นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 5:50 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความสงบเย็น
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 08 ก.ย. 2022 5:31 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
ในการเล่นกีฬา ถ้าคู่ต่อสู้ฝีมือด้อยกว่ามากก็ไม่ค่อยสนุกนัก ชนะแล้วก็ไม่ภาคภูมิใจเท่าไหร่ ถ้าคู่ต่อสู้ฝีมือสูงกว่ามากก็ไม่สนุกเหมือนกัน แพ้ยับเยินมักท้อแท้หมดกำลังใจ คู่ต่อสู้ที่ดีที่สุดคือผู้ที่เก่งกว่าเรานิดหน่อย ในการแข่งกับเขาเราจะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้เราให้เล่นเต็มความสามารถ ยิ่งกว่านั้นบ่อยครั้งเราอาจรู้สึกว่าเล่นได้ดีกว่าที่เคยการเล่นกับคู่ต่อสู้ระดับนี้ช่วยพัฒนาทักษะของเรา

การภาวนาก็คล้ายคลึงกัน ถ้าเราไม่ผลักดันตัวเองเลย เพียงทำไปเรื่อยๆ (เรื่อยเฉื่อย) ผลลัพธ์ก็อาจไม่ค่อยน่าชื่นใจเท่าไหร่ ไม่รู้สึกว่าการปฎิบัติก้าวหน้า ถ้าเราผลักดันตัวเองมากเกินไป ตั้งเป้าหมายที่เกินวิสัย เมื่อแพ้กิเลสยับเยินก็ท้อแท้หมดกำลังใจ

ในการภาวนาควรผลักดันตัวเองเบาๆ แต่พอดี ไม่ประมาท ไม่ให้สบายจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่หักโหม นี่คือทางสายกลางของพระพุทธเจ้า

พระอาจารย์ชยสาโร






คนไม่มีเงิน หรือ
ไม่มีเวลาจะไปวัด
แต่อยากทำบุญ
ก็เพียงเจริญเมตตาจิต
ไม่ให้โกรธเกลียดใคร
มีแต่ความรักให้แก่เขา
วิธีนี้ถือเป็นการทำบุญ
ที่ได้อานิสงส์มากทีเดียว

#พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล







#เรียนวิปัสสนากับหลวงพ่อปาน

เพราะตามความรู้สึกตนเองนั้น รู้ตัวว่า โทสะ โมหะ มีกำลังหนาแน่น เกินที่จะกำจัดในชาตินี้ให้สิ้นไป หรือแม้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็อาจไม่สามารถ ที่จะให้ลดน้อยลงได้ คิดว่า ชาตินี้ ถ้าเราได้แม้เพียงปฐมฌาน เราพอใจแล้ว

ด้วยสมัยที่เรียนนักธรรม พบหนังสือของท่านนักปราชญ์ใหญ่เล่มหนึ่ง ท่านอธิบายหลักธรรมไว้เยอะแยะ อ่านแล้วเห็นว่า ท่านเป็นนักปราชญ์จริงๆ ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า สมัยนี้ แม้ฌานโลกีย์ ก็หาคนบรรลุได้ยาก

ท่านอ้างเหตุผลว่า เพราะสมัยนี้ ไม่มีพระอริยะเป็นครูสอน เมื่ออ่านแล้ว เกิดความท้อใจ ได้เรียนกับหลวงพ่อปานว่า

กระผมไม่ขอเรียนวิปัสสนาญาณ เพราะคิดว่า ชาตินี้ไม่หวังที่จะได้มรรคผล ขอเรียนเฉพาะสมถะอย่างเดียว ด้วยต้องการแต่ฌาน ถ้าจะได้ฌานบ้าง แม้เพียงปฐมฌาน ภายในชีวิตนี้ก็พอใจ

หลวงพ่อท่านฟังแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่าดีแล้ว ต้องการน้อย แต่ได้มาก เป็นกำไร เธอต้องการอย่างนั้น ฉันจะสอนตามใจเธอต้องการ แล้วท่านก็สอนว่า

ก่อนภาวนา ให้พิจารณาขันธ์ 5 ให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาไปจนเบื่อ เมื่อจิตจะซ่าน ท่านให้ภาวนา โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นฐานภาวนา

เมื่อภาวนาจนใจสบาย มีอารมณ์แจ่มใส ใจ เป็นสุข หรือเป็นอุเบกขา แล้วท่านให้พิจารณาตาม ท่านสอนต่อไป ถ้าอารมณ์จะซ่าน ก็ให้ภาวนาใหม่ ทำอย่างนี้ สลับกัน เป็นลำดับไป

เมื่อจะเดิน นั่ง ยืน นอน ท่านแนะว่า อย่าทำจิตให้คลาดจากการพิจารณา หรือภาวนาทุกอิริยาบถ ทุกขณะลมหายใจเข้าออก อย่าให้ว่างจากการพิจารณา หรือภาวนา

จงคิดว่า ชีวิตเราน้อย มีเวลาที่จะทำความดีน้อยเหลือเกิน เมื่อโอกาสมี จงพยายามทำอย่าให้ขาด ท่านอธิบายว่า การพิจารณาก่อน จนจิตเห็นเหตุเห็นผล ว่าการมีชีวิตอยู่ ไม่มีอะไรเที่ยง เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ ไม่ให้เกิด ไม่ให้มีไม่ได้

ท่านสอนอย่างนี้ ก็ทำตาม เพราะท่านแนะนำว่า พิจารณาก่อนอย่างนี้ ฌานเกิดง่ายและแจ่มใส ฌานที่เกิดจะไม่เสื่อม ทำตามท่านไปเพราะความโง่ ไม่ทราบเลยว่า หลวงพ่อปานท่านสอนให้พิจารณา วิปัสสนาญาณเสียเต็มที่ ดูเหมือน จะมากกว่าสมถะเสียอีก

ผลที่ได้ก็คือ พอทราบได้ สมถะ วิปัสสนาก็ขึ้นมา 80 เปอร์เซ็นต์ เวลาจับวิปัสสนาจริงๆ เกิดความรู้สึกว่าง่ายเหลือเกิน

ที่มา : จากคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง









เป็นคนใจบุญ แต่กลับตายไปเป็นเปรต??
หลวงปู่ชาเตือนให้พึงระวัง!!
อย่าหวง อย่าห่วงให้มากนัก...

ความบางตอนจากพระธรรมเทศนาของพระโพธิญาณเถร หรือ "หลวงพ่อชา สุภัทโท"
บรรยายธรรมให้กับคณะครู ณ วัดหนองป่าพง

" ...ท่านบอกว่า มีคน ๆ หนึ่งเป็นคนที่ใจบุญสุนทาน ตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่ อะไรจะเป็นบุญ อะไรจะเป็นกุศล แกพยายามไปทำ แกก็ทำให้มันดี ทำให้มันละเอียด ทุกอย่างแหละ วางของที่นี่ วางไว้ตรงนี้ ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น ถ้าลูกหลานจับมาเคลื่อน ก็บ่นเสียแล้ว ไม่สบายใจนะ ไม้กวาดต้องวางตรงนี้ กาน้ำวางตรงนั้น เมื่อใครมาทำให้ผิดหวัง ทุกข์เสียแล้ว

แต่แกเป็นคนละเอียดดี ใจบุญ เป็นระเบียบ วันหนึ่งก็คิดได้ เห็นศาลาในป่า ที่คนไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ ก็คิดว่า เราจะมาสร้างศาลานี่ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้บุญ พ่อค้าพ่อขายไปมาจะได้พักผ่อนหย่อนใจ จะได้มีความสุขสบาย คิดแล้วแกก็ไปทำ ๆ อย่างดีอยู่ในป่า เพื่อให้คนพัก เมื่อทำเสร็จแล้ว ต่อไปแกก็ตาย วิญญาณไปเกาะอยู่ที่ตรงนั้น คือ มันเกาะแต่เมื่อมีชีวิตอยู่น่ะ เมื่อสร้างศาลาแล้ว แกก็พยายามไปดู มันสกปรกที่ไหน คนมาพักนี่มันเป็นอะไร ยังไง ถ้าคนทำไม่ดีแล้ว แกก็ใจไม่ค่อยดี ถ้าคนทำดี แกก็ใจสบาย เพราะแกเป็นคนใจบุญสุนทาน ละเอียด เจ้าระเบียบ

อีกวันหนึ่ง พ่อค้าเกวียน มาหลายร้อยเลย มาพัก เมื่อกินข้าวแล้วก็นอนกันเป็นแถว เจ้าของศาลา เป็นเปรต ก็มามองดูมันเป็นระเบียบหรือเปล่า ย่องมาดู มาดูทางศีรษะ มันก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว บางคนสูง ๆ บางคนต่ำ ๆ มันยุ่งหัวใจเหลือเกิน จะทำอย่างไรดี ก็มาดึงทางเท้าให้มันลงไปให้ศีรษะมันเสมอกัน ดึงไปสุดแถว พอใจแล้ว เรียบร้อย ต่อมา ๆ ดูทางเท้าอีก อ้าว ไม่เสมอกันอีกแล้ว ก็ไปดึงศีรษะขึ้นไปอีก ให้มันเสมอกัน เมื่อเสมอกันดีแล้ว วนไปรอบ ๆ ไปดูทางศีรษะ อ้าวไม่เสมอกันอีก เปลี่ยนอีก ยุ่งจนกระทั่งดึก จนทอดอาลัย มันเป็นเพราะอะไรหนอคน เท่านี้แหละ คนเรามันหลง ไม่หลงมากหรอกเท่านี้ เปรตมันหลงแล้ว

ก็เลยมานั่งคิดดูว่า อ้อ คนมันสั้นยาวไม่เสมอกัน ความสั้นความยาวของคนไม่เสมอกัน ก็มารู้สึก เอ้อ วางเสีย มันอย่างนี้แหละคนเรา เพราะมันสูงมันต่ำไม่เสมอกันอย่างนั้น แกก็เลยวาง เพราะเห็นอะไร เพราะเห็นว่า คนมันไม่เสมอกัน แต่ก่อนเห็นคนให้มันเสมอกัน คนไม่เสมอกัน ทำให้เสมอกันมันเสมอไม่ได้ แกก็เป็นทุกข์มานั่งคิด เออ ความจริงคนมันเป็นอย่างนั้น คนมันสั้น มันยาว ไม่เสมอกัน มันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นได้เช่นนี้ ก็สบายเลยนะ สบายใจ

พวกเราก็เหมือนกัน ไปเห็นเหตุมันแล้วก็ไม่เห็นเหตุมันเป็นอย่างนั้น การจะทำให้มันเสมอกันอย่างนั้น หมดปัญญาที่จะต้องคิดแล้ว เพราะมันแก้ไขไม่ได้ มันจะไปตัดแข้งตัดขาเขามันก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า ความยึดมั่นอุปาทาน จะให้มันเหมือน ๆ กัน พวกเรานี้ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีธุระหน้าที่ ก็คงจะไม่เสมอกันหรอกนะ บางคนก็ช้าไปบ้าง บางคนก็เร็วไปบ้าง สารพัดอย่าง มันเลยเกิดยุ่งยากเหมือนเปรต เราก็ชอบอยากจะไปเป็นเปรตอย่างนั้น

บางทีอาตมาก็เป็นเปรตเหมือนกัน แต่มันรู้สึกง่ายหรอก อ้าว มันเป็นเปรตแล้วนี่เรา เลิก อย่างนี้ ทำไม เพราะอาศัยลูกศิษย์ลูกหาน่ะ อยากจะให้เขาดี ทำเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็เป็นทุกข์ ทุกข์แล้วก็รู้ว่า เออ เราเป็นเปรต แล้วสอนเจ้าของไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น มันก็ยังเกิดเป็นเปรตอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน ไม่ค่อยยอมง่าย ๆ จะต้องทำจนชำนาญ ๆ ไป ให้มันรู้เหตุ รู้ผลมันจริง ๆ

ดังนั้นเราจึงปล่อย คนนี้ทำอย่างนั้น คนนั้นทำอย่างนี้ ก็ปล่อยก็วางไปเรื่อย ๆ ทำไม มันไม่เป็นเพราะเขา มันเป็นเพราะเรา เข้าใจไหม ใจเรามันไม่สะอาด นึกว่ามันเป็นเพราะคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่ มันเป็นเพราะเรา คนไม่เสมอกัน เราอยากให้เสมอกัน เราคิดผิดอย่างนี้ จะไปแก้ตรงไหน ก็แก้เราสิ เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น แล้วก็สบาย พวกเราในกลุ่มเดียวกันนี้ ก็เหมือนกันอย่างนั้น..."

(หลวงปู่ชา สุภัทโท)






• พุทโธเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน •

สำหรับคำภาวนานี้บรรดาท่านพุทธบริษัทอาตมาไม่จำกัดให้ท่าน เพราะทุกคนสามารถจะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ตามใจชอบก็ถือว่าไม่ผิด ใน บทอิติปิ โสฯ ทั้งบททั้ง ๓ ห้อง เอาคำใดคำหนึ่งก็ได้ ภาวนาตามใจชอบของท่าน มีผลทั้งนั้น

แต่ว่าถ้าบังเอิญท่านไม่เคยภาวนามาเลย ขอแนะนำให้ใช้คำภาวนาว่า "พุทโธ"ก่อน เพราะว่า พุทโธเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน
คำว่า "พุทโธ" เป็นการนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า "พุทธานุสสติ"
"อนุสสติ" แปลว่า "ตามนึกถึง"

เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท
เวลาหายใจออกนึกว่า โธ
แต่ถ้าบังเอิญท่านยังไม่สามารถจะตัดสังโยชน์ได้ ยังไม่สามารถทำจิตเป็นฌานสมาบัติได้ อาจจะเป็นแค่คิดว่าเวลานี้เรามี
พุทโธเป็นที่พึ่ง "พุทโธ คือ พระพุทธเจ้า"

การภาวนาว่าพุทโธก็ไม่ใช่ทั้งวัน เวลามีกิจการงานก็ทำการงานไป ถ้านึกถึงขึ้นมาได้ก็ภาวนา เวลาภาวนาจะไม่นั่งสมาธิก็ได้ ทำงานอยู่แล้วภาวนาก็ได้ หรือว่าถ้าเรามีภาระมากไม่สามารถจะนึกได้ในเวลาอื่นก็ใช้เวลาก่อนหลับ

เวลาก่อนหลับ ถ้ามันเหนื่อยมากๆ ไม่สามารถจะนั่งได้ก็ไม่เป็นไร นอนก็ได้ เมื่อศีรษะถึงหมอนนึกในใจตั้งนะโม ๓ จบ นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์แล้ว ก็ตั้งใจภาวนาว่า พุทโธ หายใจเข้านึกว่า พุท
หายใจออกนึกว่า โธ ด้วยความจริงใจด้วยศรัทธาแท้ จะใช้เวลาสัก ๓-๕ นาทีก็ตามใจชอบ แต่ไม่ควรจะตั้งเวลาเอาแค่จิตสงบ ถ้าจิตมีความวุ่นวายเราก็เลิก

ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททำได้อย่างนี้ทุกวัน ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิก็ไม่ถึงท่านเหมือนกัน เพราะการนึกถึงชื่อพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ไปสวรรค์นับไม่ถ้วน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสกับอทินนกปุพพกพราหมณ์

"อทินนกปุพพกพราหมณ์"
ในเมื่ออทินนกปุพพกพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า..พระสมณโคดมคนที่นึกถึงชื่อท่านอย่างเดียว ไม่เคยยกมือไหว้ ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยฟังเทศน์ตายแล้วไปสวรรค์มีไหม

องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า..
พราหมณะ ดูก่อน พราหมณ์ คนที่นึกถึงชื่อตถาคตอย่างเดียว ไม่เคยยกมือไหว้ ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยฟังเทศน์ ตายแล้วไปสวรรค์ ไม่ใช่นับร้อยนับพันแต่นับเป็นโกฏิ อย่างลูกชายของท่าน

คือลูกชายของเขานึกถึงชื่อพระพุทธเจ้า ต้องการให้ไปรักษาโรค แต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ไป กำลังนึกถึงอยู่อย่างนั้นเขาก็ตายไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก

เอาละ..บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท พูดมาพูดไปก็หมดเวลาพอดี ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายหันหน้าไปหาพระพุทธรูป ตั้งใจสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐาน สวัสดี.

#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
วัดจันทาราม(ท่าซุง)จ.อุทัยธานี
คัดลอกจากหนังสือ : ธัมมวิโมกข์
๓๗๑ ก.พ.๕๕ หน้า ๘๙-๙๐








#การมีสมาธิ
#ในสีลานุสสติกรรมฐาน

คำว่า "สมาธิ"
ใน "อนุสสติ"
ไม่จำเป็นต้องนั่ง
ขัดสมาธิ คือนึกถึงอยู่ นึกถึงศีล
หรือกรรมบท ๑๐
นึกถึงพรหมวิหาร ๔
นึกถึงสังคหวัตถุ ๔
ถ้าเรายังนึกได้
อยู่ว่าข้อวัตรปฏิบัติมีอย่างไร เราก็พยายามปฏิบัติตามนั้น
ไม่พยายามฝ่าฝืน
ใหม่ๆ มันอาจจะเผลอบ้างเป็นของธรรมดา
ถ้ามีการพลาดพลั้ง
เราก็คิดว่าจะยับยั้งต่อไปเบื้องหน้าเราจะไม่ยอม
ให้พลาดอีก ถ้าอย่างนี้ท่านเรียกอนุสสติ คือตามนึกถึง เป็นกรรมฐานหนึ่งกองในสิบกอง อนุสสตินี่มี ๑๐ อย่าง ถ้าตามนึกถึงอยู่อย่างนี้ขณะใดที่ยังนึกถึงอยู่ ขณะนั้นชื่อว่ามีสมาธิใน
"สีลานุสสติ"

#ไม่ใช่ทำดีแต่ตอนหลับ

อย่าลืมนะ
สมาธิถ้าเรานั่งหลับตา
กันเฉย ๆ พอเลิกไปแล้ว
ก็ประพฤติชั่ว คิดชั่ว ทำชั่ว อย่างนี้เจริญสมาธิ
ไม่มีความหมาย
สมาธิไม่มีความหมาย "สมาธิแปลว่าตั้งใจ"
คือตั้งใจปฏิบัติตามนี้
เราคิดว่าเราจะปฏิบัติแบบไหน ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตามนี้ ขณะที่จิตยังทรงตัวอยู่และปฏิบัติได้นั่นชื่อว่ามีสมาธิ
ในอนุสสติตัวนั้น ๆ และก็ถ้าปฏิบัติกันได้ถือว่าจิตมีสมาธิในอนุสสติ
ตามที่เราต้องการ
ถ้าสามารถปฏิบัติได้
จนมีการทรงตัว คือว่าหมายความว่าเราจะไม่ลืมในกรรมบท ๑๐ ทุกข้อ
เราไม่ลืมในศีล ๕ เราไม่ลืมในสังคหวัตถุ ๔ เราไม่ลืมพรหมวิหาร ๔ เราไม่ลืม จิตใจทรงตัวอย่างนี้ถือว่าเป็นฌานใน
อนุสสตินั้น ๆ

#ที่มาจากธัมมวิโมกข์
#ธรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์
#ธัมมวิโมกข์ฉบับที่๒๙๙ #หน้า {๘๒-๘๓}
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
{หลวงพ่อฤาษีลิงดำ}
วัดท่าซุง
อำเภอเมือง
จังหวัดอุทัยธานี








“ร่างกายเป็นเหมือนถุงใส่ขยะ
ที่ใส่สิ่งที่เป็นปฏิกูล สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม
แต่เรามองไม่เห็นกัน ก็เลยหลงร่างกาย
ทำให้เกิดกามราคะ เกิดความอยากในกาม
อยากจะเสพกาม ถ้าเห็นว่าเป็นอาการ ๓๒
มีสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ถูกขับถ่ายออกมาอยู่เรื่อยๆ
ก็จะดับกามารมณ์ได้”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"... อันใดจะมีคุณค่ายิ่งกว่าธรรม อันใด
เล่า ..!!
... จะมีคุณค่ายิ่งกว่าความหลุดพ้นจาก
ทุกข์ ..!!
... ให้เราคิดเอา เอาโลกมาเทียบ โลกมี
ถึง ๓ โลกธาตุ โลกไหนดี โลกไหนจะดี
ยิ่งกว่าความหลุดพ้นจากทุกข์ของใจล่ะ
นี่ตรงนี้ละ ..."

หลวงตาพระมหาบัว_ญาณสัมปันโน
#เทศน์อบรมพระ_ณ_วัดป่าบ้านตาด
[เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑]​








"ถ้าใจ ยังไม่มีความสงบเย็น
ทางสมาธิธรรมแล้ว อย่าเข้าใจว่า...
ตนจะได้รับความสุข เย็นใจที่ไหนๆ เลย แต่จะเจอเอา เเต่...ความรุ่มร้อน ที่แอบแฝงไป กับหัวใจ
ที่ไม่มีความสงบนั้น นั่นแล

จงพากันรีบชำระ แก้ไขใ
ห้พอเห็นทางเดิน ของจิต เสียแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

ใครเพียร
ใครอาจหาญ
ใครอดทน
ในการต่อสู้กับกิเลส ตัวฝืนธรรม อยู่...ตลอดเวลา
ผู้นั้น...
จะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจ ในโลกนี้
ในบัดนี้ และในดวงใจนี้

ไม่เนิ่นนาน...
เหมือนการท่องเที่ยว ที่เจือด้วยสุข ด้วยทุกข์
อยู่...ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มี วันจบสิ้น

ธรรม...
ทุกบท ทุกบาท ที่ศาสนาสอนไว้ ล้วนเป็นธรรม
รื้อขนสัตว์ ผู้เชื่อฟังพระองค์ ให้พ้นไปโดยลำดับ
จนถึงขั้นธรรม...
ที่ไม่กลับมาหลงโลก ที่เคยเกิด-ตายนี้ อีกต่อไป."

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต.


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 108 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO