การให้เป็นการสมานน้ำใจต่อกันและกัน ฝากเป็นฝากตายต่อกันได้คือการให้ การเสียสละสำคัญมากที่สุด พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้ามานี้ทานบารมีขึ้นต้นเลย ไม่ว่าพระองค์ใด ไม่มีเว้น ทานบารมีนี้ขึ้นต้น ๆ ทุกอย่างทานหมดตลอด ทีนี้เวลาเป็นพระพุทธเจ้าที่ไหนไหลเข้ามาทุกทิศทุกทาง สมบัติไทยทาน เทวบุตรเทวดามาได้ทั้งนั้น เพราะอำนาจแห่งทานของท่าน
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ ศาลาสวนแสงธรรม
วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
"ขอให้ท่านทั้งหลายสำเร็จตามที่ท่านปรารถนาทุกประการตามที่ท่านสาธุไว้ สาธุแปลว่าดีแล้ว สำเร็จแล้ว...
การที่ท่านได้มาร่วมกันทำบุญนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธรรมะมีอุปการะมาก 2 อย่างคือ สติ ความระลึกได้ และสัมปะชัญญะ ความรู้ตัว
ธรรมะครั้งสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ทรงได้แสดงไว้คือ อัปปมาโณ ความไม่ประมาท หรือความไม่มัวเมา ซึ่งก็คือความไม่ขาดสติ สัมปะชัญญะ.."
พระโอวาทธรรม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑
เวลา ๑๐.๓๐ น.
ในพิธีเททองหล่อรูปเหมือนบูรพาจารย์ ๕ องค์
ณ สวนแสงธรรม พุทธมณฑล สาย ๓
‘ปฏิบัติธรรม’ หมายถึงอะไร?
คำว่า 'ธรรม' หรือ 'ธรรมะ' มีความหมายหลายนัยเหมือนกัน ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือ ธรรมที่เราได้เรียนมาได้ศึกษามาแล้ว ก็เป็นแค่ความทรงจำ พอเราได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนแล้ว ต้องนำไปปฏิบัติ พอเป็นการนำไปปฏิบัติ คำสั่งสอนในทางการพัฒนาชีวิตของพระพุทธเจ้า นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
แต่ธรรมก็ยังมีความหมายที่เรียกได้ว่ากว้างที่สุด คือคำว่า 'ธรรม' แปลว่า 'สิ่ง' ธรรมทั้งหลายคือสิ่งทั้งหลาย ถ้ามองในแง่นี้ การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ในทางที่ดีที่สุดหรือทางที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเราต้องมีความเพียร ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีหรือว่าอกุศลธรรม เข้ามาในจิตใจเราได้ จะต้องวางกาย วางวาจา วางใจอย่างไร เพื่อจะป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น แต่ในเมื่อเราพลาดไป มันก็โกรธเสียแล้ว เครียดเสียแล้ว กังวลเสียแล้ว แล้วการปฏิบัติธรรมตรงนี้ก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะได้ปล่อยวางสิ่งเหล่านี้
นอกจากนั้นแล้วการปฏิบัติต่อสิ่งที่ดี ที่เรียกว่ากุศลธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะน้อมนำสิ่งที่ดี เข้ามาสู่จิตใจของเราในชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นกุศลธรรมเริ่มปรากฏ เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราจึงจะได้เจริญงอกงาม
นี่ก็คือชีวิตแห่งความเพียร ที่เรียกว่า 'สัมมาวายามะ' ความเพียรชอบ ในอริยมรรคมีองค์แปดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเวลาเรานั่งสมาธิภาวนา หรือปฏิบัติในรูปแบบ ก็เป็นเรื่องของความเพียร ๔ อย่างเหมือนกัน เช่น เราอยู่กับลมหายใจอย่างไร นิวรณ์หรือกิเลสจะไม่เกิด ถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรโพชฌงค์ สิ่งดีงามจะเกิดขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไรมันจึงจะเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการทำความเพียรนั่นเอง
พระอาจารย์ชยสาโร
…ธรรมนี่แหละ ที่จะปกป้อง
คุ้มครองรักษาดูแลจิตใจของพวกเรา
ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ปราศจากความทุกข์ต่างๆ
.ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
เวลาใด สภาพใดก็ตาม
จะมีร่างกายหรือไม่มีร่างกายก็ตาม
” ถ้าจิตใจมีธรรมคุ้มครองรักษา
จิตใจจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข
จะไม่มีความทุกข์อยู่ในใจเลย “
.นี่คือประโยชน์ของธรรมะ
ที่พระพุทธเจ้า..
ทรงสอนให้พวกเรามาศึกษา.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๒
" การทำบุญสุนทาน
แม้จะทำมากๆ สักเท่าไร
ก็ตาม แต่ถ้าผู้ทำไม่มุ่ง
ที่จะกำจัดกิเลส โลภะ
โทสะ โมหะ เป็นแต่เพียง
มุ่งที่จะทำทานให้ได้มากๆ
ก็ยังไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้ถึงพระนิพพาน
การจะถึงพระนิพพาน
ต้องปฏิบัติตามหลักของ
"ศีล สมาธิ ปัญญา"
จนสามารถที่จะทำ
ศีล สมาธิ ปัญญาให้
สำเร็จ ประชุมลงเป็น
องค์อริยมรรค ซึ่งมี
คุณภาพ ประสิทธิภาพ
ที่จะปฏิวัติจิต
ไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรม
ลำพังแต่เพียงการ
ให้ทานด้วยอามิส
อย่างเดียว ไม่สำเร็จ
พระนิพพานได้
ถ้าขาดการ "ภาวนา" "
โอวาทธรรม
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องหาทางไม่กลับมาเกิด เจริญพร
พระอาจารย์คม อภิวโร
สิ้นสุดความว่างของจิต
#หลวงตามหาบัว
นี่ก็เกิดความอัศจรรย์ตัวเองเหมือนกันเมื่อถึงขั้นมันว่าง มันว่าง มันผ่องใส มันเบา มันอัศจรรย์อยู่ในนั้นหมด ว่างไปหมดเลยถึงขั้นมันว่าง มันเป็นเองในจิตนะไม่ต้องถามใคร หากรู้ในจิตเอง พอถึงขั้นว่างเราจะพิจารณารูปนามอะไรไม่ได้ มันว่างไปหมดๆ ว่างเข้ามาๆ เข้ามาว่างภายใน นี่เราพูดอย่างย่นย่อนะ เวลามันชมความว่างก็ว่างไป เดินไปเหมือนว่าเรามองนั้นมองนี้ไปเรื่อยๆ เข้าถึงขั้นมันว่างพิจารณาอะไรก็ไม่ได้ แย็บเหมือนฟ้าแลบดูอะไรเป็นอย่างนั้นละแพล็บๆ ดับ พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ไม่ทัน มันเร็ว แว็บเท่านั้นหมด เข้าสู่ความว่างๆ เรื่อยเข้าไป
ว่างเข้ามาพอๆ แล้วก็ว่างเข้ามาๆ ว่างภายใน ทีแรกว่างภายนอกเสียก่อน ภายในนี้ยังไม่รู้ตัวว่าว่างหรือไม่ว่าง เหมือนเราเข้าไปอยู่ในกลางห้อง เราไปยืนอยู่ในกลางห้อง ห้องนี้ว่างๆๆ ทีนี้มีผู้มาบอกว่าเราอยู่ในที่ว่าง ตัวเราไปยืนขวางอยู่ในความว่างในห้อง ห้องนี้ว่างแต่มันไม่ว่างเพราะเราไปยืนขวางห้องอยู่ พอมารู้ตัวเองถอนตัวออกมาจากความว่างนั้น ทีนี้มันก็ว่างไปหมด นี่จิต อะไรๆ ก็ว่างแต่ตัวยังไม่ว่าง พอย้อนเข้ามาถึงจิตแล้วจิตก็ว่าง วาง วางหมด นั่นละสิ้นสุด มาอยู่ที่จิตว่าง ตัวจิตเองมองดูอะไรๆ มันก็ว่างหมด แต่ตัวเองยังไม่ว่าง
พอเข้ามาภายในมันก็มารอบตัวเอง ตัวเองก็ว่าง ทีนี้พอข้างในว่างข้างนอกว่างวางหมด นั่นละท่านเรียกว่าสิ้นสุด สิ้นสุดในความว่างของจิต วางจิต ว่างอะไรก็ว่างไป ค่อยปล่อยไปแต่ตัวจิตยังไม่ว่าง ตัวเองก็ยังไม่ปล่อย เวลารอบเข้ามาๆ ก็มาติดตัวเอง ว่างภายนอกแต่ยังไม่ว่างตัวเอง พิจารณาเข้ามาถึงขั้นจิตที่มันว่างแล้ว เรียกว่าว่างภายในจิต ทีนี้ก็วางหมด ว่าง ทั้งว่างทั้งวางหมดโดยสิ้นเชิง นั่นรอบ นั่นละมันมาว่างที่จิต วางที่จิต ว่างภายนอกยังไม่วางภายใน ยังไม่ว่างภายใน ยังไม่วางภายใน
พอว่างภายนอกว่างเข้ามาๆ มาว่างภายในแล้วปล่อยวางภายใน ทีนี้ปล่อยหมด มาติดอยู่ที่จิตแห่งเดียว พอจิตว่างในตัวเองชัดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ว่างไปหมด วางไปหมด ปล่อยไปหมด นั่นละท่านเรียกว่าจิตปล่อย จิตวาง จิตว่าง ว่างทั้งภายนอกภายในตลอดทั่วถึง ทีนี้ก็สิ้นสุดตรงนั้น ไม่มีที่พิจารณา คือมันรอบตัวทั้งภายนอกภายในว่างด้วยกันหมด ธรรมชาตินั้นก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ท่านว่าบรรลุธรรม ถึงขั้นที่ว่างทั้งภายนอกภายในหมดแล้ว ก็เรียกว่าปล่อยวางหมดโดยสิ้นเชิง ทั้งภายนอกภายในปล่อย ถึงขั้นที่สุดของจิต
พอจิตมันว่างมันวางหมดแล้วท่านว่าถึงขั้นอรหันต์ ถ้ามีธาตุมีขันธ์อยู่นี้ก็เรียกว่าท่านสำเร็จอรหันต์ จิตท่านบริสุทธิ์ แต่อีกอันหนึ่งที่ความบริสุทธิ์นั้นเราจะเรียกอะไรก็เรียกไม่ได้ เลยเป็นธรรมธาตุอยู่ในจิตที่บริสุทธิ์นั่น จิตที่บริสุทธิ์เลยเป็นธรรมธาตุอยู่ในกายตัวเอง เรียกว่าธรรมธาตุ อันนี้แหละอันไม่สูญ บรมสุขก็อยู่ที่จุดนี้ ว่างอะไรก็ว่าง ธรรมธาตุของจิตนี่มันว่างหมดแล้วก็เรียกว่าธรรมธาตุอยู่ในขันธ์นั่นแหละ จิตหากเป็นธรรมธาตุอยู่ในขันธ์ ไม่ได้เหมือนขันธ์ รูปกายอะไรนี่ไม่เหมือน มันว่างหมด เรียกว่าธรรมธาตุ
ท่านผู้ที่สิ้นสุดวิมุตติถึงนิพพานแล้ว จิตของท่านจึงเป็นธรรมธาตุอยู่ภายในร่างกาย ร่างกายนี้เป็นโลกสมมุติทั้งปวง แต่จิตนั้นพ้นจากสมมุติแล้วก็ให้ชื่ออีกว่าจิตบริสุทธิ์ ย้ำเข้าไปก็จิตเป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุนี้ปล่อยอะไรหมดแล้ว ธรรมธาตุนี้ละที่ว่าเป็นของแปลกประหลาดอัศจรรย์ พอปล่อยขันธ์ไปแล้วเราจะเรียกอะไรเรียกไม่ได้ นั่นละการภาวนา จิตฝึกหัดตนเองให้รู้ตนเองด้วยการปฏิบัติของตัวเองเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้ผลงานของตนไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้วก็เป็นธรรมธาตุ
ทีนี้สุด ที่ไปที่มาสุดหมด พอหมดทุกอย่าง นี่ละพอด้วยความบริสุทธิ์ของจิต อิ่มพอด้วยความอัศจรรย์ภายในจิตใจ จิตของท่านผู้สิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานแล้วเป็นจิตที่พออย่างอัศจรรย์อย่างนี้ละ ให้พากันจำเอาไว้ จิตที่ล้มลุกคลุกคลานนี่ละเมื่อเราได้ฝึกหัดอบรมบ่อยๆ จะค่อยเปลี่ยนสภาพตัวเองเข้าไปเป็นลำดับลำดา เปลี่ยนไปจนกระทั่งถึงที่สุดหมดสมมุติแล้วก็หมดความเปลี่ยนแปลง จิตนั้นก็เป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุนี้ท่านว่านิพพานเที่ยง ก็คือธรรมธาตุอันนี้เอง ไม่สูญหายไปไหน เที่ยงตรงตลอดกาลสถานที่ ไม่มีเวล่ำเวลาเข้าไปทำลาย ท่านว่านิพพานเที่ยง คือจิตที่ฝึกตนจนถึงขั้นสุดแล้วเรียกว่าจิตเป็นธรรมธาตุ เมื่อจิตเป็นธรรมธาตุแล้วว่านิพพานเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็รู้อยู่ในจิตดวงนั้นเอง ให้พากันจำเอา
เราพูดเฉยๆ เราอ่านตามตำรับตำราที่นำมาสอนคนเราเป็นฉันใดสอนเขาก็สอนแบบนั้น ไม่แน่นอนภายในใจ อ่านตำรับตำราตำราท่านว่าอย่างไรก็มาสอนตามตำรา ตัวเองก็ยังไม่รู้ธรรมประเภทที่อ่านมาแล้วนั้น พออ่านตำราแล้วมาอ่านตัวเองทางภาคปฏิบัติจิตก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง ทีนี้ตำราทั้งหมดออกมาจากใจ ดังพระพุทธเจ้านำธรรมมาสอนโลกออกมาจากพระทัย พระสงฆ์สาวกสอนโลกก็สอนออกมาจากใจ ใจที่บริสุทธิ์ ใจมีรสมีชาติ พูดอะไรออกไปเป็นฤทธิ์เป็นเดช ผู้ฟังก็ถึงใจ พูดอย่างที่เราอ่านหนังสือนี้อ่านไปมันก็ไม่ถึงใจนะ พอเราไปเจอสิ่งที่อ่านแล้วมันก็หายสงสัย
นั่นละจิตเมื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุดแล้วหายสงสัย มีรสมีชาติเต็มตัว เทศน์ออกไปอะไรคำพูดอะไรเป็นฤทธิ์เป็นเดช เป็นเหตุเป็นผลทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับใจนะ ถ้าใจทรงรสทรงชาติ ทรงเหตุทรงผลเต็มตัว ทรงมรรคผลนิพพานเต็มตัว พูดอะไรออกไปก็เป็นเหตุเป็นผล เป็นรสเป็นชาติไป นั่นละเรียกว่าธรรมสมบัติ คือเราเป็นเจ้าของของธรรมนี้แล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรสงสัย เรียกว่าธรรมสมบัติ ไปรวมอยู่ที่จิตหมดเลย เอาละพูดเท่านั้นวันนี้
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตในใจแม่นี้มีแต่พุทโธ เบื่อหน่ายการเกิด เบื่อหน่ายสังขาร สังขารมันไม่ได้พาเราไปพระนิพพานเด้อ จิตคือสิ่งที่สิพาเราไปพระนิพพาน
สังขารมันจะเจ็บจะปวด จะเป็นอะไรก็ช่างมัน ดูมันไปอย่าไปสนใจมัน จิตเฮาบ่ไปทุกข์กับมันปล่อยมันไป ดูมันไป
จิตมีแต่พุทโธ นั่ง นอน เดิน กิน ทุกอย่าง คือพุทโธ นั้นละคือสิ่งที่จะพาไปพระนิพพาน
ธรรมโอวาท
คุณแม่ชีลา พรหมสุขันธ์
วันที่11.1.65 เวลา20.46 น.
"การประกอบความพากเพียรอย่ากำหนดเวลา ให้กำหนดสติ สัมผัสกับธรรมที่เรากำหนดไว้เสมอไป อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ถ้าสติเผลอเมื่อใดพึงทราบว่าความเพียรได้ขาดไปแล้วเมื่อนั้น เพราะความเพียรไม่ขึ้นอยู่กับการยืน การเดิน การนั่ง การนอน แต่ขึ้นอยู่กับสติ หรือปัญญา
ถ้าเรามีสติประคับประคองจิตใจของเราอยู่เสมอ รู้ความเคลื่อนไหวของใจตนเอง ทั้งที่จะเป็นไปในทางที่ผิดและที่ถูก ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียร ความเพียรหมายเช่นนี้ การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นธรรมดาที่เราจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นโอสถอันหนึ่งซึ่งจะรักษากายของเราไว้ให้ถึงอายุขัย หรือให้มีความสะดวกสบายภายในธาตุขันธ์ของเรา แต่เรื่องของใจที่จะให้ชื่อว่ามีความเพียรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสติและปัญญาเป็นของสำคัญ
สติคือความระลึก คือรู้ตัวอยู่เสมอ ปัญญา คือความสอดส่องมองดูเรื่องที่มาสัมผัสจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน หรือความกระเพื่อมของใจเราที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าความเพียรไม่ได้”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๕
www.luangta.comปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์ฯ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
สังขาร. เค้ามีหน้าที่. เกิดแก่ เจ็บ ตาย. เรามีหน้าที่. รักษาใจ. ให้บริสุทธิ์. ก็พอแล้ว.
หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต