Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ทุกข์มีอยู่ 2 อย่าง

ศุกร์ 11 มี.ค. 2022 7:07 am

วันนี้..ก็เป็นอีกวันหนึ่ง
ที่ท่านทั้งหลายได้ตื่นขึ้นมา
มีลมหายใจ มีชีวิตอยู่

ก็เป็นสิ่งที่..ท่านทั้งหลายพึงที่จะขวนขวายสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ที่แท้จริงของการมีชีวิต

ทุกเรื่องราว ทุกความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ก็ไม่มีอะไรที่บังเอิญ

ล้วนเป็นไปตาม เหตุปัจจัยที่ได้สะสมไว้

หลายครั้ง ที่หลงจมปลักอยู่
หลงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราว กับสิ่งต่างๆ
ทั้งๆที่ก็รู้ว่ามันไม่ดี
มันเร่าร้อน ทุกข์ทรมาน

แต่ห้ามใจตนเองไม่ได้

ไม่สามารถที่จะหลุดออก คลายออก พ้นออก จากสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า...
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรมที่ได้กระทำไว้ จะดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ล้วนส่งผลสืบต่ออย่างยาวนาน

การที่เราอุบัติขึ้น
เวียนว่าย ตาย เกิดในวัฏสงสารเนี่ย
ก็จะหลงทำกรรมต่างๆไว้

ส่วนใหญ่แล้ว ก็จะก่อการเบียดเบียน
ทำให้ตนเอง และผู้อื่นเดือดร้อน

สิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดเป็นวิบากกรรม
เป็นพลังงานด้านมืด ที่รายล้อมรอบตัวเราอยู่

มันเป็นพลังงาน ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนวน เป็นวัฏสงสาร

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเนี่ย มันไม่มีอะไรบังเอิญ

ถ้าท่านทั้งหลาย ถูกกระทำ
ถูกคดโกง
ถูกหลอกลวง
ถูกพูดจาให้เจ็บช้ำน้ำใจ
ก็ให้แน่ใจได้เลย ว่าเราก็เคยทำกับเค้ามาก่อน

ไม่ใช่ชาตินี้ ก็เป็นชาติที่ผ่านๆ มา

ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมไว้

บางครั้ง วิบากกรรมที่ไม่ดีให้ผล
มันจะทำให้จิตใจเราเร่าร้อน
หลงเดินทางผิดได้ง่าย

การที่เราจะฟันฝ่ามรสุมแห่งวิบากกรรม ไปได้ ก็ต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่น!
ชำระล้าง บาป และอกุศลธรรมให้หมดสิ้นไป

เรียกว่า เคลียร์หนี้ เคลียร์สินทุกอย่าง
ที่เราก่อการไว้
ในช่วงเวลาที่เราหลงติดอยู่ในวัฏสงสาร

เหมือนเรามีหนี้ เราก็ต้องชำระไป
มันถึงจะจบเรื่อง
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้ว ไม่ต้องชำระ

สิ่งเหล่านี้มันค้างคา
มันเป็นพลังงานที่หมุนวน
ชักนำเราไปในทิศต่างๆ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "สติปัฏฐานสี่ สามารถชำระล้างบาป และอกุศลธรรมให้หมดสิ้นไปได้"

เจริญสติปัฏฐานสี่ สามารถชำระล้างบาป และ อกุศลธรรมได้อย่างไร?

เมื่อท่านทั้งหลาย ฝึกฝนพัฒนาสติขึ้นมาเนืองๆ จนเกิดความตั้งมั่น
เกิดความเบิกบาน
จนหลุดจากการยึดมั่น ถือมั่น
หลุดจากแรงดึงดูด ที่มันหมุนวนอยู่
เข้าสู่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์

ท่านทั้งหลาย จะเข้าถึงแหล่งพลังงานความว่างที่บริสุทธิ์
เป็นความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ

สิ่งนี้แหละ ที่จะใช้ชำระพลังงานด้านมืด หรือ บาป และอกุศลธรรมให้หมดสิ้นไปได้

น้ำดี ชำระล้าง น้ำเสีย

เหมือนขั้วบวก และขั้วลบ ที่ทำปฏิกิริยากัน แล้วเกิดความเป็นกลาง

ชำระกันไป
ชำระกันด้วยความบริสุทธิ์
มันถึงจะจบทุกเรื่องราวได้
.
พระมหาวรพรต กิตติวโร
พระวิปัสสนาจารย์







…คนที่ภาวนาเป็นแล้ว
จะรู้ว่าต้องการสถานที่แบบไหน
เขาจะไม่ต้องการพวกแสงสีเสียง
ไม่ต้องการเพื่อน ไม่ต้องการคนนั้นคนนี้
มาแก้เหงาด้วยการคุยกัน

.เพราะจิตที่ได้เข้าสู่ความสงบแล้ว
จะไม่ค่อยคิดถึงอะไร
เพราะไม่ค่อยได้ปรุงแต่งกับเรื่องอะไร
แต่จิตที่ยังไม่สงบก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย
คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้
แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา

.คิดในเรื่องที่เคยทำให้มีความสุข
ในขณะที่..ไม่มีความสุขนั้นแล้ว
ก็จะทำให้เศร้าสร้อยหงอยเหงา
“ อยากจะหวนกลับไปหา
ความสุขแบบนั้นอีก “.

………………………………………..
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘







โยมถาม "จริงไหม ที่โลกกำลังจะแตก และจะทำยังไงดี"

พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต (วัดภูสังโฆ จ.อุดรธานี) ตอบ

"จะไปกังวลทำไม พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไว้แล้ว ตั้งแต่กัณฑ์แรกเป็นปฐมบทเลย ว่าด้วยการเกิดดับ ทุกอย่างมีเกิดก็มีดับ มีเกิดมีดับกันตลอดเวลา ทุกวันทุกวินาที แต่เราไม่รู้ตัว เราไม่ระลึกถึงมัน ทุกคนมีความตายแปะอยู่ที่หน้าผากทุกคน แต่ไม่มีใครสนใจหรือเห็นมัน

ดับความทุกข์ในแต่ละวันให้ได้ก่อนเถอะ ความทุกข์ก็เกิดทุกวัน ดับมันให้ได้ จะไปรอทำไมโลกแตก คนเราก็นะ จะย้ายไปอยู่ดาวไหน ก็ไปทุกข์ที่ดาวนั้นอยู่ดี ก็ไปตายก็ไปดับที่ดาวนั้นอยู่ดีนั้นล่ะ จะคิดทำไมโลกแตก..แตกไม่แตกก็ดับ แตกเมื่อไหร่ก็ทุกข์ทุกวันอยู่ดี ถ้าตอนนี้เราดับทุกข์ได้แล้ว เราก็สบาย โลกจะแตกก็แตกเลย เราพร้อมแล้ว พร้อมที่จะดับ"

ที่มา: บทความรวม ธรรมะสั้นๆ เข้าใจง่าย ของครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น - พระป่าธรรมยุติ








#การรู้ธรรม_เห็นธรรม

ส่วนมากเรามักจะเข้าใจกันว่า การรู้ธรรม เห็นธรรมคือต้องเห็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เห็นโครงกระดูกแล้วรู้ว่า เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เราไปหมายเอาหมวดใหญ่ที่ท่านเขียนเอาไว้ในคัมภีร์ การตีความหมายอย่างนั้นก็ไม่ผิด เป็นการถูกต้องกับการรู้ธรรมเห็นธรรม โดยธรรมชาติที่จิตมันจะรู้เองด้วยพลังของสติสัมปชัญญะ

#แต่เราจะไปรู้ในกฎเกณฑ์ที่ท่านวางไว้เป็นแบบฉบับเท่านั้นไม่ได้

การรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติมันจะต้องรู้ขึ้นมาเอง เป็นกระท่อนกระแท่น ไม่ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นเรื่องยืดยาว

#การรู้ธรรมเห็นธรรมขอกำหนดหมายอย่างนี้

๑) คือการรู้ว่าจิตของเราคืออะไร เห็นว่าจิตของเราคืออะไร เป็นเบื้องต้น

๒) เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์ก็รู้ว่าจิตสัมผัสรู้อารมณ์

๓) เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์แล้วมีอะไรเกิดขึ้น จิตของเรายินดีไหม จิตของเรายินร้ายไหม จิตของเราพอใจไหม หรือเกลียดในอารมณ์นั้น

ในเมื่อรู้ว่ายินดีหรือยินร้ายเกลียดหรือชอบ ก็ดูต่อไปว่าความเกลียดและความชอบบังเกิดขึ้นภายในจิตเป็นอย่างไร ทำให้จิตร้อนหรือเย็น ทำให้จิตสุขหรือทุกข์

ถ้าหากว่าจิตรู้สึกสุขก็ผ่านไป แต่ถ้าจิตของเรารู้สึกทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นความร้อนภายในจิต เรารู้ความร้อนของจิต

ในเมื่อเรารู้ความร้อนของจิตแล้ว ความร้อนเป็นทุกข์ เราจะต้องถามหาเหตุว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากอะไร

ในเมื่อจิตรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาจากอำนาจของโลภะ เกิดมาจากอำนาจของโทสะ เกิดมาจากอำนาจของโมหะ จิตมันก็จะยอมรับว่าไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ

#เป็นอันว่าจิตรู้ธรรมเห็นธรรม คือเห็นทุกข์ในจิต เห็นสุขในจิต

ในเมื่อจิตเห็นทุกข์คือจิตร้อน เพราะไฟโลภะ โทสะ โมหะ ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไร

เราจะไล่ความร้อนของไฟโลภะ โทสะ โมหะ ให้หายไปอย่างนั้นหรือ เราไม่มีทางจะไปตั้งใจไล่ เพราะจิตของเราเกิดความชินชาต่อการปรุงกิเลส ให้เกิดไฟโลภะ โมหะ โทสะ

#แล้วถ้าไม่มีทางที่จะขับไล่ ไม่มีทางที่จะละ เราจะทำอย่างไร

เราก็ทำสติกำหนดรู้ คือรู้ว่ามันเป็นไฟโลภะ โทสะ โมหะ รู้ว่าฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ มันทำจิตให้ร้อน

ให้ดูความร้อนที่มีอยู่ในจิต ดูความเย็นที่มีอยู่ในจิต จนกระทั่งจิตรู้ซึ้งเห็นจริงลงไป แล้วจิตยอมรับความเป็นจริงว่า ฤทธิ์ของโลภะ โทสะโมหะนี้เป็นไฟเผาให้ร้อน มันร้อนอย่างนี้หนอ

#เมื่อจิตยอมรับความจริงแล้วก็เกิดความเข็ดหลาบในตัวของมันเอง

ภายหลังมันก็จะไม่สร้างเหตุเดือดร้อนให้เกิดขึ้นมาอีก

เปรียบเหมือนคนเรา ที่เราว่าถ่านไฟมันร้อน เมื่อมีใครนำถ่านไฟร้อนมาวางไว้ตรงหน้าเรา แล้วบอกกับเราว่า ดูซิ ถ่านไฟนี้มันสวย ดูซิมันเย็น แต่เรารู้แล้วว่าถ่านไฟนี้มันร้อน เราก็จะไม่ไปจับถ่านไฟนั้น

ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อจิตมันรู้ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ อย่างแท้จริงแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันก็จะไม่ก่อเรื่องให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาอีก มีแต่ค่อยพิจารณาปลดเปลื้องโลภะ โทสะ โมหะ ของเก่าที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง​ เบาบางลงไป

#การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก

การภาวนาพุทโธก็ทำพุทโธให้เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ การภาวนายุบหนอ-พองหนอ ก็ทำยุบหนอ-พองหนอ ให้เป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ การภาวนาสัมมาอรหัง ก็ทำสัมมาอรหังเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติทั้งหลายเหล่านี้ หรืออย่างอื่นๆก็ตาม

ใครภาวนาแล้ว เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็ต้องทำจิตให้เป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาเหมือนกัน

#สมาธิเป็นสัจธรรม เป็นของจริง

ในเมื่อสัจธรรมของจริงคือสมาธิมีอยู่ ใครจะรู้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าไปยึดมั่นอยู่เพียงวิธีการเท่านั้น

#ขอให้ทุกท่านพิจารณาดูความจริงที่จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา

ในขณะที่เราภาวนา สมาธินี้เป็นของจริง ใครจะภาวนาแบบไหน อย่างไร จะเกิดมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด

#และขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งว่า
การรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ดี สิ่งที่เราเห็นในระหว่างจิตมีสมาธิ สงบ สว่าง เราเห็นนิมิตต่างๆ เกิดอุทานธรรมขึ้นมาก็ดี สิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วให้เราทำสติไว้ให้ดี

#เทศนาธรรม ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)







เวลาเราเหลือน้อยลงทุกที อย่าได้ประมาท ให้เร่งภาวนากัน

หลวงพ่อวันชัย วิจิตโต





"..ทุกข์มันก็มีอยู่ ๒ อย่าง
คือ ทุกข์กาย และทุกข์ใจ

ทุกข์กายก็หมายถึง
นี่แหละ นั่งนานก็ทุกข์
ยืนนานก็ทุกข์ เดินนาน
ก็ทุกข์ นอนนานก็เป็น
ทุกข์ มันเกินเวลาของมัน

แต่กายจริงๆ นะ
มันไม่ทุกข์อะไรหรอก
ดินมันก็ไม่รู้ทุกข์รู้สุข
น้ำก็ไม่รู้ทุกข์รู้สุข
ลมก็ไม่รู้ ไฟก็ไม่รู้
ส่วนที่รู้มันไม่ใช่
มันคือ ใจนี่แหละ

ใจมันเข้าไปรู้ ไปยุ่ง
ไปเกี่ยว เราก็เอาสติ
สัมปชัญญะของเรา
นี่แหละไปแก้ ก็บริกรรม
พุทโธๆๆ ไม่ได้คำนึงถึง
ว่าความเจ็บความปวด
มันจะแสบเจ็บแค่ไหน
ก็ช่าง กัดฟันบริกรรม
พุทโธ ๆ ๆ อย่างเดียว
นี่แหละคือวิธี.."

โอวาทธรรม
หลวงปู่ทอง จนฺทสิริ






"ดูหัวใจเจ้าของนั่นซิ อย่าไปดูหัวใจคนอื่น
ไปตำหนิคนนั้น ไปเกลียดคนนี้ ไปชังคนนั้น
ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่เข้าเนื้อเจ้าของทั้งนั้น
ดูเจ้าของมันบกพร่องตรงไหน ดูเจ้าของ
ซ่อมเจ้าของลงไปให้เต็มที่แล้วพอแล้ว เท่านั้นพอ"

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน





"เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไร
คนอื่นก็อยากให้เราทำดีกับเขาอย่างนั้น

ขอให้พยายามคิดถึงความจริงนี้ ให้บ่อยที่สุด
เท่าที่จะมีสตินึกได้ จะเป็นคุณแก่ตนเองอย่างยิ่ง

การคิด พูด ทำทั้งหมด จะเป็นไปอย่างดีที่สุด
ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ






"อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง
เดี๋ยวความตายจะมาถึง
จะเสียใจตามภายหลัง

ความชั่ว อย่าทำเสียเลยดีกว่า
ความดี ทำแล้วดี
ความชั่ว ทำแล้วย่อมเดือดร้อน
ตามภายหลัง

รีบสร้างความดี รีบขัดเกลา
รีบพยายาม อบรมบ่มนิสัย
ให้มันเกิดมันมี ให้มันรู้มันเห็น
มันเป็นมันไป เราไม่ทำแต่เดี๋ยวนี้
จะไปทำเวลาไหน"

หลวงปู่แสง ญาณวโร
ตอบกระทู้