พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 16 ธ.ค. 2021 7:06 am
#เร่งขวนขวายทางจิต
“ให้พากันตั้งอกตั้งใจ โลกมันก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละ โควิดโคเวิดก็อยู่อย่างนี้ทั่วโลกทั่วสงสาร ความเเก่ความตายก็ก้าวเข้ามาแล้วก็เเก่ไปๆ คิดอ่านใคร่ครวญรีบเร่งขวนขวายทางจิตใจของเรา วันหนึ่งให้ระลึกถึงคุณ เอาคุณเข้ามาใส่หัวใจเราทุกวันๆ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง จิตมันดื้อนะไม่ใช่จะเอาง่ายๆ ถ้ามันถึงฐานแห่งอริยวาส อริยวงศ์ อริยบุคคลแล้ว ไม่ต้องบังคับเลย มันเห็นผลทุกด้านทุกมุมมันฆ่าเองๆ จิตถ้าถึงอริยภูมิแล้วตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ความขยันหมั่นเพียรในชั้นภูมินี้ไม่ต้องบอก อันนี้ปุถุชนท่านๆ เราๆ ต้องได้บังคับต้องฝ่าต้องฝืน สวดมนต์ก็ต้องได้ฝ่าต้องได้ฝืนไม่ว่าท่านว่าเรา ทำกรรมดีก็ต้องได้ฝ่าได้ฝืน ต้องอดต้องทนต้องฝ่าต้องฝืน เนี่ยเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ชั้นนำ นี่นำพากันไปปฏิบัติไปอดไปทนไปต่อสู้กับอำนาจกิเลสตัณหา มันจะพาเราเวียนว่ายตายเกิดร้องห่มร้องไห้กี่กับกี่กัลป์ ถ้ามีกิเลสก็อยู่อย่างนี้ๆ ไม่มีอะไรผิดไปอย่างนี้เลย ปัจจุบันเป็นยังไงอนาคตก็เป็นอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่ากิเลส ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ให้พากันตั้งอกตั้งใจ เอาละแค่นี้พอไม่ต้องพูดมาก...จบ”
โอวาทธรรม
หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร
วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
“#พร” คืออะไร?
#ทำอย่างไรจึงจะได้พร
ความหมายของคำว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ
.
…. “วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่อง “พรปีใหม่” ถ้าพูดตามภาษาพระแท้ๆ พรเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นเอง
.
มีพุทธพจน์ตรัสไว้เลยทีเดียวว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยการอ้อนวอน หรือความปรารถนาเท่านั้นก็หาไม่ ท่านทั้งหลายที่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้จะต้องปฏิบัติสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัย ที่จะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเอง ที่พูดมาข้างต้นนั้นก็คือ การที่เรากำลังจะทำเหตุปัจจัยให้พรเหล่านี้เกิดขึ้น
.
พรคืออะไร เราพูดกันบ่อยๆ ว่า “จตุรพิธพรชัย” คือ พร ๔ ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
.
“อายุ” คืออะไร คำว่า อายุ ก็ยุ่งอีกแล้ว ถ้าจะพูดกันเรื่องถ้อยคำก็จะเสียเวลามาก คำว่า พร ก็เป็นปัญหา คำว่า อายุ ก็เป็นปัญหา ต่อไปจะขออธิบายความหมายของคำว่า พร สักหน่อย
.
คำว่า “พร” นั้น ที่จริงในภาษาพระ แปลว่า ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามคำขอ ขอยกตัวอย่างเช่น ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจสูงสุด ชี้ตายชี้เป็นได้ ปุโรหิตคนหนึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระราชา มีลูกเป็นคนที่พูดไม่ดี ซึ่งต่อไปลูกนั้นจะต้องใกล้ชิดพระราชา และตัวปุโรหิตเองก็แก่จะตายอยู่แล้ว จึงคิดต่อไปเมื่อตนเองสิ้นชีวิตไปแล้ว ถ้าลูกพูดอะไรผิดพลาดไป พระราชาอาจจะสั่งตัดศีรษะ เมื่อคิดอย่างนี้แล้วท่านปุโรหิตก็เลยขอพรจากพระราชาว่า “ลูกของข้าพระองค์นี้เป็นผู้ที่มีวาจาไม่ดี ฉะนั้น ถ้าหากว่าเขาพูดอะไรผิดพลาดไป ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษให้ ไม่เอาโทษ” การขอสิทธิพิเศษอย่างนี้เรียกว่า ขอพร และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้ โดยตรัสว่า “ตกลง เรายอมให้” อย่างนี้เรียกว่า ให้พร
.
เป็นอันว่า พร หมายถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามที่ขอ เขาขอแล้วให้ก็เรียกว่า ให้พร อย่างเช่น พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ ก็หมายความว่าตัวเองต้องการอะไรก็ขอไป แล้วเขาให้ ก็เรียกว่า ให้พร นี้เป็นความหมายเดิมแท้ของมัน
.
คราวนี้มีอีกความหมายหนึ่ง คือ “พร” แปลว่า ประเสริฐ อะไรก็ตามที่เป็นของประเสริฐ เช่น พระรัตนตรัย ก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ปัญญาก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นพรทั้งนั้น พรก็คือสิ่งที่ประเสริฐ พระรัตนตรัยก็เป็นพร ปัญญาก็เป็นพร สติก็เป็นพร สมาธิก็เป็นพร คือเป็นสิ่งที่ดีงามประเสริฐ
.
ที่ว่ามานี้ เป็นความหมายเดิมของท่าน แต่ในเมืองไทย คำว่า “พร” เราใช้ในความหมายว่าอย่างไร คนไทยใช้คำว่าพรในความหมายว่า สิ่งที่เราปรารถนา สิ่งดีงามที่อยากจะได้ ฉะนั้นจึงเป็นความหมายที่เพี้ยนไปแล้ว
ในที่นี้ เราจะมาประยุกต์ความหมายเสียใหม่ว่า พร คือ สิ่งที่เราปรารถนา พร้อมทั้งเป็นสิ่งที่ดีงามประเสริฐด้วย กล่าวคือ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ
.
สิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ ที่เราปรารถนานั้น ก็มีหลายอย่าง แต่ในที่นี้เราจะมองตามถ้อยคำที่คุ้นๆ กันอยู่แล้ว เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้น
.
ทีนี้จะอธิบายความหมายของคำว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ
.
“อายุ” คืออะไร อายุในภาษาไทยมีความหมายที่ค่อนไปในทางลบมากกว่าในทางบวก กล่าวคือในภาษาไทยนั้น ถ้าพูดว่าคนมีอายุมากก็มีความหมายไม่ดี คือแก่จะแย่แล้ว แต่ถ้าอายุน้อยกลับดี แสดงว่ายังเด็ก ยังหนุ่มยังสาว
.
ส่วนในภาษาพระนั้น อายุมากยิ่งดี อายุน้อยไม่ดี อายุน้อยก็คือพลังจวนหมด จะแย่แล้ว ในภาษาพระนั้นอายุคืออะไร อายุคือพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิต ฉะนั้นท่านจึงให้พรอย่างหนึ่งว่าอายุ
.
ถ้าอายุเป็นของไม่ดีแล้ว พระจะมาให้พรว่า ให้คุณมีอายุมาก อย่างนี้ก็แย่ เราก็คงต้องบ่นว่า ทำไมพระจะให้เราแก่เสียล่ะ แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่บอกว่าให้มีอายุนั้น หมายถึง ให้เรามีพลังหล่อเลี้ยงชีวิตมากๆ ใครมีพลังหล่อเลี้ยงชีวิตมาก คนนั้นก็จะมีชีวิตมั่นคงเข้มแข็ง อยู่ได้ยืนยาว
.
“วรรณะ” ก็คือ ผิวพรรณที่ผ่องใส มีสง่าราศี
.
“สุขะ” ก็คือความสุข ความคล่อง ความปราศจากสิ่งบีบคั้นติดขัด คับข้อง
.
“พละ” ก็คือ กำลัง ความเข้มแข็ง มีเรี่ยวแรง รวมทั้งมีสุขภาพดี
.
นอกจาก ๔ ข้อนี้แล้ว ท่านยังมีอีกอย่างหนึ่ง ที่เราไม่ค่อยได้ยิน จึงรวมเป็นพร ๕ ประการ คือมี “โภคะ” เติมเข้าอีกตัวหนึ่ง
.
พร ๔ ประการ เราได้ยินบ่อย คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เรียกว่า จตุรพิธพร
.
แต่พร ๕ ท่านมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งเป็น อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ ได้แก่เติมโภคะ คือทรัพย์สมบัติเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๕ อย่าง ถ้าเรียกตามคำพระก็เป็น เบญจพิธพร
.
ทีนี้ท่านบอกว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่จะได้มาด้วยการอ้อนวอนปรารถนา การที่เราให้พรกัน ก็คือ เรามาแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เรามาตั้งจิตปรารถนาประโยชน์สุขแก่กัน และด้วยพลังจิตที่ปรารถนาดีนี้ ก็จะเกิดคุณธรรมความดีงามขึ้นมาในใจของผู้ให้ ซึ่งมีผลต่อจิตใจของเขา
.
ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายผู้รับก็พลอยมีจิตใจบันเทิง เอิบอิ่มชื่นบาน คือ ซาบซึ้งในน้ำใจเมตตา หรือไมตรีของผู้ให้นั้นเอง อันนี้แหละก็เกิดเป็นความสุข และความมีไมตรีจิตตอบแทนขึ้นในใจของเขา ก็เลยกลายเป็นมีคุณธรรมเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
.
ทีนี้ ถ้าหากว่ามีความเชื่อมั่นจริงๆ และเกิดกำลังใจแรงกล้า ก็จะมีความเป็นไปที่เกิดขึ้นโดยกลไกทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจจิต หรือพลังของจิตนั้นเอง ไม่ใช่ว่าใครมาดลบันดาลให้หรอก ถ้าเราทำถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้องแล้ว ผลดีก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย
.
แต่สำหรับผู้คนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน ก็นึกว่าเป็นอำนาจภายนอกบันดาล ส่วนคนที่ได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าที่จริงเป็นกลไกของจิตนั่นเอง ถ้าเราเชื่อมั่นจริงๆ แล้ว มันก็มีกำลัง มีพลังอำนาจมาก ฉะนั้นเราจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “พรที่สัมฤทธิ์แก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี”
…เหรียญมันมี ๒ ด้านฉันใด
ลาภยศสรรเสริญสุข ที่ไปหากันนี่
“ ก็มี ๒ ด้าน “
มีด้านเจริญ และด้านเสื่อม
.เวลาเจริญลาภยศสรรเสริญสุข
ก็มีความสุขกัน
เวลาเสื่อมลาภยศสรรเสริญสุข
“ ก็กลายเป็น..ความทุกข์กัน “.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ธรรมบนเขา ณ เขาชีโอน
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563
#เรามีเท่าไรก็พอเท่านั้น
" ความไม่พอนั่นแหละชื่อว่าเป็นคนจน ความจนนั่นแหละเป็นเจ้าของโทษ เป็นผู้นำความทุกข์ความร้อนมาให้โดยรอบข้าง ความจนทำความเศร้าใจ ความจนทำความร้อนใจ ความจนทำให้เลือดลมผิวพรรณในร่างกายซูบซีดเศร้าหมองไม่ผ่องใส ความจนทำให้เกิดโรคาอาพาธ ความจนทอนอายุให้สั้น จะพรรณนาโทษแห่งความจนไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษในความเป็นคนจนแล้ว พึงทำตนให้เป็นคนมั่งคนมี เป็นมหาเศรษฐีเสีย การเป็นมหาเศรษฐีก็ไม่ต้องลำบากถือสันตุฏฐี คือทำตนให้เป็นคนพอเท่านั้น คือว่าเรามีเท่าไรก็พอเท่านั้น "
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
สังขารร่างกายนี้เห็นไหมล่ะ ตายแล้วนิมนต์พระไปชักบังสุกุล ว่าชักให้คนตาย แท้ที่จริงน่ะชักให้พวกเราดู
แต่ก่อนเขาก็เป็นเหมือนอย่างเรานี่แหละ ห่วงนั่นห่วงนี่ คานั่นคานี่ มาเดี๋ยวนี้ตายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ไม่คาอะไรซักอย่าง เคยว่าเจ็บว่าปวด ยุงกัดก็ตี ปวดนั่นปวดนี่ ไปสุม (เผา) แล้วไม่ว่าอะไรเลย แข้งขาหูตาจมูกเขาก็มีครบหมด
ดูซีพวกเราทั้งหลาย นี่แหละให้พิจารณากรรมฐาน ให้พิจารณาบังสุกุล ให้พิจารณาธรรมสังเวช ท่านให้พิจารณาตนเสียก่อน
#หลวงปู่ฝั้น #อาจาโร
“ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามใจเรา
มันเป็นไปตามธรรมชาติ
ความตาย ความเจ็บไข้ ความวิบัติเหล่านี้
มันเป็นของธรรมดา ไม่ใช่มีมาให้เรากลัว
ไม่ใช่มีไว้สำหรับให้เรากลัว แต่มีไว้สำหรับ
ให้เราเรียน ให้เราศึกษา ให้เรากล้าเผชิญหน้า
สิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการของเรานั่นแหละ
มันมาเพื่อให้เราเรียน หรือมาเพื่อสอบไล่ความเก่ง
ของเรา”
ท่านพุทธทาสภิกขุ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.