"... แต่ละคนย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดี อยู่ในตัว ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขไม่มีในโลก ให้พิจารณาว่า.... สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่เกิดจากความโกรธ จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปอีก ฉะนั้นผู้ไม่โกรธตอบ ผู้โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก... "
#ธรรมโอวาท #หลวงพ่อพุธ_ฐานิโย
…ต้องฝึกมักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือ..ใช้น้อยๆกินน้อยๆ สันโดษก็คือ..ยินดีตามมีตามเกิด
.มีอาหารอะไรก็รับประทานไป ถ้ารับประทานไม่ลง..ก็จะได้อดอาหาร ได้ดัดสันดานกิเลส
.พอไม่ได้กินมื้อนี้ เดี๋ยวมื้อต่อไป ก็จะกินอะไรก็ได้ ..เพราะหิว อาหารที่ไม่เคยกิน ไม่ชอบกิน ก็จะกินได้เพราะหิว
.แม้แต่ข้าวคลุกน้ำปลา..ก็อร่อย ถ้าไม่ใช้มาตรการอย่างนี้ “ จะไม่ก้าวหน้า “. …………………………………………… จุลธรรมนำใจ ๒๐ กัณฑ์ที่ ๔๐๗ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
มีคนเคยถามเราเรื่องนิกายว่า นิกายทั้งสองมันดีและแตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงลงอุโบสถร่วมกันไม่ได้ นิกายทั้งสองมีความแตกต่างกันตรงที่หมู่ใดคณะใด ปฏิบัติตามธรรมวินัยยิ่งหย่อนกว่ากันนี่คือข้อแตกต่าง ส่วนมากมันจะมาติดอยู่กับหมู่เราคณะของเรา ความจริงมันขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ปฏิบัติต่างหาก มันมิได้อยู่กับหมู่คณะเสมอไป ลูกพ่อเดียวแม่เดียวกัน แต่ละคนดีชั่วแตกต่างกันมันเป็นเรื่องธรรมดา นิกายทั้งสองมันเป็นเรื่องสมมุติ คล้ายกันกับชื่อคนนั้นชื่อคนนี้ มันเป็นการสมมติเรียกขานกันไป ไม่ดี ไม่เลว เพราะชื่อ สิ่งที่สำคัญมันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของแต่ละบุคคลมากกว่า การลงอุโบสถร่วมกันหรือไม่ร่วมกันมันไม่คงที่เสมอไป มันอยู่ที่ตัวบุคคลและหมู่คณะจะตกลงกันได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่จะต้องมายึดมาติด
#โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่ทวี ติสฺสวโร วัดกตัญญูอนุสรณ์ จ.ร้อยเอ็ด
“...คนที่ศึกษาเรียนเอาธรรมะแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติดีนั้นเราต้องทำใจให้ดีไม่ให้ใจมันร้อน ปฏิบัติชอบนั้นทำความถูกต้องให้เกิดมีขึ้นในใจไม่หลงทำผิดคิดผิดพูดผิด ทำอะไรชอบไปด้วยเหตุผลแห่งความจริงนั้นเรียกว่า ปฏิบัติชอบ..”
โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่ทวี ติสฺสวโร วัดกตัญญูอนุสรณ์ จ.ร้อยเอ็ด คัดลอกจาก : หนังสือชีวประวัติพระอาจารย์ทวี ติสฺสวโร หน้าที่ ๒๑๖ บรรทัดที่ ๗
#หลวงปู่จามตอบคำถามบางข้อของพระนวกะรูปหนึ่ง
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์บอกสอนเทศน์ว่าให้เห็นโทษของรูปกายให้เห็น ปฏิกูล อสุภะ อนิจจัง ทุกข์ของรูปกายนี้ แล้วทำไมจึงต้องพากันบำรุงด้วยข้าวด้วยน้ำอยู่ทำไมต้องรักษารูปนี้อยู่หล่ะครับ ?
ตอบ : เป็นเรื่องของนักบวชนะครับ เมื่อคุณมาบวช เมื่อผมมาบวชเมื่อใครๆ มาบวชต่างก็เป็นนักบวชเป็นบรรพชิต ก็ต้องมาศึกษามาประพฤติในเรื่องของผู้บวชควรจะทำ คือละความพอใจในร่างกายตน ในรูปร่างอื่น จนที่สุดให้สิ้นกำหนัดกำเหน่า
แต่การที่ต้องบำรุงบำเรอไว้ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ก็ทำไปตามหน้าที่ของผู้ที่มีชีวิตอยู่ หากไม่รักษาชีวิตแล้วจะเอาชีวิตแล้วจะเอาชีวิตที่ไหนมาทำดี เป็นแต่ว่ามิให้มากไปหนักไปตกไปในด้านรักหลงและด้านจงเกลียดจงชัง
ที่ว่าให้เห็นโทษของรูปกายก็เหตุว่า ร่างกายนี้กายตนบ้าง กายผู้อื่นบ้าง เป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดของทุกข์ของกิเลส ทุกข์ต้องปรนนิบัติดูแลรูปร่างนี้ เมื่อทุกข์ก็ต้องบำบัด และต้องใช้ร่างกายนี้อย่างหนักเพื่อเลี้ยงร่างกายนี้ให้คงอยู่ต่อไป เมื่อมีร่างกายแล้ว กิเลสตัณหานานาประการก็เกิดขึ้นอีกมาก เช่นความกำหนัดความขัดเคือง ความลุ่มหลง มัวเมา ความอยากยิ่งเฉพาะวัยหนุ่มๆ กำหนัด เช่นนี้ ย่อมมีแรงผลักดันจากภายในมาก โหมมากต้องการมาก เพราะเห็นว่าแปลกใหม่ หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุยั่วยวนได้ไว ถูกดึงไปได้ง่ายและที่สำคัญใจจดจ่อกับความสุขทางอารมณ์ ชอบใจในความสำเร็จด้านความรัก ให้ความสำคัญกับการลุล่วงในกามารมณ์เนื้อหนังเป็นอย่างมาก
แต่ความสุขจากกามก็มีอยู่บ้าง แต่น้อยมาก และฉาบฉวย หากแต่มีโทษมีทุกข์มากเป็นที่สุด
แต่ก็อย่างว่า สัตว์โลกทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ยังพอใจในสุขของกามอยู่กามเกิดจากวัตถุ กามเกิดจากกิเลส กามเกิดจากใจ
และเมื่อท่านได้สละมาบวชแล้วเช่นนี้ ผมจึงได้แนะนำว่า ปีติสุขอันเกิดจากวิเวกธรรม เกิดจากศีล เกิดจากความสงบ เกิดจากสมาธิ จากปัญญา จากวิมุตติ จึงอยากให้ทดลองปฏิบัติค้นคว้าดูด้วยตน
ให้ดูให้ดีกายนี้ทวารโดยรอบเป็นแผลใหญ่ มีหนังสดห่อหุ้มปกปิด คายของโสโครกออกมาตลอดเวลา ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ (ช่องคลอดของสตรี) ขี้ตา ขี้หู ขี้ดัง ขี้ปากขี้ฟัน ขี้เหม็น ขี้เยี่ยว ขี้ระดู ทั้งตัวมีขี้ไคล ต้องคอยขัดสี อาบอบ และลูบไล้ด้วยเครื่องฉาบทาต่างๆ อยู่เสมอ จึงพอดูได้ เข้าใกล้กันได้
สรุปว่าผู้ที่ยังมีราคะอยู่ ย่อมหลงใหลใฝ่ปอง แต่ผู้สิ้นราคะแล้ว รูปกายนี้ก็เป็นแต่ที่รวมของซากอสุภะมี ๓๒ อาการ มีไฟมีลมมีอากาศ เจือแทรกอยู่เท่านั้น ไม่เป็นที่เร่าเร้า ไม่เกิดกำหนัดราคะ ขัดเคือง มัวเมา หรือทุกข์ใดๆ ได้อีก เป็นแต่เปรียบกับเรือหรือ รถ คือเป็นพาหนะไปมาข้ามฟากเท่านั้น
ในหนังสือพุทธโอวาทคิริมานนทสูตรขององค์ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ วัดบรมนิวาสที่ผมให้ใส่ใจอ่านศึกษานั้น ก็บอกไว้ว่า พหุทุกฺโข โขอยํกาโย พหุอาทีนโว กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก รวมความว่ามาบวชเพื่อปฏิบัติธรรมให้ไปสู่ความสิ้นความทุกข์ ขอให้พิจารณาให้ดี
๑. กินแล้วนอน แล้วนึกหากาม ๒. กินแล้วศึกษาพระธรรมวินัยยกใจให้พ้นจากทุกข์ใดๆ จะเอาอย่างใด ก็สุขแท้แต่
หลวงปู่จาม
#พิจารณาอสุภะจนบรรลุธรรม #หลวงปู่แสวง #อมโร #วัดป่าชัยวารินทร์
"หลวงปู่แสวง ท่านเล่าว่าโยมพ่อท่านตายไปแล้วเป็นเปรตคืนหนึ่งได้มาหาท่านองค์ท่านเองก็จำไม่ได้ว่าเป็นโยมพ่อท่าน ร่างกายที่มาปรากฏนั้นก็ผ่ายผอมไม่มีเสื้อผ้าใส่
ส่วนสาเหตุที่มาเป็นเปรตตกระกำลำบากนี้ ก็เพราะว่าเคยฆ่าแมวโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากพ่อท่านเป็นช่างลับมีด แล้วแมวมันมากวน โยมพ่อท่านก็เลยตั้งใจเอาสันมีดเคาะไปที่หลังแมว แต่จับด้ามผิดฝั่งกลายเป็นเอาด้านคมไปเฉาะตรงคอแมวเข้า แต่มันไม่ขาดห้อยต่องแต่งอยู่อย่างนั้น
โยมพ่อท่านทุกข์ใจเรื่องนี้มากก่อนตายก็คิดแต่เรื่องนี้จึงได้กลายมาเป็นเปรต
หลวงปู่แสวงท่านก็ทำบุญอุทิศให้โยมพ่อ โดยนำอาหารที่ท่านบิณฑบาตได้นั้นมาใส่บาตรครูบาอาจารย์อีกทีหนึ่งเพื่ออุทิศให้โยมพ่อท่าน และนำจีวรเนื้อดีถวายครูบาอาจารย์
หากจำไม่ผิดท่านนำจีวรไปถวายหลวงปู่มหารักษ์ เรวโตพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ในส่วนของผ้าจีวรนี้ท่านได้มาจากหลวงปู่จวน.กุลเชฏโฐ.ซึ่งก่อนหน้านี้หลวงปู่แสวงได้เป็นผู้ร่วมสร้างสะพานไม้รอบภูทอก แต่มีจุดหนึ่งที่มีสะพานหินธรรมชาติเชื่อมไปยังเขาโดดลูกเล็กที่มีลักษณะคล้ายเห็ดที่แยกตัวออกไปจากภูทอก
หลวงปู่จวนบอกกับลูกศิษย์ว่าใครหาวิธีเชื่อมทางเขา๒ลูกนี้ได้เราจะให้ผ้าจีวรเนื้อดีแก่ผู้นั้น
หลวงปู่แสวงก็หาวิธีจนได้โดยทำเชือกผูกเป็นบ่วงโยนค่อมไปที่เขาลูกนั้น แล้วหย่อนเชือกลงไปให้สามเณรที่ตัวเบาๆผูกกับเอวแล้วค่อยๆไต่ขึ้น ท่านว่าพวกสามเณรนั้นไม่มีใครกลัวต่างก็ชอบเล่นกันเป็นของสนุก ทั้งพระทั้งเณรต่างช่วยกันสกัดหินทำสะพานไม้เชื่อมต่อเขาสองลูกจนสำเร็จ เขาลูกนี้เป็นที่ทราบกันในชื่อว่า"พุทธวิหาร" ซึ่งอยู่บริเวณชั้นที่๕ของภูทอก
ด้วยเหตุนี้หลวงปู่แสวงจึงได้ผ้าจีวรเนื้อดีจากหลวงปู่จวน และได้ทอดผ้าบังสุกุลอุทิศให้โยมพ่อ จึงเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิจากเปรตไปเป็นภูมิเทวดาได้.
หลวงปู่แสวงท่านเล่าอีกว่า สมัยหนึ่งภาวนาอยู่กับหลวงปู่จวน.กุลเชฏโฐ.ช่วงเช้าได้ออกไปบิณฑบาต ระหว่างทางเห็นเศษผ้าขี้ริ้วเก่าๆถูกทิ้งไว้ องค์ท่านก็พิจารณาว่าแต่ก่อนผ้านี้ก็เคยเป็นของใหม่ที่ขาวสะอาด ทุกคนต้องการนำไปใช้สอยได้อยู่ แต่พอใช้ไปนานๆไปผ้าก็เก่าก็ขุ่นมัวเสื่อมสภาพไม่มีใครต้องการ ก็ถูกทิ้งร้างอย่างนี้
ก็เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์เรา แต่ก่อนก็ยังแข็งแรงดีสดชื่นอยู่ เมื่อเจริญวัยใช้งานไปเรื่อย ก็เสื่อมก็ถอยไปตาม สังขารผุเน่าไปไม่มีใครต้องการ
ขณะเดินบิณฑบาตท่านก็พิจารณาธรรมของท่านไปเรื่อยๆพอมาถึงหมู่บ้าน ท่านก็เห็นญาติโยมที่มารอตักบาตรมีร่างกายเป็นอสุภะ มีแผลพุพองเน่าเปื่อยให้ท่านเห็น
หลวงปู่แสวงท่านจะเดินไปที่ไหนๆ ก็มองเห็นเป็นปฏิภาคนิมิต
เมื่อกลับมาถึงวัด จึงได้ไปกราบเรียนหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนท่านก็ให้พิจารณาอสุภะกรรมฐานนี้ไม่ให้ขาด
หลวงปู่แสวงท่านก็พิจารณาอยู่จนติดตาอย่างนี้เรื่อยๆ เพียงไม่กี่วันก็บรรลุธรรม
หมายเหตุ.ประวัติหลวงปู่แสวง อมโร นี้มีผู้ถอด จากเทปที่เคยบันทึกเสียงหลวงปู่เอาไว้เมื่อหลายปีที่แล้วเสียดายที่ไฟล์ต้นฉบับนั้นเสื่อมคุณภาพตามกาลเวลาคงเหลือแต่ที่จดบันทึกนี้ไว้เท่านั้น
ประวัติบางส่วนของ หลวงปู่แสวง อมโร วัดป่าชัยวารินทร์ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
"ความดี กับ ความไม่ดี ขึ้นอยู่กับเหตุ คือเราทำไว้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนพูด"
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
|