นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 7:41 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ปล่อยทุกข์
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 08 ม.ค. 2022 8:57 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
หลวงปู่:ยังไม่มีเมียใช่ไหม
ผม:ยังครับ
หลวงปู่:อย่าหาความสุขในนั้นนะ หาไม่ได้และไม่มีทางหาเจอ
(พูดพร้อมกับชี้มาที่เป้ากางเกงผม)

ผม:คิดถึงหลวงปู่นะครับ
หลวงปู่: พัฒนาจิตใจได้ อย่าหาความสุข ไม่มีทางหาเจอ

หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
วัดป่าบ้านตาด






"การที่ "จิตรวม" ลงไป บางครั้ง มี 3 ขั้น"

..."สมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หากรวมลง "ขณิกสมาธิ" เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่
ส่วนหากรวมลงไปเป็น "อุปจารสมาธิ" ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีก
ให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละ เป็น "นิวรณ์ตัวร้าย" ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิต ถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์
เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเอง"...

"เมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"

หลวงปู่ขาว อนาลโย








#คาถาหัวใจเศรษฐี
#วิธีทำให้รวยทันตา

โยม :: หลวงปู่ครับ ทำยังไงผมถึงจะรวย
วันนี้ซื้อหวยก็ไม่ถูก หลวงปู่ช่วยโปรดลูก
โปรดหลานบ้างเถอะครับ เผื่องวดหน้าลูก
จะมีโชค..!!

หลวงปู่ :: อยากรวยต้องเอาคาถาไปท่อง
#อุ_อา_กะ_สะ... นี่ คาถาหัวใจเศรษฐี

โยม :: แค่คาถาสั้น​ ๆ จะได้ผลหรือครับผม หลวงปู่..!!

หลวงปู่ :: เอาแบบยาว​ ๆ​ ก็มี
#อุฏฐานสัมปทา_อารักขสัมปทา​
#กัลยาณมิตตตา_สมชีวิตา จำได้ไหม จำ
ไม่ได้หาอะไรมาจด

โยม :: แล้วต้องท่องตอนไหนบ้างครับ
คาถานี้มีข้อห้ามรึเปล่าครับหลวงปู่..!!

หลวงปู่ :: ต้องท่องตลอด และต้องเข้าใจด้วย

#อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ขยันหา

#อารักขสัมปทา แปลว่า รักษาทรัพย์

#กัลยาณมิตตตา แปลว่า คบคนดี

#สมชีวิตา รู้จักใช้เงินใช้ทอง ให้เหมาะสม
กับฐานะตัวเอง ไม่ฟุ่มไม่เฟือย ให้รู้จักพอ

#ส่วนข้อห้าม ห้ามอยากได้ของคนอื่น ห้าม
เอาคนอื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ห้ามเอา
ตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เงินเขาแสนล้าน ก็ไม่สู้เงินเราบาทเดียว เพราะเราไปใช้ของเขาไม่ได้

#ข้อสำคัญ คุณจะจนหรือจะรวย ก็ขึ้นอยู่
กับว่า คุณยังอยากได้อีกเท่าไหร่ถึงจะรวย คุณมีแสนล้าน คุณอยากได้อีกแสนล้าน
คุณก็จนแสนล้าน คุณมีหนึ่งร้อย คุณไม่ขาด คุณไม่อยาก คุณก็รวย

... คุณว่าต้องมีเงินแสนล้านหรือจึงจะเรียก
ว่ารวย หรือต้องมีบ้านหลังสวย รถคันงาม
เงินเต็มธนาคาร จึงจะเรียกว่ารวย ถ้าคุณอยากได้ทุกอย่างแล้ว มันได้ตามคุณปารถนาทุกอย่างไป คุณว่าโลกใบนี้ทั้งใบ จะพอบรรจุสิ่งที่คุณอยากได้หรือเปล่าหล่ะ

... โลกใบนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับคนอยาก แต่มีไว้สำหรับคนพอ ประเทศไทยมีแต่อำเภอพล
(ในจังหวัดขอนแก่น) แต่ไม่มีอำเภอพอ อำเภอพออยู่ไหน ก็อยู่ที่อำเภอใจนั้นไง ทำใจให้เป็นอำเภอพอ

... พอหน่ะ.. !! มันเพียง (คำว่าเพียงในภาษาอีสาน แปลว่าเต็มพอดี​ หรือเสมอขอบปาก)
ไม่พอหน่ะมันล้น ให้พอใจ

... มีข้าวกิน มีดินอยู่ มันก็พอ มันก็รวย จนอยู่
ที่อยาก รวยอยู่ที่พอ ไม่อยากก็ไม่ยาก ไม่ยากก็ไม่จน ยิ่งอดยิ่งอยาก ยิ่งยากก็ยิ่งจน คุณพอใจในทรัพย์ที่มีอยู่ คุณก็รวย คุณพอเดี๋ยวนี้คุณก็รวยเดี๋ยวนี้ คุณพอพรุ่งนี้คุณก็รวยพรุ่งนี้

... พวกเรามาอาศัยโลก อาศัยธรรมชาติ เรา
มาอาศัยเขาอยู่ชั่วครั้ง ชั่วคราว แล้วก็มาตู่ว่าเป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา ลืมจนลืมตาย พอตายก็ต้องคืนเขา คืนให้โลก คืนให้ธรรมชาติ คืนเจ้าของเดิม เจ้าของที่แท้จริง

#ไปดิ้นรนไปขนขวาย_สาวเอาสาวเอา
#ก็ว่าตนมั่งตนมี_ไปอวดมั่งอวดมีกับทรัพย์ของเขา
#มีนี่ก็จะเอานั้น_มีนั้นก็จะเอาโน้น_ไม่รู้จักพอ #ก็เลยมีแต่อยากไม่รู้จักรวย_ให้รู้จักพอ
#พอเมื่อไหร่คุณก็รวยเมื่อนั้น_เข้าใจนะ

#พระเทพมงคลวชิรมุนี
#หลวงปู่หา_สุภโร
วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว)
อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์







...สติคุมอารมณ์..ก็คือ
“ การคุมใจ คุมความคิด “

.ความคิดเป็นผู้สร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา
ถ้ามีสติ เราหยุดความคิดได้
อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดจากความคิด
ก็จะสงบตัวลงไป

.เช่น เวลาเรามีอารมณ์โกรธ
ถ้าเราใช้พุทโธๆ ไปสักระยะหนึ่ง
อารมณ์โกรธนั้นก็จะหายไป
เพราะเราไม่คิดถึง
เรื่องที่ทำให้เราโกรธนั่นเอง

.แต่ถ้าเราไม่มีสติ
แม้เรื่องที่เกิดขึ้น มันเกิดมาตั้งแต่เช้าแล้ว
เรายังโกรธได้ เช่น
คนเขาด่าเราตอนเช้า
ตอนเย็นเรายังคิดถึงเรื่องที่เขาด่าอยู่
เราก็ยังโกรธได้

.แต่ถ้าเรามีสติ
ก็จะหยุดความคิดได้ทันทีทันใด
“ เขาด่าปุ๊บ เราก็พุทโธปุ๊บ “
ความโกรธก็จะหายปั๊บ
ไม่ต้องเก็บมันไว้เป็นเวลานาน

.แต่ถ้าเราไม่มีสติเพื่อคุมใจ เรามักจะ
ชอบคิดถึงคำด่า คำอะไรของเขา
แล้วคิดทีไรก็..ทำให้เราโกรธขึ้นมาทุกที

.ดังนั้น..
“เราต้องพยายามหยุดความคิดให้ได้”.

.........................………………..
.
หนังสือสติธรรม หน้า16-17
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







ขอโอกาสครับ ที่หลวงปู่ว่าพระเณรซุมื้อนี้ตกนรกหลาย
เป็นเพราะหยังครับ ต้องบาปซัมใดครับจังสิตกนรก

"อืม..บวชมากินข้าวเขา ผิดในศีลธรรม บ่รักษาข้อวัตรปฏิบัติ
บ่เดินจงกลมภาวนา บ่ศึกษาพระธรรมวินัย มันกะเป็นบาปท่อนั้นตั่ว ตายไปกะเป็นเปรต บ่ต้องถามเอาเรื่องภายใน
เบิ่งแค่ข้อวัตรกะรู้ ไผปฏิบัติบ่ปฏิบัติ เอางานภายนอก
ให้มันใด งานภายในเฮาบ่บังคับไผเฮ็ดผู้นั้นละได่

บ่ต้องเอาหยังหลาย ให้พากันรักษาข้อวัตรให้มันได่
สอนพระสอนเณรกะเอาข้อวัตรนี้ละ บ่ต้องเอาหยังหลาย
นี้เดะแนวสิดึงศรัทธาญาติโยม วัดสะอาดร่มรื่นไผเขากะอยากมาเดะ ลองปล่อยมันฮกเบิ่งแนตี๊
ไผเขาสิอยากเข้ามา โอ้!!....เฮากะเทศจนปากสิสีกออกจักกันละ ไผบ่ฟังกะซางเขา"

#หลวงปู่ประเวศ_ปัญญาธโร
วัดคลองมะลิ จ.จันทบุรี







อิจฉา ริษยา
อาฆาตพยาบาท
บ่มีวันสิ้นสุดดอก
เมตตาดีกว่า
"เมตตาเขาใจเราเป็นสุข"

หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต







"เม็ดทรายมีนับไม่ถ้วน จึงไม่มีค่า
เพชรมีน้อย และได้มาโดยอยาก จึงมีค่ามาก

ชีวิตมนุษย์เหมือนเพชร ไม่ใช่ทราย
อย่าพึงประมาทเวลาที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้
เหมือนแต่ละวินาทีเป็นแค่เม็ดทราย

ทุกวินาทีของชีวิตมนุษย์ ควรถือว่ามีค่ามากเหมือนเพชร"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ







"หลวงพ่อจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ถ้าเอ็งอยากไปอยู่กับหลวงพ่อ อยู่กับพระพุทธเจ้า ก็ทำลาย"ความรู้สึก"ให้หมดเสีย ใช้สตินั่นแหละ กอปรกับความเพียรไม่ท้อถอย สักวันหนึ่งเอ็งจะ"เห็นความจริง" ก็ไปอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย เท่านั้นเองหรอก"

"ยึดมั่นถือมั่น เหนื่อยเปล่า!"

หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร วัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง ชลบุรี






#ถ้าแผ่เมตตาให้ผู้ใดแล้ว.. ถ้าเขาเปลี่ยนจากอัตภาพจากมัวหมองเป็นผ่องใส.. แสดงว่าเขาได้รับผลบุญที่เราอุทิศให้.. จะปรากฏความรู้ขึ้นมาในจิตของผู้ให้.. จะเกิดความอบอุ่น.. หรือไม่ก็ชุ่มเย็น..

ถ้าเทพเทวดาเขาพากันอนุโมทนาบุญด้วยในตอนนั้น.. เราจะได้ยินเสียงสาธุการสะเทือนเลื่อนลั่นขึ้นมาในจิต.. ดั่งฟ้าร้องลั่นคำรณ..

อย่างหลังนี้.. จิตผู้นั้นจะต้องมีองค์ฌานเป็นเครื่องห่อหุ้มอุ้มจิต.. จิตธรรมดาสามัญทั่วไป.. รับรู้ได้แค่ปีติ.. อุ่นจิตชื่นใจเท่านั้น..!!

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
หนังสือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์แห่งยุค ตอนที่ 59 โปรดวิญญาณทหารฝรั่ง







ที่เราคิดว่าเป็นของเรา มันเป็นของเราจริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านให้คิดนะ

หลวงปู่คำพอง (น้อย) ปัญญาวุโธ






ตัณหา มันเป็นก้อนใครก้อนมัน มีเจตนาพร้อม จึงว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐสุด ถึงแล้วด้วยใจ จะทำคุณงามความดีทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จแล้วด้วยใจ จะทำบาปก็สำเร็จด้วยใจ ผู้ที่มีใจโทษประทุษร้ายอยู่แล้ว มีโลภะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่แล้ว มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ใจอันถูกประทุษร้ายอยู่แล้ว ภาสติ วา กโรติ วา จะพูดก็ดี พูดก็มีคำหยาบช้า มีคำเศร้าหมอง มีบาป ความเดือดร้อน พูดดีก็เป็นทุกข์ จะทำดี โทษก็ข่มคออยู่นั่น มีแต่ตกต่ำอยู่นั่น ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ ทุกข์ติดตามไปอยู่ จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ คนผู้โทษประทุษร้ายเอาแล้ว ใจไม่ดีแล้ว เพราะใจเอาอารมณ์ทั้งหลาย คืออารมณ์ที่ชอบใจ มาหมกเข้าที่ใจ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ก็เอามาหมักหมมไว้ที่ใจ ให้มันเผาใจ กลัดกลุ้มอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ยืนก็ไม่เป็นสุข เดินก็ไม่เป็นสุข นั่งก็ไม่สุข นอนก็ไม่สุข อันนี้แหละใจไม่ดี มีโทษประทุษร้ายอยู่แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะ ความหลงอยู่แล้ว มันจะให้ความสุขอย่างใดล่ะ เหมือนกันกับโคอันเข็นภาระอันหนักไปอยู่ ทุกข์ตามไปอยู่ ล้อตามมันไปอยู่ แอกถูคอมันไปอยู่ ข่มคอมันไปอยู่จนบาดเจ็บ คอโปน เอามันไปอยู่อย่างนั้น เลยไม่ต้องมีความสุขแล้ว
เราเอามาอบรมเดี๋ยวนี้ คือให้ออกจากเครื่องกังวล เครื่องปรุง เครื่องแต่งทั้งหลาย คือฆราวาสมันประกอบด้วยเครื่องกังวล ออกจากอารมณ์ ออกจากความแต่งความปรุงทั้งหลายทั้งปวง ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อมาวัดในวันพระ มีสี่หนในเดือนหนึ่ง ออกเพื่อเนกขัมมะ ความออก ออกจากสิ่งทั้งปวง ออกจากเครื่องกังวลทั้งหลาย เนกขัมมะต้องออกจากบาป จากความชั่วทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี เมื่อออกมาแล้ว ออกจากของดำของมืด ออกมาที่วิเวกแล้ว มันจึงสงบสงัด มันจึงได้ความวิเวกของใจ สงบใจสบายใจ วันหนึ่ง คืนหนึ่ง อันนี้ชื่อว่าพักแรมของใจ ชั่วครั้งชั่วคราว
อานิสงส์การรักษาอุโบสถท่านพรรณนาไว้ไม่มีที่สิ้นสุด ได้ชื่อว่าออกจากกองไฟ ไฟอะไรล่ะจะมาร้อนกว่าไฟธรรมดา ก็มีกามนั่นแหละ เป็นต้นเหตุ อันนี้ออกมาจากกาม พวกเราออกมาทำความสงบจิตใจชั่วครั้งชั่วคราว ได้ออกมาจากเครื่องกังวล คือได้ กายวิเวก กายไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนหยังด้วยกายวิเวก
เมื่อมันได้กายวิเวกแล้ว มันจะเป็นเหตุให้ จิตวิเวก จิตสงบสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย สงัดจากกามฉันทะ จากพยาบาท จากถีนะมิทธะ จากอุทัจจะกุกุจจะ ฯ สงัดจากวิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล ไม่เชื่อใจ ไม่ตกลงใจ นี่ เมื่อได้กายวิเวก ก็เป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก
เมื่อได้จิตวิเวกแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิด อุปธิวิเวก อุปธิวิเวกก็คือ ความที่มีจิตแน่วแน่ลงไปถึงอัปปนาสมาธิ อัปนาฌาน แน่นแฟ้น
เมื่ออุปธิวิเวกเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดความรู้ขึ้น คือ ญาณทัสสนะ ญานัง ความรู้ ทัสสนะ ความเห็น ญาณทัสสนะ ความรุ้เห็นตามความเป็นจริงของอัตภาพร่างกาย สังขารเป็นอย่างไร เมื่อได้อุปธิวิเวกแล้ว มันจะเห็นสังขารร่างกายของตนเป็นของแตกของพังของทำลาย แล้วร่างกายของตนนี่เป็นภัย เป็นอสรพิษ เบียดเบียนตนทุกค่ำเช้า ทุกวันทุกคืนทุกปีทุกเดือน เป็นภัยใหญ่ แล้วร่างกายนี้มันเป็นโทษ อันนี้แหละเรียกว่า นำความเห็น ทัสสนัง ครั้นรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนี้แล้ว เราเข้าใจว่าแม่นของเรา แต่มันเป็นอื่น มันไม่ไว้ท่าเราสักหน่อย ไม่อยากให้มันแก่ มันเจ็บ มันก็ไม่ฟัง ถ้าเป็นของเรา มันต้องฟังเรา อันนี้มันบ่ฟัง จึงว่ามันเป็นอนัตตา แล้วเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง
เราก็เอามันมากำหนดอย่างนี้แหละ กำหนดพิจารณาร่างกายของตนให้มันเห็นตามความเป็นจริงไว้ ยถาภูตํ ญาณทัสฺสนํ นั่นแหละ เห็นว่าร่างกายเป็นของแปรปรวน เป็นของแตกดับ เป็นของสลายไป ชื่อว่าเห็นภัย เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าว่า มันจะมีความเบื่อหน่าย ความกลัว เห็นมันเป็นอสรพิษ เป็นงูจงอางมาขบกัดอยู่ทุกวันทุกคืน มีแต่เจ็บแต่ปวด บ่มีความสบาย มันเจ็บมันปวดอยู่ ชื่อว่ามันเป็นทุกข์
ผู้มาพิจารณาเห็นร่างกายเป็นอย่างนี้แล้ว สพฺเพสงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปัญฺญาย ปัสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ผู้มาพิจารณาเห็นร่างกายอย่างนี้ เห็นอัตตภาพของตนเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเบื่อหน่ายร่างกายอันนี้ ย่อมเป็นผู้หมดจด เป็นญาณความรู้อันหมดจดบริสุทธิ์ของผู้นั้น
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปัญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เมื่อเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์ ย่อมเบื่อหน่าย อันนี้เป็นความเห็นอันบริสุทธิ์ของผู้นั้น
สพฺเพธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปัญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นอัตภาพธรรมทั้งหลาย คือสกนธ์กายขวองเราทุกรูปทุกนามมันเป็นอื่นแล้ว ไม่เป็นเราแล้ว ย่อมมีความเบื่อหน่ายในธรรมอันนี้ ก้อนธรรมอันนี้ สกนธ์กายอันนี้ เบื่อหน่ายในสังขารธรรม คือความปรุงความแต่งอันนี้ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์แน่ นี่แหละมันจึงวางภาระ
ขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระอันหนักที่ทับคอเราอยู่ คำว่าขันธ์ ๆ เป็นของรวบรวมสิ่งทั้งปวงเข้า เหมือนขันข้าว ขันหมาก ขันอันหยังก็ตาม เอาของมาทับใส่มันหละ อันหยังก็เก็บกวาดใส่เต็มขันนั่นแหละ มันก็หนักนั่นแหละ เป็นทุกข์อันหนักหละ ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เน้อ ภารหาโร จ ปุคฺคโล ชีวิตคือขันธ์ ๕ นำไปเป็นทุกข์ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ผู้ยึดถือขันธ์ ๕ แล้ว ไม่พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ไม่เข้าใจว่าตัวตนแล้ว ก็เป็นทุกข์อยู่ในโลกนั่นแหละ ภารา นิกฺเขปนํ สุขํ ผู้ปล่อยวางขันธ์ ๕ นี่แล้ว ไม่ยึดไม่ถือว่าเป็นตัวเป็นตนแล้ว ผู้นี้แหละเรียกว่าเป็นผู้วางภาระอันหนัก
นิกฺขิ ปิตฺวา ครุงฺภารํ อนยํ ภารํ อนาทิย ผู้ปล่อยวางแล้ว ไม่ยึดเอาอื่นอีก ขันธ์ห้านี่ไม่ยึดเอาเป็นตัวเป็นตนแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขุดเสีย ขุดขึ้นเสียคือ ตัณหา ขุดขึ้นทั้งราก
นิจฺฉาโตปรินิพฺพุโต จัดว่าเป็นผู้เที่ยงแล้ว เที่ยงพระนิพพานแล้ว ใกล้พระนิพพานแล้ว เขาถึงปากทางพระนิพพานแล้ว ครั้นเข้าไปหมดตนหมดตัวแล้ว ความรู้รวมแล้ว มันก็รู้ตัณหาว่าความดิ้นรนมันเผาอยู่ตลอดวันตลอดคืน เรียกว่าความดิ้นรน ตัณหาว่าความใคร่ ความใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มันเป็นตัณหา ครั้นดิ้นรนอยากได้แล้ว ก็อยากเป็น ทีนี้มันเป็นตัณหาขึ้น อยากเป็นคืออยากเป็นอินทร์ พรหม เป็นจักรพรรดิ์ เป็นเศรษฐี คหบดี อยากเป็นเพราะตัณหา มีตัณหา ๓ ความใคร่เรียกว่ากามตัณหา ความดิ้นรนอยากได้เป็นภวตัณหา วิภวตัณหาคือความไม่อยากเป็นไม่อยากมี เหมือนผมหงอก ฟันหัก ร่างกายหดเหี่ยว ตามืดตามัว ความแก่ ไม่อยากเป็น อารมณ์ที่ไม่ชอบก็ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากเป็น นี่เรียกว่าวิภวตัณหา มีความขัดเคือง ตัณหานี่เป็นเหตุให้จิตใจเกิดทุกข์
เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นทุกข์เสียก่อน อันใดเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายหมดทั้งก้อนนี้เป็นทุกข์ ทุกข์มาจากความเกิด ครั้นเกิดมาเป็นก้อน เป็นสกนธ์กายแล้ว ก็เป็นกองทุกข์ เป็นกองไฟ นี่แหละให้พิจารณาให้มันเห็นทุกข์
ทุกข์ พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ ให้เห็นตามความเป็นจริงของสภาวะ ชาติ ความเกิดก็เรียกว่า ตัวธรรมดา ให้รู้เท่าตัวธรรมดาเสีย ตัวธรรมดา มันเกิดอยู่ธรรมดานั่นแหละ มันมีเกิดอยู่เป็นธรรมดาในโลก มันมีอยู่อย่างนี้แหละ ให้รู้เท่าธรรมดาเสีย ธรรมดา มันเป็นที่เรานึก อยู่ดี ๆ ละ นึกจะทุกข์ มันก็ทุกข์ ทุกข์มันมาจากไหน ต้องสาวหาเหตุ ทุกข์มันมาจากเหตุ ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ เหตุคือความอยาก ความดิ้นรน ความใคร่ ความชอบใจ แล้วความอยากเป็นอยากมี ความไม่อยากเป็นไม่อยากมี มันมาจากนี้ ครั้นรู้ว่ามันมาจากนี่ แม้นทุกข์จะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะความอยากเป็นอยากมี อยากเป็นภพ เป็นชาติอยู่ มันมาจากนี้ แต่ว่าให้ปล่อยวางเสีย ตัณหานี่ปล่อยวางเสีย สำรอกขึ้นเสีย ปลงเสีย อย่าอาลัยในความอยากเป็นอยากมี ความใคร่ ความชอบใจในอารมณ์ก็ดี ความไม่ชอบใจไม่พอใจก็ดี ให้ปล่อยให้วางเสีย ทำเสียจนปล่อยทุกข์ได้ทั้ง ๕ แล้ว เป็นเค้าเป็นมูล ปล่อยวางตัณหาความอยาก ความทะเยอทะยานนี้ได้แล้ว ได้ชื่อว่าปล่อยตัณหาเสียก็ได้
ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย

มุตฺติ ว่า หลุดพ้นจากตัณหา อเสสวิราคนิโรโธ ไม่ได้มีความอาลัยอาวรณ์ ความยินดี ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ไม่มีเศษ ไม่มีอะไรมาติดอยู่ในใจ ใจผุดผ่อง ใจเบิกบาน ใจผ่องใส ใจนั่นแหละเรียกว่าพุทโธ ตื่นแล้ว ตื่นแล้วจากตัณหา รู้แล้ว พุทโธ พุทธะ ว่ารู้ รู้หน้าตาของตัณหาแล้ว

หลวงปู่ขาว อนาลโย


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO