เราจะเมตตาคนที่ไม่ชอบได้อย่างไร?
คำว่า เมตตา นี่รากศัพท์ก็คือ มิตร หรือมิตตะ เป็นเพื่อน ก็เป็นเพื่อนกับคนที่เราไม่ชอบได้อย่างไร ก่อนอื่นก็ให้เตือนสติเราว่า สิ่งที่เราไม่ชอบคือสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูด เราก็ไม่รู้จิตใจเขา เจตนาเขา อะไรต่ออะไรของเขา เรารู้แต่บางส่วน แต่เราก็ไม่ชอบสิ่งที่เราเห็นเขาทำเขาพูด
เมื่อเราต้องการเป็นเพื่อนที่ดีหรือมีความรู้สึกเป็นเพื่อน เราก็หวังให้สิ่งที่ไม่ดีที่เขาทำเขาพูดหมดไป ถ้าหากว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าสมมติ ก็ขอให้เขารู้ความสุขของความไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเขาเป็นคนทุจริต ก็ขอให้เขารู้ความสุขของการเป็นคนสุจริต ถ้าเป็นคนก้าวร้าว ขอให้รู้ความสุขในความไม่ก้าวร้าว
คือเอาสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นข้อรังเกียจหรือสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเขา เพราะถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีเราก็ขอให้เขาได้พ้นจากสิ่งนั้น แล้วมีความสุขจากการหลุดพ้นจากสิ่งนั้น
การแผ่เมตตากับคนที่เราชอบ ก็ไม่ยาก ใครก็ทำได้ แต่การฝึกให้มีเมตตาคือไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ มันก็ต้องฝึกในการแผ่เมตตากับผู้ที่เราไม่ชอบ ผู้ที่เรารู้สึกรังเกียจ
ในการดูข่าวก็เหมือนกัน ต้องสังเกตนี่ถ้าดูข่าวนี่ ความรู้สึกชอบไม่ชอบ เข้าข้างฝ่ายนี้ เข้าข้างฝ่ายนั้น มันก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จิตก็เป็นอกุศลโดยเราไม่รู้ตัว สังเกตว่าเราอ่านข่าวแล้วก็รู้สึกว่ารังเกียจ ไม่ชอบใคร จะเป็นผู้นำประเทศหรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ อันนี้จิตก็เป็นอกุศลเสียแล้ว
เราก็ต้องฝึกให้มีเมตตาต่อเขา ถ้าใครทำอะไรที่โหดร้าย ก็ขอให้เขาได้พ้นจากความคิดที่โหดร้ายนั้นได้ เราก็แผ่เมตตาคนทุกคน เพียงแต่ว่าต้องมีปัญญาในการปรับจุดที่เราจะเน้นในการแผ่เมตตานั่นเอง
พระอาจารย์ชยสาโร
…เราจึงไม่ควรประมาทนอนใจ อย่าไปคิดว่าเป็นพุทธศาสนิกชน มีศรัทธาทำบุญอยู่เป็นประจำก็พอแล้ว
.เพราะยังต้องทำอีกมาก นอกจากทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว “ ยังต้องปฏิบัติธรรมด้วย “
.ต้องทำให้ธรรมะที่อยู่ข้างนอก ธรรมะที่อยู่ในใจของครูบาอาจารย์ “ มาปรากฏขึ้นในใจของเราให้ได้ “
. ถ้าเป็นธรรมะที่ปรากฏอยู่ในใจของเราแล้ว มันจะอยู่กับเราไปตลอด แต่ถ้าเป็นเพียงความจำ..มันก็จะจางหายไปได้..
…………………………………………… พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี จุลธรรมนำใจ 5 กัณฑ์ที่ 239 27 สิงหาคม 2549
ไม่ใช่นิ่งเพื่อนิ่งนะ แต่นิ่งเพื่อรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายที่ไม่นิ่ง
พระอาจารย์ชยสาโร
เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า #ทำไมบุญจึงมีความอัศจรรย์ส่งผลได้มากขนาดนั้น ?
เพราะว่าบุญอยู่ในลักษณะทวีคูณ ยิ่งสภาพจิตของผู้รับบริสุทธิ์มากเท่าไร ก็เหมือนกับคนแข็งแรง
สมมติว่าคนแข็งแรงหยิบของชนิดหนึ่ง แล้วขว้างออกไป อย่างเราขว้างได้แค่ใกล้ ๆ แต่ท่านสามารถขว้างไปไกลลิบเลย คือส่งผลให้มากขึ้นตามกำลังของท่าน
ฟัง ๆ ดูในเรื่องของบุญ บางทีก็เหมือนกับโฆษณาชวนเชื่อ แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่า ส่วนที่เขาทำนั้นจำเป็นที่จะต้องเลือกเนื้อนาบุญ ทั่ว ๆ ไปเราเห็น เราเจอ เราสามารถทำได้ ให้ทำไปเลย ไม่จำเป็นต้องเลือก แต่ถ้ามีโอกาสประกันความเสี่ยง มีให้เลือกได้ เราก็เลือกทำกับเนื้อนาบุญที่ดี พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำได้ทุกที่ ทำไปเถอะ แต่ตรงไหนที่เรามั่นใจเราก็เป็นขาประจำหน่อย...
พระอาจารย์เล็ก วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ บ้านวิริยบารมี
"เรายืนอยู่บนทางสองแพร่ง ทางหนึ่ง เป็นสวรรค์นิพพาน อีกทางหนึ่ง เป็นนรก อยากเดินทางไหน แล้วแต่ใจเรา"
หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
"ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ"
ถ้าคนไม่กินเนื้อ พอเห็นคนอื่นกินเนื้อก็รังเกียจและโกรธเขา ไปด่าว่านินทาเขาเอาความชั่วของเขาไปไว้ในใจตัวเอง นั่นก็เป็นคนโง่กว่าเขา ทำไปตามอำนาจของตัณหาเหมือนกัน การที่เราไปโกรธเกลียดเขานั้นมันก็คือผีที่สิงอยูในใจเรา เขากินเนื้อเป็นบาปเราโกรธเขา เราก็เป็นผีเป็นบาปอีกเหมือนกัน มันยังเป็นสัตว์อยู่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่เป็นธรรมะ แต่ทางที่ถูกนั้น ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ
อาตมาจึงว่าเหมือนกบกับคางคก เหมือนกบกับคางคกนั่นแหละ โยมว่ากบกับคางคกอย่างไหนมันดีกว่ากัน ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ในจิตของท่านไม่มีอะไรเป็นอะไรอีกแล้ว การบริโภคอาหารเป็นสักแต่ว่า เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอให้คงอยู่ได้ ท่านไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ไม่ให้ติดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ให้บริโภคด้วยตัณหา นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรแล้ว
ถ้าคนกินเนื้อไปติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ นั่นเป็นตัณหา คนกินเนื้อ ก็อย่าเห็นแก่ปากปากท้อง อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยจนเกินไป อย่าถึงกับฆ่าเขากิน ส่วนคนกินเจก็ให้เชื่อมั่นในข้อวัตรของตัวเอง เห็นคนอื่นกินเนื้ออย่าไปโกรธเขา รักษาตัวเราไว้ อย่าให้ติดอยูในการกระทำภายนอก
พระเณรในวัดนี้ของอาตมาก็เหมือนกัน องค์ไหนจะถือข้อวัตรฉันเจก็ถือไป องค์ไหนจะฉันธรรมดาตามมีตามได้ก็ถือไป แต่อย่าทะเลาะกัน อย่ามองกันในเง่ร้าย อาตมาสอนอย่างนี้ท่านก็อยู่ไปด้วยกันได้ ไม่เห็นมีอะไร
ให้เข้าใจว่า " ธรรมะที่แท้นั้น เราจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ทางปฏิบัติที่ถูกก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา " ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ดีแล้ว จิตก็จะสงบ และปัญญาความรู้เท่าทันสภาพของสังขารทั้งหลาย ก็จะเกิดขึ้น จิตใจก็เบื่อหน่ายจากสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย วิมุตตก็เกิดขึ้นเท่านั้น
คำสอน หลวงพ่อชา สุภัทโท
“ถ้าเขาชั่ว ก็ชั่วของเขา ถ้าเขาไม่ยอมกลับตัว มันก็ตัวของเขา เขาทำตัวเขาเอง เรื่องของเขา ช่างเขาเถิด เราอย่าเก็บมาทุกข์ใจ
ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใครเลย ต้องพร้อม ที่จะให้อภัยอยู่เสมอ อย่างนี้ใจเราสบาย”
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
"มีสติรู้ตัว ถอนความยึดถือในตัวตนเสีย มีอะไรบ้างหรือ ที่เราบังคับได้บ้าง
ร่างกายนี้ ตั้งแต่เกิดมา มีแต่ความเปลี่ยนแปลง อย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดยั้ง แล้วก็ต้องตายไป ทำพิธีต่ออายุ สืบชะตาอย่างไร ก็ต้องตายทุกคน แล้วจะยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรา ได้อย่างไร ตายแล้ว ไม่เผาไฟ ก็ฝังดินเท่านั้นเอง
มันเป็นเพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เราเพียงยืมใช้ ได้อาศัยศึกษารักษาไว้เป็นพาหนะ ให้ทำความดี เพื่อข้ามวัฎสงสารเท่านั้น"
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
|