"ทุกข์ในการหาอาหารเลี้ยงชีพนั้นอย่างหนึ่ง ทุกข์ด้วยจิตใจอย่างหนึ่ง คนรวยทุกข์กว่าคนจน ก็มีถมเถไป ไม่ใช่ว่าคนรวยจะสุขเลยทีเดียว
เหตุนั้น พุทธศาสนาจึงสอนทุกชั้นทุกหมู่ ทั้งคนจนคนมี ให้มีที่พึ่งทางใจ คือ หัดทำความสงบ อบรมใจให้มีเวลาพักผ่อน ถ้าทุกข์กลุ้มใจอย่างเดียว ก็ไม่มีหนทางจะพ้นจากทุกข์ได้
คนนับถือพุทธศาสนา ถึงแม้จะทุกข์กาย แต่เขายังเบิกบานใจอยู่ เพราะเขามีที่พึ่งทางใจ"
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
“ความตายนั้น เป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต บททดสอบอื่นๆ นั้น เราสามารถสอบได้หลายครั้ง แม้สอบตกก็ยังสามารถสอบใหม่ได้อีก
แต่บททดสอบ ที่ชื่อว่าความตายนั้น เรามีโอกาสอบได้ครั้งเดียว และไม่สามารถสอบแก้ตัว ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นบททดสอบที่ยากมาก และสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว
เป็นบททดสอบที่เราแทบจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรือแม้กระทั่งร่างกาย และจิตใจ ของตนเอง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
"เรารักตัวเรา คนอื่นก็รักตัวเขา เราไม่อยากให้ใครทำเช่นไรกับเรา คนอื่นก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นกับเขา เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไร คนอื่นก็อยากให้เราทำดีกับเขาอย่างนั้น ขอให้พยายามคิดถึงความจริงนี้ให้บ่อยที่สุด เท่าที่จะมีสตินึกได้ จะเป็นคุณแก่ตนเองอย่างยิ่ง"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ตัดสักกายทิฏฐิไปนิพพาน
ก็รวมความว่า ถ้าเราต้องการจะไปนิพพานพระพุทธเจ้าก็สอนให้จับจุดไหน จะสังเกตได้ว่าทุกองค์ที่นิพพานที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้ตัดร่างกายตัวเดียว คือว่าสังโยชน์มี ๑๐ แต่ให้ตัดข้อเดียวคือข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า #สักกายทิฏฐิ
ตัวอย่างคือ #พระติสสะ องค์อื่นก็เหมือนกัน #พระพาหิยะ ก็เหมือนกัน สำหรับ #ท่านพาหิยะ พระพุทธเจ้าแนะนำว่า “พาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูป รูปก็หมายถึงร่างกาย ท่านเข้าถึงอรหันต์เวลานั้น
การตัดกิเลสของพระอรหันต์เขาตัดรูปตัวเดียว อย่าง #พระติสสะ ซึ่งเวลานั้นท่านป่วยมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ติสสะร่างกายของเธอนี้ไม่ช้าก็จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว” คือหมายความว่าไม่ช้าก็ตายแล้ว “ในเมื่อตายแล้ว ร่างกายนี้เป็นสภาพที่บุคคลเขาทิ้ง เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์
ก็รวมความว่า การที่จะไปนิพพานได้ก็คือ #พระอรหันต์ก็ตัดร่างกายตัวเดียว อย่างที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ฝึกการเจริญพระกรรมฐานหวังพระนิพพาน ถ้าหวังพระนิพพานก็อย่าภาวนาอย่างเดียว ก่อนภาวนาหรือหลังภาวนาเมื่อจิตสบายแล้วก็นึกถึงร่างกายว่าร่างกายนี้มีสภาพไม่เที่ยงจริงไหม ถ้าใช้ปัญญานิดเดียวเราก็ทราบว่าไม่เที่ยง ในเมื่อไม่เที่ยง มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเราใช้ปัญญานิดหน่อยก็เห็นว่ามันเป็นทุกข์ ความหิวเป็นทุกข์ ความกระหายเป็นทุกข์ หนาวเกินไป ร้อนเกินไปเป็นทุกข์ ประกอบกิจการงานต่าง ๆ เหนื่อยยากเป็นทุกข์ เป็นต้น
ก็รวมความว่า ร่างกายนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ใช่ความสุขแล้วร่างกายเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่า เราก็ถามตัวเอง ในสักกาย ทิฏฐิ ท่านพิจารณาว่าที่เรามีความทุกข์อย่างนี้เพราะเห็นว่าร่างกายเป็นเรา ร่างกายเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา นั่นหมายความว่า เราหลงธาตุ ๔ คือ ธาตุ ๔ มันมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีการสลายตัวในที่สุด สภาพของมันเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่คิดตามนี้ เราคิดว่ามันจะทรงตัวตลอดเวลา ความแก่มีเข้ามาทุกวัน เราคิดว่าเราไม่แก่ ความตายเข้าใกล้มาทุกวัน เราคิดว่าเราไม่ตาย อันนี้เป็นสักกายทิฏฐิ
#พระพุทธเจ้าให้ตัดสักกายทิฏฐิ ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เข้ามาผสมกันในร่างกาย มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง มีการสลายตัวในที่สุด
ทีนี้คำว่า “ตาย” เกิดขึ้น มันตายเฉพาะร่างกาย เราคืออทิสสมานกายย่อมไม่ตายไปด้วย ถ้ามีอารมณ์เป็นกุศลไปสู่สุคติ ถ้าเรามีอารมณ์เป็นอกุศลก็ไปสู่ทุคติ
ฉะนั้น ขึ้นชื่ออารมณ์อย่างนี้มันมีความแปรปรวน เราไม่ต้องการมันอีก #ถ้าร่างกายนี้ตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพานจุดเดียว นึกไว้อย่างนี้เสมอ แล้วบรรดาที่ญาติโยมพุทธบริษัทคิดอย่างนี้เป็นปกติ อารมณ์มันจะชิน คําว่า #ชินก็คือฌานหรือฌานก็คือชิน
ทีนี้เมื่อเวลาที่ร่างกายป่วยจริงๆ อารมณ์เบื่อหน่ายร่างกายมันเกิดขึ้น มันจะมีความรู้สึกว่า ไอ้การป่วยอย่างนี้เพราะร่างกายอย่างเดียว ถ้าเราไม่มีร่างกายนี้ เราจะไม่มีอาการป่วย ถ้าจิตมันคิดอย่างนี้นะ เวลานั้นจิตก็เข้าถึงการวางเฉยในร่างกาย ไม่สนใจในร่างกายเกินไป
การเจ็บการปวดมีทุกขเวทนาย่อมเป็นของธรรมดา แต่ความต้องการในร่างกายของเราจะไม่มีเวลานั้น ถ้าบังเอิญเวลานั้นจิตที่ต้องการร่างกายไม่มีจริงๆ เกิดขึ้น เวลานั้นท่านก็เป็นพระอรหันต์ แล้วก็นิพพานในวันนั้น
เอาล่ะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน พูดไปพูดมาก็คิดว่าจะไป ไม่ไหวเพราะมันเจ็บคอมาก แล้วมันก็เป็นไข้ แต่ก็หมดเวลาพอดี
ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคนตั้งใจสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐาน
พิมพ์หนังสือ”พ่อสอนลูก” คำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี
ตายจากช้างมาเกิดเป็นคนแล้วบวชเป็นแม่ชี
ได้มีผู้มาเล่าให้อาตมาฟังถึงทุกข์ตอนที่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งคนเล่าได้ตายไปนานแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่าเวลานั้นอาตมาบวชได้ ๒ พรรษา ได้มีแม่ชีอายุประมาณ ๕๐ ปีเศษ อยู่จังหวัดสุรินทร์ ท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะมาเกิดเป็นคน ท่านเป็นลูกช้าง เจ้าของอยู่ตำบลหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ สมัยนั้นที่แม่เป็นช้างเคยนำลูกช้างไปอาบน้ำที่บึงๆหนึ่ง น้ำเย็นมากมีความสุข
ต่อมาลูกชายของเจ้าของบ้านขี่คอท่านนำไปอาบน้ำ ตอนกลับทางที่ผ่านมีกิ่งไม้ กิ่งไม้มันต่ำ ท่านบอกท่านก็ย่อตัวถึงที่สุดเข้าใจว่าพ้นแล้วก็เงยหน้าขึ้นมาก็พอดีลูกชายเจ้าของบ้านสะดุดกิ่งไม้ตกจากคอช้าง เขาก็โกรธ พอขึ้นคอได้ก็เอาขอสับเอาๆ ก็วิ่งกลับบ้าน ท่านบอกขอสับนี่เจ็บมาก
ต่อมาไม่นานเขาก็บอกให้พ่อเขาขาย บอกว่าช้างตัวนี้คบไม่ได้ทรยศ พ่อกับแม่บอกลูกชายว่า ไม่ควรจะขาย พ่อกับแม่ช้างก็อยู่ที่นี่ดีอยู่ แต่ลูกชายไม่ยอม ในที่สุดก็ต้องขายอย่างจำใจเพราะลูกชายต้องการให้ขาย เมื่อขายแล้วลูกช้างก็ไปอยู่กับเจ้าของใหม่ ท่านบอกว่าคิดถึงเจ้าของเก่าก็เลยกินไม่ได้นอนไม่หลับ ผอมลงๆไม่ช้าก็ตาย
พอตายแล้วจิตที่ออกจากร่างช้างมันเป็นคนมีเสื้อใส่มีผ้านุ่ง เมื่อออกมาแล้วอาศัยจิตเดิมคิดถึงเจ้าของเดิม (คนนี้ระลึกชาติได้ชาติหนึ่ง) ก็ตั้งใจจะไปหาเจ้าของเดิม เดินลัดป่าลัดทุ่งไปบ้าง วันนั้นถึงเวลาตอนเพลลัดเข้าไปในวัด หมาวัดมันไล่กัด ท่านบอกหลบหมาเสียเกือบตาย หมาเก่งเพราะเห็นผีได้ เวลานั้นท่านเป็นผี เลิกเป็นช้างเป็นคนแล้ว
พอมาถึงบ้านที่เจ้าของเดิมอยู่ ปรากฏว่าไม่มีบ้านเขาถอนไปแล้ว ท่านก็ถามเทวดาที่นั่น ท่านก็บอกว่า "เจ้าของบ้านเขาซื้อไปอยู่ต่างตำบล ท่านก็ตามไปจนพบ เมื่อพบแล้วก็เข้าบ้านไม่ได้ พอจะเข้าเขตบ้าน ภุมเทวดาก็ห้ามเข้าเพราะเป็นผีภายนอกเข้ามาไม่ได้เกรงจะทำอันตรายเจ้าของบ้าน ท่านก็ต้องยืนคอยอยู่ปากตรอก ๓ วัน
พอวันที่ ๓ ตอนเย็นพ่อบ้านไม่ทราบว่าไปไหนมา พอถึงปากตรอกบ้านก็ยืนปัสสาวะ ท่านเลยได้โอกาสโดดเกาะคอเข้ามา พอเกาะคอเจ้าของบ้านเข้ามา เทวดาเจ้าของที่ก็ว่าไม่ได้ เพราะถือว่าเจ้าของบ้านให้เข้ามา จึงปล่อยไป
พอเข้าไปถึงบ้านท่านบอกว่า เข้าไปอยู่ในห้องๆหนึ่งมันกว้างขวางมาก นั่งสบายนอนสบาย แต่ความจริงห้องที่อยู่นั่นคือมดลูกของแม่นั่นเอง เวลานั้นไม่ได้เข้าใจว่าเป็นท้องแม่ แต่มารู้ภายหลังหนักเข้าๆก็รู้สึกว่าตัวมันโตขึ้นมาทีละหน่อยๆ ใจไม่โทษตัวโตแต่ไปโทษห้องมันเล็กลง ชักคับห้องทุกที ผลที่สุดเหยียดแขนเหยียดขาไม่ไหว ก็งอแขนงอขา หนักเข้าๆมันทนปวดเมื่อยไม่ไหวมันเป็นทุกข์ก็ต้องหาทางออก ออกมาก็เป็นลูกชาวบ้าน
อาตมาถามว่า "โยมชีเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อยากจะเกิดอีกไหม"
ท่านตอบว่า "ไม่ต้องการเกิดแล้วค่ะ เลิกเกิด"
รวมความว่า การอยู่ในครรภ์มารดา มันก็ทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์มาตั้งแต่ก่อนเราคลอด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความเกิดเป็นทุกข์" มันทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แต่เราจำไม่ได้
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี หนังสือตายไม่สูญ..แล้วไปไหน หน้า ๓๐๓-๓๐๔
"…ความเกิดเป็นต้นตอของทุกข์…"
"…การหนีจากกองทุกข์ของพระพุทธเจ้า พระองค์มิได้สอนให้หนีด้วยการไม่เหลียวแลทุกข์ หนีด้วยการเกลียดชังหรือไปด้วยยานพาหนะต่าง ๆ
แต่พระองค์สอนให้เพ่งดูทุกข์ซึ่งเป็นของมีอยู่ จนรู้จักต่อต้านเหตุที่ให้เกิดทุกข์ เช่น เห็นว่า ความเกิดเป็นต้นตอของทุกข์ทั้งหลาย
ความเข้าไปยึดเอาสิ่งนั้น ๆ มาเป็นของตัว เพราะความไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้ได้เสวยทุกข์ตลอดกาล
ผู้มารู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วจะมีทุกข์มาจากไหน..."
คติธรรม : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
|