ผม:หลวงปู่ครับ ผมฝันเห็นหลวงปู่ครับ ในฝันหลวงปู่บอกว่า “เพราะมีโอกาสจึงทำอย่างนั้นต่อไปได้” แปลว่าอะไรหรอครับ
หลวงปู่:อันนี้ไม่เข้าใจโยมพูดอะไร ผม:หลวงปู่บอกว่าเพราะมีโอกาสจึงทำอย่างนั้นต่อไปได้ครับ
หลวงปู่:โยมจะทำอะไรต่อไป…ในฝันเป็นยังไง ผม:หลวงปู่มาบอกว่าใครมีกระดาษรีบเอามาจด หลวงปู่จะเทศน์ให้ฟังครับ ผมเลยรีบเอากระดาษมาจดครับ
หลวงปู่:แล้วโยมเป็นยังไง สนใจฟังมั้ย ผม:สนใจครับ
หลวงปู่:ใช่ เพราะเกี่ยวกับความจริงโยม ศาสนาเรื่องความจริง ดีมากเหลือเกิน ถ้าปฏิบัติในทางศาสนา ไม่มีทาง ต้องสัมผัส แต่ก่อนไม่เคยสัมผัสความดีความงาม แต่ระวังมากนะเข้าใจมั้ยโยม
หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด #หลวงปู่เชอรี่
...จะนั่งสมาธิหรือจะเดิน ก็ต้อง "เจริญสติ" เป็นพื้นฐานก่อน . ...ลำดับแรกของการปฏิบัติธรรม ก็คือ..การเจริญสติ . ...ถ้าไม่มีสตินี้ จะไม่สามารถ ควบคุมใจให้สงบ หรือไม่สามารถ ควบคุมใจให้คิด ไปในทางที่ "เกิดแสงสว่างแห่งธรรม"ขึ้นมาได้ . ...การเจริญสติ จึงเป็นธรรมที่ "สำคัญที่สุด" ในบรรดาธรรมทั้งหลาย "ธรรมปฏิบัตินี้ ต้องเริ่มที่ สติ" ........................................ . คัดลอกการแสดงธรรม ธรรมะบนเขา 15/7/2560 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะบังคับให้เราเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ถ้าเรามีคุณธรรมเป็นที่พึ่งภายในจิตใจ
ในปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการฝึกตน ฝึกอย่างไร ฝึกในการให้ ฝึกในการควบคุม ในการอบรมการแสดงออกทางกายวาจา ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม และที่สำคัญฝึกทางด้านจิตใจในทางภาวนา ฝึกให้มีสติเป็นที่พึ่ง ฝึกให้ได้สัมผัสความสงบ ฝึกให้มีความตั้งมั่นในจิตใจพอจะเป็นฐานของการใช้ปัญญาแก้ปัญหาทั้งหลาย ไม่ไหลไปไม่ลอยไปตามอารมณ์ ก็ขอให้ทุกคนมีแต่ความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมตลอดกาลนาน
พระอาจารย์ชยสาโร
“จะสุข ก็เพราะใจปรุงให้สุข จะทุกข์ ก็เพราะใจปรุงให้ทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุด คือ การปรุงของใจคนนั้นแหละ มิใช่การกระทำของคนอื่น คนอื่นจะทำอย่างไร เราระวัง การปรุงของใจเราเองให้ถูกต้อง แล้วความทุกข์ของเราจะไม่เกิด เพราะการกระทำของเขาเลย”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
" ก้อนที่เรานั่งอยู่นี่ หรือ เดินไปมา ก็คือก้อนของ พ่อแม่นั่นเอง เป็นมรดก ตกทอดมา ถ้าระลึกถึง บิดามารดา ก็มาสร้างตัว ของเรานี่ ให้มีศีลมีธรรม
การทดแทนบุญคุณพ่อ คุณแม่ ก็คือมาสร้างตัว ของเรานี่เอง "
โอวาทธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท
เวลาเขาเว้าเขาว่า เฮาสามารถปล่อยวางความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจได้น้อยหลายปานได๋
ถ้าเฮาสามารถมีสติ มีสมาธิควบคุมจิตใจ เวลาเขาเว้าเขาว่า ภาวะได๋มันเกิดขึ้น เฮาสามารถเข้าใจแล้วกะปล่อยวางกับภาวะเหล่านั้นได้
นั่นแสดงว่าเฮาได้ปฏิบัติธรรม นั่นคือผลของการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง.
#พระอาจารย์จรัญ #อนังคโณ
มันไม่เห็นทุกข์ มันไม่เจอทุกข์ มันก็เลยไม่คิดอยากจะหนีจากทุกข์
สุขที่มันปรากฏอยู่ในโลกนี้ มันหลอก หลอกให้เกิด ให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย อยู่ในโลกไม่มีที่จบที่สิ้น
#หลวงปู่บุญมา #คัมภีรธัมโม
ผู้ใดรักษาศีลมิขาดตกบกพร่อง ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมถะและวิปัสสนาตามสมควร ได้ปัญญาตามวาสนา
โอกาสที่จะพ้นจากการท่องเที่ยวไปในภพน้อย ภพใหญ่ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เป็นวัฏจักร ก็พอจะมองเห็นทางมรรคผลนิพพานอยู่ไม่ไกล
#จงรีบทำความเพียรเสีย
เพื่อมรรคผลนิพพานนั้น แล้วจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หลวงปู่แหวน #สุจิณโณ
มีแต่เกิดกับดับเท่านั้นแล้ว
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ---------------------------------------- “คนทางโลกน่ะ เขาถูกสมมุติมันครอบงำจนยากจะดิ้นหลุด ปุถุชนนั้นก็ติดสมมุติแบบโลกๆ ติดความสนุกสนาน เพลิดเพลินบันเทิงใจ ติดความสวยงาม ความน่าดูชมต่างๆ ในทางกลับกัน ก็ไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งตรงกันข้าม ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ (มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ สรรเสริญ นินทา) สารพัดจะถูกสมมุติมันครอบงำอำพราง นั้นเป็นเพราะเขาไม่รู้จักพิจารณาว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของสมมุติและหลอกลวง หากเราพิจารณาให้ดี ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ที่รวมเรียกว่าอายตนะ ๖ เรามีสติรับรู้การกระทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับอายตนะทั้ง ๖ แล้วดับไปอยู่ทุกขณะ สุดท้ายเราจะเห็นความจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วแต่สมมุติ ทำไมจึงว่าสมมุติ? ก็เพราะว่ามันไม่เที่ยงแท้คงทน จะตั้งอยู่อย่างนั้นชั่วกัลป์ปาวสานก็หาไม่ จะช้าหรือเร็วก็ต้องดับเหมือนกันหมด นั้นแหละคือธรรมชาติที่แท้จริง หรือจะเรียกว่า “พระสัทธรรม” ก็ได้”
ครั้นผมถามท่านว่า “ถ้าพิจารณาแบบนั้นอยู่ทุกขณะไป บางคนอาจจะว่า ทานและศีลก็ไม่ต้องทำก็ได้ หรือสมถะสมาธิก็ไม่ต้องทำใช่ไหมครับ”
ท่านตอบว่า “ผิด เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นของเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลมกลืนกันเหมือนเชือกเกลียว สำหรับทานและศีล เราต้องทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นทางดำเนิน แต่ก็อย่าไปยึดว่าเป็นของกูตัวกู คือ ทำทานก็เพื่อสละออกซึ่งความตระหนี่ถี่เหนียวความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเรา รักษาศีลก็เพื่อไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ผลที่ได้ก็คือความเป็นอิสระต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น ก็คือสละละทิ้งตัวตนของตนอีกนั่นแหละ(เพราะเมื่อไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ก็ไม่เป็นเกิดกรรมชั่วใดๆกับใคร เมื่อไม่เกิดกรรมชั่วใดๆ ก็ไม่ต้องชดใช้ สุดท้ายความเป็นอิสระก็เป็นอันหวังได้) ส่วนข้อสุดท้ายที่ว่า สมาธิภาวนา หากเราพร้อมเมื่อไร จะนั่งก็นั่งไป ทำจิตให้มันนิ่งมันสงบถึงที่สุดก็ดี แต่หากทำไม่ได้สักทีก็ไม่ต้องห่วง เพราะหากเรามีสติระลึกรู้จริงๆกับการกระทบต่างๆที่เกิดดับอยู่ตลอด มันจะเป็นทั้งสติและสมาธิกลมกลืนกันในตัว ไม่ช้าก็เร็วเราจะเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง ดังที่พุทธองค์ท่านตรัสว่า “มีดวงตาเห็นธรรม” นั้นเอง”
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า "ความเป็นจริงของมนุษย์เรานี้ มันก็มีเพียงกายและใจ หรือที่เรียกว่า รูปและนาม กายนั้นเป็นของหยาบที่เราเห็นได้ตลอดว่ามีการเคลื่อนไหว มีกิน ถ่าย หลับ ตื่น ยืน เดิน นั่ง นอน ทำการงานต่างๆเหมือนกันทั้งโลก ทุกชาติทุกภาษา ส่วนใจของมนุษย์เราก็ยังเหมือนกันอีกตรงที่มีความรู้สึกคิดนึกปรุงแต่งไปสารพัด ปรุงไปทั้งทางดีและไม่ดีและเฉยๆก็ด้วย นี่ว่ากันเฉพาะมนุษย์เรา
คราวนี้ถ้ามองไปที่สัตว์ที่มีวิญญาณครองก็คือกัน คือสัตว์ก็มีกายและใจ มีความรู้สึกคิดนึกปรุงแต่ง มีความโกรธ ความหลง ความกลัวไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เรา ท่านจึงว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีสภาวะที่เหมือนกันโดยธรรม
แล้วถ้ามองไปที่สิ่งที่ไม่มีวิญญาณครองล่ะ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ในโลกนี้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ตลอดถึงกาล เวลาจนถึงเครื่องหมายสมมุติของมัน เช่น กลางวัน กลางคืน ข้างขึ้น ข้างแรม เหล่านี้เหมือนกันกับเราโดยธรรมไหม ก็เหมือนกันอีก ถามว่าเหมือนกันตรงไหน? ก็เหมือนกันตรงที่มันเกิดขึ้น ตั้ง แล้วแตกดับไปเหมือนกัน จึงว่า ความที่อะไรๆในสากลจักรวาลมันสุดท้ายต้องอวสานหมดเหมือนหนังที่ต้องปิดโรง มันจึงเป็นสิ่งสมมุติโดยเนื้อแท้ ดังนั้น จะคำว่า โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านก็สมมุติคำเรียกให้พวกเราเรียกท่านผู้ทรงมรรคทรงผลเบาบางกันไปตามลำดับ ถามว่าเขาวัดกันตรงไหนที่ว่าเบาบางลงไปตามลำดับ เขาก็วัดกันที่ “ความจริงในสิ่งสมมุติ” ที่ท่านมองเห็นและยอมรับด้วยใจ ก็หากเราเห็นความจริงเหล่านี้ได้มากเท่าใด เราก็ละทิ้งได้มากเท่านั้น ครั้นพอเห็นและยอมรับด้วยใจ ในความจริงเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละทิ้งได้ทั้งหมด เพราะไม่เห็นว่ามีอะไรน่าเอาน่าเป็น เมื่อนั้นก็จะถึงความจริงแท้ที่เรียกว่า “ความจริงโดยปรมัตถ์”ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีคำบรรยาย เพราะไม่มีอะไรอยู่ในนั้น คืออสังขตธรรม คือธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งใดๆ
อย่างไรก็ดี มนุษย์เราทุกวันนี้ไม่ได้มองที่ความจริงเหล่านี้ แต่พากันไปมองที่ “ศัพท์บัญญัติ” อันเป็นภาษาที่ถูกสมมุติขึ้นมาใช้งาน จึงสับสนและวุ่นวายและมีเรื่องให้ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อนอย่างที่เห็นได้ทั่วไป ถ้าคนที่เขาเห็นความจริงด้วยปัญญาและด้วยใจของตนแล้ว เขาจะไม่โต้เถียงกับใคร ก็ไม่รู้จะเถียงไปทำไม ก็ทั้งผู้พูดและผู้ฟังมันไม่จริงด้วยกันทั้งคู่ เพราะทั้งกาย วาจา และใจทั้งสองฝ่ายก็เป็นของสมมุติ สมมุติกับสมมุติคุยกัน เกิดแล้วก็มาดับเหมือนกัน เลยหมดความหมาย จบ”
หลวงพ่อประสิทธิ์
|