พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 19 ก.ย. 2022 5:16 am
“ทำไมพระสงฆ์เรามักจะกลายเป็นจอมขมังเวทย์”
ถาม: ทำไมพระสงฆ์เรามักจะกลายเป็นจอมขมังเวทย์ ช่วยให้รวย รักษาโรคในมุมมองของสังคมหรือครับ
พระอาจารย์: เพราะสังคมต้องการอย่างนั้นสิ ก็เป็นช่องว่างสำหรับคนที่จ้องหาผลประโยชน์จากสังคมเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นพระแท้ๆ ท่านไม่มาสนใจกับเรื่องราวเหล่านี้ พระแท้ๆ ท่านพูดแต่เรื่องธรรมะ เรื่องของการหลุดพ้นจากความทุกข์ เท่านั้นเอง
คือสังคมเป็นผู้ผลิตพระ สังคมต้องการให้พระอาบน้ำ ก็ไปหาพระ ไปขอให้พระอาบน้ำมนต์ให้ พระก็ต้องอาบให้ สังคมต้องการเลขเบอร์ก็ไปหาพระ ไปขอเบอร์จากพระ พระก็เลยต้องหาเบอร์มาให้ ใช่ไหม เพราะว่าเวลาให้อะไรแล้ว ญาติโยมก็ทำบุญกลับไปใช่ไหม ขอเบอร์มา ใส่ซองกลับไป อาบน้ำมนต์ให้ ก็ใส่ซองกลับไป มันก็เลยกลายเป็นการตลาดไป เป็นธุรกิจไป เข้าใจไหม
แต่ถ้าเป็นพระแท้ พระที่ศึกษา ปฏิบัติธรรม ท่านมีแต่เรื่องของการสอนธรรมะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ท่านไม่ต้องการอะไรจากเรา โยมจะให้หรือไม่ให้ ไม่เป็นไร ท่านมีหน้าที่สอนธรรมะก็สอนไป เท่านั้นเอง
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม
วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
"...สังคมของโลกกำลังจะเป็นขยะนะ
ถ้าคนไม่เอาความถูกต้อง
ไม่เอาความเป็นธรรม
ไม่เอาความยุติธรรม
ไม่เอาพระนิพพานนี่
โลกนี้จะเป็นขยะ
เนาะ
ยิ่งเจริญ ยิ่งมีปัญหา
ถ้าเราไม่พัฒนาใจไปพร้อม ๆ กัน
เห็นด้วยมั้ย
พวกนั้นน่ะ ทำตามใจตัวเอง
ทำตามอารมณ์ตัวเอง
ทำตามความรู้สึก
ตามความคิด ตามความหลง
เขาเรียกว่าเกิดมาเพื่อเป็น "ขยะ"
เราคิดตามหลักเหตุผล
ตามหลักวิทยาศาสตร์น่ะ
เห็นด้วยมั้ย..."
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม
วันเสาร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕
"เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน
เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา
ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งแต่เรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ
หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้น เรื่องนี้
มาเป็นเรื่องของเราไปหมด
มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจทั้งวัน
อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบายทั้งวันๆ
ก็หมดแรง"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
"ตนของตนย่อมเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
เหตุนี้ จึงต้องหัดบังคับตนเอง
ผู้อื่นถึงจะเป็นศัตรู ก็ไม่เท่าตนเป็นศัตรู
ต่อตนของตนเอง ถ้ายังไม่สามารถบังคับ
ตนของตนเองให้ดีได้แล้ว
ก็อย่าหวังเลยว่า จะบังคับผู้อื่นให้ดีได้”
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต
"คนอื่นเขาดี ก็ดีเขา
เขาชั่ว ก็ชั่วเขา
จิตใจของเรา เป็นอย่างไร"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ รักษาใจให้ดีได้เพียงไร ก็เรียกว่ารักษาตัวให้ดีได้เพียงนั้น
จะเป็นคนดีได้ต้องสำคัญที่จิตใจดีก่อน เพราะใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ รักษาใจให้ดีได้เพียงไร ก็เรียกว่ารักษาตัวให้ดีได้เพียงนั้น ใจแวดล้อมด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงมากเพียงไร ตนที่มีใจนั้นครองอยู่ ก็จะเป็นคนที่ดีไม่ได้เพียงนั้น
ความรักตนของผู้มีใจเช่นนั้น ย่อมไม่เป็นความรักที่ถูกแท้ ไม่นำให้เกิดผลดีแก่ตนอย่างไร ทำใจให้ไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้มากเพียงไร แม้ไม่รู้สึกว่ารักตน แต่นั้นก็เป็นความรักตน เป็นการสามารถรักษาตนได้มากเพียงนั้น
ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้สำคัญที่สุด รักษาไว้ใกล้ตนเพียงใด ก็เท่ากับศัตรูผู้ทำลายอยู่ใกล้ตนเพียงนั้น รักษาตนให้ดีไม่ได้เพียงนั้น
พระนิพนธ์ ธรรมเพื่อความสวัสดี
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา
ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่
สมมุติว่ามีครอบครัวจะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น
หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา
กลายเป็นความเมตตาปรานี ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ
เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่ง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง
พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ
จิตมันจะปฏิวัติตัวพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ
ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
ทีนี้บางทีพอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา
เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปั๊บ
จิตมันวูบวาบลงไปปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที
อันนี้คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน
แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน
หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว
สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อม และ
ไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย
“หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
"ทุกข์มีทุกวัน"
ทุกข์มีทุกวันแต่ลืมจำใช่ไหม ? หิวข้าวก็เป็นทุกข์ หิววันละหลายครั้งแต่ลืมจำหรืออย่างไร เพราะมีกิน ถ้าไม่มีกินจึงจะจำได้นาน
ความไม่สบายกายก็เป็นทุกข์
ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์
ความป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์
ความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์
ให้คิดตามความเป็นจริงว่า ถ้าเราขืนเกิดในโลกมนุษย์อีกกี่ชาติก็ตาม เราก็ต้องทุกข์อย่างนี้ตลอดไป สำหรับการเกิดไม่มีแต่โลกมนุษย์แห่งเดียว ยังมีเทวโลกหรือพรหมโลก
สำหรับเทวโลกหรือพรหมโลกเป็นแดนของความสุข ไม่มีความทุกข์สักอย่าง มีความปรารถนาสมหวังทุกอย่างตามที่ต้องการ ความแก่ไม่มี ความป่วยไข้ไม่สบายก็ไม่มี ปรารถนาไม่สมหวังก็ไม่มี การพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ไม่มี แต่ความตายมี....เมื่อหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องจุติ
คำว่าจุติแปลว่าเคลื่อน คือตาย ตายแล้วไปไหน ? ลงมาเป็นมนุษย์ก็ทุกข์ใหม่ ถ้าเลยลงอบายภูมิก็ต้องทุกข์มากกว่านี้ แต่แดนที่ติดต่อไปอีกแดนหนึ่งที่มีความสุขตลอดกาลอยู่แล้วไม่ไปไหน ความทุกข์ทุกอย่างไม่มี แม้แต่ความหนักใจนิดนึงก็ไม่มี นั่นคือแดนพระนิพพาน
ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคนตัดสินใจว่า ขึ้นชื่อว่าแดนมนุษย์มันทุกข์อย่างนี้ เทวดาหรือพรหมมีความสุขจริงแต่สุขไม่นานก็มาทุกข์ใหม่ เราไม่ต้องการ เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน
อารมณ์อย่างนี้เรียกว่าอารมณ์ตัด "อวิชชา" คืออารมณ์ของพระอรหันต์ เป็นอารมณ์พระอรหันต์ เราใช้บ่อย ๆ เราก็เป็นพระอรหันต์ได้ แต่ฆราวาสเป็นพระอรหันต์ได้เมื่อถึงวันสิ้นอายุขัย หมดอายุขัยวันไหนจะเป็นพระอรหันต์วันนั้นและก็นิพพานวันนั้น
พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2559),422,80-81