Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ให้ทาน รักษาศีล

พุธ 19 ม.ค. 2022 5:47 am

…การปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้เกิดผล
ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

.แล้วทำจากน้อย ขึ้นไปหามาก
จนกว่ามันจะเต็มร้อย..เมื่อเต็มร้อยแล้ว
ผลมันก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมาตามขั้นของมัน

.ขั้นของสมาธิ มันก็จะได้อุเบกขา
ขั้นของปัญญา มันก็จะได้มรรคผลนิพพาน
ตามลำดับ.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สนทนาธรรมบนเขา ชีโอน
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓






"ให้ระมัดระวังการกระทำของเรา
อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ดี เป็นการทำลายตัวเอง
ต้องได้คิดได้อ่านเสียก่อนจะทำอะไร
เพราะทำแล้วไม่หายไปไหน บาปกับบุญ
มันติดอยู่กับผู้ทำนั่นละ ให้พากันระวังให้ดี”

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน





“..ดี ชั่ว กลางๆ
มันต้องวางให้หมด
สุข ทุกข์ กลางๆ
มันต้องวางให้หมด

มันต้องดับหลงทั้งหมด
ให้ได้เสียก่อน
ถึงจะไปรอด คือผู้ถึงฝั่ง "

โอวาทธรรม
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต






“หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่โบราณกาลมาตลอด ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างคนส่วนมากคิด คนเราเกิดมาก็ต้องมีสังขารเป็นที่อาศัย สังขารก็มีเวลาอยู่อย่างจำกัด ย่อมจะมีเสื่อมมีทรุดโทรม เป็นไปตามกาลเวลา ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไปเกิดอีกภพหนึ่ง

อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา ซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบัน เดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้านและอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องจากกัน

เราได้พลัดพรากกัน แต่เรายังมีชีวิต มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ ที่เราได้มาร่วมสนทนาก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยกกันไป รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่ที่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไปตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีกเป็นอดีต

หมอก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องนึกว่า วันนี้ได้ไปทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรงจำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ

การตายก็เหมือนกัน เป็นการจากไป ไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันนี้ ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา" โอวาทธรรมคำสอนท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธัมมวิตฺกโก ที่ให้ไว้กับนายแพทย์ไพบูลย์ บุษธำรง เมื่อครั้นเข้าไปทำการตรวจรักษาแผลมะเร็งที่คอ ของท่านเจ้าคุณนรฯ

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ หรืออดีตพระยานรรัตนราชมานิต ท่านมีนามเดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา
ซึ่งวันนั้นเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
คือ เป็นวันมาฆบูชา ท่านเกิดเมื่อ ๐๗.๔๐ น.
ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนที่ท่านจะเกิด
โยมแม่ของท่านได้ออกมาใส่บาตรตามปกติ
พอใส่บาตรพระองค์สุดท้ายเสร็จ
ก็เริ่มเจ็บท้องจึงกลับขึ้นบ้าน

สักครู่ก็คลอดและเป็นการคลอดง่ายมาก
ทั้งที่ท่านเป็นบุตรคนแรกของโยมแม่
ท่านบอกอย่างขำๆ ว่า
“อาตมาไม่ได้ทำให้โยมแม่เจ็บนาน”
ท่านเกิดที่บ้านใกล้วัดโสมนัส

วัยถึงขั้นสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จนสอบได้ชั้นสูงสุด

ข้าราชการพลเรือน
ภายหลังจากที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ" ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด

บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นอุปัชฌาย์ ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ ที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ บอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะ บวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป

เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา ท่านบอกว่า ท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

สมเด็จฯ ได้สอนเรื่อง อริยสัจสี่ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข

จนกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้นและเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์แท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์

อย่างไรก็ดี ท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอด ชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่าน นั้นท่านไม่ได้บวชอย่างขอไปที หรือบวชอย่างที่คนตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะลาสิกขาหรือไม่

ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวัน หนึ่ง ๆ

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์

ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวด ในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น

และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง

ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ ๖ ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง

จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไป ใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม อีก

ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไม่เล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น

ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจน คิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดีพนมยงค์ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา

ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน

เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่า ต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ

การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ คิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง

ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป

โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่ง จนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต

และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้ มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้

การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า ท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน โดยเอากะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัว ข้างที่นอนของท่าน

เมื่อเตรียมการเสร็จแล้ว ก็รวบรวมอำนาจจิตนั่งสมาธิ อยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน

เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไป แล้วท่านได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น

ตลอดชีวิตแห่งการเป็นภิกษุของท่าน จึงอุทิศให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มากกว่าที่จะสนใจในการเป็นพระธรรมกถึก

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใคร่จะทราบถึงคำสอนของท่านบ้างพอสมควร จะขอนำโอวาทบางตอนของท่านมาลงไว้พอเป็นตัวอย่างบ้าง

โอวาทเหล่านี้จะเห็นได้ว่า สำนวนฟังง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แต่มีข้อความลึกซึ้ง เพราะท่านได้จากประสบการณ์

อย่างที่เรียกว่า “สันทิฎฐิ โก” คือเห็นและรู้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง ไม่ได้ลอกมาจากตำรา เหมือนนกแก้ว

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างโอวาท ในเรื่องการหน่ายกาม

กามฉันทะหรือกามตัณหา เกิดจากความไม่ฉลาด หลงคิด เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจ และน่ายินดี กามฉันทะนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธี ทั้ง ๖ ดังต่อไปนี้

๑. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คืออารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่ งามของสังขารร่างกาย จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความใคร่ หายความกำหนัดยินดี

๒. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย แยกออกเป็น อาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติภาวนา มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

๓. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อได้ประ สบพบเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่าให้ความรักใคร่กำหนัดยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ

๔. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกาย และลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทราคะ

๕. ทำการวิสาสะ คบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคย กับกัลยาณมิตร เพื่อนผู้ดีงาม ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายความรักใคร่กำหนัดยินดี และยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

๖. ฝึกฝนตนปฏิบิตในทางที่ถูกต้อง ตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ

กามฉันทะหรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเข้าถึงกระแสพระอนาคามีมรรค บรรลุถึงพระอนาคามีผล

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านธมฺมวิตกฺโก อาพาธด้วยมะเร็งที่ลำคอ การอาพาธของท่านนี้พูดตามที่บุคคลธรรมดาพึงเห็น

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้ว ท่านเป็นปกติธรรมดาไม่เคยแสดงอาการใดว่าท่านได้อาพาธ ท่านปกติธรรมดาจนทุกคนที่พบเห็นท่าน คล้ายจะลืมว่าท่านอาพาธ ถ้ามีใครถามถึง ท่านจะเล่าให้ฟังว่า

ตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ มีขนาดเท่าไข่จิ้งจก และโต ต่อมาเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าลูกพุทรา เท่าไข่เต่า และท่านจะบอกว่าตอนนี้เท่าไข่เป็ดแล้ว

เมื่อถามถึงความเจ็บปวด ท่านจะบอกว่าไม่เจ็บปวดมากนัก จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างเราก็คงจะลุกเดินไม่ไหวเพราะความเจ็บปวดแล้ว แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านกลับเป็นปกติทุกอย่าง สมมติว่าแผลมะเร็งนี้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ไม่มีใครมองเห็นแล้ว ก็จะไม่มีใครรู้ว่าท่านอาพาธเลย

ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนจะเป็น ท่านมีความรู้สึกว่าจะเป็นที่ตับ เพราะมีอาการบางอย่างที่นั่น ท่านเล่าว่าเหมือนกับมีอะไรวิ่งกันอยู่เป็นริ้ว ๆ ที่บริเวณนั้น ท่านได้อธิษฐานว่าหากจะป่วยเป็นโรคใดแล้วขอให้ปรากฏออกมา ขอให้เป็นภายนอกเถิดจะได้มองเห็นและเป็นตัวอย่างให้ศึกษา

หลังจากท่านอธิษฐานแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่วิ่งกันอยู่นั้นได้ย้ายวิ่งมาที่ลำคอและปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ที่แรงอธิษฐานของท่านเป็นไปตามที่ท่านอธิษฐาน เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านบำเพ็ญมา

และท่านจะยกเอาอาการอาพาธของท่านเป็นตัวอย่างสอนคนที่ไปพบท่านว่า ร่างกายเป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่าเศร้าหมองตามการป่วยเจ็บนั้น ทำใจให้ปลอดโปร่ง

และให้นึกเสมอว่า การเจ็บ การตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้ อย่าประมาท อย่ารั้งรอต่อการทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกอาพาธ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมอาการของท่านที่พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสถึงสองครั้ง เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อท่านธมฺมวิตกฺโก

การเสด็จไปของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแต่ละครั้ง ทรงรับสั่งถามปัญหาธรรมต่าง ๆ กะท่านธมฺมวิตกฺโก ทุกครั้ง ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้วิสัชนาถวายในปัญหาธรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจนหมดจดทุกปัญหา

จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในธรรมนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโกได้เคยบอกว่า ขอให้ประชาชนทุกคนยึดถือเป็นตัวอย่างที่ควรสนใจ และศึกษาธรรมเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

เพราะธรรมจะทำให้ประเทศอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ชนในชาติสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ถูกต้อง ไม่แก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

และในชั้นสูงขึ้นไปของการปฏิบัติธรรม ก็จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน ซึ่งควรจะเป็นความหวังของทุกคน ขอให้ทุกคนอย่าลืมหน้าที่อันนี้ คือหน้าที่ที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์

การทำให้ตนเองพ้นทุกข์ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกิดมา แต่พากันลืมเสีย ไปไขว่คว้าแต่หน้าที่อื่นกันเสียหมด จะทำให้เสียแรงที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่สอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ด้วยตนเอง

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธมฺมวิตฺกโก มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๔ สิริอายุ ๗๔ ปี พรรษา ๔๖

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต

ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ

เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศยากจะหาใครมาทัดเทียม

นับแต่นี้ต่อไป แม้จะไม่มีสังขารของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย

ท่านเคยบอกว่านามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมี ความหมายถึง การระลึกถึงธรรม หรือ การตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน

เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเคยบอกเสมอว่า “ถ้าคิดถึง อาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือ การระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้ว ธมฺมวิตกฺโก ก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ”

คัดลอกจากหนังสือ "ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง" ; โดยศิษยานุศิษย์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๑ ; ธันวาคม ๒๕๔๖
ขอขอบพระคุณ คุณสมชาย เตชะสวัสดิ์ศิลป์ ที่มอบหนังสือเล่มนี้ให้ครับ







ไม่มีใครสามารถเข้าไปนั่งทำบุญให้ทานรักษาศีลทำสมาธิภาวนา อยู่ในกองฟืนกองฟอนในเตาแห่งเมรุได้ เห็นมีแต่ไฟทำงานแต่ผู้เดียว จน ร่างกายเป็นเถ้าเป็นถ่านไปถ่ายเดียวเท่านั้น เราเคยเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา ด้วยกัน ซึ่งควรสลดสังเวชและน่าฝังใจไปนาน

#หลวงตามหาบัว
ตอบกระทู้