Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ทางนิพพาน

พฤหัสฯ. 07 เม.ย. 2022 6:59 am

“ระวังธรรมเมา”

ถาม : มาภาวนาแล้วค่ะ มาอยู่ร่วมกัน ๒ คน

พระอาจารย์ : มาแล้วอย่าคุยกัน พอมีเพื่อนคุยจะไม่ได้ภาวนา อยู่ด้วยกันต้องอยู่เหมือนกับทะเลาะกันเกลียดกัน เหมือนกับเวลาไปวัดป่าเห็นพระไม่คุยกันเลย ทำอะไรก็ต่างคนต่างทำ ไม่พูดไม่คุยกัน ก็จะคิดว่าพระทะเลาะกันหรือเปล่า

ถาม ไม่มีมนุษยสัมพันธ์

พระอาจารย์ : นักภาวนาไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ จิตต้องเข้าข้างใน จิตเข้าข้างในเป็นมรรค จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย พอออกไปก็จะฟุ้ง จะคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนต้นก็คุยธรรมะไปก่อน แล้วก็กลายเป็นธรรมเมา.

จุลธรรมนำใจ ๑๙กัณฑ์ที่ ๔๐๔
๒๐ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี








ความโกรธไม่มีอะไรดี มีแต่เสียกับเสียเท่านั้น บางคนภูมิใจตัวเองว่าเป็นคนโกรธง่ายแต่หายเร็ว ใช่! ตัวเองอาจจะหายเร็ว แต่ไม่ได้คิดว่าคนที่โดนเราโกรธใส่ เขาหายเร็วหรือเปล่า แล้วที่หายเร็วนี่ไม่ใช่ว่าจะดีนะ เพราะทำให้เราไม่มีฉันทะ ไม่มีความคิดที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพราะคิดว่า เออ! เป็นแป๊บเดียวก็หาย เหมือนเป็นการระบายความรู้สึกออกไป และเข้าใจว่าเมื่อเกิดโกรธแล้ว มีทางเลือกอยู่เพียง ๒ ทาง คือ ระบายออกไปหรือไม่ก็เก็บกด การระบายดีกว่าการเก็บกด นี่เป็นความคิดผิดที่ทำให้เกิดผลร้ายต่อสังคม

พระพุทธองค์ทรงให้เราดูให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เราระบายความโกรธ ลุอำนาจแห่งความโกรธ มันเป็นกรรม และเป็นการเพิ่มความชินที่จะระบาย ทำให้ความอดทนลดน้อยลงๆ เป็นการเติมเชื้อหรือเพิ่มกำลังของสิ่งนั้น นี่คือกฎแห่งกรรมที่เราสังเกตได้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ความขี้โกรธยังทำให้คนรอบข้างกลัว ไม่รู้สึกปลอดภัย ไม่สบายใจ และมีผลต่อการบริหารงาน ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ ลูกน้องรู้ว่าเราขี้โกรธขี้โมโห ก็ไม่มีใครกล้าบอกข้อมูลสำคัญๆ ที่เราควรจะรับรู้ ทำให้การหมุนเวียนของข้อมูลในองค์กรไม่ดี ขาดข้อมูลในการตัดสินสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความผิดพลาดและเกิดปัญหาในองค์กรได้ง่าย

อุปมาความโกรธเหมือนไม้ขีดก้านเดียวสามารถเผาป่าเป็นล้านๆ ตารางกิโลเมตรได้ ไม่น่าเชื่อว่าไม้ขีดก้านเดียวจะทำลายได้ถึงขนาดนั้น ความโกรธก็เช่นเดียวกัน บุญกุศลที่เราสั่งสมมาหลายภพหลายชาติสามารถถูกทำลายได้ด้วยความโกรธเพียงแค่ ๑ วินาที เวลาโกรธ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป จะไม่ปรากฏ เหมือนเราเป็นบ้าในตอนนั้น แล้วก็ทำได้ทุกอย่าง คนที่โกรธสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งคนที่ตนรักที่สุด เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน ดูสถิติอาชญากรรมไม่ว่าที่ไหน ผู้ที่ถูกฆ่ามากกว่าครึ่งหรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นญาติหรือคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่คนแปลกหน้า พอเกิดความโกรธแล้วควบคุมไม่ได้ นำไปสู่การฆ่า ความโกรธจึงเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวมาก

พระอาจารย์ชยสาโร






"..มูลค่าของบุญ...ไม่ได้อยู่ที่
ยอดเงินที่ทำบุญว่ามากหรือน้อย
อยู่ที่..#ความตั้งใจในการทำบุญต่างหาก.."

โอวาทธรรม
หลวงตาบุญหนา ธมฺมทินโน
วัดป่าโสตถิผล จ.สกลนคร
๖ เมษายน ๒๕๖๕ ครบรอบ ๖ ปีแห่งการละสังขาร...น้อมกราบสักการะหลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน ด้วยเศียรเกล้า








" ให้พิจารณา
ความตาย(มรณานุสติ)
นั่งก็ตาย นอนก็ตาย
ยืนก็ตาย เดินก็ตาย
ทุกคนมีความตายเป็น
ที่สุด ตายทุกเพศทุกวัย
ตายได้ทุกกาลเวลา

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควร
ประมาทในชีวิต ให้เว้น
จากความชั่ว สร้างสม
คุณงามความดี สร้าง
บุญ สร้างกุศล ไว้เป็น
ที่พึ่งของตนเมื่อล่วงลับ
จากโลกนี้ไปแล้ว ”

โอวาทธรรม
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม







#ขั้นตอนการปฏิบัติเข้าสู่ทางนิพพาน

1. -

ให้ตั้งสัจจะบารมีว่า เราจะรักษาศีล 5 ให้เป็นปกติทุก ๆ วันนับต่อจากนี้ - ศีลบารมี ศีล จะเป็นตัวควบคุมกายและวาจาของเรา

2. -

สร้างสมาธิบารมี โดยการปฏิบัติกรรมฐานทุกวัน สมาธิ จะเป็นตัวควบคุมจิตและใจของเราจากกิเลสต่าง ๆ ถ้าสมาธิดี สติเกิดและมีกําลังมากขึ้น ปัญญาจะเกิดตามมา เมื่อกิเลสมากระทบ ก็จะเห็นสัจธรรมของไตรลักษณ์ ทุกสิ่งมีเกิด ตั้งอยู่และดับไป ไม่มีสิ่งใดอยู่คงทนถาวร แล้วสติจะทําให้จิตเราปล่อยวางจากกิเลสต่าง ๆ ที่มากระทบได้เอง จิตก็เข้าสู่ภาวะอุเบกขา เข้าสู่ความสงบต่อไป

ใช้สติ ให้เห็นอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตของเรา กรรมฐานที่ใช้เจริญสติ: สติปัฏฐาน4 กาย32 มรณานุสติ

#ขั้นตอนการปฏิบัติเข้าสู่ทางนิพพาน

1.-

แยกกาย จิต เวทนา ว่ามันเป็นคนละส่วนกัน

2.-

ใช้จิตพิจารณากายในกายบ่อย ๆ จะสามารถปล่อยวางจิตจากกายหยาบที่ยึดมั่นอยู่ได้

3.-

สติพิจารณาเห็นกายเป็นขันธ์ 5 มีการแตกดับ เห็นจิตไม่ใช่กาย และกายไม่ใช่จิต แยกกันชัดเจน จะเข้าสู่ขั้นโสดาบัน

4.-

สติมีกําลังมากขึ้น และละเอียดขึ้น ถ้ายังคงรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์และคงสมาธิไว้ได้ดี จะสามารถเข้าสู่ระดับพระสกิทาคามีผล

- ละความโลภ ด้วยการปล่อยวางได้

- ละความโกรธด้วยจิตที่มีเมตตากรุณาได้

- ละจากกามได้ ด้วยการปฏิบัติอสุภกรรมฐาน พิจารณากายในกาย เป็นของไม่สวยงาม เพื่อละจากกามได้ (พิจารณากายในกาย)

5. -

เริ่มรักษาศีล 8 เพื่อเพิ่มกําลังสติให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ความโลภ โกรธ ความไม่พอใจ จะถูกละจากจิตได้ง่ายขึ้น สติคงตัว เห็นกิเลสเกิดขึ้นและดับลงได้เร็วขึ้น

6. -

สติ จะไปพิจารณากายในกายที่ละเอียดมากขึ้น ปฏิบัติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน เพื่อให้จิตเข้าสู่ความว่างบ่อย ๆ ขึ้น จิตจะเห็นกายในอดีตปัจจุบันและอนาคตว่ามันไม่เที่ยง ทั้งของตนเอง ผู้อื่นและทุกสิ่งในโลกนี้ เข้าสู่ พระอนาคามีผล จะดับความโลภ โกรธ กาม สิ้นออกจากใจได้

7. -

จิตจะเดินทางเข้าสู่ความเงียบ ความสุขเกิดขึ้น แต่จิตจะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใด ๆ จิตเริ่มปล่อยวางจากกายของตนเอง กายของผู้อื่นและวัตถุต่าง ๆ ในโลกนี้

** แต่จิตยังมีความหลงในจิตปัจจุบันว่าเป็นตัวจิตอยู่ เป็นอวิชชาในส่วนที่ละเอียด** คือ จิตเป็นกิเลสทั้งก้อนเลย จิตกับอวิชชาเป็นสิ่งเดียวกัน แยกกันไม่ได้เลย เป็นจิตสะอาดแต่ไม่บริสุทธิ์

8. -

ต้องแยกกายและจิตออกจากเวทนา สังขาร วิญญาณ สัญญา (ขันธ์ 5) ด้วยสติที่ละเอียดมาก ๆ ขึ้นเท่านั้น สติที่ละเอียดถึงจะทําลายอวิชชาที่ละเอียดออกได้

9. -

จิตเข้าสู่ภาวะธรรมธาตุ สะอาดและบริสุทธิ์ แยกจิตจากขันธ์ 5 ได้ว่าจิตนี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสังขาร ไม่มีสัญญา ไม่มีวิญญาณ สติอัตโนมัติ จะทําลายกิเลสทั้งหมดเองโดยสิ้นเชิง เข้าใจอริยสัจ4 แท้จริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค จึงจะเข้าสู่ภาวะนิพพานในที่สุด

ธรรมะคําสอน
#พระอาจารย์อัครเดช(#ตั๋น)
#ถิรจิตโต
วัดบุญญาวาส อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี 26 มีนาคม 2555
ตอบกระทู้