พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 20 ก.ย. 2022 7:15 am
“นิมนต์พระนำคนตายกลับบ้าน”
ถาม: คนที่ตายที่โรงพยาบาล
แล้วนิมนต์พระนำกลับวัดหรือบ้านคนตาย
เขาจะกลับได้จริงไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ เขาไปตามวาระของเขาแล้ว
เขาไปเป็นเทวดาไปเป็นเปรตแล้ว
หรือไปเป็นอะไรแล้ว
งั้นที่ทำนี้ เพียงแต่ไปเอาร่างกาย เท่านั้นเอง
เพื่อความสบายใจของคนเป็น
ของคนที่ยังมีอยู่
.เพราะตามความเชื่อว่า ต้องมีพระมาดึงกลับไป
แต่พระดึงไม่ได้หรอก
“มันเรื่องของกรรม กฎแห่งกรรม “
ไม่มีใครเหนือกรรม
.พอร่างกายนี้ตายปั๊บนี่
จิตนี้ถูกกรรมเป็นผู้จัดการ เท่านั้นเอง
เรามีกรรมเป็นของๆตน เป็นผู้รับผลของกรรม
จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว
จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
.ฉะนั้นกรรมก็จะจัดสรรทันที
ให้เราเป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน ไปเป็นเทวดา
หรือไปเป็นพระอริยะ
“ แล้วแต่กรรมที่เราสร้าง “.
……………………………………………
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
ถามตอบปัญหาธรรม
10 กรกฎาคม 2564
“วิธีการหาความสุขตามหลักของพระพุทธเจ้า”
คำว่าทำบุญนี้แปลความหมายกว้างๆ ก็คือการให้ความสุข ให้ประโยชน์กับผู้อื่น ให้ใครก็ได้ เวลาเราทำให้ผู้อื่นเขามีความสุข ทำให้เขามีประโยชน์จากการกระทำของเรา ได้ประโยชน์จากการกระทำของเรา เราก็จะมีความรู้สึกสุขใจอิ่มใจขึ้นมา และการทำบุญนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำด้วยข้าวของเงินทองเพียงอย่างเดียว
การให้ความสุขแก่ผู้อื่นนี้ให้ได้ในหลายรูปแบบ เพียงแต่ทักทายเขา เพียงแต่ยิ้มให้เขานี้ก็เป็นการให้ความสุขกับเขาได้ เป็นการสร้างบุญได้ หรือการให้อภัยกับผู้ที่เขากระทำอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายกับเรา เราก็ให้อภัยเขา ไม่เอาโทษเขาก็ทำให้เขามีความสุขใจขึ้นมาว่า
โอ้ เมื่อกี้เขาทำอะไรผิดพลาดไป แต่เราผู้เสียหายกลับไม่เอาโทษไม่เอาเรื่องเขา เขาก็จะเกิดความสุขใจขึ้นมาได้ และทำให้เรามีความสุขใจด้วย ดีกว่าการที่เราจะไปอาฆาตพยาบาท ไปเอาเรื่องเอาราวกัน เพราะการอาฆาตพยาบาทเอาเรื่องเอาราว มันก็จะทำให้ใจเราร้อน ผู้ที่เขาอาฆาตเขาก็ร้อน ทำให้ร้อนขึ้นมาทั้งสองฝ่าย
พอเราไปอาฆาตพยาบาทเขา ไปทำร้ายเขา เดี๋ยวเขาก็จะกลับมาอาฆาตพยาบาทเรา ทำร้ายเราอีก แล้วมันก็จะไม่มีวันจบ มันจะไปจบที่ความตาย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องตายไป อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องติดคุกติดตะรางหรือถูกประหารชีวิตไป หรือถ้าหลบซ่อนได้ก็อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่แบบไม่มีความสุข อยู่แบบวิตกกังวลตลอดเวลา
ถ้าไม่ทำบุญมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าทำบุญแล้วใจจะไม่ต้องไปรับกับผลที่ไม่ดีต่างๆ รู้จักให้อภัย รู้จักแบ่งปัน มีอะไรก็แบ่งปัน แบ่งปันความสุข
ความสุขนี้ไม่จำเป็นจะต้องมีเงินทองเพียงอย่างเดียว การเสียสละสิ่งที่เรามีแล้วก็ได้ เราไม่มีเงินทองแต่เรามีของใช้ที่เรามีมากเกินไป มีเสื้อผ้ามากเกินไป มีอะไรมากเกินไปที่เราไม่จำเป็นจะต้องมีนี้ เราก็เอาไปให้กับผู้ที่เขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อนก็ได้ ก็ทำให้เขามีความสุขจากการได้สิ่งของต่างๆ จากเราไป
นี่คือวิธีการสร้างความสุขให้กับใจ ด้วยการทำบุญวิธีการต่างๆ ตามกำลังตามอัธยาศัย ตามความพอใจ บางคนนี้ชอบทำบุญกับวัดก็ไปทำที่วัด บางคนชอบทำบุญกับโรงเรียนก็ไปทำที่โรงเรียน ทำบุญกับโรงพยาบาลก็ไปทำที่โรงพยาบาล ทำบุญกับสัตว์ที่จะถูกฆ่าถูกเชือดก็ไปไถ่ชีวิตเขา ทำบุญกับนกกับปลา ก็ปล่อยนกปล่อยปลา ทำบุญกับสุนัขจรจัด มีสุนัขจรจัดไม่มีใครดูแลเลี้ยงดู ก็เอามาเลี้ยงดู
การกระทำเหล่านี้เป็นการทำบุญเหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าบุญจะต้องทำกับพระกับวัดเพียงอย่างเดียวถึงจะได้บุญ บุญคือความสุขใจอิ่มใจที่เกิดจากการเสียสละแบ่งปันของเรา ถ้าเราได้เสียสละแบ่งปันของที่เป็นของเรา แล้วทำให้ผู้อื่นเขามีความสุขหรือบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อน มันก็จะทำให้เราเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมา
นี่แหละคือวิธีการหาความสุขของทางพระพุทธศาสนา ให้หาแบบนี้ อย่าไปหาความสุขจากการไปเที่ยวตามแหล่งบันเทิงต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่ถ้ายังหยุดไม่ได้ ยังเลิกไม่ได้ก็ทำให้มันน้อยหน่อยก็แล้วกัน เคยทำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ลดลงเหลือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เอาอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์มาให้กับการทำบุญแทน เปลี่ยนวิธีหาความสุข แล้วเปรียบเทียบกันดูว่าวิธีไหนจะดีกว่ากัน
ถ้าลองได้ทำแล้ว รับประกันได้ว่าจะเห็นว่าความสุขที่ได้จากการทำบุญนี้จะดีกว่าความสุขที่ได้จากการไปเที่ยว ไปกินไปดื่ม ไปดูไปฟังมหรสพบันเทิงอะไรต่างๆ แล้วก็ความทุกข์ก็น้อยกว่ากันด้วย ความทุกข์ที่เกิดจากการทำบุญนี้จะน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย เวลาที่ไม่ได้ทำบุญก็จะไม่ทุกข์ แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการได้ไปเที่ยวไปกินไปดื่มไปดูไปฟังอะไรมา เวลาที่ไม่ได้ไปนี่มันจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน
สาเหตุที่เรามีความทุกข์กันอยู่เรื่อยๆ ก็เพราะนี่ เราติดในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน เราเคยหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสกัน พอช่วงไหนเกิดมีการติดขัด มีอุปสรรคไม่สามารถที่จะไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้ เราก็จะรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาทันที
แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีหาความสุข แทนที่จะหาความสุขจากรูปสียงกลิ่นรส จากการไปเที่ยวไปดูไปฟังไปกินไปดื่มอะไรต่างๆ แล้วมาทำบุญกันแทน แล้วเราจะพบกับความสุขอีกแบบหนึ่ง ความสุขที่จะทำให้เรามีความอิ่มใจ แล้วมันจะทำให้เราไม่มีความอยากที่จะหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ นี้ จะเบาบางลงไปตามลำดับ
จนต่อไปอาจจะไม่ต้องหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสอะไรก็ได้ ถ้าเราได้ทำบุญอย่างเต็มที่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราอยากจะมีความสุขเราก็ไปทำบุญกัน ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราอยากจะมีความสุขเราก็ไปเที่ยวไปกินไปดื่มกัน อันนี้เป็นความสุขที่ต่างกัน ความสุขที่ได้จากการทำบุญนี้เป็นความสุขที่เย็นที่สบายที่อิ่มที่พอ ความสุขที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ จะเป็นความสุขที่ทำให้หิวให้อยากเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ได้เสพมากน้อยเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอ
นี่คือวิธีการหาความสุขตามหลักของพระพุทธเจ้า
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ในการปฏิบัติธรรมนั้น ความต่อเนื่องสม่ำเสมอมีความสำคัญยิ่ง เราต้องใช้ทั้งสองสิ่งนี้ในการสร้างแรงเหวี่ยงให้พ้นจากกิเลสได้ มิฉะนั้นแล้ว เราอาจเป็นเหมือนชายโง่เขลาคนหนึ่งที่เอากิ่งไม้มาสีกันให้เกิดไฟ พอรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเบื่อก็หยุดทำ กว่าจะหยิบขึ้นมาสีต่อในแต่ละครั้ง กิ่งไม้ก็เย็นลงแล้วและต้องเริ่มจากศูนย์อีกรอบ ไม่นานก็รู้สึกขุ่นใจ เริ่มนึกสงสัยว่าวิธีนี้จะจุดไฟได้จริงหรือเปล่า ท้ายสุดก็สรุปว่าการเอากิ่งไม้มาสีกันไม่มีทางทำให้เกิดไฟได้ หลงเชื่อไปว่าตนได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงความเชื่องมงาย เขาหาเหตุผลให้ตัวเองเชื่อว่าการยอมจำนนต่อกิเลสเป็นชัยชนะอีกแบบหนึ่ง
อย่าเป็นอย่างชายผู้นี้ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ถ้ายังเดินไม่ได้ก็คลานเอา ไม่เห็นเป็นไร ขอแค่อย่าหยุด แล้วเราย่อมไปถึงจุดหมาย
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
"อันเพื่อนดี มีเพียงหนึ่ง ถึงจะน้อย
ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา
เหมือนเกลือดี มีน้อย ด้อยราคา
ยังดีกว่า มีน้ำเค็ม เต็มทะเล"
ท่านพุทธทาสภิกขุ
"ผู้อื่นไม่ได้ทำจิตของเราเศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว
เราเองเป็นผู้ทำจิตของตนเศร้าหมอง ผู้อื่นช่วยไม่ได้
แม้พระพุทธเจ้า ก็ช่วยไม่ได้ ท่านทรงเป็นผู้บอกทาง
ให้เท่านั้น"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
"เกิดแล้วต้องตาย ไม่ตายวันนี้ วันหน้าก็ตาย
ไม่ตายเดือนนี้ เดือนหน้าก็ตาย ไม่ตายปีนี้
ปีต่อๆ ไปก็ตายได้ ให้รู้ไว้ให้เข้าใจไว้
แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมาหลงไหลไปกับกิเลสกาม
วัตถุกาม มาหลงร้องไห้ หัวเราะอยู่นี้ ไม่มีที่สิ้นสุด
ก้อนทุกข์ กองทุกข์เต็มตัวทุกคน
จงภาวนาดูให้รู้แจ้ง ด้วยสติ ปัญญา
ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ ปฏิบัติให้ ไม่มี
ตัวเองนั่นแหละ ปฏิบัติตัวเอง"
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
.ความสำคัญของศีล๕..
ถ้าปฏิบัติศีล ๕ ครบถ้วน ก็ถือว่าได้ความดีหนีนรกได้แบบหยาบๆ ชาตินี้มีความสุขแต่ความสุขน้อยไปหน่อย ชาติหน้ามีความสุขแต่น้อยไปนิดหนึ่ง กาลเวลาที่จะถึงนิพพานยังอยู่ไกล นี่สำหรับฆราวาส
สำหรับพระเณรต้องปฏิบัติในสิกขาบทของท่าน ปฏิบัติอย่างไรไม่อธิบายให้ฟัง เพราะท่านเป็นปูชนียบุคคลเป็นบุคคลที่ชาวบ้านต้องไหว้ต้องบูชาอยู่แล้ว ก็ต้องยอมรับนับถือว่า คงปฏิบัติความดีครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องอธิบายกัน ก็มาพูดกับฆราวาส เพราะฆราวาสเวลามีน้อยในการจะปฏิบัติความดีเพราะต้องทำมาหากิน
ศีล ๕ มีอะไรบ้าง..
ข้อ ๑) ปาณาติบาต
พระพุทธเจ้าทรงให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทางที่ดีก็เว้นจากการทรมานสัตว์เสียด้วย
ข้อ ๒) อทินนาทาน
ไม่ถือเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นไม่ให้มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
ข้อ ๓) กาเมสุมิจฉาจาร
ให้เว้นจากการละเมิดความรัก คือสามีและภรรยาของบุคคลอื่น ยินดีเฉพาะสามี และภรรยาของตนเอง
ข้อ ๔) เว้นจากการมุสาวาท
คือ การไม่พูดไม่ตรงตามความเป็นจริงเป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลผู้รับฟัง
ข้อ ๕) เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
เพราะข้อนี้หนักมาก ถ้าเมาเมื่อไหร่แย่เมื่อนั้น จำอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีเห็นว่าพ่อเป็นเพื่อนไปอีก แต่บางคนเห็นว่าพ่อเป็นฟุตบอลไปก็มี เตะพ่อตีแม่อย่างนี้ก็มี
ผลของการละเมิดศีล เมื่อเกิดมาเป็นคน อย่าง ปาณาติบาต เป็นเหตุให้คนมีอายุสั้น ตายบ้าง มีโรคภัยไข้เจ็บบ้าง
อทินนาทาน ไฟไหม้บ้านบ้าง ขโมยลัก ของหายบ้าง ลมพัดให้บ้านพังบ้าง น้ำท่วมบ้านบ้าง
กาเมสุมิจฉาจาร คนในปกครองดื้อด้านว่ายากสอนยาก
มุสาวาท จะพูดดีแสนจะดีเขาก็ไม่ยอมจะเชื่อ
สุราเมรัย อย่างเบาเป็นคนปวดหัว ปวดหัวมาก ปวดหัวบ่อย ๆ อย่างกลางเป็นโรคเส้นประสาท อย่างดอกเตอร์เป็นบ้า
พระพุทธเจ้า ทรงลงท้ายว่า..
"สีเลนะ สุคะติง ยันติ"
บุคคลใดมีปกติอย่างนี้จะมีความสุข
"สีเลนะ โภคะสัมปะทา"
ถ้าปกติปฏิบัติอย่างนี้จะมีทรัพย์สมบัติ ไม่เดือดร้อนเรื่องทรัพย์สมบัติ
"สีเลนะ นิพพุติง ยันติ"
ถ้ามีปกติอย่างนี้จะไปนิพพานได้โดยง่าย
"ศีล" แปลว่า "ปกติ" พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนปกติ ถ้าไม่ปกติก็ใช้ไม่ได้
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี
หนังสือพ่อสอนลูก หน้า ๓๑๗-๓๑๙
(เพจ..คำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
......... ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรจึงให้เปลื้องกิเลสตัวสุดท้าย คืออำนาจกำลังวิปัสสนาญาณ ที่พูดมานี้เป็นวิปัสสนา ว่าเธอจงอย่าสนใจกายภายในคือกายของเราด้วย จงอย่าสนใจกลายภายนอกคือกายของบุคคลอื่นด้วยว่า จะเป็นที่พึ่งที่อาศัย จงอย่าสนใจในวัตถุธาตุใดๆทั้งหมด ให้มีความรู้สึกว่ากายที่เราอาศัยอยู่ก็ดี กายที่บุคคลอื่นอาศัยก็ดี วัตถุธาตุทั้งหมดก็ดี เป็นที่อาศัยเฉพาะที่ทรงชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าตายไปแล้วไม่มีใครจะพึ่งพาอาศัยกายได้กายเราเราก็อาศัยไม่ได้ กายคนอื่นเราก็อาศัยไม่ได้วัตถุธาตุทรัพย์สินทั้งหลายเราก็อาศัยไม่ได้ ผีไม่มีโอกาสจะมาอาศัย ฉะนั้นสมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่าทุกข์ใดๆ ที่มันจะพึงเกิดขึ้นกับเราก็อาศัยกายเป็นเหตุ
เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงตรัสว่า
"#เมื่อเธอทั้งหลายไม่สนใจในกายคือรูปของเรา #รูปคนอื่น #และวัตถุทั้งหลาย #เธอทั้งหลายทั้งหมดก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ #เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน"
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน การทรงอานาปานุสสติกรรมฐานมีความสำคัญแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท เพราะว่าทุกคนเวลาบำเพ็ญกุศลก็ลงท้ายว่า #นิพพานะ #ปัจจโย #โหตู ต้องการพระนิพพาน ถ้าจะไปนิพพานได้จริงๆบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงต้องปฏิบัติตามนี้.
จากหนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุงเล่มที่๕๔
หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ (พระมหาวีระถาวโร) วัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัด อุทัยธานี
หน้า ๑๑๑-๑๑๒
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.