Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สุขเวทนา

อังคาร 05 เม.ย. 2022 5:05 am

" จิตนี่มีพลังนะ เหมือนน้ำตอนที่ฝนตกไม่ได้เก็บกักก็ไหลเรื่อยเปื่อยหายไปหมด แต่ถ้าเก็บกักรวมกันเป็นเขื่อน พลังกระแสน้ำก็รวมตัวปั่นเป็นกระแสไฟได้ ก็เหมือนกระแสจิตของเรานี่แหละ กลับไปฝึกจิต นั่งสมาธิมากๆนะ "

โอวาทธรรมองค์หลวงปู่สงวน ยุตตธัมโม วัดธุดงคนิมิต (เขาพุรางล่าง) จ.กาญจนบุรี







…คนที่ศึกษามาก
มีความรู้จากการอ่านมาก
มักจะไม่ค่อยภาวนาเท่าไร
จะใช้ปัญญาอย่างเดียว
“ ไม่ทำจิตให้สงบ “

.เมื่อจิตไม่สงบ
ปัญญาก็เป็นปัญญาแบบฟุ้งซ่าน
แบบตัดกิเลสไม่ขาด
รู้แล้วก็หลงอยู่กับความรู้นั้น

.เพราะไม่รู้ว่า..ทำไปเพื่ออะไร
ให้ไปถึงจุดไหน.

……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๓ กัณฑ์ที่ ๒๓๓
๓๐ มกราคม ๒๕๔๙






“ถ้าเราเห็นว่าสิ่งใด จะทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง
หรือยินดีในกิเลสมากขึ้น เราก็ควรเก็บหัวเก็บขา
เข้าไปในกระดอง ไม่ให้มารมาทำลายเราได้

ยอมอยู่ในกระดองอย่างนั้นแหละ จนกว่ามาร
มันจะผ่านพ้นไป”

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ






"เมตตากรุณา ถ้าขาดอุเบกขา ก็ยังเป็นทุกข์อยู่"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก





"หัดพูดแต่คำวาจาที่ประสานมิตรไมตรีจิต
ต่อกันและกัน ไม่ไปยุให้รำ ตำให้รั่ว ไม่ไปยุยง
ให้ใครทะเลาะวิวาท แตกร้าวสามัคคีกัน

พูดแต่วาจานิ่มนวลอ่อนหวาน ต่อบุคคลทั่วไป
เว้นจากการพูดคำหยาบโลนต่างๆ พูดแต่เรื่อง
ที่เป็นประโยชน์ต่อตน และผู้อื่น

เรื่องใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนและผู้อื่นแล้ว
ก็ไม่พูด เพราะเสียเวลาไปเปล่าๆ นิ่งเสียดีกว่า"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ






#เรียงลำดับอริยภูมิ
#หลวงตามหาบัว

ผู้สำเร็จชั้นพระโสดา ท่านกล่าวไว้ว่า ละสังโยชน์ได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิหนึ่ง วิจิกิจฉาหนึ่ง สีลัพพตปรามาสหนึ่ง สักกายทิฏฐิที่แยกออกตามอาการของขันธ์มี ๒๐ โดยตั้งขันธ์ห้าแต่ละขันธ์ ๆ เป็นหลักของอาการนั้น ๆ ดังนี้ ความเห็นกายเป็นเรา เห็นเราเป็นกาย คือเห็นรูปกายของเรานี้เป็นเรา เห็นเราเป็นรูปกายอันนี้ เห็นรูปกายในอันนี้มีในเรา เห็นเรามีในรูปกายอันนี้ รวมเป็น ๔ เห็นเวทนาเป็นเรา เห็นเราเป็นเวทนา เห็นเวทนามีในเรา เห็นเรามีในเวทนา นี่ก็รวมเป็น ๔ เหมือนกันกับกองรูป แม้สัญญา สังขาร วิญญาณก็มีนัย ๔ อย่างเดียวกัน โปรดเทียบกันตามวิธีที่กล่าวมา คือขันธ์ห้าแต่ละขันธ์มีนัยเป็น ๔ สี่ห้าครั้งเป็น ๒๐ เป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ มีตามท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาด

แต่ทางด้านปฏิบัติของธรรมะป่า รู้สึกจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เฉพาะสักกายทิฏฐิ ๒๐ นอกนั้นไม่มีข้อข้องใจในด้านปฏิบัติ จึงเรียนตามความเห็นของธรรมะป่าแทรกไว้บ้าง คงไม่เป็นอุปสรรคแก่การฟังและการอ่าน เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางปลดเปลื้องตามนัยของสวากขาตธรรมแล้วก็กรุณาผ่านไป อย่าได้ถือเป็นอารมณ์ขัดข้องใจ ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้เด็ดขาดนั้น เมื่อสรุปแล้วก็พอได้ความว่า ผู้มิใช่ผู้เห็นขันธ์ห้าเป็นเรา เห็นเราเป็นขันธ์ห้า เห็นขันธ์ห้ามีในเรา เห็นเรามีในขันธ์ห้า คิดว่าคงเป็นบุคคลประเภทไม่ควรแสวงหาครอบครัว ผัว-เมีย

เพราะครอบครัว (ผัว-เมีย) เป็นเรื่องของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นรวงรังของสักกายทิฏฐิที่ยังละไม่ขาดอยู่โดยดี ส่วนผู้ละสักกายทิฏฐิได้โดยเด็ดขาดแล้ว รูปกายก็หมดความหมายในทางกามารมณ์ เวทนาไม่เสวยกามารมณ์ สัญญาไม่จำหมายเพื่อกามารมณ์ สังขารไม่คิดปรุงแต่งเพื่อกามารมณ์ วิญญาณไม่รับทราบเพื่อกามารมณ์ ขันธ์ทั้งห้าของผู้นั้นไม่เป็นไปเพื่อกามารมณ์ คือประเพณีของโลกโดยประการทั้งปวง ขันธ์ห้าจำต้องเปลี่ยนหน้าที่ไปงานแผนกอื่นที่ตนเห็นว่ายังทำไม่สำเร็จ โดยเลื่อนไปแผนกรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้โดยเด็ดขาด คิดว่าเป็นเรื่องของพระอนาคามีบุคคล เพราะเป็นผู้หมดความเยื่อใยในทางกามารมณ์ดังกล่าวแล้ว ส่วนพระโสดาบันบุคคลคิดว่าท่านรู้และละได้โดยข้ออุปมาว่า มีบุรุษผู้หนึ่งเดินทางเข้าไปในป่าลึก ไปพบบึงแห่งหนึ่งมีน้ำใสสะอาดและมีรสจืดสนิทดี แต่น้ำนั้นถูกจอกแหนปกคลุมไว้ ไม่สามารถจะมองเห็นน้ำโดยชัดเจน เขาคนนั้นจึงแหวกจอกแหนที่ปกคลุมน้ำนั้นออก แล้วก็มองเห็นน้ำภายในบึงนั้นใสสะอาดและเป็นที่น่าดื่ม จึงตักขึ้นมาดื่มทดลองดู ก็รู้ว่าน้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทดี เขาก็ตั้งหน้าดื่มจนเพียงพอกับความต้องการที่เขากระหายมาเป็นเวลานาน เมื่อดื่มพอกับความต้องการแล้วก็จากไป ส่วนจอกแหนที่ถูกเขาแหวกออกจากน้ำก็ไหลเข้ามาปกคลุมน้ำตามเดิม

เขาคนนั้นแม้จากไปแล้วก็ยังมีความติดใจ และคิดถึงน้ำในบึงนั้นอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เขาเข้าไปในป่านั้น ต้องตรงไปที่บึงและแหวกจอกแหนออก แล้วตักขึ้นมาอาบดื่มและชำระล้างตามสบายทุก ๆ ครั้งที่เขาต้องการ เวลาเขาจากไปแล้วแม้น้ำในบึงนั้นจะถูกจอกแหนปกคลุมไว้อย่างมิดชิดก็ตาม แต่ความเชื่อที่เคยฝังอยู่ในใจเขาว่า น้ำในบึงนั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์หนึ่ง น้ำในบึงนั้นใสสะอาดหนึ่ง น้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ของเขาจะไม่มีวันถอนตลอดกาล

ข้อนี้ เทียบกันได้กับโยคาวจร ภาวนาพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายชัดเจนด้วยปัญญาในขณะนั้นแล้ว จิตปล่อยวางจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หยั่งเข้าสู่ความสงบหมดจดโดยเฉพาะ ไม่มีความสัมพันธ์กับขันธ์ทั้งหลายเลย และขณะนั้น ขันธ์ทั้งห้าไม่ทำงานประสานกับจิต คือต่างอันต่างอยู่ เพราะถูกความเพียรแยกจากกันโดยเด็ดขาดแล้ว ขณะนั้นแลเป็นขณะที่เกิดความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมาอย่างไม่มีสมัยใด ๆ เสมอเหมือนได้ นับแต่วันเกิดและวันปฏิบัติมา แต่ก็ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นในเวลานั้น จิตก็ได้ทรงตัวอยู่ในความสงบสุขชั่วระยะกาล แล้วจึงถอนขึ้นมา พอจิตถอนขึ้นมาจากที่นั้นแล้ว ขันธ์กับจิตก็เข้าประสานกันตามเดิม

แต่หลักความเชื่อมั่นว่าจิตได้หยั่งลงถึงแดนแห่งความสงบอย่างเต็มที่หนึ่ง ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แยกจากจิตโดยเด็ดขาดในเวลานั้นหนึ่ง ขณะจิตที่ทรงตัวอยู่ในความสงบเป็นจิตที่อัศจรรย์ยิ่งหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ไม่มีวันถอนตลอดกาล เพราะความเชื่อประเภทอจลศรัทธา ความเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตามคำเล่าลือ โดยหาหลักฐานและเหตุผลมิได้ และเป็นความเชื่อมั่นประจำนิสัยของโยคาวจรผู้นั้น จากประสบการณ์นั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญต่อไปเช่นที่เคยทำมาด้วยความดูดดื่มและเข้มแข็ง เพราะมีธรรมประเภทแม่เหล็กซึ่งเป็นพลังของศรัทธาประจำภายในใจ จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบสุขและพักอยู่ตามกาลอันควร ทำนองที่เคยเป็นมา แต่ยังไม่สามารถทำใจให้ขาดจากความซึมซาบของขันธ์ได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น แม้เช่นนั้น ก็ไม่มีความท้อถอยในทางความเพียรเพื่อธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

ส่วนคุณสมบัติประจำใจของพระโสดาบันบุคคลนั้น คือหลักความเชื่อมั่นประเภทอจลศรัทธา เป็นผู้เชื่อมั่นต่อผลที่รู้เห็นประจักษ์ใจแล้ว และเชื่อมั่นต่อคุณธรรมเบื้องสูงที่ตนยังไม่รู้ไม่เห็น สมานตฺตตา ความเป็นผู้วางตนเสมอ ไม่ถือตัวด้วยมานะชนิดใดชนิดหนึ่งกับคนทุกชั้น เป็นผู้มีธรรมครองใจ ไม่ถืออะไรให้ยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่เห็นว่าถูกต้องด้วยเหตุผล พระโสดาบันบุคคลยอมรับและปฏิบัติตามทันที ไม่ยอมฝ่าฝืนหลักความจริง ไม่ว่าพระโสดาบันบุคคลจะเป็นคนชาติ ชั้น วรรณะใด ย่อมให้ความสนิทสนมและความสม่ำเสมอกับคนทั่วไปไม่ลำเอียง

แม้คนชั่วที่เคยประพฤติตัวไม่ดีมาแล้วตลอดสัตว์ดิรัจฉาน พระโสดาบันบุคคลก็ไม่รังเกียจ โดยเห็นว่าเขากับเราตกอยู่ในวงแห่งกรรมดี-ชั่วเหมือนกัน ใครมีกรรมประเภทใดจำต้องยอมรับตามหลักกรรมที่ตนทำมา และยอมรับตามหลักความจริงที่เขาทำ หรือเขายกเหตุผลขึ้นมาอ้างโดยถูกต้องในขณะนั้น โดยไม่ต้องรื้อฟื้นอดีตคือความเป็นมาของเขา ตลอดชาติ ชั้น วรรณะมาเป็นอุปสรรคต่อความจริงที่ตนเห็นว่าถูกต้อง รีบยึดถือมาเป็นคติทันที นี้เป็นหลักธรรมประจำอัธยาศัยของพระโสดาบันบุคคล

ถ้าคำที่กล่าวมาด้วยความจนใจทั้งนี้เป็นการถูกต้อง พระโสดาบันบุคคลแสวงหาครอบครัวผัว-เมีย ก็ไม่ขัดข้องต่อประเพณีของผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ อันเป็นรวงรังของกามารมณ์ยังไม่ได้เด็ดขาด สักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่พระโสดาบันในทางครอบครัว เพราะเป็นคนละชั้น

พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันแม้จะเป็นฆราวาส ก็เป็นผู้แน่วแน่ในศีลที่ตนรักษาอยู่ ไม่รับศีลแล้วรับศีลเล่าเหมือนสามัญชน เพราะท่านเชื่อเจตนาของตนและรักษาศีลด้วยความระมัดระวัง ไม่ยอมให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยด้วยเจตนาล่วงเกิน แม้จะเป็นผู้นำหน้าของหมู่ชน ก็เพียงรับเป็นจารีตของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น แต่เจตนาจะรับเพราะเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีศีลขาดหรือด่างพร้อยนั้น ไม่มีในพระโสดาบันบุคคลเลย

พระสกิทาคา ท่านว่าทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาลง นี่ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงนี้

พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ คือ ๓ กับที่ผ่านมาแล้วและละเพิ่มได้อีก ๒ ข้อ คือกามราคะ ความยินดีในประเพณีของโลก และปฏิฆะความหงุดหงิดใจ ส่วนกามราคะนั้นอยู่ในวงของรูปกาย ตามความเห็นของธรรมะป่าว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ นั่นแลเป็นบ่อของกามราคะแท้ ควรเป็นภาระของพระอนาคามีเป็นผู้ละได้โดยเด็ดขาด เพราะผู้จะก้าวขึ้นสู่ภูมิอนาคามีโดยสมบูรณ์ จำต้องพิจารณาขันธ์ห้าโดยความรอบคอบด้วยปัญญา แล้วผ่านไปด้วยความหมดเยื่อใย คือสามารถพิจารณาส่วนแห่งร่างกายทุกส่วน เห็นด้วยความเป็นปฏิกูลด้วย โดยความเป็นไตรลักษณ์ด้วย ประจักษ์กับใจ จนทราบชัดว่าทุกส่วนในร่างกายสะท้อนนี้มีความปฏิกูลเต็มไปหมด

ความปฏิกูลของร่างกายที่ปรากฏเป็นภาพอยู่ภายนอก กลับย้อนเข้ามาสู่วงของจิตภายในโดยเฉพาะ และทราบชัดว่าความเป็นสุภะทั้งนี้ เป็นเรื่องของจิตออกไปวาดภาพขึ้นมา แล้วเกิดความกำหนัดยินดีก็ดี ความเป็นอสุภะที่จิตออกไปวาดภาพขึ้น แล้วเกิดความเบื่อหน่ายและอิดหนาระอาใจต่อความเป็นอยู่ของร่างกายทุกส่วนก็ดี ในภาพทั้งสองนี้จะรวมเข้าสู่จิตดวงเดียว คือมิได้ปรากฏออกภายนอกดังที่เคยเป็นมา จิตได้เห็นโทษแห่งภาพภายนอกที่ตนวาดขึ้นอย่างเต็มใจ พร้อมทั้งการปล่อยวางจากสุภะและอสุภะภายนอก ที่เกี่ยวโยงกับส่วนร่างกายที่ตนเคยพิจารณา ถอนอุปาทานความถือกายออกได้โดยสิ้นเชิง เรื่องของกามราคะซึ่งเกี่ยวกับกายก็ยุติลงได้ ในขณะที่ถอนจิตถอนอุปาทานจากกาย โดยผ่านออกระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน หมดความเยื่อใยในสุภะและอสุภะทั้งสองประเภท

ปฏิฆะ ความหงุดหงิดของใจ ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีแปลกต่างและข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

อันดับสี่คือ อรหัตภูมิ ท่านว่าละสังโยชน์ได้ ๑๐ คือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ที่กล่าวผ่านมาแล้ว กับสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูป ไม่ได้หมายถึงรูปหญิง รูปชาย และรูปพัสดุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นของภายนอกและเป็นส่วนหยาบ ๆ แต่หมายถึงนิมิตที่ปรากฏกับจิตอยู่ภายในโดยเฉพาะ คือภาพที่ได้จากภายนอกตามที่กล่าวผ่านมา ซึ่งย้อนกลับเข้ามาอยู่ในวงของจิตโดยเฉพาะ ผู้พิจารณาจำต้องถือนิมิตนี้เป็นอารมณ์ของจิต หรือเป็นเครื่องเพ่งเล็งของจิต จะว่าจิตยินดีหรือติดรูปฌานก็ถูก เพราะจิตชั้นนี้ต้องทำการฝึกซ้อมความเข้าใจเพื่อความชำนาญอยู่กับนิมิตภายใน โดยไม่เกี่ยวกับกายอีกเลย จนเกิดความชำนิชำนาญในการปรุงและทำลายภาพภายในจิต ให้มีการปรากฏขึ้นและดับไปแห่งภาพได้อย่างรวดเร็ว

แต่การเกิด-ดับของภาพทั้งนี้เป็นการเกิด-ดับอยู่จำเพาะใจ มิได้เกิด-ดับอยู่ภายนอกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งจิตกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับกายเลย แม้ความเกิดดับของภาพภายใน เมื่อถูกสติปัญญาจดจ้องเพ่งเล็งอยู่ไม่หยุด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยลำดับ ความเกิด-ดับของภาพชนิดนี้ นับวันและเวลาเร็วเข้าทุกทีจนปรากฏเหมือนฟ้าแลบแล้วดับไป ผลสุดท้ายก็หมดไป ไม่มีนิมิตเหลืออยู่ภายในใจเลย พร้อมทั้งความรู้เท่าทันว่า ภาพนี้ก็มีความสลายไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่น ๆ จากนั้นก็เป็นสุญญากาศว่างเปล่า ไม่มีนิมิตภายในจิต แม้ร่างกายจะทรงตัวอยู่ แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเป็นความว่างเปล่าไปหมด ไม่มีภาพใด ๆ เหลืออยู่ภายในจิตเลย

อรูปราคะ คือความยินดีในสุขเวทนาหรืออรูปฌาน ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้

มานะ ความถือ แยกออกเป็นมานะ ๙ คือความสำคัญใจ ๙ อย่าง เช่นตัวมีภูมิธรรมต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ตนมีภูมิธรรมเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง และตนมีภูมิธรรมยิ่งกว่าเขา แต่สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ความสำคัญทั้งนี้เป็นการผิดทั้งนั้น ถ้าพูดตามธรรมชั้นสูง เพราะความสำคัญเป็นเรื่องของกิเลส จึงควรแก้ไขจนไม่มีอะไรมาแสดงความสำคัญภายในใจ จะชื่อว่าเป็นใจที่บริสุทธิ์เพราะหมดความคะนองส่วนละเอียด

อุทธัจจะ คือความฟุ้งของใจ นี้ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านแบบสามัญชนทั่ว ๆ ไป แต่เป็นกิริยาแห่งความขยันหมั่นเพียรและเพลิดเพลินของพระอริยเจ้าชั้นนี้ ท่านทำการขุดค้นหาต้นตอของวัฏฏะด้วยสติปัญญาอันแหลมคมของท่านต่างหาก แต่การทำทั้งนี้รู้สึกจะมุ่งสำเร็จให้ทันกับความหวังของใจที่มีกำลังกล้าต่อแดนพ้นทุกข์ จึงไม่ค่อยคำนึงถึงมัชฌิมา คือความพอดี ได้แก่การพักผ่อนจิตให้เข้าสู่ความสงบสุขคือสมาธิ เพราะปัญญาชั้นนี้คิดไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นทางถอดถอนกิเลสอาสวะโดยลำดับ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้พิจารณามีความเพลินต่องานของตน จนลืมพักจิตในความสงบคือสมาธิ เพื่อเป็นกำลังทางด้านปัญญาต่อไป เพราะเห็นว่าการพักจิตในสมาธิก็ดี การพักหลับนอนก็ดี เป็นการเนิ่นช้าต่อทางดำเนิน ฉะนั้น จิตจึงมีความเร่งรีบและเพลิดเพลินต่อการพิจารณาจนเลยเถิด ซึ่งเป็นทางผิดได้อีกทางหนึ่ง ที่ท่านให้นามว่า สังโยชน์ คือเครื่องผูกมัดใจ

อวิชชา ถ้าหมายถึงอวิชชาทั่ว ๆ ไปในสามัญชนและสามัญสัตว์ ก็ขอแปลแบบพระป่าว่ารู้แกมโง่ ฉลาดแกมโกง ทั้งรู้ทั้งหลง จับเอาตัวจริงไม่ได้ เรียกว่าอวิชชาชั้นหยาบ ส่วนอวิชชาชั้นละเอียดที่ท่านกล่าวไว้ในสังโยชน์เบื้องบนนั้น ตามความรู้สึกของธรรมะป่าว่า คือความหลงจิตดวงเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งอื่น ๆ สามารถรู้เท่าและปล่อยวางได้ แต่กลับมาหลงตัวเอง ท่านจึงให้นามว่า “อวิชชา” แปลว่ารู้ไม่รอบ รู้ไม่ชัดเจน ยังมีเงาปิดบังตัวเองไว้ ต่อเมื่อสติปัญญาเพียงพอเพราะอาศัยการขุดค้นไตร่ตรองเสมอ นั่นแลจิตจึงจะรู้ขึ้นมาว่า อวิชชาคือความหลงตัวเองเท่านั้น พอปัญญาได้หยั่งทราบ อวิชชาก็ดับลงในขณะเดียว ไม่มีอวิชชาตัวไหนจะยังเหลืออยู่ในจิตอีกเลย

คำว่าอุทธัจจะ คือความฟุ้งในการพิจารณาก็ดี มานะความถือจิตก็ดี ย่อมหมดปัญหาลงในขณะเดียวกันกับขณะอวิชชาดับไป เพราะหมดต้นเหตุที่จะทำให้เพลิดเพลินและถือมั่นโดยประการทั้งปวงแล้ว เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชา คือสิ่งที่แปลกประหลาดอันเดียวเท่านั้นเป็นต้นเหตุสำคัญในไตรภพ เพราะเป็นสิ่งน่ารู้ และน่าหลงเคลือบแฝงอยู่ในตัวของมันอย่างพร้อมมูล ผู้ปฏิบัติถ้าไม่สันทัดทางด้านปัญญาจริง ๆ จะหาทางออกจากอวิชชาได้โดยยาก เพราะอวิชชาทั่ว ๆ ไปกับตัวอวิชชาจริง ๆ รู้สึกผิดแปลกกันมาก อวิชชาทั่ว ๆ ไปได้แก่ธรรมชาติที่รวมความหลงทั้งภายนอกและภายในเป็นตัวกิเลสไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับไม้ทั้งต้น ซึ่งรวมสิ่งต่าง ๆ ของมันไว้ ส่วนอวิชชาจริง ๆ ได้แก่ธรรมชาติที่ถูกตัดต้นโค่นรากจากความเพียรมาเป็นลำดับ จนหายพยศจากสิ่งต่าง ๆ เข้ามาเป็นระยะ ๆ สุดท้ายก็มารวมลงที่จิตแห่งเดียว

จุดนี้แลเป็นจุดตัวจริงของอวิชชาแท้ แต่ขณะนี้อวิชชาไม่มีสมุนเป็นบริวารเหมือนสมัยที่กำลังเรืองอำนาจ ตัวอวิชชาแท้นี้เป็นที่เก็บรวมสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกประหลาดซ่อนไว้กับตัวของมันหลายอย่าง ซึ่งเราไม่เคยคาดหมายไว้ก่อนเลย เช่นเดียวกับยาพิษที่แทรกอยู่กับวัตถุชิ้นเล็ก ๆ เป็นเครื่องล่อสัตว์ให้ตายฉะนั้น สิ่งแทรกซึมอยู่กับตัวอวิชชาแท้นั้น ที่พอจะนำมาอธิบายให้ท่านผู้ฟังได้ก็เพียงเล็กน้อย เพราะไม่สามารถจะนำมาเทียบกับสมมุติให้เหมือนตัวจริงของสิ่งเหล่านั้นได้สมความต้องการ สิ่งแทรกซึมนั้นคือความผ่องใสเด่นดวง ประหนึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปโดยสมบูรณ์แล้ว หนึ่ง ความสุขเพราะอำนาจความผ่องใสครองตัวอยู่ เป็นความสุขที่แปลกประหลาดมาก ประหนึ่งเป็นความสุขที่พ้นจากแดนสมมุติทั้งปวง หนึ่ง ความองอาจภายในตัวเอง ประหนึ่งจะไม่มีสิ่งอาจเอื้อมเข้าไปเกี่ยวข้องได้ หนึ่ง ความติดใจและสงวนธรรมชาตินั้นประหนึ่งทองคำธรรมชาติ หนึ่ง

สิ่งเหล่านี้แลเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินเพื่อสันติธรรมอันแท้จริง โดยเจ้าตัวไม่รู้สึกในเวลานั้น ต่อเมื่อได้ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปแล้ว จึงจะทราบความผิดถูกของตน เมื่อย้อนกลับคืนมาพิจารณาข้างหลังที่เคยดำเนินมา ก็ทราบได้ชัดว่าเราดำเนินมาถึงที่นั้น คดโค้งไปหรือผิดเพี้ยนไป ระยะนั้นเราติดความสงบ คือติดสมาธิมากไป ระยะนั้นเราพิจารณาทางด้านปัญญามากไป ไม่สม่ำเสมอทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา ความเพียรจึงช้าไปในระยะนั้น ๆ ย่อมทราบย้อนหลังโดยตลอด สิ่งที่จะให้เกิด-ตายต่อไปอีกคืออะไร ย่อมทราบชัดจากขณะอวิชชาดับไปแล้ว จากนั้นเป็นผู้หมดกังวลทั้งอดีตที่เคยเป็นมาของตน ทั้งอนาคตที่จะพาให้เป็นไปข้างหน้า เพราะปัจจุบันจิตขาดจากการติดต่อกับเรื่องทั้งหลายโดยประการทั้งปวงแล้ว

ธรรมทั้งนี้ได้อธิบายตามปริยัติบ้าง ตามความเห็นของธรรมะป่าบ้าง เมื่อผิดบ้างถูกบ้างก็ขออภัยจากท่านผู้ฟังผู้อ่านทุกท่านด้วย เพราะแสดงไปตามความเข้าใจแบบป่า ๆ ที่ได้ปฏิบัติมา และพร้อมที่จะรับฟังเหตุผล ผิดถูกและติชมจากท่านผู้มีเมตตาเสมอ

วิธีปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญเป็นขั้น ๆ และประจักษ์ใจ คือการอบรมภาวนาคุณงามความดีอื่น ๆ ย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนกันไป ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วต้องเป็นเครื่องหนุนกันไปทั้งนั้น เช่นเดียวกับพริก แม้จะเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเม็ดไม่ค่อยจะเต็มเท่าไรก็ตาม เมื่อนำมาผสมกันตำลงในครกแล้วคดออกมาใส่ถ้วยหรือจาน ขณะรับประทานจะจิ้มลงไปด้านไหนของถ้วยหรือจานนั้น ย่อมมีรสเผ็ดเช่นเดียวกันหมด ไม่ได้นิยมว่าด้านนั้นพริกเต็ม ด้านนี้พริกลีบ

ขึ้นชื่อว่าความดีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากกุศลกรรมประเภทใดรวมกันแล้วจะกลายเป็นกองบุญอันใหญ่โตเช่นเดียวกัน ดังนั้นโปรดท่านผู้ฟังทุกท่านซึ่งมีความมุ่งหวังในธรรมอย่างเต็มใจ นำไปปฏิบัติดัดแปลงตัวเองตามฐานะให้ถูกเข็มทิศทางเดินของธรรม ในขณะที่มีชีวิตอยู่ แม้ถึงคราวจำเป็นซึ่งทุกคนจำต้องเผชิญ จิตจะมีหลักยึดไม่รวนเรไปในทางผิด จะก้าวไปตามทางผิด นิยยานิกธรรมนำตนให้ถึงสุขในคติภพนั้น ๆ ขึ้นชื่อว่าความสุขความเจริญที่เรารำพึงรำพันถึงอยู่ทุกขณะจิตนั้น จะกลายมาเป็นสมบัติเครื่องครองของใจในภพของตน ๆ โดยไม่ต้องสงสัย

หลวงตามหาบัว
ตอบกระทู้