Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความซื่อสัตย์

ศุกร์ 11 ก.พ. 2022 5:00 am

"คนที่ไม่สรรเสริญก็มี คนที่อิจฉาริษยาก็มี อย่าไปให้ความสำคัญ อย่าถือเป็นอารมณ์ ให้ถือว่า เมื่อยังมีหน้าที่ในการทำงาน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด"

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ความสุขที่แท้จริง"
กัณฑ์ที่ ๓๓๘
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐







#พลังจิตพยุงรถพยุงเครื่องบิน

อาตมาเคยช่วยรถ นั่งรถไปล้อหน้ามันหลุดเหลือสามล้อ รถตู้นี่ ขับไปเฉยเลย อาตมานั่ง อาตมาพยุงหัวรถอยู่นี่ไม่ให้มันเอียงลง มันไม่มีล้อนี่ ล้อมันออกจากถนนเข้ารั้วบ้านไปแล้ว อยู่เชียงใหม่ “อุ๊ย หยุด หยุด” บอกคนขับ มันก็ขับไป หัวมันตรงๆอยู่ ขับไปได้ประมาณ 130 เมตร “จอดข้างทางสิ” พอไปจอด คนขับมันตกใจ ข้างนึงรถไม่มีล้อ นั่น ใช้พลังจิตพยุงให้มันอยู่ตรงๆ ตรงหัวไม่ให้มันลงน่ะ ล้อไม่มี อาตมารู้จักวิธี

อาตมาช่วยเครื่องบินมาลงดอนเมือง มาจากเชียงใหม่ มันจะพาหล่นอยุธยา ต่ำลงๆ จัมโบ้นี่ล่ะ เครื่องยนต์มันเสีย เครื่องเดียวมันทรงตัวไม่ได้ ข้างหนึ่งสอง ข้างหนึ่งเครื่องเดียว มันทรงตัวไม่ได้ มันเอียง ต่ำลงๆ เอ๊! เครื่องบินมันผิดปรกติ กัปตันเขาเปิดเพลงกลบเอาไว้ พยายามพยุงตัว อาตมาเลยใช้พลังจิตช่วย ช่วยเครื่องบิน พอมันลงนั่นล่ะ ลงดอนเมือง วิ่งไปพอจอดมันก็จอดอยู่กลางรันเวย์ เอารถมาลาก คนยังบ่ได้ลง เอารถมาลากเข้าอู่ซ่อม ถ้าให้คนลงหนีหมดเขาก็ไม่ตกใจใช่ไหม อาตมาบอกแอร์ให้ไปบอกกัปตันให้มาหา

“เครื่องบินของเราเครื่องยนต์หนึ่งเสีย เหลือสามเครื่องใช่ไหม”

“ท่านเป็นช่างมาบวชเหรอ จริงเลยท่าน เครื่องเสียไปเครื่องหนึ่งเหลือสามเครื่อง”

“แต่ยังโชคดีเนาะ มันเอียงหน่อย ทรงตัวไม่ดี” เราใช้พลังจิตช่วย ช่วยจะหมุน มันหมุนไม่ได้ ได้แค่ช่วยพยุงตัวมันไว้

#ธรรมเปลี่ยนโลก

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป






"บุญทานแม้ทำน้อยเท่าเมล็ดโพธิ์ เมื่อยามให้ผล เปรียบเท่ากับโพธิ์ทั้งต้น"

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน





...ถ้าเราเห็น"ความอยาก"เป็นยาพิษ
เรากล้ากินมันไหม?.....นั่นแหละ
เราไม่เห็นความอยากเป็นยาพิษ
เรากลับเห็นว่าเป็น.."ขนมหวาน"

.พออยากปั๊บ..ทำตามมันเลย
มันสั่งให้ทำอะไร..ทำตามมันเลย
แล้วเป็นยังไง?..ชีวิตของพวกเรา
วุ่นวายหรือสงบ

.ที่วุ่นวายกันทุกวันนี้
ก็วุ่นวายเรื่อง..ความอยาก..นี่แหละ
ไม่ได้วุ่นวายกับเรื่องอะไร
อยากได้โน่นอยากได้นี่
ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้

."อยากตลอดเวลา" วันๆหนึ่งนี้
ไม่รู้ "อยาก" กี่เรื่องกี่ราว"
อยากอยู่เรื่อยๆ
พอไม่ได้ดังใจอยาก..ก็เครียด
หงุดหงิด รำคาญใจขึ้นมา

.ปัญหาของพวกเราอยู่ที่
"ความอยาก"ของพวกเรา
เราต้องใช้.."สติ สมาธิ ปัญญา"
ถ้ามีสามตัวนี้แล้ว..
"ความอยากจะสู้ไม่ได้".
........................................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 5/9/2559
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







นี่แหละ! ธรรมชาติของคน
ใครไม่รู้ก็จงรู้ไว้!!
.
การจะเป็นคนดีได้ ก็ต้องอาศัยข้อปฏิบัติ ๓ ประการ คือ การดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ในสมาธิธรรม ในปัญญาธรรม ตามชั้นภูมิของใจ หาใช่เพียงด้วยการพูดที่ดูดี หรือเพียงด้วยการกระทำที่ดูดีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่
.
ลำพังแต่การพูด ต่อให้พูดดีเพียงไหน ถ้ามิได้มีการกระทำที่ดีเป็นเครื่องสอดรับกัน ก็คือการประพฤติเท็จนั่นเอง คือการพูดไม่ตรงกับที่ทำ หรือกระทำไม่ตรงกับที่พูด เรียกว่า พูดอย่างหนึ่ง ทำไปอีกอย่างหนึ่ง
.
ดีไม่ดีใจอาจคิดไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ด้วย อย่างที่เรียกว่า หน้าซื่อใจคด ปากปราศัยแต่ใจเชือดคอ รู้จักคน รู้จักหน้า แต่ไม่รู้จักใจ
.
แม้การพูดจะดูดีแล้ว การกระทำจะดูดีแล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจ ต้องดูให้ลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งของใจอีกด้วยว่า ที่แสดงออกมานั้น ออกมาจากใจจริงไหม คือใจต้องมีหิริโอตตัปปะ มีความเป็นสัมมาทิฏฐิที่มั่นคง ไม่ใช่ประเภทเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้
.
ถ้าดี ก็ต้องดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือ ศีลต้องดีจริงที่ใจ สมาธิก็ต้องดีจริงที่ใจ ปัญญาก็ต้องดีจริงที่ใจ จะดีมากหรือดีน้อยก็เป็นไปตามภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละบุคคล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนดีจริงแท้
.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนดีก็ยากนักหนาแล้ว ไหนเลยจะมีแก่ใจไปฝึกฝนคนอื่น เพราะคนที่จะฝึกได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำดีจริง ๆ เป้าหมายอาจเลยไปไกลถึงขั้นมุ่งหวังความหลุดพ้น ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสารอันหาที่สุดมิได้
.
นั่น! ก็เป็นเรื่องของความปรารถนาเฉพาะบุคคล ผู้ใดมีศรัทธาเชื่อมั่นในการทำความดีทุกประเภท รู้เห็นคุณประโยชน์ของความดีอย่างชัดเจน ผู้นั้นก็จะขวนขวายทำความดีเอง ไม่มีใครบังคับได้ ส่วนผู้ที่ยังมองไม่เห็นคุณประโยชน์แห่งความดี ก็ยังคงพอใจทำชั่วอยู่ต่อไป
.
ใครอยากได้ดีก็ต้องทำดีเอง
ใครอยากได้ชั่วก็ต้องทำชั่วเอง
ธรรมชาติไม่เคยลำเอียงเข้าข้างผู้ใด
ถ้าเป็นเรื่องชั่ว ไม่ว่าใครทำก็ส่งผลชั่วทั้งหมด เรื่องดีก็เช่นเดียวกัน
.
กรรมย่อมส่งผลให้แก่ผู้ทำกรรมอย่างไม่ลำเอียง ผู้ใดอยากได้ผลดีแค่ไหน ก็ต้องทำเหตุดีเอาเอง ด้วยกำลังแห่งความเพียรของตน ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ที่ไหน จะสามารถดลบันดาลผลดีแก่เราได้โดยปราศจากการทำเหตุที่ดี ย่อมไม่มีในโลก
.
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรไปหลงเชื่อใครก็ตามที่พยายามจะยัดเยียดผลที่ดีให้แก่เรา โดยที่เราไม่ต้องทำเหตุที่ดีใด ๆ เลย ให้รู้ว่า นั่นคือ การโกหกหลอกลวง
.
ให้เข้าใจว่า การทำความดีนั้น มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไป คือ ให้ทาน รักษาศีล จนถึงความดีขั้นกลาง คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ จากนั้นจึงเข้าสู่ความดีขั้นสูง คือการเจริญปัญญาสัมมาทิฏฐิเพื่อทำลายกิเลส ไปจนถึงความดีขั้นสูงสุด คือการเข้าสู่วิมุติหลุดพ้นจนถึงพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งความดี
.
แต่ผู้ที่จะมุ่งหวังทำความดีจนถึงขั้นวิมุติหลุดพ้นได้นั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เคยทำความดีสั่งสมมาแล้วมากในระดับหนึ่ง ก็จึงมาต่อยอดทำความดีให้สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภพชาติปัจจุบัน
.
ผู้ที่เข้าใจความจริงในหลักธรรมชาติเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า โลกนี้ทำไมจึงมีคนชั่วอยู่อย่างมากมาย เพราะการจะทำดีเป็นคนดีได้นั้น มันเป็นสิ่งที่คนชั่วทำได้ยากนักหนา
.
เพราะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจัง ต้องมีเจตนามุ่งมั่นที่จะละชั่ว ทำดี อย่างแท้จริง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมแอบแฝง ทั้งต้องทุ่มเทความเพียรอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้กับกิเลสมารร้ายที่สิงสถิตอยู่ภายในใจ กว่าจะเอาชนะมันได้ ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน บางทีต้องต่อสู้กันแบบข้ามภพข้ามชาติ จนเลยไปถึงหลายภพหลายชาตินับไม่ได้
.
ส่วนการยอมพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำนั้น คนทั่วไปนิยมชมชอบ และทำกันอย่างเป็นปกติเคยชิน มิหนำซ้ำ ยังดูเหมือนพอใจที่จะพ่ายแพ้ต่อกิเลสมากกว่าการที่จะเอาชนะกิเลส
.
เวลาความโลภเกิดก็พอใจที่จะโลภ
เวลาความโกรธเกิดก็พอใจที่จะโกรธ
เวลาความหลงเกิดก็พอใจที่จะหลง
.
จะมีสักกี่คนที่คิดจะต่อต้านขัดขืนไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของกิเลส ลองทดสอบดูใจตนเองก็ได้ เวลาความโลภเกิด ความโกรธเกิด ความหลงเกิด จงอย่ายอมทำตามมัน ดูว่าจะทำได้สักแค่ไหน
.
แม้เราตั้งใจทำดีอยู่ แต่เมื่อใดที่ใจเราเกิดความท้อแท้อ่อนแอ เกิดความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ จะเป็นด้วยเพราะผิดหวัง หรือเสียใจโกรธแค้นด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หากใจไม่มีสติปัญญาคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวให้สุขุมรอบคอบ ใจก็พร้อมที่จะหันกลับไปทำชั่วได้ตลอดเวลา
.
เว้นไว้แต่ผู้ที่มีสติปัญญารู้ธรรมเห็นธรรมตั้งมั่นในระดับหนึ่งแล้ว ผู้เช่นนั้น ความชั่วย่อมไม่อาจครอบงำใจได้อีก
.
ยิ่งถ้าใครไม่เข้าใจเป้าหมายของการทำความดีว่า ความดีคืออะไร? จะทำไปเพื่ออะไร? มีประโยชน์อะไร? และต้องทำไปอีกนานสักเท่าไหร่? ใจนั้น ก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่เป็นอำนาจฝ่ายต่ำ ใจก็อาจจะถูกกิเลสข่มขู่คุกคามจนตกเป็นทาสของกิเลสไปได้อย่างง่ายดาย
.
“ฝึกตนเองดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า”
.
ก็จริงอย่างนั้น ถ้าเราไม่ฝึกฝนตนเองเพื่อเอาชนะกิเลสในใจตนให้ได้ก่อน แล้วจะเอาสติปัญญาที่ไหนไปฝึกสอนคนอื่นให้เอาชนะกิเลสในใจของเขาได้
.
การเอาชนะกิเลสในใจได้นั้น ก็มีหลายขั้นหลายภูมิ มิใช่ว่าจะต้องเอาชนะกิเลสจนถึงขั้นสูงสุด ขอเพียงให้รู้แน่แก่ใจด้วยสันทิฏฐิโกในใจตนเอง รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมแค่ไหน ก็ทำตัวเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น และฝึกสอนผู้อื่นได้เพียงนั้น
.
ลักษณะของคนที่พอแบ่งแยกได้ตามภูมิของจิตมีดังนี้
.
๑. ปุถุชน คือคนหนาด้วยกิเลสทั่ว ๆ ไป จำพวกนี้เอาเป็นประมาณไม่ได้ มีตั้งแต่ คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไรเลย สามารถที่จะทำชั่วได้ทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ ไปจนถึงคนที่พอมีหิริโอตตัปปะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว
.
๒. กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่มีหิริโอตตัปปะมากขึ้นกว่าประเภทแรก ไปจนถึงมากที่สุด เริ่มมีสติปัญญา รู้ดี รู้ชั่ว มากขึ้น เริ่มที่จะรู้จักละชั่ว ทำดีมากขึ้น ไปจนถึงพอใจที่จะทำใจให้สงบผ่องใสบริสุทธิ์ เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นมหันตภัยร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปให้ได้สถานเดียวเท่านั้น
.
ผู้เช่นนั้นย่อมมีแก่ใจมุมานะที่จะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้ได้ตลอดไป หากใครได้คบหาเพื่อนฝูงที่เป็นกัลยาณปุถุชน ก็นับว่าดีแท้ ถือได้ว่าเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐยิ่งกว่าเงินทอง เพราะกัลยาณปุถุชนนี้ ก็คือผู้ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลในวันหนึ่งนั่นเอง
.
๓. อริยบุคคล คือ บุคคลผู้ข้ามพ้นโคตรของปุถุชนไปแล้ว ใจสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ใจตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมไปตลอดชีวิต แม้ตายก็ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมอย่างแน่นอน ใจยังมีกิเลสอยู่เพียงเบาบาง ไปจนถึงใจสิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิง หมดสิ้นภพสิ้นชาติแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่าตายเกิดในวัฏสงสารอีกตลอดอนันตกาล
.
ดังนั้น ถ้ารู้ว่าโลกนี้มันมีธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ มีทั้งคนบาปหนักบาปหนา มีทั้งคนบุญหนักบุญหนา ซึ่งเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนที่สั่งสมมาไม่เท่าเทียมกัน จะให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้
.
เห็นใครทำชั่วก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปโกรธเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำดี ถ้าเขาจะทำดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ อย่าให้ใจเราคิดทำชั่วอย่างเขา
.
เห็นใครทำดีก็จงดูที่ใจเรา ไม่ต้องไปอิจฉาริษยาเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำไม่ดี ถ้าเขาจะทำไม่ดี ก็อยู่ที่เขาจะคิดทำไม่ดีเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความอยากของใคร เราอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใจเราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ จงรักษาใจของเราให้ดีก็พอ ให้ใจเราคิดทำดีอย่างเขาให้มาก
.
ธรรมท่านสอนให้โอปนยิโก คือ…
.
เห็นใครทำดีก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองได้ทำดีอย่างนั้นบ้าง
.
เห็นใครทำชั่ว ก็น้อมเข้ามาสอนตน ให้ตนเองจงอย่าทำชั่วอย่างนั้นเลย
.
ผู้มีปัญญา ย่อมถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่ประสบพบเห็นทั้งดีและชั่ว สามารถแยกแยะได้อย่างไม่ลังเลสงสัย ทั้งรู้การเหมาะการควรที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น
.
ผู้มีปัญญา ย่อมมองเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง อย่างที่เรียกว่า ฟังธรรมในหลักธรรมชาติ คือ สัจธรรมประกาศก้องกังวานอยู่ตลอดเวลา และการปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ตลอดเวลาเป็นอกาลิโก ดังนี้แล
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๕
พระอาจารย์วิทยา กิจวิชโช






การทำให้จิตของเธอเป็นสุข มันง่ายกว่าการทำให้กายเธอสวยงามด้วยซ้ำไป

หลวงพ่อจิตโต บ้านสบายใจ
..







#อย่าอยากเป็นคนดี #ทั้งที่ไม่ฝึก

ศีลธรรมเหมือนกับถนนนั่นแหละ การประพฤติปฏิบัติตัวเองให้ถูกต้อง ให้เดินไปตามถนนคือศีลธรรม ต้องระมัดระวังและบังคับตน

สิ่งใดที่จะเป็นความเสียหาย ให้นำธรรมเขาไปกีดกันหักห้าม อย่าคล้อยตามจะเคยตัว เช่นอยากไป ไปอะไรถามเจ้าของ อยากไปทำความชั่ว อย่าไป

-เพียงความอยากเท่านั้นก็เริ่มเสียแล้ว-

เพียงอยากทำความชั่วเท่านั้นก็เริ่มเสียแล้ว ลงได้ทำจะเสียมากเท่าไร การห้ามตนห้ามอย่างนี้ เราต้องการนักหรือความชั่ว โลกเขาไม่ต้องการความชั่ว ทำไมเราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งคนจึงต้องการความชั่ว มันไม่เลวมากยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลายแล้วหรือ

นี่คือการเตือนตน แล้วก็ไม่ไป ถึงจะอยากก็ไม่ไป อยากทำก็ไม่ทำ อยากพูดก็ไม่พูด อยากคิดก็บังคับไม่ให้คิด นี้คือคนรักษาตัว

ถ้าอยากอะไรทำอันนั้นๆ นั้นคือคนไม่มีเหตุมีผล ไม่มีกฎ ไม่มีเกณฑ์ ไม่มีการรักษาตัว ตรงกันข้ามก็เป็นการทำลายตัวไปในตัวนั้นแหละ นี่แหละคือคนไม่มีธรรมขับขี่ตน ไม่มีกฎจราจรคือศีลธรรม
.
คนมีธรรมต้องมีความไตร่ตรอง มีความพินิจพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวกายวาจาใจของตน ผิดถูกดีชั่วประการใด เทียบกับอรรถกับธรรมซึ่งเป็นกฎแห่งความปลอดภัย

เมื่อธรรมท่านว่าอย่างนี้ การไปทำให้ขัดต่อธรรม ฝืนศีลธรรมก็คือฝืนตัวเอง ทำลายตัวเองนั่นแล เพราะศีลธรรมบอกทางที่ถูกที่ดี แต่ตนไปฝืนเสียเองก็เป็นความชั่วสำหรับตัว

เมื่อเราพิจารณาเช่นนี้ เราหักห้ามเราอย่างนี้เป็นประจำ นานเข้าก็ลื่นไปเลย เพราะเราเคยฝึกฝนอบรมเราอย่างนี้ จนจิตใจของเรายอมอยู่ในเหตุในผล อยากก็ไม่ทำ

ครั้นต่อไป พออยากเท่านั้น ถามตัวเองควรหรือไม่ควร ทักกันทันที พอว่าไม่ควรๆ ความอยากนั้นจะอ่อนข้อลง ไม่กล้าฝืน เพราะเราไม่อนุโลมตาม นี่แหละวิธีรักษาตัวให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรม

ความเป็นคนมีศีลมีธรรม ก็คือความเป็นคนดีนั้นแล ไม่ใช่ความเป็นเปรตเป็นผีพอจะให้กลัวศีลธรรม ไม่อยากฝึกฝนอบรมตน
.
เราอยากเป็นคนดีทุกคน เราอยากมีความสุขความเจริญทุกคน ให้สุขให้ดีในทางที่ถูกต้องดีงาม อย่าดีเพียงชื่อเฉยๆ อย่าให้ดีเพียงความเสกสรรปั้นยอ ความสรรเสริญเฉยๆ ให้ดีโดยคุณภาพ ดีตามหลักความจริงด้วย

นี้เป็นที่อบอุ่นเย็นใจ สำหรับเราผู้ฝึกได้ ขอให้ทุกท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ อย่าอยากเป็นคนดีทั้งที่ไม่ฝึก

................................................................
#หลวงตาพระมหาบัว #ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
"มหาการุณิโก นาโถ หิตาย สพฺพปาณินํ"







" ไม่ให้มีความโกรธ
ความโลภ ความหลง
ราคะตัณหา ให้ฆ่าเชื้อ
สิ่งพวกนี้ออกจากใจ
ให้หมด เอาตัวยา คือ ศีล
สมาธิ สติ ปัญญานี้แหละ
เป็นอาวุธ มอมมันลงไป

ในสมัยหลวงปู่ไปวิเวกนั้น
ลำบากมากนะ เพราะไป
หาทุกข์ ให้มันรู้จักทุกข์
แล้วหาทางแก้ทุกข์
บางครั้งไม่ได้ฉันข้าว
เป็นอาทิตย์ เพราะ
เส้นทางไปบิณฑบาต
มันไกลมาก ห่างจาก
บ้านคนเป็นสิบๆกิโล

เพราะจุดประสงค์ไปหา
ที่ภาวนาที่ทำให้เรากลัว
ให้เรามีความระวังตัวอยู่
ตลอดเวลาสติและปัญญา
จะได้ไม่วอกแวก บางครั้ง
ก็หลงทางเดินไปไหน
ก็มีแต่หน้าผาไปหมด

จึงจำเป็นต้องลงไปตาม
กอไผ่ คือรวบเอาปลาย
มันเข้ามาหากันให้ได้
มากๆ แล้วก็ปล่อยตัวลง
มาเลย แล้วแต่มันจะไป
โดนอะไร แต่ก็โชคดี
ไม่เป็นอะไรเลย เพราะ
พระธรรมย่อมรักษา
ผู้ประพฤติธรรม

พูดไปบางคนอาจไม่เชื่อ
แต่สำหรับผู้ที่ทำจริงจัง
เท่านั้นถึงจะเห็น
ประจักษ์แก่ใจตนเอง
อย่างบอกไม่ถูก "

โอวาทธรรม
หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท







"ความซื่อสัตย์ต่อหน้า ต่างกันอย่างดินกับฟ้า
เมื่อนำมาเทียบกับ ความซื่อสัตย์ลับหลัง"

ท่านพุทธทาสภิกขุ






“เขาว่าเราทำผิด แต่เราไม่ผิดดังเขาว่า
เขาพูดไม่ถูก ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม
เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความเป็นจริง
ถ้าเราผิดดังเขาพูด ก็ถูกดังเขาว่าแล้ว
ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก ถ้าคิดได้ดังนี้
รู้สึกว่าสบายจริงๆ มันเลยไม่มีอะไรผิด
ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด””

หลวงปู่ชา สุภทฺโท
ตอบกระทู้