Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อยู่กับปัจจุบัน

เสาร์ 13 ส.ค. 2022 10:00 am

เฮ้โยม ขออย่าลืม
มีคนหนึ่งเบอร์1ของเรา
ถ้าคนนี้ยังอยุ่ยังมีชีวิตอยู่

โยมแม่น่ะ เป็นเบอร์1ของเรา ไม่ใช่ไม่เป็น
ดูซิ เป็นผู้นำ เป็นพี่เลี้ยงของเรา เบอร์1
ขออย่าทำอะไรไม่ถูกกับโยมแม่ของเรา เสียมากเหลือเกินนะ

แม่ของเราเสียชีวิตนานแล้ว
ขอเถอะ กลับไปบ้าน จะทำอะไรจะแสดงอะไร
ขอรับใช้โยมแม่ตลอด

ถึงตอนเย็นจะกินข้าว อาจมีหลายคนอยู่และแม่อยู่ด้วยจะกินข้าว
สังเกตุโยมแม่ แม่นั่งก่อน
ตักอาหารให้แม่กินก่อน
ไม่ยอมกินข้าวก่อนแม่นะ
ดูซิโยม แม่เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้นำ

หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
วัดป่าบ้านตาด







#ความสมมุติของโลกว่า #สิ่งนั้นเป็นนั้น #สิ่งนี้เป็นนี้ #ไม่มีสิ้นสุด

แม้จะสมมุติว่าสิ่งใดเป็นอะไรก็ยึดถือในสิ่งนั้น รักก็ยึด ชังก็ยึด เกลียดก็ยึด โกรธก็ยึด อะไรๆ ก็ยึดทั้งนั้น

เพราะเรื่องของโลก ก็คือกิเลสเป็นสำคัญ มีแต่เรื่องยึดและผูกพัน ไม่มีคำว่า “ปล่อยวาง” กันบ้างเลย

ความยึดถือเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์กังวล โลกจึงมีแต่ความทุกข์ความกังวลเพราะความยึดถือ

ถ้าความยึดถือเป็นเหมือนวัตถุมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อแล้ว มนุษย์เราแบกหามกันทั้งโลกคงดูกันไม่ได้ เพราะบนหัวบนบ่าเต็มไปด้วยภาระความแบกหามพะรุงพะรัง ที่ต่างคนต่างไม่มีที่ปลงวาง ราวกับเป็นบ้ากันทั้งโลกนั่นแล

ยังจะว่า “ดี มีเกียรติยศชื่อเสียง” อยู่หรือ จนปราชญ์ท่านไม่อาจทนดูได้ เพราะท่านสงสารสังเวชความพะรุงพะรังของสัตว์โลกผู้หา “เมืองพอดี” ไม่มี ภาระเต็มตัวเต็มหัวเต็มบ่า

#ธรรมท่านสอนให้รู้และปล่อยวางเป็นลำดับ

คือปล่อยวางภาระความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นภาระอันหนัก เพราะความลุ่มหลงพาให้ยึด พาให้แบกหาม ตนจึงหนักและหนักตลอดเวลา

ท่านจึงสอนให้รู้ทั่วถึงตามหลักธรรมชาติของมัน แล้วปล่อยวางโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการได้ยินได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ จนกลายเป็น “ปฏิเวธ” คือความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นโดยลำดับ

ครั้งพุทธกาลท่านสอนกันอย่างนี้เป็นส่วนมาก สอนให้มีความหนักแน่นมั่นคงในการประพฤติปฏิบัติยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

พระในครั้งพุทธกาลที่ออกบวชจากตระกูลต่างๆ มีตระกูลพระราชา เป็นต้น ท่านตั้งหน้าบวชเพื่อหนีทุกข์จริงๆ จึงสนใจอยากรู้อยากเห็นธรรมด้วยการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งตั้งใจฟังทั้งตั้งใจปฏิบัติด้วยความจดจ่อต่อเนื่องในทางความเพียร

พยายามสอนตนให้รู้เห็นธรรมก่อน แล้วจึงนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก ท่านเป็น “พระธรรมกถึก” เพื่อองค์ท่านเองก่อนแล้วจึงเพื่อผู้อื่น ธรรมท่านจึงสมบูรณ์ด้วยความจริงมากกว่าจะสมบูรณ์ด้วยความจดจำ

#หลวงตาพระมหาบัว #ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙







หลวงตามหาบัวสอนว่า—- ตัวประธานในที่นี้หมายถึง ใจ ใจนี้เป็นธรรมอันหนึ่ง
ซึ่งมองด้วยตาเนื้อและตากล้องไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่สิงอยู่ในกาย
มนุษย์และสัตว์ทุกประเภท มีความรู้สึกคิดนึกอยู่ภายในกาย
จัดเป็นธาตุรู้อันหนึ่งจากกายมนุษย์และสัตว์ แม้จะไม่ได้รับ
ความกระทบกระเทือนจากสัมผัสทางอายตนะภายนอกก็ตาม
ธาตุรู้อันนี้จะทรงความรู้ไว้เสมอ ตลอดเวลาทั้งหลับและตื่น
ไม่ละความรู้แม้แต่ขณะเดียวตลอด ๒๔ ชั่วโมง ของวัน
เดือน ปีที่ผ่านไป แต่ธาตุรู้อันนี้เป็นธาตุรู้ธรรมดาเฉยๆ ไม่มี
อะไรปรุงก็รู้ เมื่อมีเครื่องปรุงธาตุรู้อันนี้ก็เปลี่ยนสภาพไปตาม
อารมณ์ทันทีที่มากระทบ ตามแต่อารมณ์จะมีความหมายไป
อย่างไร เช่น อายตนะภายนอก มีรูปเป็นต้น มากระทบอายตนะ
ภายใน มีตาเป็นต้น ธาตุรู้นั้นจะกระเพื่อมขึ้นเป็นความรู้ประเภทหนึ่ง จากความรู้เดิมทันที คือเป็นความรู้ซ้อนๆ กันขึ้นมา
เป็นพักๆ มีลักษณะให้รักบ้าง ชังบ้าง เพลินบ้าง โศกบ้าง แฝง
ขึ้นมาทันที ความจริงแล้วไม่ใช่ธาตุรู้เดิม แต่อาศัยธาตุเดิมเกิดขึ้น
ฉะนั้นสิ่งทั้งนี้จึงเกิดได้ ดับได้ไม่แน่นอน ตกอยู่ใน ไตรลักษณ์ ๓
คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เมื่อหลงตามก็ลำบาก อนัตตา
เป็นไปตามสภาพของสภาวะทั้งหลาย ลักษณะทั้งนี้แล้วแต่
สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นไป
เราจะทราบความรู้เดิมกับความรู้แทรกได้ชัด ในเวลาหลับ
กับเวลาตื่น เวลากระทบอารมณ์กับเวลาปกติจิต คนมีสติธรรมดา
กับคนที่ได้รับการอบรมธรรมทางด้านจิตใจจนได้ความสงบ
และคนที่มีภูมิธรรมอันละเอียด กับท่านผู้มี สติวินัยคือพระ
อรหันต์ ทั้ง ๆ ที่ธาตุความรู้เดิมมีอยู่ในบุคคลทั่วไปไม่แปลกต่าง
กัน แต่อาการของความรู้เดิมจะค่อยเปลี่ยนสภาพในตัวเอง
จากการอบรมธรรมเป็นขั้น ๆ จากขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด ในที่สุด
จะไม่ปรากฎอาการรักชัง เป็นต้น เหลืออยู่ในธาตุรู้เดิมของ
ผู้ปฏิบัติอบรมใจด้วยธรรมนั้นเลย อาการทั้งนี้จะพึงทราบ
จากบุคคลซึ่งได้รับการอบรมมาเป็นลำดับและนักสังเกตจิต
ธาตุรู้ ซึ่งให้นามว่า จิต นี้ทรงไว้ซึ่งความรู้ คือหลับก็รู้
หลับสนิทก็รู้ ตื่นก็รู้ และฝันเรื่องอะไรก็รู้ กระทบอารมณ์ซึ่งจะ
เป็นเหตุให้ดีใจเสียใจก็รั รับรู้ไว้หมดไม่ลำเอียง กิริยาที่ลำเอียง
เป็นธาตุแทรก หรือความรู้ที่แทรกความรู้สึกเดิมนี้ถ้าเปรียบเทียบเหมือนเหล็กหรือเงินทองทั้งคุ้นซึ่งยังไม่ได้ถลุง หรือเจียระไน
ให้เป็นของควรแก่เครื่องประดับที่จะพึงซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์
ได้ตามความนิยม จะยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะยังไม่ได้
รับการอบรมให้ควรแก่เหตุ เหมือนทารกซึ่งยังไม่รู้เดียงสา
แม้จะถูกน้ำร้อนหรือไฟไหม้ ก็จะรู้สึกแต่ความเจ็บปวดเป็นทุกข์
เท่านั้น ไม่รู้วิธีที่จะหาทางออกจากอันตรายให้พ้นภัยไปได้
ความรู้เดิมนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักดับ แต่สิ่งแวดล้อม
ที่เรียกว่ากิเลสยังมีอยู่ตราบใด ก็เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวไปตาม
กระแสของ วัฏฏะ ตราบนั้น หมุนไปเวียนมา ออกจากร่างนี้
เข้าสู่ร่างนั้น ซึ่งให้นามว่า เกิด ตาย จะเป็นกำเนิดหรือฐานะ
ต่ำต้อยเลวทรามอย่างไร ก็ไม่อาจจะพึงเลือกได้ สิ่งแวดล้อม
ที่มีกำลังเหนือกว่าจะขับไล่ไสส่งไปไหนก็ต้องไปทั้งนั้น เหมือน
ทารกปราศจากพี่เลี้ยงย่อมเป็นไปตามยถากรรม จะตกน้ำเข้าไฟ
ตกเหวตกบ่อแล้วแต่ขาพาไป ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ฉะนั้น เมื่อ
กายแตก จิตออกจากร่างไปถือปฏิสนธิก่อรูปร่างขึ้นใหม่
สวยงามบ้างไม่สวยงามบ้าง กำเนิดสูงบ้างต่ำบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง
เป็นเทวดาอินทร์พรหมบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นต้น
ทั้งนี้แล้วแต่จะคว้าถูกมือ เหมือนคนตกน้ำคว้าหาที่พึ่งเพราะ
กลัวความตายฉะนั้น

แม้ขณะที่จะเข้าสู่ปฏิสนธิในกำเนิดต่างๆ ก็หารู้ไม่ว่าเป็น
กำเนิดประเภทใด ถ้าเป็นกำเนิดมนุษย์ ก็ต้องรู้ภาวะเดียงสาแล้ว กาลใดจึงจะรู้ว่าตนเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลนั้นๆ ถ้าเป็นสัตว์ ก็
ไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร เมื่อปรากฎเป็นตัวผลขึ้นมาแล้ว จะ
แก้ไขก็ไม่ได้ เป็นของเหลือวิสัยเพราะสายไปเสียแล้ว แม้จะ
สูงหรือต่ำโดยกำเนิด โดยชาติหรือตระกูล ก็จำเป็นให้ยินดี
ในภพชาติและตระกูลของตน จะมีจะจน จะสุขจะทุกข์ก็แล้ว
แต่กรรมพาให้นิยม ตลอดอาหารในภพนั้นๆ ก็พึงยินดีและ
บริโภคตามฐานะแห่งกำเนิดของตนๆ ต่างกำเนิดต่างก็ยินดี
ในกรรมและวิบากแห่งกรรมของตนเอง ซึ่งพอที่จะอำนวยชีวิต
ให้เป็นไปในภพนั้น ๆ เนื่องจากจิตที่ไม่รู้จักเกิดตายเป็นตัวเหตุให้
สังสารจักร หมุนไม่หยุด จึงเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ได้รับ
ความลำบากทั่วหน้ากัน ในเมื่อไม่รู้จักวิธีแก้ไขที่พอเหมาะ
พอดีแก่การหักห้าม วัฏจักร ให้หยุดในการท่องเที่ยวหมุนเวียน
ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติอันนี้จะเป็นเจ้าโลกเจ้าธรรมอยู่นั่นเอง แต่ก็
ยังฟุบตัวลงเป็นเขียงเท้าของสิ่งแวดล้อมอย่างโงหัวขึ้นไม่ได้
เหตุทั้งนี้ก็เพราะปล่อยใจให้เป็นไปตามยถากรรมเกินไป เมื่อ
ใจได้รับความยับยั้งหรืออบรมด้วยธรรม ซึ่งเป็นสวากขาตธรรม
แล้ว จิตจะเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ แต่สิ่งอื่นที่จะสามารถบังคับ
ยับยั้งจิตไม่มี นอกจากจิตจะยับยั้งตนเองด้วยธรรม

หงวงตามหาบัว









เรื่องทางโลกมันเป็นของชั่วคราว
ตายไป มีใครเอาอะไรไปได้บ้าง?

ที่ทำมาทั้งชีวิต
มีอะไร เอาไปได้บ้าง?

แต่การปฏิบัติธรรม
เพื่อ ชำระตนเอง
เพื่อ การหลุดพ้น
เราจะแจ้งแก่ใจ.. ด้วยตัวของเราเอง

ใจที่ อิสระ
ใจที่ หลุดพ้น
ใจที่ เข้าถึงความบริสุทธิ์
มันแจ้งแก่ใจ.. ด้วยตัวของเราเอง

การสร้างอาณาจักรต่างๆ ทางโลก
ตายไป สุดท้ายมันก็ตายเปล่า

ในสมัยพุทธกาล
ครั้งหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่ง
เจริญสมณธรรม

แล้วก็มีโจรมาทำร้าย
ถูกจ้างมาเพื่อทำลายฆ่าให้ตาย
เพราะว่าพระรูปนี้ จริงๆ แล้วมีมรดก รวย

แต่ว่าญาติหวังฮุบมรดก
ก็เลยจ้างโจรมาเพื่อฆ่า

พระท่านก็บอกว่า ขอสักคืนหนึ่ง
ให้เราได้เจริญสมณธรรม
เพื่อการพ้นทุกข์

โจรก็ไม่เชื่อ ก็ว่าจะฆ่าให้ตาย
ท่านก็ทุบขาตัวเอง แล้วบอกว่า
“ขาเราหักแล้ว เราไปไหนไม่ได้แล้ว
ขอเถิดคืนหนึ่ง ให้เราได้เจริญสมณธรรม”

โจรเห็นอย่างนั้น ก็เลยยอม
ท่านก็ทำความเพียรคืนนั้น
จนสามารถหลุดพ้น
บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

จากนั้นท่านก็ปรินิพพาน
ไม่ต้องกลับมาเจอ
กับการทนทุกข์ในวัฏสงสารอีก

ในแต่ละวัน วันคืนล่วงเลยไป
เรากำลังทำอะไรอยู่?

เราไม่รู้หรอกว่า
เราจะมีโอกาสกี่วัน กี่เดือน กี่ปี

แต่ปัจจุบันเรายังมีโอกาสอยู่
รักษาโอกาสของตนเองให้ดี
ทำในทุกๆ วันให้มีคุณค่า

เจริญสมณธรรม
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

เมื่อปัจจุบันเราทำดีแล้ว
อนาคตมันก็ดี เป็นเรื่องธรรมชาติ
อนาคตมันก็คือ ผลของปัจจุบัน
เราไม่รู้หรอกว่า อนาคตเป็นอย่างไร

เราก็อยู่กับปัจจุบัน
ทำปัจจุบันในทุกๆวัน
ให้มันมีคุณค่าที่แท้จริง

โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
11 กรกฎาคม 2563








ศิษย์มีครู คุณแห่งครู
#จึงติดตามดูแลรักษา
คุ้มครองให้ประสบความสำเร็จ

จะไม่เพลี่ยงพล้ำติดบ่วงมาร
ไม่หลงทางออกไปไกล
ไม่แวะพักข้างทางนานเกิน

สติธรรมจะเตือน
ปัญญาธรรมจะเรียกร้อง
ให้รีบกลับเข้ามาในทาง
แล้วก้าวเดินต่อไป

พระกัมมัฏฐาน
จึงติดครูมาแต่กาลไหน ๆ
ศิษย์ผู้มีปัญญาล้วน ...
มอบชีวิตจิตใจบูชาธรรม

ผู้เปิดประตูมรรคผลนิพพาน
ให้อย่างสิ้นสงสัย ...

โอวาทธรรม ...
พระอาจารย์คม อภิวโร
ตอบกระทู้