เป็นเหตุใกล้ของศีล”

#สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
#กรมหลวงวชิรญาณสังวร







#หลวงตามหาบัวสอนศิษย์

คณะลูกศิษย์ได้เข้าไปกราบหลวงตามหาบัว และเล่าบ่นเรื่องการทำงาน ที่มีการนินทาว่าร้าย ใส่ร้ายป้ายสี กลั่นแกล้งกัน

หลวงตาก็เลยถามว่า..
“ไอ้ที่มานั่งว่าคนอื่นเขาอยู่นี่นะ ตัวเรานั้นดีแล้วหรือ ?”

ลูกศิษย์ถึงกับอึ้ง ท่านจึงถามต่อว่า.. “อย่าไปว่าคนอื่นเขา ตัวเรานั้นดีแล้วหรือ ไหนตอบมาซิ”

ลูกศิษย์ : “ก็คิดว่าตัวเราทำดีแล้ว แต่คนอื่นไม่เห็นดีกับเรา ทำไมเขาไม่รู้ไม่เข้าใจบ้าง”

หลวงตา “ถ้าตัวเราดีแล้ว ไปยุ่งกับคนอื่นเขาทำไม หา?”

ลูกศิษย์ : “ก็คนอยู่ด้วยกันนี่คะ ท่านอาจารย์ เราดีกับเขา ไม่เห็นเขาดีกับเราเลย หน้าอย่างหลังอย่าง”

หลวงตา “ถ้าเป็นคนดีพร้อมแล้วนะ นั่นแหละคือความดีของเราเอง เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความสุขความเจริญ คนอื่นไม่ดีก็ช่างเขาปะไร เราจะไปเดือดร้อนทำไมกับความไม่ดีของคนอื่น ใครเขาจะมาว่าอะไร ตัวคำพูดนั้นออกจากปากใครก็เข้าหูคนพูดก่อน เราจะไปรับทำไม

ถ้าเราเป็นคนดีแล้ว เราไม่ต้องไปรับรู้เจ็บร้อนอะไรใช่ไหมล่ะ รักษาความดีของเราไว้ให้สงบแน่วแน่มั่นคง นั่นแหละเรียกว่าเราดี แน่จริงละ ใช่ไหม หือ ?”

#เรื่องที่คุยกับลูกศิษย์ –
#หลวงตามหาบัว











“…คนเราน่ะ ปัจจุบันนี่สำคัญนะ
ถ้าโยมนี่รู้ว่าอันไหนไม่ดี ไม่คิด
รู้ว่าอันไหนไม่ดี ไม่พูด
รู้ว่าอันไหนไม่ดี ไม่ทำ
รู้ว่าอันไหนมันดี ต้องขยัน ต้องรับผิดชอบ ต้องอดทน
อย่างนี้เค้าเรียกว่ามันเป็น “ศีล”
พระอรหันต์เค้าถึงไม่ต้องอาบัติ
เค้าไม่ให้ปรับอาบัติพระอรหันต์
เพราะเจตนาท่านคิดดี พูดดี ทำดี
ท่านไม่มีอาบัติ ใช่มั้ย
ถ้าเราเสียสละ สติสัมปชัญญะของเราถึงจะสมบูรณ์
เห็นด้วยมั้ย…”

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม
วันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓

The present moment is essential for us all.
If you know what is evil, do not think!
What is evil, do not speak!
What is evil, do not do!
If you know what is virtuous, do it with diligence, responsibility and endurance.
This is called “Sila”. (Precepts)
The Arahants are not guilted of any breach of Vinaya. (Apatti)
They are free from penalty of committing any offence
as their intentions are thinking, speaking and doing virtuously.
They are free from any offence.
If we practice relinquishing, our awareness and full comprehension will be completed.
Do you agree?

Venerable Luang Phor Gunhah Sukhakamo
Subthawee Dhammaram Monastery
Saturday, 19th September, 2020

#ธรรมะใจดีใจสบาย
#หลวงพ่อกัณหา_สุขกาโม
#วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม
#LuangPhorGunhah_Sukhakamo
#JaideeJaisabaai #WatSubthawee









#ฝนจิตให้มันว่าง_ให้รู้เท่าความจริง_ไม่ยึดมั่นถือมั่น

การเจ็บปวดเมื่อนั่งสมาธิ

พระพุทธเจ้าว่าให้สู้กับมัน มันจึงจะเห็นทุกขเวทนา นั่งสมาธิมันเจ็บ ให้ดูมัน มันเกิดมาจากไหน เวทนามันก็เวทนาต่างหากไม่มีตัว

#เราก็พิจารณาให้รู้เท่านั้นแหละ

ของไม่มีตนมีตัว มันเกิดขึ้น ก็เกิดจากร่างกาย เนื้ออย่างหนึ่ง แล้วก็มันรู้สึกถึงจิต รู้ถึงกัน จิตก็ไปยึด ยึดมันก็เจ็บ หนักเข้าก็ไม่สู้มัน

#ต้องสู้มันมันจะเห็น

พระพุทธเจ้าว่ากำหนดให้รู้ทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากเหตุ คืออยากเป็น อยากมี ความอยากเป็นอยากมี ความอยากมันเกิดมาแต่เหตุ เหตุมันเกิดมาจากไหน เหตุมาจากความไม่รู้ ไม่รู้เท่ากาย

จนกระทั่งความคิดทั้งหลายเข้ามา มันก็ไม่รู้ทั้งนั้น คือมันโง่เรียกว่า อวิชชา เป็นเหตุให้สัตว์ผู้ไม่รู้เท่า เกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความอยากเป็น อยากมี เป็นเหตุให้วนเวียน

#เรียกว่าสังสารจักร์วัฏฏกา

เวียนอยู่อย่างนั้น เป็นเหตุให้เราเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในภพน้อยภพใหญ่

กรรมดีเหมือนพวกคุณหมอก็ดี ไม่เจอะทุกข์ปานใด เกิดมาไม่เสียชาติเกิดเป็นมนุษย์ มิหนำได้เกิดมาพบโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า

#เกิดมาในปฏิรูปประเทศ

ประเทศอันสมควร คือประเทศมีพระพุทธศาสนา ประเทศมีนักปราชญ์อาจารย์เพื่อนแนะนำสั่งสอน ประเทศอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นมงคล

#พวกท่านทั้งหลายท่านเป็นผู้ไม่ประมาท

อตฺตสมฺนา ปณิธิ ผู้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ อาชีพเลี้ยงชีพภายนอกดีโดยชอบธรรม โอวาทคำสั่งสอนก็ไม่ประมาท ทุกสิ่งทุกอย่าง มีการจำแนกแจกทาน มีการสดับรับฟัง แล้วก็ปฏิบัติตามดำเนินตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

#ธรรมทั้งหลายมีกายกับใจเท่านั้นแหละ

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจที่มันรู้เท่าแล้ว ก็มีความหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ทางความชั่วมันก็รู้เท่า แล้วมันก็เอาอยู่นั่นแหละ ไปยึดภพน้อยภพใหญ่อยู่นั่นแหละ

พวกเรายังนับว่าไม่เสียที แม้ยังไม่มีความเบื่อหน่าย ก็ยังเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เอาทรัพย์สมบัติ คืออริยทรัพย์ให้ได้ให้เกิดให้มีอยู่ในหมู่ของตน อยู่ในสันดานของตนสะสมไว้

อัตภาพร่างกายเป็นของไม่มีสาระแก่นสาร ทรัพย์ภายนอกก็ไม่มีสาระแก่นสาร ชีวิตของพวกเรา ความเป็นอยู่ก็ไม่มีสารแก่นสาร

#เรามาพิจารณารู้อย่างนี้แล้วเราเป็นผู้ไม่ประมาท

รีบเร่งทำคุณงามความดีประกอบขึ้น รีบเร่งสะสมอริยทรัพย์ ศีลของเราก็บริบูรณ์ไม่มีด่างพร้อย ตามภาวะของตน ศีล ๕ ศีล ๘

เดี๋ยวนี้พวกท่านกำลังอบรมสมาธิ กำลังจะเอาทรัพย์อันนี้ เรียกว่าอริยทรัพย์ ศีลก็เป็นอริยทรัพย์อันหนึ่ง สมาธิก็เป็นอริยทรัพย์

#หมั่นอบรมจิตใจ

ปัญญาก็เป็นอริยทรัพย์ หมั่นอบรมจิตใจ เวลาเราเข้าสมาธิ จงให้สติประจำใจ กำหนดสติให้แม่นยำ รักษาจิตใจของเราให้อยู่กับที่ และให้จิตใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กิจการงานของเรา

เคยทำมาอย่างไรก็ดีเวลาเข้าที่ให้ปล่อยวางให้หมด ความรัก ความชัง อดีต อนาคต วางปล่อยวาง ไม่ให้เอาใจใส่เรื่องนั้นๆ ให้มีสติประจำ ไม่ให้มันไปตามอารมณ์เหล่านั้น

ครั้นควบคุมสติได้แล้ว จิตมันอยู่คงที่แล้ว อยู่กับกายของตนแล้ว ให้มันเห็นกายของตนนั่นแหละ สิ่งอื่นอย่าให้มันมาเป็นอารมณ์ของใจ

ครั้นจะเพ่งเอาอารมณ์ ก็ต้องเพ่งเอาอัตภาพสกนธ์กายของตนนี้ ให้มันเห็น มัน กรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พระพุทธเจ้าแจกไว้หมดแล้ว ไม่ใช่คน

#ไม่ใช่คนแต่ไปยึดถือมัน

ผมไม่ใช่คน ขนไม่ใช่คน เล็บไม่ใช่คน เราจะมาถือว่า ตัวว่าตนอย่างไรล่ะ ฟันก็ไม่ใช่คน ฟันมันต้องเจ็บต้องคลอน ต้องโยก ต้องหลุด อันนี้มันไม่ใช่ของใคร
สิ่งเหล่านี้เป็นของกลาง สำหรับให้เราใช้

เราต้องหมายเอาใจไว้เสียก่อน แท้ที่จริงก็ไม่ใช่ของเราอีกนั่นแหละ ถ้าใจเป็นของเราแล้ว เราบอกว่าเราบังคับคงจะได้ อันนี้ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แล้วแต่มันจะไป ถึงคราวมันจะเป็นมันถือกำเนิดขึ้น มันยังไงมันก็ไม่พัง จะตีมันก็ไม่พังอีกแหละ เพราะเหตุนั้นมันจึงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องรู้เท่ามัน

#เวลาเราภาวนาอย่าให้มันอะไรเข้ามาเป็นอารมณ์

นอกจากสังขารตัวนี้ มันก็ให้เห็นเป็นอนิจจัง ให้เห็นไตรลักษณ์ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก เห็นเป็นไตรลักษณ์ แล้วก็ให้เห็นเป็นปฏิกูลสัญญาของโสโครกน่าเกลียด ให้เห็นมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

แล้วก็ไม่ใช่จริงๆ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก ไต หัวใจ ตับ ม้าม พังผืด อาหารใหม่ อาหารเก่า มันไม่ใช่เราทั้งนั้น ถ้าแจกออกไป ไม่ต้องไปยึดถือนะ ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าว่า เรายังไปยึดถือ ว่าผมของเรา ขนของเรา เล็บของเรา ฟันของเรา อันนั้นแหละห้าม

#บางทีจิตของเราใจของเราถูกกับอันหนึ่งอันใดก็เอาอันเดียวเท่านั้นแหละ

พระพุทธเจ้าแจกไว้ แต่ว่าจริตของคนนิสัยของคน มันถูกอันไหน ก็เอาอันนั้นแหละ จิตมันหยุด จิตมันสงบกับพุทโธ จิตใจกับพุทโธ มันก็อยู่กับพุทโธ

อาตมามันถูกกับพุทโธ ตั้งใจเอาไว้ ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดเอาสติรักษาใจไว้ เอาพุทโธไม่เผลอสติ ให้เห็นพุทโธตั้งอยู่กลางใจนี้ ไม่สบายเลยหาย

อาตมานิสัยถูกกับพุทโธ บริกรรมอัฐิกระดูก บางทีมันก็ถูก ถูกมันก็ปรากฏเห็นกระดูกหมดทั้งสกนธ์กาย

#พระพุทธเจ้าต้องการให้จิตมันเห็นจิต

มันไม่เห็นให้บริกรรมให้เห็น ต้องการให้มันเบื่อหน่าย ให้มันเห็นว่าไม่ใช่ตน สิ่งเหล่านี้ ธาตุทั้ง ๑๘ ก็ดี ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น อายตนะก็ดีตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น

เรามาสำคัญว่าหู ว่าจมูก ว่าตา ว่าลิ้น ว่ากาย ว่าใจเป็นของเรา เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น นั่งก็ให้มีความเจ็บ เจ็บบั้นเอว ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขาอะไรนั้น สมาธิก็ต้องออก

#ท่านจึงให้สู้มันไม่ต้องหลบมัน

เราจะสู้ข้าศึกก็ต้องอย่างนั้นแหละ ต้องมีขันติความอดทน ทนสู้กับความเจ็บปวดทุกขเวทนา ดูมัน

จิตมันถูกอันใดอันหนึ่ง เมื่อเราสกัดกั้นไม่ให้มันแส่ส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น เรียกว่ากามคุณ ๕ ไม่ให้ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันจะอยู่ที่ มันก็ว่างอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เข้ามาคลุกคลีดวงจิตแล้ว

#จิตตั้งมั่นเรียกว่าจิตว่าง

ไม่มีอะไรมาพลุกพล่าน เหมือนกันกับน้ำในขัน หรือน้ำอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อมันไม่กระเพื่อมแล้วมันนิ่ง ก็เห็นสิ่งทั้งปวงอยู่ในก้นขัน ต้องเห็น เห็นอันนี้ เห็นแล้วเราต้องสละปล่อยวาง มันจะเห็นโลภะ โทสะ โมหะ ราคะเรามี เราจะได้พยายามละถอนสิ่งเหล่านี้ออก

ปล่อยจิตว่างแล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่ง ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอารมณ์มาฉาบทาดวงจิตแล้ว ดวงจิตใส ดวงจิตขาว จิตก็เย็น มีแต่ความสบาย มีความสุขรู้เท่าสังขาร รู้เท่าสิ่งทั้งปวง

รู้เท่าความเป็นจริงแล้ว เกิดอันใดอันหนึ่งก็ดี หรือไม่ก็ครบรอบก็ดี เมื่อพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว จิตของเราไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะจะมาถึงก็ตาม ทุกขเวทนาเจ็บปวดมาถึงก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น

เมื่อรู้เท่าความเป็นจริงแล้ว ความติฉินนินทาก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น เสื่อมลาภก็ตาม เสื่อมยศก็ตาม เสื่อมสรรเสริญรักชอบก็ตาม ไม่เอาใจใส่เอามาเป็นอารมณ์ มันก็มีความสุขเท่านั้น

#จะหาความสุขใส่ตนก็มีแต่ฝึกฝนทรมานตนนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านว่า สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ให้ทรมานจิต ฟอกฝนจิตของเรา ฝนจิตให้มันว่าง ให้มันรู้เท่าความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น

จิตนั่นแหละจะทำประโยชน์มาให้ในชาตินี้ คือนำความสุข คือนิพพานมาให้ หรือจิตเรายังไม่พ้น ก็จะนำสวรรค์มาให้ นำเอาความสุขมาให้ตราบเท่าตลอดเวลา ตราบเท่าชีวิต แล้วมีสติคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป...

หลวงปู่ขาว อนาลโย
ขออนุโมทนาบุญท่านผู้มีส่วนเผยแพร่โอวาทธรรมและภาพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ สาธุ อนุโมทามิ






#ดับทัน_ปัญญาก็เกิด

เมื่อเราวิปัสนาภาวนา ความคิดมันเกิด เราใช้สติและสมาธิ ตามรู้ทันตามดับความคิด จนความคิดที่เกิดจนถึงดับไปค่อยๆถดถอยน้อยลง และทรงอารมณ์ภาวนาได้ถี่ขึ้นและเริ่มนานขึ้น และนานขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นแหละเริ่มเกิดปัญญาแล้ว

เพราะปัญญาอันนี้แหละ ที่ทำให้รู้วิชชา แล้ววิชชาอะไรละ วิชชาก็คือความรู้ ความรู้ที่นำมาใช้ ในการที่เราตามดูความคิด และรู้เท่าทันให้มันดับลง และทรงอารมณ์ได้นานๆ

เหมือนเราเห็นโจรจะมาขโมยของมีค่าของเรา เราก็หาวิธีป้องกันโจร และคอยตามดูโจร เมื่อโจรมันเห็นเราจ้องดูมัน โจรนั้นก็ไม่สามารถขโมยของเราได้ นี่แหละปัญญาเกิด...

#หลวงปู่บุดดา #ถาวโร







ถาม : ขออุบายเพื่อลดทิฐิมานะเจ้าค่ะ

ตอบ : การละส่วนนี้ เราต้องพยายามมองตัวเราเอง อย่ายกตัวเองให้สูงเด่น พยายามมองตัวเองว่าต่ำที่สุด เหมือนครูบาอาจารย์ท่านเตือนลูกศิษย์ลูกหาอยู่ตลอดเวลาว่า ให้ทำตัวเองเปรียบประดุจหมือนผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้ามีใครมาเช็ดเท้า เหยียบย่ำอย่างไรก็ได้ ผ้าเช็ดเท้าไม่เคยสะเทือน แต่ถ้าเรามองตัวเรา ยึดตัวเราเองด้วยอัตตาว่าสูงเด่น อันนี้จะเป็นมานะ ยกตนข่มท่าน ยกตนเหนือเขา เราจะไม่ฟัง ไม่มองผู้อื่น ผลที่สุดก็เป็นอัตตาสูง มีแต่ทับถมสร้างความเศร้าหมองขุ่นมัวต่อตัวเราเองขึ้นมาเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้นการที่จะชำระสิ่งเหล่านี้ให้เบาบางลงไป เราต้องพยายามกดตัวเราลง และมองผู้อื่นในแง่ดี ให้ความสงเคราะห์ ให้ความปรารถนาดีกับเขาอยู่ตลอด อย่าไปมองในส่วนร้าย คนเรามันมีทั้งดีทั้งชั่ว มันไม่มีดีส่วนเดียว ไม่มีชั่วส่วนเดียว แต่ถ้าเรามองในส่วนที่ไม่ดี จิตใจเราเศร้าหมอง มันมีประโยชน์อะไร ถ้าเรามองในส่วนดี จิตใจเราก็จะมีแต่ความเบิกบานผ่องใส

แม้กระทั่งเรามองตัวเราเอง เรามองในส่วนที่ไม่ดี เราก็ไม่ได้มองเพื่อตำหนิติเตียน แต่เรามองเพื่อชำระ การมองไปที่ไหนเพื่อการตำหนิติเตียนไม่ใช่ของดีเลยสักนิด เรามองผู้อื่นเพื่อตำหนิ จับโทษ จับผิดเขา มันก็ไม่ดี จิตใจเราเศร้าหมอง มองตัวเราเองก็ไม่ดี จิตใจเราเศร้าหมอง แต่เราต้องมองเพื่อชำระ เพื่อแก้ไขอยู่เสมอ นี่จะเป็นการลดอัตตาตัวตนไปเรื่อย ๆ ทิฐิมานะ ความดันทุรังก็จะเบาบางลงไป มันจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป มันไม่ใช่พรวดเดียวจบลงไป หักมุมลงไปได้ ฝึกให้เป็นนิสัย ต้องให้รู้จักมอง

การปฏิบัติไม่สามารถหักมุมลงไปเลย ดัดไปเลย มันเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่ดอกบัวประเภทโผล่พ้นน้ำ ที่คอยจะรับแสงอาทิตย์แล้วจะบานทันทีเลย แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ใช่ดอกบัวประเภทที่อยู่ใต้โคลนตม ที่คอยจะเป็นอาหารของเต่า ปลา ถ้าเป็นประเภทนี้ มันไม่ได้เกิดมาเป็นอัตภาพอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ หรอก การที่ได้เกิดมาในอัตภาพของมนุษย์ ในครอบครัวของสัมมาทิฐิ ของชาวพุทธเรา และยังมีพื้นฐานของความศรัทธาอยู่อย่างนี้ เราก็แน่ใจว่าเราไม่ใช่เหล่าบัวที่อยู่ใต้โคลนตม เราอาจจะเป็นเหล่าบัวที่อยู่กลาง ๆ ที่ต้องใช้ความพากเพียรและเวลา ที่จะดันตัวเองขึ้นมาด้วยการปฏิบัติ ให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาคอยรับแสงอาทิตย์ ก็ขอให้มีความพากความเพียรอย่างสม่ำเสมอ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีคำว่า “โมฆะ” ปฏิบัติแล้วไม่ได้อะไรเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องได้ ได้มาก ได้น้อย ก็ต้องได้ เหมือนเรากินอาหาร เรากินแล้วไม่ได้อะไรเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก แม้การกินอาหารของเราจะไม่ถึงกับอิ่ม ไม่สามารถระงับดับกระหายความหิวของเราได้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ความเอร็ดอร่อยจากอาหารที่เรากิน การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน แม้นจะไม่สามารถชำระกิเลสให้หลุดร่วงไปจากจิตจากใจของเรา แต่อย่างน้อยๆเราก็ได้ความร่มเย็น ความเบิกบาน ความผ่องใส เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงภายในจิตในใจแล้ว แทนที่จิตใจจะมีแต่ความเครียด ความเศร้าหมอง กลับมีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง

หากชีวิตมีจิตใจดวงที่เบิกบานผ่องใสครองอยู่ อยู่ที่ไหนก็พออยู่ แต่ที่ชีวิตมันไม่มีคุณค่าเลยก็เพราะจิตใจมันไม่เคยได้รับความเบิกบานความผ่องใสเลย มันมีแต่ความเศร้าหมองขุ่นมัว ความครียด ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะหาคุณค่ามาจากไหน เหมือนบ้านเรือน ถ้ามีแต่ความสกปรกโสโครก รกรุงรัง อยู่ตลอด แล้วมันจะหาคุณค่ามาจากไหน บ้านเรือนจะมีคุณค่า น่าอาศัย น่าหลับ น่านอน มันต้องมีความสะอาดสะอ้าน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงจะเป็นบ้านเล็ก ๆ มันก็น่าอยู่อาศัย จิตใจของพวกเราก็เหมือนกัน ถ้าเราหมั่นประพฤติปฏิบัติแล้ว นับวันจะมีความใสสะอาดมากขึ้น มันก็ลดอัตตาให้เบาบางลงไป จิตก็จะมีความเบิกบานขึ้น ให้พยายามฝึกในการดูคนอื่นเขา

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑






“ความสุขที่ได้รับ เป็นของไม่เที่ยง
สักวันหนึ่งก็ต้องจากไปทั้งหมด
แม้แต่ร่างกาย ที่คิดว่าเป็นของเรา
สุดท้าย มันก็ไม่ได้เป็นของเราอย่างที่คิด
ให้เราพยายามปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจของพวกเรา
เพื่อที่จะให้ได้ พุทโธ เป็นที่พึ่ง”

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






“อะไรก็ตามที่เราหนีไม่พ้น
เราควรจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
นี่คือศิลปะการที่จะอยู่โลกนี้อย่างไม่ทุกข์”

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ตอบกระทู้