พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อสังขตธรรม

จันทร์ 25 ก.ค. 2022 6:36 am

“ชี”
ถาม : แม่ชีไปบิณฑบาตได้หรือคะ

พระอาจารย์ : เป็นเรื่องธรรมเนียม ถ้าชาวบ้านยินดีจะใส่บาตรก็ไปได้ เป็นโยมก็ไปได้ ถ้าเขายินดีให้ เป็นขอทานดีๆนี่เอง นักบวชต้องขอทาน การบิณฑบาตของพระก็คือการขอทานโปรดสัตว์นี่เอง เพียงแต่ไม่ได้เคาะประตูเรียกร้อง เดินไปเรื่อยๆ ถ้าอยากจะให้ก็ให้ ไม่ให้ก็ไม่ว่าอะไร

.เป็นขอทานบรรดาศักดิ์ มีศีลมีจริยาวัตรมีธรรม ถ้าเป็นขอทานทั่วไปจะไม่มีศีลไม่มีจริยาวัตร คนจึงไม่ค่อยให้ขอทานกัน แต่ยินดีให้พระภิกษุ แต่ความจริงท่านก็เป็นขอทานเหมือนกัน ต่างตรงที่ว่าท่านมีศีลมีปฏิปทาอันดีงาม มีการประพฤติปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ถ้าทำตัวเป็นที่น่าเลื่อมใสก็จะมีคนยินดีสนับสนุน ถึงแม้ไม่ได้โกนศีรษะห่มเหลือง เช่นในศาสนาอื่น มีนักบวชไม่ได้โกนศีรษะ แต่มีลูกศิษย์ลูกหาสนับสนุน อย่างพวกบาทหลวงนี้ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต แต่มีเงินเดือนจากศรัทธาญาติโยม ให้เป็นค่าใช้จ่าย ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันตรงไหน

.ถ้าทำตนเป็นคนดีทำประโยชน์ให้แก่โลก ไม่โลภไม่สะสมสมบัติข้าวของเงินทอง จะมีคนยินดีสนับสนุนเสมอ ถ้ามีมากกว่าคนอื่นก็จะไม่มีใครอยากจะสนับสนุน ถ้าสละหมดทุกอย่าง เขาก็รู้ว่าต้องอาศัยผู้อื่น เขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน ถ้าเขาเห็นว่าเราทำประโยชน์ให้แก่สังคม ทำประโยชน์ให้แก่โลก ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น อย่างที่พวกเรายินดีทำบุญกับพระกัน เพราะมีศรัทธา เห็นว่าท่านเป็นคนดี เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พวกเรายังสละกันไม่ได้ จึงยินดีสนับสนุนท่าน จะได้อาศัยท่านพาพวกเราไปสู่ความสุขกัน.
…………………………………….
กำลังใจ๔๗ กัณฑ์ที่ ๔๐๖
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





"ทำดี..ให้ถูกคน
ถ้าทำดีกับ..คนไม่ดี
ก็เหมือนเอาน้ำดี
ไปเทใส่..น้ำทะเล"

- หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป







"... คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็
ไม่ต้องหา
... จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไรๆ ก็มีอยู่
กับตัวเอง
... อย่างสมบูรณ์อยู่แล้วจะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม
... เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง ..."

#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต





"ฟังธรรมแล้วไม่นำมาปฏิบัติ
ก็เหมือนกับถือผลไม้ไว้เท่านั้น
ยังไม่ได้กิน ยังไม่ได้ลิ้มรส
ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร"

หลวงปู่ชา สุภัทโท





"ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมการร่วมงานกัน
เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน
ถือว่าเป็นเพื่อนสร้างบุญบารมีร่วมกัน
ถ้าต่างคนต่างระลึกอย่างนี้ รู้อย่างนี้แล้ว
เราก็ร่วมงานกันไป จะผิดพลาดไปบ้าง
ก็ให้อภัยกันไปอย่างนี้ ไม่ถือสาหาความกัน
นี่เรียกว่า ความประพฤติเป็นธรรมต่อกัน และกัน"

หลวงปู่เหรียญวรลาโภ






"อย่าเห็นว่าผ้าเหลืองๆ เป็นพระทั้งหมด
พระอยู่ตรงที่ความบริสุทธิ์ต่างหากล่ะ"

หลวงปู่บุดดา ถาวโร






"อำนาจจิตของ
มนุษย์มีกำลัง
เหนืออำนาจ
ทั้งหลาย เมื่อจิตดี
มีแสงแห่งความ
บริสุทธิ์ ที่ไม่ถูก
ความเศร้าหมอง
ของกิเลสบดบัง
อำนาจจิตที่ดีนั้น
ก็จะส่งผลดีให้เกิด
เป็นผลดีที่จะเกิด
แก่โลก นั่นก็คือ
มีคนดี มีผู้มีจิตดี
มากเพียงใด อำนาจ
ที่ดีก็จะส่งผลดีให้
เกิดแก่โลกมาก
เพียงนั้น

ความเจริญของ
จิตใจจะมีได้แต่
ในจิตใจที่ดีเท่านั้น
จิตใจที่ไม่ดีจะมี
แต่ความเสื่อมทราม
อันจะทำให้ก่อกรรม
ทำความเสื่อมทราม
ให้เกิดแก่โลก

เมื่อโลกวุ่นวายด้วย
ความวิปริตต่างๆ
ไม่ว่าจะภัยเกิดแต่
มนุษย์หรืออมนุษย์
หรือภัยเกิดแต่ธรรม
ชาติก็ตาม นั่นคือ
เครื่องแสดงถึงจิตใจ
มากมายที่มืดมิดเป็น
อันมาก ด้วยความ
สกปรกเศร้าหมอง
ของกิเลส

ทั้งโลภ ทั้งโกรธ
ทั้งหลง พึงช่วยกัน
แก้ไขด้วยพยายาม
อบรมจิตของตน
ให้เศร้าหมองน้อยที่สุด
ให้ไกลจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง"

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร






#อุณหิสสวิชัย #ชัยชนะที่ไม่มีวันแพ้
.
ในสมุดบันทึกเล่มเก่า ๆ ของหลวงปู่ลีในสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม แสดงความจริงใจที่ท่านเอาใจใส่ทั้งคันถธุระ ทั้งวิปัสสนาธุระในทางพระพุทธศาสนา ที่ขีดเขียนด้วยลายมือที่สวยงามบรรจงจับปากกาวางปลายหมึกสู่แผ่นกระดาษด้วยสติอันตั้งมั่น ท่านบันทึกเรื่อง อุณหิสสวิชัยสูตร ดังนี้
.
อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร
สัพพะ สัตตะ หิตัตถายะ ตัง ตวัง คัณหาหิ เทวะเต
ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
พยัคเฆ นาเค วิเสภูเต อะกาละ มะระเณนะ วา
สัพพัสมา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กาละมาริตัง
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
สุทธะสีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนังคะรุง
ปะเรสัง เทสะนัง สุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติฯ
เรื่องการยืดอายุการตายออกไป พระพุทธองค์ทรงประทานพระคาถาให้เทวดาองค์หนึ่ง ชื่อ “เทพอุณหิส” ซึ่งตระหนักถึงเวลาต้องจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่ไม่อยากลงมาใคร่อยู่ในเทวโลกต่อ และกราบทูลขอต่อพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงเมตตาประทานพระคาถายืดอายุ ให้เทพอุณหิสจึงมีชีวิตยืนยาวอยู่ในเทวโลก
.
คาถาอุณหิสวิชัย แปลใจความว่า พระธรรมอันชื่อว่า อุณหิสวิชัยมีอยู่ เป็นธรรมอันยอด เยี่ยมในโลก ดูก่อนเทวดา!ท่านจงเรียนอุณหิสวิชัยธรรมนั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ พึงหลีกเว้นเสียได้ ซึ่งราชทัณฑ์ อมนุษย์ทั้งหลาย เพลิงไฟ เหล่าเสือ นาค สัตว์มีพิษร้าย รอดพ้น จากอกาลมรณะ (ความตายในเมื่อยังไม่ถึงเวลาอันสมควร) จากความตายทุกอย่าง ทุกประการ เว้นแต่กาลมรณะ (ความตายในเมื่อถึงกาลอันสมควร) ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสวิชัยธรรมนั้น ขอ เทพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุขทุกเมื่อ (พระธรรมนี้) เอามาเขียนก็ดี นึกคิดก็ดี บูชาก็ดี ทรงจำก็ดี บอกกล่าวเคารพก็ดี ฟังที่ท่านแสดงแก่ผู้อื่นก็ดี จะทำให้มีอายุจำเริญแล
.
หลวงปู่ลี ท่านบันทึกและอธิบายความว่า “ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน”
อุณหิสสะ คือ ความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในและภายนอก ภายนอก มีเสือสางคาง แดง ภูตผี ปีศาจ ภายใน คือ กิเลส เป็นต้น
วิชัย คือความชนะ ผู้ที่มาน้อมสรณะทั้ง ๓ นี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่า นั้นไปได้หมดทุกอย่าง ที่เรียกว่า อุณหิสสะวิชัย
.
อุณหิสสะวิชโย ธัมโม โลเก อนุตตะโร พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่าง ๆ จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลาย คืออาชญาของ พระราชา เสือ สาง นาค ยาพิษ ภูตผี ปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงคราวถึงกาลที่จักตายแล้ว ก็จักพ้นไปได้ จากความตาย ด้วยอำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น
.
ลิขิตธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร
___

จากคำแปลข้างต้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ธรรมที่ชื่อ "อุณหิสสวิชัย" นั้นคืออะไร

คำว่า อุณหิสสวิชัย มาจากคำ 2 คำ คือ อุณหิส+วิชย

คำว่า อุณหิส แปลว่า กรอบหน้า อย่างหนึ่ง ผ้าโพกศรีษะ อย่างหนึ่ง แต่หลวงปู่พุทธทาส แปลว่า ผ้าประเจียด
ส่วนคำว่า วิชย หรือ วิชัย นั้น แปลว่า ชัยชนะที่วิเศษ

อุณหิสสวิชัย แปลได้ว่า ธรรมที่ทำใช้มีชัยชนะประดุจผ้าประเจียด (ผ้าประเจียด คือผ้าที่ลงเลขยันต์ใช้โพกศีรษะ หรือต้นแขนยามออกรบ) ซึ่งธรรมที่เป็นดุจผ้าประเจียดที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เพราะถ้าใครปฏิบัติได้จนถึงที่สุดแล้วก็เป็นทางนำไปสู่พระนิพพาน พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นอกจากจะรู้ธรรมคือ อริยมรรคมีองค์แล้ว พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า ผู้นั้นต้องสมาทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และประพฤติธรรมให้สุจริตอีกด้วย

คำว่า ประพฤติธรรมให้สุจริตนี้ หมายถึง ประพฤติธรรมให้ถูกต้องดีงาม ถูกกาลเทศะ และต้องเป็นไปเพื่อละกิเลส โลภ โกรธ หลง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้น หัวใจสำคัญที่ทำให้ สุปติฏฐิตเทพบุตร ไม่ตาย ก็คือ การตั้งตนอยู่ในหลักธรรม 3 ประการคือ

1. ปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์ ๘
2. การรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์
3. การประพฤติธรรมให้สุจริต

และในคำแปลของบทสวดนั้น บอกไว้ชัดเจนว่า คาถานี้ช่วยเฉพาะคนที่ดวงชะตาไม่ถึงคาดเท่านั้น ถ้าใครดวงชะตาถึงคาดแล้ว ก็มิอาจช่วยได้

และหากเราอ่านคำแปลบทสวดอย่างพินิจพิจารณาก็จะเห็นว่า การที่จะทำให้เราอายุยืนนั้น มิใช่แต่จะสวดคาถาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปฏิบัติธรรมตามที่กล่าวไว้ด้วย

หลวงปู่ลี กุสลธโร









#หลวงพ่อประสิทธิ์ #ถาวโร
#ผู้มีสติ

"..น่าจะพิจารณาสักหน่อย
ว่าเขาพูดดี หรือไม่ดีก็ตาม
เขาก็พูดไปตามความรู้สึก
คิดนึกปรุงแต่งของเขา

ก็คนเขายังมีความรู้สึกอยู่
มันก็ต้องปรุงแต่งไปตาม
อำนาจความรู้สึกของเขานั่นเอง

เราไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ
หรือดีใจไปกับคำพูดของเขา

แต่ถ้าเขาพูดเป็นอรรถเป็นธรรม
ก็ให้ฟังด้วยสติ อย่าฟังด้วยความรู้สึก

ฟังแล้วก็เอามาพินิจพิจารณา
โอปนยิโก น้อมเขามาใส่ตัว
ก็ได้ประโยชน์ อย่างนี้
จึงเรียกว่า..ผู้มีสติ"

——

หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
----------------------------------------
“คนทางโลกน่ะ เขาถูกสมมุติมันครอบงำจนยากจะดิ้นหลุด ปุถุชนนั้นก็ติดสมมุติแบบโลกๆ ติดความสนุกสนาน เพลิดเพลินบันเทิงใจ ติดความสวยงาม ความน่าดูชมต่างๆ

ในทางกลับกัน ก็ไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งตรงกันข้าม ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ (มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ สรรเสริญ นินทา)

สารพัดจะถูกสมมุติมันครอบงำอำพราง นั้นเป็นเพราะเขาไม่รู้จักพิจารณาว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของสมมุติและหลอกลวง

หากเราพิจารณาให้ดี ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ที่รวมเรียกว่าอายตนะ ๖ เรามีสติรับรู้การกระทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับอายตนะทั้ง ๖ แล้วดับไปอยู่ทุกขณะ สุดท้ายเราจะเห็นความจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วแต่สมมุติ

ทำไมจึงว่าสมมุติ? ก็เพราะว่ามันไม่เที่ยงแท้คงทน จะตั้งอยู่อย่างนั้นชั่วกัลป์ปาวสานก็หาไม่ จะช้าหรือเร็วก็ต้องดับเหมือนกันหมด นั้นแหละคือธรรมชาติที่แท้จริง หรือจะเรียกว่า “พระสัทธรรม” ก็ได้”

ครั้นผมถามท่านว่า “ถ้าพิจารณาแบบนั้นอยู่ทุกขณะไป บางคนอาจจะว่า ทานและศีลก็ไม่ต้องทำก็ได้ หรือสมถะสมาธิก็ไม่ต้องทำใช่ไหมครับ”

ท่านตอบว่า “ผิด เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นของเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลมกลืนกันเหมือนเชือกเกลียว สำหรับทานและศีล เราต้องทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นทางดำเนิน แต่ก็อย่าไปยึดว่าเป็นของกูตัวกู

คือ ทำทานก็เพื่อสละออกซึ่งความตระหนี่ถี่เหนียวความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเรา

รักษาศีลก็เพื่อไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ผลที่ได้ก็คือความเป็นอิสระต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น ก็คือสละละทิ้งตัวตนของตนอีกนั่นแหละ

(เพราะเมื่อไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ก็ไม่เป็นเกิดกรรมชั่วใดๆกับใคร เมื่อไม่เกิดกรรมชั่วใดๆ ก็ไม่ต้องชดใช้ สุดท้ายความเป็นอิสระก็เป็นอันหวังได้)

ส่วนข้อสุดท้ายที่ว่า สมาธิภาวนา หากเราพร้อมเมื่อไร จะนั่งก็นั่งไป ทำจิตให้มันนิ่งมันสงบถึงที่สุดก็ดี แต่หากทำไม่ได้สักทีก็ไม่ต้องห่วง เพราะหากเรามีสติระลึกรู้จริงๆกับการกระทบต่างๆที่เกิดดับอยู่ตลอด มันจะเป็นทั้งสติและสมาธิกลมกลืนกันในตัว

ไม่ช้าก็เร็วเราจะเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง ดังที่พุทธองค์ท่านตรัสว่า “มีดวงตาเห็นธรรม” นั้นเอง”

หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า "ความเป็นจริงของมนุษย์เรานี้ มันก็มีเพียงกายและใจ หรือที่เรียกว่า รูปและนาม

กายนั้นเป็นของหยาบที่เราเห็นได้ตลอดว่ามีการเคลื่อนไหว มีกิน ถ่าย หลับ ตื่น ยืน เดิน นั่ง นอน ทำการงานต่างๆเหมือนกันทั้งโลก ทุกชาติทุกภาษา

ส่วนใจของมนุษย์เราก็ยังเหมือนกันอีกตรงที่มีความรู้สึกคิดนึกปรุงแต่งไปสารพัด ปรุงไปทั้งทางดีและไม่ดีและเฉยๆก็ด้วย นี่ว่ากันเฉพาะมนุษย์เรา

คราวนี้ถ้ามองไปที่สัตว์ที่มีวิญญาณครองก็คือกัน คือสัตว์ก็มีกายและใจ มีความรู้สึกคิดนึกปรุงแต่ง มีความโกรธ ความหลง ความกลัวไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เรา ท่านจึงว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีสภาวะที่เหมือนกันโดยธรรม

แล้วถ้ามองไปที่สิ่งที่ไม่มีวิญญาณครองล่ะ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ในโลกนี้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ตลอดถึงกาล เวลาจนถึงเครื่องหมายสมมุติของมัน เช่น กลางวัน กลางคืน ข้างขึ้น ข้างแรม เหล่านี้เหมือนกันกับเราโดยธรรมไหม ก็เหมือนกันอีก

ถามว่าเหมือนกันตรงไหน? ก็เหมือนกันตรงที่มันเกิดขึ้น ตั้ง แล้วแตกดับไปเหมือนกัน จึงว่า ความที่อะไรๆในสากลจักรวาลมันสุดท้ายต้องอวสานหมดเหมือนหนังที่ต้องปิดโรง มันจึงเป็นสิ่งสมมุติโดยเนื้อแท้

ดังนั้น จะคำว่า โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านก็สมมุติคำเรียกให้พวกเราเรียกท่านผู้ทรงมรรคทรงผลเบาบางกันไปตามลำดับ

ถามว่าเขาวัดกันตรงไหนที่ว่าเบาบางลงไปตามลำดับ เขาก็วัดกันที่ “ความจริงในสิ่งสมมุติ” ที่ท่านมองเห็นและยอมรับด้วยใจ ก็หากเราเห็นความจริงเหล่านี้ได้มากเท่าใด เราก็ละทิ้งได้มากเท่านั้น

ครั้นพอเห็นและยอมรับด้วยใจ ในความจริงเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละทิ้งได้ทั้งหมด เพราะไม่เห็นว่ามีอะไรน่าเอาน่าเป็น

เมื่อนั้นก็จะถึงความจริงแท้ที่เรียกว่า “ความจริงโดยปรมัตถ์”ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีคำบรรยาย เพราะไม่มีอะไรอยู่ในนั้น คือ อสังขตธรรม คือธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งใดๆ

อย่างไรก็ดี มนุษย์เราทุกวันนี้ไม่ได้มองที่ความจริงเหล่านี้ แต่พากันไปมองที่ “ศัพท์บัญญัติ” อันเป็นภาษาที่ถูกสมมุติขึ้นมาใช้งาน จึงสับสนและวุ่นวายและมีเรื่องให้ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อนอย่างที่เห็นได้ทั่วไป

ถ้าคนที่เขาเห็นความจริงด้วยปัญญาและด้วยใจของตนแล้ว เขาจะไม่โต้เถียงกับใคร ก็ไม่รู้จะเถียงไปทำไม ก็ทั้งผู้พูดและผู้ฟังมันไม่จริงด้วยกันทั้งคู่

เพราะทั้งกาย วาจา และใจทั้งสองฝ่ายก็เป็นของสมมุติ สมมุติกับสมมุติคุยกัน เกิดแล้วก็มาดับเหมือนกัน เลยหมดความหมาย จบ”

หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
ตอบกระทู้