พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 15 ก.ย. 2022 6:22 am
“ทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องดับที่ใจ”
คำถาม : เคยฟังพระพูดว่าทุกข์อยู่ที่ไหน
ให้ดับที่นั่น หมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ
แล้วทำอย่างไรล่ะเจ้าคะ
พระอาจารย์ : อ้าว
เวลาไฟลุกจะไปดับไฟที่ไหนล่ะ
ไฟลุกที่บ้านแล้วไปดับไฟที่รถมันจะได้หรือเปล่า
.ไฟลุกที่บ้านก็ต้องดับไฟที่บ้าน
“ทุกข์มันเกิดที่ใจ ก็ต้องไปดับที่ใจ”
แต่เราโง่กัน..เวลาเกิดความทุกข์ใจ
เราก็ไปดับที่คนนั้น
.เพราะเราไปคิดว่าเขาทำให้เราทุกข์
เช่น คนเขาด่าเราอย่างนี้
เราก็เลยไปจัดการกับเขา
เพื่อเราจะได้หายทุกข์ ..มันไม่หายหรอก
.ทุกข์มันเกิดที่ใจเรา ต้องดับทุกข์ที่ใจ
สาเหตุที่ทำให้ใจทุกข์ก็เพราะ
“ไม่อยากให้เขาด่าเรา” เรามาหยุดสาเหตุนี้
อย่าไปอยากให้เขาไม่ด่าเรา
.ปล่อยให้เขาด่าเรา
พอเราหยุดความอยากไม่ให้เขาด่าเราได้
ต่อไปเขาด่าเรากี่ครั้ง เราก็ไม่ทุกข์
เพราะเรา “ไม่มีความอยาก” ไม่ให้เขาด่าเรา
.เรากลับจะดีใจ โอ้..วันนี้เขาด่าเรา
แสดงว่าเขาคิดถึงเรานะ
เขารักเรา เขาชอบเรานะ ฉะนั้นอย่าไปแก้
.ความทุกข์ใจต้องแก้ที่ใจ
แก้ที่สาเหตุของใจ ดับความอยากของใจแล้ว
“ความทุกข์ใจก็จะหายไป”
อย่าไปแก้ที่คนที่เขาด่าเรา ..ไม่จบ
พอเขาด่าเรา เราก็ด่าเขากลับ
เขาก็เลยตีเราซิ เขาตีเรา เราก็ฆ่าเขาซิ
มันก็ไปกันใหญ่.
……………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ถามตอบปัญหาธรรม
23 กุมภาพันธ์ 2565
หลวงพ่อชาเล่าว่า... ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี"ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้” หนึ่งในคำสอนของ “หลวงปู่กินรี “ที่ยืนยันกับ “หลวงพ่อชา” เรื่องการทำสมาธิที่อยู่ในใจใช้ปฏิบัติเสมอมา
หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และ นั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวัน ๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นาน ๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน
หลวงพ่อชาก็รู้ว่า เป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้ จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า
“เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหน ๆ
-ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”
#ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า
#การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ
#แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง
#ไม่ว่าทำอะไรก็สามารถเป็นการภาวนาได้
คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็ว ๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ
ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า
“ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
“ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ”
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ”
“ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”
เมื่อเห็นว่า ใจของหลวงพ่อชา ไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไว ๆ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อไปภาวนาต่อ
#หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า...
“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”
#คำพูดของหลวงปู่กินรีกระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และ เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า...
#ไม่ว่าอยู่ที่ไหนทำอะไรก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
#นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา
#เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า...ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ
พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า
“นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติ กับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า...
#การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก
เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า...
#การอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้
อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือ เวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมา...ก็ปฏิบัติธรรมได้ #ถามว่าเวลารถติดทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว...
#ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน
จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น
#ดังนั้นให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้
#การปฏิบัติธรรมก็คือติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด
#ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด
#เวลาเสียเงินจะไม่โมโห
#เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน
#แต่ใจไม่หาย
ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า... #ปฏิบัติธรรมแล้ว!
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
..จิตใจนี่มันโง่อย่างนี้นี่เอง มันไม่ฉลาดอย่างนี้นี่เอง มันจึงเป็นทุกข์ เราจึงจะแก้ไขเพราะเราไม่อยากจะทุกข์ ทุกข์ทั้งกายทั้งใจของเรา เราจึงหาวิธีแก้ไข แก้ไขอย่างไร ก็แก้ไขที่จิตใจของพวกเรานี้สิ อย่าให้จิตไปคิดอย่างนั้นมันทำให้เกิดทุกข์ ให้จิตใจของเรารู้โทษ ว่ามันคิดอย่างนี้มันทุกข์ ยอมรับยอมจำนนว่าคิดอย่างนี้มันทุกข์ จิตมันก็จะวาง เหมือนคนยืนตากแดดแดดมันร้อน เมื่อมันร้อนมันก็จะเข้าร่มเอง ฉันใดก็ดีจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันเข้าใจสิ่งที่มันเกิดทุกข์ขึ้นมา แล้วมันก็จะละด้วยตนเอง แต่มันก็จะรู้ได้ไม่ง่ายเพราะมันมีโมหะคือความหลง ลังเลสงสัยอยู่ทั้งทางถูกทางผิด ทั้งทั้งที่ทุกข์มันยังไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ มันก็อยากสุขอยู่แต่มันวางไม่เป็น มันไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ ไม่ปล่อยไม่วางไม่ละไม่ทิ้ง
. ถ้าจิตใจของเราสงบนี้แหละ เราก็จะสอนจิตใจของเราด้วยสติและปัญญา คือสติสัมปชัญญะนี่เอง เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น จิตใจของเรานี่แหละจะเป็นผู้รู้ ไม่มีใครเป็นผู้รู้นอกจากตัวของเรา เมื่อจิตใจของเรามีความสุข รื่นเริงเบิกบาน เราก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่ามีความสุข เมื่อเรารู้ด้วยตนเอง เราก็จะแก้ปัญหาของตนเองได้ การรู้การปล่อยการละการวางเป็นหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่หน้าที่ของครูบาอาจารย์จะละให้
.. ละความทุกข์ออกจากจิตใจของเราเอง ละความชั่วออกจากทางวาจาของเราด้วยตนเอง ละความชั่วที่เกิดขึ้นทางกายที่เรากระทำอยู่ เป็นหน้าที่ของพวกเราทั้งนั้น เหตุฉะนั้นให้เราศึกษาต้นเหตุคือจิตใจ ใจเป็นหัวหน้าใจเป็นประธาน ใจเลิศใจที่ประเสริฐสำเร็จได้ด้วยใจ
..การที่เรานั่งสมาธิก็เพื่อให้จิตใจสงบ ใจสงบอยู่ทุกวันทุกวัน เราก็จะได้มารู้อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ แก้ปัญหาตรงนี้แหละ วิธีดับทุกข์ที่จิตใจ..
..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..
..อบรมพระนวกะที่กุฏิ 27 กันยายน 2551..
-การภาวนา คือการบังคับใจ
"การงานทุกชนิด
ที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญ เล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล
ถือหลักความถูกต้อง เป็นเข็มทิศทางเดิน ของ...
กาย วาจา ใจ
ไม่เปิดช่องให้ความอยาก
อันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา
ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิด ถูก ดี ชั่ว พาเราเสียไป จนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษมัน
ก็ไม่ได้ ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย
ถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้ว
ของเก่าก็เสียไป ของใหม่ก็พอลยจมไปด้วย
ไม่มี วันฟื้นตัวได้
ฉะนั้นการภาวนา...
จึงเป็นเครื่องหักล้าง ความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี วิธีภาวนานั้น...
ลำบากอยู่บ้างเพราะเป็นวิธีบังคับใจ
วิธีภาวนา...
คือ วิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก
ไม่อยู่เป็นปกติสุข
ด้วยการมีสติตามระลึกรู้...ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่ง เป็นคำบริกรรม
เพื่อ...เป็นยารักษาจิต
ให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุข ใน...ขณะภาวนา"
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต.
โลกนี้เป็นของว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
นี่คือ สัมมาทิฏฐิสูงสุด
.
…. “การดับทุกข์” ก็คือ การดับความยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง และวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ..อย่าให้มันเกิด ถ้ามันจะเกิดก็ดับมันทันที ทำอย่าให้มันเกิดได้ จึงจะเป็นการถูกต้องที่สุด เพราะฉะนั้น (พระพุทธองค์)จึงตรัสว่า..หลุดพ้นจากทุกข์ คือ ไม่ทุกข์เพราะไม่ยึดมั่น “อนุปาทา วิมุจฺจนฺติ” = หลุดพ้นจากทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่น
…. ทีนี้ ก็มาถึงว่าจะหลุดพ้นได้อย่างไร?
…. หลุดพ้นได้ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง (พระพุทธองค์)จึงตรัสว่า.. “สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพํ ทุกฺขํ อปจฺจคํ" = หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ
…. สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความรู้อันถูกต้อง ว่าโลกนี้เป็นของว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่คือสัมมาทิฏฐิสูงสุด สัมมาทิฏฐินี้บางทีไม่เรียกชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ บางทีเรียกชื่อว่า “ปัญญา” ฉะนั้น จึงมีประโยคบางประโยคที่ตรัสไว้ว่า “ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ” = ย่อมบริสุทธิ์จากทุกข์ได้ด้วยปัญญา”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากหนังสือ “โอวาทท่านพุทธทาส” จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธรักษา
บุญที่ไม่ต้องเสียเงินคือการสวดมนต์ รักษาศีล
เจริญสติภาวนา งดเว้นจากการเบียดเบียน
ไม่ทำให้ตนเอง และ ผุ้อื่นต้องเดือดร้อน
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นมหาทาน
เป็นการให้ทานอันยิ่งใหญ่ ให้ความไม่มีเวร
ให้ความไม่มีภัยแก่มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย
และ อย่าลืมเห็นผู้อื่นทำดี อนุโมทนาบุญด้วยใจ
ที่เกิดปิติมีความสุขไปด้วย เพียงเท่านี้บุญมหาศาล
" มึงห้อยพระที่คอ แต่ถ้ามึงทำเลวประพฤติชั่ว ไม่รักษาศีล พระหรือเทวดาองค์ไหนจะมาช่วยมึงละลูกเอ่ยย "
พระเทพวิทยาคม
(หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
..#ขันธ์ห้า..
..มีภาระหมดทุกอย่าง ขันธ์ ๕ นี้ ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีภาระแต่ละหน้าที่ของตนเอง ภารหาโร จ ปุคฺคโล บุคคลนําภาระไป เราก็นำภาระสิ่งเหล่านี้เอง เราพากันมาเกิด เราก็นำเอารูปร่างมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ เอามาอีก เรียกว่าเราต่อชาติต่อภพอีกไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอย่างนี้ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ผู้ใดยึดขันธ์ ๕ เป็นภาระในโลก เป็นทุกข์ในโลกนี้ ถ้าเรายึดขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์อยู่ในโลก ทุกข์แน่ๆ
..ภารานิกฺเขปนํ สุขํ บุคคลใดปลงภาระอันหนักนี้ได้ เป็นสุข คำว่าบุคคลใดที่จะปลงภาระอันนี้ได้ พูดถึงบุคคล ใครจะเรียนรู้ดูเข้าใจในขันธ์ ๕ รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ นี้ทั้งหมด ทั้งรูปก็รู้แจ้งเห็นจริง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และขันธ์ทั้งหลายนี้ ก็รู้จริงตามความเป็นจริง เพราะมีอยู่โดยสภาวะความเป็นปกติของมัน ถ้าเราไม่รู้ เราก็ปลงไม่ได้ วางไม่ได้
..นิกฺขิปิตฺวา ครุํ ภารํ ถ้าบุคคลใดปลงภาระอันหนักได้แล้ว เราปลงภาระไปแล้ว ควรหรืออยากไปรับเอาภาระ ถ้าใครปลงได้ ก็ไม่มีใครกระมังอยากรับภาระ คนจะปลงได้ก็ต้องรู้แจ้งเห็นจริง อันนี้พวกเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง พวกเราจึงปลงไม่ได้ วางไม่ได้ คำว่า ปลง คือ วาง ปล่อยออก เสียสละออก มันไม่ยึดมั่นนั่นเอง
..อญฺญํ ภารํ อนาทิย เลยไม่เอา ไม่ถือเอาภาระอื่น หรือสิ่งอื่นมาเป็นภาระอีก เหมือนบุคคลเคยมีภาระ ปลงภาระได้แล้ว ไม่เอาสิ่งอื่นมาเป็นภาระอีก เหมือนบุคคลทำการงาน โดนทุกข์ยากลำบากมาแล้ว งานนี้ฉันไม่ทำอีกแล้ว ผมไม่ทำอีกแล้ว คำว่าไม่ทำ ก็คือจะไม่ก่อให้เกิดภพชาติขึ้นมา ไม่ปรารถนา ไม่อยากมาเกิดอีก เพราะมันจะมีภาระอีก ปลงไว้แล้ว จะไม่รับเอาอีกแล้ว ไม่ปรารถนาแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ เป็นเรื่องที่เราพิจารณากัน
..สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากเหง้าเค้ามูลได้แล้ว ทำอย่างไรจึงจะถอนตัณหาความยึดมั่น อุปาทาน ออกจากใจได้ บุคคลนั้นต้อง รู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ ๕ ว่ามันมีภาระ มีทุกข์มีโทษ มีความลำบากเกิดขึ้น ก็คงจะเห็นทุกข์อยู่ทุกขณะ ถ้ามีแล้วมองคนอื่นก็เห็นทุกข์ มองตนเองก็เห็นทุกข์ เห็นสัตว์ทั้งหลายก็เห็นทุกข์ ทุกข์เกิดมาจากที่ไหน ท่านคงจะมองเห็น คือความยึดมั่นถือมั่น คือความไม่รู้นั่นเอง ท่านจึงทำให้รู้ เหมือนอวิชชาความไม่รู้ ท่านก็ทำให้มีความรู้ เป็นวิชชา อันความไม่รู้นี้เองทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เราก็จะทำให้เรารู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ทำให้เราเกิดอยู่นี้ ให้รู้ให้เข้าใจในสิ่งนี้ พวกเราที่เป็นนักปฏิบัติควรพากันพิจารณา
..นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ความปรารถนาหมดสิ้น ย่อมเข้าถึงนิพพาน ถ้าเรารู้แจ้งเห็นจริงๆ ในขันธ์ ๕ สรุปรวบรวมลงไปในไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นภาระหนักจริงๆ ขันธ์ ๕ จะไปเกิดอยู่แห่งหนตำบลใด ประเทศใดเมืองใด ที่ไหน ก็ต้องมีภาระอยู่เท่าเดิม ไปเกิดเป็นลูกคนจนคนรวย เป็นเศรษฐี กระฎุมพี พราหมณ์มหาศาล ลูกพระราชามหากษัตริย์ราชวงศ์ทั้งหลาย หาบหามราชสมบัติ นั่งในหอปราสาทราชมณเฑียรไหนก็ตาม เป็นภาระไหม มีทุกข์ไหม มีความลำบากไหม มีการปรนนิบัติดูแลไหม มีการพยุงมันไหม นี่มันเป็นอย่างนี้..
..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป.
บุญที่ไม่ต้องเสียเงินคือการสวดมนต์ รักษาศีล
เจริญสติภาวนา งดเว้นจากการเบียดเบียน
ไม่ทำให้ตนเอง และ ผุ้อื่นต้องเดือดร้อน
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นมหาทาน
เป็นการให้ทานอันยิ่งใหญ่ ให้ความไม่มีเวร
ให้ความไม่มีภัยแก่มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย
และ อย่าลืมเห็นผู้อื่นทำดี อนุโมทนาบุญด้วยใจ
ที่เกิดปิติมีความสุขไปด้วย เพียงเท่านี้บุญมหาศาล
" มึงห้อยพระที่คอ แต่ถ้ามึงทำเลวประพฤติชั่ว ไม่รักษาศีล พระหรือเทวดาองค์ไหนจะมาช่วยมึงละลูกเอ่ยย "
พระเทพวิทยาคม
(หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
การทำบุญ กับผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ก็เหมือนกันกับการตักน้ำใส่กะต่าขาด (ตะกร้าก้นรั่ว) ตักน้ำใส่เท่าใดมันก็ไม่เต็ม อานิสงส์มันได้ไม่เต็ม ไม่เหมือนตักน้ำใส่กะต่าก้นดี (ตะกร้าที่ก้นไม่รั่ว) ตักน้ำใส่มันก็เต็มเร็ว เหมือนกันกับเราทำบุญกับผู้มีศีลบริสุทธิ์ อานิสงส์มันได้เต็มที่
โอวาทธรรม หลวงปู่ปั่น สมาหิโต
วัดป่าศิริดำรงวนาราม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.