พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 28 ต.ค. 2021 7:12 am
#ภาชนะเก็บบุญ
โยม : หลวงปู่เจ้าขา ดีใจเหลือเกินที่ได้มาทำบุญกับหลวงปู่ ทำบุญกับพระสุปฏิปันโน
หลวงปู่ : อือ
โยม : ไปทำบุญที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าทำบุญกับหลวงปู่ เย็นกายเย็นใจได้บุญเยอะ
หลวงปู่ : ทำบุญที่ไหนก็ดีหมดนั่นล่ะ ได้บุญหมดนั่นล่ะ ติแต่ว่าทำบุญกับวัดนี้กับพระนี้ เหมือนจะได้บุญน้อย
ทำบุญกับวัดนั้นกับพระนั้นจะได้บุญมาก
"ได้บุญมากหรือบุญน้อยบ่สำคุญดอก...สำคัญว่า ที่เก็บบุญของคุณนั้น เก็บบุญอยู่บ่นี่"
ที่เก็บบุญมันเก็บบ่อยู่ ก็เที่ยวทำบุญไป มันก็ไหลออกไป จำไว้เด้อ เก็บบุญไว้ในใจ อย่าให้ไหลออกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายเด้อ รักษาใจให้สะอาด บุญเราจะได้สะอาดไปด้วย เพราะบุญอยู่ในใจเด้!
#พระเทพมงคลวชิรมุนี
(หลวงปู่หา สุภโร)
…ความเป็นอยู่ของเรา
ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ก็ล้วนเป็นเหตุที่เกิดจาก
ผลที่เราได้ทำมาในอดีตทั้งสิ้น
.เราเกิดมาเป็นหญิง เป็นชาย
มีรูปร่างอาการครบ ๓๒ บริบูรณ์หรือไม่
เป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาด
เป็นคนมีรูปร่างหน้าตาสวยงามหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็น..วิบาก
.คือเป็นผลที่เกิดจาก
การกระทำของใจในอดีต
และจะส่งผลต่อไปเรื่อยๆ
ตราบใดที่ยังมีการกระทำกรรมกันอยู่.
…………………………………………….
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๑๐ กัณฑ์ที่ ๑๔๗
วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕
"เป็นใหญ่ในโลกทั้งสาม..ยังไม่เท่าเป็น #พระโสดาบัน"
หลวงปู่เจือ สุภโร
(ศิษย์อาวุโสในองค์ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
"จำเอาไว้นะ ไม่ว่าจะเป็นวันอะไร
วัน เดือน ปี ก็เป็นกาลเวลา
ไม่มีผลต่อความเป็นอยู่
ความเจริญรุ่งเรืองของเรา
แต่การกระทำของเราต่างหาก
ที่จะมีผลต่อตัวเราเอง"
หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
"ความทุกข์ของคนประการหนึ่ง คือ
ต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างที่ตัวเองคิด
ขณะที่ตนก็เป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็นไม่ได้"
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป
บุคคลเรานั้น ถ้าแม้ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ประตูนรกยังเปิดรออยู่เสมอ อย่านึกว่าตัวเองแน่ เพราะเราไม่แน่ไปกว่านรกได้
วันนี้เราเป็นคนนั่งอยู่ในวัด วันหน้าอาจต้องมาเป็นเปรตอยู่ตามกำแพงวัด เป็นแมว เป็นหมาขี้เรื้อนอยู่ตามศาลาวัด ตราบใดที่ภูมิจิตภูมิธรรมยังไม่ถึงพระโสดาบัน อย่าเพิ่งทะนงตนว่าตัวเองจะรอด...
พระเทพมงคลวชิรมุนี
(หลวงปู่หา สุภโร)
#จะฉลาดหรืออาจหาญชาญชัย_เกิดจากหัวใจอย่างเดียว
เกิดจากใจสอนใจให้มันฉลาดอาจหาญ ใช้ปัญญาอบรมจิต มันถึงไม่นิ่งอยู่เฉยๆ
อย่าให้มันอยู่เปล่าๆ นั่ง นอนอยู่ กินข้าวอยู่ก็ทำได้ นอนก็ทำได้ นั่งก็ทำได้ อยู่ทุกขณะจิต
พระศาสดามาตรัสรู้ ไม่สอนให้คนโง่ สอนให้คนฉลาดอาจหาญ ชาญชัย แสงสว่างอาจหาญเกิดได้ด้วยปัญญา
ปัญญาอบรมจิต ให้ปัญญามันแก่กล้าหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ปัญญาอบรมจิตโง่ จิตโง่ก็เป็นจิตฉลาด กิเลสเข้าไม่ได้
กิเลสเกิดจากจิต ถ้าดับก็ดับที่จิต ขุดแซะเข้าไป อย่าให้มันค้างคา เกิดเท่าไหร่ ดับเท่านั้น อย่าให้มันเหลืออยู่ ท่านถึงว่า...ผู้ปฏิบัติแท้ เป็นสาวกสาวิกาของพระศาสดาแท้ ปราบให้มันราบคราบ
ถ้าปราบกิเลสไม่ได้ ยังจะมาหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดตายไม่จบไม่สิ้น
#หลวงปู่แสง_ญาณวโร
#บุคคลผู้มีปัญญา #คือบุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร
แต่ส่วนมากคนไม่ค่อยเห็น มักติดกันซะส่วนใหญ่ ไปหลงคิดว่ามันดี มันคือความบันเทิง มันคือความสุข
ความจริงบุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสารมีมานานแล้ว และมีจำนวนมากด้วย แต่ที่จะบวชแล้วหลุดพ้นนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่จะหลงผิด เพราะครูผู้รู้จริงเห็นจริงไม่มี
ส่วนนักบวชที่สามารถหลุดพ้นได้ ก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนใครจริงๆจังๆ เพราะเห็นว่าเป็นธรรมอันยากที่จะสั่งสอนผู้คนให้รู้เห็นตามได้ เพราะมันคือการสวนกระแสของโลก
โลกสอนให้ยึด แต่ธรรมะสอนให้วาง
บรรดานักบวชเหล่านี้ จึงไม่ได้ประกาศพระศาสนาท่านคือ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า
มายุคสมัยนี้ โชคดีแค่ไหนที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วประกาศพระศาสนา แล้วทุกวันนี้ก็ยังคงมีครูบาร์อาจารย์ผู้เห็นจริงในคำสอนเหล่านั้นอยู่
ให้หาเวลาและโอกาสปฏิบัติธรรมกันเสียแต่ตอนที่ยังมีโอกาส เพราะหากพลาดจากชาตินี้ไป ไม่รู้ว่าจะมาเจอพระพุทธศาสนาอีกเมื่อไหร่ทำอย่างไรจิตใจถึงจะไม่หลงระเริงในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส
ก็ต้องมาพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายมันเป็นอย่างไร ลองพิจารณาให้ดี ทำให้มาก ทำให้คล่อง เมื่อถึงขั้นที่เรียกว่า ปล่อยวางในร่างกายได้ นั่นแหละจึงจะเรียกว่า ผู้เห็นธรรม
หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป
วัดป่าปทีปปุญญาราม
อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
“สมถวิปัสสนา กรรมฐาน”
เรื่องการกระทำบำเพ็ญ เราก็คงจะพอเข้าใจกันบ้างแล้ว มีแต่พวกเราจะทำให้มันมาก เจริญให้มันยิ่งขึ้นไป ให้มันได้รับผลของการปฏิบัติ การปฏิบัตินี่ส่วนมากจิตใจของพวกเรา หรือว่าจิตใจของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ที่ท่านได้ปฏิบัติมาก่อนพวกเรา มันก็เป็นของทำได้ยากอยู่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะมันต้องได้ฝืนธรรมดา ฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติจิตใจมันชอบจะไหลลงไปทางต่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝ่าฝืน
ทีนี้ข้อวัตรปฏิบัติที่เราได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ว่าอาจารย์รูปนี้สอนอย่างนี้ อาจารย์รูปใหม่สอนอีกอย่าง เราก็เปลี่ยนไปอีก มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องจับให้มันมั่น ทำอะไรทำให้มันจริงมันจัง เมื่อเราทำจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะได้เห็นของจริง มันก็รู้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง มันก็เห็นไม่จริง มันก็ไม่รู้จริง
เมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว ทีนี้มันเป็นของใคร มันก็เป็นของเรา เป็นที่พึ่งของเราโดยตรง และเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด คือพึ่งตัวเรา ตัวของเราผู้ซึ่งเป็นคนปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป บางคนจิตใจคงเคยได้รับความสงบเข้าไปบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เคยสงบ ยังไม่เคยได้รับผล แต่อย่าไปสงสัย อย่าไปน้อยใจว่าเราปฏิบัติไปจะไม่ได้รับผล ต้องได้รับผลแน่นอนตามเหตุ ตามปัจจัย ทำน้อยได้รับผลน้อย ทำมากได้รับผลมาก จนกว่ามันจะรู้จะเห็นเป็นไปของเรา ความเป็นไป ความได้มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ในจิต คือ ตัวสติ ตัวรู้ คือความรู้นี่ฟื้นฟูดวงรู้นี่ขึ้นมา ดวงรู้นี่คือดวงใจของเรามีทุกคน แต่ว่ามันรู้อยู่แต่มันไม่เต็มภูมิ เปรียบประมาประมัยเหมือนกับพระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม ที่มันยังเว้ายังแหว่งอยู่ มันไม่เต็มภูมิ
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาศึกษาปฏิบัติ มารักษาตัวสติให้มันติดต่อ ให้มันต่อเนื่องกัน บำรุงตัวสติให้มันเด่นดวงขึ้นมา คือ ตัวรู้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ปัญญามันก็จะตามมา เพราะปัญญากับสติมันอยู่ด้วยกัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เราปฏิบัติอยู่ บางคนก็กำหนดลมหายใจ หรือกำหนดคำบริกรรม หรือกำหนดที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดอยู่ที่จุดใด ก็กำหนดให้มันอยู่ที่จุดนั้น เมื่อเวลาจิตมันแว่บไปก็ให้มันรู้ มันอยู่ก็ให้มันรู้ หรือมันฟุ้งซ่านก็ให้มันรู้ ให้ฝึกตัวรู้นี่ก่อน เหมือนกับเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อมันเกิดมาใหม่ ก็ต้องฝึกนั่ง แล้วก็มาฝึกยืน เมื่อยืนมั่นคงแข็งแรงแล้วค่อยก้าวออกไป ถ้ามันไม่แข็งแรงก้าวออกไปมันก็จะล้ม
ต้องฝึกอบรมตัวสติ ฝึกไป ฝึกไป ทำไป ทำไป เว้นไว้แต่หลับ เมื่อนานๆ ไป เมื่อจิตมันอยู่เป็นสมาธิ เราบริกรรมพุทโธ พุทโธไป บริกรรมไป บริกรรมไป จนจิตมันวางคำบริกรรม มันจะวางพุทโธ เมื่อมันวางพุทโธแล้วจิตมันจะนิ่ง เมื่อมันนิ่งเข้าไปแล้ว ทีนี้มันจะเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เมื่อมันเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เราก็กำหนดรู้อยู่นั่นแหละ ประคับประคองดวงรู้ให้มันเด่นดวงอยู่นั่นแหละ ถ้าอยู่ได้นานก็ยิ่งดีเมื่อฝึกครั้งแรก
จับหลักสมาธิตัวนี้ให้มันมั่นคงก่อน เมื่อสมาธิตัวนี้มันมั่นคงแล้ว ทีนี้อันดับต่อไปเราจะได้ค้นคว้าพิจารณาร่างกายนี่แหละ ถ้าสมาธิดีแล้ว ดูกายแยกออกไปว่า ในร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ร่างกายนี้มีรูป รูปคือขันธ์ มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ นี่ท่านเรียกว่าขันธ์ ๕…ขันธ์ แปลว่าผูก แปลว่ามัด แปลว่าถ่วง แปลว่าดึง แปลว่าทับ มันจึงหนัก มาพิจารณาแยกแยะออกจากรูปอันนี้ ร่างกายนี้มีอะไรบ้างอยู่ในรูปนี้ มันมีธาตุทั้ง ๔ มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม ประชุมกันอยู่นี่ ธาตุดิน มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นต้น ธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน…ธาตุน้ำ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร นี่เป็นธาตุน้ำ…ธาตุไฟ ไฟยังกายให้อบอุ่น ไฟยังกายให้ทรุดโทรม ไฟยังกายให้กระวนกระวาน ไฟเผาอาหารให้ย่อย…ธาตุลม ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รวมทั้ง ๔ ธาตุที่มาประชุมกันเป็นก้อนสกนธ์กายขึ้นมา เรียกว่าสัตว์ เรียกว่าบุคคล เมื่อมันแตกออกจากกันแล้ว ดินไปสู่ดิน น้ำลงไปสู่น้ำ ไฟไปสู่ไฟ ลมไปสู่ลม เมื่อมันแตกออกจากกันแล้วก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีรูปร่าง มีแต่ดวงรู้ ทีนี้ร่างกายมันแตกเป็น มันแปรปรวนเป็น ร่างกายนี่มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา มันแปรปรวน เปลี่ยแปลง มันไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งใดเป็นทุกข์ ตรงนี้จำเอาไว้ให้ดีว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตน” ถ้ามีแต่ตนของตนล้วนๆ อยู่แล้ว มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น มันไม่มีสุข มันไม่มีทุกข์ มันไม่มีร้อน มันไม่มีหนาว มันไม่มีมืด มันไม่มีสว่าง ถ้าเข้าไปถึงดวงใจจริงๆ นั่นล่ะ มันเป็นอย่างนี้ แต่นี่เรามันหลง หลงมายึดกาย กายนี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสุข พาให้เกิดทุกข์ พาให้ร้อน พาให้หนาว พาให้เย็น พาให้วุ่นวาย พาให้เจ็บนั่นเจ็บนี่ ปวดนั่นปวดนี่ เพราะกายนี่ ถ้ามีแต่จิตล้วนๆ มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ทีนี้จิตเรามายึดกาย ตรงนี้แหละทำให้เกิดทุกข์ เกิดเวทนา เวทนา ก็มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทำให้เกิดราคะตัณหา เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอวิชชาตัณหา เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง โกรธเพราะมันมีกาย ถ้าไม่มีกายมันก็จะไม่มีอะไร
เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติค้นคว้า มาดูกาย แยกแยะถอนจิตออกจากกาย ทำลายกายออกจากจิต แยกเป็นส่วนๆ อย่างอาการ ๓๒ แยกเอาผมมากองไว้ที่หนึ่ง เอาขนมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเล็บมากองไว้ที่หนึ่ง เอาฟันมากองไว้ที่หนึ่ง เอาหนังมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเนื้อมากองไว้ที่หนึ่ง เอากระดูกมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับมากองไว้ที่หนึ่ง เอาไตมากองไว้ที่หนึ่ง เอาม้ามมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเอ็นมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับไตไส้พุงเอาไปแยกเป็นกองๆ ไว้ อาการ ๓๒ นี้ ทั้งน้ำ น้ำดีก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเสลดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเหลืองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำหนองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเลือดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง กองให้มันเรี่ยรายออกไป แล้วเราก็ดูกำหนดไปแต่ละอย่างๆ พอกระจายออกไปแล้วทีนี้ก็เอารวมเข้ามาอีก แล้วก็แยกกระจายออกไปอีก เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ
เมื่อจิตมันทำได้อยู่อย่างนี้ ก็แปลว่า จิตของเราก็เป็นสมาธิอยู่โดยปริยาย พิจารณาอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิอยู่กับการที่เราพิจารณานี้ นี่ท่านเรียกว่า ใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อเราพิจารณาดูกายของเราได้ชัดเจนแล้ว ทีนี้ของภายนอกก็อย่างเดียวกัน สัตว์ก็อย่างเดียวกัน ต้นไม้ก็อย่างเดียวกัน ภูเขาก็อย่างเดียวกัน เพราะมันเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีแปรปรวนในท่ามกลาง และมีแตกสลายในที่สุด มันเป็นอยู่อย่างนั้น ให้ยกขึ้นมาพิจารณาให้จิตมันรู้ ให้มันเห็น ให้จิตมันถอนออก ไม่ให้จิตมันหลง หลงรัก หลงชัง ไม่ให้จิตมันหลงยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ แยกแยะดูกาย วันนี้ก็ดู วันหน้าก็ดู ดูมันอยู่นั่นแหละ จนให้จิตมันถอนออกหรือคลายออก อันนั้นมันจะเป็นไปของมันเอง เมื่อมันรู้แล้วมันจะวางของมันเอง วางตรงไหน รู้ตรงไหน เห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นว่าไม่ใช่ตน เห็นว่ามันเป็นดิน เห็นว่ามันเป็นน้ำ เห็นว่ามันเป็นไฟ เห็นว่ามันเป็นลม เห็นมันเป็นอาการ ๓๒ อยู่เฉยๆ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ดูมันอยู่นั่นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเร็วขึ้น พอเห็นรูปปั๊บ ถ้ามันเห็นเกิดความสวยงามขึ้นมา เราก็กำหนดเข้ามา เข้ามาดูกายของเรา เมื่อดูกายของเรามันเห็นอย่างเดิม ที่เราได้พิจารณาค้นคว้าอยู่แล้ว มันก็จะหายจากความกำหนัดยินดีในรูป
ดูภายนอกและก็ดูภายใน ภายนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ เถาวัลย์ ภายในก็คือ ร่างกายของเรา มันก็อย่างเดียวกัน ถ้ามันแจ้งภายใน มันก็แจ้งภายนอก เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติให้รู้แจ้งโลก โลกนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โลกในก็คือ ร่างกายของเราและจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรายังยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี่อยู่ว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่มันก็ยังเป็นโลกอยู่ มันยังไม่เป็นธรรม ถ้ามันถอนออกมาว่า จิตเป็นจิต กายเป็นกาย มันก็จะถอนออกมาจากโลก มันถึงจะเป็นธรรมตรงนี้ ตรงที่มันถอนออกมา ธรรมคือตัวรู้ ตัวรู้คือดวงใจของเรา พอมันแยกออกมาเป็นตนของตนแล้ว ศีลก็อยู่ที่นี่ อันเดียวกันนี่ที่ดวงใจของเรานี่ ดวงใจคือดวงรู้ของเรานี่ สมาธิก็คือดวงรู้ ปัญญาก็คือดวงรู้ นิโรธะ คือ ความดับทุกข์ มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ศีล-สมาธิ-ปัญญา ก็คืออันเดียวกันอันเดิมนี่ล่ะ สรุปแล้วมารวมอยู่จุดเดียวคือ “ดวงใจ” อะไรๆ อยู่ที่นี่ เกิดขึ้นที่นี่ ดับลงที่นี่ รักก็เกิดที่นี่ ชังก็เกิดที่นี่ โกรธก็เกิดที่นี่ โลภก็เกิดที่นี่ หลงก็อยู่ที่นี่ มันรวมอยู่ที่จิต ถ้าจิตเรารู้เแล้วก็พยายามบำรุงตัวรู้ ตัวสติให้มันเด่นขึ้นมา เมื่อตัวรู้ ตัวสติมันเด่นขึ้นมา ความไม่รู้-ความหลงคืออะไร ความไม่รู้-ความหลงก็คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้นี่แหละมันพาให้เราเกิด มันพาให้เราแก่ มันพาให้เราเจ็บ มันพาให้เราตายอยู่ในโลกนี้…ท่านจึงว่า “อวิชชา ปัจจยาสังขารา” เมื่อมันมีอวิชชาคือความไม่รู้นี่มันพาให้เกิดเป็นสังขาราขึ้นมา ถ้ามันรู้แล้วมันจะมีอะไรพาให้เกิดขึ้นมา เมื่อมันรู้แล้วมันไม่หลงแล้ว ความหลงก็คือความมืด ถ้าความมืดความหลงมันตกไปหมดของเราแล้ว มันก็ไม่กลับมามืดไม่กลับมาหลงอีก มันก็จบแล้วที่นี่จะให้มันเป็นอะไรอีก
กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ รูปเป็นรูป เวทนาก็เป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ จิตก็เป็นจิต ไม่ได้เป็นอะไรมันก็จบ
วาสนาคือการกระทำ มันไม่มีทำให้มันมีได้ มันมีน้อยทำให้มันมีมากได้ ทำไป ทำไป มันก็เต็มของมันเอง เหมือนกับเราทานอาหาร ทานเข้าไป ทานเข้าไป เมื่อมันอิ่มแล้ว มันก็หยุดของมันเอง
ของดีวิเศษที่สุดในโลก ก็คือจิตใจของเรา จิตใจของเราแต่ละรายๆ มันไม่ได้อยู่ที่อื่นนะ ของดีของวิเศษนี่มันอยู่ที่ดวงใจของเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นตัวเองว่า บุญน้อย วาสนาน้อย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่วาสนาของเราที่จะมาปฏิบัติ โยนให้พระอริยเจ้า พระอริยเจ้ามีอยู่ที่ใด พระอริยเจ้าก็แปลว่าประเสริฐ พระอริยเจ้าที่ท่านรู้ ท่านรู้อะไร ท่านก็รู้ทุกข์ แล้วทุกข์มันไม่มีกับเราหรือไง มันก็มี เพราะฉะนั้นทำไมเราจะรู้ไม่ได้ ทีนี้ทุกข์อันใดก็สมุทัยอันนั้น สมุทัยอันใดก็นิโรธอันนั้น มันอยู่ที่เดียวกัน นิโรธก็คือความดับทุกข์ มันเกิดได้ มันก็ดับได้ ทุกข์มันเกิดที่ไหน ทุกข์มันเกิดที่จิต มันก็ต้องดับที่จิต และเราจะไปหาของดีที่ไหน มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เอากันเท่านั้น
ให้เข้าไปหาความสุขที่แท้จริง มันอยู่ในดวงใจของเรา อันนี้เป็นสุขแท้ๆ หาที่เปรียบไม่ได้ คือนั่งก็เป็นสุข เดินก็เป็นสุข ยืนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็เป็นสุข ถ้าใครเข้าไปถึงแล้ว พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าพากันปฏิบัติมันก็จะได้ สุขหนอ สุขหนอ เหมือนกันนั่นล่ะ
เทศนาธรรมโดย หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
(วัดป่าสีห์พนมประชาคม ต.บงใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร)
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.