พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 27 มี.ค. 2022 7:12 am
อย่าทำตัวเป็นไม้บรรทัด
เที่ยววัดคนอื่น แต่ไม่เคยวัดตัวเอง
อย่าเอาคนอื่นมาเป็นมาวัดกับาเรานะ
เรากับเขามันคนละคน
การปฏิบัติตามธรรมเป็นเรื่องส่วนตัว
ของใครของมัน อย่าเอามาอวดมาอ้างกัน
อย่าเอาเขามาทำให้เราเป็นทุกข์...
คติธรรม
#พระเทพมงคลวชิรมุนี (หลวงปู่หา สุภโร)
ส่วนใหญ่แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะเมตตาทุกคนบนโลกนี้ เราจะรู้สึกเมตตาเฉพาะคนบางส่วนเท่านั้น ไม่นึกอยากให้คนที่เราคิดว่าเขาไม่ดีเป็นสุข ทั้งที่เป็นเรื่องกับเราโดยตรงหรือเป็นคนที่ร้ายต่อส่วนรวม ใครจะอยากไปนึกแผ่เมตตาให้คนเช่นนั้น
แต่เมตตาคือเมตตาทุกคนในโลกนี้ เมตตาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการยกเว้นคนนั้นคนนี้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วย่อมไม่ใช่เมตตาในความหมายของพระพุทธองค์ ภาษาบาลีมีคำว่า “สัพพะ โลกัสมิง” หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิต โอ…มันช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน คนที่มีความสุขในการเบียดเบียนว่าร้ายคนอื่น แล้วเราจะต้องแผ่เมตตาขอให้เขามีความสุข ก็เท่ากับเป็นกำลังใจให้เขาเบียดเบียนว่าร้ายคนอื่นต่อไปน่ะสิ เราจะสามารถแผ่เมตตาให้เขาอย่างจริงใจได้อย่างไร
มันไม่ใช่อย่างนั้น สำหรับผู้ที่เราคิดว่าไม่น่าจะได้รับเมตตาจากเรา เพราะเขาไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราต้องเอาสิ่งไม่ดีของเขานั่นแหละเป็นหลักในการเจริญเมตตา เช่น สำหรับคนที่เห็นแก่ตัว เราก็ขอให้คนเห็นแก่ตัวได้รู้จักความสุขจากการไม่เห็นแก่ตัว หรือขอให้คนที่ชอบเบียดเบียนคนอื่นกลับตัวได้และมีความสุขในการไม่เบียดเบียน ขอให้คนก้าวร้าวได้รู้จักความสุขในความไม่ก้าวร้าว เป็นต้น แทนที่นิสัยไม่ดีของเขาจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราเมตตาไม่ได้ เราก็ใช้จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญในการแผ่เมตตาให้เขาโดยหวังให้เขาได้หลุดพ้นจากสิ่งไม่ดีเหล่านั้น...อย่างนี้ก็น่าจะพอไหว
พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร)
“พระพุทธองค์ ต้องการให้เราเป็นเพื่อน
เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่
ก็กลายเป็นศัตรูกับตัวเองเสียมากกว่า
เพราะขาดความรู้ ในหลักความเจริญ
และความเสื่อมของชีวิต
ทั้งๆ ที่ต้องการความเจริญ ก็ไม่สร้างเหตุ
สร้างปัจจัย ของความเจริญนั้น ทั้งๆ ที่
ไม่ต้องการความเสื่อม ก็สร้างเหตุสร้างปัจจัย
ของความเสื่อมอยู่เรื่อย
พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า
ไม่มีศัตรูที่ไหนร้ายกาจ เท่ากับจิตใจของตน
ที่ขาดการฝึกอบรม และไม่มีเพื่อนที่ดีที่ไหน
ที่ยิ่งกว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว”
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
"เราทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้
อย่าได้เข้าใจว่า เราจะสุขสบาย
มีอายุยืนยาว แต่แท้ที่จริงแล้ว
เราทุกคน อาจตายได้ทุกเวลา
แล้วจะมาคิดเอาเองว่า
เรายังไม่ใกล้ตาย จึงเป็นการคิด
ที่ประมาทอยู่
เราทุกคนยืนอยู่ ก็ยืนรอวันตาย
เราทุกคนเดินอยู่ ก็เดินรอวันตาย
เราทุกคนนอนอยู่ ก็นอนรอวันตาย
ผลที่สุด เราทุกคน ก็ต้องตายแน่นอน
นี่แหละ เราทุกคนอย่าได้เป็นผู้ประมาท
อีกต่อไป จงเตือนตนให้รีบเร่งปฏิบัติธรรม
เจริญสมาธิภาวนา"
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
“อย่าเที่ยวดูถูกใคร อย่าทำร้ายใคร
ด้วยคำพูด และการกระทำ ทุกอย่างคือพลังงาน
ทุกอย่างจะหมุนเข้าหาตัวเอง จงสำรวมกายและใจ”
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
#หลวงปู่สมชายตอบปัญหาการปฏิบัติ #จะรู้อะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ว่าเห็น
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี กราบเรียนถามว่า
"พระนักศึกษาบางรูป ขณะเดินจงกรมได้เห็นร่างกระดูกของตนเองจึงเกิดกลัวขึ้นมา ต้องหยุดการปฏิบัติ อย่างนี้จะแก้อย่างไรครับ"
ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ตอบว่า
"เห็นอะไรก็แล้วแต่ เราต้องทำความเข้าใจแต่เบื้องต้นว่า เราจะรู้จะเห็นอะไรก็สักแต่ว่ารู้ว่าเห็น เราต้องตั้งปัญหาถามตัวเองและบอกตนเองไว้ก่อนว่า เราเห็นอะไรก็ถือว่าเป็นอุคหนิมิตเท่านั้น ขอให้บอกตนเองไว้ก่อนนะครับ
ผมเองเคยได้ประสบอย่างนี้ คือ ผมนั่งๆไปเห็นร่างกระดูกนอนหงายอ้าปาก ผมถามตนเองว่า เอ..กระดูกนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายนะ กระดูกนั้นก็เป็นรูปร่างของผู้หญิงไปครับ ถ้ากระดูกนั้นเป็นรูปผู้หญิง เผื่อมันมากอดเราจะทำอย่างไร มันคิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ ..กระดูกก็ลุกโงนเงนขึ้นมาเลยครับ เอ๊..เห็นทีมันจะเอาเราจริงๆ มันจะมากอดเราจริงๆละกระมัง วิ่งเข้ามากอดจริงๆเลยครับ ผมตกใจเกือบจะวิ่งแล้วครับ เอ๊..นี่มันจะกัดเราหรือไง ..มันก็กัดใบหูดังกึบ ๆ ๆ แหม..ผมจะไปแล้ว ผมจะวิ่งให้ได้เลยครับ แต่ผมทำความเข้าใจไว้แล้วว่า นี่มันอุคหนิมิตเท่านั้น หวนระลึกถึงที่ผมตั้งใจไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นมันเพียงแค่อุคหนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ผมนึกได้แค่นี้แล้วมันก็สงบ ที่มันปล้ำผม มันก็ปล้ำอยู่นั่นแหละ ที่มันกัดหู มันก็กัดอยู่นั่นแหละ แต่ผมก็รู้เท่าทันมัน โดยเป็นเรื่องอุคหนิมิต มันก็หยุด หยุดแล้วก็เลิกกลับไปนอนอยู่เท่านั้นแหละ ผมก็ไม่ได้สนใจ ผมก็พยายามคุมจิตของผมอย่างเดียว จิตของผมจะไปคิดเรื่องอะไร ผมก็บังคับไว้ หยุดจิต ไม่เอา อำนาจของผมมันพอสำหรับตัวเองอยู่แล้ว มันก็ไม่ไปต่อสิ่งใด ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็อยู่ในความสงบ เพราะฉะนั้น ก่อนทำสมาธิต้องทำความรู้เท่าไว้ก่อนว่า เราทำสมาธิก็เป็นอันแล้วกัน บัดนี้อะไรทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นอุคหนิมิตเท่านั้น เราไม่สนใจ เราต้องการจะประคองจิตของเราให้รู้ในจิตของเราว่าชอบในทางอานาปา ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น สิ่งทั้งปวงจะไม่สนเด็ดขาด เราจะรับรู้เฉพาะอย่างนี้อย่างเดียว บังคับให้อยู่ในสิ่งที่เราต้องการ แจ๋ว..อยู่ตลอดเวลาเป็นอันใช้ได้ อันนี้ถึงจะถูกครับ
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"บางท่านสงสัยว่า อุคหนิมิตมันเกิดจากอะไร ทำไมมันจึงเกิดปรากฏขึ้นมาได้ บางท่านก็กลัวกัน บางท่านเคยนั่งเกิดนิมิตขึ้นก็กลัว ไม่อยากทำต่อ มันเกิดจากอะไร นั้นของมันจริงหรือไม่จริงแค่ไหนเพียงใดครับ"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"มันก็มีหลายแบบเหมือนกัน คือ ระหว่างในตัวขณิกะ ในระหว่างช่วงมันมีลักษณะของจิตอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน คือ ลักษณะธรรมดา ก็คือธรรมดา ลักษณะหนึ่ง มันจะอยู่ในลักษณะครึ่งๆสำนึก อันนี้พอนึกถึงอะไรก็เห็นอันนั้นทันที เราจะสันนิษฐานได้ในระหว่างเรากำลังนอนหลับฝัน ถ้าหลับสนิทก็จะไม่ฝัน ครึ่งหลับครึ่งตื่นสะลึมสะลือ กำลังเคลิ้มๆนี่แหละครับฝันแน่ ถ้าตื่นปกติจะไม่ฝัน คิดอะไรก็ไม่ฝันฉันใด ในระหว่างทำสมาธิที่จะเข้าไปสู่ขณิกะนะครับ อย่าลืมว่าครึ่งๆสำนึกของจิตในระหว่างนี้จะเอาละครับ ไม่ใช่ว่าเหนือสำนึกโดยตรงครับ ทีนี้เราพูดแบบไม่ใช่สำนึกแบบฌาน เราพูดเฉพาะแบบในระหว่างจวนจะเข้าสู่ขณิกะ ถ้าเข้าไปถึงขณิกะ เข้าไปแล้วมันเป็นอีกแบบหนึ่งนะครับ ถ้าอยู่ในระหว่างจะเข้าแหล่ไม่เข้าแหล่ สติมันอาจจะขาดๆนิดๆ นึกไม่ได้ นึกอะไรอันนั้นขึ้นมาทันทีเลย เพราะฉะนั้น ที่ว่าเหนือสำนึกจริงๆมันก็ไม่เห็น ลงไปในระหว่างกลางๆ ถ้าเข้าไปถึงจุดของขณิกะจริงๆ มีการดูจริงๆนะครับไม่เป็น ถ้าหากทุกท่านทำความเข้าใจเอาไว้ว่า นี่เราทำสมาธิ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดเป็นอุคหนิมิต ก็เป็นอันแล้วกันไป สรุปแล้วง่ายๆ มันก็เหมือนกันกับว่ามโนภาพนั่นเองแหละครับ มันเป็นขึ้นมาเอง"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"เป็นอันว่า ถ้าหากอุคหนิมิตเกิดขึ้นมา เราก็อย่าไปกลัว เพราะว่าเราฝันขึ้นมาเอง มันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราอย่าไปสนใจมัน มีนักศึกษาบางท่านมีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้น คือ เมื่อสมัยเป็นสามเณร ท่านบอกว่าเคยนั่งได้จนตลอดรุ่ง และบอกว่ามีความสุขมาก เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่พอมาคราวนี้จะให้ได้แบบนั้นอีกมันก็ไม่ได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ได้แบบที่เคยได้มา มันเป็นเพราะเหตุใดครับ"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"อ้อ..ถ้ามีความอยากอยู่ ความอยากมันไม่ได้หรอกครับ ทิ้งความอยากเสียก่อน ประคองจิตของเราให้ได้รับรู้อยู่ในจิตที่ตัวของเรา อย่าไปมัวมองผลของสมาธิ ผู้ที่ทำสมาธิ ถ้าไปพบผลแล้ว โดยมากมักจะประกอบผลและพะวงอยู่ในผลตลอดเวลา แทนที่จะประกอบเหตุกลับไม่ แท้ที่จริงเราก็เข้าสู่ผลอันนั้นเราต้องประกอบเหตุ มันถึงจะเข้าไปสู่ผล เพราะฉะนั้น เราเลิกจากการมองผล กลับมามองเหตุ เหตุนั้นอยู่ตรงไหน เอาเถอะครับ กำหนดลมหายใจเข้าออก มีบริกรรมภาวนาประกอบ เอาจุดที่ตั้งก็ที่ตรงปลายจมูก กำหนดพุทโธ ๆ โดยไม่ต้องมองหรือคำนึงถึงผลที่เคยได้ประสบมา แล้วเมื่อเรากำหนด พุทโธ พุทโธ จนจิตของเราไม่ไปต่ออารมณ์สัญญาภายนอก มันก็จะน้อมเข้าสู่ความสงบได้ง่ายสบายมาก อย่างพวกผมทำนะครับ ที่ผลของสมาธิไม่คำนึง อย่างผมนี้อะไรจะเกิดก็แล้วแต่ ไม่มีสนใจ จนสามารถบังคับให้รับรู้จนถึงจุดที่เราจะต้องการ แจ๋ว..แล้วการแจ๋วนี้จะไม่มีการกด ไม่มีการดัน ไม่มีมึนงงตรงไหนสักอย่าง แต่งได้ถูกต้องหมด กำหนดเป็นอันว่ากำหนดรับรู้อยู่ที่ปลายจมูก แจ๋วอยู่ตลอดเวลา ถึงขนาดนอนบางทีนะทั้งคืนจะไม่ให้หลับก็ได้ จะแจ๋วและมีลมหายใจเข้าออกปกติ รับรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีหรี่ลงหรอกครับ พอตอนเช้าขึ้นมาลืมตาขึ้นมาก็ไม่มึนงง โล่ง..ธรรมดา แต่เรารับรู้ได้ว่าไม่หลับแต่อย่างใด เพราะแจ๋วอยู่ตลอดเวลา ต่อจากนั้นไปการน้อมเข้าสู่ฐานแห่งความสงบง่าย เพราะว่าจิตของเราอยู่ในอำนาจของตัวบังคับของตัวคุ้มครองที่เราเรียกว่า "ตปธรรม" นั้นสมบูรณ์แล้ว การน้อมเข้าสู่ฐานแห่งความสงบนั้นมันง่าย
ทีนี้ลักษณะการน้อม เราก็ย่อมรู้นะครับ พออารมณ์กลมกล่อมแล้วก็จะมองรู้สึกมีลักษณะการลงของจิตมีขึ้นมาทันที มีลักษณะวูบ..วูบ..ลงไป ลักษณะเหมือนอย่างลงลิฟต์ครับ ถ้าสังเกตดีๆมีลักษณะเหมือนลงลิฟต์
ผมขอเล่าอย่างเปิดเผยตามที่ได้ประสบมานะครับ
ลงถึงอันดับที่ 1 มีลักษณะอิ่ม..มันอิ่มเต็มในหัวอกหัวใจ มันอิ่มจริงๆ อิ่ม..อย่างบอกไม่ถูก จะไม่เหมือนอิ่มข้าว มันอิ่มเต็ม ถึงแม้ว่าเราจะออกจากสมาธิไปแล้วก็ตาม การเดินเหินก็จะไม่เหมือนบุคคลธรรมดา เป็นบุคคลสมบูรณ์ สุขุม หนักแน่น การก้าวขา การมองซ้าย แลขวา สุขุม
หากเข้าไปถึงอันดับที่ 2 นะครับ มันจะมีความเมตตาสงสารนึกถึงหมู่คณะเกิดมาเสียชาติเกิดเปล่าๆ ได้มานั่งเสวยผลของสมาธิก็ยังดี อะไรเหล่านี้นึกน้อมลงไปแล้วน้ำตาก็จะไหลครับ แต่อยู่ในอันดับนี้ไม่อยากคุยกับใคร ใครจะมาคุยด้วยก็ไม่เอา รำคาญ ชอบหลบไปนั่งอยู่คนเดียว เคลิ้มๆ
ถ้าเข้าไปถึงอันดับที่ 3 ลงไปจะรู้สึกว่ามันเบา..เหมือนจะเหาะจะลอยอย่างนั้นแหละ เราจะนั่งทั้งคืน มันไม่รู้สึกเหนื่อยหรอกครับ เหมือนๆกับมันลอยอยู่เหนืออาสนะนั่นแหละครับ ไม่มีกดดันเลย เมื่อเรานั่งสมาธิทั้งคืน ลืมตาขึ้นมา ลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนไม่มีเป็นเหน็บหรอกครับ ก็ปกติธรรมดา
ถ้าเราเข้าไปสู่อันดับที่ 4 รู้สึกมัน..เย็นแผ่วๆ..เย็น..เหมือนได้ยาทิพย์มาชะโลม รู้สึกมันเย็นแผ่วๆ อันนี้เอิบอิ่มมาก..อดข้าว อดปลาได้เป็นเดือนๆก็ไม่ผอม อันนี้แปลกมาก แปลกจริงๆ แล้วมีกำลังผิดคนธรรมดา การทำงานทำการอะไรแปลกมาก ที่ผมเคยคุยกับท่านเจ้าคุณฯให้ฟังหลายหนแล้วครับ
ถ้าเราสามารถประคองขึ้นอันดับที่ 5 ได้ เหมือนได้ยาทิพย์ชะโลมทั้งตัว มัน..เย็นซาบซ่านไปทั้งตัว ถ้าคนเป็นโรคประสาท ผมเชื่อว่าถ้าเข้าไปสู่อันดับนี้สัก 5 นาที ถอนออกมาผมว่าพอแล้ว เหมือนถูกชุบประสาทอันนี้ชักจะเริ่มมีสติปัญญา เริ่มมีปัญญา มีความทรงจำดี เข้าใจอะไรถูกต้องขึ้นเป็นลำดับแล้ว
ถ้าอันดับที่ 6 นะครับ อันดับนี้รู้สึกว่ามันแบบโอภาส มันโปร่ง - โล่งไปหมด ตลอดวิถีประสาท คล้ายๆมันมีอุคหนิมิตประกอบ เหมือนกับแสงนีออนขาวโพลนเหมือนๆหมอกโล่งไปหมด
นี่เป็นลักษณะของกามภพ เราเข้าไปเสวยแค่นี้ก็พอแล้ว เราเสวยแค่ 6 ลักษณะในอันดับสมาธิ 3 ฐาน อันนี้เรียกว่าพูดตามประสบการณ์ ไม่ได้พูดตามหลักปริยัติที่ว่าขณิกะ อุปจาระ อัปปนา มีลักษณะเช่นนั้นๆ ผมไม่ได้พูดตามนั้น ตามลักษณะที่เข้าไปแต่ละจุด มันมี 3 จุดใหญ่ๆ แต่มี 6 ลักษณะด้วยกัน
อันนี้ขอให้พยายามมองเหตุ อย่าไปพยายามมองผล อย่าไปมองหาผล อย่าไปจ้องหาผล ให้พยายามมองเหตุ ประกอบเหตุ ผลนั้นจะปรากฏเอง ถ้าไปมองผลหรือว่าต้องการอยู่ในผลแล้ว จะไม่เป็นเลยเด็ดขาด ถึงแม้ลักษณะมันทำท่าจะเป็นพอวาบทีเดียวก็หายแล้ว มันเป็นอย่างนี้ครับ"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"มันมีลักษณะบางอย่างเกิดขึ้นกับผู้บำเพ็ญใหม่ๆ เช่น เมื่อนั่งๆไปเกิดอาการคันตามใบหน้า เหมือนกับมีไร มีมด มีแมลงมาไต่ตอม พอปัดดูก็ไม่มีแล้ว ก็มีเหตุการณ์แบบนี้จะเป็นอยู่บ่อยๆ จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่บำเพ็ญใหม่ๆ มันจะหายไปได้อย่างไร"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"อันนี้ก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่ครับ เราทำความรู้เท่าทันหน่อยหนึ่งเท่านั้นเองครับ ก็มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึก เป็นความเข้าใจของเราเอง มันเป็นกับผมบ่อยๆ บางทีมันก็เหมือนยุงมากัดที่ปาก นี่ในขณะที่ทำใหม่ๆนะครับ เหมือนๆกับมันกัดมันแทงเข้าไปจริงๆ พอเราลองเอามือลูบก็ไม่มีอะไร บางทีเหมือนกับมดมันขึ้นมา มดดำ มดคันเหมือนมันไต่ขึ้นมา ลองๆดูซิว่ามันจะไต่ไปแค่ไหน เหมือนกับมันกัดไปหมดทั้งตัว พอลืมตาขึ้นมาดูก็ไม่มี มันเป็นเพียงความรู้สึกของเรา นึกอะไรขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้นไปเลย เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เราสร้างอำนาจของสมาธินี้ ซึ่งเป็นตัวบังคับขึ้นมาพอสมควรแล้ว เรานึกอย่างไหนมันก็อย่างนั้น นึกว่ามดกัดก็กัด นึกถึงภาพเป็นภาพ นึกเป็นอย่างไรก็อย่างนั้นแหละครับ ของมันนึกได้ เพราะฉะนั้น เราทำความรู้เท่าที่ว่าอันนี้เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่เรื่องจริง มันก็หมดไป"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"ขอย้ำอีกทีว่า ความรู้สึกมันจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ว่ามันคัน ไม่หาย ต้องไปลูบไปเกามันหรือไม่สนใจมัน มันไม่หายจะทำอย่างไร"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"มันเป็นอุปาทาน ให้เรารู้เท่าทันว่าเป็นอุปาทาน ให้มันแน่ชัดลงไป มันจะหยุดทันที"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"มันเป็นอยู่อย่างนี้สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆ จะเกิดมากๆ พอนั่งหลับตาภาวนา บางทีได้ 3 นาที ใจก็ไปอีกแล้ว พอดึงกลับมาได้ มันก็ไปอีกแล้ว ทำอย่างนี้บ่อยที่สุด จะมีวิธีใดอย่างไรจะหยุดได้ไว และจะให้มันอยู่ อยู่กับที่ได้นานๆ
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"อันนี้ก็มีอยู่ว่า โดยมากผู้ปฏิบัติก็มักจะมีความโมโหเข้าประกอบ พอจิตมันไปเราก็ดึงกลับมา มันก็ยังไปอีกมาเป็นบ่อยๆมันก็ชักจะเอาละครับ ชักจะมีอารมณ์หงุดหงิด อาการหงุดหงิดชักจะแทรกกันละทีนี้ ยิ่งเอาเลยชักจะแห เขาเรียกว่า แห ภาษาเมืองจันท์เขาเรียกว่าแห กับภาษาอีสาน แหใหญ่เลยครับ จับไม่อยู่ เพราะฉะนั้นการทำสมาธิต้องนิ่มนวล ถ้าเรากำหนดรู้ว่านี่เป็นสมาธิ เราจะทำใจดีๆไว้ เอาละทีนี้กำหนดใหม่ ทำใจเย็นๆ สบายๆ อย่าให้มีอารมณ์โมโหเข้ามาประกอบ ง่ายกว่าอะไรทั้งหมดแล้ว การกำหนดนั้นเราต้องกำหนดแบบที่เรียกว่า อย่าไปคิด อย่าไปค้น รับรู้เฉยๆ ก็จะสบายมาก สบายโปร่ง และก็พยายามสังเกตอยู่เรื่อยๆในเวลาพักบำเพ็ญ เมื่อเรากำหนดที่ลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีอาการเพ่งหรือกดดันตัวเอง เราจะมีความรู้สึกหลายอย่าง เช่น มีอาการมึนชา งงศีรษะ อันนี้อย่าปล่อยเด็ดขาดเดี๋ยวได้เรื่อง ให้กำหนดใหม่ เพียงรับรู้เฉยๆ ไม่เพ่ง ไม่กดดัน จะสบายโล่ง หรือกำหนดไปแล้วคอมันแห้ง ไม่มีน้ำลาย จะไออยู่ท่าเดียว หรือกำหนดแล้วจะมีน้ำลายสอ ไหลไม่หยุด ไหลอยู่เรื่อยๆ อยู่ทั้งกะปี เพราะไปกดต่อมน้ำลาย อันนี้ใช้ไม่ได้ ในเมื่อกำหนดลงไปแล้ว จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ โล่งสบาย อันนั้นถึงแม้ประคองจิตก็ดีกว่าอะไรทั้งหมด ง่าย.. ถ้าเรามีการเก๊กกดดันไม่สบายตั้งแต่เริ่มต้น เราก็เริ่มบังคับจิตของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้นทำให้ถูก ทำให้นิ่มนวล อย่าให้มีอารมณ์โมโห แล้วอย่าให้มีอาการเก็บหรือกดดัน อย่างเดียวอันนี้จำไว้ให้ดี"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"นั้นเป็นวิธีที่แยบคายอันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านองค์ใด หรือนักศึกษารูปใดเกิดแบบนี้เข้าก็ทดลองดูเพื่อว่าจะได้ผล แต่ทีนี้สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องสำหรับการปฏิบัติของตนก็ว่าต้องการส่วนนี้ แต่ว่ายังไม่มีความชำนาญ โดยเฉพาะการเดินจงกรม นั่งสมาธิ บางท่านก็หลับ บางท่านก็นั่งอย่างเดียว บางท่านก็เดินอย่างเดียว ทางที่ดีก็ควรจะทำอย่างไร"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"อันนี้ถ้าจะว่าในทางที่ดี ตามที่ผมได้ศึกษามาจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ มันก็อยู่ที่สุขภาพเหมือนกัน แต่ในทางที่ดีแล้ว ควรจะให้สม่ำเสมอกัน เดิน นั่ง ยืน นอน การนอนทำสมาธิ ยืนทำสมาธิ นั่งทำสมาธิ หรือเดินจงกรมนี้ ผมก็เชื่อว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ (พระนักศึกษา) ท่านต้องเข้าใจ แต่เราต้องประกอบให้พร้อมทั้ง 4 อริยาบถให้สม่ำเสมอกัน แต่มันก็แปลกอยู่นิดหนึ่ง โดยมากครูบาอาจารย์ก็มักจะสอนแบบเหมือนๆกัน โดยเฉพาะหลวงปู่มั่นแล้ว ตามที่ผมได้ศึกษามา ท่านให้สัมผัสรับรู้ในการก้าวเหยียบนะครับ สมมุติว่านั่ง เรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก ยืนก็เหมือนกัน นอนก็เหมือนกัน แต่เดินให้เปลี่ยนสัมผัสในการเดินก้าวเหยียบ ก้าวขาขวาพุท ขาซ้ายโธ
สมมุติทางเดินจงกรมว่า ถ้าเราจะเดินไปหาตู้ (ประมาณ25ก้าว) เราก็หันหน้าตรงๆ เดินบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ การวางมือก็วางมือซ้ายก่อนโดยคว่ำลงแล้วเอามือขวาวางทับ แล้วก็เดินอย่าเร็วนัก อย่าช้านัก พอก้าวไปสุดปลายทางก็หยุดสักหน่อยหนึ่ง แล้วก็หมุนตัวไปทางขวา ไม่ใช่ทางซ้าย พอหันกลับมาตรงก็ก้าวขาขวาอีกพุท ขาซ้ายโธ กำหนดพุทโธ ๆ ๆ จนกระทั่งถึงสุดทางนี้ ก็ยืนนิดหนึ่งแล้วก็หันกลับไปกลับมา ทอดสายตาไกลนักก็ไม่ดี ใกล้นักก็ไม่ดี อันนี้มันอยู่ที่ประสาท จะไปกำหนดอยู่ตายตัวไม่ได้ ต้องให้พอดีๆ เราก็มองสายตาลงแล้วก็เดินไปเรื่อยๆ อย่าหลับตาเดิน แต่บางองค์ท่านก็เดินหลับตาแล้วก็เป๋ไปเป๋มา ก็ไม่ดีครับ บางท่านบางองค์ขึงด้ายสายสิญจน์เลยก็มีครับ พอหลับตามือก็รูดไปตามด้ายสายสิญจน์อันนี้ไม่ได้นะครับ มันก็ต้องลืมตาอยู่นั่นเอง และก็กำหนดพุทโธๆเหมือนกัน
ทีนี้อย่าว่าแต่เพียงเดินเลยครับ แม้แต่นั่งก็เหมือนกัน นั่งสมาธิไม่ใช่นั่งจนตัวตรงเลยทีเดียว นั่งตรงทีเดียวนั้นก็ไม่ดี ต้องหย่อนเอาแค่พอดีๆที่สุด เอาแค่สบายที่สุด สบายแค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละครับ กำหนดลมหายใจเข้าออกพอดีๆอีก ไม่หนัก ไม่เบาเกินไป เพราะการทำสมาธิไม่ใช่วิธีเก๊กหรือกดดัน ไม่ใช่วิธีบังคับ เป็นวิธีที่ทำด้วยความแยบคาย อยู่ในลักษณะสบายๆ ไม่มีการกดดันในการทำสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นสมาธิแล้ว เป็นอุบายที่เราจะแก้จิตของเรา ในระหว่างที่เราจะลุ่มหลงด้วยผลของสมาธิก็ดี ในระหว่างที่เห็นผลของสมาธิแล้ว จะนำออกใช้ภายนอกเพื่อฤทธิ์เดช เพื่ออวดอ้างต่างๆ เพื่อลาภสักการะ เพื่อคำสรรเสริญเยินยอก็ดี เพื่ออุบายวิธีที่จะเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นประมุขประธาน เป็นความคิดที่อยู่ในอำนาจกิเลส มันก็จะมีความคิดอย่างนี้ พอได้คิดอย่างนี้ก็เอาล่ะครับทีนี้ เห็นสิ่งมหัศจรรย์จะเอาแสดงออก อย่างนี้ก็ต้องรีบแก้ไขหักห้ามทั้งหมด ความรู้จักหักห้ามของตัวเองว่าเรามีนิสัยอย่างไร สมควรที่เราจะทำอะไรก่อนแค่ไหน ขนาดไหน ประโยชน์นั้นมันไม่ใช่ของที่เราจะต้องทำก่อน เราจะต้องห้ามปรามเสมอ มันถึงจะไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามผลของสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเป็นไปได้ทุกอย่าง อันนี้มันถึงจะทำไปได้ตลอด"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"คือว่าบางท่านเร่งความเพียรมากๆ สมมุติว่าผู้ฝึกใหม่ๆ คือ อยากทราบว่าจะต้องใช้เวลาพักผ่อนประมาณเท่าใดจึงจะเหมาะ"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"อันนี้ก็อยู่ที่สุขภาพ ถ้าสุขภาพอยู่ในลักษณะปกติดี กลางคืน 4 ชั่วโมงกำลังดี
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"ถ้าหากว่าสมาธิดีแล้วทั้ง 24 ชั่วโมง จะพักได้กี่ชั่วโมง
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"คือตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงบ่าย 2 (ตี2) ก็จะดี"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"ส่วนกลางวันจะพักเท่าใด"
ท่านพระอาจารย์สมชายฯ
"ในสมัยนั้นผมไม่ได้นอนกลางวัน จะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม ผมไม่นอนเด็ดขาด ผมเอาเฉพาะกลางคืนแค่ 4 ชั่วโมงพอแล้ว แถมบางคืนผมก็ไม่ได้นอนเอาเสียด้วย เพราะสุขภาพของผมดี และก็มีสมาธิมีส่วนช่วยผมอยู่"
ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี
"ฉะนั้น เป็นอันว่าวันนี้นักศึกษาได้รับคำอธิบายจากท่านอาจารย์ได้หลายอย่าง นับว่าเป็นความกรุณาของท่านที่ได้ให้ความเข้าใจ เป็นกำลังใจของผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ในนามของทางมหาวิทยาลัย ขอขอบคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาอธิบายเป็นกำลังใจแก่นักศึกษาในวันนี้"
*ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิกวี กล่าวในที่สุด*
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.